กล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรงครึ่งซีก: กายภาพบำบัด (Physical therapy for Bell’s Palsy)
- โดย กภ.ธีรวิทย์ วิโรจน์วิริยะกุล
- 16 กันยายน 2560
- Tweet
- กล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรงครึ่งซีกคืออะไร?
- อาการของโรคกล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรงครึ่งซีกมีอะไรบ้าง?
- การวินิจฉัยทางกายภาพบำบัดของกล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรงครึ่งซีกทำได้อย่างไร?
- การฟื้นฟูทางกายภาพบำบัดมีอะไรบ้าง?
- การฟื้นฟูและดูแลตนเองที่บ้านทำได้อย่างไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- โรคอัมพาตเบลล์ หรือ โรคใบหน้าเบี้ยว (Bell’s palsy)
- โรคสมอง โรคทางสมอง (Brain disease)
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ (Infectious disease)
- โรคหูคอจมูก โรคทางหูคอจมูก โรคระบบหูคอจมูก (ENT disease)
- โรคกล้ามเนื้อ โรคระบบกล้ามเนื้อ (Muscle disease)
- การตรวจทางหูคอจมูก การตรวจทางอีเอ็นที (Clinical examination of Ear Nose Throat or Clinical ENT examination)
- วิธีตรวจวินิจฉัยโรคระบบประสาท ตอน1:การตรวจร่างกาย (Neurological Examination)
- โรคเส้นประสาท (Peripheral neuropathy)
กล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรงครึ่งซีกคืออะไร?
โรคกล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรงครึ่งซีก หรือโรคอัมพาตเบลล์ (Bell’s Palsy) ถูกตั้งชื่อตามนายแพทย์ Charles Bell ผู้อธิบายถึงสาเหตุและลักษณะของอาการนี้เป็นคนแรกตั้งแต่ช่วงต้นศตวรรษที่ 19 โดยมีอาการสำคัญคือ มีการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อใบหน้าครึ่งซีก ทำให้ใบหน้าข้างนั้นไม่สามารถ ยักคิ้ว ขยับมุมปาก และหลับตาได้ ซึ่งอาจเกิดจากการอักเสบหรือติดเชื้อของเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 ส่วนมากเกิดอย่างเฉียบพลัน และไม่ทราบสาเหตุ โดยทั่วไปเชื่อว่าสัมพันธ์กับเชื้อเริม งูสวัด การตั้งครรภ์ และโรคเบาหวาน และสามารถเกิดซ้ำได้ทั้งใบหน้าด้านตรงข้ามและด้านเดิม
อาการของโรคกล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรงครึ่งซีกมีอะไรบ้าง?
อาการของโรคกล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรงครึ่งซีกโดยทั่วไป มักพบว่า ผู้ป่วยมีการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อใบหน้าซีกใดซีกหนึ่งอย่างเฉียบพลัน มักเกิดภายในไม่กี่ชั่วโมง หรือหลังตื่นนอน (ผู้ป่วยมักมีประวัติพักผ่อนน้อย) โดยรอยย่นด้านข้างจมูกด้านที่เกิดอาการจะหายไป รวมถึงอาการผิดปกติต่างๆที่เกิดกับใบหน้าด้านนั้น เช่น หลับตาไม่สนิท คิ้วตก มุมปากตก น้ำลายไหลที่มุมปาก นอกจากนี้ยังพบว่า ส่วนมากมีอาการหูอื้อ ปวดหู กล้ามเนื้อหน้ากระตุก น้ำตาไหลตลอดเวลาในข้างที่มีกล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรงอีกด้วย และอาการอื่นๆที่อาจพบร่วมด้วยได้ เช่น อาการลิ้นชาทำให้พูดไม่ชัด รับรู้รสของอาหารน้อยลง และกลืนลำบาก ซึ่งอาการเหล่านี้ก็พอมีให้พบได้ในผู้ป่วยบางรายด้วย
ทั้งนี้ อาการที่พบได้บ่อยของโรคกล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรงครึ่งซีก คือ
1. มีการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อใบหน้าซีกใดซีกหนึ่งอย่างฉับพลัน หรืออาจจะเกิดพร้อมกันทั้ง 2 ข้างได้แต่พบได้น้อยกว่าการเกิดข้างเดียว ความรุนแรงของการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อใบหน้า พบได้ทั้ง ตั้งแต่อ่อนแรงจนไม่สามารถขยับกล้ามเนื้อเพื่อแสดงสีหน้าได้เลย หรืออาจอ่อนแรงเพียงเล้กน้อย เช่น ปิดเปลือกตา/หนังตาได้แต่ไม่สนิท มุมปากตกเล็กน้อย ซึ่งส่งผลให้เวลาดื่มน้ำจะมีน้ำไหลออกมาที่มุมปากด้านที่กล้ามเนื้ออ่อนแรง โดยจะมีอาการคล้ายกับการอ่อนแรงของโรคอัมพาตครึ่งซีกทั้งร่างกาย (Stroke) แต่กล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรงครึ่งซีกหรือ Bell’s Palsy นั้นจะมีการอ่อนแรงพบได้แต่ที่เฉพาะบริเวณใบหน้าเท่านั้น
2. ในบางราย ผู้ป่วยอาจมีอาการผิดปกติทางหูในข้างที่มีการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อใบหน้า เช่น หูอื้อ หูไม่ได้ยิน/หูดับ หรือ การได้ยินน้อยลง
3. อาจมีอาการปวดบริเวณกกหู หรือที่บริเวณใกล้เคียงกับโหนกแก้ม หรือทั้งครึ่งใบหน้าด้านที่อ่อนแรงได้ ทั้งนี้ระดับความรุนแรงของอาการปวดจะไม่ขึ้นกับความรุนแรงของการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อใบหน้า และผู้ป่วยบางราย อาจไม่พบอาการปวดนี้
4. อาจมีความอ่อนแรงของกล้ามเนื้อลิ้นร่วมด้วย ซึ่งทำให้พูดไม่ชัดที่อาจเป็นเพียงเป็นบางคำ หรือทุกคำ นอกจากนี้ในผู้ป่วยบางรายอาจพบความผิดปกติของการรับรู้รสชาติอาหาร รู้สึกลิ้นชา น้ำลายไหลมากหรือไหลน้อยผิดปกติ และถ้ามีอาการอ่อนแรงของลิ้นมาก อาจทำให้มีความยากลำบากในการกลืนอาหารด้วย เช่น กลืนลำบาก หรือสำลักอาหาร/น้ำดื่มง่าย
5. อาการอื่นๆที่พบได้น้อยกว่าอาการในทั้ง 4 ข้อที่ได้กล่าวแล้ว เช่น ตาข้างที่มีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อใบหน้า จะมีน้ำตาไหลตลอดเวลา ใบหน้าข้างที่อ่อนแรงมีการเกร็งหรือกระตุกบ่อยครั้ง
การวินิจฉัยทางกายภาพบำบัดของกล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรงครึ่งซีกทำได้อย่างไร?
โดยมากผู้ป่วยกล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรงครึ่งซีก มักมาพบแพทย์ด้านระบบประสาท หรือแพทย์ด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู ก่อนมาพบนักกายภาพบำบัด อีกทั้งผู้ป่วยบางรายอาจได้รับการวินิจฉัยด้วยการตรวจการทำงานของเส้นประสาทด้วยไฟฟ้า/การตรวจคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ(Electromyography,EMG) ดังนั้นการวินิจฉัยทางกายภาพบำบัดจึงจะมุ่งเน้นไปที่ การซักประวัติ/การสอบถามประวัติที่จะเกี่ยวข้องกับด้านการทำกายภาพบำบัด/กายภาพฯ การตรวจกำลังของกล้ามเนื้อใบหน้า การตรวจการรับความรู้สึกของผิวหนังใบหน้า และความสามารถในการแสดงสีหน้าในชีวิตประจำวัน โดยใช้แบบประเมินต่างๆทางด้านกายภาพฯ เพื่อวางแผนการรักษา และให้การรักษาทางกายภาพบำบัดอย่างเหมาะสมต่อไป ทั้งนี้หากผู้ป่วยมีปัญหาด้านการกลืนร่วมด้วยมาก อาจต้องส่งต่อผู้ป่วยเพื่อไปปรึกษานักกิจกรรมบำบัดต่อไปด้วย
โดยรายละเอียดของการวินิจฉัยทางกายภาพบำบัดคร่าวๆ มีดังนี้
1. การซักประวัติ: ทำโดยการซักถามข้อมูลจากผู้ป่วย เพื่อระบุสาเหตุความเป็นไปได้ของอาการอ่อนแรง การคัดกรองซ้ำเพื่อระบุว่าไม่ได้มีอาการอ่อนแรงของร่างกายส่วนอื่นๆ ประเมินความยากลำบากในการกลืนและในการรับประทานอาหาร และการซักถามถึง ข้อห้าม ข้อควรระวังต่างในการทำกายภาพฯ เช่น โรคประจำตัว หรือโรคติดเชื้อทางการสัมผัสเช่น เริม งูสวัด
2. การตรวจกำลังของกล้ามเนื้อในหน้ามัดต่างๆ เริ่มจากการสังเกตอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อใบหน้าแต่ละมัดกล้ามเนื้อ จากนั้นอาจเริ่มให้ผู้ป่วยมีการพยายามขยับใบหน้า ทำสีหน้าตามคำสั่งของนักกายภาพฯ และใช้มือของนักกายภาพบำบัดประเมิณกำลังของกล้ามเนื้อมัดต่างๆบนใบหน้า(Mannual facial muscle testing)ผู้ป่วย การตรวจการรับความรู้สึกของใบหน้านั้น นักกายภาพบำบัดอาจให้ผู้ป่วยหลับตาแล้วใช้มือ หรือ สำลี หรือวัสดุปลายแหลม ทดสอบบริเวณใบหน้าข้างที่มีอากาารอ่อนแรง การตรวจนี้ก็เพื่อทดสอบการทำงานของเส้นประรับความรู้สึกของหน้า ซึ่งก็ คือ เส้นประสาท สมองคู่ที่ 5 (CN V; Trigeminal nerve) เพื่อรับทราบถึงปัญหาของการรับความรู้สึก เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการระมัดระวังขณะนักกายภาพฯให้การรักษา เพราะบางวิธีรักษาจำเป็นต้องใช้ อุณหภูมิ เช่น ความร้อน ความเย็น การใช้แรงต้าน และการสัมผัสผิวหน้าซีกที่อ่อนแรงด้วย
3. การตรวจความสามารถในการแสดงสีหน้าในชีวิตประจำวัน โดยมากนิยมใช้แบบประเมิณที่ชื่อว่า House-Brackmann Facial Nerve Grading System (การตรวจความรุนแรงของอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง)ที่ประเมิณความรุนแรงของอาการ/การแสดงสีหน้าจากการสังเกตของนักกายภาพฯ การขอให้ผู้ป่วยแสดงสีหน้าต่างๆ การคลำใบหน้า และการให้แรงต้านจากมือนักกายภาพฯต่อกล้ามเนื้อใบหน้าบางมัด โดยการตรวจใช้เวลาสั้น ๆ ประมาณ 5 นาที ซึ่งผลการประเมิณแบ่งเป็น 6 ระดับตามความรุนแรงของอาการอ่อนแรง ผลของการประเมิณนี้ มีประโยชน์ในแง่ของการประเมิณผลของการรักษา โดยเมื่อให้การรักษาไปสักระยะหนึ่ง จะมีการประเมิณอาการเหล่านี้ซ้ำ เพื่อการพยากรณ์โรค/การพยากรณ์แนวโน้มของอาการว่า ดีขึ้นมาน้อยเพียงไร
การฟื้นฟูทางกายภาพบำบัดมีอะไรบ้าง?
การฟื้นฟูทางกายภาพบำบัดในโรคกล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรงครึ่งซีกที่นำมาใช้รักษาบ่อย ได้แก่
1. การกระตุ้นไฟฟ้าเพื่อรักษาสภาพของกล้ามเนื้อใบหน้า (Electrical Stimulation) โดยชนิดของไฟฟ้า และความเข้มของกระแสไฟฟ้าที่เลือกใช้ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ ส่วนมากนิยมใช้ไฟฟ้าชนิด Interrupted Direct Current (IDC) และ Faradic โดยนักกายภาพมักให้ผู้ป่วยอยู่ในท่าทางที่ผ่อนคลาย เช่น นอนหงาย จากนั้นเริ่มเช็ดทำความสะอาดหน้าด้วยแอลกอฮอล์ หรือ น้ำอุ่น ก่อนจะใช้ตั้วกระตุ้นไฟฟ้าขนาดประมาณเท่าด้ามปากกา กระตุ้นไปยังจุดที่แขนงประสาทสมองคู่ที่ 7 แทงออกมาเลี้ยงกล้ามเนื้อใบหน้ามัดที่อ่อนแรงนั้นๆ(Motor point) โดยกล้ามเนื้อที่อ่อนแรงแต่ละมัดจะถูกกระตุ้นให้กระตุก 30-100 ครั้ง แล้วแต่ความรุนแรงของอาการ ขณะให้การรักษาวิธีนี้ ผู้ป่วยจะรู้สึกว่ากล้ามเนื้อมัดนั้นๆกระตุกเป็นจังหวะ ให้ผู้ป่วยพยายามออกแรงขยับกล้ามเนื้อนั้นๆตามจังหวะกระตุกนั้นร่วมด้วย ซึ่งระหว่างรักษา ผู้ป่วยอาจรู้สึกเจ็บเบาๆ แต่ถ้ามีอาการ แสบ คัน หรือเจ็บจนทนไม่ไหว ต้องรีบแจ้งนักกายภาพบำบัดทันที โดยทั่วไป ระยะเวลาการกระตุ้นกล้ามเนื้อด้วยไฟฟ้านี้ จะใช้เวลาไม่เกิน 20 นาที ต่อครั้ง ซึ่งนักกายภาพฯอาจแนะนำให้ทำ 3-5 ครั้งต่อสัปดาห์ แล้วแต่ความรุนแรงของการอ่อนแรงจนผลการกระตุ้นน่าพอใจ การกระตุ้นด้วยไฟฟ้านี้จะทำให้กล้ามเนื้อที่อ่อนแรงได้ทำงาน และชะลอการฝ่อลีบจากการไม่ได้ใช้งานลงในกล้ามเนื้อที่ไม่สามารถขยับได้เลย เพื่อรอการฟื้นฟูของแขนงประสาทที่มาเลี้้ยงกล้ามเนื้อมัดนั้นๆ และเพื่อช่วยเพิ่มความแข็งให้กับกล้ามเนื้อมัดที่พอขยับได้บ้างด้วย หลังการกระตุ้นไฟฟ้าอาจพบรอยแดงเล็กๆ บริเวณที่วางขั้วกระตุ้นไฟฟ้า ซึ่งรอยนี้จะหายไปเองภายในไม่กี่ชั่วโมง
ข้อห้ามและข้อควรระวังของการรักษาวิธีนี้ คือ ในผู้ป่วยที่มีการอักเสบของผิวหนังมากๆ มีแผลเปิด มีการรับความรู้สึกลดลง และ มีการติดเชื้อที่แพร่ได้ด้วยการสัมผัสที่อยู่ในระยะแพร่เชื้อได้
2. กระตุ้นกล้ามเนื้อใบหน้าด้วยการสัมผัส (Tactile stimuli) หรือด้วยอุณหภูมิต่ำๆ เช่น ความเย็นจากน้ำแข็ง (Cold stimuli) ซึ่งการกระตุ้นโดยวิธีการสัมผัสนี้ นักกายภาพบำบัดอาจจะใช้มือสัมผัสเพื่อให้การกระตุ้นด้วยวิธีต่างๆ(Sensory input) เช่น การเขี่ยเบาๆที่กล้ามเนื้อมัดที่อ่อนแรง(Traping)เพื่อกระตุ้นให้กล้ามเนื้อมัดนั้นมีการเคลื่อนไหว พร้อมกับให้ผู้ป่วยพยามๆออกแรงทำการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อมัดนั้นไปพร้อมๆกันด้วย โดยอาจทำวิธีนี้กับกล้ามเนื้อแต่ละมัดนั้นๆ 10-30 ครั้ง ขึ้นกับความรุนแรงของการอ่อนแรง ส่วนการกระตุ้นกล้ามเนื้อใบหน้าด้วยอุณหภูมิต่ำๆ(Cold stimuli) อาจใช้น้ำแข็งกดไปที่ Motorpoint ของกล้ามเนื้อแต่ละมัดที่อ่อนแรง 3-5 นาที ไปเรื่อยๆจนครบทุกมัด หรือใช้น้ำแข็งลูบแบบเร็วๆไปตลอดความยาวของกล้ามเนื้อมัดที่อ่อนแรงในทิศทางที่กระตุ้นให้เกิดการหดตัว มัดละ 10-30 ครั้ง ขึ้นกับความรุนแรงของการอ่อนแรงเช่นกัน การกระตุ้นแบบนี้ ก็เพื่อให้กล้ามเนื้อแต่ละมัดนั้นๆมีการหดตัวเพื่อชะลอการฝ่อนลีบ และเพื่อเพิ่มความตึงตัว (Tone) ของกล้ามเนื้อที่อ่อนแรงด้วย โดยอาจแนะนำให้มาพบนักกายภาพบำบัดเพื่อกระตุ้นแบบนี้ควบคู่ไปกับการกระตุ้นไฟฟ้าสัปดาห์ละ 3-5 ครั้ง จนกว่าอาการจะดีขึ้นจนน่าพอใจ และแนะนำให้ไป ทำเองต่อที่บ้านได้
การกระตุ้นด้วยวิธีนี้ ต้องระวังเป็นพิเศษในผู้ป่วยรายที่มีความบกพร่องของการรับรู้ความรู้สึก เพราะผิวหนังที่สัมผัสน้ำแข็งอาจจะะถูกน้ำแข็งกัดได้ (Frostbite) นอกจากนั้น ข้อห้ามและข้อควรระวัง จะเหมือนกับ การกระตุ้นไฟฟ้า ดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ การกระตุ้นกล้ามเนื้อด้วยไฟฟ้า
3.การประคบด้วยความร้อน (Heat therapy): นอกจากเพื่อเพิ่มการไหลเวียนของเลือดแล้ว ยังช่วยให้เกิดการผ่อนคลายของกล้ามเนื้อใบหน้าด้วย โดยลักษณะจะเป็นแผ่นประคบร้อน (Heat pack) ที่ทำให้อุณหภูมิของเนื้อเยื่อเปลี่ยนไปเป็นประมาณ 40-45 องศาเซลเซียล(Celsius)จากอุณหภูมิปกติประมาณ 37 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่ใช้ในการรักษา ทั้งนี้จะห่อแผ่นประคบด้วยผ้าขนหนู และใช้ระยะเวลาประคบ 15-20 นาที ประคบบริณใบหน้าซีกที่อ่อนแรง นักกายภาพบำบัดยังมักแนะนำให้ผู้ป่วยประคบร้อนที่บ้านวันละ1-2ครั้งด้วย ข้อห้ามและข้อควรระวังเหมือนกับการฟื้นฟูด้วยกระกระตุ้นกล้ามเนื้อด้วยไฟฟ้า ดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ การกระตุ้นกล้ามเนื้อด้วยไฟฟ้า
4. การออกกำลังกล้ามเนื้อใบหน้าด้วยเทคนิคต่างๆให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคน (Individual exercise therapy): หลังจากการประเมิณการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อใบหน้ามัดต่างๆล้ว นักกายภาพจะให้การรักษาด้วยการออกกำลังกล้ามเนื้อแต่ละมัดตามความสามารถในการทำงานของกล้ามเนื้อมัดนั้นๆ ซึ่งการออกกำลังกล้ามเนื้อนี้ เป็นวิธีการที่สำคัญที่สุด เพราะจะช่วยกระตุ้นกล้ามเนื้อให้ทำงาน ชะลอการฝ่อลีบของกล้ามเนื้อใบหน้าที่อ่อนแรง เพื่อรอการฟื้นฟูของแขนงเส้นประสาทที่ทำให้เกิดอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง เช่น ถ้ากล้ามเนื้อที่ใช้เลิกคิ้วมีการอ่อนแรง อาจให้ผู้ป่วยพยายามเลิกคิ้วทั้งสองข้างขึ้นลง โดยข้างที่อ่อนแรงจะถูกเขี่ยเพื่อกระตุ้นให้ทำงานเพิ่มขึ้นเบาๆ ส่วนข้างที่ปกตินั้นจะเกิดแรงต้านร่วมไปด้วย (Kabat method of exercise) ซึ่งให้ทำแต่ละมัด 10-30 ครั้ง ทำซ้ำกับกล้ามเนื้ออื่นๆ และแนะนำให้กลับไปทำเองที่บ้านด้วยในทุกวัน วันละ1-2 รอบ
5. การฝึกให้กล้ามเนื้อใบหน้ากลับมาทำงานได้เหมือนเดิมในชีวิตประจำวัน (Facial expression training) ในกรณีที่มีการทำงานของกล้ามเนื้อใบหน้าบกพร่องจนทำให้ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ นักกายภาพบำบัดจะออกแบบการออกกำลัง กล้ามเนื้อให้เหมาะสมกับอาการนั้นๆ ให้ผู้ป่วยกลับไปฝึกด้วยตัวเองที่บ้านทุกวัน วันละ 1-3 ครั้ง เช่น ถ้าไม่สามรถดูน้ำจากหลอดดูดได้ ก็จะให้ฝึกดูดน้ำจากหลอดดูด หรือฝึกกลั้วปากด้วยน้ำโดยพยายามไม่ให้น้ำไหลออกทางมุมปากข้างที่อ่อนแรง
6. ให้ความรู้และคำแนะนำในการปฏิบัติตัวเมื่ออยู่ที่บ้าน รวมถึงให้ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับอาการต่างๆ(Education and home program) โดยมากผู้ป่วยมักมีความกังวลสูงเพราะไม่สามารถแสดงสีหน้าได้ตามเดิม ซึ่งส่งผลต่อบุคลิกภาพเป็นอย่างมาก นักกายภาพบำบัดมักสนับสนุนให้ผู้ป่วยออกไปใช้ชีวิตตามปกติ ให้ความเข้าใจว่า อาการผิดปกติต่างๆที่เกิดขึ้น สามารถทุเลาลงหรือกลับมาเป็นปกติได้ ที่สำคัญคือ ควรออกกำลังกล้ามเนื้อใบหน้าที่บ้านตามคำแนะนำของนักกายภาพฯอย่างสม่ำเสมอ เพราะการออกกำลังกล้ามเนื้อ ก็เหมือนกับการทานยา คือ ต้องเคร่งครัด สม่ำเสมอ และปริมาณต้องถูกต้อง โดยจะได้กล่าวในเรื่องเหล่านี้ต่อไป ในหัวข้อ “การฟื้นฟูและดูแลตนเองที่บ้าน”
การฟื้นฟูและดูแลตนเองที่บ้านทำได้อย่างไรบ้าง?
การฟื้นฟูและการดูแลตนเองที่บ้านเมื่อเกิดโรคกล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรงครึ่งซีก ที่สำคัญ ได้แก่
1. การนวดกล้ามเนื้อ(Massage)ใบหน้าเบาๆในซีกที่มีอาการอ่อนแรง โดยใช้นิ้วชี้กับนิ้วกลางคลึงเป็นวงกลมเบาๆไล่จากหน้าผาก ผ่านแก้ม ลงไปจนถึงใต้คาง อาจใช้แป้งหรือเบบี้ออย(Baby oil) ทาลงบนปลายนิ้วก่อนเพื่อลดแรงเสียดทาน และทำให้ลูบใบหน้าได้นุ่มนวลขึ้น การนวดนี้ จะช่วยเพิ่มการไหลเวียนเลือดได้ โดยควรทำติดต่อ กันนานประมาณ 10 นาที เช้าและเย็น
2. การออกกำลังกล้ามเนื้อใบหน้า หน้ากระจก(Facial muscle exercise with visual biofeedback): มักจะแนะนำให้ทำต่อเนื่องหลังจากการนวดกล้ามเนื้อใบหน้าแล้วเสร็จ โดยให้ผู้ป่วยนั่งหน้ากระจกในท่าที่สบาย พยายามเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อใบหน้าทั้งสองฝั่งให้เท่ากัน โดยสังเกตผ่านกระจก ซึ่งท่าต่างๆที่ใช้ออกกำลังกล้ามเนื้อใบหน้า ได้แก่
- ยักคิ้ว
- ขมวดคิ้ว
- หลับตาปี๋
- ย่นจมูก
- ทำปากจู๋
- ยิ้มยิงฟัน
- ยิ้มไม่เห็นฟัน
- แสยะยิ้ม
- ทำแก้มป่อง (โดยที่ไม่มีลมลอดออกมาจากริมฝีปาก
อนึ่ง ถ้ากล้ามเนื้อข้างที่อ่อนแรงนั้นอ่อนแรงมากจนไม่สามารถทำท่าต่างๆข้างต้นได้ ให้พยายามทำต่อไป และใช้มือข้างเดียวกันลูบซ้ำๆ เพื่อกระตุ้นกล้ามเนื้อนั้นๆไปด้วย โดยทำในทิศทางช่วยการเคลื่อนไหวนั้นๆ เช่นหากยักคิ้วข้างซ้ายไม่ขึ้นในขณะที่กำลังออกแรงยักคิ้วทั้งสองข้างขึ้น ให้ใช้มือซ้ายลูบซ้ำๆจากคิ้วไปถึงหน้าผาก ก็จะเริ่มสังเกตเห็นการหดตัวของกล้ามเนื้อ หรือการขยับของคิ้วขึ้นไปทางด้านบนทีละนิด โดยการออกกำลังนี้ ควรทำอย่างน้อยวันละ 30 ครั้งต่อท่า
3. ในบางรายที่มีอาการน้ำลายไหล ให้ฝึกโดยการอมอากาศไว้ในปาก แล้วย้ายสลับไปมาที่กระพุ้งแก้มทั้ง 2 ข้าง เมื่อทำได้ดีแล้ว อาจเพิ่มความยากด้วยการเปลี่ยนเป็นอมน้ำแล้วย้ายสลับไปมาดังเดิมจนไม่มีน้ำเล็ดออกมาที่มุมปาก
4. ในรายที่มีการหลับตาไม่สนิท แนะนำให้สวมแว่นกันแดดระหว่างวัน เพื่อป้องกันลูกตาจาก ฝุ่นละออง และลม ส่วนเวลานอน แนะนำให้ใช้ผ้าปิดตาเพื่อให้นอนหลับได้ และถ้าตาแห้งมาก แนะนำให้พบจักษุแพทย์ เช่น เพื่อปรึกษาเรื่องการใช้ น้ำตาเทียม
5. ประคบร้อน: โดยใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำอุ่น บิดให้มาด และประคบหน้าด้านที่อ่อนแรง ครั้งละ 15-20นาที วันละ1-2ครั้ง เพื่อเพิ่มการไหลเวียนเลือดไปยังเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 ดังที่ได้กล่าวไปแล้วในหัวข้อ “ประคบร้อนฯ”
6. นอกจากการทำกายภาพบำบัดด้วยตนเองที่บ้านแล้ว ผู้ป่วยควรต้องพักผ่อนอย่างเพียงพอ รับประทานยาต่างๆตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด รวมถึงมาพบนักกายภาพอย่างสม่ำเสมอตามนัด เพื่อประเมินอาการและปรับเปลี่ยนการรักษาให้เหมาะสมกับอาการผู้ป่วย
บรรณานุกรม
- Bell, C. An exposition of the natural system of nerves of the human body. Spottiswoode, London 1824.
- Bell, C. The nervous system of the human body. London: Longman, 1830.
- James, DG. All that palsies is not Bell's. J R Soc Med 1996; 89:184.
- Adour, KK, Bell, DN, Hilsinger, RL. Herpes simplex virus in idiopathic facial paralysis (Bell's palsy). JAMA 1975; 233:527.
- Hilsinger, RL Jr, Adour, KK, Doty, HE. Idiopathic facial paralysis, pregnancy, and the menstrual cycle. Ann Otol Rhinol Laryngol 1975; 84:433.
- Adour, KK, Byl, FM, Hilsinger, RL Jr, et al. The true nature of Bell's palsy: analysis of 1,000 consecutie patients. Laryngoscope 1978; 88:787.
- May, M. The Facial Nerve. Thieme, New York, 1986
- Teixeira LJ, Valbuza JS, Prado GF. Physical therapy for Bell’s palsy (idiopathic facial paralysis). n The Cochrane Library 2012; 45:68.