ซูโดอีเฟดรีน (Pseudoephedrine)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาซูโดอีเฟดรีน (Pseudoephedrine) เป็นยาที่ปรุงแต่งในเภสัชตำรับ มีทั้งชนิดที่เป็นยาเดี่ยวหรือเป็นยาผสมกับยาอื่นเช่น ยาแก้แพ้ ยาแก้ไอ ยาพาราเซตตามอล และยาแก้ปวด

ด้วยซูโดอีเฟดรีนสามารถใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตยาบ้าได้ กระทรวงสาธารณสุขจึงได้จำกัดให้ยานี้มีใช้เฉพาะในสถานพยาบาลเท่านั้น และสถานพยาบาลนั้นๆจะต้องส่งรายงานการซื้อและจำนวนที่จ่ายยาให้กับคนไข้ให้กับกระทรวงสาธารณสุขทุกปี ดังนั้นตามร้านขายยาแผนปัจจุบันจะพบว่าไม่มียาสูตรตำรับที่มีซูโดอีเฟดรีนวางจำหน่ายในร้านยาอีกต่อไป

ยาซูโดอีเฟดรีนมีข้อบ่งใช้ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ซูโดอีเฟดรีน

ยาซูโดอีเฟดรีนใช้รักษาอาการหวัดที่มีน้ำมูกมาก

ยาซูโดอีเฟดรีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยานี้จะทำให้หลอดเลือดฝอยหดตัว ทำให้เลือดมาเลี้ยงบริเวณหลอดเลือดภายในโพรงจมูกได้น้อย จึงทำให้ลดปริมาณสารคัดหลั่งที่จะเพิ่มปริมาณของน้ำมูก ทำให้โพรงจมูกแห้ง นอกจากนี้ยังทำให้หลอดลมคลายตัวจึงหายใจได้สะดวกขึ้น

ยาซูโดอีเฟดรีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาซูโดอีเฟดรีนมีรูปแบบจำหน่ายดังนี้

ยาเดี่ยวชนิดเม็ด ขนาด 30, 60 มิลลิกรัม

ยาเดี่ยวชนิดน้ำเชื่อม ขนาด 30 มิลลิกรัม/ช้อนชา

ยาผสมชนิดเม็ด ขนาด 30, 60 มิลลิกรัม

ยาผสมชนิดน้ำเชื่อม ขนาด 30 มิลลิกรัม/ช้อนชา

ยาซูโดอีเฟดรีนมีขนาดการใช้อย่างไร?

ขนาดและปริมาณการใช้ยาซูโดอีเฟดรีนขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ ประกอบกับยานี้มีผลอันไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง) มากมาย จึงไม่ควรซื้อยากินเอง ขนาดของยาที่รับประทานในผู้ใหญ่และเด็กมีขนาดที่ต่างกัน ดังนั้นจึงควรได้รับคำแนะนำการใช้ยาจากแพทย์หรือเภสัชกรเท่านั้น สำหรับผู้ใหญ่ขนาดสูงสุดที่รับประทานไม่ควรเกิน 60 มิลลิกรัม/ครั้งและไม่เกิน4ครั้ง/วัน

เมื่อมีการสั่งใช้ยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมทั้งยาซูโดอีเฟดรีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดโดยมีอาการเช่น กินยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติด ขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาซูโดอีเฟดรีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อนแล้ว
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายตัวสามารถผ่านรกหรือผ่านเข้าสู่น้ำนมและเข้าสู่ทารก ก่อผลข้างเคียงต่อทารกได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาซูโดอีเฟดรีนสามารถรับประทานยาเมื่อนึกขึ้นได้ หากการลืมทานยาใกล้กับมื้อถัดไปให้รับประทานขนาดปกติโดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า ซึ่งยานี้สามารถรับ ประทานก่อนหรือหลังอาหารก็ได้

ยาซูโดอีเฟดรีนมีผลไม่พึงประสงค์ไหม?

ยาตัวนี้มีผลไม่พึงประสงค์/ผลข้างเคียงหลายอย่างคือ สามารถกระตุ้นให้มีอาการเจ็บหน้า อก อาจเกิดผลย้อนกลับทำให้มีน้ำมูกมากขึ้นเมื่อหยุดยา เกิดอาการตัวสั่น มือสั่น นอนไม่หลับ สับสน เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน สามารถพบเลือดออกในกะโหลกศีรษะได้ หัวใจเต้นผิดจัง หวะ ถุงลมโป่งพอง และความดันโลหิตสูง

อนึ่ง ยานี้จัดเป็นยาที่สามารถกระตุ้นสมองให้ตื่น ทำให้ไม่ง่วงนอน มีอาการฟุ้งพล่าน (Manic episode) ควบคุมสติไม่ได้ ซึ่งมีผู้นำยานี้มาเป็นส่วนผสมของยากระตุ้นในนักกีฬาตื่น เป็นยาขยัน และเป็นยาบ้า ซึ่งจัดเป็นยาเสพติดและก่อปัญหาทางสังคมเนื่องจากผลข้างเคียงของยาดังกล่าวแล้ว

ยาซูโดอีเฟดรีนมีปฏิกิริยากับยาตัวอื่นไหม?

การใช้ยาซูโดอีฟีดรีนร่วมกับยาลดความดันโลหิตบางกลุ่มจะทำให้ผลการลดความดันโล หิตด้อยประสิทธิภาพลง กลุ่มยาลดความดันโลหิตดังกล่าวเช่น แอลพรีโนลอล (Alprenolol)

การใช้ยาซูโดอีฟีดรีนร่วมกับยารักษาโรคลมชักบางตัวจะทำให้เพิ่มความเป็นพิษของยาซูโดอีฟีดรีน กลุ่มยารักษาโรคลมชักดังกล่าวเช่น อะเซตาโซลาไมด์ (Acetazolamide)

ยาซูโดอีเฟดรีนมีข้อควรระวังในการใช้ยาอย่างไร?

ข้อควรระวังเมื่อใช้ยาซูโดอีเฟดรีนเช่น

  • ระวังการใช้ยาในผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูงอย่างรุนแรง เพราะจะทำให้ภาวะความดันโลหิตสูงรุนแรงมากยิ่งขึ้น
  • ระวังการใช้ยากับผู้ป่วยด้วยโรคเนื้องอกของต่อมหมวกไตชนิด Phaeochromocytoma เพราะอาจทำให้เกิดภาวะหัวใจบีบตัวเร็วและส่งเสริมการเกิดภาวะความดันโลหิตสูง
  • ระมัดระวังการใช้ยากับผู้ที่มีประวัติการแพ้ยาซูโดอีเฟดรีน
  • ระมัดระวังการใช้ยากับผู้ป่วยที่มีอาการของโรคตับ โรคไต
  • ระมัดระวังการใช้ยากับผู้ที่อยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร
  • ปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง:

ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาซูโดอีเฟดรีนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ควรเก็บรักษายาซูโดอีเฟดรีนอย่างไร?

การเก็บรักษายาซูโดอีเฟดรีนได้แก่

  • ยาเม็ด สามารถเก็บได้ที่อุณหภูมิห้อง แต่ควรเก็บให้พ้นแสงแดดและความชื้น
  • ยาน้ำ หลังเปิดขวดใช้แล้วสามารถใช้ต่อได้ไม่เกิน 3 เดือน (เมื่อยาไม่มีการเปลี่ยนสีหรือ กลิ่นหรือผิดปกติอื่นๆ)

*อนึ่ง ควรเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยงเสมอ และไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำหรือในรถ ยนต์

ยาซูโดอีเฟดรีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ชื่อทางการค้าและบริษัทที่ผลิตยาซูโดอีเฟดรีนในประเทศไทยเช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
A-fed(เอ-เฟด)Patar Lab
A-Mol Plus (เอ-มอล พลัส)Siam Bheasach
Actifed (แอคติเฟด)Glaxo SmithKline
Actil (แอคติล)Masa Lab
Adulfed (เอดัลเฟด)T P Drug
Antussia (แอนทุสเซีย)Asian Pharm
Benadryl Decongestant (เบนาดริล ดีคอนเจสแตนท์)Johnson & Johnson
Bluco (บลูโค)B L Hua
Bromiphed(โบรมิเฟด)BJ Benjaosoth
Bromsuno (บรอมซูโน)Milano
Brontus (บรอนทุส)Chinta
Clarinase (คลาริเนส)MSD
Clarinase 24 Hour (คลาริเนส 24 อาวร์)MSD
Cofed (โคเฟด)M & H Manufacturing
Coldifed (โคลดิเฟด)The United Drug (1996)
Colidin (โคลิดิน)T Man Pharma
Decolgen (ดีโคลเจน)Great Eastern
Hiscifed (ฮีสซิเฟด)Greater Pharma
Irvira(เออร์วิรา)Thai Nakorn Patana
Iyafin (ไอยาฟิน)Thai Nakorn Patana
Mofazt (โมฟาส)Mega Lifesciences
Nasolin (นาโซลิน)Thai Nakorn Patana
Nasorest (นาโซเรส)Community Pharm PCL
Nutacold (นูตาโคล)Osotspa
Pharfed (ฟาร์เฟด)Pharmaland
Polyfed (โฟลีเฟด)Biolab
Prophedin (โพรฟีดิน)Siam Bheasach
Pseudoephedrine Asian Pharm (ซูโดอีฟีดรีน เอเซียน ฟาร์ม)Asian Pharm
Pseudoephedrine BJ Benjaosoth (ซูโดอีฟีดรีน บีเจ เบญจโอสถ)BJ Benjaosoth
Pseudoephedrine Medicine Products (ซูโดอีฟีดรีน เมดดิซิน โพรดักซ์)Medicine Products
Pseudoephedrine Milano (ซูโดอีฟีดรีน มิลาโน)Milano
Robitussin PS (โรบิทุสซิน พีเอส)Pfizer Consumer Healthcare
Telfast D (เทลฟาส ดี)Sanofi-Aventis
Tiffy (ทิฟฟี่)Thai Nakorn Patana
Tiffy Fu (ทิฟฟี่ ฟู)Thai Nakorn Patana
Trifed (ไตรเฟด)Nakornpatana
Triprodrine (ไตรโพรดรีน)Asian Pharm
Tylenol Cold (ไทลินอล โคล)Janssen-Cilag
Zyrtec-D (เซอร์เทค-ดี)GlaxoSmithKline

บรรณานุกรม

1. http://www.mims.com/Thailand/drug/search/pseudoephedrine [2015,April18]
2. http://en.wikipedia.org/wiki/Pseudoephedrine [2015,April18]

Updated 2015, April 18