การปฐมพยาบาล การดูแลรักษาโรคพิษสุนัขบ้า
- โดย ศาสตราจารย์ แพทย์หญิง อรุณี เจตศรีสุภาพ
- 7 กุมภาพันธ์ 2564
- Tweet
- โรคพิษสุนัขบ้า (Rabies):พบบ่อยไหม?
- สาเหตุของโรคพิษสุนัขบ้า
- วิธีการติดต่อของโรคพิษสุนัขบ้า
- ระยะฟักตัวของโรค
- อาการของคนที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้า
- การวินิจฉัยว่าผู้ป่วยเป็นโรคพิษสุนัขบ้า
- แนวทางปฏิบัติเมื่อถูกสัตว์กัดและอาจมีโอกาสติดเชื้อพิษสุนัขบ้า
- แพทย์รักษาผู้ถูกสัตว์กัดและสงสัยอาจมีโอกาสติดเชื้อพิษสุนัขบ้า
- วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า
- ความรุนแรงของโรคพิษสุนัขบ้า
- การป้องกันสุนัขกัด
- ข้อควรรู้และควรระวังเมื่อพบสุนัข
- จะไปพบแพทย์เมื่อไร?
- ความเชื่อผิดๆเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้า
- การสังเกตว่าสัตว์อาจมีอาการโรคพิษสุนัขบ้า
- การเก็บตัวอย่างส่งตรวจโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์
- บรรณานุกรม
- โรคพิษสุนัขบ้า (Rabies)
- เชื้อไวรัส โรคติดเชื้อไวรัส (Viral infection)
- วัคซีน(Vaccine)
- โรคบาดทะยัก(Tetanus)
- แบคทีเรีย (Bacterial infection)
- ยาใส่แผล ยาทำแผล (Antiseptic)
- วัคซีนบาดทะยักท็อกซอยด์ (Tetanus Toxoid vaccine)
- วัคซีนบาดทะยักชนิดอิมมูโนโกลบูลิน (Tetanus Immune Globulin vaccine)
- วัคซีนพิษสุนัขบ้า (Rabies vaccine)
โรคพิษสุนัขบ้า (Rabies):พบบ่อยไหม?
ในประเทศไทยพบผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าหรือที่เรียกว่า หมาว้อ ลดลง โดยในปีพ.ศ. 2556 พบผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ 6 ราย แต่มีแนวโน้มสูงขึ้นในปี พ.ศ. 2557 เพราะเพียงช่วง 1 มกราคม - 27 พฤษภาคม เสียชีวิตแล้ว 3 ราย โดยปราจีนบุรีเป็นจังหวัดที่มีการรายงานอัตราป่วยด้วยโรคนี้สูงสุด คือ 0.22 รายต่อประชากร 1 แสนคน
สาเหตุของโรคพิษสุนัขบ้า
โรคพิษสุนัขบ้าเกิดจากเชื้อไวรัสที่ชื่อ เรบีส์ (Rabies virus) เชื้อนี้ถูกทำลายได้ง่ายด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อทั่วไป
วิธีการติดต่อของโรคพิษสุนัขบ้า
เชื้อไวรัสเรบีส์นี้จะอยู่ที่น้ำลายของสัตว์ที่ติดเชื้อและเข้าสู่ร่างกายของคนทางบาดแผลที่ เป็นรอยกัด ข่วน ถลอก แล้วเชื้อจะเดินทางไปตามเส้นประสาทเข้าสู่สมองทำให้มีอาการทางระบบประสาทและกล้ามเนื้อ นอกจากนี้เชื้อยังเข้าสู่คนได้ทางเยื่อเมือกต่างๆได้แก่ เยื่อเมือกบุตา เยื่อเมือกบุจมูก และเยื่อเมือกบุช่องปาก
ระยะฟักตัวของโรค
ระยะฟักตัวของโรคคือระยะที่เชื้อเข้าสู่ร่างกายจนถึงมีอาการ ใช้เวลาประมาณ 2 - 8 สัปดาห์หรืออาจสั้นเพียง 5 วันแต่อาจยาวนานกว่า 1 ปีก็ได้ ซึ่งระยะฟักตัวสั้นหรือยาวขึ้นกับปัจจัยหลายอย่างคือ
- ความรุนแรงของบาดแผล
- ปริมาณของปลายประสาทที่ตำแหน่งของแผล
- ระยะทางจากแผลไปยังสมองเช่น แผลที่ใบหน้า ศีรษะ ลำคอ และมือ จะมีระยะฟักตัวสั้น
- จำนวนและความรุนแรงของเชื้อเช่น ถูกกัดผ่านเสื้อผ้าจำนวนเชื้อจะลดลง หรือมีการล้างแผลทันทีหลังถูกกัดจะลดจำนวนเชื้อได้มาก
อาการของคนที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้า
อาการของโรคพิษสุนัขบ้าจะมีอาการนำก่อน (Prodromal symptoms) คือ อาการคัน ปวดแสบ ปวดร้อน อาการชา เย็น บริเวณที่ถูกกัด และมีอาการอื่นๆที่ไม่จำเพาะเช่น มีไข้ หนาวสั่น อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดท้อง ท้องร่วง/ท้องเสีย อาการนำจะมีอยู่ 2 - 3 วัน ต่อไปจึงมีอา การเฉพาะของโรคซึ่งแบ่งออกเป็น 2 แบบคือ
- แบบเอะอะโวยวาย (Furious rabies)
- แบบเป็นอัมพาต (Paralytic rabies)
ก. อาการแบบเอะอะโวยวาย (Furious rabies): ผู้ป่วยจะเสียชีวิตภายใน 7 วันหลังจากมีอา การกระสับกระส่าย ตื่นเต้น เอะอะโวยวาย และจะมีอาการเฉพาะคือ กลัวน้ำ (Hydrophobia) กลัวลม (Aerophobia) กลืนลำบาก สำลักน้ำ ไม่ยอมดื่มน้ำ หมดสติ เสียชีวิต
ข. อาการแบบอัมพาต (Paralytic rabies): จะมีอาการอ่อนแรงของแขนขาที่ถูกสัตว์กัด จะเสีย ชีวิตภายใน 2 - 3 สัปดาห์หลังจากมีอาการไข้ กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ มีการกระตุกของกล้ามเนื้อช่วยหายใจ มีการเปลี่ยนแปลงของหัวใจ ทำให้ระบบไหลเวียนเลือดล้มเหลว มีความผิดปกติของความสมดุลสารน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย
การวินิจฉัยว่าผู้ป่วยเป็นโรคพิษสุนัขบ้า
แพทย์วินิจฉัยโรคพิษสุนัขบ้าได้โดย
- จากการสอบถามประวัติสัตว์กัด ตรวจพบบาดแผลและอาการของโรคดังกล่าว
- แพทย์จะส่งน้ำลายหรือน้ำไขสันหลังของผู้ป่วยไปตรวจหาเชื้อไวรัสเรบีส์
แนวทางปฏิบัติเมื่อถูกสัตว์กัดและอาจมีโอกาสติดเชื้อพิษสุนัขบ้า
แนวทางปฏิบัติเมื่อถูกสัตว์กัดและอาจมีโอกาสติดเชื้อพิษสุนัขบ้าได้แก่
- ล้างและทำความสะอาดแผลด้วยน้ำเกลือและสบู่ทันที หรือล้างแผลด้วยน้ำเกลือล้างแผล Normal saline และเช็ดแผลโดยใช้ 70% แอลกอฮอล์และน้ำยาโพวิดีนร่วมด้วย
- รีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที
แพทย์รักษาผู้ถูกสัตว์กัดและสงสัยอาจมีโอกาสติดเชื้อพิษสุนัขบ้า
แพทย์รักษาผู้ถูกสัตว์กัดและสงสัยอาจมีโอกาสติดเชื้อพิษสุนัขบ้าโดย
- แพทย์จะทำแผลตามลักษณะของแผลที่ถูกสัตว์กัด หากยังไม่ได้ล้างแผลจะล้างแผลด้วย 70% แอลกอฮอล์และน้ำยาโพวิดีน โดยปกติแพทย์จะไม่เย็บแผลที่ถูกสุนัขหรือสัตว์กัด ยก เว้นบาดแผลกะรุ่งกะริ่งมากหรือเมื่อแผลใหญ่ จะเย็บไว้หลวมๆ
- ให้ยาปฏิชีวนะป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรีย
- ให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก (หากยังได้วัคซีนไม่สมบูรณ์และให้ครั้งสุดท้ายนานเกิน 10 ปีหรือ 5 ปี ดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ วัคซีน)
- พิจารณาให้วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าทั้งแบบการสร้างภูมิคุ้มกันต้านทาน
- ชนิดแอคทิพ (Active immunization) ร่างกายจะเป็นผู้สร้างภูมิคุ้มกันต้านทานโรคเอง และ
- ชนิดแพสซิฟ (Passive immunization) เป็นสารภูมิคุ้มกันต้านทานที่ผลิตขึ้นเป็นตัวยา
วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า
วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ามี 2 ชนิดคือ
ก . ที่ทำให้เกิดภูมิคุ้มกันต้านทานแบบแอคทิฟ (Active immunization) คือให้วัค ซีนไปกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต้านทานโรคพิษสุนัขบ้าเอง ในปัจจุบันฉีด 5 เข็มคือ วันแรกและวันที่ 3, 7, 14 และ 30 ของวันที่ถูกสุนัขหรือสัตว์กัด
ข. การให้ยาภูมิคุ้มกันภูมิต้านทานสำเร็จซึ่งเรียกว่า แพสซิฟ (Passive immunization) ซึ่งมีทั้งทำจากเซรุ่มคน (Human rabies immunization) หรือทำจากเซรุ่มม้า (Equine rabies immunization) ซึ่งหากใช้เซรุ่มจากม้า แพทย์จะทำการทดสอบเรื่องการแพ้เซรุ่มจากม้าก่อนให้วัคซีน เมื่อไม่แพ้จึงให้ยา โดยจะฉีดยาสารภูมิคุ้มกันต้านทานสำเร็จนี้รอบๆแผลและในแผลที่ถูกกัดให้มากที่สุด ที่เหลือฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ซึ่งแพทย์จะฉีดยาสารภูมิคุ้มกันต้านทานสำเร็จนี้ตั้งแต่วันแรกที่ฉีดวัคซีนหรือภายใน 7 วันหลังจากฉีดวัคซีน เพราะการฉีดวัคซีนเพื่อให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต้านทานโรคพิษสุนัขบ้าต้องใช้เวลา 10 - 14 วัน จึงจะมีระดับภูมิต้าน ทาน (แอนติบอดี/Antibody) ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเพียงพอ
ความรุนแรงของโรคพิษสุนัขบ้า
โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรครุนแรงสูงสุด ผู้ป่วยตาย ทุกราย
การป้องกันสุนัขกัด
การป้องกันสุนัขกัดคือ
- ให้คำแนะนำแก่ผู้ปกครอง ให้ระมัดระวังเด็กในการเล่นกับสัตว์เลี้ยงไม่ควรเล่นใกล้ชิดเกินไป
- ไม่แหย่หรือรบกวนสุนัขในขณะที่สุนัขกินอาหารหรือนอนหลับ
- ไม่เล่นแหย่หรือทำร้ายสุนัขเพื่อความสนุกสนาน
- ไม่ซื้อสุนัขให้เด็กเลี้ยงถ้าเด็กยังไม่โตพอที่จะดูแลสุนัขได้ ปกติถ้าเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปีมักยังไม่สามารถดูแลสุนัขได้อย่างปลอดภัย
- ไม่วิ่งหรือขี่จักรยานผ่านสุนัขอย่างรวดเร็วเพราะจะกระตุ้นให้สุนัขไล่กัด
- ไม่ควรกักขังสุนัขไว้โดยผูกเชือกหรือล่ามโซ่ตลอดเวลาซึ่งจะทำให้สุนัขมีนิสัยดุร้าย
- หลีกเลี่ยงที่จะเข้าใกล้สุนัขที่มีอาการของโรคพิษสุนัขบ้า
ข้อควรรู้และควรระวังเมื่อพบสุนัข
ข้อควรรู้และควรระวังเมื่อพบสุนัขคือ
- สุนัขอาจต้องการดมซึ่งเป็นวิธีสื่อสารของสุนัขเพื่อทำความรู้จักและจำกลิ่น ดังนั้นก่อนเลี้ยงสุนัขอาจต้องยอมให้สุนัขเข้ามาดม
- สุนัขชอบวิ่งตามวัตถุที่เคลื่อนที่ ดังนั้นไม่ควรวิ่งผ่านสุนัข
- สุนัขวิ่งเร็วกว่ามนุษย์ จึงไม่ควรให้สุนัขวิ่งไล่
- เมื่อพบเจอสุนัขควรอยู่นิ่งๆ อย่าร้องเสียงดัง เพราะจะยิ่งไปกระตุ้นให้สุนัขอยากไล่ล่าเพราะนึกว่าเป็นเหยื่อ
- อย่ากอดจูบสุนัข
- จากประสบการณ์ของผู้เขียน หากจำเป็นต้องเดินไปในที่ที่อาจมีสุนัขดุ จะถือไม้ยาวไว้ในมือ หากสุนัขวิ่งมาจะไม่วิ่งหนี จะทำท่ายกไม้ปรามไม่ให้สุนัขมามีอำนาจเหนือเรา มันจะวิ่งหนีไป แต่ต้องคอยมองอย่าให้มันกลับมาเล่นทีเผลอไว้ด้วย
จะไปพบแพทย์เมื่อไร?
เมื่อถูกสุนัขหรือสัตว์อื่นกัด หลังจากล้างแผลแล้ว ควรรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที ไม่ควรไปคลินิก และอย่านิ่งนอนใจ เพื่อแพทย์จะได้ประเมินและทำการรักษาอย่างเหมาะ สมทันท่วงที และหากแพทย์อนุญาตให้กลับบ้านแล้ว หลังจากนั้น ถ้ารู้สึกมีความผิดปกติเช่นปวดแผลมากขึ้น มีอาการบวมขึ้น หรือมีไข้ตัวร้อน ควรรีบกลับไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจหาภาวะแทรกซ้อน
ความเชื่อผิดๆเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้า
ความเชื่อผิดๆเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้า คือ
- เชื่อว่าโรคพิษสุนัขบ้าเป็นเฉพาะในหน้าร้อนเท่านั้น
- เชื่อว่าเมื่อถูกสุนัขกัด ต้องใช้รองเท้าตบแผลหรือใช้เกลือขี้ผึ้งบาล์มหรือใช้ยาฉุนยัดใส่แผล
- หลังถูกกัด ต้องรดน้ำมนต์จะช่วยรักษาโรคพิษสุนัขบ้าได้
- เมื่อถูกสุนัขกัด การฆ่าสุนัขให้ตายแล้วนำตับสุนัขมากิน คนจะไม่ป่วยโรคนี้
- เมื่อถูกสุนัขกัด การตัดหูตัดหางสุนัข จะช่วยให้สุนัขไม่เป็นโรคพิษสุนัขบ้า
- คนท้องไม่ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า
- โรคพิษสุนัขบ้าเป็นเฉพาะในสุนัขเท่านั้น
- วัคซีนพิษสุนัขบ้าฉีดรอบสะดือ 14 เข็มหรือ 21 เข้ม ถ้าหยุดฉีดต้องเริ่มใหม่
ความเชื่อเหล่านี้ทำให้ผู้ถูกสุนัขที่มีเชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้ากัด ไม่ไปพบแพทย์เพื่อฉีดวัค ซีนป้องกัน ทำให้มีโอกาสตายร้อยเปอร์เซ็นต์ การฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าเป็นวิธีที่ได้ผลดีที่สุด มีความปลอดภัยสูง ฉีดเพียง 5 เข็มและไม่ต้องฉีดทุกวันดังกล่าวแล้ว
การสังเกตว่าสัตว์อาจมีอาการโรคพิษสุนัขบ้า
โดยทั่วไปแล้วสัตว์/สุนัขจะแสดงอาการของโรคได้เร็วกว่าคนคือ หลังจากรับเชื้อแล้วประมาณ 1 - 3 เดือน สุนัข (หรือแมวหรือสัตว์ต่างๆ) ที่มีเชื้อนั้นจะมีอาการแสดงให้เห็นว่าเป็นโรคพิษสุนัขบ้าอยู่ 2 แบบคือ ชนิดดุร้ายและชนิดเซื่องซึม
ก. ชนิดดุร้ายโดยไม่แสดงอาการเจ็บปวด:
ในแมวจะแสดงอาการดุร้ายมากกว่าสุนัข จะมีอาการพองขน กางอุ้งเล็บออก มีลักษณะหวาดระแวง เตรียมพร้อมจะต่อสู้อยู่ตลอดเวลา ส่งเสียงดังเป็นพักๆ มีอาการราว 2 - 4 วันก็จะเริ่มเป็นอัมพาต เคลื่อนไหวได้ช้าลง หมดสติและตายในที่สุด
ในสุนัข/สัตว์จะมีอาการผิดปกติไปจากเดิม ถ้าหากล่ามโซ่หรือเลี้ยงไว้ในกรง จะเดินไปมากระวนกระวาย งุ่นง่าน พยายามหาทางออก โดยการกัดโซ่ กัดกรงขังจนเลือดออก แต่เมื่อไม่ ได้อยู่ในกรง จะวิ่งไปโดยไร้จุดหมาย กัดคน กัดสัตว์ กัดทุกชนิดที่ขวางหน้า น้ำลายฟูมปาก คางห้อย หางตก แววตาน่ากลัว หลังจากนั้นจะเริ่มมีอาการเป็นอัมพาต ขาหลังไม่มีแรง แล้วค่อยๆล้มลงหมดสติ และตายภายใน 3 - 6 วันหลังจากที่แสดงอาการ
ข. ชนิดเซื่องซึม:
จะสังเกตได้ยากเพราะแสดงอาการป่วยเหมือนสัตว์เป็นโรคอื่นๆเช่น โรคหวัด สุนัขหรือแมวจะหลบไปนอนในที่เงียบๆ ไม่แสดงอาการดุร้าย จะกัดคนหรือสัตว์อื่นเมื่อถูกรบกวน หรือเมื่อผู้เลี้ยงเอาน้ำอาหารหรือยาไปให้ เมื่ออาการกำเริบมากขึ้นจะมีอาการเป็นอัม พาตและตายในที่สุด ส่วนมากจะตายภายใน 3 -6 วันหลังจากแสดงอาการ
การเก็บตัวอย่างส่งตรวจโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์
ถ้าเป็นสุนัข แมว หรือสัตว์ที่สามารถกักขังไว้ได้ กักสัตว์นั้นอยู่ในบริเวณไม่ให้หนีไปได้ เพื่อเฝ้าดูอาการประมาณ 10 วัน ถ้าสัตว์แสดงอาการป่วย หรือไม่สามารถกักขังสัตว์นั้นได้ หรือเป็นสัตว์ชนิดอื่น ให้รีบทำลายสัตว์นั้นและรีบส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการทันที โดยเมื่อสัตว์ที่สง สัยว่าเป็นพิษสุนัขบ้าตายลง ให้ตัดหัว (เชื้อและลักษณะการเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อที่ชัดเจนช่วยวินิจฉัยโรคได้แม่นยำจะอยู่ที่สมอง) หรือถ้าสัตว์นั้นมีขนาดเล็กให้ส่งตรวจได้ทั้งตัว ตัวอย่าง ที่ส่งตรวจต้อง
- ใส่ถุงพลาสติกให้มิดชิด
- ห่อด้วยกระดาษหลายๆชั้น
- และใส่ถุงพลาสติกอีกชั้นหนึ่ง ปิดปากถุงให้สนิท เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อไวรัสแพร่กระจาย
- จากนั้นนำใส่ภาชนะเก็บความเย็นที่บรรจุน้ำแข็ง
- ปิดฉลากชื่อ นามสกุล ที่อยู่ผู้ส่งตรวจ และวันเดือนปีที่เก็บตัวอย่างส่งตรวจให้ชัดเจน
- รีบนำส่งห้องปฏิบัติการของโรงพยาบาลทันที
สิ่งที่ต้องระวังคือ ผู้ที่ตัดหัวสัตว์ต้องไม่มีแผลที่มือและต้องใส่ถุงมือยางหนา ซากสัตว์ที่เหลือให้ฝังลึกประมาณ 50 เซนติเมตร มีดที่ใช้หลังตัดหัวสัตว์และเครื่องมือที่ใช้ต้องต้มให้เดือด 30 นาทีเพื่อฆ่าเชื้อ และบริเวณที่ตัดหัวสัตว์ต้องล้างทำความสะอาดด้วยผงซักฟอกหรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรคทันที
บรรณานุกรม
- วิบูลย์ วีระอาชากุล. การได้รับภยันตรายและสารพิษในเด็ก. ใน: สุขชาติ เกิดผล, อวยพร ปะนะมณฑา, จามรี ธีรตกุลพิศาล, ชาญชัย พานทองวิริยะกุล, ณรงค์ เอื้อวิชญาแพทย์, จรรยา จิระประดิษฐา, บรรณาธิการ. วิชากุมารเวชศาสตร์. ขอนแก่น : แอนนา ออฟเซต, 2552 .หน้า 1015-62.
- Ginsburg CM. Animal bites. In: Kliegman RM, Stanton BF, St. Geme JW, Schor NF, Behrman RE,eds. Nelson Textbook of Pediatrics.19th ed. New York: Elsevier Saunders, 2011 .p.2454-7.
- https://www.uptodate.com/contents/human-bites-evaluation-and-management [2021,Feb6]
- https://www.uptodate.com/contents/animal-bites-dogs-cats-and-other-animals-evaluation-and-management [2021,Feb6]
- https://www.who.int/en/news-room/fact-sheets/detail/rabies [2021,Feb6]