คอเลสทิพอล (Colestipol)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือยาอะไร?

คอเลสทิพอล (Colestipol) คือ ยาลดไขมันในเลือดชนิดคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี(Low-density lipoprotein ย่อว่า LDL) ด้วยมีกลไกที่ลดการดูดซึมไขมันจากระบบทางเดินอาหารซึ่งถือเป็นการป้องกันระดับต้นๆเพื่อการลดไขมันในเลือด

ปกติอาหารจำพวกไขมันจะต้องถูกทำให้แตกตัวเป็นอนุภาคเล็กๆก่อนการดูดซึม โดยรวมตัวกับน้ำดีที่หลั่งมาจากตับ ยาคอเลสทิพอลจะเข้ารวมตัวกับน้ำดีที่มีไขมันเกาะติดอยู่แล้ว และทำให้ยาคอเลสทิพอล, กรดน้ำดี, และไขมัน, ไม่ถูกดูดกลับเข้าสู่ร่างกายด้วยเช่นกัน แต่จะถูกขับออกไปพร้อมกับอุจจาระ นอกจากนี้ยาคอเลสทิพอลยังถูกนำมารักษาอาการป่วยอย่างอื่นได้อีก เช่น

  • บรรเทาอาการท้องเสียเนื่องจากมีกรดน้ำดีมาก
  • บำบัดอาการที่ได้รับยาประเภท Digitalis, Cardiac glycoside เกินขนาด
  • ช่วยลดปริมาณเกลือออกซาเลต (Oxalate salt) ที่มีมากเกินในปัสสาวะ
  • บรรเทาอาการผื่นคันอันมีสาเหตุจากภาวะดีซ่าน/ทางเดินน้ำดีอุดตัน

ยาแผนปัจจุบันของยานี้ที่มีจำหน่ายจะเป็นชนิดผงแขวนตะกอนและยาชนิดเม็ด ก่อนการจ่ายยาให้กับผู้ป่วย แพทย์มักจะสอบถามข้อมูลประวัติทางการแพทย์เพิ่มเติมดังนี้เช่น

  • มีการแพ้ยาชนิดต่างๆหรือไม่
  • รับประทานยาอะไรอยู่บ้าง
  • มีโรคประจำตัวอะไรที่อาจเป็นข้อห้ามใช้ของยาคอเลสทิพอล

รวมถึงแนะนำให้ผู้ป่วยควบคุมอาหารประเภทไขมันสูงหรืออาหารหวานจัด พร้อมกับมี การออกกำลังกายที่เหมาะสมกับวัยของผู้ป่วยเอง เหล่านี้จะทำให้ระดับไขมันในเลือดกลับมาเป็นปกติได้อย่างรวดเร็วจนสามารถหยุดการใช้ยานี้ได้ ประการสำคัญผู้ป่วยต้องมาพบแพทย์ตามนัดและตรวจไขมันในเลือดว่ากลับมาสู่ภาวะปกติหรือยัง

การใช้ยานี้กับผู้ป่วยบางกลุ่มเช่น ผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) ต้องใช้ความระมัดระวังอย่างมาก ด้วยเป็นวัยที่อาจได้รับผลกระทบจากยามากกว่าผู้ป่วยกลุ่มอื่น สำหรับผู้ป่วยเด็กยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกสนับสนุนการใช้ยาคอเลสทิพอลเพื่อการรักษา หรือการใช้ยากับสตรีที่อยู่ในภาวะตั้งครรภ์ และให้นมบุตร ต้องประเมินถึงข้อดี ข้อเสีย ที่อาจกระทบไปถึงทารกและประเด็นสำคัญอีก 1 ข้อที่ผู้ป่วยจะได้ยินจากแพทย์ผู้รักษาคือ ต้องรับประทานยาตรงเวลาและห้ามปรับขนาดการรับประทานด้วยตนเองเป็นอันขาด

คอเลสทิพอลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

คอเลสทิพอล

ยาคอเลสทิพอลมีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้: เช่น

  • รักษาภาวะ/โรคไขมันในเลือดสูง (Hyperlipidemias) โดยเฉพาะไขมันชนิดไม่ดี/LDL

คอเลสทิพอลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาคอเลสทิพอลคือ หลังรับประทาน ตัวยาจะเข้ารวมตัวกับกรดน้ำ ดี (Bile acid, กรดที่เกี่ยวข้องกับการดูดซึมไขมัน) ในลำไส้เล็ก ทำให้กรดน้ำดีไม่สามารถดูดกลับไปใช้ใหม่ ตับจึงนำไขมันคอเลสเตอรอลที่ตัวเองสะสมไว้มาสร้างน้ำดีรุ่นใหม่ ซึ่งคอเลสเตอ รอลในกระแสเลือดก็จะถูกดึงมาใช้ชดเชยเช่นกัน ทำให้เกิดฤทธิ์ลดไขมันชนิดความหนาแน่นต่ำ/ชนิดไม่ดีหรือ Low-density lipoprotein (LDL) ติดตามมา

คอเลสทิพอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาคอเลสทิพอลมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:

  • ยาผงแขวนตะกอนชนิดรับประทาน ขนาดความแรง 5 กรัม/ซอง
  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 1 กรัม/เม็ด

คอเลสทิพอลมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาคอเลสทิพอลมีขนาดรับประทาน เช่น

ก.ชนิดผงแขวนตะกอน: เช่น

  • ผู้ใหญ่ที่อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป:เช่น รับประทานครั้งละ 5 กรัมวันละ 1 ครั้งในช่วง 1 - 2 เดือน ต่อมาแพทย์อาจปรับขนาดรับประทานได้ถึง 30 กรัม/วันโดยรับประทานครั้งเดียวหรือแบ่งรับประ ทานวันละ 2 ครั้ง การรับประทานให้นำยามากระจายลงใน น้ำ นม ซีเรียล หรือเครื่องดื่มเช่น น้ำผลไม้ในปริมาณที่พอเพียง คนจนตัวยากระจายดี ยาคอเลสทิพอลไม่ละลายน้ำ สามารถดื่มรับ ประทานในลักษณะแขวนตะกอนได้เลย และห้ามการรับประทานแบบผงแห้ง

ข.ชนิดเม็ด: เช่น

ผู้ใหญ่ตั้งแต่อายุ 18 ปีขึ้นไป: เช่น รับประทานเริ่มต้น 2 กรัม (2 เม็ด) วันละครั้งหรือแบ่งรับประ ทานเป็นวันละ 2 ครั้งเช้า - เย็น ขนาดรับประทานที่คงระดับการรักษาอยู่ที่ 2 - 5 กรัม/วัน โดยแพทย์อาจปรับขนาดรับประทานในช่วง 1 - 2 เดือนหลังจากเริ่มรับประทานยานี้

*อนึ่ง:

  • ในเด็ก (นิยามคำว่าเด็ก)และผู้ที่อายุต่ำกว่า 18 ปี: ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดถึงประสิทธิภาพและผลข้างเคียงของยานี้ในคนกลุ่มนี้ การใช้ยานี้ในคนกลุ่มนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา
  • ควรรับประทานยานี้ก่อนอาหารหรือก่อนนอน และยานี้อาจรบกวนการดูดซึมของยาอื่นได้ จึงไม่ควรรับประทานยานี้พร้อมยาอื่น ควรรับประทานยาอื่นประมาณ 1 ชั่วโมงก่อนรับประทานยาคอเลสทิพอล หรือประมาณ 4 ชั่วโมงหลังรับประทานยาคอเลสทิพอล

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาคอเลสทิพอล ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และ เภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาคอเลสทิพอลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาคอเลสทิพอล สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

คอเลสทิพอลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาคอเลสทิพอลสามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น

  • ท้องผูก
  • ปวดท้อง
  • ท้องอืด
  • แสบร้อนกลางอก
  • คลื่นไส้อาเจียน
  • ท้องเสียจนถึงขั้นถ่ายอุจจาระเป็นเลือดซึ่งมักเกิดกับผู้ป่วยที่ใช้ยานี้ไปนานๆ
  • อาจพบ
    • ภาวะ/โรคกระดูกพรุน
    • อุจจาระมีไขมันปนออกมามากซึ่งมักพบกับผู้ป่วยที่บริโภคยานี้เป็นปริมาณมา
  • นอกจากนี้ยังพบอาการ
    • ผื่นคันตามผิวหนัง
    • มีเม็ดผดเล็กๆขึ้นที่ลิ้น

*อนึ่ง: กรณีที่รับประทานยานี้เกินขนาด อาจพบภาวะระบบทางเดินอาหาร/ลำไส้อุดตัน ซึ่งต้องพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อทำการรักษาโดยเร็วทันที/ฉุกเฉิน

มีข้อควรระวังการใช้คอเลสทิพอลอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาคอเลสทิพอล เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีภาวะท่อทางเดินน้ำดีอุดตัน หรือดีซ่าน
  • ห้ามนำไปใช้รักษาภาวะไขมันไตรกลีเซอไรด์ในร่างกายสูงเกินด้วยยาคอเลสทิพอลสามารถกระตุ้นให้เกิดภาวะไขมันไตรกลีเซอไรด์ในร่างกายสูงได้เช่นกัน
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานยานี้เอง
  • ระวังการใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ยานี้อาจรบกวนการดูดซึมวิตามินที่ละลายในไขมัน (ได้แก่ วิตามิน เอ, วิตามิน ดี,

วิตามิน อี และ วิตามิน เค) รวมไปถึงกรดโฟลิก

  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาคอเลสทิพอลด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

คอเลสทิพอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาคอเลสทิพอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาคอเลสทิพอล ร่วมกับยา Hydrocortisone อาจทำให้การดูดซึมของยา Hydrocortisone ลดน้อยลง หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันควรรับประทานยา Hydrocortisone ก่อนประมาณ 1 ชั่วโมงหรือรับประทานหลังยาคอเลสทิพอลประมาณ 4 ชั่วโมง
  • การใช้ยาคอเลสทิพอล ร่วมกับ ยาขับปัสสาวะ Furosemide จะส่งผลให้ลดประสิทธิภาพและการออกฤทธิ์ของยา Furosemide หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีไป หรือให้รับประทานยา Furosemide 2 - 3 ชั่วโมงก่อนการรับประทานยาคอ เลสทิพอล
  • การใช้ยาคอเลสทิพอล ร่วมกับ ยาลดไขมันในเลือดอื่น เช่นยา Simvastatin อาจลดประสิทธิ ภาพการรักษาของ Simvastatin เพื่อหลีกเลี่ยงเหตุการณ์ดังกล่าวควรรับประทาน Simvastatin หลังรับประทานยาคอเลสทิพอลไปแล้วประมาณ 4 ชั่วโมง
  • การรับประทานยาคอเลสทิพอลร่วมกับยา Levothyroxine อาจเกิดการลดการดูดซึมและลดประสิทธิภาพของ Levothyroxine เพื่อป้องกันปฏิกิริยาเหล่านี้ควรรับประทานยา Levothyroxine ห่างจากคอเลสทิพอลเป็นเวลาประมาณ 4 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ

ควรเก็บรักษาคอเลสทิพอลอย่างไร

ควรเก็บยาคอเลสทิพอล: เช่น

  • เก็บยาในช่วงอุณหภูมิ 20 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

คอเลสทิพอลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาคอเลสทิพอล มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Colestid (คอเลสติด) Pfizer

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Colestipol[2021,Sept25]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Bile[2021,Sept25]
  3. https://www.mims.com/india/drug/info/colestipol/?type=full&mtype=generic#Dosage[2021,Sept25]
  4. https://www.medicines.org.uk/emc/files/pil.128.pdf[2021,Sept25]
  5. https://www.drugs.com/mtm/colestipol.html[2021,Sept25]
  6. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK548432/ [2021,Sept25]
  7. https://www.mims.com/india/drug/info/colestipol/?type=full&mtype=generic#LabInterference[2021,Sept25]