ภาวะช่องคลอดอักเสบ (Vaginitis)
- โดย รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิง ประนอม บุพศิริ
- 1 กันยายน 2564
- Tweet
- ช่องคลอดอักเสบหมายถึงอะไร?
- ช่องคลอดอักเสบมีอาการอย่างไร?
- สาเหตุของช่องคลอดอักเสบมีอะไรบ้าง?
- ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดช่องคลอดอักเสบ?
- ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?
- แพทย์วินิจฉัยช่องคลอดอักเสบอย่างไร?
- ักษาช่องคลอดอักเสบอย่างไร?
- ภาวะแทรกซ้อนของช่องคลอดอักเสบมีอะไรบ้าง?
- ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อมีช่องคลอดอักเสบ?
- ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?
- ช่องคลอดอักเสบกลับเป็นซ้ำได้หรือไม่? หายขาดหรือไม่?
- ป้องกันช่องคลอดอักเสบอย่างไร?
- หากมีช่องคลอดอักเสบสามารถตั้งครรภ์ได้หรือไม่?
- ช่องคลอดอักเสบมีผลต่อการตั้งครรภ์อย่างไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ภาวะช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย (Bacterial vaginosis)
- ตกขาว (Leucorrhea)
- เชื้อราในช่องคลอด (Vaginal candidiasis)
- โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กามโรค (STD: Sexually transmitted disease)
- ช่องคลอดมีกลิ่น อวัยวะเพศหญิงมีกลิ่น (Vulvovaginal odor)
- อวัยวะเพศภายในสตรี: กายวิภาคอวัยวะเพศภายในสตรี (Anatomy of female internal genitalia) / สรีรวิทยาอวัยวะเพศภายในสตรี (Physiology of female internal genitalia)
- การติดเชื้อทริโคโมแนส พยาธิในช่องคลอด (Trichomoniasis)
- คันช่องคลอด คันอวัยวะเพศหญิง (Pruritus vulvae)
- ปีกมดลูกอักเสบ การอักเสบของปีกมดลูก (Adnexitis)
- เยื่อบุโพรงมดลูกอักเสบ (Endometritis)
ช่องคลอดอักเสบหมายถึงอะไร?
ช่องคลอดอักเสบ (Vaginitis) หมายถึง การมีการอักเสบเกิดขึ้นที่ช่องคลอดสตรีทำให้เกิด มีสิ่ง/สารคัดหลั่งในช่องคลอดที่เรียกว่า “ตกขาว” ที่ผิดไปจากปกติเช่น เป็นสีเขียว สีเหลือง มีอาการคัน มีกลิ่นเหม็น หรือมีเลือดปน
”ตกขาว” ซึ่งตามปกติแล้ว ช่องคลอดจะมีตกขาวบ้างเล็กน้อย มีสีขาวขุ่นหรือเป็นเมือกใส ไม่ทำให้เกิดอาการคัน ไม่มีกลิ่นเหม็นผิดปกติ การที่มีตกขาวผิดปกติเป็นภาวะที่นำสตรีมาพบแพทย์ทางสูตินรีเวชมากที่สุด
ช่องคลอดอักเสบมีอาการอย่างไร?
อาการช่องคลอดอักเสบที่พบบ่อยมีดังนี้คือ
1. ตกขาว มีสีผิดปกติเช่น เป็นสีเขียว สีเหลือง
2. ตกขาว มีกลิ่นเหม็น
3. อาจมีเลือดปนตกขาว
4. มีอาการคันช่องคลอด
5. แสบในช่องคลอดหรือรู้สึกไม่สบายในช่องคลอด
6. อาจมีเลือดออกขณะหรือหลังมีเพศสัมพันธ์
7. ปวดหน่วงท้องน้อย หากมีภาวะแทรกซ้อน/ผลข้างเคียงเกิดร่วมด้วยคือ มีการอักเสบลามขึ้นไปในมดลูก (เยื่อบุโพรงมดลูกอักเสบ) และในปีกมดลูก (ปีกมดลูกอักเสบ)
สาเหตุของช่องคลอดอักเสบมีอะไรบ้าง?
สาเหตุของช่องคลอดอักเสบที่พบได้บ่อยคือ
1. อักเสบจากการติดเชื้อ: ที่พบบ่อยเช่น
- การอักเสบของช่องคลอดจากเชื้อรา (Candiasis)/เชื้อราในช่องคลอด
- การอักเสบของช่องคลอดจากเชื้อแบคทีเรีย (Bacterial vaginitis) เช่น จากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือช่องคลอดอักเสบชนิด Bacterial vaginosis
- การอักเสบของช่องคลอดจากเชื้อพยาธิในช่องคลอด / การติดเชื้อทริโคโมแนส (Trichomoniasis)
2. การอักเสบที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ: ที่พบบ่อยเช่น
- ช่องคลอดอักเสบจากการขาดฮอร์โมนเพศหญิง (Atrophic vaginitis)
- ช่องคลอดแพ้สารเคมี (Allergic vaginitis)
- มีสิ่งแปลกปลอมในช่องคลอดเช่น จากสายของห่วงคุมกำเนิด
ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดช่องคลอดอักเสบ?
ผู้มีปัจจัยเสี่ยงเกิดช่องคลอดอักเสบ เช่น
1. สตรีที่มีเพศสัมพันธ์
2. มีโรคที่มีโรคประจำตัวและมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายตำเช่น โรคเบาหวาน โรคเอดส์
3. การสวนล้างช่องคลอดบ่อยๆจะมีผลทำให้แบคทีเรียประจำถิ่นในช่องคลอดเกิดความไม่สมดุล ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงสภาวะกรด - ด่างในช่องคลอด ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อง่ายขึ้น
4. อายุ:
- ในอายุที่น้อย มีเพศสัมพันธ์ถี่ก็ทำให้มีโอการติดเชื้อในช่องคลอดมากขึ้น
- สำหรับในสตรีที่สูงอายุ ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกายจะลดลงมีผลให้ผนังช่องคลอดบางลง แบคทีเรียประจำถิ่นในช่องคลอด (Lactobacilli) ลดลง ความเป็นกรดในช่องคลอดลดลงทำให้มีโอการติดเชื้อง่ายขึ้น
5. การใส่ห่วงคุมกำเนิดนานๆหรือใส่สิ่งแปลกปลอมเข้าไปในช่องคลอด
6. การรับประทานยาฆ่าเชื้อบ่อยๆจะมีผลต่อความสมดุลของแบคทีเรียและเชื้อราในช่องคลอดทำให้ติดเชื้อง่ายขึ้น
7. คู่นอนมีการติดเชื้อบริเวณอวัยวะสืบพันธ์ (โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์)
ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?
ควรพบแพทย์/สูตินรีแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอเมื่อมีอาการดังกล่าวในหัวข้อ อาการ เพราะช่องคลอดอักเสบ มีสาเหตุหลากหลาย การซื้อยาใช้เองจึงมักไม่ค่อยได้ผลเพราะไม่ตรงกับโรค
แพทย์วินิจฉัยช่องคลอดอักเสบอย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยช่องคลอดอักเสบได้โดย
ก. ประวัติทางการแพทย์: จากอาการผู้ป่วยที่มีตกขาวปริมาณมากผิดปกติ สีของตกขาวเปลี่ยนเป็นเขียวหรือสีเหลือง บางครั้งมีกลิ่นเหม็น บางครั้งมีอาการคันช่องคลอดร่วมด้วย
ข. การตรวจร่างกาย: โดยทั่วไปไม่มีการเปลี่ยนแปลงของสัญญาณชีพ มักไม่มีไข้ ตรวจร่างกายภายนอกปกติ นอกจากมีการอักเสบของช่องเชิงกรานคือมดลูก (เยื่อบุมดลูกอักเสบ) และปีกมดลูก (ปีกมดลูกอักเสบ) ร่วมด้วย อาจทำให้มีไข้ได้
ค. การตรวจภายใน: ถือเป็นการตรวจที่จำเป็นมาก
- ในกรณีที่มีการอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อ จะตรวจพบตกขาวปริมาณมากผิดปกติ มีกลิ่นเหม็น สีของตกขาวจะเปลี่ยนเป็นเขียวหรือสีเหลืองหรือสีเทา บางครั้งตกขาวข้นคล้ายตะกอนนมหรืออาจมีลักษณะเป็นฟองขึ้นอยู่กับว่าเกิดจากเชื้อสาเหตุใด ผนังช่องคลอดจะเป็นสีแดงมากขึ้น
- ในกรณีที่มีการอักเสบจากการขาดฮอร์โมนเพศหญิงในสตรีสูงวัย ผนังช่องคลอดจะมีสีแดง เรียบ ไม่ค่อยมีรอยย่น (ปกติมีรอยย่น) เมื่อสัมผัสผนังช่องคลอดเลือดจะออกง่าย
ง. การตรวจทางห้องปฎิบัติการ: แพทย์จะป้ายตกขาวจากในช่องคลอดไปส่องตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์เพื่อหาสาเหตุของโรคเช่น เพื่อดูว่ามีโรคเชื้อรา, การติดเชื้อทริโคโมแนส (Trichomoniasis) หรือไม่
รักษาช่องคลอดอักเสบอย่างไร?
การรักษาช่องคลอดอักเสบขึ้นกับสาเหตุของโรค ทั่วไปมีแนวทางการรักษา เช่น
1. ช่องคลอดอักเสบจากเชื้อรา/เชื้อราช่องคลอด:
- กรณีที่มีอาการไม่มาก แพทย์จะให้ยาเหน็บช่องคลอดเช่น เหน็บยา Clotrimazole (100 มก./มิลลิกรัม) วันละ 1 เม็ดก่อนนอน นาน 6 วัน หากเป็น Clotrimazole 500 มก. เหน็บครั้งเดียว เม็ดเดียว ร่วมกับยาทา (ยาครีม) Clotrimazole หรือ Ketoconazole cream ทาบริเวณปากช่องคลอดที่คันวันละ 1 - 2 ครั้ง
- หากมีอาการมาก แพทย์จะให้ยารับประทานร่วมด้วยเช่น ยา Ketoconazole ชนิดเม็ดรับ ประทาน (200 มก.) 2 เม็ดวันละ 1 ครั้งนาน 5 วัน, หรือยา Fluconazole ชนิดเม็ดรับประทาน(150 มก.) 1 เม็ดรับประทานครั้งเดียว, หรือยา Itraconazole ชนิดเม็ดรับประทาน 1 เม็ดวันละ 2 ครั้งนาน 2 วัน
2. ช่องคลอดอักเสบจากเชื้อพยาธิ/การติดเชื้อทริโคโมแนส(Trichomoniasis): แพทย์จะให้รับประทานยาปฏิชีวะนะชื่อ Metronidazole (500 มก.) วันละ 2 ครั้งนาน 7 วัน และที่สำคัญคือ ต้องรักษาคู่นอนด้วยเสมอ
3. ภาวะช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย: แพทย์จะให้รับประทานยาปฏิชีวนะ Metronidazole (500 มก.) วันละ 2 ครั้งนาน 7 วัน
4. ช่องคลอดอักเสบจากการขาดฮอร์โมนเพศหญิง: แพทย์จะให้ครีมฮอร์โมนเพศหญิง (Estrogen cream) สำหรับทาในช่องคลอด ซึ่งต้องใช้ในขนาดและในระยะเวลาที่แพทย์สั่งเท่านั้น
5. ช่องคลอดอักเสบจากการแพ้สารเคมีหรือน้ำยาสวนล้างช่องคลอด: การรักษาคือ ต้องหยุดการใช้สารนั้นๆ
ภาวะแทรกซ้อนของช่องคลอดอักเสบมีอะไรบ้าง?
การอักเสบของช่องคลอดพบมีภาวะแทรกซ้อน/ผลข้างเคียงที่รุนแรงได้น้อย ที่พบได้ เช่น
1. ทำให้มีโอกาสคลอดก่อนกำหนดได้ และทารกแรกคลอดมีน้ำหนักตัวน้อย หากมีการติดเชื้อระหว่างตั้งครรภ์
2. การติดเชื้อทริโคโมแนส (Trichomoniasis) เป็นการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์อย่างหนึ่ง ทำให้มีโอกาสติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ (โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์) ชนิดอื่นร่วมด้วยมากขึ้นเช่น เชื้อราในช่องคลอด
ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อมีช่องคลอดอักเสบ?
การดูแลตนเองเมื่อมีช่องคลอดอักเสบ คือ
1. รักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงด้วยการรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
2. รักษาความสะอาดของอวัยวะสืบพันธุ์
3. ไม่สวนล้างช่องคลอด
4. รับประทานยาหรือเหน็บยาในช่องคลอดให้ครบตามแพทย์แนะนำ
5. งดมีเพศสัมพันธ์จนกว่าช่องคลอดหายอักเสบ
6. เมื่อเป็นการติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ต้องรักษาคู่นอนด้วย
7. พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามนัดเสมอ
ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?
ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อ
- อาการต่างๆเลวลงเช่น ตกขาวมากขึ้น คันช่องคลอดมากขึ้น
- มีอาการใหม่เกิดขึ้นเช่น มีแผลที่อวัยวะเพศ ปัสสาวะแสบ เบ่ง มีไข้
- อาการที่หายไปแล้วกลับมาเป็นอีกเช่น ตกขาวมีกลิ่น สีผิดปกติ หรือกลับไปเหมือนก่อนรักษา
- กังวลในอาการ
ช่องคลอดอักเสบกลับเป็นซ้ำได้หรือไม่? หายขาดหรือไม่?
การพยากรณ์โรค/ความรุนแรงของช่องคลอดอักเสบคือ เมื่อมีการอักเสบของช่องคลอดจากการติดเชื้อ สามารถกลับเป็นซ้ำได้เสมอ การรักษาที่ถูกต้องครบถ้วนทำให้โรคช่องคลอดอักเสบหายได้ แต่เมื่อได้รับเชื้อใหม่ก็ทำให้เกิดการอักเสบของช่องคลอดซ้ำได้อีก หรือในกรณีที่อักเสบจากการแพ้สารเคมีที่ใช้สวนล้างช่องคลอด เมื่อมีการใช้สารที่แพ้ก็ทำให้อาการกลับมาเป็นอีกได้
ป้องกันช่องคลอดอักเสบอย่างไร?
ป้องกันช่องคลอดอักเสบได้โดย
1. รักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงด้วยการรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
2. รักษาความสะอาดของอวัยวะสืบพันธุ์
3. ไม่สวนล้างช่องคลอด ควรทำความสะอาดเฉพาะอวัยวะเพศภายนอกเท่านั้น
4. มีเพศสัมพันธ์โดยใช้ถุงยางอนามัยชาย
หากมีช่องคลอดอักเสบสามารถตั้งครรภ์ได้หรือไม่?
หากมีการอักเสบในช่องคลอด ควรรักษาให้หายก่อน ค่อยวางแผนการตั้งครรภ์ (อ่านเพิ่ม เติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง การวางแผนครอบครัว)
ช่องคลอดอักเสบมีผลต่อการตั้งครรภ์อย่างไรบ้าง?
ในกรณีที่มีภาวะช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียที่เรียกว่า Bacterial vaginosis ในระหว่างตั้งครรภ์พบว่า ทำให้มีโอกาสที่จะมีการคลอดก่อนกำหนดสูงขึ้น และทารกแรกคลอดมีน้ำหนักตัวน้อยกว่าปกติ ดังนั้นแพทย์ต้องให้การรักษาตั้งแต่ตรวจพบ