กะบังลมหย่อน (Pelvic floor relaxation)
- โดย รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิง ประนอม บุพศิริ
- 26 เมษายน 2557
- Tweet
- กะบังลมหย่อนหมายถึงอะไร?
- สาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดกะบังลมหย่อนคืออะไร?
- กะบังลมหย่อนมีอันตรายหรือไม่?
- อาการของกะบังลมหย่อนมีอะไรบ้าง?
- ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อมีกะบังลมหย่อน?
- ควรพบแพทย์เมื่อไร?
- แพทย์วินิจฉัยกะบังลมหย่อนได้อย่างไร?
- รักษากะบังลมหย่อนอย่างไร?
- มีวิธีป้องกันกะบังลมหย่อนหรือไม่
- บรรณานุกรม
- การตั้งครรภ์ (Pregnancy)
- การคลอด การคลอดบุตร (Childbirth)
- ระยะหลังคลอด (Postpartum period)
- วัยหมดประจำเดือน (Menopause)
- โรคอ้วน และ น้ำหนักตัวเกิน (Obesity and overweight)
- ท้องผูก (Constipation)
- โรคปอด (Lung disease)
กะบังลมหย่อนหมายถึงอะไร?
กะบังลม เป็นส่วนของเอ็นและกล้ามเนื้อที่เชื่อมต่อกันเป็นแผ่นคล้ายร่ม ในมนุษย์มีอยู่ 2 แห่ง คือ
- กะบังลมด้านบน (Thoracic diaphragm)’ ที่กั้นระหว่างช่องอกและช่องท้อง อยู่ใต้ปอด และอยู่เหนือตับและกระเพาะอาหาร ซึ่งมีการเคลื่อนไหวขึ้นลงตามการหายใจเข้าและออก
- ส่วน ‘กะบังลมด้านล่าง (Pelvic diaphragm)’ เป็นแผ่นกล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่รองรับอวัยวะในอุ้งเชิงกราน ทั้งนี้ในบทความนี้ จะพูดถึงกะบังลมส่วนล่างเท่านั้น
กะบังลมหย่อน (Pelvic floor relaxation) เป็นคำพูดกว้างๆ บางคนจะเข้าว่า กะบังลมหย่อน หมายถึง มดลูกหย่อน จริงๆแล้วมดลูกหย่อนเป็นผลมาจากกะบังลมหย่อน ซึ่งโดยทั่วไปหากไม่มีแรงดันในช่องท้องมากผิดปกติ กะบังลมก็จะอยู่ในท่าปกติ แต่หากมีแรงดันในช่องท้องเพิ่มมากและเป็นอยู่นานเรื้อรัง จะทำให้กล้ามเนื้อที่ประกอบกันเป็นกะบังลมยืดออก ทำให้กะบังลมหย่อนลงมามากกว่าปกติได้ และจะไปมีผลทำให้อวัยวะต่างๆในช่องเชิงกราน/อุ้งเชิงกราน เช่น มดลูก ผนังช่องคลอด หย่อนลงมาได้ รวมเรียกเป็น ‘Pelvic organ prolapsed’
ภาวะกะบังลมหย่อน เป็นภาวะพบบ่อย โดยพบบ่อยขึ้นเรื่อยๆตามอายุสตรีที่เพิ่มขึ้น
สาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดกะบังลมหย่อนคืออะไร?
สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดกะบังลมหย่อน คือ
- การคลอดบุตรหลายคน การคลอดยาก ทำให้กะบังลมหย่อน เนื่องจากมารดาต้องมีการเบ่งคลอดอยู่นาน มีการเพิ่มความดันในช่องท้อง นอกจากนั้นบางครั้งที่ทารกในครรภ์ตัวโตมาก จะทำให้กล้ามเนื้อที่ใช้ในการคลอด (เช่น ช่องคลอด) ฉีกขาดหรือแยกจากกัน เส้นประสาทถูกทำลาย ทำให้แรงยึดของกะบังลมลดลง
- อายุมาก สตรีวัยหมดประจำเดือน มีการขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน ตามปกติฮอร์โมนเอส โตรเจนจะเพิ่มแรงยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ หากขาดฮอร์โมนนี้จะทำให้ความยืดหยุ่นเสียไป เสียการคงรูปได้ง่าย
- การไอเรื้อรัง จะทำให้เกิดการเพิ่มความดันในช่องท้อง
- ภาวะท้องผูก โดยเฉพาะท้องผูกเรื้อรัง ต้องเบ่งถ่ายมากๆ จะทำให้เกิดการเพิ่มความดันในช่องท้อง
- ภาวะอ้วน ทำให้มีแรงดันในช่องท้องมากกว่าคนปกติ
กะบังลมหย่อนมีอันตรายหรือไม่?
หากมีกะบังลมหย่อนไม่มาก มักไม่มีอันตรายรุนแรง เพียงแต่อาจรู้สึกหน่วงๆ (รู้สึกเหมือนมีอะไรตึงๆ) ในช่องคลอด ก่อให้เกิดความรำคาญ
ในกรณีที่มีกะบังลมหย่อนมาก มักมีการหย่อนของมดลูกลงมาร่วมด้วย หากมีการหย่อนของกะบังลมทางด้านหน้า จะทำให้กระเพาะปัสสาวะย้อยลงไปในช่องคลอดมากขึ้น ทำให้ปัสสาวะค้าง ปัสสาวะไม่สุด มีโอกาสติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะ (กระเพาะปัสสาวะอักเสบ) ได้ง่าย ในรายที่รุนแรงมีการพับของท่อไต จะส่งผลทำให้ไตบวม ทำให้เกิดไตวายได้ ในกรณีที่กะ บังลมหย่อนไปทางด้านหลัง จะมีผลทำให้ท้องผูก ถ่ายลำบาก ส่วนมดลูกที่หย่อนอาจทำให้ปัสสาวะไม่สะดวกได้ หรือทำให้การขับถ่ายปัสสาวะผิดปกติ เช่น กลั้นปัสสาวะไม่ได้
อาการของกะบังลมหย่อนมีอะไรบ้าง?
อาการของกะบังลมหย่อน ขึ้นกับความรุนแรงของกะบังลมหย่อน ซึ่งมีระดับน้อย ปานกลาง และมาก อาการที่พบได้แก่
- ปวดหน่วงท้องน้อย พบได้บ่อยมาก เกิดเนื่องจากที่การดึงรั้งกล้ามเนื้อให้ยืดขยาย จึงทำให้มีอาการปวดหน่วง
- ปวดหน่วงในช่องคลอด เป็นอาการที่ผู้ป่วยมาปรึกษาแพทย์มาก
- รู้สึกว่ามีก้อนในช่องคลอด ซึ่งก้อนที่ว่านี้ อาจเป็นผนังช่องคลอดด้านหน้าที่หย่อน ซึ่งเป็นจากผนังกระเพาะปัสสาวะหย่อนลงมา หรือเป็นผนังช่องคลอดด้านหลังที่ยื่นเข้าไปในช่องคลอด ซึ่งเป็นจากผนังของลำไส้ใหญ่ยืดขยายหย่อนคล้อย หรืออาจเป็นมดลูกที่หย่อนลงมาได้ เนื่องจากมีการยืดหย่อนของผนังช่องคลอดด้านหน้าหรือด้านหลัง ผู้ป่วยบางคนจะมีอาการปวดหน่วงในช่องคลอดร่วมด้วย บางคนจะรู้สึกรำคาญที่มีก้อน อย่างไรก็ตามก้อนเหล่านี้มักสามารถใช้นิ้วดันกลับเข้าไปในช่องคลอดได้ แต่มักจะออกมาอีกเมื่อเดิน หรือเบ่ง หรือออกแรงยกของหนัก
- มีมดลูกหย่อน ซึ่งอาจเป็นการสัมผัสได้ด้วยนิ้ว หรือหากหย่อนมาก ผู้ป่วยก็จะสามารถมองเห็นได้เลยว่า มีก้อนที่ปากช่องคลอด อาการปวดบางครั้งอาจมีได้
- กลั้นปัสสาวะไม่ได้ เนื่องจากมีมดลูกหย่อน ทำให้กระบวนการถ่ายปัสสาวะเปลี่ยนไป การปิดเปิดของหูรูดท่อปัสสาวะเปลี่ยนแปลง ทำให้บางครั้งมีปัสสาวะเล็ด ปัสสาวะราดได้
- ปัสสาวะไม่ออก ในกรณีที่มดลูกหย่อนมาก และมีการพับของท่อปัสสาวะ
- กระเพาะปัสสาวะอักเสบบ่อยๆ ทำให้ปัสสาวะแสบขัด เนื่องจากมีปัสสาวะค้างมากจากที่ผนังกระเพาะปัสสาวะหย่อนยาน ทำให้เกิดการติดเชื้อง่าย
- ตกขาว จากการมีแผลในช่องคลอด หรือที่มดลูกที่หย่อนลงมา
- เลือดออกทางช่องคลอดจากการมีแผลในช่องคลอด หรือเป็นแผลภายนอกที่เกิดจากการครูดของก้อนต่างๆในช่องคลอด
- ถ่ายอุจจาระลำบาก
- มีปัญหาเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ เช่น อาการเจ็บเมื่อมีเพศสัมพันธ์
ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อมีกะบังลมหย่อน?
การดูแลตนเองเมื่อมีกะบังลมหย่อน คือ
- งดหรือละเว้นการยกของหนักๆ
- รักษา ควบคุม ไม่ให้มีภาวะไอเรื้อรัง ท้องผูกเรื้อรัง
- ฝึกบริหารกล้ามเนื้อกะบังลมโดยการขมิบช่องคลอด (Pelvic floor muscle exercise or Kegel exercise) ขมิบ 20-30 ชุด ต่อวัน วันละ 3 ครั้ง โดย 1 ชุดประกอบด้วยการขมิบช่องคลอดแล้วนับ 1ไปจนถึง 10 (ใช้เวลาประมาณ 10 วินาที) แล้วผ่อนคลายกล้ามเนื้อออกแล้วจึงเริ่มทำในรอบถัดไป ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ การบริหารกล้ามเนื้อนี้ต้องทำอย่างสม่ำเสมอและใช้เวลาอย่างน้อย 3 เดือน จึงจะเริ่มเห็นผล
ควรพบแพทย์เมื่อไร?
สตรีที่คลอดบุตรทุกราย มีโอกาสที่จะมีกะบังลมหย่อน แต่ความรุนแรงต่างกัน ขึ้นอยู่กับการดูแลรักษาตนเอง การคลอดเป็นปัจจัยเสี่ยงมากที่สุดที่ทำให้เกิดกะบังลมหย่อน ช่องคลอดหย่อน และมดลูกหย่อนตามมา ส่วนสตรีที่ไม่เคยคลอดก็มีโอกาสกะบังลมหย่อนได้ หากต้องออกแรงยกของหนักเป็นประจำ และตามอายุที่เพิ่มขึ้นก็เป็นปัจจัยเสี่ยง แต่อาการอาจน้อยกว่า ดังนั้นการป้องกันหรือชะลอความเสื่อมเป็นสิ่งจำเป็นที่สุด สตรีทุกคนควรฝึกขมิบช่องคลอดเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกะบังลม
แต่หากสตรีรู้สึกว่ามดลูกหย่อน หรือมีก้อนผิดปกติในช่องคลอด กระเพาะปัสสาวะอักเสบบ่อยๆ ปัสสาวะผิดปกติ ปวดช่องคลอด ก็ควรไปพบแพทย์/สูตินรีแพทย์
แพทย์วินิจฉัยกะบังลมหย่อนได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยภาวะกะบังลมหย่อนได้จาก ประวัติอาการ ประวัติการคลอด ประวัติการผ่า ตัดช่องท้องและ/หรืออุ้งเชิงกราน ประวัติโรคประจำตัวต่างๆ การตรวจร่างกาย การตรวจภายใน อาจมีการตรวจทางทวารหนัก การตรวจปัสสาวะ นอกจากนั้นอาจมีการตรวจสืบค้นอื่นๆเพิ่มเติม เช่น การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์อุ้งเชิงกราน และ/หรือการตรวจเทคนิคเฉพาะอื่นๆ ทั้งนี้ขึ้น กับอาการผู้ป่วยและข้อวินิจฉัยเบื้องต้นของแพทย์ เช่น การส่องกล้องกระเพาะปัสสาวะ การตรวจสมรรถภาพกล้ามเนื้อของกระเพาะปัสสาวะ และ/หรือของทวารหนัก เป็นต้น
รักษากะบังลมหย่อนอย่างไร?
การรักษากะบังลมหย่อน มีหลายวิธีขึ้นกับอายุผู้ป่วย ความรุนแรงของโรค ความต้องการมีบุตร ได้แก่
- ใช้การออกกำลังกายหรือบริหารกล้ามเนื้อกะบังลม/การขมิบช่องคลอด (Pelvic floor muscle exercise or Kegel exercise) ตามที่กล่าวมาข้างต้น ในกรณีที่มีการหย่อนไม่รุน แรง ไม่ต้องใช้ยา
- ใช้ยา เช่น การใช้ยาฮอร์โมนเอสโตรเจนรับประทานหรือทาบริเวณช่องคลอด ในกรณีมีอาการหย่อนไม่มาก
- ใส่อุปกรณ์ช่วยพยุงอวัยวะอุ้งเชิงกราน (Vaginal pessary) ซึ่งได้ผลดี สะดวกกับผู้ป่วยในการใส่และถอดเองได้ เหมาะที่จะรักษาในผู้ป่วยมีโรคประจำตัว หรือมีข้อห้ามในการผ่าตัด เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ขั้นรุนแรง
- ผ่าตัด ในกรณีที่หย่อนมาก อาจเป็นการผ่าตัดเฉพาะช่องคลอด หรือการตัดมดลูกร่วมด้วย
มีวิธีป้องกันกะบังลมหย่อนหรือไม่
การป้องกันกะบังลมหย่อน เป็นสิ่งที่สำคัญและดีที่สุด ยิ่งถ้ามีการป้องกันตั้งแต่อายุน้อย ความสำเร็จก็จะมากขึ้น วิธีที่จะยืดเวลาไม่ให้กะบังลมหย่อนเร็ว ได้แก่
- งดหรือละเว้นการยกของหนัก
- ฝึกการขับถ่าย ไม่ให้มีภาวะท้องผูก
- ป้องกัน รักษา ควบคุม การไอเรื้อรัง
- ฝึกขมิบช่องคลอดเป็นประจำ สามารถทำได้ตั้งแต่อายุยังน้อยไม่ต้องต้องรอให้อายุมากจึงมาฝึกขมิบ สามารถทำได้ตั้งแต่ช่วงตั้งครรภ์ไปจนถึงหลังคลอด และควรทำเป็นประจำไปเรื่อยๆตลอดไป
- หลีกเลี่ยงการมีบุตรที่มากเกินไป
บรรณานุกรม
1. http://emedicine.medscape.com/article/276259-overview [2014,April6].
2. Richter HE, Edward Varner R. Pelvic organ prolapsed. In: Berek JS, editor. Berek & Novak's Gynecology, 14th Edition.2010.