ขากระตุกขณะหลับ (Periodic limb movement disorder)
- โดย ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า
- 1 สิงหาคม 2560
- Tweet
- บทนำ
- ภาวะขากระตุกขณะหลับคืออะไร?
- ภาวะขากระตุกขณะหลับพบบ่อยหรือไม่?
- ใครมีโอกาเกิดภาวะขากระตุกขณะหลับ?
- ภาวะขากระตุกขณะหลับเกิดได้อย่างไร?
- ภาวะขากระตุกขณะหลับมีอาการคล้ายกับภาวะผิดปกติอะไรบ้าง?
- แพทย์ให้การวินิจฉัยภาวะขากระตุกขณะหลับได้อย่างไร?
- ภาวะขากระตุกขณะหลับสามารถติดต่อได้หรือไม่?
- ควรไปพบแพทย์เมื่อไหร่?
- แพทย์ให้การรักษาภาวะชากระตุกขณะหลับอย่างไร?
- ภาวะขากระตุกขณะหลับก่อผลแทรกซ้อนหรือไม่?
- ควรดูแลตนเองอย่างไรเมื่อมีภาวะขากระตุกขณะหลับ?
- คนในครอบครัวควรปฏิบัติอย่างไร?
- ควรมาพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อใด?
- ภาวะขากระตุกขณะหลับป้องกันได้หรือไม่?
- สรุป
- วิธีตรวจวินิจฉัยโรคระบบประสาท ตอน1:การตรวจร่างกาย (Neurological Examination)
- การตรวจร่างกาย (Physical examination)
- โรคสมอง โรคทางสมอง (Brain disease)
- กลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุข (Restless legs syndrome)
- กายวิภาคและสรีรวิทยาระบบประสาท
- โดพามีน (Dopamine)
- กายวิภาคและสรีรวิทยาระบบประสาท (Anatomy and physiology of nervous system)
บทนำ
หลายต่อหลายคนคงเคยมีอาการขากระตุกขณะนอนหลับ จนนอนไม่ค่อยหลับ พอตื่นขึ้นมาก็ไม่มีอาการผิดปกติ แต่ง่วงนอน ไปพบแพทย์ก็ตรวจไม่พบความผิดปกติ เรารู้สึกกังวลใจว่า เราจะเป็นอะไรแน่ๆ วันนี้มาติดตามบทความเรื่องนี้ดูครับ “ภาวะขากระตุกขณะหลับ หรือ โรคขากระตุกขณะหลับ หรือ อาการขากระตุกขณะหลับ (Periodic limb movement disorder ย่อว่า PLMD)” ซึ่งน่าจะทำให้เรากระจ่างนอนหลับฝันดีแน่นอนครับ
ภาวะขากระตุกขณะหลับคืออะไร?
ภาวะ/อาการขากระตุกขณะหลับ คือ อาการผิดปกติที่เกิดขึ้นเฉพาะขณะนอนหลับเท่านั้น ไม่มีอาการขณะตื่นเลย โดยอาการที่เกิดขึ้นนั้นจะมีอาการกระตุกของขาเฉพาะขณะนอน อาการกระตุกนั้นบางครั้งรบกวนการนอน ทำให้นอนไม่หลับ ง่วงนอนกลางวัน อาการกระตุกของขานั้นเกิดกับขา 1 ข้างหรือ 2 ข้างก็ได้ โดยมีลักษณะเฉพาะ คือ งอเข่า กระดกข้อเท้า และนิ้วหัวแม่เท้าขึ้น บางครั้งคนที่นอนด้วยกับผู้มีอาการ จะเป็นผู้บอกว่าผู้ที่มีอาการนั้น มีการกระตุกของขาที่ไปรบกวนการนอนของคนที่นอนด้วยได้ ซึ่งการกระตุกมักเกิดซ้ำๆ(รวมเวลาแล้วประมาณ 2-3นาที หรือเป็นหายๆเป็นชั่วโมง หรือหลายชั่วโมง) โดยแต่ละครั้งของการกระตุกจะใช้เวลาอยู่ประมาณ 20-40 วินาที
ภาวะขากระตุกขณะหลับพบบ่อยหรือไม่?
ภาวะขากระตุกขณะหลับ พบได้ในทั้ง 2 เพศ โดยพบในเพศหญิงบ่อยกว่าเพศชาย และพบได้ในทุกอายุ แต่มักพบในผู้ใหญ่ โดยพบในประชากรผู้ใหญ่ทั่วไปได้ประมาณ ร้อยละ 4-11(4-11%)
ใครมีโอกาส/ปัจจัยเสี่ยงเกิดภาวะขากระตุกขณะหลับ?
ผู้มีโอกาส/ปัจจัยเสี่ยงเกิดภาวะขากระตุกขณะหลับได้แก่
- ผู้ที่มีโรคทางด้านการนอน เช่น ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ(นอนหลับแล้วหยุดหายใจ)
- ผู้ที่ใช้ยานอนหลับเป็นประจำ
- ผู้ใช้ ยาทางจิตเวช ยากลุ่มโดปามีน(Dopamine)
- ผู้ที่มีภาวะเลือดจาง
- ผู้ป่วย โรคเบาหวาน โรคไตเสื่อม/โรคไตเรื้อรัง หรือ โรคไขสันหลัง
ภาวะขากระตุกขณะหลับเกิดได้อย่างไร?
ภาวะขากระตุกขณะหลับ เกิดขึ้นจากกลไกใด แพทย์ยังไม่ทราบอย่างแน่ชัด แต่สันนิษฐานว่า น่าจะเกิดจากความผิดปกติของสมองที่มีภาวะไวเกินต่อสิ่งเร้า มากเกินไป จนทำให้ระดับสารสื่อประสาทที่ชื่อโดปามีน(Dopamine)ลดต่ำลง จึงก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวผิดปกติดังกล่าว
ภาวะขากระตุกขณะหลับมีอาการคล้ายกับภาวะผิดปกติอะไรบ้าง?
ภาวะ/โรคที่มีอาการคล้ายกับภาวะขากระตุกขณะนอนหลับ คือ
- ภาวะขาอยู่ไม่สุข
- ภาวะกล้ามเนื้อกระตุกขณะหลับที่ไม่รุนแรง
- ภาวะชักขณะหลับ(Nocturnal seizure)
- การเคลื่อนไหวผิดปกติโคเรีย(Chorea)
แพทย์ให้การวินิจฉัยภาวะขากระตุกขณะหลับได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยภาวะขากระตุกขณะนอนหลับได้จาก การพิจารณาข้อมูลประวัติทางการแพทย์ที่รวมถึงอาการ และอาการแสดงของผู้ป่วย การตรวจร่างกายทั่วไป และการตรวจร่างกานทางระบบประสาท เป็นหลัก แต่ในบางกรณีที่อาการผู้ป่วยไม่แน่ชัด แพทย์จะพิจารณาจากผลการตรวจสืบค้นเพิ่มเติม เช่น การตรวจขณะนอนหลับที่เรียกว่า Sleep test, การตรวจเลือดเพื่อหาภาวะผิดปกติที่เป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดอาการ เช่น ไตเสื่อม/โรคไตเรื้อรัง โลหิตจาง ทั้งนี้ โดยทั่วไป ไม่จำเป็นต้องตรวจ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง หรือตรวจเอ็ม อาร์ ไอสมอง
ภาวะขากระตุกขณะหลับสามารถติดต่อได้หรือไม่?
ภาวะขากระตุกขณะหลับไม่ใช่โรคติดต่อ และไม่ใช่โรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม
ควรไปพบแพทย์เมื่อไหร่?
ควรไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล เมื่อ
- ผู้มีอาการมีความกังวลใจต่ออาการที่เกิดขึ้นว่าเป็นอะไร
- อาการรุนแรงจนรบกวนการนอน ง่วงนอนกลางวันมาก ไม่มีสมาธิ และ/หรือซึมเศร้า
แพทย์ให้การรักษาภาวะชากระตุกขณะหลับอย่างไร?
การรักษาภาวะขากระตุกขณะหลับ คือ
1. การรักษาควบคุมอาการด้วยยา: ซึ่งยาที่ใช้ได้ผล คือ ยากลุ่มโดปามีน(Dopamine) ยากันชัก ยากาบาเพ็นติน(Gabapentin) ยาพลีกาบาลิน (Pregabalin) ยานอนหลับ ยาโคลนาซีแพม(Clonazepam) ยาคลายกล้ามเนื้อ
2. การออกกำลังกายสม่ำเสมอ
3. การรักษาควบคุมโรคร่วม/โรคประจำตัวต่างๆ/โรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะนี้ ที่ได้กล่าวในหัวข้อ”ปัจจัยเสี่ยงฯ”
ภาวะขากระตุกขณะหลับมีภาวะแทรกซ้อนหรือไม่?
ภาวะ/อาการแทรกซ้อน(ผลข้างเคียง)ที่อาจพบจากภาวะขากระตุกขณะหลับ คือ การง่วงนอนกลางวัน การไม่มีสมาธิ และภาวะซึมเศร้า
ควรดูแลตนเองอย่างไรเมื่อมีภาวะขากระตุกขณะหลับ?
การดูแลตนเองเมื่อมีภาวะขากระตุกขณะหลับ ได้แก่
- ควรทานยาที่แพทย์สั่งสม่ำเสมอ ไม่ขาดยา
- รักษา ควบคุมโรคต่างๆที่เป็นปัจจัยเสี่ยงเกิดภาวะนี้ให้ได้เป็นอย่างดี
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัด
คนในครอบครัวควรปฏิบัติอย่างไร?
คนในครอบครัวของผู้ป่วยที่มีภาวะขากระตุกขณะหลับ ต้องคอยสอบถามเรื่องการทานยาของผู้ป่วยเพื่อช่วยเตือนให้ผู้ป่วยไม่ขาดยา สนับสนุนให้ผู้ป่วยออกกำลังกายเป็นประจำ และคอยสังเกตอาการผู้ป่วยที่เกิดขึ้นขณะนอนหลับ ถ้ายังมีอาการ ก็ควรบันทึกภาพไว้ เพื่อนำมาให้แพทย์ดูเมื่อมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล
ควรมาพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อใด?
ผู้ป่วยภาวะขากระตุกขณะหลับ ควรมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ
- อาการขากระตุกขณะหลับรุนแรงมากขึ้น
- มีผลข้างเคียงจากจากยาที่แพทย์สั่ง จนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น คลื่นไส้มาก ท้องเสียมาก วิงเวียนศีรษะมาก
- มีอาการสงสัยแพ้ยาที่แพทย์สั่ง
- เมื่อกังวลในอาการ
ภาวะขากระตุกขณะหลับป้องกันได้หรือไม่?
ผกรณีมีภาวะ/ปัจจัยเสี่ยง ดังได้กล่าวในหัวข้อ”ปัจจัยเสี่ยงฯ” เช่น โลหิตจาง ไตเสื่อม/โรคไตเรื้อรัง ก็ต้องควบคุมรักษาโรค/ภาวะเสี่ยงเหล่านั้นให้ดี และควรต้องออกกำลังกายสม่ำเสมอ รวมถึง การไม่ใช้ยานอนหลับ ก็จะลดโอกาสการเกิด/ป้องกันการเกิดภาวะขากระตุกขณะหลับได้
สรุป
ผมหวังว่าผู้อ่านคงมีความกระจ่างเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวผิดปกติของขาขณะนอนหลับนะครับ