การตัดปากมดลูกด้วยห่วงไฟฟ้า (Loop electrosurgical excision procedure –LEEP)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

การตัดปากมดลูกด้วยห่วงไฟฟ้าคืออะไร?

การตัดปากมดลูกด้วยห่วงไฟฟ้า (Loop electrosurgical excision procedure ย่อว่า LEEP; ลีพ) หรือในบางประเทศเรียกว่า Large loop excision of the transformation zone ย่อว่า LLETZ(ออกเสียงว่า เล็ทซ์) เป็นหัตถการทางนรีเวชชนิดหนึ่ง เพื่อใช้ในการตรวจวินิจฉัยและ/ หรือรักษาความผิดปกติของเซลล์ปากมดลูกในระยะเริ่มแรก เครื่องมือจะเป็นเส้นลวดขนาดเล็กที่ทำเป็นวงโค้ง จากนั้น แพทย์จะปล่อยกระแสไฟฟ้าเข้าไปจนเกิดความร้อนที่สามารถตัดเนื้อเยื่อหรือฝานปากมดลูกได้ออกมาเป็นชิ้นๆบางๆได้ ขนาดขดลวดมีหลายขนาดขึ้นอยู่กับลักษณะปากมดลูก หัตถการนี้เป็นการทำร่วมกับการส่องขยายปากมดลูกด้วยกล้องที่เรียกว่า Colposcopy

ใครที่ต้องตัดปากมดลูกด้วยห่วงไฟฟ้า?

การตัดปากมดลูกด้วยห่วงไฟฟ้า

ผู้ที่ต้องตัดปากมดลูกด้วยห่วงไฟฟ้า หรือ ข้อบ่งชี้ในการตัดปากมดลูกด้วยห่วงไฟฟ้า ได้แก่

1. ผลการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก (Pap smear ) ผิดปกติชนิดที่ไม่ใช่การอักเสบติดเชื้อ/ปากมดลูกอักเสบ ที่เรียกว่า “Dysplasia” โดยที่ปากมดลูกไม่สามารถเห็นพยาธิสภาพผิดปกติ ชัดเจน

2. ตรวจพบการติดเชื้อชนิด Human papilloma virus – HPV ที่ปากมดลูก (HPV testing)/การติดเชื้อเอชพีวีอวัยวะเพศหญิง โดยที่ปากมดลูกไม่สามารถเห็นพยาธิสภาพผิดปกติชัดเจน

3. มีเลือดออกผิดปกติระหว่างประจำเดือน/ ประจำเดือนผิดปกติ ที่อธิบายหรือหาสาเหตุไม่ได้

4. มีเลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์ที่ผลการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกไม่พบสิ่งผิดปกติ

5. มีตกขาวผิดปกติและเนิ่นนาน ที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษา

เตรียมตัวอย่างไรเพื่อตัดปากมดลูกด้วยห่วงไฟฟ้า?

ส่วนมากแพทย์นัดทำหัตถการตัดปากมดลูกด้วยห่วงไฟฟ้า แบบผู้ป่วยนอก แพทย์ใช้กล้องส่องขยายที่ปากมดลูก(Colposcopy)เพื่อดูรอยโรค จากนั้นจึงจะทำการตัดชิ้นเนื้อบริเวณที่ผิดปกติด้วยขดลวดไฟฟ้า เวลาทำหัตถการนี้มักประมาณ 30 นาที ผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้อง/ปวดท้องน้อยเล็กน้อย และหลังทำหัตถการแล้วผู้ป่วยสามารถกลับไปพักผ่อนที่บ้านได้ ไม่ต้องนอนพักในโรงพยาบาล โดยการเตรียมตัวสำหรับหัตถการนี้ มีดังนี้

1. งดการมีเพศสัมพันธ์และงดสวนล้างช่องคลอดก่อนมาทำหัตถการ อย่างน้อย 1 วัน

2. หากมีโรคประจำตัว ต้องแจ้ง แพทย์ พยาบาล ก่อนหน้านี้

3. หากกำลังรับประทาน ยาต้านการแข็งตัวของเลือด หรือยาต้านเกล็ดเลือด ต้องมีการงดยาล่วงหน้า 3- 5 วันก่อนมาทำหัตถการ ซึ่งต้องทำตามคำแนะนำของแพทย์

4. แพทย์นัดตรวจและจะทำหัตถการในช่วงที่ไม่มีประจำเดือน โดยเฉพาะมักเป็นช่วงหมดประจำเดือนใหม่ๆ

มีขั้นตอนการตัดปากมดลูกด้วยห่วงไฟฟ้าอย่างไร?

ขั้นตอนในการตัดปากมดลูกด้วยห่วงไฟฟ้ามีดังนี้ คือ

1. ก่อนทำหัตถการ แพทย์จะมีการอธิบายขั้นตอนต่างๆของการทำ จากนั้น เปิดโอกาสให้ผู้ป่วยสอบถาม และเซ็นชื่อในใบยินยอมเพื่อรับการตรวจรักษา

2. เตรียมตัวตรวจเหมือนการไปตรวจภายใน ปัสสาวะให้เรียบร้อย แล้วขึ้นนอนบนเตียงขาหยั่ง

3. แพทย์ทำการตรวจภายในเพื่อ ประเมินพยาธิสภาพในอุ้งเชิงกราน

4. แพทย์ใส่อุปกรณ์ถ่างช่องคลอด/Speculumเข้าไปในช่องคลอด เช็ดทำความสะอาดบริเวณปากมดลูก จากนั้นชโลมปากมดลูกด้วย กรดอะซิติก(Acetic acid)หรือด้วยสารละลายไอโอดีน(Povidone iodine) เพื่อให้เห็นปากมดลูกชัดเจนขึ้นมากกว่าการมองด้วยตาเปล่า จากนั้นใช้กล้อง Colposcope ขยายปากมดลูกเพื่อดูบริเวณที่สงสัยว่ามีพยาธิสภาพ

5. ใช้เครื่องมือที่เป็นลวดไฟฟ้าตัดบริเวณที่สงสัยว่ามีพยาธิสภาพ แล้วส่งชิ้นเนื้อเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดจุกๆ/ปวดแน่นๆหรือปวดบีบๆที่ท้องน้อยบ้าง

6. หลังจากนั้น บางครั้งแพทย์จะทำการขูดบริเวณคอมดลูก(Endocervical curettage ย่อว่า ECC)ร่วมด้วยเพื่อส่งตรวจทางพยาธิวิทยาเช่นกัน เพื่อช่วยการวินิจฉัยมะเร็งปากมดลูก

ดูแลตนเองอย่างไรหลังตัดปากมดลูกด้วยห่วงไฟฟ้า?

หลังจากตัดปากมดลูกด้วยไฟฟ้า จะมีเลือดออกเล็กน้อย แพทย์จะให้นอนพักในห้องพักผู้ป่วยที่แผนกตรวจผู้ป่วยนอกสักครู่ หากไม่มีอาการผิดปกติ สามารถกลับไปพักผ่อนต่อที่บ้านได้ โดยผู้ป่วยจะมีอาการปวดหน่วงในช่องคลอดบ้าง อาจมีเลือดออกกะปริบกะปรอยทางช่องคลอดบ้างประมาณ 1 สัปดาห์ และมีตกขาว

ทั้งนี้ การปฏิบัติตัวช่วง 4 สัปดาห์แรกหลังการทำการตัดปากมดลูก แนะนำดังนี้

1. ห้ามสวนล้างช่องคลอด

2. หลีกเลี่ยงการยกของหนัก

3. หลีกเลี่ยงการใช้ผ้าอนามัยแบบสอด

4. ควรงดมีเพศสัมพันธ์ และจะกลับมามีเพศสัมพันธ์ได้เมื่อไหร่ ควรปรึกษาแพทย์ก่อน เพื่อป้องกันภาวะติดเชื้อที่ปากมดลูก(ปากมดลูกอักเสบ) หรือที่เยื่อบุโพรง(เยื่อบุโพรงมดลูกอักเสบ)

5. ต้องกลับไปพบแพทย์เพื่อ ฟังผลชิ้นเนื้อที่ตัดออกไปตามกำหนดที่แพทย์นัด เพื่อดูว่าต้องรักษาอย่างอื่นเพิ่มเติมหรือไม่ หรือการตัดปากมดลูกด้วยห่วงไฟฟ้าเพียงพอแล้วหรือยัง

6. มีความจำเป็นต้องมาตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกบ่อยครั้งขึ้นตามคำแนะนำของแพทย์ หากไม่มีหัตถการอื่นเพิ่มเติม

อาการผิดปกติอะไรที่ต้องพบแพทย์ก่อนนัด?

หลังตัดปากมดลูกด้วยห่วงไฟฟ้าควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ

1. เลือดออกทางช่องคลอดมากผิดปกติ

2. ตกขาวเป็นหนอง หรือมีกลิ่นเหม็น

3. มีไข้

4. ปวดท้องน้อยมาก

5. กังวลในอาการ

ภาวะแทรกซ้อนจากการตัดปากมดลูกด้วยห่วงไฟฟ้ามีอะไรบ้าง?

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจพบได้จากการตัดปากมดลูกด้วยห่วงไฟฟ้า ได้แก่

1. เลือดออกมากทางช่องคลอด

2. ติดเชื้อบริเวณแผลผ่าตัด/ปากมดลูก

3. ติดเชื้อลึกลามเข้าไปในอุ้งเชิงกราน(การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน)

4. ในระยะยาว อาจเกิดรูปากมดลูกตีบ/ปากมดลูกตีบ(Cervical stenosis) ทำให้ประจำเดือนไหลไม่สะดวก ทำให้ปวดประจำเดือน หรือ มีภาวะมีบุตรยาก

5. ในบางครั้ง รูปากมดลูกอาจหลวมเกินไป/ปากมดลูกปิดไม่สนิท(Cervical insufficiency)รูปากมดลูกจึงปิดไม่สนิท มีผลทำให้ปากมดลูกขยายง่ายที่ส่งผลทำเกิดแท้งบุตรง่ายหรือคลอดก่อนกำหนดได้

การคุมกำเนิดหลังการตัดปากมดลูกด้วยห่วงไฟฟ้าสามารถใช้วิธีใดได้บ้าง?

การคุมกำเนิดหลังการตัดปากมดลูกด้วยห่วงไฟฟ้า สามารถใช้ได้ทุกวิธีเหมือนสตรีทั่วไป อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง การคุมกำเนิด และเรื่อง การวางแผนครอบครัว

สามารถตั้งครรภ์ได้เมื่อไหร่หลังการตัดปากมดลูกด้วยห่วงไฟฟ้า?

การตั้งครรภ์หลังตัดปากมดลูกด้วยห่วงไฟฟ้า ควรเป็นหลังช่วงที่แพทย์นัดมาฟังผลชิ้นเนื้อจาการตัดด้วยห่วงไฟฟ้าแล้วว่า ไม่มีความผิดปกติที่จำเป็นต้องรักษาต่อ หากมีความจำเป็นต้องทำการตัดปากมดลูกเพิ่มเติม ควรงดการวางแผนการตั้งครรภ์ไปก่อน

ส่วนในกรณีแพทย์ผู้ดูแลสามารถให้ตั้งครรภ์ได้/มีเพศสัมพันธ์ได้ สามารถวางแผนการตั้งครรภ์ได้ และในการฝากครรภ์ ต้องบอกแพทย์ที่ไปฝากครรภ์ไว้ด้วยว่าเคยผ่าตัดปากมดลูกด้วยห่วงไฟฟ้า เพราะอาจมีปัญหาปากมดลูกหลวมเกินไป หรือปากมดลูกตีบเกินไป

ทารกที่เกิดจากมารดาที่ตัดปากมดลูกด้วยห่วงไฟฟ้ามีปัญหาหรือไม่?

ทารกที่เกิดจากมารดาที่ตัดปากมดลูกด้วยห่วงไฟฟ้า ไม่มีปัญหาเฉพาะที่เกิดจากการผ่าตัดด้วยหัตถการนี้ คลอดได้และเจริญเติบโตได้เหมือนทารกปกติทั่วไป

บรรณานุกรม

  1. https://www.hopkinsmedicine.org/healthlibrary/test_procedures/gynecology/loop_electrosurgical_excision_procedure_leep_92,P07780 [2018, Jan20]
  2. http://www.med.cmu.ac.th/dept/obgyn/2011/index.php?option=com_content&view=article&id=1178:colposcopy&catid=45&Itemid=561 [2018, Jan20]
  3. https://www.uptodate.com/contents/colposcopy-beyond-the-basics?source=see_link [2018, Jan20]