การตรวจภาพรังสีเต้านม (แมมโมแกรม/Mammogram)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 14 กรกฎาคม 2562
- Tweet
- บทนำ
- เมื่อไรจึงจะตรวจภาพรังสีเต้านม (ข้อบ่งชี้)?
- การตรวจภาพรังสีเต้านมมีข้อห้ามอะไรบ้าง?
- ภาพรังสีเต้านมมีวิธีตรวจอย่างไร?
- แพทย์แปลผลภาพรังสีเต้านมอย่างไร?BIRADSหมายความอย่างไร?
- มีผลข้างเคียงจากการตรวจภาพรังสีเต้านมไหม?
- การตรวจภาพรังสีเต้านมต้องเตรียมตัวอย่างไร?
- การตรวจภาพรังสีเต้านมแพง (ค่าใช้จ่าย) ไหม?
- บรรณานุกรม
- มะเร็ง (Cancer)
- มะเร็งเต้านม (Breast cancer)
- เอกซเรย์: การถ่ายภาพเอกซเรย์ (X-ray imaging)
- รังสีที่ใช้ตรวจและรักษาโรค
- วิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูก (Cervical cancer screening) โรคมะเร็งเต้านม(Breast cancer screening) และโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ (Colorectal cancer screening)
- อัลตราซาวด์ (Ultrasonogram)
- ก้อนในเต้านม (Breast mass)
- เจ็บเต้านม (Breast pain)
บทนำ
การตรวจภาพรังสีเต้านม (Mammogram/แมมโมแกรม หรือ Mammography หรือ Mastography) ได้แก่ การตรวจภาพเนื้อเยื่อภายในเต้านมด้วยรังสีเอกซ์ (เอกซเรย์) ด้วยเครื่องเอกซเรย์พิเศษเฉพาะการตรวจเต้านม
เมื่อไรจึงจะตรวจภาพรังสีเต้านม (ข้อบ่งชี้)?
ข้อบ่งชี้การตรวจภาพเต้านมด้วยรังสี ได้แก่
- เพื่อติดตามผลรักษาในโรคมะเร็งเต้านม
- เพื่อตรวจว่าเต้านมอีกข้างมีก้อนเนื้อหรือไม่ (โรคมะเร็งเต้านมมีโอกาสเกิดได้ 2 ข้างประมาณ 5%)
- ตรวจเพื่อช่วยการวินิจฉัยว่า ก้อนเนื้อน่าใช่มะเร็งหรือไม่ และมีก้อนเนื้อทั้งหมดกี่ก้อน เพื่อการวางแผนการตรวจและการรักษา
- ผู้ป่วยมีอาการเจ็บเต้านมมาก แต่คลำไม่พบก้อนเนื้อ หรือตรวจเต้านมโดยแพทย์แล้วไม่พบความผิดปกติ
- เพื่อตรวจคัดกรองโรคมะเร็งเต้านม (อ่านเพิ่มเติมในบทความเรื่อง วิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูก โรคมะเร็งเต้านม และโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่) ในคนปกติ โดยมักเริ่มเมื่ออายุ 40 หรือ 50 ปี (ส่วนใหญ่แนะนำเริ่มตรวจคัดกรองที่อายุ 40 ปี) ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับมีปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งเต้านมหรือไม่ ต่อจากนั้นควรตรวจซ้ำ อาจทุก 1 - 2 ปีต่อเนื่องไปโดยไม่จำกัดอายุที่สิ้นสุดการตรวจฯ ตราบเท่าที่ผู้ป่วยยังแข็งแรง สามารถรับการรักษามะเร็งแบบหายขาดได้ครบถ้วนตามตารางการรักษาของแพทย์โรคมะเร็ง และได้รับประโยชน์จากการรักษาเพื่อหายขาดนั้น กล่าวคือสามารถมีอายุที่ยืนยาวได้อย่างน้อย 5 ปีหลังการรักษาครบถ้วนแล้ว
การตรวจภาพรังสีเต้านมมีข้อห้ามอะไรบ้าง?
เนื่องจากการตรวจภาพรังสีเต้านมใช้ตรวจด้วยรังสีเอกซ์ (เอกซเรย์) ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์คือ อาจก่อความพิการ หรืออาจเป็นเหตุให้เสียชีวิตได้ โดยเฉพาะอายุครรภ์น้อยกว่า 3 เดือน ดังนั้น
- จึงเป็นข้อห้ามไม่ตรวจในหญิงตั้งครรภ์ และ
- *หญิงวัยเจริญพันธุ์ทุกรายเมื่อมีประจำเดือนคลาดเคลื่อน หรือ สงสัยตั้งครรภ์ ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่รังสี และแพทย์เสมอ เพื่อป้องกันผลต่อทารกในครรภ์ดังกล่าวแล้ว (อ่านเพิ่มเติมในบทความเรื่อง รังสีจากการตรวจโรค รังสีเอกซ์ รังสีแกมมา)
ภาพรังสีเต้านมมีวิธีตรวจอย่างไร?
การตรวจภาพรังสีเต้านมไม่จำเป็นต้องงดอาหารและน้ำดื่ม ไม่มีการฉีดยา (ฉีดสีเหมือนการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์) ขณะตรวจหายใจได้ตามปกติ เพียงแต่ผู้ป่วยควรต้องยืนเฉยๆ ไม่ขยับ เพราะภาพตรวจจะไหวแปลผลผิดพลาดได้
การตรวจโดยผู้ป่วยต้องเปลี่ยนเสื้อผ้าใช้เสื้อผ้าของโรงพยาบาล และถอดเครื่องประดับโลหะออกให้หมด เนื่องจากจะส่งผลให้การแปลผลภาพผิดพลาดได้ เพราะโลหะสามารถบังรังสีเอกซ์ได้
ขณะตรวจผู้ป่วยอยู่ในท่ายืน หันหน้าเข้าหาเครื่อง เจ้าหน้าที่จะช่วยจัดท่า เพื่อวางเต้านมลงบนเครื่องตรวจ (ตรวจทีละเต้านม) ต่อจากนั้นเครื่องจะค่อยๆกดบีบเพื่อกดเต้านมให้แบนราบเท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะยิ่งเนื้อเยื่อบาง โอกาสตรวจพบสิ่งผิดปกติจะสูงขึ้น เต้านมแต่ละข้างจะได้รับการตรวจในสองท่าคือ จากบน - ล่าง และจากด้านข้างซ้าย - ขวา ซึ่งเมื่อตรวจเต้านมด้านใดด้านหนึ่งเรียบร้อยแล้ว เจ้าหน้าที่รังสีจึงเริ่มตรวจอีกข้าง
การตรวจภาพรังสีเต้านมใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 30 - 60 นาทีขึ้นกับความยากง่ายในการจัดท่าตรวจ
เมื่อตรวจครบทั้งสองเต้านมแล้ว รังสีแพทย์อาจแจ้งผลเบื้องต้นให้ผู้ป่วยทราบ หรือให้รอรับผลในอีก 2 - 7 วัน หรือให้แพทย์ผู้ส่งตรวจเป็นผู้แจ้งผล ทั้งนี้ขึ้นกับจำนวนผู้ป่วย จำนวนรังสีแพทย์ของโรงพยาบาลนั้น และระเบียบวิธีปฏิบัติของแต่ละโรงพยาบาล
อนึ่ง เพื่อเพิ่มความแม่นยำในการแปลผล แพทย์ไทยมักตรวจอัลตราซาวด์เต้านมร่วมไปด้วยกับการตรวจรังสีภาพเต้านมเสมอ
แพทย์แปลผลภาพรังสีเต้านมอย่างไร? BIRADS หมายความว่าอย่างไร?
การแปลผลการตรวจภาพรังสีเต้านม ทำโดยรังสีแพทย์ที่ทำงานด้านรังสีวินิจฉัย ซึ่งแพทย์จะแปลผลได้เป็น
- ภาพเต้านมปกติ
- ภาพเต้านมพบมีหินปูน และ/หรือก้อนเนื้อ และ/หรือ เป็นถุงน้ำ แต่เป็นชนิดไม่ใช่มะเร็ง
- ภาพเต้านมมีหินปูนสงสัยเกิดจากโรคมะเร็ง และ
- พบก้อนเนื้อที่สงสัยและ/หรือน่าเกิดจากโรคมะเร็ง
ซึ่งเมื่อผลตรวจพบก้อนเนื้อหรือสงสัยการเป็นมะเร็ง แพทย์จะตรวจต่อเนื่องด้วยการเจาะ/ดูดเซลล์จากก้อนเนื้อตรวจทางเซลล์วิทยา และ/หรือตัดชิ้นเนื้อตรวจทางพยาธิวิทยา ทั้งนี้ขึ้น กับดุลพินิจของแพทย์ โดยแพทย์ผู้ตรวจอาจเป็นรังสีแพทย์และ/หรือศัลยแพทย์ ทั้งนี้ขึ้นกับระบบการทำงานของแพทย์ในแต่ละโรงพยาบาล
การตรวจภาพรังสีเต้านมให้ผลตรวจผิดพลาดได้ประมาณ 20% กล่าวคือ แท้จริงมีโรค มะเร็งแต่ไม่สามารถตรวจพบได้ด้วยการภาพรังสีเต้านม ทั้งนี้เกิดจาก เต้านมมีเนื้อเยื่อหนาแน่นมากจนบดบังก้อนเนื้อและ/หรือหินปูน, ผู้ป่วยอายุน้อย (น้อยกว่า 50 ปี) เพราะเต้านมมีเนื้อเยื่อเต้านมหนาแน่น, และเมื่อกินหรือฉีดยาฮอร์โมนเพศ เช่น เพื่อการคุมกำเนิด
ดังนั้น ผู้รับการตรวจภาพรังสีเต้านมทุกคนจึงควรตระหนักว่า
- การตรวจนี้ ไม่สามารถวินิจฉัยได้แน่นอนว่า เป็นโรคมะเร็งแน่นอนหรือไม่ ต้องตรวจเพิ่มเติมด้วยการตรวจเซลล์และ/หรือการตรวจชิ้นเนื้อทางพยาธิวิทยา
- การตรวจไม่สามารถตรวจได้ถูกต้องเต็มร้อย มีข้อผิดพลาดได้ดังกล่าวแล้ว
ความหมายของBIRADS:
สามาคมรังสีวิทยาของสหรัฐอเมริกา(American College of Radiology ย่อว่า ACR)ได้แนะนำการแปลผลภาพรังสีเต้านมให้สอดคล้องกันในทุกโรงพยาบาล ด้วยการรายงานผลเป็น 7 ระดับ(Category) จาก 0-6 เรียกว่า ‘Breast Imaging-Reporting and Data System’ ย่อว่า ‘BIRADS/ไบแรดส์’ ซึ่งการแปลผลระบบนี้นิยมแพร่หลายไปทั่วโลกรวมทั้งแพทย์ของไทย ได้แก่
- Category 0: แพทย์ไม่สามารถแปลผลตรวจได้ด้วยการตรวจแมมโมแกรมวิธีการเดียว ต้องใช้การตรวจวิธีอื่นเพิ่มเติม เช่น การตรวจเต้านมด้วยอัลตราซาวด์ร่วมด้วย
- Category 1: ผลตรวจเป็นลบ คือ ผลตรวจปกติ แพทย์มักแนะนำผู้ป่วยตรวจ แมมโมแกรมตามตารางตรวจปกติ เช่น ทุก 1ปี
- Category 2: ผลตรวจผิดปกติ แต่ไม่ใช่มะเร็ง แพทย์มักแนะนำตรวจแมมโมแกรมตามดุลพินิจของแพทย์ เช่น อีก 6เดือน หรือ 1 ปี
- Category 3: ผลตรวจอาจเป็นมะเร็งได้ แต่ใน%ไม่สูง ซึ่งแพทย์มักแนะนำตรวจแมมโมแกรมซ้ำภายใน 3-6 เดือน
- Category 4: ผลตรวจมีความเป็นไปได้ที่จะเป็นมะเร็ง อาจจำเป็นต้องตรวจเพิ่มเติมด้วยการดูดเซลล์จากรอยโรคเพื่อการตรวจทางเซลล์วิทยา หรือ การตัดชิ้นเนื้อจากรอยโรคเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา ทั้งนี้อยู่ในดุลพินิจของแพทย์และความต้องการของผู้ป่วย
- Category 5: ความผิดปกติที่ตรวจพบ มีความเป็นไปได้สูงที่จะเป็นมะเร็ง จำเป็นต้องได้รับการตัดชิ้นเนื้อฯเพื่อยืนยัน
- Category 6: เป็นการตรวจเพื่อยืนยันผลตัดชิ้นเนื้อที่ทราบแล้วว่าเป็นมะเร็งเต้านม ก่อนเริ่มให้การรักษา
มีผลข้างเคียงจากการตรวจภาพรังสีเต้านมไหม?
ผลข้างเคียงจากการตรวจเช่นเดียวกับที่กล่าวแล้วใน หัวข้อ ‘ข้อห้ามฯ’ (อ่านเพิ่มเติมในหัวข้อนั้น) นอกจากนั้นในบางราย อาจเจ็บเต้านมมากช่วงการตรวจจนส่งผลให้ไม่สามารถรับการตรวจฯได้จนสำเร็จ
การตรวจภาพรังสีเต้านมต้องเตรียมตัวอย่างไร?
การตรวจภาพรังสีเต้านมมักต้องเป็นการนัดล่วงหน้าเสมอ (ยกเว้นโรงพยาบาลเอกชน) และทั้งนี้ไม่ควรตรวจในช่วงก่อนมีประจำเดือนและ/หรือช่วงให้นมบุตร เพราะช่วงนี้เต้านมมักเพิ่มขนาดใหญ่ขึ้นและเจ็บ (จากผลของการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนเพศในร่างกาย) อาจส่งผลให้การตรวจผิดพลาดได้ จากการบวมหรือจากไม่สามารถกดบีบเต้านมได้จากการเจ็บเต้านม
ข้อปฏิบัติอื่นๆคือ ไม่ควรทาแป้ง ครีม น้ำยาระงับกลิ่นเต้านม และบริเวณรักแร้ (การตรวจจะรวมการตรวจภาพต่อมน้ำเหลืองรักแร้ด้วยเสมอ) เพราะอาจจับเป็นก้อนส่งผลให้แปลผลผิดพลาดได้ รวมทั้งแต่งกายให้สะดวกต่อการถอดและสวมใส่รวมทั้งรองเท้า เพราะต้องมีการเปลี่ยนเสื้อผ้า และอาจต้องถอดรองเท้าในห้องตรวจ
การตรวจภาพรังสีเต้านมแพง (ค่าใช้จ่าย) ไหม?
การตรวจภาพรังสีเต้านมมีค่าใช้จ่ายสูงปานกลาง แต่ประชาชนในระบบประกันสุขภาพมีสิทธิ์ตรวจได้ เมื่อแพทย์เห็นความจำเป็นต้องตรวจ
บรรณานุกรม
- Smith,R. et al. (2015). CA. A Cancer Journal for Clinician. 65,31-54
- https://www.cancer.gov/types/breast/mammograms-fact-sheet?redirect=true [2019,June22]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Mammography [2019,June22]