เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (X-ray Computerized Tomography) / ซีทีสแกน (CT-scan)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: เอกซเรย์คืออะไร? เอกซเรย์คอมพิวเตอร์คืออะไร?

เอกซเรย์ หรือ รังสีเอกซ (X-ray หรือ X-radiation) เป็นรังสีที่นำมาใช้ทางการแพทย์เพื่อช่วยวินิจฉัยโรค จัดอยู่ในรังสีประเภทไอออนไนซ์/Ionizing radiation (รังสีจากการตรวจโรค) โดยนำรังสีมาถ่ายภาพอวัยวะต่างๆที่แพทย์สงสัยว่าจะมีโรค ทำให้แพทย์มองเห็นภาพอวัยวะนั้นๆได้ เครื่องถ่ายภาพนี้ เรียกว่า ‘เครื่องเอกซเรย์’

ปัจจุบัน เครื่องเอกซเรย์/เอกซเรย์ ได้มีการพัฒนาไปอย่างมากเพื่อช่วยให้แพทย์วินิจฉัยโรคได้แม่นยำขึ้น โดยทั่วไปที่เรารู้จัก คือ การตรวจภาพอวัยวะด้วยเทคนิคที่เราคุ้นเคย เรียกว่า ‘การเอกซเรย์ หรือ เอกซเรย์ธรรมดา’ และการตรวจภาพอวัยวะที่ละเอียดมากยิ่งขึ้น โดยตัดซอยภาพอวัยวะที่ตรวจออกเป็นชิ้นบางๆในท่าตัดขวางหลายสิบชิ้นต่อ 1 อวัยวะ ที่เราเรียกว่า ‘เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (X-ray computed tomography หรือ Computerized tomography หรือ Computerized axial tomography) ตัวย่อคือ ซีที(CT) หรือ ซีทีสแกน (CT-scan) หรือแคทสแกน (CAT scan)’

ในบทนี้ จะกล่าวถึงเฉพาะ ‘เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือ ซีทีสแกน’ เท่านั้น ส่วนการ เอกซเรย์ หรือเอกซเรย์ธรรมดา ได้แยกเขียนต่างหากอยู่อีกบทหนึ่ง คือบทความ เรื่อง ‘เอกซเรย์’ รวมทั้งยังได้แยกเขียนเรื่อง เอมอาร์ไอ (MRI) เป็นอีกบทหนึ่งด้วยเช่นกัน

เอกซเรย์ธรรมดา เป็นการตรวจโรคที่ใช้มานานแล้ว เริ่มตั้งแต่การค้นพบรังสีชนิดนี้ในปี ค.ศ.1895 (พ.ศ.2438) โดยนักฟิสิกส์ชาวเยอรมันชื่อ Wilhelm Conrad Rontgen ดังนั้น บางประเทศจึงเรียกรังสีเอกซ์ นี้ว่า รังสีเรินเกน (Rontgen radiation) ส่วนแนวคิดในการตรวจอวัยวะให้ได้ภาพละเอียดยิ่งขึ้นด้วยการตัดซอยภาพอวัยวะให้เป็นแผ่นบางๆ (Tomography) เริ่มขึ้นจากแนวคิดของแพทย์รังสีวิทยาชาวอิตาลี ชื่อ Alessandro Vallebona ในปี ค.ศ.1900 (พ.ศ.2443) ต่อจากนั้นได้มีการศึกษาพัฒนาต่อเนื่องโดยเริ่มจากการตรวจภาพของสมองก่อน โดยแพทย์ประสาทวิทยาชาวสหรัฐอเมริกา ในปี ค.ศ.1959 (พ.ศ.2502) และเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ทางการค้าได้ถูกประดิษฐ์ขึ้นโดย Sir Godfrey Hounsfield นักวิศวกรรมไฟฟ้า ชาวสหราชอาณาจักร (ได้รับรางวัลโนเบลในปี ค.ศ.1979/พ.ศ.2522) โดยผู้ป่วยคนแรกที่ได้ รับการตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เป็นการตรวจภาพสมอง เมื่อ 1 ตุลาคม ค.ศ. 1971/พ.ศ.2514 (แต่ประกาศให้ทั่วโลกได้รับทราบในปี ค.ศ.1972/พ.ศ.2515) ที่โรงพยาบาล Atkinson Morley Hospital เมือง Wimbledon ประเทศอังกฤษ ซึ่งต่อจากนั้นจนถึงปัจจุบัน เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ได้พัฒนาไปอย่างรวดเร็วมาก จนได้ภาพที่คมชัดขึ้น สามารถซอยภาพออกได้เป็นแผ่นบางๆในจำนวนมากแผ่นขึ้น และใช้ระยะเวลาในการตรวจแต่ละเนื้อเยื่อ/ อวัยวะ ลดลงกว่าสมัยเมื่อเริ่มแรกมาก

เมื่อเนื้อเยื่อได้รับรังสีเอกซ์ เนื้อเยื่อจะดูดซึมรังสีเอกซ์ไว้ และเมื่อเป็นการถ่ายภาพลงบนแผ่นฟิล์ม (Film) จะส่งผลให้เกิดภาพบนแผ่นฟิล์มเป็นสีขาวดำ โดยความเข็มของสีภาพจะขึ้นกับความหนาแน่นของอะตอม (Atom) และชนิดของแร่ธาตุในแต่ละเนื้อเยื่อ ซึ่งเมื่อเนื้อเยื่อใดมีแคลเซียมสูง ภาพอวัยวะที่เห็นจากการเอกซเรย์จะเป็นสีขาว เช่น กระดูก แต่ถ้าเนื้อเยื่อมีอากาศอยู่ ภาพจะเป็นสีดำ เช่น ปอด และเมื่อเป็นเนื้อเยื่ออื่นๆที่มีความหนาแน่นของแร่ธาตุผสมระหว่างกระดูกกับอากาศ ภาพก็จะเป็นสีเทาลดหลั่นกัน ทำให้สามารถมองเห็นเนื้อเยื่อ/อวัยวะต่างๆได้ ทั้งในภาวะปกติและในภาวะเกิดโรค แพทย์จึงนำมาใช้ช่วยในการวินิจฉัยโรค

เอกซเรย์มีประโยชน์และโทษอย่างไร?

ซีทีสแกน

เอกซเรย์สามารถตรวจภาพของเนื้อเยื่อ/อวัยวะได้ทุกชนิด และในทุกเพศและทุกวัย ดังนั้นจึงเป็นประโยชน์อย่างมากต่อแพทย์ในการช่วยวินิจฉัยโรคได้ถูกต้องแม่นยำขึ้น อันนำไปสู่การรักษาที่มีประสิทธิภาพ

เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ สามารถให้รายละเอียดของภาพเนื้อเยื่อ/อวัยวะที่มีขนาดใหญ่และมีความหนามาก (เช่น ปอด ตับ), อวัยวะที่ห้อมล้อมด้วยกระดูก (เช่น สมอง), และอวัยวะที่อยู่ลึก (เช่น อวัยวะต่างๆในช่องท้อง เช่น มดลูก รังไข่ ตับอ่อน ไต และกระเพาะอาหาร) ได้ดีกว่าการเอกซเรย์ธรรมดามาก ดังนั้นเมื่อเป็นการวินิจฉัยโรคของเนื้อเยื่อ/อวัยวะที่มีลักษณะดังกล่าวอย่างละเอียด แพทย์จึงมักจำเป็นต้องให้การตรวจวินิจฉัยภาพเนื้อเยื่อ/อวัยวะเหล่านั้นด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์

อย่างไรก็ตาม เอกซเรย์ เป็นรังสีที่มีพลังงานได้หลายระดับ และก่อให้เกิดการบาดเจ็บของเซลล์ได้ทุกชนิด การบาดเจ็บจะมากหรือน้อยขึ้นกับปริมาณและระดับพลังงานของเอกซเรย์ที่เซลล์ได้รับ รวมทั้งอายุของเซลล์ด้วย โดยเซลล์ตัวอ่อน เช่น เซลล์ของทารกในครรภ์ (อาจส่งผลให้เกิดการแท้งบุตร หรือ ความพิการของทารกได้) เมื่อได้รับเอกซเรย์จะมีโอกาสเกิดการบาดเจ็บได้สูงกว่าเซลล์ของผู้ใหญ่ (แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง รังสีจากการตรวจโรค) ดังนั้นนอกจากประโยชน์ที่ได้รับ ถ้าใช้เอกซเรย์พร่ำเพรื่อ อาจทำให้เซลล์ร่างกายได้รับปริมาณรังสีสูงจนอาจก่อการบาดเจ็บต่อเซลล์ได้โดยเฉพาะในระยะยาวเมื่อหลายๆปีผ่านไป ซึ่งอันตรายที่สำคัญ คือ การบาดเจ็บของเซลล์ (จากรังสี) อาจส่งผลให้เซลล์ที่ได้รับรังสีเกิดการเปลี่ยนแปลง (Mutation)จนกลายเป็นเซลล์มะเร็ง/โรคมะเร็งได้ ทางการแพทย์จึงจัด เอกซเรย์เป็นรังสีที่สามารถก่อมะเร็งได้/สารก่อมะเร็ง(Carcinogen)

จากผลกระทบของเอกซเรย์ดังกล่าวแล้ว แพทย์จึงจะให้การตรวจด้วยเอกซเรย์เฉพาะต่อเมื่อมีข้อบ่งชี้ที่จำเป็นสำหรับผู้ป่วยเท่านั้น โดยเฉพาะในการตรวจด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ซึ่งผู้ป่วยจะได้รับปริมาณรังสีจากการตรวจในแต่ละครั้งมากกว่าการตรวจด้วยเอกซเรย์ธรรมดา

***** โอกาสเกิดโรคมะเร็งจากการตรวจโรคด้วยเอกซเรย์ซึ่งส่งตรวจโดยแพทย์แนะนำ พบได้น้อยมากๆ จนไม่จำเป็นต้องกังวล และเป็นที่ยอมรับของทางการแพทย์ทั่วโลกว่า การเอกซเรย์ทั้งเอกซเรย์ธรรมดาและเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์และตามดุลพินิจของแพทย์ ก่อประโยชน์ต่อผู้ป่วยอย่างมากมาย มากกว่าการเกิดโทษ

เอกซเรย์ธรรมดาต่างจากเอกซเรย์คอมพิวเตอร์อย่างไร?

ความแตกต่างระหว่างการเอกซเรย์ธรรมดา กับ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ คือ

  • เอกซเรย์ธรรมดา จะให้ภาพการตรวจเป็นภาพ 2 มิติ คือกว้าง และยาว ไม่สามารถบอกความลึกของภาพได้ และจะให้ภาพเป็นภาพรวมของทั้งอวัยวะ ดังนั้นจึงเป็นข้อจำกัดของเอกซเรย์ธรรมดา
  • เมื่อเปรียบเทียบกับเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ซึ่งใช้เทคโนโลยีในการตรวจที่ซับซ้อนกว่าเอกซเรย์ธรรมดามาก ซึ่งจะให้ภาพเป็น 3 มิติ และยังซอยภาพอวัยวะออกเป็นแผ่นบางๆในภาพตัดขวางได้หลายสิบแผ่น จึงช่วยให้แพทย์อ่านความผิดปกติของอวัยวะนั้นๆได้ละเอียดและแม่นยำกว่ามาก

ทั้งนี้ค่าใช้จ่ายในการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์จะสูงกว่าการเอกซเรย์ธรรมดาเป็นสิบหรือหลายสิบเท่า และในการตรวจแต่ละครั้งผู้ป่วยจะได้รับปริมาณรังสีสูงกว่าจากการตรวจด้วยเอกซเรย์ธรรมดา

ดังนั้นโดยทั่วไปเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ป่วย แพทย์จึงมักตรวจด้วยเอกซเรย์ธรรมดาก่อน ต่อเมื่อเอกซเรย์ธรรมดาไม่สามารถให้การวินิจฉัยได้ แพทย์จึงจะพิจารณาเลือกใช้การตรวจด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์

เมื่อไหร่จึงควรตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์? ตรวจส่วนไหนของร่างกายได้บ้าง?

แพทย์จะเลือกการตรวจวินิจฉัยด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เมื่อเนื้อเยื่อ/อวัยวะที่ต้องการวินิจฉัยให้การตรวจด้วยการเอกซเรย์ธรรมดาไม่ชัดเจน ซึ่งได้แก่

  • เนื้อเยื่อ/อวัยวะที่จะตรวจ มีความหนามาก การถ่ายภาพได้เป็นแผ่นบางๆจึงช่วยให้เห็นพยาธิสภาพของเนื้อเยื่อ/อวัยวะนั้นๆได้ชัดเจนกว่า เช่น ตับ และปอด เป็นต้น
  • เนื้อเยื่อ/อวัยวะนั้นๆอยู่ลึก การถ่ายภาพเป็น 3 มิติ ที่สามารถตรวจภาพด้านความลึกได้ จึงช่วยให้เห็นภาพเนื้อเยื่อ/อวัยวะนั้นๆได้ชัดเจนขึ้น เช่น ตับอ่อน และไต
  • ต้องการตรวจให้พบพยาธิสภาพที่มีขนาดเล็กๆ เป็น มิลลิเมตร หรือไม่เกิน 1 เซนติเมตร เพื่อสามารถให้การรักษาได้ตั้งแต่เริ่มเป็นโรค เช่น ในการตรวจวินิจฉัยการแพร่กระจายของโรคมะเร็งสู่ปอด เป็นต้น
  • ตรวจอวัยวะที่ล้อมรอบด้วยกระดูก ซึ่งจะตรวจพยาธิสภาพไม่พบจากเอกซเรย์ธรรมดา เช่น ภาพสมอง
  • ตรวจครั้งเดียววินิจฉัยโรคได้หลายเนื้อเยื่อ/อวัยวะ ซึ่งไม่สามารถตรวจได้ด้วยวิธีการอื่นๆรวมทั้งจากเอกซเรย์ธรรมดา เช่น การตรวจเนื้อเยื่อ/อวัยวะในช่องท้องทั้งหมดในการตรวจเพียงครั้งเดียว ที่เรียกว่า Whole abdomen CT scan

ทั้งนี้เอกซเรย์คอมพิวเตอร์สามารถตรวจเนื้อเยื่อ/อวัยวะได้เกือบทุกชนิด ตั้งแต่ ต่อมน้ำเหลือง, กระดูก, ปอด, ตับ, เนื้อเยื่อต่างๆในสมอง, กล้ามเนื้อ, ตา, หู, ลำคอ, แต่ ไม่สามารถตรวจพยาธิสภาพของ หลอดเลือด และเส้นประสาทได้ชัดเจนเท่าจากการตรวจด้วย เอมอาร์ไอ

เตรียมตัวอย่างไรเมื่อจะเอกซเรย์คอมพิวเตอร์? มีขั้นตอนการตรวจอย่างไร?

เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เป็นการตรวจที่มีขั้นตอนซับซ้อนกว่าการเอกซเรย์ธรรมดา ดังนั้นจึงต้องมีการนัดหมายตรวจ และต้องมีการเตรียมตัวก่อนตรวจเสมอ

การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ มักต้องมีการใช้สารทึบแสงร่วมด้วยเพื่อช่วยให้เห็นภาพต่างๆได้ชัดเจนขึ้น

สารทึบแสง คือ Radiocontrast agent ซึ่ง

  • อาจโดยการกิน หรือสวนทวาร เช่น แป้งแบเรียม (Barium powder) เพื่อเป็นตัวช่วยบอกว่าอวัยวะนั้นๆเป็นอวัยวะในระบบทางเดินอาหาร และ
  • การฉีดสารทึบแสง หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า การฉีดสี (Contrast agent) ซึ่งมักมีธาตุไอโอดีนเป็นส่วนผสม(Iodine contrast agent) โดยส่วนใหญ่จะฉีดเข้าหลอดเลือดดำ แต่บางครั้งอาจฉีดเข้าหลอดเลือดแดง หรือเข้าโพรง หรือเข้าตามท่อของอวัยวะต่างๆ ซึ่งขึ้นกับว่าเป็นการตรวจอวัยวะใด

ทั้งนี้:

  • สารทึบแสงที่เป็นแป้งแบเรียม ไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงแทรกซ้อน และจะถ่ายออกทางอุจจาระ ซึ่งสามารถถ่ายออกหมดไปได้ภายใน 1-3 วัน
  • แต่การฉีดสี อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียง หรือการแพ้ยาได้ โดยเฉพาะในผู้ที่แพ้ไอโอดีน เช่น อาหารทะเล (มีไอโอดีน) หรือผู้ที่มีโรคภูมิแพ้ต่างๆ และโรคหืด ดังนั้นในบุคคลเหล่านี้ จึงมักตรวจโดยไม่มีการฉีดสี ซึ่งจะทำให้การอ่านผลตรวจด้อยประสิทธิภาพลง แต่ก็ปลอดภัยจากการแพ้สี/แพ้ยา

การแพ้สีอาจก่ออาการเพียงเล็กน้อย เช่น

  • รู้สึกร้อนวูบวาบหลังการฉีดสี ซึ่งเกิดได้ทันที, รู้สึกลิ้นมีรสชาติโลหะ, รู้สึกเหมือนปัสสาวะราด (ทั้งๆที่ไม่ได้ปัสสาวะ), ปวดข้อ, หนาว, บางคนถึงขั้นหนาวสั่น, ปวดหัว, คลื่นไส้-อาเจียน
  • ถ้าการแพ้รุนแรงขึ้น อาจเกิดอาการคันทั้งตัว และมีผื่นคันขึ้นทั่วตัว
  • และในรายรุนแรงมาก อาจเกิด ความดันโลหิตต่ำ และภาวะช็อก เสียชีวิตได้
  • อย่างไรก็ตาม การแพ้สี โดยเฉพาะชนิดรุนแรงพบได้น้อยมากๆ ไม่ถึง 1% ซึ่งในคนที่มีปัจจัยเสี่ยง แพทย์จะพิจารณาฉีดยาแก้แพ้ให้ก่อนการตรวจ หรือตรวจโดยไม่ฉีดสี หรือใช้การตรวจด้วยวิธีอื่นแทน เช่น อัลตราซาวด์

นอกจากนี้ ในคนที่ไตทำงานผิดปกติ การฉีดสีนี้ อาจก่อให้เกิดภาวะไตวายได้ ดังนั้นในการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ จึงจำเป็นต้องรู้การทำงานของไตก่อนโดยการตรวจเลือด ซึ่งถ้าผิดปกติ แพทย์จะให้การตรวจด้วยการงดฉีดสี หรือเลือกวิธีอื่นตรวจแทน เช่น อัลตราซาวด์

ในผู้ป่วยโรคเบาหวาน ยาเบาหวานบางชนิดจะส่งผลให้สีที่ฉีด ค้างอยู่ในไตสูงขึ้น จึงเพิ่มปัจจัยเสี่ยงต่อไตวาย ดังนั้นถ้าจำเป็นต้องตรวจ แพทย์อาจให้หยุดยาเบาหวานทั้งก่อนและหลังการตรวจนานอย่างน้อย 48 ชั่วโมง

นอกจากนั้น สีที่ฉีดนี้ยังสามารถผ่านออกทางน้ำนมได้ ถึงแม้ยังไม่มีรายงานว่า ก่อให้เกิดอันตรายต่อทารกในกรณีผู้ป่วยให้นมบุตร ดังนั้น แพทย์จึงแนะนำงดให้นมบุตรหลังการฉีดสีประมาณ 48 ชั่วโมง (แพทย์บางท่านแนะนำใน 24 ชั่วโมง) เพื่อรอให้สีถูกกำจัดออกจากร่างกายให้หมดไปก่อนทางไต/ทางปัสสาวะ

ในวันนัดหมายตรวจ จำเป็นต้องมีการงดอาหารและน้ำดื่มอย่างน้อยๆประมาณ 3 ชั่วโมง ทั้งนี้ขึ้นกับว่าเป็นการตรวจอวัยวะใด และต้องมีการฉีดสีหรือไม่ ดังนั้นจึงต้องอ่านใบแนะนำการตรวจให้ดี เพื่อการงดอาหารและน้ำที่ถูกต้อง

เมื่อมีการนัดตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ผู้ป่วยต้องนัดตรวจกับแผนกเอกซเรย์ เจ้าหน้าที่จะให้คำอธิบายขั้นตอนการตรวจ, สอบถามประวัติประจำเดือนในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์, ตรวจผลการตรวจไต, การเคยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์มาก่อนหรือไม่, รวมทั้งการใช้ยาต่างๆ, และประวัติการแพ้ยา แพ้อาหาร หรือแพ้สาร/สิ่งต่างๆ

เจ้าหน้าที่ฯ จะให้วันนัดหมายตรวจพร้อมเอกสารการปฏิบัติตน และอาจให้เซ็นต์เอกสารยอมรับการตรวจ (บางโรงพยาบาลจะให้เซ็นต์ในวันตรวจ) ผู้ป่วยและครอบครัวควรต้องอ่านเอกสารแนะนำการตรวจให้เข้าใจก่อนออกจากแผนกเอกซเรย์ เมื่อไม่เข้าใจต้องสอบถามจากเจ้าหน้าที่จนเข้าใจ เพราะวิธีการเหล่านี้ แพทย์ พยาบาลแผนกอื่นๆจะไม่ทราบ เพราะเป็นการตรวจเฉพาะทาง

วันนัดหมายตรวจ ควรมาถึงแผนกเอกซเรย์ก่อนเวลานัดประมาณ 30 นาที - 1 ชั่วโมง เพื่อการจัดเตรียมเอกสารของเจ้าหน้าที่ ซึ่งเจ้าหน้าที่มักสอบถามคำถามซ้ำเพื่อป้องกันการผิดพลาด ต่อจากนั้น มีการเปลี่ยนเสื้อผ้า ใช้ของโรงพยาบาล และถอดโลหะต่างๆออก เช่น เครื่องประดับ และนาฬิกา เช่นเดียวกับการเอกซเรย์ธรรมดา เพราะเป็นการตรวจด้วยรังสีเอกซ์เช่นเดียวกัน โลหะ หรือวัสดุต่างๆจึงบดบังรังสี และก่อให้เกิดการอ่านผลที่ผิดพลาดได้

การตรวจฯ จะเป็นการนอนหงายนิ่งๆอยู่บนเตียงซึ่งจะค่อยๆเคลื่อนเข้าไปในอุโมงค์เอกซเรย์ ซึ่งจะได้ยินเสียงดังเล็กน้อยจากการทำงานของเครื่อง ผู้ป่วยจะอยู่ในห้องเอกซเรย์เพียงคนเดียว แต่จะมีเจ้าหน้าที่รังสีเฝ้าดูอยู่ด้วยทีวีวงจรปิด ซึ่งผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่สามารถพูดคุยผ่านเครื่องอินเทอร์คอม (Intercom) และส่งสัญญาณกันได้ตามที่เจ้าหน้าที่แนะนำ อย่าลุกจากเตียงจนกว่าเจ้าหน้าที่จะอนุญาต

ภายหลังการตรวจเสร็จสิ้น เจ้าหน้าที่จะให้นอนพักอยู่บนเตียงประมาณ 10 - 15 นาที จนผู้ป่วยรู้สึกผ่อนคลาย จึงค่อยๆให้ลุกขึ้นนั่ง และสังเกตอาการ เมื่ออาการปกติ เจ้าหน้าที่จึงอนุญาตให้ลงจากเตียง ออกจากห้องเอกซเรย์ได้ เปลี่ยนเสื้อผ้า และนัดมารับผลตรวจกับจ้าหน้าที่ที่เคาน์เตอร์

ภายหลังการตรวจ ผู้ป่วยกลับไปทำงาน และใช้ชีวิตได้ตามปกติ สัมผัสคลุกคลีได้กับทุกคนรวมทั้งหญิงตั้งครรภ์ โดยจะไม่มีรังสีหลงเหลืออยู่ในตัวผู้ป่วย แต่ควรดื่มน้ำให้มากขึ้นเพื่อช่วยขับสารจากการฉีดสีออกทางไต/ทางปัสสาวะให้เร็วขึ้น เมื่อไม่มีโรคที่ต้องจำกัดน้ำดื่ม

มีข้อห้ามการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ไหม?

ไม่มีข้อห้ามในการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ที่ตายตัว แต่เนื่องจากเป็นการตรวจด้วยรังสีเอกซ์เช่นเดียวกับการเอกซเรย์ธรรมดา ดังนั้นจึงไม่มีการตรวจนี้ในหญิงตั้งครรภ์หรือสงสัยการตั้งครรภ์ เนื่องจากอาจเกิดผลกระทบคือ ความพิการของทารกในครรภ์ได้

นอกจากนั้น คือ ในผู้ป่วยโรคไต หรือ โรคเบาหวาน หรือ แพ้ยาต่างๆ ถ้าจำเป็นต้องตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ก็จะตรวจโดยไม่มีการฉีดสี ซึ่งการอ่านผลก็จะลดประสิทธิภาพลง หรือเปลี่ยนเป็นการตรวจด้วยวิธีอื่นแทน เช่น อัลตราซาวด์

การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์บ่อยๆเป็นอะไรไหม?

ดังกล่าวแล้วว่าการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ให้ปริมาณรังสีต่อผู้ป่วยสูงกว่าการเอกซ เรย์ธรรมดา ซึ่งอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งในระยาว นานเกิน 5-10 ปีขึ้นไป (รังสีจากการตรวจโรค) ดังนั้นแพทย์จึงเลือกตรวจเฉพาะเมื่อมีข้อบ่งชี้ที่จำเป็น แต่เมื่อต้องมีการตรวจติดตามโรคบ่อยๆ แพทย์มักเลือกสลับการตรวจโดยใช้เอกซเรย์ธรรมดา หรืออัลตราซาวด์ โดยจะตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์เป็นครั้งคราว ซึ่งจะช่วยลดปริมาณรังสีที่ผู้ป่วยจะได้รับลง และยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย เพราะการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์มีค่าใช้จ่ายสูงกว่าการตรวจด้วยเอกซเรย์ธรรมดา และด้วยการตรวจด้วยอัลตราซาวด์มาก

แพทย์อ่านผลตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์อย่างไร?

แพทย์ผู้อ่านผลตรวจจากเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ได้ เป็นแพทย์เฉพาะทางด้านรังสีวิทยา ซึ่งการอ่านผลจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาเป็นชั่วโมงๆ ดังนั้นในโรงพยาบาลเอกชน ผลตรวจจะทราบได้ในเวลาประมาณ 2-3 ชั่วโมงหลังตรวจ แต่ในโรงพยาบาลรัฐบาลซึ่งมีจำนวนผู้ป่วยมากมาย การรับฟังผลจึงมักประมาณ 3-10 วันหลังการตรวจ หรือ ได้รับผลตรวจในวันที่มีนัดกับแพทย์เจ้าของไข้นัดตรวจผู้ป่วย

การอ่านผล จะมีใบอ่านผล และแพทย์จะมอบแผ่นฟิล์ม หรือ ภาพการตรวจอาจเป็นกระ ดาษ หรือบันทึกในแผ่นซีดี หรือ ดีวีดี ดังนั้นผู้ป่วยเมื่อมารับผลตรวจ ควรต้องตรวจสอบเอกสารต่างๆให้ครบถ้วน ทั้งใบอ่านผล และตัวฟิล์ม หรือ ซีดี วีซีดีต่างๆก่อนออกจากแผนกเอกซเรย์ หรือโรงพยาบาล หรือห้องแพทย์

ในการพบแพทย์แต่ละครั้ง และแต่ละท่าน ผู้ป่วยควรต้องนำใบอ่านผลพร้อมฟิล์มเอกซเรย์ หรือซีดีต่างๆติดตัวมาด้วยเสมอ เพื่อแพทย์ต้องการทราบข้อมูล และเพื่อเมื่อมีการตรวจซ้ำ จะได้ใช้เปรียบเทียบผลตรวจในแต่ละครั้ง ซึ่งจะเพิ่มความแม่นยำของการตรวจ เป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยมากยิ่งขึ้น

เมื่อมีการตรวจ วินิจฉัย รักษา ทุกคนควรมีการจัดเก็บข้อมูลทางการแพทย์ของตน และควรมีกระเป๋าเฉพาะสำหรับการจัดเก็บ วางไว้ในที่ที่มองเห็นง่ายและทุกคนในครอบครัวรับทราบ เมื่อจะมาพบแพทย์ จะได้หยิบฉวยได้สะดวก ครบถ้วน ไม่ขาดตกบกพร่อง ทั้งนี้รวมทั้งการจดชื่อยาต่างๆที่กำลังใช้อยู่ และจดคำถามหรือข้อสงสัยเพื่อการพูดคุยกับแพทย์ได้ครบถ้วนและรวดเร็ว

อนึ่ง เช่นเดียวกับการตรวจทุกชนิด การตรวจภาพเนื้อเยื่อ/อวัยวะ (เซลล์ เนื้อเยื่อ อวัยวะ ) ด้วยเทคนิคต่างๆรวมทั้งเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ให้ผลผิดพลาดได้ด้วยข้อจำกัดทางเทคนิคประ มาณ 10-15% โดยเป็นความผิดพลาด อาจในลักษณะที่มีโรคแต่ตรวจไม่พบ หรือไม่มีโรคแต่ให้ภาพว่าน่ามีโรค ดังนั้นในการวินิจฉัยโรค แพทย์จึงใช้ข้อมูลจากหลายๆแหล่งซึ่งต้องให้ข้อ มูลที่สอดคล้องกัน ที่สำคัญคือ อาการผู้ป่วย การตรวจร่างกาย การตรวจทางห้องปฏิบัติการ การตรวจภาพของเนื้อเยื่อ/อวัยวะ และอาจจำเป็นต้องมีการตรวจทางพยาธิวิทยา (และ/หรือการตรวจทางเซลล์วิทยา) ร่วมด้วย

บรรณานุกรม

  1. Hall, E. (1994). Radiobiology for radiologist. Philadelphia: J.B. Lippincott Company.
  2. http://en.wikipedia.org/wiki/Radiocontrast_agent [2019,July6]
  3. ICRP publication 60. สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ พ.ศ. 2537.
  4. http://en.wikipedia.org/wiki/X-ray [2019,July6]
  5. https://en.wikipedia.org/wiki/CT_scan [2019,July6]