ซัยโคลฟอสฟาไมด์ (Cyclophosphamide)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาซัยโคลฟอสฟาไมด์ (Cyclophosphamide หรือ Cytophosphane) หรือชื่อยาการค้าอื่นที่ใช้ในต่างประเทศที่รู้จักกันดีในประเทศไทยคือ Cytoxan และ Neosar เป็นยาเคมีบำบัดกลุ่ม Alkylating agents คือยากลุ่มที่มีกลไกต้านมะเร็ง โดยออกฤทธิ์จับหรือรวมตัวกับดีเอ็นเอ(DNA)ของเซลล์มะเร็ง (Cross link) ส่งผลทำให้เซลล์มะเร็งแบ่งตัวเพื่อเพิ่มจำนวนไม่ได้จึงตายในที่สุด ทั้งนี้ยาซัยโคลฟอสฟาไมด์มีรูปแบบทางเภสัชภัณฑ์ทั้งในรูปยาสำหรับฉีดเข้าหลอดเลือดดำและรูปแบบรับประทาน

ยาซัยโคลฟอสฟาไมด์ มีข้อบ่งใช้สำหรับรักษาโรคมะเร็งที่มักใช้ร่วมกับยาเคมีบำบัดชนิดอื่น และยังถูกนำมาใช้ในการรักษาโรคต่างๆที่เกี่ยวข้องกับภูมิคุ้มกันต้านโรคของร่างกาย/โรคออโตอิมมูน

เนื่องจากยาซัยโคลฟอสฟาไมด์ เป็นยาเฉพาะทาง และมีข้อบ่งใช้หลายประการ ขนาดยา และวิธีการบริหารยา/ใช้ยาจึงแตกต่างกันออกไป ดังนั้นการใช้ยานี้จึงต้องอยู่ภายใต้การดูแลจากแพทย์ผู้ให้การรักษา อีกทั้งผู้ป่วยที่ได้รับยาก็ควรให้ความใส่ใจในการใช้ยา ควรต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์/พยาบาล และติดตามอาการไม่พึงประสงค์จากยา/ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นตลอดการรักษาด้วยยานี้ และต้องพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที หากมีอาการไม่พึงประสงค์ฯก่อนวันแพทย์นัดเพื่อความปลอดภัยและผลการรักษาที่มีประสิทธิภาพ

ยาซัยโคลฟอสฟาไมด์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ซัยโคลฟอสฟาไมด์

ยาซัยโคลฟอสฟาไมด์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ สำหรับการรักษามะเร็ง โดยใช้ร่วมกับยาเคมีบำบัดขนานอื่นๆ หรือใช้เป็นยาขนานเดียว เช่น การรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาว, มะเร็งต่อมน้ำเหลือง (ทั้งชนิด Hodgkin's lymphoma, Non-Hodgkin's lymphoma), มะเร็งเต้านม, มะเร็งปอด ฯลฯ

นอกจากนี้ยาซัยโคลฟอสฟาไมด์ยังสามารถใช้เพื่อการรักษาโรคต่างๆที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรค/โรคออโตอิมมูน/ โรคภูมิต้านตนเอง เช่น โรคข้อรูมาตอยด์, โรคลูปัส-โรคเอสแอลอี, โรคไตอักเสบบางชนิด, โรคเลือดบางชนิด ฯลฯ

ยาซัยโคลฟอสฟาไมด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาซัยโคลฟอสฟาไมด์เป็นยาที่อยู่ในกลุ่ม Alkylating agents กระบวนการออกฤทธิ์เพื่อต้านมะเร็งของยาซัยโคลฟอสฟาไมด์คือ ตัวยาจะออกฤทธิ์โดยการจับหรือรวมตัวกับดีเอ็นเอ(DNA) ของเซลล์มะเร็ง ทำให้ดีเอ็นเอทำหน้าที่ไม่ได้ ทำให้ไม่มีการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งเกิด ขึ้นได้ จึงเสมือนว่ายายับยั้งการสร้างดีเอ็นเอและหยุดเซลล์มะเร็งไม่ให้มีการแบ่งตัวเกิดขึ้น

ส่วนในการรักษาโรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเอง ตัวยาซัยโคลฟอสฟาไมด์จะออกฤทธิ์ ต่อการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย จึงส่งผลให้เกิดสรรพคุณในการใช้รัก ษาโรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเองได้

ยาซัยโคลฟอสฟาไมด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

รูปแบบจัดจำหน่ายของยาซัยโคลฟอสฟาไมด์ในประเทศไทยมีรูปแบบทางเภสัชภัณฑ์ 2 ประเภทคือ

  • ยาเม็ดเคลือบ (Coated tablets) สำหรับรับประทาน มีขนาด 200 และ 500 มิลลิกรัมต่อเม็ด โดยวิธีการบริหารยา/ใช้ยาชนิดเม็ดคือ ให้รับประทานยาทั้งเม็ด ห้ามบดหรือตัดแบ่งยาโดยเด็ดขาด เนื่องจากเป็นยาเคมีบำบัด การบดการแบ่งยาอาจทำให้เกิดการสัมผัสยาเคมีบำบัด และ/หรือสัมผัสยาฯที่อาจฟุ้งกระจายได้ และแนะนำให้สวมถุงมือทุกครั้งก่อนหยิบยา และรีบถอดถุงมือออกแล้วล้างมือทันทีหลังรับประทานยาเสร็จ
  • รูปแบบยาผงปราศจากเชื้อ บรรจุในขวดแก้วขนาดเล็ก (Powder for injection) สำหรับฉีดเข้าหลอดเลือดดำ มีขนาด 200, 500 และ 1,000 มิลลิกรัมต่อขวด โดยวิธีการเตรียมยาเพื่อบริหารยาทำได้โดยละลายผงยาด้วยน้ำเกลือสำหรับฉีดเข้าหลอดเลือดดำ (0.9% Normal Saline Solution) หรือด้วยน้ำกลั่นสำหรับฉีดยา (Sterile water for injection) จากนั้นบริหารยาโดยการฉีดเข้าหลอดเลือดดำโดยผสมตัวยาที่ละลายแล้วกับสารน้ำที่ให้ทางหลอดเลือดดำ ซึ่งต้องใช้เวลาในการให้ยาประมาณ 2 - 3 ชั่วโมง เพื่อลดผลข้างเคียงของยานี้เช่น หน้าบวม ปวดศีรษะ คัดจมูก

ยาซัยโคลฟอสฟาไมด์มีขนาดหรือวิธีใช้ยาอย่างไร?

เนื่องจากยาซัยโคลฟอสฟาไมด์เป็นยาอันตรายและเป็นยารักษาเฉพาะโรค ขนาดยาและการปรับขนาดยาควรให้แพทย์ผู้รักษาเป็นผู้ประเมินและสั่งใช้เท่านั้น ซึ่งขนาดยาและระยะเวลาในการรักษาขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยเช่น ชนิดของโรค ข้อบ่งใช้ของยา เป้าหมายในการรักษา สุข ภาพของผู้ได้รับยา ค่าความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด/ ซีบีซี (CBC, Complete blood count) รวมถึงผลข้างเคียงที่จะได้รับจากยา

วิธีบริหารยานั้นสามารถทำได้ 2 แบบคือ

  • ชนิดฉีดเข้าหลอดเลือดดำ (Intravenous administration): กรณีที่เกิดการฉีดสาร ละลายแล้ว ยาไม่เข้าหลอดเลือดดำ (Extravasation) ยานี้จะไม่ทำลายให้เนื้อเยื่อตาย (Non-vesicant drug) แต่อย่างไรก็ตามควรหยุดการหยดยาเข้าหลอดเลือดดำทันที ล้างบริเวณที่บริหารยาดังกล่าวด้วยน้ำเกลือล้างแผล และให้การรักษาตามอาการ
  • การบริหารยาชนิดรับประทาน: แนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานยาในช่วงเวลาเช้า โดยกลืนยาทั้งเม็ดก่อนหรือหลังอาหารก็ได้ เนื่องจากอาหารไม่มีผลต่อการดูดซึมยา แต่ต้องหลีกเลี่ยงการรับประทานยาในช่วงเวลาก่อนนอน เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดกระเพาะปัสสาวะอักเสบจากการตกค้างของตัวยาที่ปนในน้ำปัสสาวะที่ส่งผลต่อเซลล์กระเพาะปัสสาวะ เพราะช่วงกลางคืน มักไม่มีการปัสสาวะ น้ำปัสสาวะจึงคั่งอยู่ในกระเพาะปัสสาวะได้นาน

อนึ่ง: การได้รับยานี้เกินขนาดโดยอุบัติเหตุ: ยังไม่มียาแก้พิษ (Antidote) ที่จำเพาะ แต่ยานี้สามารถถูกขับออกโดยการล้างไตได้ ดังนั้นการรักษาโดยเร่งด่วนคือ การล้างไตด้วยวิธีการฟอกไต (Hemodialysis) ในกรณีได้รับยาเกินขนาดนี้มักจะเกิดภาวะกดการทำงานของไขกระดูกตาม มา ซึ่งความรุนแรงขึ้นกับปริมาณยาที่ได้รับ จึงต้องติดตามค่าความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดเสมอ โดยหากเม็ดเลือดขาวต่ำควรเฝ้าระวังการติดเชื้อ อาจให้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อหรือให้เพื่อการรักษาเมื่อติดเชื้อ, หากปริมาณเกล็ดเลือดต่ำอาจต้องระวังการเกิดเลือดออกผิดปกติ หรืออาจต้องให้เกล็ดเลือด (Thrombocyte) ทดแทน, นอกจากนี้อาจต้องให้ยาเพื่อป้องกันการเกิดกระเพาะปัสสาวะอักเสบร่วมด้วยได้แก่ ยาเมสนา (Mesna: ยาต้านพิษ ปกป้องภาวะกระเพาะ ปัสสาวะอักเสบ/Hemorrhagic cystitis จากยาเคมีบำบัด) เพื่อหลีกเลี่ยงอาการเป็นพิษต่อกระ เพาะปัสสาวะ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาซัยโคลฟอสฟาไมด์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและ เภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยา/แพ้อาหาร/แพ้สารเคมีทุกชนิด
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาซัยโคลฟอสฟาไมด์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อนแล้ว
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เนื่องจากยาซัยโคลฟอสฟาไมด์มีผลพิษต่อทารกในครรภ์ อาจก่อให้ทารกเกิดความพิการแต่กำเนิดขึ้นได้
  • หากอยู่ในช่วงให้นมบุตร แนะนำให้หลีกเลี่ยงการให้นมบุตร เพราะยานี้ถูกขับออกทางน้ำนม อาจก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง) ที่รุนแรงแก่บุตร จึงควรพิจารณาหยุดให้นมบุตรหากมารดากำลังได้รับยานี้อยู่หรือหยุดการใช้ยานี้ ทั้งนี้ขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

แนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานยาซัยโคลฟอสฟาไมด์ให้ตรงเวลาทุกวัน โดยรับประทานยาตามวิธีรับประทานที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด โดยอาหารไม่มีผลต่อการดูดซึมยา จึงสามารถรับ ประทานยานี้ได้ทั้งขณะท้องว่างหรือหลังอาหาร อย่างไรก็ตามแนะนำให้รับประทานยาในช่วงมื้อเช้า หลีกเลี่ยงการรับประทานยาก่อนนอน เพื่อลดอาการไม่พึงประสงค์จากยาต่อกระเพาะปัสสาวะดังกล่าวในหัวข้อ ขนาดยา

เนื่องจากวิธีรับประทานยานี้จะแตกต่างกันขึ้นกับข้อบ่งใช้ในการรักษา โดยคำสั่งการใช้ยา ส่วนมากจะสั่งให้รับประทานยาเพียงวันละ 1 ครั้ง ดังนั้นหากท่านลืมรับประทานยาและมีวิธีการรับประทานยาเพียงวันละ 1 ครั้ง ให้รับประทานยาทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากใกล้กับเวลาที่ต้องรับ ประทานยามื้อถัดไป (วันถัดไป) ให้รอรับประทานยามื้อถัดไปเลย โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า ตัวอย่างเช่น ปกติรับประทานยาเวลา 8.00 น. หากนึกขึ้นได้ว่าลืมรับประทานยามื้อ 8.00 น. ตอนเวลา 15.00 น. ก็ให้รับประทานยามื้อ 8.00 น. ทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากนึกขึ้นได้ในช่วงที่ใกล้กับช่วงเวลาของยามื้อถัดไป (หมายถึงเกินกว่า 12 ชั่วโมงจากเวลารับประทานยาปกติ) เช่น นึกขึ้นได้ว่าลืมรับประทานยามื้อ 8.00 น. ตอนเวลา 22.00 น.ของวันนั้น ให้รอรับประทานยามื้อถัดไปในขนาดยาปกติ ช่วงเวลาเดิมได้เลย โดยไม่ควรนำยามื้อที่ลืมมารับประทานเพิ่มเป็น 2 เท่าโดยเด็ด ขาด นอกจากนั้นผู้ป่วยต้องตรวจสอบระยะเวลาในการรับประทานยาด้วย เนื่องจากระยะเวลาในการรับประทานยาของแต่ละท่านจะแตกต่างกันไปเช่น บางท่านอาจรับ ประทานเพียงแค่ 7 วันหรือนานกว่านั้น จึงควรตรวจสอบวิธีการรับประทานยากับแพทย์หรือเภสัชกรให้แน่ใจเสมอหลังได้รับยาจากโรงพยาบาล

ยาซัยโคลฟอสฟาไมด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ของยาซัยโคลฟอสฟาไมด์ที่พบได้บ่อย เช่น

  • ภาวะกดไขกระดูก (Bone Marrow Suppression): ส่งผลทำให้เกิดภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำจึงเสี่ยงต่อการเกิดการติดเชื้อ, โลหิตจาง/เม็ดเลือดแดงต่ำ อาจทำให้เหนื่อยง่าย ซีด, และเกล็ดเลือดต่ำ ทำให้เลือดออกได้ง่าย ทั้งนี้พบว่าจำนวนเม็ดเลือดขาวและเกล็ดเลือดจะต่ำสุดใน 1 - 2 สัปดาห์หลังเริ่มใช้ยา และจะกลับมาเป็นปกติใน 3 - 4 สัปดาห์หลังหยุดยา แพทย์อาจจำเป็นต้องมีการปรับขนาดยา กรณีได้รับยากดไขกระดูกอื่นร่วมด้วย
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: ความเป็นพิษต่อหัวใจที่เกิดจากการใช้ยานี้ พบเมื่อใช้ในขนาดสูงหรือในขนาด 120 - 240 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทำให้เกิดความผิดปกติของค่าการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจอีเคจี (EKG: Electrocardiogram คือ การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ) หรืออาจทำให้เกิดผลต่อการทำงานของหัวใจ การป้องกันความเป็นพิษต่อหัวใจทำได้โดยการบริหารยาที่เหมาะสมคือ แบ่งขนาดยาที่ให้ทั้งหมดเป็น 2 - 3 ครั้งแล้วแบ่งให้เป็นเวลา 2 - 3 วันแทนที่จะให้ครั้งเดียวทั้งหมด การบริหารยาด้วยวิธีนี้จะลดอุบัติการณ์ของการเกิดพิษต่อหัวใจลงได้ ในกรณีที่เกิดอาการพิษแล้วให้รักษาตามอาการด้วยการใช้ยาขับปัสสาวะ, ยาลดความดันโลหิต, ยาปรับจังหวะการเต้นของหัว ใจ, ยาต้านเกล็ดเลือด (Antiplatelet), ยาต้านการแข็งตัวของเลือด (Anticoagulant) ซึ่งอาจช่วยให้ผู้ป่วยคืนสู่สภาวะปกติได้ถ้ามีการรักษาอย่างทันท่วงที
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: ยานี้ทำให้เกิดคลื่นไส้-อาเจียน เบื่ออาหาร ท้องเสียหรือ ท้องผูก กระเพาะอาหารอักเสบ และมีแผลในช่องปาก
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: ยาจะทำให้เกิดกระเพาะปัสสาวะอักเสบ จนอาจต้องหยุดยา เนื่องจากยาขับออกทางปัสสาวะ และสารที่เกิดจากการแปรสภาพของยาทำให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อบุกระเพาะปัสสาวะ เป็นผลทำให้กระเพาะปัสสาวะอักเสบและปัสสาวะเป็นเลือด และ อาจทำให้เกิดการติดเชื้อตามมาได้ และการใช้ยาในขนาดสูงจะยิ่งเพิ่มความเป็นพิษต่อไต โดย เฉพาะในผู้ป่วยที่มีการทำงานของไตบกพร่อง ดังนั้นวิธีลดความเป็นพิษของยานี้ต่อทางเดินปัสสาวะคือ แนะนำให้ผู้ป่วยดื่มน้ำในปริมาณมากๆแล้วถ่ายปัสสาวะออกทิ้งบ่อยๆ หรือพิจารณาให้สารน้ำที่เพียงพอ และอาจให้ยาเมสนา (Mesna: ยาต้านพิษ ปกป้องภาวะกระเพาะปัสสาวะอักเสบ/Hemorrhagic cystitis จากยาเคมีบำบัด) แต่หากเกิดพิษต่อไตแล้วผู้ป่วยต้องได้รับการบำบัดรักษาโรคไตต่อไป
  • ผลต่อระบบสืบพันธุ์: ยาอาจทำให้จำนวนอสุจิน้อยลงหรือเป็นหมันในผู้ชาย, การตกไข่ผิด ปกติ ไม่มีประจำเดือนในผู้หญิง (แต่ยังอาจตั้งครรภ์ได้)
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น พบผื่นเป็นจุด หรือตุ่มนูนที่ผิวหนัง แผลเปื่อยบริเวณผิวหนัง การเปลี่ยน แปลงสีของผิวหนัง โดยอาจพบผิวหนังมีสีเข้มขึ้นหลังได้รับยานี้แล้วเป็นเวลาหลายปี ผิวหนังบวมแดง ผิวหนังและเล็บเหี่ยว ผิวหนังหลุดลอก ผมร่วง
  • อื่นๆ: เช่น ใบหน้าบวมแดง และอาการบวมแดงตามแขน - ขา

มีข้อควรระวังการใช้ยาซัยโคลฟอสฟาไมด์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาซัยโคลฟอสฟาไมด์ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่แพ้ยานี้ หรือแพ้ส่วนประกอบของยานี้หรือเคยมีประวัติแพ้ยาเคมีบำบัด ในกลุ่ม Alkylating agents มาก่อน
  • ยานี้อาจทำให้เกิดอันตรายร้ายแรงได้ ต้องใช้ยาภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้รักษาอย่าง เคร่งครัด
  • ห้ามใช้ในผู้ป่วยที่กำลังอยู่ในภาวะไขกระดูกถูกกดการทำงานอยู่เช่น จำนวนเม็ดเลือดขาวน้อยกว่า 2,500 เซลล์ต่อลูกบาศ์กมิลลิเมตร หรือปริมาณเกล็ดเลือดต่ำน้อยกว่า 100,000 เซลล์ต่อลูกบาศ์กมิลลิเมตร หรือเกิดภาวะโลหิตจางอย่างรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยที่เคยได้รับยาเคมีบำบัดหรือรังสีรักษามาก่อน
  • ห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่มีกระเพาะปัสสาวะอักเสบ, มีการอุดกั้นของท่อทางเดินปัสสาวะ
  • ผู้สูงอายุอาจต้องการยาในขนาดที่ต่ำลง เนื่องจากผู้สูงอายุที่มีแนวโน้มการทำงานของไตลดลง และยานี้ถูกขจัดออกทางไต ปฏิกิริยาของการเกิดพิษจากยานี้จึงจะมากขึ้นหากผู้ป่วยมีการทำงานของไตบกพร่อง
  • เนื่องจากยาซัยโคลฟอสฟาไมด์เป็นยาเคมีบำบัด เพื่อลดความเสี่ยงในการที่ยาจะสัมผัสกับผิวหนัง จึงจำเป็นต้องใช้ยาด้วยความระมัดระวัง จึงแนะนำให้ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อน และหลังสัมผัสยา รวมถึงควรสวมถุงมือทุกครั้งที่ถือขวดบรรจุยาในการเตรียมยาและในการบริหารยา
  • อาจพิจารณาลดขนาดยาหรือหยุดใช้ยานี้ กรณีผู้ป่วยกำลังอยู่ในภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด/ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ เนื่องจากยานี้มีผลกดการทำงานของไขกระดูก ซึ่งอาจเป็นสาเหตุทำให้การติดเชื้อกำเริบ/ลุกลามมากยิ่งขึ้น
  • การใช้ยาซัยโคลฟอสฟาไมด์ในขณะตั้งครรภ์และให้นมบุตร ยาอาจทำให้หน่วยพันธุ กรรมผิดปกติ เกิดได้ทั้งในทารกชายและทารกหญิง ดังนั้นควรพิจารณายุติการตั้งครรภ์หากผู้ ป่วยได้รับยาในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ และควรปรึกษาสูตินรีแพทย์หากจำเป็นต้องใช้ยาในช่วงเริ่มตั้งครรภ์ได้ 3 เดือน อย่างไรก็ตามไม่ควรตั้งครรภ์ในช่วงที่จำเป็นต้องใช้ยานี้ และไม่ควรให้นมบุตร (เนื่องจากยาสามารถผ่านทางน้ำนมได้) ดังนั้นจึงแนะนำให้มีการคุมกำเนิดด้วยถุงยางอนามัยชาย หากคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งกำลังได้รับยาซัยโคลฟอสฟาไมด์อยู่
  • กรณียังต้องการมีบุตรและจำเป็นต้องได้รับยาซัยโคลฟอสฟาไมด์ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบถึงความต้องการดังกล่าวก่อนแพทย์จะเริ่มต้นให้ยา เพื่อปรึกษาแพทย์ถึงการเก็บอสุจิ หรือเก็บไข่ของผู้ป่วย
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาซัยโคลฟอสฟาไมด์ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด เสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาซัยโคลฟอสฟาไมด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาซัยโคลฟอสฟาไมด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

1. ยาซัยโคลฟอสฟาไมด์เมื่อใช้ร่วมกับวัคซีนโรตา (Rotavirus vaccine) จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดการติดเชื้อไวรัสโรตา (โรคท้องร่วงจากไวรัสโรตา) ซึ่งจะก่อให้เกิดอาการท้องร่วงอย่างรุนแรงโดยเฉพาะในเด็ก เนื่องจากภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของผู้ป่วยจะลดลงจึงเสี่ยงต่อการติดเชื้อสูงขึ้น

2. ยาซัยโคลฟอสฟาไมด์เมื่อใช้ร่วมกับวัคซีนชนิดเชื้อเป็น (Live vaccines: วัคซีนที่ถูกผลิตขึ้นโดยใช้เชื้อโรคมาทำให้อ่อนฤทธิ์ลง/ยังไม่ตาย/เชื้อยังเป็นอยู่ จนไม่สามารถทำให้เกิดโรค แต่เชื้อยังมีฤทธิ์เพียงพอที่จะกระตุ้นภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายได้ เพื่อให้ร่างกายมีภูมิคุ้ม กันต่อเชื้อโรคนั้นๆ) เช่น วัคซีนหัด – คางทูม- หัดเยอรมัน (วัคซีนเอ็มเอ็มอาร์), วัคซีนอีสุกอีใส, วัคซีนโปลิโอชนิดกิน, วัคซีนไวรัสโรต้า และวัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิดพ่นจมูก เป็นต้น อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดการติดเชื้อจากวัคซีนชนิดเชื้อเป็นนั้นๆได้ เพราะช่วงที่ผู้ป่วยได้รับยานี้ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของผู้ป่วยจะลดลง เชื้อโรคจากวัคซีนที่อ่อนฤทธิ์อาจจะก่อโรคในช่วงนี้ได้

3. ยาซัยโคลฟอสฟาไมด์จะเพิ่มฤทธิ์การลดระดับน้ำตาลในเลือดของยาเบาหวานกลุ่มซัลโฟนิวยูเรีย (Sulfonylurea เช่น ไกลมิพิไลด์ (Glimepiride), ไกลเบนคราไมด์ (Glibenclamide), ไกลคาไซด์ (Gliclazide) เป็นต้น

4. หากใช้ยาซัยโคลฟอสฟาไมด์ร่วมกับยาอะโลพูลินอล (Allopurinol: ยาลดกรดยูริค) หรือยาไฮโดรคลอโรไทอะไซด์ (Hydrochlorothiazide: ยาขับปัสสาวะ ลดความดันโลหิต) จะเพิ่มความเป็นพิษของยาซัยโคลฟอสฟาไมด์ (อาการ เช่น กดไขกระดูก คลื่นไส้อาเจียน อาจมากขึ้น)

5. หากใช้ยาซัยโคลฟอสฟาไมด์ร่วมกับยาฟีโนบาบิทาล (Phenobabital: ยากันชัก), ฟีนีทอย(Phenytoin: ยากันชัก), คาร์บามาซีปีน (Carbamazepine: ยากันชัก), คลอโรไฮเดรท (Chloral hydrate: ยานอนหลับ) ยาเหล่านี้จะเพิ่มฤทธิ์ของเอนไซม์ตับในการทำลายยาซัยโคลฟอสฟาไมด์เพิ่มมากขึ้น จึงทำให้ยาซัยโคลฟอสฟาไมด์ถูกเปลี่ยนแปลงทางชีวภาพ (Metabo lite) ในตับมากขึ้นจึงอาจเพิ่มความเป็นพิษจากยาได้มากขึ้น

6. หากใช้ยาซัยโคลฟอสฟาไมด์ร่วมกับยาเคมีบำบัดกลุ่มแอนทราไซคลิน (Anthracycline, เช่น Doxorubicin, Bleomycin, Dactinomycin) และ/ หรือหลังจากผู้ป่วยได้รับรังสีรักษาบริเวณหัวใจ จะเพิ่มความเป็นพิษที่มีต่อหัวใจ

7. ระวังการใช้ยาซัยโคลฟอสฟาไมด์ร่วมกับยาอินโดเมทาซิน (Indomethacin: ยาลดอักเสบ แก้ปวด) เพราะมีรายงานการเกิดพิษเฉียบพลันคือ อาการบวมน้ำ (Fluid retention)

8. ควรหลีกเลี่ยงอาหาร เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ รวมถึงน้ำผลไม้เกรปฟรุต (Grapefruit juice) เพราะอาจส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยาซัยโคลฟอสฟาไมด์ได้

9. การใช้ซัยโคลฟอสฟาไมด์ร่วมกับสมุนไพรเซนจอห์น เวิร์ธ (St John's Wort) จะส่งผลทำให้ระดับยาซัยโคลฟอสฟาไมด์ในเลือดลดลง

10. หากใช้ยาซัยโคลฟอสฟาไมด์ร่วมกับยาทราทูซูแมบ (Trasutuzumab: ยารักษาโรคมะเร็ง) จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดหัวใจทำงานผิดปกติ (Cardiac dysfunction)

11. หากใช้ยาซัยโคลฟอสฟาไมด์ร่วมกับยาทาม็อกซิเฟน (Tamoxifen: ยารักษาโรคมะเร็ง ) จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดหลอดเลือดอุดตัน (Thromboembolism)

12. หากใช้ยาซัยโคลฟอสฟาไมด์ร่วมกับยาวาฟาริน (Warfarin: ยาต้านการแข็งตัวของเลือด) จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดเลือดออกผิดปกติ โดยพบว่าค่าไอเอ็นอาร์ (INR: International Normalized Ratio: ค่าที่ใช้ติดตามการทำงานของการแข็งตัวของเลือด) จะเพิ่มสูงขึ้น

ควรเก็บรักษายาซัยโคลฟอสฟาไมด์อย่างไร?

ควรเก็บรักษายาซัยโคลฟอสฟาไมด์ เช่น

ก. สำหรับการเก็บยาเม็ดซัยโคลฟอสฟาไมด์: เช่น

  • เก็บยา ณ อุณหภูมิห้อง
  • เก็บยาให้พ้นจากแสง/แสงแดด /แสงสว่างที่กระทบยาได้โดยตรง
  • หลีกเลี่ยงนำยาสัมผัสกับความร้อนที่มากเช่น เก็บยาในรถที่ตากแดดหรือเก็บยาในห้องที่มีอุณหภูมิสูง (มีแสงแดดส่องถึงทั้งวันหรือเป็นเวลานาน)
  • ไม่เก็บยาในห้องที่ชื้น เช่น ห้องน้ำหรือห้องครัว
  • ควรเก็บยาในภาชนะบรรจุเดิม

ข. สำหรับยาฉีดซัยโคลฟอสฟาไมด์: เมื่อละลายผงยาแล้ว เช่น

  • ควรใช้ยาที่ละลายแล้วภายใน 24 ชั่วโมง
  • ห้ามเก็บยาในอุณหภูมิที่เกิน 8 องศาเซลเซียส
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น

ค. ส่วนในการเก็บผงยาปราศจากเชื้อบรรจุในขวดแก้วนั้น: เช่น

  • สามารถเก็บยาผงก่อนผสม ณ อุณหภูมิห้องได้
  • ต้องเก็บยาผงให้พ้นจากแสงแดด
  • หลีกเลี่ยงนำยาสัมผัสกับความร้อนที่มาก เพราะผงยาอาจเกิดการหลอมเหลว เห็นเป็นลักษณะของเหลวเหนียวใสหรือเหลืองอ่อน เกาะเป็นคราบหรือเป็นหยดในขวดยา ให้ทิ้งยาไป ห้ามใช้ขวดที่มีลักษณะยาหลอมเหลวนี้

*อนึ่ง ยานี้ทุกรูปแบบ ต้องเก็บให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ยาซัยโคลฟอสฟาไมด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไร?

ยาซัยโคลฟอสฟาไมด์ มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Endoxan (เอนด๊อกซาน)Baxter

บรรณานุกรม

1. Taketomo CK, Hodding, JH, Kraus DM, .Pediatric & Neonatal Dosage Handbook, 19th ed. Hudson, Ohio, Lexi-Comp, Inc.; 2012

2. Lacy CF. Amstrong LL, Goldman MP, Lance LL. Drug Information handbook. 20th ed. Ohio: Lexi-Comp,Inc.; 2011-12.

3. Micromedex Healthcare Series, Thomson Micromedex, Greenwood Village, Colorado

4. Product Information: Endoxan, Cyclophosphamide, Baxter, Thailand.

5. TIMS (Thailand). MIMS. 130th ed. Bangkok: UBM Medica; 2013

6 สุภัสร์ สุบงกช. เภสัชบำบัดในโรคมะเร็ง. เอกสารประกอบงานประชุมวิชาการ Contemporary Review in Pharmacotherapy 2013, 2566