ไฟโบรซีสติคเต้านม หรือ ซีสต์เต้านม (Fibrocystic breast)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 16 พฤศจิกายน 2563
- Tweet
- บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?
- ไฟโบรซีสติคเต้านมเกิดจากอะไร? เป็นมะเร็งได้ไหม?
- ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดไฟโบรซีสติคเต้านม?
- ไฟโบรซีสติคเต้านมมีอาการอย่างไร?
- แพทย์วินิจฉัยไฟโบรซีสติคเต้านมได้อย่างไร?
- เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?
- รักษาไฟโบรซีสติคเต้านมอย่างไร?
- ไฟโบรซีสติคเต้านม มีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
- ไฟโบรซีสติคเต้านมมีผลข้างเคียงอย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
- ป้องกันไฟโบรซีสติคเต้านมอย่างไร?
- บรรณานุกรม
- เนื้องอก (Tumor)
- ก้อนในเต้านม (Breast mass)
- ไฟโบรแอดีโนมา หรือ ไฟโบรแอดีโนมาเต้านม (Breast fibroadenoma)
- มะเร็งเต้านม (Breast cancer)
- เจ็บเต้านม (Breast pain)
- อัลตราซาวด์ (Ultrasonogram)
- การตรวจภาพรังสีเต้านม (แมมโมแกรม/Mammogram)
บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?
ไฟโบรซีสติคเต้านม หรือ ซีสต์เต้านม หรือ ถุงน้ำเต้านม (Fibrocystic breast หรือ Fibrocystic breast disease)คือ ภาวะที่เซลล์เนื้อเยื่อเต้านมทั้งชนิดสร้างน้ำนมและชนิดเนื้อเยื่อเส้นใย(เนื้อเยื่อสร้างพังผืดที่มีหน้าที่สนับสนุนการทำงานของเซลล์ต่างๆของเต้านม)เกิดเจริญเปลี่ยนแปลงจนเกิดเป็นก้อนเนื้อจากอิทธิพลของฮอร์โมนเพศหญิงโดยเฉพาะฮอร์โมนเอสโตรเจนจนกลายเป็นก้อน-ก้อนเนื้อที่ประกอบด้วย’ถุงน้ำ(ซีสต์)ร่วมกับเนื้อเยื่อเส้นใหญ่ที่เรียกว่า ‘ไฟโบรซีสติคเต้านม หรือ ซีสต์เต้านม’
ปัจจุบัน ทางการแพทย์ไม่จัดไฟโบรซีสติคเต้านมเป็น’โรค’ แต่จัดให้เป็นภาวะที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของเซลล์เต้านมที่เชื่อว่ามาจากอิทธิพลของฮอร์โมนเพศหญิง ดังนั้นชื่อโรค/ภาวะนี้ปัจจุบันจึงมีอีกชื่อว่า ‘Fibrocystic changes of the breast ย่อว่า FCC of breast’
ไฟโบรซีสติคเต้านม /ซีสต์เต้านม/ไฟโบรซีสติค/ถุงน้ำเต้านม อาจเกิดเพียงก้อนเดียวหรือหลายก้อนในเต้านมข้างเดียว หรือ ในเต้านมทั้ง2ข้างก็ได้ ข้างซ้ายและข้างขวามีโอกาสเกิดเท่ากัน อาการหลักคือเจ็บเต้านมร่วมกับมีขนาดก้อนเนื้อเปลี่ยนแปลงตามรอบประจำเดือน คือ เจ็บมากขึ้นและก้อนใหญ่ขึ้นช่วงประมาณ 7-10วันก่อนมีประจำเดือนจนถึงวันแรกๆของการมีประจำเดือน ซึ่งทั่วไปไม่จำเป็นต้องรักษา
ไฟโบรซีสติคเต้านม/ ซีสต์เต้านม/ไฟโบรซีสติค /ถุงน้ำเต้านม เป็นโรค/ภาวะเปลี่ยนแปลงของเต้านมที่พบบ่อยมากในสตรีทั่วโลก ไม่ขึ้นกับเชื้อชาติ มีรายงานพบได้ประมาณ 50%-60%ของสตรีทั่วโลก พบได้ตั้งแต่วัยเริ่มมีประจำเดือนไปจนถึงผู้สูงอายุในวัยหมดประจำเดือน(พบน้อยมาก) ทั่วไปพบสูงในช่วงอายุ 20-50ปี
ไฟโบรซีสติคเต้านมเกิดจากอะไร? เป็นมะเร็งได้ไหม?
ไฟโบรซีสติค/ไฟโบรซีสติคเต้านม/ซีสต์เต้านม/ถุงน้ำเต้านม เกิดจากระดับฮอร์โมนเพศหญิงโดยเฉพาะฮอร์โมนเอสโตรเจนปรับเปลี่ยนตลอดเวลาในวงรอบของประจำเดือน จนส่งผลให้เนื้อเยื่อเต้านมบางคนที่ตอบสนองไวต่อการปรับเปลี่ยนนี้เกิดเป็นถุงน้ำ(ซีสต์)ที่ล้อมรอบด้วยเนื้อเยื่อเส้นใยที่เจริญหนาแน่นขึ้นทั่วทั้งเต้านม จนเป็นผลเกิดเป็นก้อน-ก้อนเนื้อที่ประกอบด้วยถุงน้ำและเนื้อเยื่อเส้นใยที่เรียกว่า ‘ไฟโบรซีสติคเต้านม’ ซึ่งอาจเกิดเพียงเต้านมข้างเดียว ที่ตำแหน่งเดียว(โอกาสเกิดข้างซ้าย-ขวาเท่ากัน) หรือเกิดกระจายทั่วเต้านมหลายๆก้อน มักเป็นก้อนขนาดเล็กๆ หรือเกิดพร้อมกันทั้ง2ข้างซ้ายขวาของเต้านมก็ได้
ไฟโบรซีสติคเต้านม/ไฟโบรซีสติค/ซีสต์เต้านม/ถุงน้ำเต้านม ‘ไม่กลายเป็นมะเร็งเต้านม และไม่เป็นปัจจัยเสี่ยงเกิดมะเร็งเต้านม’ โดยอัตราเกิดมะเร็งเต้านมรวมถึงปัจจัยเสี่ยงเกิดมะเร็งเต้านมจะเช่นเดียวกับในสตรีทั่วไป (แนะนำอ่านรายละเอียดเรื่อง ‘มะเร็งเต้านม’ รวมถึงสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงได้จากเว็บhaamor.com)
ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดไฟโบรซีสติคเต้านม?
ผู้มีปัจจัยเสี่ยงเกิดไฟโบรซีสติคเต้านม/ไฟโบรซีสติค/ซีสต์เต้านม/ถุงน้ำเต้านม คือ ผู้ที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกายสูงต่อเนื่องเป็นเวลานาน ได้แก่
- เริ่มมีประจำเดือนอายุน้อย ก่อนอายุ 12 ปี
- มีบุตรคนแรกเมื่ออายุมากตั้งแต่อายุ30ปีขึ้นไป
- ไม่เคยมีบุตรเลย
ไฟโบรซีสติคเต้านมมีอาการอย่างไร?
อาการของไฟโบรซีสติคเต้านม/ไฟโบรซีสติค/ซีสต์เต้านม/ถุงน้ำเต้านม ได้แก่
- อาการที่พบในสตรีทุกคน ได้แก่ การมีก้อนในเต้านม โดยลักษณะก้อนจากการคลำ คือ
- ก้อนค่อนข้างกลม หรือรูปไข่, ผิวอาจขรุขระหรือเรียบก็ได้
- ขนาดก้อนมีได้ตั้งแต่ 1 มม. ไปจนถึง 5 ซม., อาจอยู่เดี่ยวๆ หรืออยู่รวมกันเป็นกลุ่ม, ขนาดก้อนเปลี่ยนแปลงตามรอบประจำเดือน โดยจะใหญ่ขึ้นช่วงก่อนมีประจำเดือนประมาณ 7-10วัน หลังจากนั้นจะค่อยๆยุบขนาดลงเมื่อประจำเดือนมาแล้ว เป็นวงจรซ้ำๆตามรอบประจำเดือนไปเรื่อยๆ
- อาจเกิดเพียงก้อนเดียวที่มักอยู่ด้านบนของเต้านม ใกล้รักแร้ หรือหลายก้อนในเต้านมเดียว หรือพบพร้อมกันทั้ง 2 เต้านม
- ก้อนมีความแข็งประมาณก้อนแป้งถึงยางลบ และจับโยกได้
- คลำไม่พบต่อมน้ำเหลืองบวมโตที่รักแร้และ/หรือที่ลำคอ
- อาการอื่นๆที่ต่างกัน โดยบางคนมีอาการ บางคนไม่มี และไม่จำเป็นต้องมีครบทุกอาการ, บางคนอาจเกิดช่วงก่อนมีประจำเดือน, บางคนเป็นๆหายๆ, บางคนมีอาการตลอดเวลา ได้แก่
- อาจเจ็บเมื่อคลำที่ก้อน
- เจ็บเต้านม มักเจ็บตามรอบประจำเดือนโดยเจ็บมากขึ้นช่วงก่อนมีประจำเดือน
- มีเต้านมบวม เจ็บร่วมด้วย มักเกิดช่วงก่อนมีประจำเดือน
- อาจมีสารคัดหลั่งจากหัวนมแต่ปริมาณน้อยมากๆ มักไม่ติดที่เสื้อชั้นใน และมักสัมพันธ์กับรอบประจำเดือนเช่นกัน พบได้โดยไม่ต้องบีบหัวนม มักมี สีเขียว หรือ สีน้ำตาลอ่อน มักพบทั้งสองเต้านม แต่อาจพบเฉพาะเต้านมที่เกิดก้อนก็ได้
- เจ็บรักแร้และ/หรือรักแร้บวมร่วมด้วย
แพทย์วินิจฉัยไฟโบรซีสติคเต้านมได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยไฟโบรซีสติค /ไฟโบรซีสติคเต้านม /ซีสต์เต้านม /ถุงน้ำเต้านม ได้จาก
- การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย เช่น อาการต่างๆ อายุที่เริ่มมีอาการ ประวัติประจำเดือน ประวัติมะเร็งเต้านมในครอบครัว ประวัติโรคประจำตัว และการใช้ยาต่างๆ
- การตรวจร่างกาย รวมถึงการตรวจคลำเต้านมทั้ง 2 ข้าง, ตรวจคลำก้อนเนื้อ, ตรวจคลำต่อมน้ำเหลืองรักแร้และลำคอทั้ง 2ด้าน
- อาจมีการตรวจอื่นๆเพื่อการสืบค้นเพิ่มเติมตามดุลพินิจของแพทย์ เช่น
- การตรวจภาพเต้านมทางรังสีวิทยา เช่น อัตราซาวด์ อาจร่วมกับการตรวจภาพรังสีเต้านม(แมมโมแกรม)
- เจาะ/ดูดเซลล์และน้ำในถุงน้ำ/ซีสต์ เพื่อการตรวจทางเซลล์วิทยา
- การตัดชิ้นเนื้อจากก้อนเนื้อ หรือ ผ่าตัดก้อนเนื้อออกเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา
เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?
เมื่อมีอาการดังกล่าวใน’หัวข้อ อาการฯ’ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเสมอ โดยเฉพาะเมื่อเป็นก้อนเนื้อที่อาจเป็นก้อนเนื้อมะเร็งเต้านม ได้แก่
- มีประวัติครอบครัวโดยเฉพาะญาติสายตรงเป็นมะเร็งเต้านม
- ก้อนเนื้อโตเร็ว
- ก้อนเนื้อแข็ง และเมื่อจับโยกแล้วอยู่คงที่
- มีการเปลี่ยนแปลงของผิวหนังรอบๆก้อนและหรือของเต้านมและ/หรือของหัวนม เช่นลักษณะหยาบคล้ายหนังหมู
- มีสารคัดหลั่งจากหัวนมด้านที่มีก้อนเนื้อ โดยสารคัดหลั่งเป็น สีขาวใส, สีแดง, เลือด, หรือน้ำปนเลือด และออกต่อเนื่อง มักออกปริมาณมากจนติดเสื้อชั้นใน
***โดยเมื่อก้อนเนื้อมีลักษณะดังกล่าว ควรรีบมาโรงพยาบาลภายใน 10-15 วัน
รักษาไฟโบรซีสติคเต้านมอย่างไร?
แนวทางการรักษาไฟโบรซีสติค/ไฟโบรซีสติคเต้านม /ซีสต์เต้านม/ถุงน้ำเต้านม ได้แก่
ก. ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้และไม่มีอาการอื่น รวมถึงก้อนเนื้อขนาดเล็ก: ไม่จำเป็นต้องมีการรักษา แต่แพทย์จะนัดติดตามเพื่อตรวจคลำเต้านมและก้อนเป็นระยะๆ โดยอาจร่วมกับการตรวจภาพเต้านมด้วย อัลตราซาวด์ และ/หรือ การตรวจภาพรังสีเต้านม(แมมโมแกรม)เป็นระยะๆตามดุลพินิจของแพทย์
ข. เมื่อมีอาการ: การรักษาคือ การรักษาตามอาการ เช่น
- ใช้ยาแก้ปวด เมื่อ/เจ็บเต้านม เช่น ยา พาราเซตามอล, ไอบูโปรเฟน
- ใช้ยา: แพทย์อาจลองใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดกรณีเจ็บเต้านมมากเพื่อควบคุมระดับฮอร์โมนเพศหญิงให้คงที่อยู่ในสมดุล
- อื่นๆ: เช่น
- ประคบเย็น ประคบอุ่นที่ก้อน
- สวมใส่เสื้อชั้นในที่กระชับลดการเคลื่อนไหวของเต้านม
- สังเกตอาหารและเครื่องดื่มที่กระตุ้นให้เกิดอาการหรือทำให้อาการรุนแรง แล้วเลิก/หลีกเลี่ยงการบริโภคสิ่งนั้นๆหรือลดปริมาณลงโดยเฉพาะช่วง 10-15วันก่อนมีประจำเดือน, ที่พบบ่อย เช่น อาหารเค็ม(เกลือโซเดียม), อาหารไขมันสูง, เครื่องดื่มคาเฟอีน(เช่น กาแฟ โคลา ชา เครื่องดื่มชูกำลัง), ช็อกโกแลต
ค. เมื่อโรคเกิดในวัยที่ควรตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม และ/หรือ มีประวัติครอบครัวโดยเฉพาะญาติสายตรงเป็นมะเร็งเต้านม แพทย์มักเจาะดูดเซลล์/น้ำจากก้อนเนื้อเพื่อการตรวจทางเซลล์วิทยา และ/หรือการตัดชิ้นเนื้อ และ/หรือผ่าตัดก้อนเนื้อออกเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา
ง. เมื่อการติดตามภาพเต้านมพบก้อนโตขึ้น และ/หรือมีความผิดปกติจาการตรวจภาพเต้านมทางรังสีวิทยา แพทย์จะพิจารณา
- เจาะดูดน้ำออกจากถุงน้ำเพื่อการตรวจทางเซลล์วิทยา
- และ/หรือเจาะดูดเซลล์/น้ำจากก้อนเนื้อเพื่อการตรวจทางเซลล์วิทยา
- และ/หรือตัดชิ้นเนื้อ และ/หรือผ่าตัดก้อนเนื้อออก เพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา
ไฟโบรซีสติคเต้านม มีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
ไฟโบรซีสติค/ไฟโบรซีสติคเต้านม/ซีสต์เต้านม เป็นโรคมีการพยากรณ์โรคที่ดี:
- ก้อนไม่เปลี่ยนเป็นมะเร็งเต้านม และไม่เป็นปัจจัยเสี่ยงเกิดมะเร็งเต้านม
- ก้อนมักค่อยๆยุบหายได้เองในวัยหมดประจำเดือน
- เมื่อผ่าตัดออก ก้อนมีโอกาสเกิดย้อนกลับเป็นซ้ำได้
ไฟโบรซีสติคเต้านมมีผลข้างเคียงอย่างไร?
ไฟโบรซีสติคเต้านม/ซีสต์เต้านม /ไฟโบรซีสติค/ถุงน้ำเต้านม จะส่งผลให้เนื้อเยื่อเต้านมหนาตัว มากขึ้นจนอาจบดบังก้อนเนื้อเต้านมชนิดเป็นมะเร็ง จนส่งผลให้รังสีแพทย์ไม่สามารถวินิจฉัยได้ว่าผู้ป่วยมีก้อนเนื้อมะเร็งเกิดร่วมด้วยหรือไม่จากการตรวจอัลตราซาวด์เต้านมและ/หรือการตรวจแมมโมแกรม ดังนั้นผู้ป่วยจึงควรต้องสังเกตก้อนเนื้อไฟโบรซีสติคเต้านมเสมอ ซึ่งถ้าพบมีการเปลี่ยนแปลง ควรต้องรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาล ดังได้กล่าวใน’หัวข้อ เมื่อไหร่ควรพบแพทย์ และ หัวข้อ การดูแลตนเอง’ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีญาติสายตรงเป็นมะเร็งเต้านม
ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
การดูแลตนเองเมื่อมี ไฟโบรซีสติค/ ไฟโบรซีสติคเต้านม/ซีสต์เต้านม/ถุงน้ำเต้านม ที่สำคัญ คือ
- ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
- ดูแลตนเองตาม ‘หัวข้อ การรักษาฯ หัวข้อย่อยข้อ ข. อื่นๆ:’
- พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอโดยเฉพาะการนัดตรวจภาพเต้านมทางรังสีวิทยา
- พบแพทย์มาโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ
- อาการต่างๆแย่ลง ทั้งๆที่ปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาล แนะนำรวมถึงได้ดูแลตนเองแล้ว
- ควรรีบด่วนมาโรงพยาบาลเมื่อมีอาการดังได้กล่าวใน’หัวข้อ เมื่อไหร่ควรพบแพทย์’
- เมื่อกังวลในอาการ
ป้องกันไฟโบรซีสติคเต้านมอย่างไร?
ปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกันการเกิดไฟโบรซีสติค/ไฟโบรซีสติคเต้านม/ซีสต์เต้านม/ถุงน้ำเต้านม เพราะดังกล่าวแล้วใน ‘หัวข้อ บทนำ และ ไฟโบรซีสติคเต้านมเกิดจากอะไร?’ ว่าโรค/ภาวะนี้เกิดจากเปลี่ยนแปลงในวงจรปกติของระดับฮอร์โมนเพศหญิงของร่างกาย
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Fibrocystic_breast_changes [2020,Nov14]
- https://uihc.org/health-topics/fibrocystic-breast-disease-faq [2020,Nov14]
- https://www.mountsinai.org/health-library/diseases-conditions/fibrocystic-breast-disease [2020,Nov14]
- https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK551609/ [2020,Nov14]
- https://www.acog.org/womens-health/faqs/benign-breast-problems-and-conditions [2020,Nov14]
- https://www.healthline.com/health/womens-health/nipple-discharge [2020,Nov14]