ขนดก ภาวะมีขนแบบชาย (Hisutism)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 4 สิงหาคม 2561
- Tweet
- บทนำ
- ขนดกมีสาเหตุจากอะไร?
- ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดขนดก ?
- ขนดกมีอาการอย่างไร?
- เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?
- แพทย์วินิจฉัยขนดกอย่างไร?
- รักษาภาวะขนดกอย่างไร?
- ขนดกมีผลข้างเคียงอย่างไร?
- ขนดกมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไร?
- ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?
- ป้องกันภาวะขนดกอย่างไร?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคต่อมไร้ท่อ โรคระบบต่อมไร้ท่อ (Endocrine disease)
- พีซีโอเอส หรือ พีโอเอส: กลุ่มอาการรังไข่มีถุงน้ำหลายใบ (PCOS หรือ POS : Polycystic ovarian syndrome)
- โรคอ้วน และ น้ำหนักตัวเกิน (Obesity and overweight)
- เนื้องอกสมอง และมะเร็งสมอง (Brain tumor)
- เนื้องอกรังไข่ (Ovarian tumor)
บทนำ
ขนดก หรือ ภาวะมีขนแบบชาย(Hirsutism) ไม่ใช่โรค แต่เป็นอาการแสดงหรือเป็นภาวะที่เกิดจาก โรคบางชนิด หรือจากผลข้างเคียงของยาบางชนิด ที่พบเกิดในผู้หญิงที่ส่งผลให้ผู้หญิงมีขนตามร่างกายดกมากเกินปกติ มักเกิดตั้งแต่เริ่มวัยรุ่นจนถึงวัยหมดประจำเดือน โดยผู้หญิงที่มีภาวะขนดกนี้ จะมีขนที่มีลักษณะเหมือนขนของผู้ชาย คือ สีเข็ม และหยาบ และเกิดในตำแหน่งที่พบขนในผู้ชาย เช่น เหนือริมฝีปาก(หนวด) ที่คาง(เครา) กลางหน้าอก แผ่นหลัง หน้าท้องส่วนต่ำกว่าสะดือ บริเวณต้นแขน และบริเวณต้นขา
ภาวะขนดก พบได้ประมาณ 10%ในผู้หญิงยุโรปและสหรัฐอเมริกา แต่ยังไม่มีรายงานสถิติในหญิงเอเซีย
อนึ่ง ภาวะขนดกมีชื่ออื่นๆ เช่น ภาวะขนดก, ผู้หญิงขนดก, หญิงมีขนแบบชาย, ภาวะขนดกในสตรี, ภาวะขนดกในหญิง, ผู้หญิงมีขน
ขนดกมีสาเหตุจากอะไร?
การเกิดภาวะขนดก เกิดจากเซลล์สร้างขนได้รับการกระตุ้นจากฮอร์โมนแอนโดรเจน(Androgen, กลุ่มฮอร์โมนเพศชายที่ส่วนใหญ่คือฮอร์โมน Testosterone ที่มีหน้าที่ทำให้เกิดความเป็นชาย เช่น มีขน มีกล้ามเนื้อ มีการเจริญเติบโตของอวัยวะเพศชาย และมีเสียงใหญ่) ที่มีมากเกินปกติในผู้หญิงที่กระตุ้นให้เกิดภาวะขนดก ในผู้ป่วยบางราย ฮอร์โมนแอนโดรเจนมีปริมาณปกติ แต่เซลล์สร้างขนของผู้ป่วยมีความไวเกิน(Hypersensitivity)ต่อฮอร์โมนแอนโดรเจน จึงส่งผลให้เซลล์สร้างขน สร้างขนได้มากขึ้นจนเกิดเป็นภาวะขนดก
ทั้งนี้ สาเหตุพบบ่อยของการมีฮอร์โมนแอนโดรเจนในร่างกายสูงขึ้น หรือเซลล์สร้างขนไวเกินต่อฮอร์โมนแอนโดรเจน ได้แก่ โรคของรังไข่ ที่เรียกว่า โรคPCOS ซึ่งพบเป็นสาเหตุขนดกในผู้หญิงบ่อยที่สุด ประมาณ 70-80%ของภาวะขนดกในผู้หญิงทั้งหมด
นอกนั้นเป็นสาเหตุอื่นที่พบได้น้อย เช่น
- โรคจากเซลล์ต่อมหมวกไตเจริญผิดปกติ(Adrenal hyperplasia)
- เนื้องอกต่อมหมวกไตชนิดเซลล์เนื้องอกสร้างฮฮร์โมนแอนโดรเจน
- เนื้องอกต่อมใต้สมองบางชนิด เช่น โรคCushing disease
- เนื้องอกรังไข่ชนิดที่เซลล์เนื้องอกสร้างฮอร์โมนแอนโดรเจน
- กลุ่มอาการคุชชิง(Cushing syndrome)
- โรคต่อมไทรอยด์ แต่สาเหตุนี้พบได้น้อยมาก
- โรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน ซึ่งผู้หญิงกลุ่มนี้ร่างกายมักมีปริมาณฮอร์โมนแอนโดรเจนสูงกว่าหญิงน้ำหนักตัวปกติ สาเหตุจากร่างกายมีการตอบสนองต่อฮอร์โมนอินซูลินผิดปกติ เพราะภาวะผิดปกตินี้จะกระตุ้นให้ร่างกายมีฮอร์โมนแอนโดรเจนสูงขึ้น
- ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด เช่น ยากลุ่ม Corticosteroid, Anabolic steroid, Danazol
- แพทย์ตรวจไม่พบสาเหตุที่ทำให้ร่างกายมีฮอร์โมนแอนโดรเจนสูงขึ้น ซึ่งพบได้ประมาณ 10% ของผู้ป่วย
อนึ่ง ประมาณ 5-10%ของผู้ป่วย แพทย์หาสาเหตุการเกิดภาวะขนดกไม่พบ เพราะ ผู้ป่วยมีปริมาณฮอร์โมนแอนโดรเจนในร่างกายปกติ ซึ่งมักพบในผู้ป่วยที่มีประวัติขนดกในครอบครัว จึงเชื่อว่า สาเหตุน่ามาจากพันธุกรรมที่ทำให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีเซลล์สร้างขนที่มีความไวเกินต่อฮอร์โมนแอนโดรเจน
ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดขนดก?
หญิงที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะขนดก ได้แก่
- มีประวัติคนในครอบครัวมีภาวะขนดก
- หญิงที่มีเชื้อชาติเป็น คนตะวันตก คนตะวันออกกลาง หรือคนเอเชียใต้
ขนดกมีอาการอย่างไร?
อาการของภาวะขนดก คือ สตรีมีขนขึ้นแบบผู้ชาย คือมี หนวด เครา ขนหน้าอก ขนหน้าท้องส่วนที่ต่ำกว่าสะดือ ขนที่ ด้านหลัง ต้นแขน และต้นขา และขนจะมีลัษณะหยาบ และมีสีเข็ม
นอกจากนั้น ยังอาจพบอาการอื่นร่วมด้วยได้ เช่น
- อ้วน หรือ น้ำหนักตัวเกิน
- มีประจำเดือนผิดปกติ
- มีสิวมาก ทั้งที่ใบหน้า และตามลำตัว เหมือนในผู้ช่าย
- รูปร่าง และเสียง เป็นเสียงผู้ชาย หรือเสียงห้าว
- ศีรษะล้านแบบศีรษะล้านที่พบในผู้ชาย
- กล้ามเนื้อไหล่ใหญ่เหมือนผู้ชาย
- ปุ่มกระสัน(Clitoris)ที่อวัยวะเพศ มีขนาดใหญ่กว่าปกติ
นอกจากนั้น กรณีสาเหตุภาวะขนดกเกิดจาก Cushing syndrome หรือ จากผลข้างเคียงของยากลุ่ม Corticosteroid อาการที่อาจพบได้เพิ่มเติม เช่น
- ผิวหนังบาง จนเห็นหลอดเลือดชัดเจน
- ผิวหนังแตกลายเป็นรอยยาว เหมือนผิวหน้าท้องในสตรีตั้งครรภ์
- มีรูปร่างอ้วนเฉพาะส่วนลำตัว แต่ แขน ขา ลีบ
- มีความดันโลหิตสูง
- มักมีโรคเบาหวานร่วมด้วย
เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?
ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอ เมื่อมีอาการดังได้กล่าวในหัวข้อ “อาการฯ” เพื่อได้รับการวินิจฉัยหาสาเหตุ เพื่อการรักษาแต่เนิ่นๆ ที่จะให้ผลในการรักษาควบคุมโรคได้ดี
แพทย์วินิจฉัยขนดกอย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยภาวะขนดกได้จากลักษณะทางคลินิกของผู้ป่วย คือ จากอาการของผู้ป่วยดังได้กล่าวในหัวข้อ”อาการฯ” และสามารถวินิจฉัยหาสาเหตุของภาวะขนดกได้จาก การสอบถามประวัติทางการแพทย์ต่างๆ เช่น โรคประจำตัว โรคต่างๆที่เคยเป็นในอดีต ยาต่างๆที่ผู้ป่วยใช้อยู่ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบัน ยาแผนโบราญ สมุนไพร อาหารเสริม และผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ประวัติญาติพี่น้องมีภาวะขนดกในครอบครัว การตรวจร่างกาย การตรวจคลำพบก้อนเนื้อในช่องท้อง การตรวจภายในดูโรคของรังไข่ และการตรวจสืบค้นอื่นๆเพิ่มเติมตามดุลพินิจของแพทย์ เช่น การตรวจเลือด และ/หรือการตรวจปัสสาวะ เพื่อดูระดับฮอร์โมนเพศ การตรวจภาพช่องท้อง หรือ สมอง ด้วย อัลตราซาวด์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และ/หรือเอมอาร์ไอ ในกรณีแพทย์สงสัย โรคของต่อมหมวกไต รังไข่ หรือ โรคของต่อมใต้สมอง และอาจมีการดูด/เจาะรอยโรคที่ตรวจพบเพื่อนำเซลล์จากรอยโรค มาตรวจทางเซลล์วิทยา หรือมีการตัดชิ้นเนื้อจากรอยโรคเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา ซึ่งการตรวจสืบค้นเพิ่มเติมเหล่านี้ แพทย์จะเลือกตรวจด้วยวิธีใด จะขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป และไม่จำเป็นต้องตรวจเหมือนกันในผู้ป่วยทุกราย
รักษาภาวะขนดกอย่างไร?
แนวทางการรักษาภาวะขนดก คือ การรักษาสาเหตุ ร่วมกับการรักษาภาวะขนดก
ก. การรักษาสาเหตุ: คือการรักษาที่จะแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละรายตามสาเหตุที่ทำให้เกิดขนดก เช่น การรักษาโรคPCOS กรณีสาเหตุเกิดจากโรค PCOS, การผ่าตัดเนื้องอกกรณีสาเหตุเกิดจากเนื้องอกของอวัยวะต่างๆ เช่น เนื้องอกต่อมใต้สมอง หรือเนื้องอกต่อมหมวกไต, การหยุดใช้ยานั้นๆกรณีสาเหตุเกิดจากผลข้างเคียงของยา, การลดน้ำหนักตัว การควบคุมอาหาร และการออกกกำลังกาย กรณีสาเหตุจาก โรคอ้วน หรือน้ำหนักตัวเกิน เป็นต้น
แนะนำอ่านเพิ่มเติมรายละเอียดในเรื่องโรคต่างๆที่เป็นสาเหตุรวมถึงวิธีรักษา ได้จาก เว็บ haamor.com
ข. การรักษาภาวะขนดก: เพื่อให้ขนลดลงจนภาพลักษณ์ผู้ป่วยกลับเป็นปกติหรือใกล้เคียงปกติ เช่น
- การรักษาด้านความสวยความงาม(Cosmetic method)เพื่อกำจัดขน เช่น การโกนขน การทายาให้ขนร่วง การใช้เลเซอร์กำจัดขน(Laser and intense pulsed light) การย้อมเปลี่ยนสีขน(Bleaching)
- การใช้ยาต่างๆเพื่อให้เกิดสมดุลของฮอร์โมนแอนโดรเจนในร่างกาย เช่น ยาเม็ดคุมกำเนิด ยายับยั้งฮอร์โมนแอนโดรเจน ยาGnRH agonist ยาลดฮอร์โมนอินซูลินเพราะฮอร์โมนอินซูลินจะเกี่ยวข้องกับการสร้างฮอร์โมนแอนโดรเจนด้วย เช่นการใช้ยา Metformin
อนึ่ง การจะเลือกใช้ยาตัวใดในการรักษา จะขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีแต่ละผู้ป่วยไป
ขนดกมีผลข้างเคียงอย่างไร?
ผลข้างเคียงจากภาวะขนดก คือ คุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ที่ขาดความมั่นใจในตนเองจากภาพลักษณ์
นอกจากนั้น คือ ผลข้างเคียงจากสาเหตุ ที่จะต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย เช่น กระดูกบางหรือกระดูกพรุน กรณีสาเหตุเกิดจาก Cushing syndrome; มีประจำเดือนผิดปกติ หรือขาดประจำเดือน กรณีสาเหตุเกิดจากโรค PCOS เป็นต้น แนะนำอ่านเพิ่มเติมรายละเอียดในเรื่องโรคต่างๆที่เป็นสาเหตุรวมถึงผลข้างเคียงได้จาก เว็บ haamor.com
ขนดกมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
การพยากรณ์โรคในภาวะขนดก จะขึ้นกับสาเหตุซึ่งทั่วไปเป็นสาเหตุที่ควบคุม รักษาได้ ส่วนเรื่องของตัวขนดกเอง ก็สามารถควบคุมรักษาได้เช่นกัน แต่อาจต้องได้รับการรักษาในระยะยาว หรือตลอดชีวิตในบางคน ทั้งนี้ขึ้นกับสาเหตุและการตอบสนองต่อการรักษาที่อาจแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย
ดูแลตนเองอย่างไร?
การดูแลตนเองเมื่อมีภาวะขนดก ได้แก่
- ปฏิบัติตนตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
- ควบคุมอาหาร ร่วมกับ การออกกำลังกาย ไม่ให้มี โรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน
- กินยา/ใช้ยาต่างๆ ตามแพทย์สั่ง ให้ครบถ้วน ถูกต้อง ไม่หยุดยาเอง
- ไม่ซื้อยาใช้เองพร่ำเพื่อ และควรปรึกษาแพทย์/เภสัชกรก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
- พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ
ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?
ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อ
- อาการขนดกไม่ดีขึ้น หรือ ขนกลับดกมากขึ้น
- อาการผิดปกติอื่นๆร่วมด้วย เช่น ประจำเดือนผิดปกติ น้ำหนักตัวเพิ่มสูงขึ้นมากทั้งๆที่ควบคุมอาหารและออกกกำลังกายตามแพทย์แนะนำแล้ว
- มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ท้องเสียมาก คลื่นไส้มาก ง่วงนอนมากหรือนอนไม่หลับทุกคืน วิงเวียนศีรษะมาก
- กังวลในอาการ
ป้องกันภาวะขนดกอย่างไร?
การป้องกันภาวะขนดกให้ได้เต็มร้อยเป็นไปไม่ได้ เพราะสาเหตุมีหลากหลายที่รวมถึงสาเหตุจากทางพันธุกรรม และจากเนื้องอกของอวัยวะต่างๆ
แต่อย่างไรก็ตาม การควบคุมอาหารและการออกกำลังกายเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน รวมถึงไม่ซื้อยาต่างๆใช้เอง เพื่อช่วยลดโอกาสเกิดผลข้างเคียงจากยาที่อาจทำให้เกิดภาวะขนดก ก็สามารถช่วยป้องกัน/ลดปัจจัยเกิดภาวะขนดกลงได้
บรรณานุกรม
- Bode,D. et al. Am Fam Physician. 2012;85(4):373-380
- Hon. A. et al. Arq Bros Endocrinol Metab.2014;58:97-107
- Hunter,M., and Carex, P. Am Fam Physician. 2003;67:2565-2572
- Sachdeva, S. Indian J Dermatol. 2010;55(1):3-7
- https://en.wikipedia.org/wiki/Hirsutism [2018,July14]
- http://emedicine.medscape.com/article/121038-overview#showall [2018,July14]