การรักษาสุขอนามัยเสียง (Voice hygiene)
- โดย ร.ศ. ดร. เบญจมาศ พระธานี
- 3 กรกฎาคม 2556
- Tweet
การดูแลรักษาสุขอนามัยของเสียง จะช่วยป้องกัน และช่วยลดอาการเสียงแหบชนิดเกิดจากใช้เสียงผิดวิธี จากเสียงแหบด้วยสาเหตุต่างๆ และจะช่วยส่งเสริมพฤติกรรมการใช้เสียงที่ถูกต้อง ลดโอกาสเกิดโรคต่างๆของกล่องเสียงที่เกิดจากการใช้เสียงผิดวิธี ซึ่งการปฏิบัติเพื่อสุขอนามัยของเสียง มีดังนี้
- หลีกเลี่ยงการใช้เสียงมากเกินไป เช่น การตะโกน การเชียร์กีฬาดังๆ การพูดเสียงดังๆ หรือการพูดมากเกินไป ฯลฯ เพราะจะทำให้สายเสียงบวม แดง อักเสบได้
- หลีกเลี่ยงการไอ กระแอม หรือขากเสมหะบ่อยๆ แรงๆ เพราะจะทำให้สายเสียงบาดเจ็บ บวมได้ ควรจิบน้ำ กลืนน้ำลายแทน หรือไอ กระแอมเบาๆ เป็นเสียงกระซิบหากจำเป็นจริงๆ
- หลีกเลี่ยงการพูดหรือร้องเพลงในขณะเป็นหวัด
- หลีกเลี่ยงการพูดในที่มีเสียงดัง เช่น ขณะที่รถแล่น สถานบันเทิง หรือ บริเวณที่มีเสียงดังตลอดเวลา ฯลฯ เพราะจะทำให้ต้องพูดเสียงดังกว่าปกติ และทำให้สายเสียงบาดเจ็บได้
- หลีกเลี่ยงการเลียนเสียงแปลกๆ เช่น พูดเสียงเล็กแหลม หรือเสียงต่ำเกินไป
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ หรืออยู่ในที่มีควันบุหรี่ เพราะสารพิษในควันบุหรี่ ทำลายเซลล์สายเสียงโดยตรง
- หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อสายเสียง เช่น ชา กาแฟ และ แอลกอฮอล์
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในห้องปรับอากาศเป็นเวลานานๆ ในกรณีที่จำเป็นต้องอยู่ในห้องปรับอากาศเป็นเวลานานๆ ควรใช้ภาชนะปากกว้างใส่น้ำวางไว้ข้างๆเครื่องปรับอากาศเพื่อช่วยเพิ่มความชื้นในอากาศ หรือ ใช้เครื่องเพิ่มความชื้นในอากาศ และจิบน้ำบ่อยๆ
- ควรพูดด้วยระดับเสียงและความดังที่เหมาะสมกับเพศและวัย
- ควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ วันละ 6-8 ชั่วโมง
- ไม่ควรรับประทานอาหารที่มีรสจัด และควรรับประทานอาหารมื้อเย็นก่อนเข้านอน 3-4 ชั่วโมง เพื่อป้องกันโรค/ภาวะกรดไหลย้อน(ไหลกลับ) ซึ่งจะทำให้สายเสียงอักเสบได้
- รักษาความสะอาดของช่องปากและฟันโดย การแปรงฟันหลังอาหาร ก่อนนอน และเมื่อตื่นนอนเช้า
- ดื่ม หรือจิบน้ำบ่อยๆ วันละ 8-12 แก้ว (แก้วละประมาณ 250 ซีซี) เมื่อไม่มีโรคต้องจำกัดน้ำดื่ม เช่น โรคหัวใจล้มเหลว โดยเฉพาะหลังตื่นนอน และระหว่างทำกิจกรรมในแต่ละวันเพื่อให้ความชุ่มชื้นกับช่องปากและคอ
- ดื่มน้ำผลไม้ (ชนิดน้ำตาลและเกลือต่ำ เพื่อป้องกันโรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูง)
- ควรใช้เครื่องช่วยพูด เช่น ไมโครโฟน โทรโข่ง ในกรณีที่ต้องใช้เสียงพูดติดต่อกันนานๆ หรือเมื่อสอนนักเรียนในห้องเรียน
- ควรควบคุมอารมณ์และจิตใจไม่ให้เครียด และทำกิจกรรมนันทนาการที่ไม่ต้องใช้เสียง เช่น การอ่านหนังสือ การฟังเพลง ฯ ให้มากขึ้น
- ฝึกพูดให้ช้าลง และหายใจทางจมูกเพื่อให้มีลมหายใจเข้าในปริมาณมาก และเพียงพอต่อการพูด
- ควรออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30-45 นาที สัปดาห์ละ 3– 4 วัน เพื่อความแข็งแรงของสุขภาพโดยรวม ซึ่งรวมทั้งของสายเสียงด้วย