การใส่ห่วงคุมกำเนิด การใส่ห่วงอนามัย (Intrauterine device birth control)
- โดย รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิง ประนอม บุพศิริ
- 13 มีนาคม 2556
- Tweet
- ห่วงอนามัยหมายถึงอะไร?
- ห่วงอนามัยมีกี่ชนิดและใส่ได้นานเพียงใด?
- ห่วงคุมอนามัยป้องกันการตั้งครรภ์ได้อย่างไร?
- สตรีที่เหมาะสมจะคุมกำเนิดโดยการใส่ห่วงคือใครบ้าง?
- สตรีที่ไม่เหมาะจะคุมกำเนิดโดยการใส่ห่วงคือใครบ้าง?
- ข้อดีของการใส่ห่วงอนามัยมีอะไรบ้าง?
- ผลข้างเคียงของการใส่ห่วงอนามัยมีอะไรบ้าง?
- มีโอกาสตั้งครรภ์ไหมหากคุมกำเนิดโดยการใส่ห่วงอนามัย?
- มีการเตรียมตัวเพื่อใส่ห่วงอนามัยอย่างไร? ต้องอยู่โรงพยาบาลไหม?
- หลังใส่ห่วงอนามัยต้องงดมีเพศสัมพันธ์หรือไม่?
- ใส่ห่วงอนามัยแล้วกระทบต่อความรู้สึกทางเพศหรือการมีเพศสัมพันธ์ไหม?
- ใส่ห่วงอนามัยแล้วป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ไหม?
- การปฏิบัติตัวขณะใส่ห่วงอนามัยต้องทำอย่างไรบ้าง?
- ถ้าติดเชื้อในอวัยวะสืบพันธุ์สตรีระหว่างใส่ห่วงอนามัยจะทำอย่างไร?
- ถ้าใส่ห่วงอนามัยแล้วตั้งครรภ์จะทำอย่างไร? เด็กในครรภ์จะเป็นอันตรายไหม?
- หากต้องการถอดห่วงอนามัยต้องทำอย่างไร?
- หลังการถอดห่วงอนามัยแล้วนานแค่ไหนจึงจะตั้งครรภ์ได้?
- หากครบกำหนดถอดห่วงอนามัยควรทำอย่างไร?
- สามารถใส่ห่วงอนามัยไปได้นานเพียงใด?
- เมื่อใส่ห่วงอนามัย เมื่อไหร่ควรรีบพบแพทย์ก่อนนัด?
- บรรณานุกรม
ห่วงอนามัยหมายถึงอะไร?
ห่วงอนามัย หรือ ห่วงคุมกำเนิด (Intrauterine device) เรียกสั้นๆ หรือ ย่อว่า ไอยูดี (IUD) เป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ชิ้นเล็กๆที่ใส่เข้าไปโพรงมดลูกสตรี ทำให้สภาพในโพรงมด ลูกไม่เหมาะในการฝังตัวของตัวอ่อนมนุษย์ในโพรงมดลูก จึงใช้เป็นการป้องกันการตั้งครรภ์ได้ การใส่ห่วงอนามัยเป็นวิธีการคุมกำเนิดแบบชั่วคราวชนิดหนึ่งที่นิยมใช้กันมานาน
ห่วงอนามัยมีกี่ชนิดและใส่ได้นานเพียงใด?
แบ่งห่วงอนามัย/ห่วงคุมกำเนิดเป็น 2 ประเภท คือ
- ห่วงอนามัยที่ไม่มีสารหรือฮอร์โมนเคลือบ (Non-medicated IUD) ที่รู้จักกันมานาน คือ Lippes loop มีลักษณะเป็นเส้นพลาสติกยาวแล้วขดเป็นรูปตัว S 2 ชั้น ห่วงชนิดนี้จะไม่มีทอง แดงหรือฮอร์โมนเคลือบอยู่ อายุการใช้งานสามารถใช้ต่อไปได้นานไม่มีกำหนด
-
ห่วงอนามัยที่มีสารหรือฮอร์โมนเคลือบ (Medicated IUD) สิ่งที่ใช้เคลือบห่วงอนามัยปัจจุบันมี 2 ประเภท คือ
- ห่วงอนามัยที่เคลือบด้วยสารทองแดง (Copper IUD) ที่มีใช้ในปัจจุบัน ได้แก่
- Copper T 380A® รูปร่างเป็นตัว T (อายุการใช้งาน 10 ปี)
- Multiload 250 A ® รูปร่างเป็นก้างปลา (อายุการใช้งาน 3 ปี)
- Multiload 375 A ® รูปร่างเป็นก้างปลา (อายุการใช้งาน 5 ปี เนื่องจากมีพื้นที่ผิวทอง
- แดงมากกว่าชนิด 250A) ซึ่งเป็นห่วงที่นิยมใช้กันแพร่หลาย
- ห่วงอนามัยที่เคลือบด้วยฮอร์โมน (Hormonal IUD) ฮอร์โมนที่นำมาใช้ คือ Levonorgestrel ที่มีขายในปัจจุบัน คือ Mirena® จะมีลักษณะคล้ายตัวห่วง Copper T (อายุการใช้งาน 5 ปี) เป็นห่วงอนามัยชนิดพิเศษ การที่มีฮอร์โมนเคลือบอยู่ จะมีผลทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกบางลง เป็นกลไกเสริมการป้องกันการตั้งครรภ์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีผลทำให้ประจำเดือนออกน้อยลง ทำให้อาการปวดประจำเดือนลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับห่วงอนามัยที่มีทองแดงเคลือบอยู่
- ห่วงอนามัยที่เคลือบด้วยสารทองแดง (Copper IUD) ที่มีใช้ในปัจจุบัน ได้แก่
ห่วงอนามัยป้องกันการตั้งครรภ์ได้อย่างไร?
ห่วงอนามัย/ห่วงคุมกำเนิดป้องกันการตั้งครรภ์ได้โดย
- ทำให้ไข่ที่ผสมแล้วไม่สามารถฝังตัวได้ในโพรงมดลูก เพราะทำให้เกิดสภาพที่ไม่เหมาะสมสำหรับการฝังตัวขึ้นที่เยื่อบุมดลูก หรือ ที่ผนังมดลูก โดยจะมีเม็ดเลือดขาวมาอยู่บริเวณนี้จำ นวนมาก
- ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในโพรงมดลูก จนทำให้เชื้อของฝ่ายชายไม่สามารถผ่านไปผสมกับไข่ได้ หรือสูญเสียความสามารถในการผสมพันธุ์ไป
สตรีที่เหมาะสมจะคุมกำเนิดโดยการใส่ห่วงคือใครบ้าง?
สตรีที่เหมาะสมสำหรับการคุมกำเนิดโดยการใส่ห่วงอนามัย/ห่วงคุมกำเนิด ได้แก่
- ต้องการเว้นช่วงการมีบุตรประมาณ 3-5 ปี หรือนานกว่านั้น
- มีข้อห้ามในการใช้การคุมกำเนิดด้วยฮอร์โมน
- อ้วนมาก เพราะจะมีผลให้ประสิทธิภาพการคุมกำเนิดด้วยยาฮอร์โมนลดลง และยาฮอร์โมนอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอีก
- หลงลืมในการรับประทานยาง่าย
- ให้นมบุตร
สตรีที่ไม่เหมาะจะคุมกำเนิดโดยการใส่ห่วงคือใครบ้าง?
สตรีที่ไม่เหมาะจะคุมกำเนิดด้วยการใส่ห่วงอนามัย/ห่วงคุมกำเนิด ได้แก่
- ไม่แน่ใจว่าขณะนั้นตั้งครรภ์อยู่หรือไม่
- มีเลือดออกทางช่องคลอดกะปริบกะปรอยโดยหาสาเหตุยังไม่ได้
- มีประวัติการอักเสบในอุ้งเชิงกรานบ่อยๆ
- มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่อง เพราะจะส่งผลให้เกิดการติดเชื้อในโพรงมดลูกได้สูง
- รูปร่างมดลูกผิดปกติ จึงทำให้ไม่สามารถใส่ห่วงได้ในตำแหน่งที่เหมาะสม
- มีเนื้องอกมดลูก เพราะส่งผลให้รูปร่างมดลูกผิดปกติ
ข้อดีของการใส่ห่วงอนามัยมีอะไรบ้าง?
ข้อดีของการใส่ห่วงอนามัย/ห่วงคุมกำเนิด คือ
- สามารถคุมกำเนิดได้ระยะยาว 3-10 ปี แล้วแต่ชนิดของห่วง
- ไม่ต้องรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดทุกวัน หรือ ไม่ต้องได้รับการฉีดยาฉีดคุมกำเนิดทุก 1-3 เดือน
- ไม่มีผลข้างเคียงของฮอร์โมนที่เป็นส่วนประกอบของยาเม็ด หรือ ยาฉีดคุมกำเนิด เช่น คลื่นไส้ อาเจียน อ้วน ผิวหน้าเป็นฝ้า
- สามารถกลับมาตั้งครรภ์หลังถอดห่วงอนามัย โดยตั้งครรภ์ได้เร็วกว่าสตรีที่ใช้ยาเม็ดหรือยาฉีดคุมกำเนิด เพราะไม่มีอิทธิพลของฮอร์โมน
- มีประจำเดือนมาทุกเดือนเหมือนปกติ ทำให้รู้สึกสบายใจ
ผลข้างเคียงของการใส่ห่วงอนามัยมีอะไรบ้าง?
ผลข้างเคียงของการใส่ห่วงอนามัย/ห่วงคุมกำเนิด ได้แก่
- เลือดออกทางช่องคลอดกระปริบกะปรอย
- ประจำเดือนออกมาก (ห่วงอนามัยที่มีทองแดงพันอยู่)
- ปวดประจำเดือน (ห่วงอนามัยที่มีทองแดงพันอยู่)
- มีตกขาวมากกว่าปกติ เนื่องจากมีสายห่วงที่อยู่ในช่องคลอด
- ห่วงอนามัยอาจทะลุเข้าไปในช่องท้องได้ (พบได้ไม่บ่อย)
- มีโอกาสตั้งครรภ์นอกมดลูก (ท้องนอกมดลูก) มากขึ้น หากเกิดตั้งครรภ์ขณะใส่ห่วงอยู่
- เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดการอักเสบติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานในสตรีที่มีคู่นอนหลายคน หรือเป็นสตรีที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่อง
มีโอกาสตั้งครรภ์ไหมหากคุมกำเนิดโดยการใส่ห่วงอนามัย?
การใส่ห่วงอนามัย/ห่วงคุมกำเนิดเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันการตั้งครรภ์ มีความสะดวก เนื่องจากใส่ครั้งเดียวสามารถคุมกำเนิดไปได้นาน 3-10 ปี และ สามารถตั้งครรภ์ได้เร็วเมื่อถอดห่วงอนามัย อย่างไรก็ตามโอกาสผิดพลาดสามารถตั้งครรภ์ได้ขณะใส่ห่วงอนามัยแบบที่มีทองแดงพันที่แกน คือ ประมาณ 1-3 รายใน 100 รายสตรีที่ใส่ห่วงอนามัย ส่วนห่วงอนามัยที่มีฮอร์โมนเคลือบโอกาสตั้งครรภ์จะน้อยกว่ามาก คือประมาณ 1 ใน 1,000 ราย
มีการเตรียมตัวเพื่อใส่ห่วงอนามัยอย่างไร? ต้องอยู่โรงพยาบาลไหม?
เมื่อศึกษาข้อมูล ข้อดี ข้อด้อย (ผลข้างเคียง) ของการใส่ห่วงอนามัย/ห่วงคุมกำเนิดแล้ว ควรต้องไปพบแพทย์/สูตินรีแพทย์ โดยเฉพาะในช่วงที่มีประจำเดือนหรือประจำเดือนหมดใหม่ๆ เพื่อให้มั่นใจว่าไม่ตั้งครรภ์ อีกทั้งตอนมีประจำเดือน ปากมดลูกจะเปิดทำให้ใส่ห่วงอนามัยได้ง่าย ไม่ทำให้ปวดท้องมากหลังการใส่ (หากไม่แน่ใจว่าอาจจะเกิดการตั้งครรภ์ได้ ก็ต้องเลื่อนการใส่ห่วงอนามัยออกไปก่อน )
ทั้งนี้ แพทย์จะทำการซักถามถึงประวัติการเจ็บป่วยต่างๆเพื่อช่วยประเมินว่าจะสามารถคุม กำเนิดโดยห่วงอนามัยได้หรือไม่ ต่อจากนั้นจะตรวจร่างกายและตรวจภายใน ประเมินสภาพมด ลูกและปีกมดลูก แล้วจึงทำการใส่ห่วงอนามัย ห่วงอนามัยจะมีสายไนลอนต่อมาเป็นหาง (และปล่อยทิ้งไว้ในช่องคลอด) ยาว 2-3 ซม เพื่อใช้ตรวจว่า ห่วงยังคงอยู่ในมดลูกหรือไม่ และใช้ดึงห่วงออกเมื่อต้องการหยุดคุมกำเนิด
เมื่อตัดสินใจจะคุมกำเนิดด้วยการใส่ห่วงอนามัย สามารถไปรับบริการได้ทั้งที่โรงพยา บาล หรือ ที่คลินิก โดยระยะเวลาที่ใช้ในการใส่ห่วงไม่นาน โดยทั่วไปในรายปกติใช้เวลาประ มาณ 10-15 นาที ไม่ต้องฉีดยาชา หรือดมยาสลบ จะมีอาการปวดหน่วงท้องน้อยช่วงระหว่างใส่และหลังใส่เล็กน้อย และหลังใส่ห่วงแล้ว แพทย์จะให้นอนพักในห้องพักประมาณ 10-15 นาที ก็สามารถกลับบ้านได้ (ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล) ทำงาน และใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ
หลังใส่ห่วงอนามัยต้องงดมีเพศสัมพันธ์หรือไม่?
หลังใส่ห่วงอนามัย/ห่วงคุมกำเนิดใหม่ๆ ไม่มีข้อห้ามในการมีเพศสัมพันธ์กรณีมั่นใจว่าเป็นช่วงเวลามีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ใกล้กับการตกไข่ที่อาจทำให้เกิดการตั้งครรภ์ได้ หรือหากไม่มั่น ใจ ก็สามารถใส่ถุงยางอนามัยร่วมไปด้วย แต่หากใส่ห่วงอนามัยในช่วงมีประจำเดือน มั่นใจได้เลยว่าไม่ตั้งครรภ์ การมีเพศสัมพันธ์กันเลยในช่วงที่มีประจำเดือน ไม่ได้เป็นข้อห้าม แต่ควรหลีก เลี่ยงหากเป็นไปได้ เนื่องจากจะเสี่ยงต่อการติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานได้ง่าย
ใส่ห่วงอนามัยแล้วกระทบต่อความรู้สึกทางเพศหรือการมีเพศสัมพันธ์ไหม?
การใส่ห่วงอนามัย/ห่วงคุมกำเนิด ไม่มีผลกระทบต่อความรู้สึกทางเพศหรือการมีเพศสัม พันธ์ทั้งในชายและหญิง เพราะมีเพียงสายห่วงเส้นเล็กๆเท่ากับเส้นผม 2 เส้น (หางของห่วง) อยู่ในช่องคลอด ทั้งคู่สามี ภรรยา มักไม่รู้ว่ามีสายห่วงระหว่างการมีเพศสัมพันธ์
ใส่ห่วงอนามัยแล้วป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ไหม?
การใส่ห่วงอนามัย/ห่วงคุมกำเนิด ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ ใน ทางตรงข้าม อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงในการทำให้เกิดการอักเสบติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานได้ง่ายในกรณีที่มีคู่นอนหลายคน หรือฝ่ายชายที่มีการอักเสบติดเชื้อบริเวณอวัยวะเพศ
การปฏิบัติตัวขณะใส่ห่วงอนามัยต้องทำอย่างไรบ้าง?
การปฏิบัติตัวขณะใส่ห่วงอนามัย/ห่วงคุมกำเนิด ได้แก่
- หลังการใส่ห่วงอนามัย 2-3 วันแรก อาจมีเลือดออกกะปริดกะปรอยทางช่องคลอดได้ โดยเลือดจะหยุดหายไปเอง
- ดูแลรักษาความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศภายนอกตามปกติ
- ไม่ควรสวนล้างช่องคลอด
- มีการตรวจคลำสายห่วงในช่องคลอดเป็นระยะๆ โดยเฉพาะเมื่อเลือดประจำเดือนหยุดไหล (แพทย์จะเป็นผู้แนะนำถึงวิธีการนี้)
- ในช่วง 1-3 เดือนแรกหลังการใส่ห่วงอนามัย ประจำเดือนอาจมามาก หรือมานานกว่าปกติได้ และถ้ามีอาการปวดประจำเดือน สามารถรับประทานยาแก้ปวด เช่น พอนสแตน (Ponstan) 250-500 มิลลิกรัม วันละ 2-3 ครั้งได้
- หากมีไข้ หรือ ตกขาวมีกลิ่นเหม็น หรือปวดท้องอย่างรุนแรง ควรรีบไปพบแพทย์
- โดยทั่วไป การใส่ห่วงอนามัยไม่ได้ขัดขวางการร่วมเพศ และไม่ทำให้เกิดอาการเจ็บปวดต่ออวัยวะเพศของสามี แต่หากสามีมีอาการเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจดูว่า มีการเคลื่อนที่ของห่วงอนามัย หรือห่วงอนามัยหลุดออกมาอยู่ในช่องคลอดหรือไม่
ถ้าติดเชื้อในอวัยวะสืบพันธุ์สตรีระหว่างใส่ห่วงอนามัยจะทำอย่างไร?
หากเกิดการติดเชื้อในระบบอวัยวะสืบพันธุ์สตรีเมื่อใส่ห่วงอนามัย/ห่วงคุมกำเนิดอยู่ แพทย์จะให้สตรีผู้นั้นรับประทานยาปฏิชีวนะประมาณ 2 สัปดาห์ และต้องเอาห่วงอนามัยออก
ถ้าใส่ห่วงอนามัยแล้วตั้งครรภ์จะทำอย่างไร? เด็กในครรภ์จะเป็นอันตรายไหม?
หากใส่ห่วงอนามัยอยู่ แล้วเกิดตั้งครรภ์ ให้รีบไปพบแพทย์ หากต้องการตั้งครรภ์ต่อ แพทย์จะทำการตรวจภายในเพื่อตรวจดูว่าสายห่วงอนามัยยังมองเห็นอยู่หรือไม่ หากเห็นสายห่วง แพทย์จะใช้เครื่องมือคีบสายห่วงดึงห่วงออกมา แต่หากมองไม่เห็นสายห่วง (หมายถึงห่วงถูกดึงเข้าไปในโพรงมดลูกเนื่องจากมดลูกโตขึ้น) แพทย์จะไม่พยายามไปดึงห่วงออก เพราะจะไปทำอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้
อย่างไรก็ตามการตั้งครรภ์พร้อมห่วงอนามัยมีโอกาสที่จะแท้งบุตร สูงกว่าคนทั่วไป หากเอาห่วงอนามัยออกได้ มีโอกาสแท้งประมาณ 25% แต่หากไม่เอาห่วงอนามัยออก หรือเอาออกไม่ได้ มีโอกาสแท้งประมาณ 50 %
หากต้องการถอดห่วงอนามัยต้องทำอย่างไร?
หากต้องการถอดห่วงอนามัย/ห่วงคุมกำเนิดออก เนื่องจากวางแผนจะมีบุตรคนต่อไป สา มารถไปถอดห่วงที่โรงพยาบาล สถานีอนามัย หรือคลินิกต่างๆได้เลย โดยไม่ต้องมีการเตรียมตัวล่วงหน้า เพราะการนำห่วงออกเป็นหัตถการที่ไม่ซับซ้อน ไม่ยุ่งยาก แนะนำว่าไปถอดห่วงออกช่วงที่กำลังมีประจำเดือนอยู่จะเหมาะสมกว่า เพราะปากมดลูกเปิด จึงทำให้แพทย์สามารถดึงห่วงออกจากโพรงมดลูกได้ง่าย ไม่ปวดท้อง และจะได้มั่นใจได้ว่าไม่ตั้งครรภ์ อย่างไรก็ตามสามารถถอดห่วงอนามัยได้ทุกเวลา หากมั่นใจว่าไม่ได้ตั้งครรภ์
หลังการถอดห่วงอนามัยแล้วนานแค่ไหนจึงจะตั้งครรภ์ได้?
โดยทั่วไป เมื่อถอดห่วงอนามัย/ห่วงคุมกำเนิดที่ไม่มีฮอร์โมนเคลือบออก กลไกการป้อง กันการตั้งครรภ์จะหมดไป กลไกการมีประจำเดือน การตกไข่ จะดำเนินไปตามปกติ จึงสามารถตั้งครรภ์ได้เลย เนื่องจากไม่มีอิทธิพลของฮอร์โมนไปยับยั้งการตกไข่
หากครบกำหนดถอดห่วงอนามัยควรทำอย่างไร?
ประสิทธิภาพของห่วงอนามัย/ห่วงคุมกำเนิดจะดีที่สุดตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้แล้วแต่ชนิดของห่วง 3 ปี 5 ปี หรือ 10 ปี หากเลยระยะเวลาที่กำหนด ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดจะลดลง ดังนั้นควรไปถอดห่วงอนามัยและใส่ห่วงอันใหม่แทนหากยังต้องการคุมกำเนิดต่อด้วยการใส่ห่วง
สามารถใส่ห่วงอนามัยไปได้นานเพียงใด?
สามารถใส่ห่วงอนามัย/ห่วงคุมกำเนิดไปได้เรื่อยๆ หากไม่มีภาวะแทรกซ้อน/ผลข้างเคียง ดังกล่าวแล้วในหัวข้อ ผลข้างเคียง โดยไปเปลี่ยนห่วงอนามัยตามกำหนดเวลา และหากประจำ เดือนไม่มา 1 ปี หมายถึงมีภาวะ/วัยหมดประจำเดือนแล้ว ก็ควรไปเอาห่วงอนามัยออก อย่าปล่อยทิ้งไว้นานเกินไปในโพรงมดลูก เพราะทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญไปหุ้มห่วงอนามัย ทำให้การเอาห่วงอนามัยออกทำได้ยากมากขึ้น
เมื่อใส่ห่วงอนามัย เมื่อไหร่ควรรีบพบแพทย์ก่อนนัด?
ควรต้องรีบไปพบแพทย์ก่อนนัด หากใส่ห่วงอนามัย/ห่วงคุมกำเนิดไปแล้ว มีอาการปวดท้องมาก มีไข้ มีตกขาวผิดปกติ คลำไม่พบสายห่วง หรือห่วงอนามัยหลุดออกมา โดยเฉพาะเมื่อห่วงหลุดออกมาพร้อมมีเลือดออกทางช่องคลอด
บรรณานุกรม
- http://www.rnib.org.uk/eyehealth/lookingafhttp://www.emedicinehealth.com/birth_control_intrauterine_devices_iuds/page5_em.htm [2013,Jan15].
- http://familydoctor.org/familydoctor/en/prevention-wellness/sex-birth-control/birth-control/intrauterine-device-iud.html [2013,Jan15].
- http://familydoctor.org/familydoctor/en/prevention-wellness/sex-birth-control/birth-control/intrauterine-device-iud.html [2013,Jan15].