ซิสพลาติน (Cisplatin)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 18 เมษายน 2561
- Tweet
- บทนำ
- ซิสพลาตินมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- ซิสพลาตินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ซิสพลาตินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ซิสพลาตินมีขนาดบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมมารับการฉีดยาควรทำอย่างไร?
- ซิสพลาตินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ซิสพลาตินอย่างไร?
- ซิสพลาตินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาซิสพลาตินอย่างไร?
- ซิสพลาตินมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- มะเร็ง (Cancer)
- เนื้องอก (Tumor)
- ยาเคมีบำบัด (Cancer chemotherapy)
- การดูแลตนเอง การดูแลผู้ป่วยเคมีบำบัด (Coping with chemotherapy)
- การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็ง และการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง (Cancer patient self-care and Cancer care)
- ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำจากเคมีบำบัด และ / หรือรังสีรักษา: การดูแลตนเอง (Selfcare of neutropenia during cancer therapy)
บทนำ
ยาซิสพลาติน(Cisplatin หรือ Cisplatinum หรือ Cis-diammine dichloroplatinum(II) หรือ Cis-diamminedichloroplatinum ย่อว่า CDDP) เป็นยาเคมีบำบัดกลุ่ม Alkylating agents(ยาเคมีบำบัด กลุ่มที่ทำลายDNAของเซลล์) ทางคลินิกใช้เป็นยารักษาโรคมะเร็งหลายชนิด เช่น มะเร็งอัณฑะ(Testicular cancer), มะเร็งรังไข่ (Ovarian cancer), มะเร็งปากมดลูก (Cervical cancer), มะเร็งเต้านม (Breast cancer), มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ (Bladder cancer), มะเร็งระบบศีรษะและลำคอ (Head and neck cancer), มะเร็งหลอดอาหาร (Esophageal cancer), มะเร็งปอด(Lung cancer), เนื้องอกเยื่อหุ้มปอด (Mesothelioma), เนื้องอก/มะเร็งสมอง (Brain tumors) และ มะเร็งนิวโรบลาสโตมา (Neuroblastoma)
ยาซิสพลาตินถูกค้นพบในปี ค.ศ.1845(พ.ศ.2388) และองค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้เป็นยาจำเป็นขั้นพื้นฐานสำหรับสถานพยาบาลควรมีสำรองไว้ให้บริการแก่ผู้ป่วย รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาซิสพลาตินเป็นยาฉีด เมื่อตัวยานี้เข้าสู่กระแสเลือดจะมีการกระจายเข้าสู่อวัยวะต่างๆ เช่น ตับ ไต ลำไส้ใหญ่ ลำไส้เล็ก ฯลฯ แต่จะซึมผ่านเข้าสมองได้ค่อนข้างน้อย ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 30–100 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือดโดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ ผู้ที่ได้รับยานี้อาจเกิดร่องรอยการอักเสบในบริเวณหลอดเลือด(หลอดเลือดอักเสบ) หรือการแทงเข็มผิดพลาดทะลุผนังหลอดเลือดจะทำให้ยาซิสพลาตินหลุดรอดไปทำลายบริเวณเนื้อเยื่อใกล้เคียงจนก่อให้เกิดอาการบวมแดงอย่างรุนแรงของเนื้อเยื่อที่สัมผัสยานี้ หากพบเห็นกรณีดังกล่าว แพทย์จะให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยทันที
นอกจากนี้การให้สารละลายประเภทน้ำเกลือกับผู้ป่วยร่วมกับการให้ยานี้จะป้องกันมิให้ร่างกายผู้ป่วยเกิดภาวะขาดน้ำซึ่งจำเป็นต่อการขับยาซิสพลาตินออกมากับปัสสาวะ
การใช้ยาซิสพลาตินยังทำให้ผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ต่างๆหลายประการเช่น คลื่นไส้อาเจียน เม็ดเลือดต่ำ เกิดพิษ(ผลข้างเคียงรุนแรง)กับไต(ไตอักเสบ)และประสาทหู(หูหนวก) ทำให้เกลือแร่อย่าง แมกนีเซียม แคลเซียม และโปแตสเซียม ในเลือดต่ำลง ซึ่งความรุนแรงดังกล่าวจะมากหรือน้อยขึ้นกับปริมาณ/ขนาดยานี้และระยะเวลาที่ได้รับยานี้ เมื่อจบคอร์ส(Course)การให้ยานี้ อาการข้างเคียงต่างๆจะค่อยๆหายและทุเลาไปเอง
มีคำเตือนและข้อควรระวังต่างๆที่แพทย์จะกำชับให้ผู้ป่วยปฏิบัติและดูแลตนเองขณะที่ได้รับยาซิสพลาตินอย่างเคร่งครัด เช่น
- ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
- ห้ามรับประทานยาอื่นใดร่วมกับยาซิสพลาตินโดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์ ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะยาตีกัน(ปฏิกิริยาระหว่างยา)
- ห้ามรับการฉีดวัคซีนต่างๆขณะที่ใช้ยาซิสพลาติน เพราะเสี่ยงต่อการติดเชื้อจาก ตัววัคซีนนั้นๆ
- ยานี้เป็นพิษกับเด็กทารก หากผู้ป่วยสตรีมีการตั้งครรภ์อยู่ก่อนจะต้องแจ้งให้แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทราบทุกครั้งที่เข้ารับการรักษา
- ป้องกันการตั้งครรภ์ไม่ว่าผู้ป่วยจะเป็นบุรุษหรือสตรีก็ตาม ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยง การส่งผ่านตัวยานี้เข้าสู่ทารก
- ห้ามเลี้ยงบุตรด้วยน้ำนมของมารดาที่ได้รับยาซิสพลาติน
- ป้องกันอาการการคลื่นไส้อาเจียนจากยานี้โดยการรับประทานอาหารเป็นปริมาณน้อยๆในแต่ละมื้อ แต่สามารถรับประทานบ่อยขึ้น
- ดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคล เช่น ล้างมือบ่อยครั้ง ไม่อยู่ในสถานที่มีผู้คนแออัด เพื่อป้องกันการติดเชื้อโรคต่างๆ
- ห้ามดื่มเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ พักผ่อน และรับประทานแต่อาหารที่เป็นประโยชน์เพื่อจะได้ฟื้นสภาพร่างกายได้รวดเร็ว
- มาโรงพยาบาลเพื่อรับ การตรวจเลือด การตรวจร่างกาย เพื่อดูความก้าวหน้าของการรักษาโรคตามที่แพทย์นัดหมายทุกครั้ง
คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุยาซิสพลาตินลงในบัญชียาหลักแห่งชาติ โดยจัดให้อยู่ในหมวดยาอันตรายที่ต้องใช้ภายใต้การกำกับดูแลของแพทย์ซึ่ง สามารถพบเห็นการใช้ยานี้ได้ตามสถานพยาบาลเท่านั้น
ซิสพลาตินมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ทางคลินิก ได้นำยาซิสพลาตินมารักษาโรคมะเร็งหลายชนิด เช่น มะเร็งอัณฑะ มะเร็งรังไข่ มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งนิวโรบลาสโตมา เนื้องอก/มะเร็ง สมอง โรคมะเร็งกระดูกชนิดออสตีโอซาร์โคมา(Osteosarcoma) และยังใช้เป็นยาทำลายเซลล์ไขกระดูกเดิมก่อนเริ่มการปลูกถ่ายไขกระดูกใหม่ในผู้ป่วยมะเร็ง
ซิสพลาตินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาซิสพลาติน มีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะยับยั้งการสังเคราะห์สารพันธุกรรมของเซลล์มะเร็ง อย่างเช่น DNA และ RNA ส่งผลให้เซลล์มะเร็งหยุดการแบ่งตัว ไม่สามารถขยายขนาด เกิดการฝ่อ และตายลงในที่สุด
ซิสพลาตินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาซิสพลาตินมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาฉีดที่มีตัวยา Cisplatin ขนาด 10 มิลลิกรัม/20 มิลลิลิตร และ 50 มิลลิกรัม/100 มิลลิลิตร
ซิสพลาตินมีขนาดบริหารยาอย่างไร?
เนื่องจากยาซิสพลาตินใช้รักษามะเร็งได้หลากหลายชนิด ในบทความนี้ขอยกตัวอย่างขนาดยาซิสพลาตินที่ใช้รักษาเฉพาะในบางโรค เช่น
ก.สำหรับรักษามะเร็งอัณฑะ:
- ผู้ใหญ่: ให้ยาทางหลอดเลือดดำ 20 มิลลิกรัม/พื้นที่ผิวของร่างกาย 1 ตารางเมตร วันละ1ครั้ง เป็นเวลา 5 วันติดต่อกัน ซึ่งแพทย์อาจใช้ยารักษามะเร็งตัวยาอื่นร่วมด้วย
ข. สำหรับรักษามะเร็งรังไข่:
- ผู้ใหญ่: ให้ยาทางหลอดเลือดดำ 75–100 มิลลิกรัม/พื้นที่ผิวฯ 1 ตารางเมตร ครั้งเดียวทุกๆ 4 สัปดาห์ แพทย์อาจใช้ยา Cyclophosphamide ร่วมในการรักษามะเร็งรังไข่ในระยะแพร่กระจาย
ค. สำหรับรักษามะเร็งกระเพาะปัสสาวะ:
- ผู้ใหญ่: ให้ยาทางหลอดเลือดดำ 50–70 มิลลิกรัม/พื้นที่ผิวฯ 1 ตารางเมตร ครั้งเดียวทุกๆ 3–4 สัปดาห์
ง. สำหรับรักษามะเร็งนิวโรบลาสโตมา:
- ผู้ใหญ่: ให้ยาทางหลอดเลือดดำ 60–100 มิลลิกรัม/พื้นที่ผิวฯ 1 ตารางเมตร วันละ 2 ครั้ง ทุกๆ 3–4 สัปดาห์
จ. สำหรับรักษามะเร็งกระดูกออสตีโอซาร์โคมา:
- ผู้ใหญ่: ให้ยาทางหลอดเลือดดำขนาด 60–100 มิลลิกรัม/พื้นที่ผิวฯ 1 ตารางเมตร วันละ 2 ครั้ง ทุกๆ 3–4 สัปดาห์
ฉ. สำหรับรักษาเนื้องอก/มะเร็งสมอง:
- ผู้ใหญ่: หยดยาเข้าหลอดเลือดดำขนาด 60 มิลลิกรัม/พื้นที่ผิวฯ 1 ตารางเมตร วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 2 วันติดต่อกัน ทุกๆ 3–4 สัปดาห์
อนึ่ง:
- เด็ก: การใช้ยานี้และขนาดยานี้ในเด็ก อยู่ในดุลพินิจของแพทย์เป็นกรณีๆไป
*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาซิสพลาติน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาซิสพลาตินอาจ ส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆ ที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมมารับการฉีดยาควรทำอย่างไร?
การใช้ยาซิสพลาตินต้องเป็นไปตามระยะเวลาที่แพทย์นัดหมาย ทั้งนี้มาจากเหตุผลด้านของการออกฤทธิ์และการกำจัดทำลายยานี้ออกจากร่างกาย กรณีที่ผู้ป่วยลืม/ไม่สามารถมารับการฉีดยานี้ ควรรีบติดต่อแพทย์/พยาบาล/บุคคลากรที่เกี่ยวข้องเพื่อทำการนัดหมายใหม่โดยเร็ว
ซิสพลาตินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาซิสพลาตินสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา(ผลข้างเคียง/ อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น
- ผลต่อไต: เช่น ก่อให้เกิดพิษกับไต(ไตอักเสบ) สังเกตจากระดับอิเล็กโทรไลต์(Electrolyte)ต่างๆในร่างกายผิดปกติ เกิดภาวะกรดยูริคในเลือดสูง
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น มีภาวะคลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย สะอึก
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น สูญเสียการได้ยิน ซึ่งมักจะเป็นในช่วง 3–4 วันแรกที่เริ่มการรักษา อาจมีอาการชัก ปวดศีรษะ การรับรสชาติอาหารผิดปกติ
- ผลต่อระบบเลือด: เช่น โลหิตจาง
- ผลต่อตา: เช่น ประสาทตาอักเสบ ตาพร่า การมองเห็นสีต่างๆผิดเพี้ยน
- ผลต่อตับ: เช่น ค่าเอนไซม์การทำงานของตับในเลือดสูงเพิ่มขึ้น(ตับอักเสบ) ค่าบิลิรูบินในเลือดเพิ่มขึ้น
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจเต้นเร็ว หรือ ไม่ก็ช้า เกิดลิ่มเลือดอุดกั้นหลอดเลือดในปอด(สิ่งหลุดอุดหลอดเลือดปอด) มีลิ่มเลือดในหลอดเลือดต่างๆ
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น อาจมีผื่นคัน ผมร่วง
มีข้อควรระวังการใช้ซิสพลาตินอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาซิสพลาติน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาชนิดนี้
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร
- ห้ามใช้กับผู้ป่วยโรคไต ผู้ป่วยโรคไขกระดูกถูกกดการทำงาน ผู้ป่วยที่สูญเสีย การได้ยิน
- ระหว่างที่ได้รับยานี้ ต้องมาโรงพยาบาลเพื่อ การตรวจร่างกาย และการตรวจเลือด ตามแพทย์นัด เพื่อประเมินจำนวนเม็ดเลือด การทำงานของไต การได้ยินเสียง ตลอดจนกระทั่งอาการชาตามปลายมือและปลายเท้าว่ามีหรือไม่
- ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัดและมาโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษาตามที่แพทย์นัดหมายต่อเนื่องทุกครั้ง
- ห้ามใชเยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาซิสพลาตินด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
ซิสพลาตินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาซิสพลาตินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- ห้ามใช้ยาซิสพลาตินร่วมกับวัคซีนป้องกันไข้ทรพิษ เพราะอาจทำให้ร่างกายผู้ป่วยได้รับเชื้อไข้ทรพิษเสียเอง และผลกระตุ้นภูมิคุ้มกันจากวัคซีนล้มเหลว
- ห้ามใช้ยาซิสพลาตินร่วมกับ ยาEtoposide เพราะจะทำให้เกิดอาการอาเจียนและคลื่นไส้ อย่างรุนแรง ร่วมกับมีไข้ หนาวสั่น ตามมา
- การใช้ยาซิสพลาตินร่วมกับ ยาAdefovir อาจเป็นเหตุให้เกิดพิษต่อไต กรณีจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาซิสพลาตินร่วมกับ ยาAmiodarone เพราะจะทำให้เกิดอาการ หัวใจเต้นผิดจังหวะตามมา
ควรเก็บรักษาซิสพลาตินอย่างไร?
ควรเก็บยาซิสพลาตินภายใต้อุณหภูมิ 15-25 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ซิสพลาตินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาซิสพลาติน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Kemoplat (เคโมแพลต) | Fresenius Kabi |
Placis (พลาซิส) | Boryung Pharm |
อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ เช่น Platinol, Platinol AQ
บรรณานุกรม
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/cisplatin/?type=brief&mtype=generic [2018,April7]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/kemoplat/?type=brief [2018,April7]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/placis/?type=brief [2018,April7]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Cisplatin [2018,April7]
- http://chemocare.com/chemotherapy/drug-info/cisplatin.aspx [2018,April7]
- https://www.drugs.com/dosage/cisplatin.html#Usual_Adult_Dose_for_Bone_Marrow_Transplantat [2018,April7]