กายวิภาคและสรีรวิทยาระบบทางเดินอาหาร (Anatomy and physiology of alimentary system)
- โดย ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ พนัส เฉลิมแสนยากร
- 9 พฤษภาคม 2562
- Tweet
- ระบบทางเดินอาหารประกอบด้วยอวัยวะอะไรบ้าง?
- กายวิภาคและสรีรวิทยาหลอดอาหาร
- กายวิภาคและสรีรวิทยากระเพาะอาหาร
- กายวิภาคและสรีรวิทยาลำไส้เล็ก
- กายวิภาคและสรีรวิทยาลำไส้ใหญ่
- บรรณานุกรม
- โรคทางเดินอาหาร โรคระบบทางเดินอาหาร (Digestive disease)
- โรคติดเชื้อทางเดินอาหาร (Gastrointestinal infection)
- มะเร็งหลอดอาหาร (Esophageal Cancer)
- มะเร็งกระเพาะอาหาร (Gastric cancer)
- มะเร็งลำไส้ใหญ่ (Colon cancer)
- มะเร็งไส้ตรง (Rectal cancer)
- มะเร็ง (Cancer)
- มะเร็งทวารหนัก (Anal cancer)
- เลือดออกในทางเดินอาหาร (Gastrointestinal bleeding or GI bleeding)
- ลำไส้อุดตัน (Intestinal obstruction)
- ลำไส้ทะลุ (Gastrointestinal perforation)
ระบบทางเดินอาหารประกอบด้วยอวัยวะอะไรบ้าง?
ระบบทางเดินอาหาร (Alimentary system) ประกอบด้วยอวัยวะต่างๆ ดังนี้ คือ
- หลอดอาหาร
- กระเพาะอาหาร
- ลำไส้เล็ก (ซึ่งประกอบด้วย ลำไส้เล็กส่วนต้น ลำไส้เล็กส่วนกลาง และลำไส้เล็กส่วนปลาย) -ลำไส้ใหญ่
- และทวารหนัก
กายวิภาคและสรีรวิทยาหลอดอาหาร:
หลอดอาหาร(Esophagus) เป็นส่วนของทางเดินอาหารที่ ต่อจากบริเวณคอหอยส่วนกล่องเสียง (Laryngopharynx) ที่ระดับกระดูกสันหลังคอข้อที่ 6 (C 6, กระดูกสันหลังคอมีทั้ง หมด 7 ข้อ) โดยมีลักษณะเป็นท่อตรงยาว ตรงกลางเป็นรู ความยาวโดยเฉลี่ยประมาณ 25 เซน ติเมตร/ซม. (แต่ความยาวปกติอยู่ในช่วงตั้งแต่ 10-50 ซม ขึ้นอยู่กับความสูงของแต่ละคน) ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของหลอดอาหารประมาณ 1.5-2 ซม
ตำแหน่งของหลอดอาหาร จะอยู่ที่ด้านหลังของช่องทรวงอก (Posterior mediasti num) ใกล้กับกระดูกสันหลังอก ผนังหลอดอาหารเป็นทั้งกล้ามเนื้อเรียบ (Smooth muscle,กล้ามเนื้อที่สมองควบคุมไม่ได้ หมายถึง มีการทำงานแบบไม่ตั้งใจ) และกล้ามเนื้อลาย (Striated muscle, กล้ามเนื้อที่สมองควบคุมได้ หมายถึง มีการทำงานแบบตั้งใจ) ทั้งนี้ ส่วนต้นของหลอดอาหารจะมีกล้ามเนื้อลายมากกว่ากล้ามเนื้อเรียบ ส่วนกลางจะมีกล้ามเนื้อเรียบและกล้ามเนื้อลายปริมาณเท่าๆกัน ส่วนปลายจะมีกล้ามเนื้อเรียบเป็นส่วนใหญ่
หลอดอาหาร ไปสิ้นสุดที่รอยต่อกับกระเพาะอาหาร ที่บริเวณกระบังลม (Diaphragm) ตรงระดับกระดูกสันหลังอกข้อที่ 10 (T 10, กระดูกสันหลังอกมีทั้งหมด 12 ข้อ) โดยจะผ่านเข้าไปในรูที่กระบังลม ซึ่งบริเวณนี้จะมีกล้ามเนื้อลักษณะเป็นหูรูด (Sphincter) ทำให้เกิดรอยคอดก่อนที่จะเข้าไปในกระเพาะอาหาร หูรูดนี้จะทำหน้าที่ป้องกันอาหารที่เข้าไปในกระเพาะอาหารแล้ว และกรด/น้ำย่อยของกระเพาะอาหารไม่ให้ย้อนกลับขึ้นมาในหลอดอาหารได้อีก
ภายในผนังของหลอดอาหารจะมีต่อมสร้างเมือก (Mucous glands) ทำหน้าที่ในการผลิตน้ำเมือก (Mucus) เพื่อช่วยในการหล่อลื่นอาหารขณะที่ผ่านในหลอดอาหาร
ผิวด้านในสุดของหลอดอาหารจะปกคลุมด้วยเยื่อบุบางๆชนิดสความัส (Squamous epithelium) ทำให้สามารถทนทานต่อการครูดจากอาหารที่มีลักษณะแข็ง เช่น เนื้อสัตว์ พืชผัก และกระดูก เป็นต้น
อวัยวะรอบๆหลอดอาหารจะเป็น ปอด และหัวใจ โดยมีเยื่อบางๆเรียกว่าเยื่อหุ้มปอดส่วนนอก (Parietal pleura) และเยื่อหุ้มหัวใจส่วนนอก (Pericardium) กั้นอยู่ ระหว่างหลอดอาหารและอวัยวะเหล่านี้ตามลำดับ
หน้าที่หรือสรีรวิทยาของหลอดอาหาร คือ
1.หน้าที่หลักของหลอดอาหาร คือ เป็นทางผ่านของอาหารจากช่องปากและคอหอยไป สู่กระเพาะอาหาร การเคลื่อนของอาหารผ่านหลอดอาหารนี้ เป็นการเคลื่อนโดยการทำงานแบบตั้งใจ (Voluntary) จากการกลืน โดยเฉพาะในหลอดอาหารส่วนต้นที่ประกอบด้วยกล้ามเนื้อลายเป็นส่วนใหญ่ และเป็นการเคลื่อนโดยการทำงานแบบอัตโนมัติที่เรียกว่า Peristalsis ในหลอดอาหารส่วนกลางและส่วนปลายที่มีกล้ามเนื้อเรียบในผนังเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นการเคลื่อนของอาหารจึงไม่ใช่การเคลื่อนตามความโน้มถ่วงของโลกเพียงอย่างเดียว แต่อาหารจะสามารถเคลื่อนผ่านหลอดอาหารไปสู่กระเพาะอาหารได้ ถึงแม้ว่าคนนั้นจะอยู่ในท่าห้อยศีรษะลง หรือในภาวะไร้แรงโน้มถ่วงของโลก เช่น ในยานอวกาศก็ยังสามารถส่งอาหารไปเข้ากระเพาะอาหารได้
2.หน้าที่อีกอย่างของหลอดอาหาร คือ การสร้างสารจำพวกเมือกซึ่งจะมีลักษณะเป็นของเหลวใสๆ ลื่นๆ ออกมาจากต่อมสร้างเมือก ที่มีอยู่ในผนังของหลอดอาหารทุกส่วน แต่จะมีมากที่สุดในหลอดอาหารส่วนปลาย ซึ่งเมือกนี้จะเป็นตัวช่วยหล่อลื่นในการเคลื่อนของอาหาร
กายวิภาคและสรีรวิทยากระเพาะอาหาร:
กระเพาะอาหาร (Stomach) เป็นส่วนของทางเดินอาหารที่ต่อมาจากหลอดอาหาร ลักษณะเป็นถุง ส่วนต้นต่อมาจากหลอดอาหาร ส่วนปลายต่อกับลำไส้เล็กส่วนต้น (Duode num) มีขนาดยาวประมาณ 18 ซม. ตำแหน่งของกระเพาะอาหารอยู่ในช่องท้องส่วนบนซ้ายใต้กระบังลม อยู่ระหว่างหลอดอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น ด้านหลังของกระเพาะอาหาร คือ ตับอ่อน
ผิวด้านในของกระเพาะอาหารมีลักษณะเป็นรอยย่น (Rugae) และมีเมือกคลุมบางๆ เพื่อ ป้องกันน้ำย่อยที่เป็นกรดไม่ให้ทำอันตรายต่อเยื่อบุกระเพาะอาหารเอง
กระเพาะอาหารมีกล้ามเนื้อหูรูด (Sphinctor) สองแห่ง แห่งแรกอยู่ตรงรอยต่อระหว่างหลอดอาหารและกระเพาะอาหาร (Esophageal sphincter) แห่งที่สองอยู่ที่กระเพาะอาหารส่วนปลาย ตรงรอยต่อกับลำไส้เล็กส่วนต้น (Pyloric sphincter) กล้ามเนื้อหูรูดทั้งสองแห่งนี้ทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้อาหารในกระเพาะอาหารออกไปนอกกระเพาะอาหารในขณะที่มีการย่อยอา หาร
กระเพาะอาหารแบ่งออกเป็น 4 ส่วน ได้แก่
- คาร์เดีย (Cardia) เป็นส่วนต่อมาจากหลอดอาหาร
- ฟันดัส (Fundus) เป็นส่วนโค้งด้านบนสุดของกระเพาะอาหาร
- บอดี้ (Body) เป็นส่วนกลางของกระเพาะอาหาร
- ไพโรลัส (Pylolus) เป็นส่วนปลายของกระเพาะอาหารก่อนเข้าลำไส้เล็กส่วนต้น
ก. ผนังของกระเพาะอาหารแบ่งออกเป็น 4 ชั้น ซึ่งจากด้านในลำไส้ออกมาด้านนอก ได้แก่
- มิวโคซา (Mucosa) ได้แก่ ชั้นเยื่อบุติดกับรูกระเพาะอาหารมีเซลล์ซ้อนกันหลายชั้น
- ซับมิวโคซา (Submucosa) เป็นชั้นลึกต่อลงมาจากชั้นมิวโคซา เป็นชั้นที่มีหลอดเลือด ท่อน้ำเหลือง และ เนื้อเยื่อเกี่ยวพัน
- ชั้นกล้ามเนื้อเรียบ (Muscular layer) ทำหน้าที่ในการเคลื่อนไหวบีบอาหารให้ผ่านกระเพาะออกไป โดยประกอบด้วยกล้ามเนื้อเรียบ 3 ชั้น
- เซอโรซา (Serosa) เป็นชั้นนอกสุด ลักษณะเป็นเนื้อเยื่อเกี่ยวพันบางๆ และมีเซลล์ชั้นเดียว บุภายนอกเรียกว่า เมโซทีเลียลเซลล์ (Mesothelial cells)
ข. เซลล์ของกระเพาะอาหารมีหลายชนิด ได้แก่
- มิวคัสเนคเซลล์ (Mucous neck cell) ทำหน้าที่สร้างเมือกคลุมผิวด้านในของกระ เพาะอาหาร
- พาไรเอทอลเซลล์ (Parietal cells) ทำหน้าที่สร้าง กรด น้ำย่อยและสารที่เรียกว่า อินทริงสิคแฟคเตอร์ (Intrinsic factor, สารช่วยการดูดซึมวิตามิน บี-12)
- ชีฟเซลล์ (Chief cells) ทำหน้าที่สร้างเปปซิโนเจน (Pepsinogen, เอนไซม์ย่อยโปรตีน)
- เอนเตอโรเอนโดครายน์เซลล์ (Enteroendocrine cell) ทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนชนิดต่างๆ เช่น แกสตริน (Gastrin) ฮีสตามีน (Histamine) เซอโรโตนิน (Seroto nin) โคลีซิสโตไคนิน (Cholecystokinin) โซมาโตสแตติน (Somatostatin) เป็นต้น
ค. หน้าที่ (สรีรวิทยา) ของกระเพาะอาหาร คือ
1. ย่อยอาหาร โดยสร้างน้ำย่อย ได้แก่ กรดไฮโดรคลอริค (HCL) เปปซิโนเจน ย่อยอา หารพวกโปรตีน เซลล์ที่สร้างได้แก่ พาไรเอทอลเซลล์ สร้างกรด และชีฟเซลล์สร้างเปปซิโนเจน ดังได้กล่าวแล้วในตอนต้น
2. สร้างเมือกคลุมผิวด้านในของกระเพาะอาหาร เพื่อป้องกันไม่ให้กรดย่อยเนื้อเยื่อของกระเพาะอาหารเอง เซลล์ที่สร้างเมือกคือ มิวคัสเนคเซลล์
3.หน้าที่สร้างฮอร์โมนของทางเดินอาหาร เช่น
- แกสตริน สร้างจากจีเซลล์ซึ่งเป็นเอนเตอโรเอนโดครายน์เซลล์ชนิดหนึ่ง ที่ทำหน้าที่กระตุ้นให้มีการหลั่งกรดน้ำย่อย และเปปซิโนเจน
- โคลีซิสโตไคนิน ทำหน้าที่ให้เกิดการบีบตัวของถุงน้ำดี เพื่อให้น้ำดีออกมาช่วยย่อยอาหารพวกไขมันหลังจากอาหารผ่านกระเพาะอาหารไปแล้ว
4.หน้าที่ดูดซึมอาหาร ถึงแม้ว่าอาหารส่วนใหญ่จะถูกดูดซึมที่ลำไส้เล็ก แต่กระเพาะอา หารก็สามารถดูดซึมอาหารบางชนิดได้ เช่น น้ำ แอลกอฮอล์ เป็นต้น
5.หน้าที่ส่งผ่านอาหารไปยังลำไส้เล็กโดยการเคลื่อนไหวบีบตัว ที่เรียกว่า เปอริสตอลซีส (Peristalsis)
กายวิภาคและสรีรวิทยาลำไส้เล็ก:
ลำไส้เล็ก (Small bowel หรือ small intestine) เป็นส่วนของทางเดินอาหารที่ต่อมาจากกระเพาะอาหารและไปสิ้นสุดที่ลำไส้ใหญ่ ลักษณะเป็นท่อกลวงยาว มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3-3.5 ซม ซึ่งมีขนาดเล็กกว่าเส้นผ่าศูนย์กลางของลำไส้ใหญ่ จึงเรียกว่า ลำไส้เล็ก ความยาวทั้งหมดของลำไส้เล็กประมาณ 22 ฟุต
ลำไส้เล็กแบ่ง เป็น 3 ส่วนได้แก่
- ลำไส้เล็กส่วนต้น หรือดูโอเดนัม (Duodenum)
- ลำไส้เล็กส่วนกลาง หรือเจจูนัม (Jejunum)
- ลำไส้เล็กส่วนปลาย หรือไอเลียม (Ileum)
1. ลำไส้เล็กส่วนต้น หรือดูโอเดนัม (Duodenum): เป็นลำไส้ส่วนที่ต่อมาจากกระเพาะอาหารส่วนไพโรลัส (Pylorus) ลักษณะเป็นท่อกลวงโค้ง รูปตัวซี (C) ซึ่งลำไส้เล็กส่วนนี้จะล้อมเป็นวงที่ส่วนหัวของตับอ่อน (Pancreas)
ลำไส้เล็กส่วนต้นนี้ จะมีส่วนที่นูนเป็นตุ่มขนาดเล็กประมาณขนาดไม่เกิน 1 ซม. เรียกว่าแอมพูลลาออฟวาเตอร์ (Ampulla of Vater) ซึ่งเป็นรูเปิดของท่อน้ำดีร่วม (Common bile duct) และท่อตับอ่อน (Pancreatic duct) ซึ่งจะเป็นทางออกของน้ำดีและน้ำย่อยอาหารจากตับอ่อนเข้าสู่ลำไส้เล็ก
ก. ผนังของดูโอเดนัม แยกเป็นหลายชั้น ได้แก่
- บนสุดติดรูของลำไส้เรียกว่า มิวโคซา (Mucosa)
- ถัดมาเป็นชั้นเนื้อเยื่อเกี่ยวพันเรียกว่า ลามินาโปรเปีย (Lamina propria)
- ถัดมาเป็นชั้นกล้ามเนื้อเรียบบางๆ เรียกว่า มัสคูลาริสมิวโคเซ่ (Muscularis mucosae)
- ถัดออกมาจะเป็นชั้นเนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่มีหลอดเลือดดำ หลอดเลือดแดง เส้นประสาท ท่อน้ำ เหลืองอยู่เป็นจำนวนมาก เรียกว่า ซับมิวโคซ่า (Submucosa)
- ถัดออกมาจะเป็นชั้นกล้ามเนื้อเรียบซ้อนกัน 2 ชั้น เรียกว่า มัสคูลาร์แลย์ (Muscular layer) ระหว่างชั้นทั้งสองของกล้ามเนื้อเรียบจะมีกลุ่มของเซลล์ประสาทอัตโนมัติ เรียกว่า อาวเออร์บาคเพลกซัส (Auerbach plexus)
- ชั้นนอกสุดของลำไส้เล็กส่วนต้นจะถูกคลุมด้วยเซลล์บุเยื่อช่องท้อง เรียกว่า เซอโรซา (Sero sa) ซึ่งเซอโรซานี้ จะมีเฉพาะดูโอเดนัมช่วงต้นๆเท่านั้น ชั้นนอกของดูโอเดนัมช่วงอื่นๆ จะคลุมด้วยเนื้อเยื่ออื่น เรียกว่า แอดเวนทิเชีย (Adventitia)
ภายในผนังชั้นซับมิวโคซา (Submucosa)ของลำไส้เล็กส่วนต้นนี้ จะมีหลอดเลือด เส้น ประสาท ท่อน้ำเหลือง และต่อมชนิดพิเศษเรียกว่า ต่อมบรุนเนอร์ (Brunner’s glands, สร้างเมือกปกป้องลำไส้เล็กส่วนนี้ โดยเฉพาะจากกรดกระเพาะอาหาร) ซึ่งต่อมบรุนเนอร์นี้จะไม่พบในลำไส้เล็กส่วนอื่นๆ ดังนั้นจึงเป็นลักษณะเฉพาะของลำไส้เล็กส่วนดูโอเดนัมนี้
เซลล์ที่เป็นส่วนประกอบในชั้นมิวโคซา(Mucosa) ของดูโอเดนัม/ลำไส้เล็กส่วนต้น มีหลายชนิดที่ช่วยกันทำงานเกี่ยวข้องกับการดูดซึมอาหาร เช่น เอนเตอโรซัยท์ (Enterocyte) กอบเบลทเซลล์ (Goblet cell) พาเนทเซลล์ (Pa neth cell) นิวโรเอนโดครายน์เซลล์ (Neuroendocrine cell) สเตมเซลล์ (Stem cell) และลิมโฟซัยท์ (Lymphocyte) เซลล์เหล่านี้จะจัดเรียงตัวเป็นโครงสร้างคล้ายนิ้วมือยื่นเข้าไปในรูของลำไส้เล็ก เรียกว่า วิลไล (Villi) และบางส่วนจะยื่นลงด้านล่างเป็นส่วนที่มีลักษณะคล้ายรู เรียกว่า คริปท์ (Crypt)
ข. หน้าที่ (สรีรวิทยา) ของ ลำไส้เล็กส่วนต้น คือ
- ย่อยอาหารต่อจากกระเพาะอาหาร โดยย่อยอาหารโมเลกุลใหญ่ให้เป็นโมเลกุล เล็ก
- สร้างน้ำย่อยอาหารโปรตีนและคาร์โบไฮเดรต
- และสร้างฮอร์โมนต่างๆที่ช่วยกระตุ้น การบีบตัวของกระเพาะอาหาร การหลั่งน้ำดีของตับและของถุงน้ำดี และการหลั่งน้ำย่อยจากตับอ่อน
2. ลำไส้เล็กส่วนกลาง หรือเจจูนัม (Jejunum): เป็นลำไส้เล็กส่วนที่อยู่ระหว่าง ดูโอเดนัมและลำไส้เล็กส่วนปลาย (ที่เรียกว่าไอเลียม, Ileum) เจจูนัมมีความยาวประมาณ 2 เมตรครึ่ง ลักษณะเป็นท่อยาวคดเคี้ยวไปมาในช่องท้องและยึดติดกับผนังช่องท้องด้านหลังโดยแผ่นเนื้อเยื่อที่เรียกว่า เยื่อบุแขวนไส้ (มีเซนเตอรี, Mesentery) ซึ่งมีเซนเตอรีนี้จะพบได้ตลอดความยาวของเจจูนัม
ก. เนื้อเยื่อชั้นในสุดของเจจูนัม จะเป็นชั้นที่เรียกว่า มิวโคซา (Mucosa) มีลักษณะเป็นรอยย่นตามแนวขวางของเจจูนัมเพื่อเพิ่มพื้นที่ในการดูดซึมอาหาร ส่วนบนสุดของมิวโคซา จะมีการเรียงตัวของเซลล์ยื่นขึ้นไปเป็นลักษณะคล้ายนิ้วมือเรียกว่า วิลไล (Villi) เหมือนกับดูโอเดนัม แต่ของเจจูนัมจะมีวิลไลที่ยาวกว่า และมิวโคซาของเจจูนัมจะมีส่วนที่เป็นรูลึกลงไปเรียกว่า คริป (Crypt) เหมือนกับดูโอเดนัม แต่จะมีความลึกมากกว่า
ถัดจากชั้นมิวโคซา จะป็นชั้นซับมิวโคซา (Submucosa) ซึ่งแยกจากชั้นมิวโคซาด้วยชั้นกล้ามเนื้อบางๆ เรียกว่า มัสคูลาริสมิวโคเซ (Muscularis mucosae) ชั้นซับมิวโคซานี้ จะไม่มีต่อมบรุนเนอร์ (Brunner gland) เหมือนกับดูโอเดนัม แต่จะมีหลอดเลือด ท่อน้ำเหลือง เส้น ประสาท กลุ่มเซลล์ประสาทอัตโนมัติที่เรียกว่า ไมสเนอร์เพลกซัส (Meissner plexus)
ถัดจากชั้นซับมิวโคซาจะเป็นชั้นกล้ามเนื้อเรียบซ้อนกัน 2 ชั้น และชั้นนอกสุดจะเป็นชั้นที่ เรียกว่า เซอโรซา (Serosa) เป็นชั้นที่คลุมด้วยแผ่นเยื่อบางๆเรียกว่า เปอริโตเนียม (Perito neum) และมีเซลล์ชื่อมีโซทีเลียม (Mesothelium) เป็นส่วนประกอบ
ชนิดของเซลล์ในชั้นมิวโคซาของเจจูนัม คล้ายกับเซลล์ของดูโอเดนัมได้แก่ เอนเตอโรซัยท์ (Enterocyte), กอบเบลทเซลล์ (Goblet cells), พาเนทเซลล์ (Paneth cell), นิวโรเอนโดครายน์เซลล์ (Neuroendocrine cell), สเตมเซลล์ (stem cell), และลิมโฟซัยท์ (Lympho cytes) ซึ่งเซลล์ทั้งหมดจะช่วยกันในการทำงานของเจจูนัม
ข. หน้าที่ (สรีรวิทยา) หลักของลำไส้เล็กส่วนกลางหรือเจจูนัม จะไม่ใช่การย่อยอาหารจากโมเลกุลใหญ่ให้เป็นโมเลกุลเล็กเหมือนลำไส้เล็กส่วนต้น แต่จะเป็นการดูดซึมอาหารที่ย่อยแล้วเข้าสู่กระแสเลือดของร่างกาย ได้แก่
- ดูดซึมโมเลกุลของอาหารพวกแป้งและน้ำตาลที่เรียกว่าคาร์โบไฮเดรตที่ถูกย่อยสลายจนกลายเป็นโมเลกุลขนาดเล็กที่เรียกว่าโมโนแซคคาไรด์ (Monosaccharide) เข้าสู่กระแสเลือด
- ดูดซึมโมเลกุลของอาหารพวกโปรตีนที่ถูกย่อยสลายจนกลายเป็นโมเลกุลขนาดเล็กที่เรียกว่ากรดอะมิโน (Amino acid) เข้าสู่กระแสเลือด
- ดูดซึมโมเลกุลของอาหารพวกไขมันที่ถูกย่อยสลายจนกลายเป็นโมเลกุลขนาดเล็กที่เรียกว่ากรดไขมัน (Fatty acid) เข้าสู่กระแสเลือด
- ดูดซึมสารพวกแร่ธาตุ/เกลือแร่ วิตามิน และน้ำเข้าสู่กระแสเลือด
- หลั่งสารพวกอิมมูโนโกลบูลิน (Immunoglobulin) โดยเฉพาะอิมมูโนโกลบูลิน เอ (Im munoglobulin A, IgA) ทำหน้าที่เกี่ยวกับภูมิคุ้มกันต้านทานโรคในทางเดินอาหาร
- สร้างฮอร์โมนบอมเบซิน (Bombesin), ซีครีติน (Secretin), และโคลีซีสโตไคนิน (Cho lecystokinin) เพื่อมีผลต่อการทำงานของกระเพาะอาหาร ถุงน้ำดี และท่อน้ำดี
- สามารถสร้างน้ำย่อยอาหารเพิ่มเติมได้ เช่น โปรตีเอส (Protease) ย่อยโปรตีน คาร์โบไฮเดรส (Carbohydrase) ย่อยอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาล แต่หน้าที่นี้จะไม่ใช่หน้าที่หลักเหมือนลำไส้เล็กส่วนต้น
3. ลำไส้เล็กส่วนปลาย หรือไอเลียม (Ileum): เป็นลำไส้เล็กส่วนปลายอยู่ระหว่างเจจูนัม (Jejunum) และลำไส้ใหญ่ส่วนซีกัม (Cecum) โดยจะไปสิ้นสุดที่บริเวณรอยต่อกับซีกัมที่เรียก ว่าไอลีโอซีกัลวาวล์ (Ileocecal valve)
ไอเลียมมีความยาวประมาณ 2-4 เมตร ลักษณะเป็นท่อยาวคดเคี้ยวไปมาในช่องท้องและยึดติดกับผนังช่องท้องด้านหลัง โดยแผ่นเนื้อเยื่อที่เรียกว่าเยื่อบุแขวนไส้หรือมีเซนเตอรี (Me sentery) ซึ่งมีเซนเตอรีนี้จะพบได้ตลอดความยาวของไอเลียม
ก. เนื้อเยื่อชั้นในสุดของไอเลียมจะเป็นชั้นที่เรียกว่า มิวโคซา (Mucosa) มีลักษณะเป็นรอยย่นตามแนวขวางของไอเลียมเพื่อเพิ่มพื้นที่ในการดูดซึมอาหาร ส่วนบนสุดของมิวโคซาจะมีการเรียงตัวของเซลล์ยื่นขึ้นไปเป็นลักษณะคล้ายนิ้วมือเรียกว่าวิลไล (Villi) เหมือนกับดูโอเดนัมและเจจูนัมแต่จะสั้นกว่าเจจูนัม ชั้นมิวโคซาจะมีส่วนที่เป็นรูลึกลงไปเรียกว่า คริป (Crypt) เหมือนกับเจจูนัมแต่จะไม่ลึกเท่าเจจูนัม
ถัดจากชั้นมิวโคซาจะป็นชั้นซับมิวโคซา (Submucosa) แยกจากชั้นมิวโคซาโดยชั้นกล้ามเนื้อบางๆเรียกว่า มัสคูลาริสมิวโคเซ (Muscularis mucosae) ชั้นซับมิวโคซานี้จะไม่มีต่อมบรุนเนอร์ (Brunner gland) เหมือนกับดูโอเดนัมแต่จะมี หลอดเลือด ท่อน้ำเหลือง เส้น ประสาท กลุ่มเซลล์ประสาทอัตโนมัติเรียกว่าไมสเนอร์เพลกซัส (Meissner plexus) ลักษณะพิเศษเฉพาะของไอเลียมคือ กลุ่มของเม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟซัยท์ (Lymphocytes) ที่เรียกว่าเพเยอร์สแพทช์ (Peyer’s patches, มีหน้าที่กำจัดเชื้อโรค และสร้างสารภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของลำไส้) อยู่เป็นกลุ่มๆกระจายทั่วไปในมิวโคซาของไอเลียม
ถัดจากชั้นซับมิวโคซา จะเป็นชั้นกล้ามเนื้อเรียบซ้อนกัน 2 ชั้น และชั้นนอกสุดจะเป็นชั้นที่เรียกว่าเซอโรซา (Serosa) เป็นชั้นที่คลุมด้วยแผ่นเยื่อบางๆเรียกว่า เปอริโตเนียม (Perito neum) และมีเซลล์ชื่อมีโซทีเลียม (Mesothelium) เป็นส่วนประกอบ
ชนิดของเซลล์ในชั้นมิวโคซาของไอเลียมคล้ายกับเซลล์ของดูโอเดนัมและเจจูนัม ได้แก่ เอนเตอโรซัยท์ (Enterocyte) , กอบเบลทเซลล์ (Goblet cells), พาเนทเซลล์ (Paneth cell), นิวโรเอนโดครายน์เซลล์ (Neuroendocrine cell) , สเตมเซลล์ (Stem cell), และลิมโฟซัยท์ (Lymphocytes)
ข. หน้าที่ (สรีรวิทยา) หลักของลำไส้เล็กส่วนปลายหรือไอเลียม จะไม่ใช่การย่อยอาหารจากโมเลกุลใหญ่เป็นโมเลกุลเล็กเหมือนลำไส้เล็กส่วนต้น แต่จะเป็นการดูดซึมอาหารที่ย่อยแล้วเข้าสู่กระแสเลือดของร่างกายคล้ายกับหน้าที่ของเจจูนัมข้างต้น แต่จะมีข้อแตกต่างบางประ การดังนี้
- การดูดซึมวิตามิน บี 12 จะเกิดที่ไอเลียมเป็นส่วนใหญ่
- ดูดซึมกรดน้ำดี (Bile acid, สารชนิดหนึ่งในน้ำดีที่ช่วยการย่อยอาหาร)
- สร้างสาร นิวโรเทนซิน (Neurotensin) ทำหน้าที่ลดการบีบตัวของกล้ามเนื้อเรียบของกระเพาะอาหาร
- สร้างสารเอนเตอโรไครนิน (Enterocrinin) ทำหน้าที่ลดการทำงานของลำไส้เล็กด้วยกันเอง
- ฮอร์โมนเอนเตอโรกลูเคกอน (Enteroglucagon) ทำหน้าที่ในการเพิ่มปริมาณเซลล์ของลำไส้เล็ก
กายวิภาคและสรีรวิทยาลำไส้ใหญ่:
ลำไส้ใหญ่ (Large bowel หรือ Large intestine) ประกอบด้วยลำไส้ส่วนต่างๆ คือ
- ไส้ติ่ง (Vermiform appendix)
- ซีกัม (Cecum)
- โคลอน(Colon)
- และทวารหนัก(Anus)
1.ไส้ติ่ง: เป็นอวัยวะที่มีลักษณะเป็นท่อ มีปลายตันห้อยลงมาจากลำไส้ใหญ่ส่วนซีกัม ใกล้กับรอยต่อระหว่างไอเลียมกับซีกัม
ขนาดของไส้ติ่งยาวได้ตั้งแต่ 6–20 เซนติเมตร และเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.8 เซนติ เมตร
ก. เนื้อเยื่อบุด้านในไส้ติ่ง เป็นชั้นมิวโคซาลักษณะคล้ายมิวโคซาของลำไส้ใหญ่โดยรวม คือไม่มีวิลไล (Villi) แต่ลักษณะพิเศษเฉพาะไส้ติ่งได้แก่ การมีกลุ่มของเม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟซัยท์อยู่เป็นกลุ่มๆในชั้นมิวโคซาเรียกว่าลิมฟอยด์ฟอลลิเคิล (Lymphoid follicles) ภายในรูของไส้ติ่ง มักจะมีอุจจาระเข้าไปอุดอยู่ และ รอบๆไส้ติ่งจะมีไขมันหุ้มอยู่เป็นบางส่วน
ข. หน้าที่ (สรีรวิทยา) ของไส้ติ่ง คือ
- หน้าที่เกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรค เพราะมีเม็ดเลือดขาวพวกลิมโฟซัยท์ในชั้นมิวโคซาจำนวนมาก ซึ่งเชื่อกันว่าไส้ติ่งเป็นอวัยวะที่มีส่วนในการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันต้าน ทานโรคในระยะที่อยู่ในครรภ์
- หน้าที่ในการเก็บรักษาแบคทีเรียที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายไว้ไม่ให้ถูกทำลายไปหมดจากการใช้ยาปฏิชีวนะ หรือจากพิษของแบคทีเรียชนิดที่ทำให้เกิดโรคท้องเสียที่ทำให้เกิดโรคติดเชื้อของลำไส้ได้
2. ซีกัม: เป็นส่วนของลำไส้ที่ต่อจากไอเลียม มีลักษณะคล้ายถุงโดย
ก. ด้านนอกของซีกัมจะถูกคลุมด้วยเนื้อเยื่อช่องท้องที่เรียกว่า เปอริโตเนียม (Peritoneum) ส่วนผนังด้านใน จะบุด้วยมิวโคซาที่ไม่มีวิลไลคล้ายกับมิวโคซาของลำไส้ใหญ่ทั่วไป ทั้งนี้ ผนังของซีกัมแบ่งเป็นชั้นๆตั้งแต่ มิวโคซา (อยู่ด้านในสุด) ชั้นต่อมา คือ ซับมิวโคซา ชั้นกล้ามเนื้อเรียบ และชั้น เซอโรซาอยู่นอกสุด
ข. หน้าที่ (สรีรวิทยา) ของซีกัม ไม่ใช่การย่อยอาหาร และไม่ใช่การดูดซึมสารอาหาร โดย หน้าที่ของซีกัมจะเหมือนกับลำไส้ใหญ่ส่วนอื่นๆ ได้แก่
- รับอุจจาระที่มาจากลำไส้เล็กไอเลียม (Ileum) ส่งต่อไปยังลำไส้ใหญ่ส่วนแอสเซนดิ้งโคลอน (Ascending colon)
- ดูดน้ำจากอุจจาระกลับเข้าสู่ร่างกาย
- ดูดเกลือในอุจจาระกลับเข้าสู่ร่างกาย
- ดูดวิตามินที่ละลายในไขมันเข้าสู่ร่างกาย เช่น วิตามิน เอ และ ดี
- แบคทีเรียในซีกัมและลำไส้ใหญ่จะย่อยสลายกากอาหารให้เป้นอุจจาระ
3.ลำไส้ใหญ่ส่วนโคลอน: คือ ลำไส้ส่วนที่ต่อมาจากซีกัม ลักษณะภายนอกจะเป็นปล้องๆ (Haustrum) มีกล้ามเนื้อเรียบ 3 เส้นวิ่งขนานกันในแนวยาวตลอดความยาวของโคลอน (Tenia coli) โดยไขมันรอบโคลอน (Pericolic fat) จะมีลักษณะเป็นติ่ง (Appendices epiploicae) ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของลำไส้ใหญ่แตกต่างจากลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่แบ่งออกเป็น 5 ส่วนตามตำ แหน่งภายในช่องท้องได้แก่
- แอสเซนดิงโคลอน (Ascending colon): ยาวประมาณ 20-25 ซม. เส้นผ่าศูนย์กลาง 3-5 ซม. เป็นส่วนลำไส้ใหญ่ที่ต่อมาจากซีกัม ด้านหน้าของลำไส้ส่วนนี้ปกคลุมด้วยเนื้อเยื่อเปอ ริโตเนียม ลำไส้ใหญ่แอสเซนดิงโคลอนจะอยู่ในช่องท้องด้านขวา จากซีกัมถึงบริเวณใต้ตับ แล้วจึงวกไปทางซ้าย กลายเป็นส่วนที่ขวางอยู่ในช่องท้อง เรียกว่า ทรานสเวิสโคลอน (Transverse colon) ต่อจากนั้น จะโค้งลงไปทางซ้าย เรียกว่า เฮปปาติคเฟลกเชอร์ (Hepatic flexure)
- ทรานสเวิสโคลอน (Transverse colon): ยาวประมาณ 45 ซม. เริ่มตั้งแต่บริเวณใต้ตับทางด้านขวาของช่องท้อง ที่เรียกว่า เฮปปาติคเฟลกเชอร์ (Hepatic flexure) โดยต่อมาจากแอสเซนดิงโคลอน วิ่งข้ามช่องท้องส่วนบนจนมาสิ้นสุดที่บริเวณม้ามทางด้านซ้ายของช่องท้องที่เรียกว่า สปลีนิคเฟลกเชอร์ (Splenic flexure) จากนั้นจะกลายเป็นเดสเซนดิ้งโคลอน (Descending colon) วกลงด้านล่างทางด้านซ้ายของช่องท้องต่อไป
- เดสเซนดิ้งโคลอน (Descending colon): ยาวประมาณ 15-20 ซม. เป็นลำไส้ใหญ่ส่วนที่ต่อมาจากทรานสเวิสโคลอน วิ่งลงมาทางด้านซ้ายของช่องท้องจนมาสิ้นสุดที่ลำไส้ใหญ่ส่วนที่เรียกว่าซิกมอยด์โคลอน (Sigmoid colon)
- ซิกมอยด์โคลอน (Sigmoid colon): ยาวประมาณ 40 ซม. ลักษณะขดเป็นรูปตัวอัก ษร S เป็นลำไส้ส่วนต่อมาจากเดสเซนดิ้งโคลอน และไปสิ้นสุดที่ลำไส้ใหญ่ส่วนที่เรียกว่า เรค ตัม (Rectum) โดยผนังของซิกมอยด์โคลอนจะมีชั้นกล้ามเนื้อเรียบหนากว่าลำไส้ใหญ่ส่วนอื่นทั้งหมดเพราะต้องออกแรงบีบอุจจาระ เมื่อถ่ายอุจจาระผนังของลำไส้ใหญ่ซิกมอยด์ จะแบ่งออกเป็นชั้นๆคล้ายกับลำไส้เล็ก ได้แก่ ชั้น
- มิวโคซา
- ซับมิวโคซา
- กล้ามเนื้อเรียบ
- และเซอโรซา (มีเฉพาะลำไส้ใหญ่บางส่วน)
- เรคตัม หรือ ไส้ตรง หรือ ลำไส้ตรง (Rectum): เป็นลำไส้ใหญ่ส่วนสุดท้าย ยาวประมาณ 12 ซม. เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2.5-3 ซม. ลักษณะเป็นท่อตรงต่อจากซิกมอยด์โคลอน (Sigmoid colon) และไปสิ้นสุดที่ทวารหนัก (Anus) เป็นส่วนที่อุจจาระถูกดูดน้ำออกไปจนกลายเป็นก้อนแข็ง ก่อนที่จะถูกขับถ่ายออกไปนอกร่างกาย ทั้งนี้ผนังของเรคตัม จะมีชั้นกล้ามเนื้อเรียบที่หนา เพื่อใช้ในการบีบไล่อุจจาระออกไปจากร่างกาย
อนึ่ง หน้าที่ (สรีรวิทยา) โดยรวมของลำไส้ใหญ่โคลอนทุกส่วน คือ จะคล้ายคลึงกับซีกัม ได้ แก่ การดูดซึมน้ำ แต่ไม่มีการดูดซึมสารอาหารอื่นๆ หน้าที่หลักของลำไส้ใหญ่โคลอน จะเกี่ยว กับการถ่ายอุจจาระเป็นส่วนใหญ่
4. ทวารหนัก: ลักษณะเป็นรูกลม ล้อมรอบด้วยกล้ามเนื้อที่มีลักษณะเป็นวง (Sphincter) ดูจากภายนอกจะมีลักษณะย่นๆคล้ายหูรูด เป็นส่วนปลายสุดของลำไส้ใหญ่ที่เปิดออกสู่ภายนอกร่างกาย
หน้าที่ (สรีรวิทยา) ของทวารหนัก คือ
- เป็นทางผ่านของอุจจาระออกนอกร่างกาย
- กล้ามเนื้อรอบรูเปิดจะทำหน้าที่ในการกลั้นอุจจาระ