ซาลิไซเลต (Salicylate)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 8 มิถุนายน 2564
- Tweet
- บทนำ: คือยาอะไร?
- ซาลิไซเลตมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- ซาลิไซเลตมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ซาลิไซเลตมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ซาลิไซเลตมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ซาลิไซเลตมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ซาลิไซเลตอย่างไร?
- ซาลิไซเลตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาซาลิไซเลตอย่างไร?
- ซาลิไซเลตมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- กลุ่มยาแก้ปวดและยาพาราเซตามอล (Analgesics and Paracetamol)
- ยาลดไข้ ยาแก้ไข้ (Antipyretics) และยาแก้ปวด (Analgesic or Pain Killer)
- ยาแอสไพริน (Aspirin)
- ยาฆ่าเชื้อ (Antimicrobial drug) ยาแก้อักเสบ (Anti inflammatory drug)
- โรคข้อรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis)
- ข้อเสื่อม เข่าเสื่อม (Osteoarthritis)
- ข้ออักเสบ (Arthritis)
บทนำ: คือยาอะไร?
ยาซาลิไซเลต (Salicylate) คือ กลุ่มยาต้านการอักเสบ/ยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สาร/ยาสเตีย รอยด์ (เอ็นเสด/NSAIDs) นักวิทยาศาสตร์ยังแบ่งประเภทยาซาลิไซเลตออกเป็นอีก 2 กลุ่มย่อยคือ
1. Acetylated salicylate: เช่นยา Aspirin หรือเรียกว่า Acetylsalicylic acid ใช้เป็นยาลดไข้, ยาต้านการอักเสบ/ยาแก้อักเสบ, บรรเทาอาการปวด/ยาแก้ปวด, นอกจากนี้ยังใช้ Aspirin ป้องกันภาวะหัวใจวาย/ภาวะหัวใจล้มเหลวโดยต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น, ผลข้างเคียงที่พบบ่อยๆจากยากลุ่มนี้ได้แก่ การได้ยินเสียงแว่วในหู, รู้สึกสับสน, ประสาทหลอน หายใจถี่/หายใจเร็ว, บางรายจะพบอาการชัก, หากใช้ติดต่อนานเกิน 10 วันอาจพบอาการบวมของร่างกายได้
2. Nonacetylated salicylate: เช่นยา Choline magnesium trisalicylate, Sodium salicylate, และ Salicylsalicylic acid
- Choline magnesium trisalicylate: เป็นยาที่ใช้ลดอาการปวดและอักเสบอันมีสาเหตุจากข้ออักเสบ การใช้ยานี้เป็นเวลานานๆอาจทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว เจ็บหน้าอก อ่อนเพลีย ปวดท้อง คลื่นไส้-อาเจียน
- Sodium salicylate: ใช้ลดอาการไข้ บรรเทาอาการปวดต่างๆเช่น ปวดจากโรคข้อรูมาตอยด์ และข้ออักเสบ ผลข้างเคียงสำคัญๆได้แก่ เป็นพิษกับตับ, ระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร, อาจกระตุ้นให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว
- Salicylsalicylic acid หรือ Salsalate: เป็นยาบรรเทาปวดจากโรคข้อ, โรคข้อรูมาตอยด์ ผลข้างเคียงที่เด่นชัดได้แก่ มีอาการวิงเวียน คลื่นไส้ เป็นต้น
ทั้งนี้ เราสามารถพบเห็นรูปแบบการใช้ยาของกลุ่มยาซาลิไซเลตทั้งในรูปแบบยารับประทาน, และยาเหน็บทวาร สำหรับยารับประทานยังมีการออกแบบเป็นชนิดออกฤทธิ์เนิ่น/นาน, ชนิดเคี้ยว, หรือแบบกลืนกับน้ำธรรมดา, ทั้งนี้ขึ้นกับความเหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละรายบุคคล
ถึงแม้ยากลุ่มซาลิไซเลตจะสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไปแต่ก็จัดอยู่ในหมวด ยาอันตราย เคยมีรายงานการรับประทานยาในเด็กนานมากกว่า 5 วันและนานกว่า 10 วันสำหรับผู้ใหญ่อาจจะก่อให้เกิดอาการข้างเคียง/ผลข้างเคียงขึ้นมาได้โดยไม่มีสัญญาณเตือนล่วงหน้าด้วยซ้ำไปเช่น เกิดอาการบวมที่ใบหน้า นิ้ว เท้า และขา หรือปวดท้องอย่างรุนแรง และมีอุจจาระสีดำคล้ำ/อุจจาระเป็นเลือด รวมถึงอาเจียนออกมาพร้อมกับมีเลือดปน/อาเจียนเป็นเลือด บางรายอาจได้ยินเสียงดังอยู่ในหู มีอาการปวดหัวร่วมด้วย ซึ่งหากพบความผิดปกติดังกล่าวควรรีบหยุดการใช้ยา แล้วรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที ดังนั้นการเลือกใช้ยาไม่ว่าจะเป็นรายการใดของยากลุ่มนี้จะต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น
ซาลิไซเลตมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาซาลิไซเลตมีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้:
- ใช้บรรเทาอาการเจ็บปวด/ ยาแก้ปวด ลดไข้/ยาลดไข้
- รักษาอาการข้ออักเสบ, โรคข้อรูมาตอยด์
- ป้องกันภาวะหัวใจล้มเหลว เช่น ยา Aspirin
ซาลิไซเลตมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยากลุ่มซาลิไซเลตมีกลไกการออกฤทธิ์คือ ตัวยาจะต้านการอักเสบโดยยับยั้งการสัง เคราะห์สารที่เกี่ยวข้องกับอาการการเจ็บ/ปวด/การอักเสบชื่อ Prostaglandin รวมถึงออกฤทธิ์ต่อศูนย์ควบคุมอุณหภูมิของร่างกายที่สมองส่วนไฮโปธาลามัส (Hypothalamus) ทำให้ไข้ลดลง จากกลไกดังกล่าวจึงทำให้ยากลุ่มนี้มีฤทธิ์รักษาตามสรรพคุณ
ซาลิไซเลตมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาซาลิไซเลตมีรูปแบบการจัดจำหน่าย: เช่น
- ยาเม็ด ยาแคปซูล ชนิดรับประทาน
- ยาเหน็บทวาร
ซาลิไซเลตมีขนาดรับประทานอย่างไร?
เนื่องจากยาในกลุ่มซาลิไซเลตมีหลายรายการ ขนาดรับประทานที่เหมาะสมกับแต่ละอาการและความปลอดภัยในการใช้ยาจึงต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยากลุ่มซาลิไซเลต ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก /หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยากลุ่มซาลิไซเลตอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยา/ใช้ยากลุ่มซาลิไซเลต สามารถรับประทาน/ใช้ยาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทาน/การใช้ยาในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณการรับประ ทาน/การใช้ยาเป็น 2 เท่า
ซาลิไซเลตมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยากลุ่มซาลิไซเลตสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
- ปวดท้อง
- อุจจาระเป็นสีดำหรือมีเลือดปน/อุจจาระเป็นเลือด
- ปวดหัว
- มีเสียงดังในหู
- มีผื่นคันตามผิวหนัง
- อ่อนแรง
- คลื่นไส้-อาเจียน
- อาเจียนมีสีคล้ำ/อาเจียนเป็นเลือด
- แสบร้อนกลางอก
*อนึ่ง: สำหรับผู้ที่ได้รับยาในกลุ่มนี้เกินขนาดโดยเฉพาะในเด็ก จะพบอาการง่วงนอน อ่อนเพลีย หายใจเร็ว หากพบอาการดังกล่าวควรรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
มีข้อควรระวังการใช้ซาลิไซเลตอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ซาลิไซเลต เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยากลุ่มนี้
- ห้ามใช้กับผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก เช่น ยา Aspirin
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ด้วยยากลุ่มนี้สามารถขับผ่านออกมากับน้ำนม มารดาได้
- ห้ามปรับขนาดรับประทานยานี้ด้วยตนเอง
- ระวังการเกิดอาการข้างเคียง/ผลข้างเคียงเมื่อใช้ยานี้เป็นเวลานานกว่า 5 วันในเด็ก (นิยามคำว่าเด็ก) และนานกว่า 10 วันในผู้ใหญ่
- ระวังการใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ เด็ก และผู้สูงอายุ การจะใช้ยานี้กับผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องได้รับคำสั่งจากแพทย์เท่านั้น
- หยุดการใช้ยานี้ทันทีเมื่อพบอาการแพ้ยาหรือเกิดผลข้างเคียงที่รบกวนต่อการดำรงชีวิตประ จำวัน และควรรีบกลับไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
- การรับประทานยานี้หลังหรือพร้อมมื้ออาหารจะช่วยลดอาการระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร และลำไส้ได้ระดับหนึ่ง
- การใช้ยากลุ่มนี้กับผู้ป่วยโรคเบาหวานสามารถทำให้การตรวจสอบปริมาณน้ำตาลในปัสสาวะคลาดเคลื่อนได้ จึงควรเลี่ยงการใช้ยากลุ่มนี้กับผู้ป่วยเบาหวาน
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยากลุ่มซาลิไซเลตด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ซาลิไซเลตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาซาลิไซเลตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยากลุ่มซาลิไซเลต ร่วมกับยา Corticosteroids อาจทำให้ความเข้มของยากลุ่มซาลิไซเลตในกระแสเลือดลดต่ำลงจนอาจส่งผลต่อการรักษา หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นกรณีไป
- การใช้ยา Choline salicylate ร่วมกับยา Warfarin จะทำให้เกิดพิษจาก Warfarin เพิ่มมากยิ่งขึ้นจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยา Aspirin ร่วมกับ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ หรือร่วมกับยา Corticosteroids, ยา เอ็นเสดบางตัว (เช่นยา Phenylbutazone และ Oxyphenbutazone) สามารถทำให้เกิดแผลในระบบทางเดินอาหารได้ง่าย เช่น แผลในกระเพาะอาหาร หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ร่วมกัน
- การใช้ยา Salsalate ร่วมกับยา Adefovir อาจส่งผลให้ไตทำงานผิดปกติ หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
ควรเก็บรักษาซาลิไซเลตอย่างไร?
สามารถเก็บยาซาลิไซเลต:
- เก็บยาภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น
- ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และ ความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
ซาลิไซเลตมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาซาลิไซเลต มียาชื่อการค้าอื่น และ บริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Asatab (อะซาแท็บ) | T. O. Chemicals |
Aspent (แอสเพนท์) | Ranbaxy |
Aspent-M (แอสเพนท์-เอ็ม) | Ranbaxy |
Aspilets (แอสไพเลทส์) | Great Eastern |
Aspirin BD (แอสไพริน บีดี) | British Dispensary (L.P.) |
B-Aspirin 81 (บี-แอสไพริน 81) | Osoth Interlab |
Cardiprin 100 (คาร์ดิพริน 100) | Reckitt Benckiser |
Sodium Salicylate A.N.H. (โซเดียม ซาลิไซเลต เอ.เอ็น.เฮช.) | A.N.H. |
บรรณานุกรม
- http://www.gericareonline.net/tools/eng/pain/attachments/Pain_Tool_13_IN.pdf [2021,June5]
- https://www.verywellhealth.com/what-are-salicylates-190366 [2021,June5]
- https://www.webmd.com/allergies/salicylate-allergy [2021,June5]
- https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/7791151/ [2021,June5]
- https://www.drugs.com/drug-class/salicylates.html [2021,June5]
- http://druginfosys.com/Drug.aspx?drugCode=666&drugName=&type=2 [2021,June5]
- https://www.drugs.com/cdi/salsalate.html [2021,June5]
- https://www.mayoclinic.org/drugs-supplements/salicylate-oral-route-rectal-route/precautions/drg-20070551 [2021,June5]
- https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC1386548/ [2021,June5]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/methyl%20salicylate%20cream,%20compound%20gpo [2021,June5]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/sodium%20salicylate%20a-n-h- [2021,June5]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/bayer%20aspirin [2021,June5]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/aspirin%20bd%2081%20mg [2021,June5]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/adefovir-with-salsalate-104-0-2042-0.html [2021,June5]