การตรวจตา การตรวจสุขภาพตา (Eye examination)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง สกาวรัตน์ คุณาวิศรุต
- 14 กรกฎาคม 2562
- Tweet
- บทนำ
- ประโยชน์ของการตรวจตามีอะไรบ้าง?
- ข้อบ่งชี้ในการตรวจตามีอะไรบ้าง?
- มีขั้นตอนในการตรวจตาอย่างไร?
- มีการเตรียมตัวอย่างไรในการตรวจตา?
- มีผลข้างเคียงจากการตรวจตาไหม?
- ทราบผลการตรวจตาเมื่อไหร่?
- กายวิภาคและสรีรวิทยาของตา (Anatomy and physiology of the eye)
- โรคตา โรคทางตา (Eye disease)
- ยาหยอดตา (Eye drops)
- ยาขยายรูม่านตา (Dilating eye drops)
- สายตาผู้สูงอายุ (Presbyopia)
- คอนแทคเลนส์ (Contact lens)
- ความดันตาสูง(Ocular hypertension)
- โรคของจอตา โรคจอตา (Retinal disease)
- เบาหวานขึ้นตา เบาหวานกินตา (Diabetic retinopathy)
- สายตาผิดปกติ (Refractive error)
บทนำ
แม้ว่าไม่มี ตา หรือ ตาบอดสนิททั้งสองข้าง คนเราก็ยังมีชีวิตอยู่ได้ แต่การดำรงชีวิตที่ปกติสุข มีความสามารถสูงสุด ทำงานได้ตามเป้าหมาย ตามกำลังความสามารถ ต้องอาศัยการมองเห็นที่ปกติ การมีตาที่ปกติ นอกจากต้องหลีกเลี่ยงภยันตรายที่อาจมีต่อดวงตา มีสุขภาพร่างกายทั่วไปดี มีการตรวจรักษาโรคทันที ทันเวลาเมื่อมีอาการผิดปกติทางตาแล้ว ที่สำคัญอีกประการก็คือ การตรวจสุขภาพตาอย่างสม่ำเสมอแม้ยังไม่มีอาการผิดปกติ เพื่อจะได้ตรวจพบโรคตาตั้งแต่ยังไม่มีหรือมีอาการเพียงเล็กน้อย การตรวจตาจึงมีประโยชน์หลายประการดังจะได้กล่าวในหัวข้อต่อไป
ประโยชน์ของการตรวจตามีอะไรบ้าง?
การตรวจตามีประโยชน์ดังนี้ คือ
- เพื่อการมีสายตาที่ดีที่สุดสำหรับตนเอง เนื่องจากสายตาคนเรามีการเปลี่ยน แปลงตามอายุ อีกทั้งบางคนมี สายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง ทำให้การมองเห็นไม่ดีเท่า ที่ควร หากตรวจพบและรับการแก้ไขด้วยแว่นสายตาก็จะทำให้การมองเห็นดีขึ้น ถ้าเป็นเด็กนัก เรียนทำให้ประสิทธิผลของการเรียนดีขึ้น ถ้าเป็นผู้ใหญ่ทำให้การทำงานสะดวกสบาย ทำงานได้ดีขึ้น มีบางรายสายตาไม่ปกติ ทำให้มีอาการปวดตา ปวดศีรษะ ทำงานไม่ได้เต็มที่ เพียงแก้ไขสายตาทุกอย่างจะเป็นปกติ ประสิทธิภาพการทำงานดีขึ้น อีกทั้งผู้สูงอายุเกือบทุกคน หรือเมื่อมีอายุ 40 ปี ขึ้นไปจะมีภาวะสายตาผู้สูงอายุ (Presbyopia) ซึ่งถ้าไม่ได้รับการแก้ไข จะบั่นทอนการทำงานลง
ตาเป็นอวัยวะสัมผัสที่สำคัญสุด การมองเห็นที่ดีทำให้มีความสามารถในการเรียนรู้ ในการทำงาน และในการดำรงชีวิตประจำที่ดี มีประสิทธิภาพขึ้น
- ตาก็เหมือนอวัยวะอื่นๆ การตรวจพบโรคตั้งแต่ในระยะแรกเริ่ม ย่อมง่ายต่อการรักษา รวมทั้งบางโรค การรักษาแต่เนิ่นๆจะช่วยป้องกันการสูญเสียตาได้ เช่น โรคต้อหิน ถ้าตรวจพบตั้งแต่แรกที่มีการสูญเสียการมองเห็นเพียงเล็กน้อย การรักษาทันที แม้จะไม่ช่วยสาย ตาที่เสียไปให้กลับคืนมา แต่จะป้องกันไม่ให้เสียมากขึ้นได้ หรือโรคต้อกระจก หรือโรคจอตาเสื่อม (อ่านเพิ่มเติมในบทความเรื่อง โรคของจอตา) ก็เช่นเดียวกัน หากตรวจพบแต่ระยะแรก จะช่วยให้ผู้ป่วยปฏิบัติตนเพื่อชะลอความรุนแรง และ/หรือผลข้างเคียงของโรคลงได้อย่างมีประ สิทธิภาพ อีกทั้งผู้ป่วยโรคทางกายบางอย่างที่อาจมีผลต่อตา ทำให้ตามัวลง การตรวจพบแต่ต้นๆ ทำให้โอกาสสูญเสียสายตาน้อยลง เช่น โรคเบาหวานขึ้นตา ในผู้ป่วยโรคเบาหวาน เป็นต้น
- บางครั้งการตรวจตาอาจช่วยให้พบโรคทางกายได้ เช่น การพบตาขาวมีสีเหลือง (Icteric sclera) บ่งถึงการทำงานของตับที่ผิดปกติ การพบวงขาวๆเป็นขอบรอบตาดำ (Arcus) บ่งถึงอาจจะมีภาวะไขมันในเลือดสูง การพบรอยโรคผิดปกติชนิดหนึ่งของกระจกตา (Band keratopathy) บ่งถึงการเผาผลาญแคลเซียม หรือมีความผิดปกติของต่อมพาราไท รอยด์ เป็นต้น
- จอตาและขั้วประสาทตา เป็นส่วนที่ยื่นมาจากสมอง ความผิดปกติของสมองบางอย่าง สามารถดูที่ขั้วประสาทตาโดยตรงจากการตรวจตา ไม่ต้องอาศัยการตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีที่ซับซ้อน มีค่าใช้จ่ายสูง เช่น เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือการฉีดสีเข้าไปในหลอดเลือด (Angiography) ซึ่งมีโอกาสได้รับอันตรายจากการตรวจได้ เช่น เนื้องอกในสมอง ทำให้ความดันของน้ำในสมองสูง ไม่จำเป็นต้องใช้เข็มเจาะเข้าไปวัด แต่สามารถดูลักษณะของขั้วประสาทตา (Papilledema) จากการตรวจตาได้ อีกทั้งการศึกษาความผิดปกติของหลอดเลือดในกรณีหลอดเลือดแดงแข็ง (Arteriosclerotic) สามารถดูได้โดยตรงด้วยการตรวจจอตา
- การตรวจตาในโรคทางกายบางอย่าง ช่วยยืนยันการวินิจฉัยโรคทางกายได้ เช่น ภาวะ Wilson disease ซึ่งมีอาการผิดปกติทางสมองและตับ จากการเผาผลาญผิดปกติของธาตุทองแดง เพียงการตรวจตาพบรอยโรคที่เรียกว่า Kayer Fleisher ring ที่กระจกตา ก็จะช่วยยืนยันการวินิจฉัยโรคนี้ได้
ข้อบ่งชี้ในการตรวจตามีอะไรบ้าง?
ข้อบ่งชี้สำหรับการตรวจตา คือ
- มีอาการความผิดปกติของดวงตาอย่างชัดเจน เช่น เจ็บ/ปวดตา ตามัว ตาแดง มีก้อนผิดปกติเกิดขึ้นที่ ลูกตา หนังตา มองเห็นภาพผิดปกติ เช่น ภาพบิดเบี้ยว ภาพแหว่งหาย ไปบางส่วน และ/หรือเห็นของสิ่งเดียวเป็น 2 สิ่ง (Diplopia/เห็นภาพซ้อน) เป็นต้น
- ผู้ที่ไม่มีอาการผิดปกติทางตาที่ควรรับการตรวจตาตามอายุ ได้แก่
- เด็กแรกเกิด โดยปกติก่อนออกจากโรงพยาบาลพร้อมแม่ หมอเด็ก (กุมารแพทย์) มักจะตรวจร่างกายทั่วไปให้เด็ก รวมทั้งการตรวจตาทางกายภาพ (ตรวจภาย นอก) ว่า หนังตาเปิด-ปิดได้ตามปกติ ลูกตามีขนาดเท่ากันไหม ใส หรือ ขุ่น ซึ่งหมอเด็กจะทำอยู่แล้ว หากตามีกายภาพที่ผิดรูป กุมารแพทย์จะส่งหมอตา (จักษุแพทย์) ตรวจตาเด็กให้ละ เอียดอีกที
- เมื่อเด็กอายุ 3 – 5 ปี กำลังจะเริ่มเข้าเรียนชั้นอนุบาล เด็กวัยนี้พอให้ความร่วมมือในการตรวจตาได้ อีกทั้ง ภาวะตาเข และ/หรือ สายตาผิดปกติ มักจะพบได้ในวัยนี้ ทั้งหากมีตาเขและนำไปสู่ภาวะตาขี้เกียจที่พบในวัยนี้ ยังพอแก้ไขรักษาได้
- เด็กชั้นประถม เป็นวัยที่ต้องเรียนหนังสือมองไกล (มองกระดาน หรือจอภาพ) เป็นวัยที่พบสายตาผิดปกติได้บ่อย ควรได้รับการตรวจดูสายตา หากมีผิดปกติจะได้แก้ไข เพื่อประสิทธิผลของการเรียนที่ดีขึ้น โดยทั่วไปวัยนี้ อนามัยโรงเรียนมักจะมีการตรวจวัดสายตาคร่าวๆว่า เด็กเห็นดีหรือไม่ ถ้าเห็นผิดปกติ ก็จะส่งเด็กรับการตรวจตาจากจักษุแพทย์อย่างละเอียดอีกที
- เด็กวัยมัธยม เพราะมักพบสายตาผิดปกติ ได้แก่ สายตาสั้น สายตาเอียง สายตายาว ที่บางคนอาจเพิ่งเป็นในวัยนี้ เพื่อรับการแก้ไข
- วัยก่อนเข้ามหาวิทยาลัย ควรรับการตรวจเพื่อเลือกศึกษาวิชาชีพที่เหมาะสม อีกทั้งรับการตรวจภาวะตาบอดสี ซึ่งเป็นข้อห้ามไม่ให้เข้ารับการศึกษาบางสาขาวิชา เช่น วิชาที่เกี่ยวข้องกับการงานที่ต้องใช้สีต่างๆ
- วัยทำงานถึงอายุ 40 ปี เป็นวัยที่ไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงของสายตาและมักจะไม่มีโรคตาอะไร อาจจะรับการตรวจสายตาไม่ต้องบ่อยนัก เพียง 2 – 3 ปี ตรวจครั้ง (ทั้งนี้ต้องไม่มีความผิดปกติทางตาด้วย)
- วัยอายุ 40 ปีขึ้นไป จะมีการเปลี่ยนแปลงสายตาตามอายุที่พบบ่อย คือ สายตาผู้สูงอายุ อีกทั้งอาจมี โรคตา ที่เกิดจากความเสื่อม เช่น ต้อกระจก ต้อหิน จึงควรรับการตรวจตาอย่างละเอียดในวัยนี้ โดยควรรับการตรวจตาปีละครั้ง
- ผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะมีความผิดปกติทางตา ควรได้รับการตรวจเฉพาะเป็นกรณีๆตามจักษุแพทย์แนะนำ ได้แก่
- เด็กคลอดก่อนกำหนด มีน้ำหนักแรกคลอดน้อยกว่า 1,500 กรัม เด็กกลุ่มนี้ควรรับการตรวจตาอย่างละเอียดทันทีที่สามารถรับการตรวจได้ เพราะเด็กมีความเสี่ยงต่อภาวะจอตาผิดปกติจากออกซิเจน (Retinopathy of prematurity/จอตาผิดปกติในทารกคลอดก่อนกำหนด)
- เด็กที่บิดามารดามีสายตาสั้นมาก เพราะเด็กมีแนวโน้มจะมีสายตาสั้นตั้ง แต่เด็ก หรือเด็กที่ครอบครัวมีตาเข ก็มีแนวโน้มตาเขได้
- เด็กในครอบครัวที่มีโรคทางพันธุกรรม ตลอดจนหมอเด็กตรวจพบโรคทางกายที่อาจมีความผิดปกติทางตาร่วมด้วย เช่น มารดาเป็นหัดเยอรมันระหว่างตั้งครรภ์ เด็กที่เกิดมา อาจมีกลุ่มอาการผิดปกติของอวัยวะต่างๆ รวมทั้งของตาที่เรียกว่า Rubella syndrome (เช่น หัวใจผิดปกติ ศีรษะเล็กผิดปกติ และ/หรือ ต้อกระจก)
- ผู้ที่มีประวัติโรคต้อหินในครอบครัว ควรรับการตรวจตาเพื่อการคัดกรองโรคตั้งแต่วัยหนุ่มสาว และอาจต้องมีการตรวจละเอียดมากกว่าการตรวจตาทั่วไป
- ผู้มีโรคทางกายที่มักจะมีโรคตาตามมา เช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคต่อมไทรอยด์ โรคภูมิแพ้ภูมิตนเอง/โรคออโตอิมมูน ควรรับการตรวจตาตั้งแต่เมื่อทราบว่าเป็นโรคเหล่านั้น
- ผู้รับยาบางชนิดที่รักษาโรคทางกายบางชนิด ยาที่รับประทานอาจมีผล ข้างเคียงต่อตาได้ เช่น ยาบางชนิดในการรักษาวัณโรค ยาในกลุ่ม Chloroquine ที่รักษาโรคข้อและโรคภูมิแพ้ตนเอง ตลอดจนยาในกลุ่มยาสเตียรอยด์ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาต่างๆควรต้องสัง เกตปัญหาทางการมองเห็นเสมอ โดยเฉพาะในการใช้ยาต่อเนื่อง และถ้ารู้สึกว่ามีความผิดปกติในการมองเห็น ควรรีบพบจักษุแพทย์เสมอ
มีขั้นตอนในการตรวจตาอย่างไร?
การตรวจตาจะแบ่งเป็น 2 กรณีคือ การตรวจตาทั่วไป และการตรวจตาวิธีเฉพาะในบางโรคตา (เช่น โรคต้อหิน) ซึ่งในบทนี้ จะกล่าวถึง แต่ “วิธีตรวจตาทั่วไป” เท่านั้น ทั้งนี้ในการตรวจตา หากมีแว่นสายตาที่ใช้อยู่ หรือ คอนแทคเลนส์ ควรนำมาด้วย เพื่อการตรวจเปรียบ เทียบสายตาระหว่างการใช้แว่นตา/คอนแทคเลนส์ และเมื่อไม่ได้ใช้แว่นตา/คอนแทคเลนส์
ขั้นตอนการตรวจตาทั่วไป คือ
- การวัดสายตา โดยวิธีดูแผ่นภาพที่เป็นตัวเลขขนาดต่างๆ ที่ระยะมาตรฐาน 6 เมตร (บางโรงพยาบาลอาจวัดที่ระยะต่างจากนี้) แผ่นภาพอาจเป็นรูปสัตว์ (สำหรับเด็ก) เป็นสัญ ลักษณ์ตัว E ซึ่งมีคว่ำ-หงาย ชี้ไปซ้าย ขวา (สำหรับผู้ไม่รู้หนังสือ) เรียกว่า ตรวจสายตามองไกล ซึ่งการวัดต้องทำทีละตา มีผู้ป่วยหลายรายมองเห็นตาเดียวโดยไม่รู้ตัว หากมีแว่นสายตาที่ใช้มองไกลอยู่ก็ใช้วัดสายตาในขณะสวมแว่นด้วย เพื่อจะได้ทราบว่า แม้ใช้แว่นสายตาแล้ว ผู้ ป่วยเห็นปกติหรือไม่ ถ้าเห็นน้อยกว่าปกติ (โดยทั่วไป สายตาปกติเห็นชัดทั้ง 7 แถว) ก็อาจเป็นความผิดปกติที่แว่นตา หรือ มีโรคตาที่เป็นสาเหตุ ซึ่งจะต้องรับการตรวจต่อไป อนึ่งในผู้สูงอายุที่มีสายตาผู้สูงอายุ อาจมีการวัดสายตาระยะใกล้ด้วย การวัดสายตาตั้งแต่ต้นก่อนเข้าพบจักษุแพทย์ จะทำให้จักษุแพทย์ทราบว่า จะต้องตรวจอะไรที่ละเอียดขึ้น อะไรที่น่าจะเป็นสาเหตุของตามัว
- การตรวจดูภายนอกของตา เช่น อาจใช้เพียงไฟฉายดูว่าหนังตาอยู่ในตำแหน่งปกติ สังเกตว่ามีขี้ตาติดที่เปลือกตาหรือไม่ ดูขนตา ท่อน้ำตา ตำแหน่งดวงตาอยู่ตรงกลางหรือ ไม่ มีตุ่มหรือก้อนอะไรที่ผิดปกติหรือไม่
- การตรวจลูกตาภายใน ซึ่งหมอตา มักใช้เครื่องตรวจที่เรียกว่า Slit lamp ที่มีกำลัง ขยายร่วมกับแสงไฟ ฉายเข้าตาเป็นมุมเฉียง ซึ่งสามารถตรวจถึงเนื้อเยื่อชั้นต่างๆของลูกตา เริ่มจาก กระจกตา ม่านตา แก้วตา และน้ำวุ้นตาที่อยู่หลังแก้วตา ช่วยให้แพทย์มองเห็นพยาธิสภาพของเนื้อเยื่อในลูกตาได้ละเอียดขึ้น ช่วยการวินิจฉัยโรคตาได้ดีขึ้น
- การตรวจ วุ้นตา จอตา และขั้วประสาทตา ด้วยเครื่องตรวจตาอีกชนิดที่เรียกว่า Ophthalmoscope หรืออาจใช้ เลนส์รวมแสงช่วยร่วมกับ Slit lamp ก็สามารถตรวจจอตาและขั้วประสาทตาได้ อนึ่งการตรวจ น้ำวุ้นตา จอตา ขั้วประสาทตาที่จะตรวจได้ละเอียดขึ้น มักเป็นการตรวจภายหลังการขยายม่านตาด้วยการหยอดยาขยายม่านตา กล่าวคือ หากต้องการตรวจจอตาอย่างละเอียด จำเป็นต้องขยายม่านตาก่อน
- การวัดความดันลูกตา เพื่อการวินิจฉัยโรคต้อหินด้วยเครื่องตรวจที่เรียกว่า Tono meter ซึ่งมีชนิดต่างๆ เช่น Schiotz tonometer ที่ตรวจโดยผู้ป่วยต้องอยู่ในท่านอน หรือ Applanation tonometer ที่ผู้ป่วยสามารถนั่งตรวจและใช้ Slit lamp ร่วมตรวจด้วยได้
- การตรวจการทำงานของกล้ามเนื้อกลอกตาทั้ง 6 มัดในตาแต่ละข้าง โดยให้ผู้ป่วยกลอกตาไปมาในทิศทางต่างๆ ร่วมกับตรวจ ภาวะตาเข ตาเขซ่อนเร้น ตาเขเทียม ด้วยเครื่อง ตรวจต่างๆ
- ตรวจลานสายตาด้วยวิธี Confrontation ซึ่งเป็นการตรวจคัดกรองในเบื้องต้น หากต้องตรวจให้ละเอียดขึ้น จะใช้เครื่องตรวจที่เรียกว่า Perimeter ซึ่งมีทั้งชนิดธรรมดาและชนิดใช้คอมพิวเตอร์ ที่เรียกว่า Computerized visual field test ซึ่งจำเป็นในการวินิจฉัยและรักษาโรคต้อหิน
มีการเตรียมตัวอย่างไรในการตรวจตา?
การเตรียมตัวเมื่อจะตรวจตา ทั่วไปได้แก่
- นำแว่นสายตา (หรือคอนแทคเลนส์) ที่ใช้ประจำมาด้วย เพื่อจะได้ทราบว่าใช้แว่นตาเดิม หรือสมควรเปลี่ยนใหม่ อีกทั้งเปรียบเทียบค่าของสายตาที่วัดได้ใหม่กับแว่นตาเก่า เพื่อประโยชน์ในการสั่งขนาดแว่นตาที่ถูกต้อง เช่น แว่นเก่ามีสายตาเอียงร่วมด้วยหรือไม่ สายตา 2 ข้างแตกต่างกันเพียงใด เพื่อแพทย์จะได้ตัดสินใจเลือกขนาดเลนส์ที่เหมาะสม ไม่ควรใส่คอนแทคเลนส์ขณะตรวจ (ควรต้องแจ้งเจ้าหน้าที่/พยาบาลที่ตรวจสายตาเสมอว่าใช้/ใส่คอนแทคเลนส์) เพราะจะต้องเอาออกถึงจะตรวจตาได้
- นำประวัติการรักษาโรคทางกายมาด้วย รวมทั้งชื่อยาที่รับประทานอยู่ เพราะยาบางตัวหรือโรคทางกายบางอย่างอาจมีผลต่อสายตาดังได้กล่าวแล้ว บ่อยครั้งที่ผู้ป่วยผ่านการรักษาตาจากหมอตาท่านหนึ่งมาแล้ว ควรจะนำยาเก่าทางโรคตามาด้วย เพื่อหมอตาปัจจุบันจะได้พิจารณาว่ายังคงใช้ยาต่อได้หรือไม่ หรือเลือกยาที่เข้มข้นขึ้นหรือเปลี่ยนยา
- แจ้งแพทย์ พยาบาล เภสัชกรถึงประวัติการแพ้ยา แพ้อาหาร และแพ้สิ่งต่างๆ เพื่อแพทย์จะได้หลีกเลี่ยงการใช้ยา/สั่งยาดังกล่าว
- หากต้องตรวจภายในลูกตา เช่น น้ำวุ้นตา จอตา จำเป็นต้องได้รับยาขยายม่านตา ซึ่งจะทำให้ม่านตาขยาย เกิดตาพร่ามัว มองใกล้ไม่ได้ เพื่อความปลอดภัย ไม่ควรขับรถมาเอง เพราะยาขยายม่านตา ทำให้บางคนตาพร่ามัวนาน 2 – 4 ช.ม. ทำให้ขับรถได้ยากและไม่สามารถอ่านหนังสือระยะใกล้ไปนาน 2 – 4 ช.ม. ดังนั้นจึงควรเตรียมแว่นกันแดดไปด้วย จะช่วยลดตาพร่าหลังหยอดยาขยายม่านตาได้ เพราะในภาวะม่านตาขยาย แสงจะเข้าตามากทำให้ตาพร่าและแสบตาได้ และวิธีดีที่สุด คือ มีญาติที่บรรลุนิติภาวะแล้วมาเป็นเพื่อนด้วย
มีผลข้างเคียงจากการตรวจตาไหม?
แทบจะพูดได้ว่า การตรวจตามีประโยชน์อย่างมากตามที่กล่าวข้างต้น ในผู้ป่วยบางท่านอาจมีปัญหา/ผลข้างเคียงหลังตรวจตาบ้าง แต่พบได้น้อยมาก ที่พอพบได้บ้าง เช่น
- แพ้ยาชาที่หยอดตาที่ใช้ในการตรวจวัด ความดันตา ทำให้เจ็บตา ตาแดง หนังตาบวมอยู่หลายวัน ซึ่งถ้าอาการไม่มาก อาการเหล่านี้จะหายได้เอง แต่ถ้าอาการมาก มีปัญ หาทางการมองเห็น หรือ กังวล ควรกลับไปโรงพยาบาล
- หยอดยาชามากเกินไป มีผู้ป่วยบางรายที่ต้องรับการตรวจหรือรักษาที่ต้องใช้ยาชาหยอดนำไปก่อน ยาชาที่หยอดหลายหยด อาจทำให้ผิวตาดำถลอก ก่อให้เกิดอาการเจ็บปวดอย่างมากตามมา และต้องใช้เวลาประมาณ 24 ช.ม. กว่าแผลถลอกจะหายเป็นปกติ ซึ่งเช่นกัน ควรกลับไปโรงพยาบาลถ้ามีปัญหาการมองเห็น เจ็บตามาก หรือ กังวล
- มีปัญหาเวลาใช้ยาหยอดขยายม่านตาบางตัว ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นมากอย่างกะทันหัน โดยเฉพาะผู้มีความดันโลหิตสูงอยู่แล้วอาจเป็นอันตรายได้ ดังนั้น ผู้ที่มีโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ ควรแจ้งให้แพทย์ พยาบาลทราบก่อน เพื่อระมัดระวังเลือกยาที่ใช้ขยายม่านตาที่เหมาะสม
- ผลที่ตามมาหลังจากหยอดยาขยายม่านตาทำให้แสบตา ตาพร่ามัวชั่วคราว ประมาณ 2-4 ชั่วโมง
- ผลจากยาขยายม่านตาในผู้ป่วยบางรายที่มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคต้อหินเฉียบพลัน การหยอดยาขยายม่านตาจะกระตุ้นให้เกิดอาการของต้อหิน (ปวดตามาก) ได้ หากตรวจตาเสร็จแล้ว กลับบ้านมีอาการปวดตามาก ควรกลับไปพบโรงพยาบาลทันที เพื่อได้รับการรักษาควบคุมโรคต้อหิน
- ระหว่างการตรวจตา อาจต้องมีเครื่องมือสัมผัสตา โดยที่ผู้ป่วยควรจะมองนิ่ง ๆ หากมีการกลอกตาไปมา เครื่องมืออาจทำให้ผิวตาถลอก ทำให้เจ็บปวดตาอยู่หลายชั่วโมงได้ แต่จะกลับเป็นปกติได้เองภายใน 1-2 วัน แต่ถ้ามีอาการมาก มีผลต่อการมองเห็น และ/หรือ กังวล ควรกลับไปโรงพยาบาล
อนึ่ง ภายหลังการตรวจตาทั่วไป ผู้ป่วยสามารถกลับไปทำงาน กลับบ้าน และใช้ชีวิตได้ตามปกติ ยกเว้นในกรณีตาพร่าจากการหยอดยาขยายม่านตา ที่ต้องพักจนกว่า ตาจะหายพร่า จึงจะทำงาน ใช้ชีวิตได้ตามปกติ
ทราบผลการตรวจตาเมื่อไหร่?
โดยทั่วไป เมื่อตรวจตาเสร็จ แพทย์จะแจ้งผลตรวจให้ผู้ป่วยทราบ (ผู้ป่วยควรปรึกษา สอบถามแพทย์เพิ่มเติมถ้ามีข้อกังวล สงสัย) พร้อมให้คำแนะนำ การสั่งยา (ถ้ามี) และนัดหมายการตรวจครั้งต่อไป