การผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ (Heart transplantation)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ: คืออะไร?

การผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ หรือการปลูกถ่ายหัวใจ (Heart transplantation) คือ การผ่าตัดเอาหัวใจเก่าออก ใส่หัวใจใหม่ หรือการใส่หัวใจใหม่เพิ่มเข้าไปอีกหนึ่งหัวใจ โดยไม่ต้องตัดหัวใจเก่าออก    

การผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจครั้งแรกในโลกทำเมื่อปี คศ. 1967 (พ.ศ.2510) โดย นายแพทย์คริสเตียน เบอร์นาด (Christiaan Barnard) ณ เมืองเคปทาวน์ ประเทศ แอฟริกาใต้ ในปี คศ.2007 (พ.ศ.2550) มีการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจในโลกทั้งหมด 3,500 ราย ในขณะที่มีหัวใจวายระ ยะสุดท้ายรอการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจจำนวน 800,000 ราย จึงมีความพยายาม พัฒนาการใช้หัว ใจเทียม หรือหัวใจจากสัตว์มาใช้แทน แต่ก็ยังช่วยชีวิตผู้ป่วยได้ในระยะสั้น

เมื่อไหร่จะผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ?

 

แพทย์จะพิจารณาการรักษาผู้ป่วยด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ: เช่น  

  • ป่วยด้วยภาวะหัวใจวาย (ภาวะหัวใจล้มเหลว) ระยะสุดท้าย กล่าวคือความ สามารถในการบีบตัวของหัวใจลดเหลือน้อยกว่า 25% ของภาวะปกติ ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้คิดเป็นประมาณ 54% ของผู้ป่วยผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจทั้งหมด
  • ผู้ป่วยโรคหัวใจ/โรคหลอดเลือดหัวใจตีบรุนแรง ซึ่งคิดเป็นประมาณ 45% ของผู้ป่วยผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจทั้งหมด
  • ผู้ป่วยหัวใจพิการแต่กำเนิดที่มีลักษณะโรคที่ยุ่งยากซับซ้อน ซึ่งคิดเป็นประมาณ 1% ของผู้ป่วยผ่าตัดหัวใจทั้งหมด

ข้อห้ามในการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจคืออะไร?

ผู้ป่วยที่มีข้อห้ามไม่สามารถให้การรักษาด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจได้: เช่น  

  • ผู้ป่วยมีปัญหา โรคไต   โรคปอด  หรือ โรคตับ ร่วมด้วย
  • เป็นโรคเบาหวานชนิดต้องรับการรักษาด้วยอินซูลิน ร่วมกับโรคของอวัยวะอื่นที่เกิดเนื่องจากโรคเบาหวาน เช่น โรคไตเรื้อรัง
  • มีโรคเจ็บป่วยอื่นๆที่รุนแรง และเป็นสาเหตุถึงตายได้ เช่น โรคมะเร็ง
  • มีโรคหลอดเลือดตีบตันของลำคอและขา
  • มีความดันสูงในหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงปอด
  • มีการติดเชื้อรุนแรงในร่างกาย เช่น ติดเชื้อเอชไอวี
  • มีก้อนเลือดอุดตันในหลอดเลือดต่างๆชนิดเฉียบพลัน
  • อายุมากกว่า 65 ปี
  • มีปัญหาทางจิตใจ ไม่สามารถปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ พยาบาล หรือติด ตามการรักษาต่อเนื่องได้

การเตรียมการก่อนผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจเป็นอย่างไร?

ผู้ป่วยที่ถูกผ่าตัดหัวใจ ส่วนใหญ่จะเหนื่อยมากแม้ขณะนอนนิ่งๆอยู่บนเตียง บางรายจึงต้องช่วยการทำงานของหัวใจด้วยเครื่องมือช่วยการทำงานหัวใจชนิดต่างๆ เช่น เครื่องคุมจังหวะการเต้นของหัวใจ (Pacemaker) หรือให้ยาช่วยการบีบตัวของหัวใจ

ทั้งนี้ ผู้ป่วยและญาติจะได้รับการชี้แจงถึงขั้นตอนการรักษาโดยละเอียด ตรวจการทำงานของอวัยวะสำคัญอื่นๆ เช่น ไต ปอด ตับ   

ทีมเจ้าหน้าที่ เช่น แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่เทคนิค และอื่นๆ จะช่วยกันเตรียมหัวใจจากผู้บริจาค ในประเทศไทยจะมีหน่วยรับบริจาคอวัยวะของสภากาชาดไทย สร้างเครือข่ายโรง พยาบาลทั่วประเทศ เพื่อจัดหาหัวใจ จากผู้ป่วยที่สมองตายและญาติยินดีบริจาคหัวใจ หากมีการขนย้ายหัวใจจากโรงพยาบาลที่บริจาคไกลๆ จำเป็นจะต้องใช้เวลาเดินทางให้สั้นที่สุด เพื่อ ให้ได้หัวใจที่ยังมีประสิทธิภาพเพื่อเพิ่มอัตรารอดของผู้ป่วยในการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ ซึ่งหัวใจที่ได้รับบริจาค ควรได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนภายในระยะเวลาไม่ควรเกิน 4 ชั่วโมงนับจากผู้บริจาคหัวใจเสียชีวิต

หัวใจบริจาคที่ดีควรเป็นอย่างไร?

หัวใจที่ดี เมื่อได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจจะส่งผลให้ผู้ป่วยมีอัตรารอดได้สูงขึ้น ซึ่งจะมีคุณสมบัติ  เช่น

  • ผู้บริจาคมีอายุน้อยกว่า 65 ปี
  • หัวใจบริจาคต้องทำงานปกติ ไม่มีการชอกช้ำ
  • ไม่มีโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
  • ผู้บริจาคมีเลือดกรุ๊ปเดียวกับผู้รับบริจาค
  • ขนาดหัวใจของผู้ให้กับผู้รับ ใกล้เคียงกัน

การผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจทำอย่างไร?

วิธีผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจที่นิยม คือ ตัดหัวใจของผู้ป่วยออกโดยเหลือเพียงบางส่วนของหัว ใจห้องบนซ้าย (หัวใจ:กายวิภาคและสรีรวิทยา) แล้วใส่หัวใจของผู้บริจาคเข้าไปแทนที่ แล้วมีการเย็บต่อห้องหัวใจและหลอดเลือดหัวใจบริจาคเข้ากับหลอดเลือดผู้ป่วย

การผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ อีกวิธี ซึ่งไม่เป็นที่นิยม คือ เพิ่มหัวใจของผู้บริจาคเข้าไปในผู้รับบริจาคอีกดวงหนึ่งโดยไม่ต้องตัดหัวใจเดิมออก

ผลสำเร็จการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจเป็นอย่างไร?

อัตรารอดชีวิตในการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจที่ 1 ปี ประมาณ 81.8% ที่ 5 ปีประมาณ 69.8%

  • หากผู้ป่วยมี โรคเบาหวาน โรคความดันเลือดสูง   โรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน  อัตราอยู่รอดก็จะต่ำลง
  • หากผู้ป่วยผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจในศูนย์การแพทย์ที่มีการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจเกินปีละ 15 รายขึ้นไป อัตรารอดจะดีกว่า

แพทย์ดูแลผู้ป่วยหลังผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจอย่างไร?

การดูแลผู้ป่วยหลังการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ เช่นเดียวกับการผ่าตัดหัวใจชนิดอื่นๆ: เช่น  

  • ผู้ป่วยได้รับการรักษาดูแลในห้องไอซียู (ICU, Intensive care unit คือ ห้องดูแลผู้ป่วยวิกฤติ) ประมาณ 1-7 วัน
  • จัดห้องพักฟื้นผู้ป่วยแยกเฉพาะในห้องปราศจากเชื้อ
  • ให้ยากดภูมิคุ้มกัน เพื่อป้องกันร่างกายผู้ป่วยปฏิเสธหัวใจใหม่ตั้งแต่หลังผ่าตัด และตลอดไป
  • เมื่อผู้ป่วยได้รับการดูแลรักษาในโรงพยาบาลจนปลอดภัยแล้ว แพทย์จะอนุญาตให้กลับบ้าน ซึ่งแพทย์จะนัดผู้ป่วย ผู้ป่วยจำเป็นต้องมาตามนัด เพื่อ ตรวจร่างกาย ตรวจปฏิกิริยาปฏิเสธหัวใจใหม่ ตรวจการติดเชื้อต่างๆ เช่น เชื้อไวรัสบางชนิด และการติดเชื้อวัณโรค ซึ่งในระยะติดตามผลการผ่าตัดนี้ บางครั้งจำเป็นต้องใส่สายสวนเข้าในหัวใจ เพื่อตัดกล้ามเนื้อหัวใจมาตรวจหาการปฏิเสธหัวใจใหม่ของร่างกายดังกล่าวแล้ว
    • โดยการนัดมาตรวจ ในระยะแรก อาจทุกสัปดาห์ จากนั้นค่อยๆห่างออกเรื่อยๆ ขึ้นกับสภาพร่างกายและจิตใจของผู้ป่วย
  • ในการตรวจติดตามผลผ่าตัดนี้ แพทย์จะนัดตรวจผู้ป่วยตลอดชีวิตของผู้ป่วย และจะมีการสวนหัวใจศึกษาหลอดเลือดหัวใจใหม่ประมาณ ปีละ1 ครั้ง

อนึ่ง: ในการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ โดยทั่วไปผู้ป่วยจะอยู่โรงพยาบาลประมาณ 2-3 สัปดาห์ขึ้นไป และจะกลับไปใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติภายในประมาณ 3-6 เดือน แต่ทั้งนี้ขึ้นกับ สุขภาพดั้งเดิมก่อนผ่าตัดของผู้ป่วย และภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากการผ่าตัด

ภาวะแทรกซ้อนจากผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจมีอะไรได้บ้าง?

ภาวะแทรกซ้อน/ผลข้างเคียงจากผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจที่อาจพบได้: เช่น  

  • ปัญหาพบบ่อย คือ เลือดออกหลังผ่าตัดตามรอยเย็บแผล
  • ปัญหารีบด่วนถัดมา คือ ร่างกายผู้ป่วยปฏิเสธการรับหัวใจใหม่/ปฏิกิริยาร่างกายต่อต้านอวัยวะใหม่ (Graft rejection)
  • การติดเชื้อรุนแรง เนื่องจากผู้ป่วยต้องได้ยากดภูมิคุ้มกันต้านทานเพื่อไม่ให้ร่าง กายปฏิเสธหัวใจใหม่
  • การเกิดหลอดเลือดหัวใจอุดตัน ปัญหานี้เมื่อเกิดขึ้นแล้ว จำเป็นต้องรักษาโดยการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจใหม่ อีกครั้ง

อาการจากร่างกายปฏิเสธหัวใจใหม่มีอะไรบ้าง? สามารถป้องกันได้หรือไม่? อย่างไร?

อาการจากร่างกายปฏิเสธหัวใจใหม่ เช่น  หายใจตื้น ถี่ มีไข้ อ่อนเพลีย น้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วโดยไม่สัมพันธ์กับอาหารที่กิน และปัสสาวะออกน้อย

 การลดโอกาสเกิดภาวะร่างกายปฏิเสธหัวใจใหม่ โดยการเลือกหัวใจที่เข้ากับผู้ป่วยได้ดี ทั้งกรุ๊ปเลือด และเนื้อเยื่อ

นอกจากนั้น คือ หลังผ่าตัดแล้ว ผู้ป่วยต้องกินยากดภูมิคุ้มกันอย่างเคร่งครัด, ห้ามลืม   กินยา, กินยาตรงเวลา, และมาพบแพทย์ตามนัดโดยเฉพาะ 6 เดือนแรกหลังผ่าตัด

ซึ่งหากแพทย์สงสัยว่า อาจมีการปฏิเสธหัวใจใหม่ จะมีการสวนหัวใจเพื่อตัดชิ้นเนื้อจากหัวใจเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา, หากพบว่าเริ่มมีปฏิกิริยาร่างกายปฏิเสธหัวใจใหม่ แพทย์สามารถปรับการให้ยากดภูมิคุ้มกันใหม่ เพื่อการรักษาอาการนี้แต่เนิ่นๆได้

ควรดูแลตัวเองอย่างไรหลังผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ?

การดูแลตนเองหลังผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ ที่สำคัญ เช่น

  • ปรับวิถีชีวิตให้เหมาะสม: เช่น
    • การรับประทานอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบถ้วนทุกวัน
    • มีการออกกำลังกายสม่ำเสมอตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
    • รู้จักบริหารความเครียด  
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์,และ/หรืออยู่สถานที่แออัด เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ
  • รับประทานยากดภูมิคุ้มกันให้ตรงเวลา สม่ำเสมอ ไม่ขาดยา มียาติดตัวตลอดเวลา
  • มีเพศสัมพันธ์ได้ แต่ในสตรีไม่ควรตั้งครรภ์
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เป็นพิเศษ เพราะจะติดเชื้อง่าย เช่น กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือบ่อยๆ  รักษาระยะห่าง และรู้จักใช้หน้ากากอนามัย
  • ควรต้องตรวจสุขภาพฟันและช่องปากกับทันตแพทย์ทุก 3 เดือน เพราะช่องปากและฟันเป็นแหล่งเชื้อโรคสำคัญ
  • หากมีอาการติดเชื้อในร่างกาย เช่น ไข้ ไอ หายใจหอบเหนื่อย/หายใจลำบาก มีแผลมีหนอง ต้องรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลโดยด่วน/ทันที/ฉุกเฉิน

มีข้อห้ามอะไรบ้างหลังผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ?

ข้อห้ามหลังการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ: เช่น

  • ห้ามลืมกินยาต่างๆที่แพทย์แนะนำ
  • ห้ามสัมผัสสัตว์เพราะมีโอกาสติดเชื้อง่าย
  • ห้ามเข้าไปในชุมชนแออัด เพราะมีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย
  • ห้ามใช้สารเสพติด

ควรกินหรือไม่ควรกินอะไรบ้างหลังผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ?

ในเรื่องเกี่ยวกับอาหาร และการบริโภค ที่สำคัญ เช่น

  • ไม่ควรกินอาหารไขมันสูง เพราะเป็นสาเหตุของโรคหัวใจ:โรคหลอดเลือดหัวใจ
  • ไม่ควรกินอาหารรสเค็ม เพราะเป็นสาเหตุของโรคความดันโลหิตสูง
  • กินอาหารบำรุงกระดูก เช่น นม ปลาตัวเล็ก
  • ไม่ควรกินอาหารหวาน เพราะเป็นสาเหตุของโรคเบาหวาน
  • เลิกสูบบุหรี่ ไม่สูบบุหรี่ เพราะเป็นสาเหตุของโรคหลอดเลือดหัวใจ
  • ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะมีผลต่อยากดภูมิคุ้มกันฯ
  • ไม่ดื่มเครื่องดื่มมีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ โคล่า เพราะคาเฟอีนมีผลต่อการเต้นของหัวใจ

หลังผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจมีเพศสัมพันธ์ได้หรือไม่?

หลังผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ แต่ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์หรือนักกายภาพบำบัดอย่างใกล้ชิด

การฟื้นตัวระยะแรก ผู้ป่วยแต่ละรายจะไม่เหมือนกัน ถ้าฟื้นตัวเร็ว หลังผ่าตัดได้ 3 เดือน ก็สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้

หลังผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจมีบุตรได้หรือไม่?

หลังผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจสำหรับผู้ชายสามารถมีบุตรได้, แต่สำหรับผู้หญิง ไม่สมควร เนื่องจากมีความเสี่ยงทั้งแม่และลูก กล่าวคือ แม่มีโอกาสหัวใจทำงานไม่ปกติ, หากคลอดบุตรแม่จะเสี่ยงต่อภาวะหัวใจล้มเหลว, และลูกมีโอกาสหัวใจพิการแต่กำเนิดกว่าประมาณ 10%

หลังผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจจะกลับมาเป็นโรคหัวใจอีกหรือไม่?

หลังผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ มีโอกาสกลับมาเป็นโรคหัวใจอีกครั้งได้ เนื่องจากหัวใจใหม่มัก จะมีโรคหัวใจ/โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตามมา, ซึ่งถ้าเป็นมาก จำเป็นต้องผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจใหม่อีกครั้ง

เมื่อไหร่ควรมาพบแพทย์ก่อนวันนัด?

ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัด หรือรีบด่วนฉุกเฉินขึ้นกับความรุนแรงของอาการ เมื่อ

  • สงสัยเกิดผลข้างเคียง/ภาวะแทรกซ้อน เช่น ร่างกายปฏิเสธหัวใจใหม่ โดยมีอาการดัง กล่าวไปแล้วใน’หัวข้อ อาการจากร่างกายปฏิเสธหัวใจใหม่’ หรือมีการติดเชื้อในร่างกาย เช่น โรคหวัด มีแผล เป็นหนอง   
  • มีก้อนผิดปกติตามผิวหนัง และ/หรือตามร่างกาย เนื่องจากยากดภูมิคุ้มกันอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคมะเร็ง เช่น มะเร็งผิวหนัง  มะเร็งช่องปาก หรือ  มะเร็งต่อมน้ำเหลืองได้
  • มีอาการผิดปกติดังต่อไปนี้ เช่น เหนื่อยง่ายมากขึ้น มีไข้ อ่อนเพลีย หายใจหอบ/หายใจลำบาก ไอมีเสมหะ

สรุป

การผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ เป็นวิธีรักษาโรคหัวใจระยะสุดท้ายวิธีหนึ่ง การผ่าตัดไม่ยุ่งยาก ปัญหาหลักคือ หาหัวใจบริจาคได้ไม่พอกับความต้องการ

หลังผ่าตัด ผู้ป่วยต้องติดตามการรักษากับแพทย์โดยใกล้ชิด เพราะต้องให้ยากดภูมิคุ้มกันตลอดชีวิต เพื่อไม่ให้ร่างกายปฏิเสธหัวใจใหม่, ซึ่งยากดภูมิคุ้มกันเป็นยาที่มีผลข้างเคียงมาก (เช่น ปัญหาต่อไต ต่อตับ และต่อความดันโลหิต) จำเป็นที่แพทย์ต้องตรวจติดตามโดยใกล้ชิดสม่ำเสมอ

การวิจัยเพื่อหาแนวทางรักษาโดยใช้ หัวใจเทียม หรือหัวใจจากสัตว์บางชนิด เป็นอนาคตที่ผู้เชี่ยวชาญกำลังดำเนินการพัฒนาอยู่

บรรณานุกรม

  1. Frank W. Sellke, Pedro J. del Nido , Scott J. Swanson. Sabiston & Spencer . Surgery of the chest. 8th edition 2010. P 1533-54
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Heart_transplantation [2022,Nov26]  
  3. https://medlineplus.gov/ency/article/003003.htm    [2022,Nov26]