คลอแรมเฟนิคอล (Chloramphenicol)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

คลอแรมเฟนิคอล (Chloramphenicol) เป็นยาปฏิชีวนะที่ถูกนำมาใช้ยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียได้มากมายหลายชนิด หลายประเทศรู้จักยาคลอแรมเฟนิคอลในชื่อ Chlornitromycin

ยาคลอแรมเฟนิคอลถูกนำมาใช้แพร่หลายในปี ค.ศ. 1949 (พ.ศ. 2492) หลายประเทศที่พัฒนาแล้วมักไม่ค่อยจะใช้ยาตัวนี้ ด้วยผลข้างเคียงที่รุนแรงอย่างเช่น กดการเจริญเติบโตของไขกระดูก ก่อให้เกิดโรคโลหิตจางชนิด Aplastic anemia เป็นต้น แต่สำหรับประเทศที่ยังไม่พัฒนา คลอแรมเฟนิคอลยังเป็นที่ยอมรับ ด้วยมีราคาถูกและออกฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียได้หลายชนิด มีรายงานการฉีดคลอแรมเฟนิคอลเข้าทางหลอดเลือดดำของเด็กทารกแรกคลอดเพื่อรักษาโรคติดเชื้อ ตัวยาก่อให้เกิดอาการข้างเคียงที่เรียกว่า Gray baby syndrome (ผิวหนังออกสีเทา ร่วมกับอาการผิดปกติอื่นๆ เช่น อาเจียน ความดันโลหิตต่ำ ช็อก) ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ร่างกายไม่สามารถทำลายยาคลอแรมเฟนิคอลได้ การใช้ยานี้อาจพบผลข้างเคียงที่มีความรุนแรงน้อยลงมาได้อีก เช่น มีอาการไข้ ผื่นคัน ปวดศีรษะ และรู้สึกสับสน

จากการศึกษาการกระจายตัวของยาคลอแรมเฟนิคอลพบว่า เมื่อยาเข้าสู่กระแสเลือดจะมีการรวมตัวกับพลาสมาโปรตีน 60% ก่อนที่จะถูกส่งไปเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีที่ตับ ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 1.6 - 3.3 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำในการกำจัดยาคลอแรมเฟนิคอลออกจากร่างกายโดยผ่านไปกับปัสสาวะและไปกับอุจจาระ

ประเทศไทยเรายังพบเห็นการใช้ยาคลอแรมเฟนิคลในรูปแบบของ ยาหยอดตา ยาหยอดหู ยาป้ายตา ยาครีม และอยู่ในหมวดยาใช้ภายนอก บางสูตรตำรับจัดเป็นยาภายนอกชนิดยาอันตราย สำหรับยารับประทาน จะได้รับความนิยมน้อย ด้วยมีทางเลือกของยาปฏิชีวนะตัวอื่นที่ดีกว่า อย่างไรก็ตามการใช้ยาคลอแรมเฟนิคอลในรูปแบบใดๆ ควรต้องอยู่ภายใต้คำสั่งของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น ประชาชนไม่สมควรไปซื้อยามาใช้ด้วยตนเอง

คลอแรมเฟนิคอลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

คลอแรมเฟนิคอล

ยาคลอแรมเฟนิคอลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • รักษาโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย (Bacterial meningitis)
  • รักษาฝีในสมอง (Brain abscess)
  • รักษาโรคเนื้อเยื่อเน่าตายจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ชื่อ Clostridium perfringens
  • รักษาโรคแอนแทรก (Anthrax: โรคจากติดเชื้อแบคทีเรียจากสัตว์กินหญ้า)
  • รักษาโรคลำไส้อักเสบ อันมีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรีย (Gastroenteritis)
  • รักษาไข้ไทฟอยด์ (Typhoid fever)
  • รักษาการติดเชื้อที่ตาและ/หรือที่หู

คลอแรมเฟนิคอลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาคลอแรมเฟนิคอลมีกลไกการออกฤทธิ์ โดยตัวยาจะยับยั้งการสังเคราะห์โปรตีนที่เป็นตัวตั้งต้นของสารพันธุกรรมที่เรียกว่า ไรโบโซม (Ribosome) นอกจากนี้ยังป้องกันการเชื่อมโยงโปรตีนที่มีการสังเคราะห์ไว้แล้ว ทำให้แบคทีเรียไม่สามารถเจริญเติบโตและตายลงในที่สุด

คลอแรมเฟนิคอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาคลอแรมเฟนิคอลมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • รูปแบบยาแคปซูล ขนาดความแรง 250 และ 500 มิลลิกรัม/แคปซูล
  • รูปแบบยาหยอดตา ขนาดความแรง 0.5%
  • รูปแบบยาขี้ผึ้งป้ายตา ขนาดความแรง 1%
  • รูปแบบยาหยอดหู ขนาดความแรง 1%
  • รูปแบบยาขี้ผึ้งทาผิว ขนาดความแรง 1%
  • รูปแบบยาครีม ขนาดความแรง 1% โดยผสมร่วมกับยาอื่น
  • รูปแบบยาฉีด ขนาดความแรง 1 กรัม

คลอแรมเฟนิคอลมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาคลอแรมเฟนิคอลมีขนาดรับประทาน เช่น

ก. สำหรับติดเชื้อแบคทีเรีย: เช่น

  • ผู้ใหญ่และวัยรุ่น รับประทานครั้งละ 12.5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทุกๆ 6 ชั่วโมง
  • เด็กทารกอายุต่ำกว่า 2 สัปดาห์ รับประทานครั้งละ 6.25 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทุกๆ 6 ชั่วโมง
  • เด็กทารกอายุตั้งแต่ 2 สัปดาห์ขึ้นไป รับประทานครั้งละ 12.5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทุกๆ 6 ชั่วโมง หรือรับประทานครั้งละ 25 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทุกๆ 12 ชั่วโมง

*หมายเหตุ: ควรรับประทานยาคลอแรมเฟนิคอลก่อนอาหาร 1 ชั่วโมงหรือหลังอาหาร 2 ชั่วโมง

ข. สำหรับการติดเชื้อที่ตา: เช่น

  • ผู้ใหญ่ หยอดตาครั้งละ 1 - 2 หยด (ขนาดความแรง 0.5%) ทุกๆ 2 - 6 ชั่วโมง เป็นเวลา 2 - 3 วัน หากอาการมีความรุนแรงมาก อาจเพิ่มความถี่ของการหยอดเป็นทุกๆ 15 - 20 นาที เมื่อมีอาการดีขึ้นให้ลดความถี่ของการหยอดตามคำแนะนำของแพทย์
  • เด็ก การใช้ยานี้ในเด็ก ขึ้นอายุของเด็ก และดุลพินิจของแพทย์

ค. สำหรับหยอดหูที่ติดเชื้อ: เช่น

  • ผู้ใหญ่ หยอดหูครั้งละ 2 - 3 หยด วันละ 2 - 3 ครั้ง
  • เด็ก การใช้ยานี้ในเด็ก ขึ้นอายุของเด็ก และดุลพินิจของแพทย์

*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาคลอแรมเฟนิคอล ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยา หรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยาคลอแรมเฟนิคอล อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆ และ/หรือกับอาหารเสริม ที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ /มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาคลอแรมเฟนิคอล สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

คลอแรมเฟนิคอลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาคลอแรมเฟนิคอลสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง /อาการข้างเคียง) เช่น

  • กดการทำงานของไขกระดูก ก่อให้เกิด ภาวะโลหิตจางชนิด Aplastic anemia
  • สามารถพบอาการของ Gray baby syndrome เมื่อใช้เป็นยากินในเด็กเล็ก (แต่พบได้น้อย, คือ เด็กมีอาการเขียวคล้ำ และความดันโลหิตต่ำ)
  • เกิดเลือดออกในกระเพาะหรือลำไส้ (ภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร)
  • เส้นประสาทในตาอักเสบส่งผลให้การมองเห็นไม่ชัดเจน
  • รู้สึกสับสน
  • ซึมเศร้า
  • ปวดหัว
  • สำหรับผู้ป่วยด้วยโรค G6PD (ภาวะขาดเอนไซม์จีซิกพีดี) อาจพบทำให้เม็ดเลือดแดงแตกได้
  • กรณียาหยอดตา : อาจพบอาการข้างเคียงประเภท ผื่นคัน ผื่นบวม เป็นไข้
  • สำหรับยาหยอดหู: อาจทำให้มีอาการหูเป็นพิษ (Ototoxicity: เช่น บวม ขึ้นผื่น แสบระคายเคือง )

มีข้อควรระวังการใช้คลอแรมเฟนิคอลอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาคลอแรมเฟนิคอล เช่น

  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยาคลอแรมเฟนิคอล
  • ห้ามใช้ยานี้กับหญิงตั้งครรภ์ และหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยโรคไขกระดูกทำงานผิดปกติ หรือผู้ที่มีความผิดปกติของเม็ดเลือด
  • ระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยด้วยโรคไตและโรคตับ
  • ระวังการใช้ยานี้ในเด็กที่คลอดก่อนกำหนดหรือทารกแรกคลอด โดยต้องคอยตรวจสอบไม่ให้ความเป็นพิษ (ผลข้างเคียง) ของยาเกิดกับทารกกลุ่มดังกล่าว
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาคลอแรมเฟนิคอลด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

คลอแรมเฟนิคอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาคลอแรมเฟนิคอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้คลอแรมเฟนิคอลร่วมกับธาตุเหล็กและวิตามินบี 12 ยาคลอแรมเฟนิคอลจะทำให้ประสิทธิผลของวิตามินบี 12 และธาตุเหล็กด้อยลงไป จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ร่วมกัน
  • การใช้คลอแรมเฟนิคอลร่วมกับยาเม็ดคุมกำเนิด พบว่าคลอแรมเฟนิคอลจะไปลดประสิทธิ ภาพของยาเม็ดคุมกำเนิด อาจส่งผลให้เกิดการตั้งครรภ์ได้ จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้คลอแรมเฟนิคอลร่วมกับยารักษาโรคลมชัก เช่น Phenobarbital หรือยาต้านเชื้อแบคทีเรีย (ยาปฏิชีวนะ) เช่น Rifampin พบว่ายาทั้ง 2 ตัวจะลดประสิทธิภาพของคลอแรมเฟนิคอลลงไป

ควรเก็บรักษาคลอแรมเฟนิคอลอย่างไร?

การเก็บยาคลอแรมเฟนิคอล:

ก. สำหรับยาหยอดตาและยาหยอดหู:

  • ให้เก็บภายในตู้เย็นที่มีอุณหภูมิ 2 - 8 องศาเซลเซียส (Celsius) ห้ามเก็บยาไว้ในช่องแช่แข็ง

ข.สำหรับยาชนิดรับประทาน: ให้เก็บภายใต้อุณหภูมิ 15 - 25 องศาเซลเซียส(Celsius)

ค. เก็บยาทุกรูปแบบ: เช่น

  • เก็บยาให้พ้นแสง/แสงแดด และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • และไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ

คลอแรมเฟนิคอลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาคลอแรมเฟนิคอล มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Antibi-Otic (แอนทีบี-โอติก) Seng Thai
Archifen Ear (อาร์ชิเฟน เอีย) Archifar
Archifen Eye (อาร์ชิเฟน อาย) Archifar
CD-Oph (ซีดี-ออฟ) Seng Thai
Chloracil (คลอราซิล) Siam Bheasach
Chloram-P (คลอแรม-พี) P P Lab
Chloroph (คลอรอพ) Seng Thai
Chlor-Pyrad (คลอ-ไพราด) The United Drug (1996)
Cogetine (โคเจทีน) General Drugs House
Dermasol (เดอร์มาซอล) Olan-Kemed
Doqua (โดคัว) Sriprasit Pharma
Fenicol (เฟนิคอล) Pharmasant Lab
Levoptin Simplex (เลวอพทิน ซิมเพล็กซ์) Archifar
Med-Chloramp (เมด-คลอแรมพี) P P Lab
Pharmacetin Otic (ฟาร์มาเซทิน โอติก) Olan-Kemed
Pisalin (พิซาลิน) 2M (Med-Maker)
Silmycetin Ear Drops (ซิลมายเซติน เอีย ดร็อปส) Silom Medical
Silmycetin Eye Drops (ซิลมายเซติน อาย ดร็อปส) Silom Medical
Synchlolim-SC (ซินคลอลิม-เอสซี) Atlantic Lab
Unison Ointment (ยูนิซัน ออยเมนท์) Unison
Uto Chloramphenicol (ยูโท คลอแรมเฟนิคอล) Utopian
Vagicin (วาจิซิน) Charoen Bhaesaj Lab
Vanafen Ophthalmic (เวนาเฟน ออฟทาลมิก) Atlantic Lab
Vanafen Otologic (เวนาเฟน โอโทโลจิก) Atlantic Lab
Vanafen S (เวนาเฟน เอส) Atlantic Lab

บรรณานุกรม

1. http://en.wikipedia.org/wiki/Chloramphenicol [2020,Feb22]
2. http://www.mims.com/USA/drug/info/chloramphenicol/ [2020,Feb22]
3. http://www.mims.com/Thailand/drug/info/Thiamcin/?type=brief [2020,Feb22]
4. http://www.mims.com/Thailand/drug/info/Uto%20Chloramphenicol/ [2014,SAug9]
5. http://www.drugs.com/cons/chloramphenicol-oral-intravenous-injection.html [2020,Feb22]
6. http://www.mydr.com.au/medicines/cmis/minims-chloramphenicol-0-5-eye-drops [2020,Feb22]
7. http://www.mayoclinic.org/drugs-supplements/chloramphenicol-otic-route/proper-use/drg-20062712 [2020,Feb22]