การทำให้ฟันขาว (Tooth Whitening)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

การทำฟันให้ขาวคืออะไร?

การทำให้ฟันขาว (Tooth whitening) คือ วิธีการทำให้ฟันขาวขึ้นหลังการใช้ฟันมานาน  ซึ่งจะมีการติดสีที่ผิวฟัน หรือเมื่อฟันตาย (Non-vital tooth)* ทำให้ฟันมีสีคล้ำ, กรรมวิธีทำให้ฟันขาวมีตั้งแต่การขัดทำความสะอาด, การใช้สารเคมีช่วยทำให้ฟันขาวสะอาด, รวมทั้งการฟอกสีฟัน (Tooth bleaching) ซึ่งเรียกรวมว่าการทำให้ฟันขาว

สีฟันตามธรรมชาติเป็นอย่างไร?

การทำให้ฟันขาว-01

 

สีฟันตามธรรมชาติ: ฟันน้ำนมมีสีขาวกว่าฟันแท้ และคนเราแต่ละคนจะมีสีฟันแตกต่างกัน เช่นเดียวกับที่คนเรามีสีผมและสีผิวที่ต่างๆกันไป สีฟันจะเหลืองเข้มขี้นเมื่อใช้ฟันมานานๆ สีจะเข้มขึ้นไปตามอายุที่เพิ่มขึ้น, และมีคราบที่มาจากการดื่มเครื่องดื่มที่มีสีบ่อยๆ เช่น ชา กาแฟ หรือน้ำอัดลมที่มีสี โดยสีจะติดที่ผิวฟัน, ฟันในคนเดียวกันแต่ละซี่ก็มีสีต่างกัน บางซี่อาจเหลืองกว่าฟันซี่อื่น ฟันที่ขาวมากจึงดูไม่เป็นธรรมชาติ, ซึ่งแม้แต่การทำฟันเทียมของแต่ละคน ยังต้องทำให้สีเข้าได้กับสีผิว สีผม และสีลูกตา

ฟันของเรามีสีเป็นอย่างไร?

ในแวดวงทันตกรรม ยังไม่มีมาตรฐานแน่นอนในการวัดความขาวของฟัน รวมทั้งไม่มีคำตอบให้กับคำถามว่าฟันของเราควรจะขาวแค่ไหนจึงสวยที่สุด เพราะฟันของแต่ละคนมีความแตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม มีเครื่องมือที่ใช้วัดสีฟันอย่างแพร่หลายคือ คู่มือลำดับชั้นของสีฟัน แบ่งสีฟันออกเป็น 4 ลำดับชั้นของสีหลัก ได้แก่

  1. น้ำตาลอมแดง
  2. เหลืองอมแดง
  3. เทา
  4. เทาอมแดง

ในแต่ละลำดับชั้นของสี ก็ยังมีระดับความเข้มต่างๆ ซึ่งมีความละเอียดมาก ทั้งนี้ในสายตาของทันตแพทย์ สีฟันธรรมชาตินั่นแหละจะสวยที่สุด

สีคราบบนผิวฟันและการเปลี่ยนสีของเนื้อฟันเกิดจากอะไร?

กระบวนการตามธรรมชาติเมื่อคนอายุมากขึ้น สีฟันจะคล้ำขึ้น เนื่องมาจาก

  • โครงสร้างของฟันเองที่มีเนื้อเยื่อในฟันลดต่ำลง
  • ผลจากใช้ยาสูบ/สูบบุหรี่
  • การดื่มชา กาแฟ ไวน์ และเครื่องดื่มที่มีสีต่างๆ
  • การรับประทานสีจากอาหารที่ติดที่ผิวฟัน
  • การสะสมของคราบแบคทีเรียและหินปูน
  • ผลจากรับปริมาณฟลูออไรด์ในน้ำ หรือในยาสีฟันมากเกิน
  • ผลจากรับประทานยาปฏิชีวนะเตตราไซคลิน(Tetracycline) ตั้งแต่ในวัยเด็กช่วงที่ฟันกำลังเจริญเติบโต ซึ่งยาจะเข้าไปในฟันทำให้ฟันตกกระหรือฟันติดสีของยาเตเตราไซคลิน
  • จากฟันผุ
  • จากเชื้อชาติ และพันธุกรรม

ทำไมต้องทำให้ฟันขาว?

เหตุผลที่คนต้องการทำให้ฟันขาว คือเพื่อความสวยงาม มีความมั่นใจในรอยยิ้ม เพื่อกำจัดคราบฟันที่สะสมมาเป็นเวลานานเพื่อลดกลิ่นปาก

การทำให้ฟันขาว ควรรับการรักษาจากทันตแพทย์ เพื่อแนะนำวิธีการที่เหมาะสมในแต่ละบุคคล

ทุกคนที่ฟันแท้ขึ้นครบหมดแล้วสามารถรับการทำให้ฟันขาวขึ้นได้ ทันตแพทย์จะเป็นผู้ประเมินและตรวจสุขภาพฟัน พร้อมให้คำแนะนำว่า ควรทำให้ฟันขาวด้วยวิธีใดที่เหมาะสม โดยพิจารณาจาก

  • ประเภทการติดสีและการฝังลึกของคราบฟัน
  • การทำความสะอาดฟันเพื่อที่จะกำจัดคราบภายนอกที่เกิดจากอาหารและยาสูบ
  • การใช้ยาสีฟันที่ช่วยกำจัดคราบบนผิวฟัน
  • การใช้เจลทำให้ฟันขาว
  • และการฟอกสีฟันโดยทันตแพทย์สำหรับคราบที่กำจัดได้ยาก โดยหากเป็นฟันตาย*จะฟอกจากภายในเนื้อฟันออกมา

การทำให้ฟันขาวมีวิธีการอย่างไร?

มีหลายวิธีในการทำให้ฟันขาว ตั้งแต่การใช้ยาสีฟันทำให้ฟันขาว หรือการใช้ผลิตภัณฑ์อื่นๆที่ช่วยในการกำจัดคราบบนผิวฟัน ไปจนกระทั่งการทำให้ฟันขาวตามวิธีการทันตกรรม  เช่น

ก. วิธีการฟอกสีฟัน (Tooth bleaching): ซึ่งจะทำให้ฟันขาวขึ้นได้ไว โดยสารฟอกสีฟันมีสาร ประกอบหลักคือ คาร์บาไมด์เปอร์อ็อกไซด์ (Carbamide peroxide) หรือไฮโดรเจนเปอร์อ็อกไซด์ (Hydrogen peroxide) ที่มีความเข้มข้นสูงในขนาดต่างๆกัน ซึ่งจะช่วยกำจัดได้ทั้งคราบบนผิวฟันและคราบฝังลึก

คาร์บาไมด์เปอร์อ็อกไซด์ในน้ำจะให้ไฮโดรเจนเปอร์อ็อกไซด์ ส่วนไฮโดรเจนเปอร์อ็อกไซด์เมื่อถูกความร้อนจะให้ออกซิเจนเป็นอนุมูลอิสระที่มีความไวต่อปฏิกิริยาออกซิเดชัน (Oxidation, ปฏิกิริยาที่ออกซิเจนจะรวมตัวกับสารอื่นๆ) สูงจึงเข้าทำปฏิกิริยากับสารติดสีซึ่งมีโมเลกุลใหญ่ที่สะสมค้างในผิวเคลือบฟันและในเนื้อฟัน ให้เป็นโมเลกุลเล็กๆ แพร่หลุดออกจากฟัน ทำให้สีเข้มของฟันดูใสสะอาดขึ้น

ส่วนลำแสงที่ใช้ร่วมด้วยในการฟอกสีฟันในคลินิกทันตกรรม เป็นแสงเร่งฟอก จะเร่งปฏิกิริยาเคมีข้างต้น ทำให้ไม่ต้องใช้เวลานานในการทำให้ฟันขาวขึ้น บางครั้งเรียกว่าเป็นเลเซอร์ฟอกสี ใช้พลังงานแสงฮาโลเจน(Halogen) เพื่อเร่งกระบวนการฟอกสีฟัน

ข. วิธีการที่ไม่ใช้การฟอกสีฟัน โดยใช้ปฏิกิริยาเคมี หรือทางกายภาพของยาสีฟันในการกำจัดคราบที่ผิวฟัน: ยาสีฟันทำให้ฟันขาว จะมีส่วนประกอบของผงขัดฟันหยาบที่จะช่วยขัดฟัน ทำให้คราบสีที่ติดอยู่จางหายไป

ทั้งนี้ แต่ละคนมีการตอบสนองต่อวิธีการทำให้ฟันขาวต่างๆกัน บางคนอาจจะใช้ยาสีฟันทำให้ฟันขาวแล้วได้ผลดี ในขณะที่ผู้ที่มีฟันสีเทาหรือฟันเปลี่ยนสีไปมากๆ ต้องฟอกสีฟัน การทำให้ฟันขาวบางคนอาจต้องการการเปลี่ยนแปลงแบบรวดเร็ว ในขณะที่บางคนอาจต้องการเปลี่ยน แปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป (เช่น ผลลัพธ์จากการใช้ยาสีฟันหรือน้ำยาเจล/Gel ที่ทำให้ฟันขาว) แต่สุดท้าย ยังขึ้นอยู่กับสีฟันธรรมชาติของเรา และความทนทานต่อคราบสีที่ต่างกัน ตลอดจนวิธีการที่เลือกใช้ในการทำให้ฟันขาว ซึ่งการเปลี่ยนแปลงลำดับชั้นของสีฟันเพียง 2-3 ลำดับชั้น สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงว่าขาวขึ้นได้ ในขณะที่การทำให้ฟันขาว สามารถทำให้ฟันขาวขึ้นได้มากกว่านั้น

การทำให้ฟันขาวมีความปลอดภัยเพียงใด?

การฟอกสีฟันและวิธีอื่นๆในการทำให้ฟันขาวมีความปลอดภัยและได้ผลจริง ในอดีตสารฟอกสีฟัน จะโดยใช้สารเคมีที่มีความเข้มข้นสูงที่จะทำให้เกิดการเสียวฟัน แต่ปัจจุบันเจลฟอกสีฟันมีการพัฒนาและทำให้เกิดการเสียวฟันน้อยลง แต่ควรให้ทันตแพทย์ทำจะปลอดภัยกว่าการหาซื้อสารฟอกสีฟันมาทำเอง

การฟอกสีฟันที่ทำเอง จะมีผลเสียมาก คือ อาการเสียวฟัน, และอันตรายหรือการระคายต่อเนื้อเยื่อของเหงือกและของช่องปาก

ใครๆก็อยากมีฟันขาวสวยเป็นประกาย บางคนจึงไม่พอใจในสีฟันธรรมชาติที่สะอาดของตน เองทั้งๆที่มีสีฟันสวย การมีสีฟันขาวมากๆก็ใช่ว่าจะสวยจริง แต่เป็นสวยเทียมแลดูผิดธรรมชาติ การรู้จักพอจึงเป็นความสุขที่ยั่งยืน

ก่อนตัดสินใจฟอกสีฟันควรคิดให้ดี ทันตแพทย์ที่มีจริยธรรมจะไม่แนะนำว่าทุกคนควรฟอกสีฟัน การฟอกสีฟันจำเป็นสำหรับบางคนเท่านั้นเอง

มีข้อห้ามในการทำให้ฟันขาวไหม?

การฟอกสีฟันในกรณีที่ฟันมีชีวิต (Vital tooth) *ห้ามทำในเด็กอายุต่ำกว่า 16 ปี เนื่องจากโครงสร้างของฟันยังเจริญไม่เต็มที่ เนื้อเยื่อในฟันจะใหญ่และกว้าง, ดังนั้นสารเคมีที่ใช้ฟอกสีฟัน จะทำอันตรายต่อเนื้อเยื่อในฟันได้

ส่วนการฟอกสีฟันในกรณีที่ฟันตาย (Non-vital tooth) *หรือฟันที่รักษาครองรากฟันแล้ว ไม่มีข้อห้ามการฟอกสีฟัน

แต่ทั้งสองกรณี จะไม่แนะนำทำการฟอกสีฟัน ในคนที่แพ้สารเคมีที่ใช้ฟอกสีฟัน, ในหญิงมีครรภ์และในมารดาที่อยู่ระหว่างให้นมบุตร, เพราะสารต่างๆที่ใช้ในการทำฟันให้ขาวจะเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ และอาจปนเปื้อนออกมาในน้ำนม ก่ออันตรายต่อทารกที่กินนมมารดาได้ เช่น ผลต่อหัวใจ ปอด สมอง และเยื่อบุกระเพาะอาหาร

การทำให้ฟันขาวต้องทำกี่ครั้งฟันถึงจะขาว?

ไม่มีคำตอบที่แน่นอนว่าต้องทำกี่ครั้ง แต่ฟันจะขาวขึ้นทุกครั้งที่ฟอก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะการเปลี่ยนสีของฟันว่ามาจากภายนอกหรือจากโครงสร้างเนื้อในฟัน, ความรุนแรงของการติดสีมากหรือน้อย, และการเว้นช่วงในแต่ละครั้งเพื่อป้องกันมิให้เสียวฟัน

ซึ่งถ้าทำการฟอกเองที่บ้านจะใช้เวลานานกว่า แต่การทำในคลินิกโดยทันตแพทย์อาจทำครั้งเดียวหรือ 2-3 ครั้ง

ถ้าเป็นคราบบุหรี่อาจใช้เวลาเป็นเดือน, หรือฟันที่เปลี่ยนสีจากยาเตตราไซคลิน (Tetracycline) ต้องใช้เวลาหลายเดือน

การทำให้ฟันขาวต้องทำบ่อยไหม?

การทำฟันให้ขาวไม่ได้เป็นการรักษาที่ถาวร เพียงช่วยให้ฟันหลังทำแลดูดี และขาวขึ้น แต่คราบสีจะกลับมาใหม่ได้อีก ถ้าสูบบุหรี่ หรือกินอาหารย้อมสี หรือเครื่องดื่มมีสี เช่น ชา กาแฟ ถ้าหลีกเลี่ยงแหล่งที่มาของสีเหล่านี้ได้ อาจไม่จำเป็นต้องฟอกสีซ้ำอีก โดยทั่วไปการฟอกสีฟันจะอยู่ได้ 6 เดือน ถึง 2 ปี

หลังทำให้ฟันขาวแล้วควรดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบทันตแพทย์อีกเมื่อไร?

หลังทำให้ฟันขาว การดูแลตนเอง คือ ปฏิบัติตามทันตแพทย์แนะนำทั่วไป เช่น

  • ควรระวังการรับประทานอาหารที่อาจติดสีที่ฟัน
  • งด อาหารรสเปรี้ยว อาหารร้อน หรือเย็น เพราะจะทำให้เสียวฟัน
  • *อาการเสียวฟันถ้าไม่หายใน 2 สัปดาห์หลังทำให้ฟันขาว ควรรีบกลับไปพบทันตแพทย์

ส่วนการจะทำให้ฟันขาวครั้งใหม่เมื่อไร: ไม่มีคำตอบเฉพาะในเรื่องนี้ ทั้งนี้แล้วแต่ความพอ ใจของแต่ละคน แต่ควรเว้นระยะพอสมควร อย่างน้อย 6 เดือน - 2 ปี

ป้องกันไม่ให้ฟันสีคล้ำได้อย่างไร?

ดังได้กล่าวแล้วถึงสาเหตุของการที่ฟันเปลี่ยนสี ในหัวข้อการเปลี่ยนสีของฟันเกิดจากอะไร? ดังนั้นการป้องกันการเปลี่ยนสีของฟัน 100% จึงเป็นไปไม่ได้ ด้วยสาเหตุจาก อายุ เชื้อชาติ และพันธุกรรม, แต่อาจช่วยไม่ให้สีของฟันเปลี่ยนไปมากโดยการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อนั้น เช่น อาหารและเครื่องดื่มที่มีสีที่ก่อให้เกิดการติดสีเข้าไปในเนื้อฟัน ทั้งนี้รวมไปถึงการสูบบุหรี่

นอกจากนั้น การรักษาความสะอาดของช่องปากและฟัน,  การกินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบในแต่ละวัน, ก็จะช่วยลดโอกาสติดเชื้อของช่องปากและฟันผุ, รวมถึงการหลีกเลี่ยงการใช้ยาปฏิชีวนะในกลุ่มเตตราไซคลินในช่วงยังเป็นเด็ก, ก็จะช่วยลดโอกาสฟันเปลี่ยนสี ไม่ให้เปลี่ยนสีคล้ำมากเกินไปได้

*หมายเหตุ:

  • Vital tooth: หมายถึง ฟันที่มีชีวิต คือมีระบบไหลเวียนเลือด ระบบเส้นประสาท และ ระบบสร้างเนื้อฟันของเนื้อเยื่อในฟันสมบูรณ์ ดังนั้นฟันจึงสามารถรับรู้ต่อสิ่งกระตุ้นภายนอก เช่น ความรู้สึกเสียวฟัน ปวดฟัน มีการอักเสบ อีกทั้งมีระบบการซ่อมแซมเนื้อฟันจากภายในฟันได้
  • Non vital tooth: หมายถึง ฟันที่ไม่มีชีวิต หรือ ฟันตาย จะมีความหมายตรงกันข้ามกับข้างต้น เช่น ฟันที่รักษาคลองรากฟัน ทันตแพทย์จะเอาเนื้อเยื่อในโพรงฟันออก ฟันที่ถูกกระแทกอย่างรุน แรง ระบบไหลเวียนเลือดและระบบเส้นประสาทภายในเนื้อเยื่อในฟันจะถูกทำลาย ฟันเหล่านี้จึงไม่มีการรับรู้ต่อความรู้สึก หรือไม่ตอบสนองต่อการอักเสบ ฟันจะเปลี่ยนสีเป็นสีคล้ำและความแข็ง แกร่งของเนื้อฟันจะลดลง 

บรรณานุกรม

  1. Kwon SR. Whitening the single discolored tooth. Dent Clin N Am 2011;55:229-239.
  2. Patel A, Louca C, Millar BJ. An in vitro comparison of tooth whitening techniques on natural tooth color. British Dental Journal. 2008:204(9): 516-7.
  3. https://www.mouthhealthy.org/en/az-topics/w/whitening [2022,Sept17]
  4. https://www.verywellhealth.com/how-is-professional-in-office-teeth-whitening-done-1059032 [2022,Sept17]
  5. https://www.ada.org/resources/research/science-and-research-institute/oral-health-topics/whitening [2022,Sept17]