การปลูกถ่ายสเต็มเซลล์จากเลือด การปลูกถ่ายไขกระดูกในโรคมะเร็ง (Peripheral blood stem cell and bone marrow transplantation in cancer)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 26 กรกฎาคม 2563
- Tweet
- บทนำ
- สเต็มเซลล์จากเลือดและจากไขกระดูกได้มาจากไหน?
- การปลูกถ่ายสเต็มเซลล์จากเลือดหรือจากไขกระดูกใช้รักษาโรคอะไรได้บ้าง?
- มีขั้นตอนอย่างไรในการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์จากเลือดหรือจากไขกระดูก?
- การปลูกถ่ายสเต็มเซลล์จากเลือดหรือจากไขกระดูกมีผลข้างเคียงอย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไรหลังปลูกถ่ายสเต็มเซลล์จากเลือดหรือจากไขกระดูก?
- บรรณานุกรม
- มะเร็งเม็ดเลือดขาวเอแอลแอล (Acute Lymphoblastic Leukemia: ALL)
- โลหิตจางจากไขกระดูกฝ่อ (Aplastic anemia)
- โรคธาลัสซีเมีย (Thalassemia)
- แอมีลอยโดสิส (Amyloidosis)
- โพรงเลือดดำตับอุดตัน (Sinusoidal Obstruction Syndrome)
- มัลติเพิลมัยอีโลมา มะเร็งเอ็มเอ็ม (MM: Multiple myeloma)
- มะเร็งต่อมน้ำเหลืองนอนฮอดจ์กิน (Non-Hodgkin’s Lymphoma, NHL )
- มะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กิน (Hodgkin’s disease หรือ Hodgkin’s lymphoma)
- ปฏิกิริยาร่างกายต่อต้านอวัยวะใหม่ (Transplant rejection)
- สเต็มเซลล์ใหม่ต่อต้านร่างกาย (Graft versus host disease)
บทนำ
การปลูกถ่ายสเต็มเซลล์จากเลือด (Peripheral blood stem cell transplantation) หรือเรียกย่อว่า พีบีเอสซีที (PBSCT) และการปลูกถ่ายไขกระดูก (Bone marrow transplantation) หรือเรียกย่อว่า บีเอ็มที (BMT) เป็นการนำสเต็มเซลล์ชนิดเป็นเซลล์ในระบบโลหิตวิทยา (ระบบโรคเลือด) มาใช้รักษาโรคซึ่งได้แก่ สเต็มเซลล์จากเม็ดเลือดในหลอดเลือดดำ (การปลูกถ่ายสเต็มเซลล์จากเลือด), และสเต็มเซลล์จากไขกระดูก (การปลูกถ่ายไขกระดูก) ทั้งนี้การปลูกถ่ายสเต็มเซลล์โดยใช้เซลล์ทางระบบโลหิตวิทยา (จากเลือดและจากไขกระดูก) รวมเรียกว่า “Hematopoietic stem cell transplantation” หรือเรียกย่อว่า เอชเอสซีที (HSCT)
ก. สเต็มเซลล์ หรือ เซลล์ต้นกำเนิด (Stem cell) คือเซลล์ตัวอ่อนที่เป็นเซลล์จุดตั้งต้นของการเจริญเติบโตไปเป็นเนื้อเยื่อและอวัยวะต่างๆ เซลล์ต้นกำเนิดเหล่านี้จะมีอยู่ในเนื้อเยื่อ/อวัยวะต่างๆ เกือบทุกชนิดในร่างกาย และเป็นเซลล์ซึ่งเมื่อเกิดการเสียหายหรือการตายของเซลล์ตัวแก่ เซลล์ตัวอ่อนเหล่านี้จะแบ่งตัวเจริญเติบโตขึ้นมาซ่อมแซมชดเชย
สเต็มเซลล์แบ่งเป็น 2 ชนิดคือ สเต็มเซลล์จากเซลล์ของตัวอ่อนเอ็มบริโอ (Embryo) เรียกว่า ‘Embryonic stem cell’, และสเต็มเซลล์จากเซลล์ร่างกายเรียกว่า ‘Adult หรือ Somatic stem cell’
- สเต็มเซลล์จากตัวอ่อนเอ็มบริโอ Embryonic stem cell (ได้จากการผสมของไข่กับอสุจิในห้องปฏิบัติการ) จะเปลี่ยนแปลงเจริญเติบโตเป็นเซลล์ได้หลากหลายชนิดขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมของเซลล์ในขณะนั้น เช่น เปลี่ยนแปลงไปเป็นเซลล์ของกล้ามเนื้อหัวใจ ปอด ผิวหนัง ไข่ หรือของอสุจิ
- ในขณะที่สเต็มเซลล์จากร่างกาย Adult หรือ Somatic stem cell จะเจริญเติบโตซ่อมแซม และชดเชยเซลล์ที่ตายแล้วตามเนื้อเยื่อ/อวัยวะที่สเต็มเซลล์ร่างกายอยู่ แต่ปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงในการศึกษาวิจัยพบว่าสามารถเปลี่ยนแปลงสเต็มเซลล์จากร่างกายให้เป็นเซลล์หลากหลายชนิดได้ซึ่งเป็นความหวังในการนำมารักษาโรคต่างๆที่รักษายาก เช่นบางโรคของ โรคสมอง และโรคกล้ามเนื้อ ทั้งนี้เพราะสเต็มเซลล์ร่างกายจะมีต้นกำเนิดที่หาได้ง่ายกว่าจากสเต็มเซลล์ตัวอ่อนเอ็มบริโอ เช่น จากไขกระดูก, เม็ดเลือด, เยื่อบุช่องปาก, หรือเนื้อเยื่อฟัน
1. สเต็มเซลล์ไขกระดูกกลุ่มสร้างเม็ดเลือด(Red marrow): ประกอบด้วย สเต็มเซลล์ซึ่งเป็นเซลล์ต้นกำเนิดของ เม็ดเลือดแดง, เม็ดเลือดขาว, และเกล็ดเลือด
- เม็ดเลือดแดง มีหน้าที่นำออกซิเจนจากปอดไปเลี้ยงเซลล์ต่างๆทั่วร่างกาย และนำคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการทำงานของเซลล์ในร่างกายกลับสู่ปอดเพื่อกำจัดออกจากร่างกาย และแลกเปลี่ยนกลับเป็นออกซิเจน หมุนเวียนเป็นวงจรปกติ ดังนั้นในภาวะขาดเม็ดเลือดแดงหรือมีเม็ดเลือดแดงต่ำ ร่างกายจะขาดออกซิเจนเกิดภาวะซีด
- เม็ดเลือดขาว มีหน้าที่ให้ภูมิคุ้มกันต้านทานโรค ป้องกันการติดเชื้อต่างๆ เมื่อขาดเม็ดเลือดขาวหรือในภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ ร่างกายจะติดเชื้อได้ง่ายและมักเป็นการติดเชื้อรุนแรง
- เกล็ดเลือด มีหน้าที่ช่วยหยุดเลือดออก ดังนั้นเมื่อขาดเกล็ดเลือดหรือภาวะเกล็ดเลือดต่ำ เลือดจะออกง่ายและเมื่อออกแล้วก็จะหยุดยาก
2. สเต็มเซลล์ไขกระดูกกลุ่มสร้างเซลล์ที่ไม่ใช่เม็ดเลือด (Yellow marrow): เช่น สเต็มเซลล์ไขมันของไขกระดูกและสเต็มเซลล์ของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันต่างๆ ซึ่งเซลล์ต้นกำเนิดเหล่านี้มีหน้าที่สร้างสารต่างๆที่สนับสนุนการสร้างเม็ดเลือด เช่น สารที่เรียกย่อว่า ซีเอสเอฟ (CSF, Colony stimulating factors)
อนึ่ง การปลูกถ่ายสเต็มเซลล์โดยใช้เซลล์ทางระบบโลหิตวิทยา/ระบบโรคเลือดนี้ได้นำมารักษาโรคทางโลหิตวิทยาหลากหลายโรค เช่น ในโรคธาลัสซีเมีย, โรคของไขกระดูกบางชนิด และโรคมะเร็งใน ระบบโลหิตวิทยาในบางระยะโรคเกือบทุกชนิด แต่ที่ให้ผลการรักษาที่ดี มีอัตรารอดที่ห้าปีประมาณ 75 - 80% และใช้เป็นการรักษาที่เป็นมาตรฐานวิธีหนึ่งคือ โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเอแอลแอล, มะเร็งต่อมน้ำเหลืองนอน-ฮอดจ์กิน, และมะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กิน
ในบทนี้จะกล่าวถึงการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ทางโลหิตวิทยาเฉพาะที่ใช้รักษาโรคมะเร็งโดยเฉพาะชนิดที่การปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ฯได้รับการยอมรับเป็นการรักษาที่เป็นมาตรฐานวิธีการหนึ่ง ซึ่งได้แก่ ในโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวบางชนิดและในโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองบางชนิด
สเต็มเซลล์จากเลือดและจากไขกระดูกได้มาจากไหน?
สเต็มเซลล์จากเลือดและจากไขกระดูกที่จะนำมาปลูกถ่ายได้ มาจากสเต็มเซลล์จากเลือดหรือจากไขกระดูกของผู้ป่วยเอง, ของผู้อื่น, หรือของฝาแฝดที่เกิดมาจากไข่ใบเดียวกัน (Monozygotic twins หรือ Identical twins) โดยทางแพทย์จะเรียกผู้ป่วย/ผู้ได้รับการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ว่า ‘โฮสต์ (Host)’ และเรียกผู้ให้หรือผู้บริจาคสเต็มเซลล์ว่า ‘โดเนอร์ (Doner)’
ก. เมื่อเป็นการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์จากเลือด, จากเลือดจากรก(Cord blood), หรือจากไขกระดูก, ที่ได้จากตนเอง (จากตัวผู้ป่วยเอง) เรียกว่า “Autologous transplantation” โดยแพทย์จะค่อยๆทยอยเจาะเลือดจากหลอดเลือดดำและกรองเอาแต่สเต็มเซลล์เก็บสะสมไว้ เม็ดเลือดตัวแก่ก็นำกลับมาให้ร่างกายใช้ใหม่ด้วยเทคนิคที่เรียกว่า ‘Leukocytopheresis’ หรือทยอยเจาะเก็บไขกระดูกผู้ป่วยโดยการเจาะดูดไขกระดูกจากบริเวณกระดูกเชิงกราน
หลังจากการได้สเต็มเซลล์ในแต่ละครั้ง แพทย์จะเก็บรักษาไว้ในตู้เก็บที่มีอุณหภูมิประมาณ -150 องศาเซลเซียส/Celsius (Cryopreservation) เพื่อรักษาเซลล์ให้อยู่ในสภาพใกล้เคียงปกติมากที่สุด และพร้อมที่จะนำมาปลูกถ่ายให้ผู้ป่วยต่อไปตามตารางการรักษาที่แพทย์ได้กำหนดไว้
ข้อดี: ข้อดีของการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์แบบนี้ คือ ลดโอกาสที่ร่างกายจะต่อต้านหรือสลัดสเต็มเซลล์ (Graft rejection) ดังนั้นการปลูกถ่ายจึงมีโอกาสได้ผลสูง, และยังลดการใช้ยากดภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายเพื่อป้องกันร่างกายสลัดสเต็มเซลล์ ดังนั้นโอกาสเกิดผลข้างเคียงจากการรักษาจึงน้อยลง, โอกาสติดเชื้อก็ลดลงด้วย,
ข้อเสีย: แต่ข้อเสียคือมีการศึกษาพบว่า วิธีการนี้อาจเพิ่มโอกาสเกิดโรคมะเร็งย้อนกลับมาได้สูงกว่าการปลูกถ่ายโดยการใช้สเต็มเซลล์ของผู้อื่น และข้อจำกัดของวิธีนี้คือ บางครั้งไม่สามารถเก็บสเต็มเซลล์ของผู้ป่วยได้เพียงพอจากการที่ไขกระดูกของผู้ป่วยฝ่อหรือถูกทำลายไปมากแล้วจากยาเคมีบำบัด (การจะปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ได้ผู้ป่วยต้องได้รับการรักษาโรคมะเร็งด้วยยาเคมีบำบัด อาจร่วมกับการฉายรังสีรักษาเฉพาะจุดจนโรคอยู่ในภาวะสงบก่อน) จึงสร้างสเต็มเซลล์ออกมาได้น้อยทั้งในไขกระดูกและในเลือด
อนึ่ง ถ้าการปลูกถ่าย ‘Autologous transplant’ ทำติดต่อกัน 2 ครั้งโดยทั่วไปมักภายใน 6 เดือนจะเรียกว่า “Tandem transplant หรือ Double autologous transplant”
ข. เมื่อเป็นการปลูกถ่ายไขกระดูกจากผู้อื่นหรือจากเลือดจากรกของผู้อื่น(Cord blood) จะเรียกว่าเป็น “Allogeneic transplantation” ทั้งนี้วิธีในการได้สเต็มเซลล์มาและการเก็บสเต็มเซลล์จะเช่นเดียวกับในการปลูกถ่ายจากสเต็มเซลล์ของตนเอง เพียงแต่แหล่งที่มาของสเต็มเซลล์เป็นเซลล์จากผู้อื่นซึ่งมีประเภทหรือชนิดเลือดเข้าได้กับเลือดของผู้ป่วย เพื่อลดโอกาสร่างกายต้านสเต็มเซลล์ใหม่ โดยผู้บริจาคสเต็มเซลล์อาจเป็นบุคคลในครอบครัว เพื่อน หรือบุคคลอื่นๆ ซึ่งได้บริจาคเลือดหรือไขกระดูกไว้กับธนาคารไขกระดูกหรือธนาคารเลือด แต่ด้วยเทคนิคการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ในปัจจุบัน การใช้สเต็มเซลล์จากผู้ที่มีเลือดเข้ากันไม่ได้กับผู้ป่วยก็สามารถนำมาปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ได้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นกว่าในอดีต
ข้อดี: ข้อดีของการใช้สเต็มเซลล์จากผู้อื่นคือ พบว่าเมื่อใช้รักษาในโรคมะเร็ง อาจช่วยลดโอกาสย้อนกลับเป็นซ้ำของโรคลงจากได้ภูมิคุ้มกันต้านทานจากสเต็มเซลล์ของผู้บริจาค
ข้อเสีย: แต่ข้อเสียคือ โอกาสเกิดการต้านสเต็มเซลล์ใหม่จากร่างกายจะสูงขึ้น ผลสำเร็จในการปลูกถ่ายฯจึงมีโอกาสลดลง และมีผลข้างเคียงจากการต้องใช้ยากดภูมิคุ้มกันของร่างกาย ซึ่งแพทย์จะเลือกวิธีการนี้กรณีไม่สามารถเก็บเซลล์ต้นกำเนิดจากผู้ป่วยได้อย่างเพียงพอ
ค. เมื่อเป็นการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ที่ได้จากฝาแฝดจากไข่ใบเดียวกันเรียกว่า “Syngeneic transplantation” ซึ่งเป็นแหล่งสเต็มเซลล์ที่มีโอกาสนำมาใช้ได้น้อยที่สุดเมื่อเทียบกับอีกทั้ง 2 วิธีที่ได้กล่าวแล้ว โดยเทคนิคในการเก็บสเต็มเซลล์จะเช่นเดียวกับในการใช้สเต็มเซลล์จากผู้อื่น
ง. สเต็มเซลล์ที่อยู่ในเลือดของสายสะดือและของรก ซึ่งปัจจุบันการปลูกถ่าย สเต็มเซลล์ทางโลหิตวิทยา นอกจากแหล่งสเต็มเซลล์จะมาจากเลือด และจากไขกระดูกแล้ว ยังสามารถใช้ได้ (Cord blood) โดยการเก็บหลังการคลอดทารกแล้วและนำเลือดนั้นมาเก็บด้วยวิธีการเดียวกับในการเก็บสเต็มเซลล์จากไขกระดูกและจากเลือด ซึ่งเลือดจากสายสะดือและจากรกจะมีปริมาณสเต็มเซลล์ที่สูงกว่าในเลือดทั่วไปรวมทั้งยังจัดเป็นสเต็มเซลล์ชนิดที่มีคุณภาพดี เพิ่มประสิทธิภาพในการปลูกถ่ายฯให้ได้รับผลดียิ่งขึ้น
ทั้งนี้ในการจะเลือกว่าผู้ป่วยคนใดควรเป็นการปลูกถ่ายจากสเต็มเซลล์ของตนเองหรือจากของผู้อื่นจะขึ้นกับชนิดของโรคมะเร็งและของเซลล์มะเร็ง, อายุและสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย, ความรุนแรงของโรค, การจะได้สเต็มเซลล์ในปริมาณที่พอเพียงต่อการปลูกถ่ายหรือไม่, และดุลพินิจของแพทย์
การปลูกถ่ายสเต็มเซลล์จากเลือดหรือจากไขกระดูกใช้รักษาโรคอะไรได้บ้าง?
โรคที่รักษาด้วยการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์จากเลือดหรือจากไขกระดูก:
ก. การปลูกถ่ายโดยใช้สเต็มเซลล์ของตนเองทางโลหิตวิทยาจะใช้รักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กิน, มะเร็งต่อมน้ำเหลืองนอน-ฮอดจ์กิน, และมะเร็งเม็ดเลือดขาวเอเอ็มแอล, ซึ่งการรักษาให้ผลดีและยอมรับเป็นการรักษาที่เป็นมาตรฐาน
ส่วนในโรคมะเร็งอื่นๆที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาคือ มะเร็งของประสาทซิมพาทีติกในเด็ก (นิวโรบลาสโตมา: Neuroblastoma), เนื้องอกสมองในเด็ก (มะเร็งสมองในเด็ก ชนิด Medulloblastoma), มะเร็งอัณฑะ, หรือ มะเร็งรังไข่ชนิด Germ cell tumor และมะเร็งโรคเลือดชนิดเกิดกับไขกระดูกที่เรียกว่า ‘มัลติเพิลมัยอีโลมา (Multiple myeloma) หรือเรียกย่อว่า เอ็มเอ็ม/MM’
ข. การปลูกถ่ายโดยใช้สเต็มเซลล์ทางโลหิตวิทยาจากผู้อื่นที่เป็นการรักษาที่เป็นมาตรฐานคือ ในโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเอแอลแอล, มะเร็งเลือดขาวเอเอ็มแอล, มะเร็งต่อมน้ำเหลืองนอน-ฮอดจ์กิน, มะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กิน, ส่วนโรคมะเร็งอื่นๆที่ยังอยู่ในการศึกษาคือ มะเร็งเม็ดเลือดขาวซีเอ็มแอล, และมะเร็งโรคเลือดชนิด มัลติเพิลมัยอีโลมา
อนึ่ง ในโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเอแอลแอล และในโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองซึ่งการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ทางโลหิตวิทยาเป็นการรักษาที่เป็นมาตรฐานวิธีการหนึ่งโดยให้อัตรารอดที่ห้าปีประมาณ 70 - 75% นั้น แพทย์จะใช้เป็นวิธีรักษาในกรณีเป็นโรคชนิดดื้อยา, เป็นโรคในกลุ่มที่มีโอกาสเกิดการย้อนกลับเป็นซ้ำสูง, และเป็นโรคในระยะที่ย้อนกลับเป็นซ้ำหลังครบการรักษาครั้งแรกไปแล้ว
ส่วนการรักษาโรคอื่นๆที่ไม่ใช่โรคมะเร็งโดยใช้สเต็มเซลล์ทางโลหิตวิทยาที่ยังอยู่ในการศึกษามีหลายโรค เช่น โรคภูมิต้านตนเอง/ โรคออโตอิมมูน บางโรค (เช่น โรคลูปัส-โรคเอสแอลอี), โรคการมีโปรตีนบางชนิดมากผิดปกติจนไปจับเกาะตามเนื้อเยื่อ/อวัยวะต่างๆ (โรคแอมีลอยโดสิส: Amyloidosis), โรคโลหิตจางจากไขกระดูกฝ่อ (Aplastic anemia), โรคธาลัสซีเมียชนิดรุนแรง
มีขั้นตอนอย่างไรในการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์จากเลือดหรือจากไขกระดูก?
แพทย์ผู้ให้การรักษาผู้ป่วยจะเป็นผู้ประเมินว่า ผู้ป่วยคนใดจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ทางโลหิตวิทยาโดยประเมินจาก ชนิดของโรค, ระยะโรค, การตอบสนองต่อการรักษา, สุขภาพและโรคร่วมต่างๆของผู้ป่วยที่รวมถึงอายุ
การรักษาด้วยการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ทางโลหิตวิทยานี้มีค่าจ่ายสูงมากเกินกว่าผู้ป่วยทุกคนจะเข้าถึงการรักษาได้ ยกเว้นในโรคที่ยอมรับแล้วว่าวิธีนี้เป็นการรักษาที่เป็นมาตรฐานซึ่งผู้ป่วยจะมีกองทุนการกุศลต่างๆร่วมกับคณะกรรมการด้านการรักษาโรคซับซ้อนของกระทรวงสาธารณสุขร่วมสนับสนุนค่าใช้จ่ายในผู้ป่วยที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ แต่ในกรณีโรคอื่นๆผู้ป่วยจะต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการรักษาเอง
ผู้ป่วยจะต้องเป็นผู้ที่มีทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่แข็งแรง เพราะในการรักษาผู้ป่วยจะต้องอยู่แยกตัวในห้องปลอดเชื้อรวมทั้งในเรื่องของอาหารและน้ำดื่มอย่างน้อยประมาณ 2 - 3 สัปดาห์จนกว่าร่างกายจะยอมรับสเต็มเซลล์ใหม่ มิฉะนั้นแล้วผู้ป่วยจะมีผลข้างเคียงจากการติดเชื้อที่สูงมากจนเกิดอันตรายต่อชีวิตเฉียบพลันได้
ครอบครัวจะต้องสนับสนุนและให้การดูแลผู้ป่วยอย่างเต็มที่ ในผู้ป่วยเด็กผู้ปกครองจำเป็นต้องอยู่กับเด็กตลอดเวลาเพราะเด็กไม่สามารถจะอยู่ลำพังคนเดียวในห้องแยกได้
เมื่อแพทย์แนะนำและผู้ป่วยและครอบครัวยอมรับการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ฯ ผู้ป่วยจะได้รับการตรวจสุขภาพ, ตรวจประสิทธิภาพการทำงานของอวัยวะทุกระบบ เช่น ไขกระดูก ปอด หัวใจ ไต ตับ ช่องปาก และฟัน, และได้รับการประเมินสุขภาพจิต, ซึ่งทุกอวัยวะต้องทำงานได้อย่างมีประ สิทธิภาพ ไม่มีโรคเรื้อรัง ถ้าเป็นโรคเฉียบพลันต้องเป็นชนิดรักษาได้หาย เช่น การติดเชื้อในปอด เป็นต้น, และเป็นผู้มีสุขภาพจิตปกติ, ผู้ป่วยจะมีตารางการปฏิบัติตนตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด และในช่วงก่อนการเก็บสเต็มเซลล์อาจจำเป็นต้องมีการฉีดยากระตุ้นการทำงานของไขกระดูก
การที่ไขกระดูกจะยอมรับเซลล์ใหม่และจะรักษาโรคมะเร็งได้หาย ต้องมีการทำลายเซลล์ไขกระดูกเดิมและเซลล์มะเร็งให้หมดไปก่อนด้วยการให้ยาเคมีบำบัดอย่างเข้มข้น อาจร่วมกับการฉายรังสีรักษาทั้งตัวหรือที่เรียกย่อว่า ‘ทีบีไอ (TBI, Total body irradiation หรือ Whole body irradiation)’ ซึ่งในสภาพที่ไม่มีไขกระดูกก่อนที่สเต็มเซลล์จะติดและเจริญเป็นไขกระดูกใหม่ (ประมาณ 2 - 3 สัปดาห์) ผู้ป่วยจะอ่อนเพลียจากภาวะซีดจากขาดเม็ดเลือดแดง, ติดเชื้อได้ง่ายและรุนแรงเพราะขาดเม็ดเลือดขาว, และเลือดออกชนิดหยุดยากจากอวัยวะต่างๆเพราะขาดเกล็ดเลือด, ซึ่งภาวะติดเชื้อและภาวะเลือดออกเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตในระยะเฉียบพลันหลังการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ฯ ซึ่งช่วงนี้เป็นช่วงที่ผู้ป่วยจำเป็นต้องอยู่ในโรงพยาบาลและในห้องแยกปลอดเชื้อ
การรักษาในช่วงนี้คือ การป้องกันการติดเชื้อและการป้องกันภาวะเลือดออกด้วยการให้เลือด, ให้เม็ดเลือดขาว, ให้เกล็ดเลือด, และการให้ยาปฏิชีวนะตามความเหมาะสม
ในผู้ป่วยบางคนหรือในบางระยะของโรค แพทย์อาจลดการให้ยาเคมีบำบัดเข้มข้นลงเพื่อลดผลข้างเคียงจากการรักษา เพื่อให้เหมาะสมกับสุขภาพผู้ป่วยแต่ละคน ซึ่งอาจเพิ่มโอกาสโรคย้อนกลับเป็นซ้ำให้สูงขึ้นได้ แต่ก็สามารถลดโอกาสเสียชีวิตจากผลข้างเคียงโดยเฉพาะการติดเชื้อลงได้เรียกว่า เป็นการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ทางระบบโลหิตวิทยาแบบ “Mini Transplant” หรือ “Non-myeloablative transplant”
ภายหลังสเต็มเซลล์/ไขกระดูกติดดีแล้ว ผู้ป่วยจะได้รับอนุญาตให้กลับบ้านได้แต่ยังต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด ยังไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติเพราะจะยังเสี่ยงต่อภาวะติดเชื้อและภาวะเลือดออก ซึ่งจนกว่าแพทย์จะอนุญาตให้ใช้ชีวิตได้ตามปกติ
โดยทั่วไป การที่ผู้ป่วยจะฟื้นตัวได้เต็มที่อาจใช้เวลาเป็นเดือนหรือหลายเดือน ขึ้นกับสุขภาพดั่งเดิมและอายุของผู้ป่วย ผู้ป่วยจะมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำจนกว่า ไขกระดูกจะกลับมาทำงานตามปกติ (ผลตรวจเลือด ซีบีซี/CBC และการตรวจไขกระดูกกลับมาปกติ) ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้เวลานานเป็นปี บางคนอาจจนตลอดชีวิตของผู้ป่วย
การปลูกถ่ายสเต็มเซลล์จากเลือดหรือจากไขกระดูกมีผลข้างเคียงอย่างไร?
ผลข้างเคียงจากการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ทางโลหิตวิทยาจะแบ่งใหญ่ๆเป็นผลข้างเคียงเฉียบพลัน (Acute complication), ผลข้างเคียงกึ่งเฉียบพลัน (Subacute complication), และผลข้างเคียงเรื้อรัง/ผลข้างเคียงระยะยาว (Chronic หรือ Delayed complication)
ก. ผลข้างเคียงเฉียบพลัน (Acute complication): คือผลข้างเคียงที่เกิดในช่วงรักษาจนถึงประมาณ 3 เดือนหลังรักษา ทั่วไปได้แก่ คลื่นไส้-อาเจียน เบื่ออาหาร ท้องเสีย อ่อนเพลีย ภาวะซีด ภาวะติดเชื้อต่างๆ เช่น ปอดบวมและภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด(ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ) ภาวะเลือดออกง่าย ผมร่วง และร่างกายปฏิเสธ สเต็มเซลล์/ ปฏิกิริยาร่างกายต่อต้านอวัยวะใหม่ (Graft rejection หรือ Transplant rejection)
ข. ผลข้างเคียงกึ่งเฉียบพลัน (Subacute complication): คือผลข้างเคียงที่เกิดในช่วง 3 เดือนถึง 6 เดือนหลังการรักษา เช่น ภาวะตับอักเสบจากหลอดเลือดดำ/ โพรงเลือดดำตับอุดตัน (Veno occlusive disease, VOD), ภาวะสเต็มเซลล์ใหม่ต้านร่างกาย (Graft versus host disease, GVHD หรือ Sinusoidal obstruction syndrome ย่อว่า SOS)
ค. ผลข้างเคียงเรื้อรัง/ผลข้างเคียงระยะยาว (Chronic หรือ Delayed complication): คือผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นนานเกินกว่า 6 เดือนขึ้นไปหลังการรักษาไปจนตลอดชีวิตของผู้ป่วย เช่น มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ (พบได้ประมาณ 50 - 100%), ต้อกระจก, เป็นหมัน, ปัสสาวะเป็นเลือดเรื้อรัง (Hemorrhagic cystitis), ภาวะสเต็มเซลล์ใหม่ต้านร่างกาย (Graft versus host disease ย่อว่า GVHD), และมีโอกาสเกิดโรคมะเร็งชนิดอื่นๆได้อีกซึ่งโอกาสจะสูงกว่าคนทั่วไปกล่าวคือประมาณ 10 - 15% ของผู้ป่วยที่อยู่ได้นานตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป, นอกจากนั้นคือ ผลข้างเคียงทางด้านจิตใจที่จะเกิดเป็นระยะๆตลอดชีวิตของผู้ป่วยคือ อาการกังวล, กลัว, และซึมเศร้า
ดูแลตนเองอย่างไรหลังปลูกถ่ายสเต็มเซลล์จากเลือดหรือจากไขกระดูก?
การดูแลตนเองภายหลังการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ฯ ที่สำคัญ คือ
- ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำอย่างถูกต้องเคร่งครัด
- รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อความแข็งแรงทั้งสุขภาพร่างกายและสุขภาพจิต เข้าใจโรคทั้งธรรมชาติของโรคมะเร็ง
- ป้องกัน ดูแลรักษา ควบคุม ผลข้างเคียงต่างๆตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ ซึ่งต้องดูแลตนเองเคร่งครัดตลอดชีวิต
- พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ
- ควรต้องรีบพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อ
- มีอาการผิดปกติไปจากเดิม เช่น มีไข้ มีปัญหาด้านอารมณ์ /จิตใจ
- มีความกังวลในอาการ
อนึ่ง: เรื่องอื่นๆ
- ในด้านสติปัญญา: จะอยู่ในเกณฑ์ปกติตามธรรมชาติของคนๆนั้น แต่จากการต้องดูแลตนเองที่แตกต่างจากผู้อื่น ในการเรียน และในการงานผู้ป่วย จึงควรเลือกการเรียน/สาขาวิชาที่เรียน การงาน ให้เหมาะสมกับวิถีชีวิตเพื่อช่วยลดความเครียดของชีวิตลง
- ในด้านเพศสัมพันธ์: ผู้ป่วยยังมีเพศสัมพันธ์ได้ตามปกติ
- การมีบุตร: ผู้ป่วยจะมีบุตรยากอาจถึงขั้นเป็นหมัน (ทั้งในผู้หญิงและในผู้ชาย) ในผู้หญิงมีโอกาสแท้งและเด็กคลอดก่อนกำหนดสูงกว่าคนทั่วไป แต่เมื่อเด็กรอดแล้วยังไม่พบว่าบุตรของผู้ป่วย (ทั้งผู้ป่วยหญิงและชาย) มีความผิดปกติทางด้านร่างกาย สติปัญญา หรือมีโอกาสเกิดโรคมะเร็ง แตกต่างจากเด็กทั่วไป
บรรณานุกรม
- DeVita, V., Hellman, S., and Rosenberg, S. (2005). Cancer: principles& practice of oncology (7th edition). New York: Lippincott Williams & Wilkins.
- https://en.wikipedia.org/wiki/Bone_marrow [2020,July25]
- https://emedicine.medscape.com/article/989518-overview#showall [2020,July25]
- https://www.cancer.gov/about-cancer/treatment/types/stem-cell-transplant/stem-cell-fact-sheet [2020,July25]
- https://www.lls.org/treatment/types-of-treatment/stem-cell-transplantation [2020,July25]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Hematopoietic_stem_cell [2020,July25]
- https://stemcells.nih.gov/info/basics/1.htm [2020,July25]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Stem_cell [2020,July25]
- https://www.cancer.org/treatment/treatments-and-side-effects/treatment-types/stem-cell-transplant/types-of-transplants.html [2020,July25]
- https://www.nhlbi.nih.gov/health-topics/blood-and-bone-marrow-transplant [2020,July25]