กลูโคคอร์ติคอยด์ (Glucocorticoid)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 7 กรกฎาคม 2564
- Tweet
- บทนำ:คือยาอะไร?
- กลูโคคอร์ติคอยด์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- กลูโคคอร์ติคอยด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- กลูโคคอร์ติคอยด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- กลูโคคอร์ติคอยด์มีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- กลูโคคอร์ติคอยด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้กลูโคคอร์ติคอยด์อย่างไร?
- กลูโคคอร์ติคอยด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษากลูโคคอร์ติคอยด์อย่างไร?
- กลูโคคอร์ติคอยด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยา(Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- สเตียรอยด์ ยาสเตียรอยด์ คอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid)
- โรคหืด(Asthma)
- โรคหลอดลมอักเสบ (Bronchitis)
- โรคภูมิแพ้(Allergy)
- โรคภูมิแพ้หูคอจมูก (ENT and Allergy)
- โรคออโตอิมมูน(Autoimmune disease)
- โรคข้อรูมาตอยด์(Rheumatoid arthritis)
- โรคลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลเรื้อรัง (Ulcerative colitis)
บทนำ:คือยาอะไร?
กลูโคคอร์ติคอยด์ (Glucocorticoid) คือ ยาสเตียรอยด์ฮอร์โมนที่อยู่ในหมวดย่อยของยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid)ซึ่งอิทธิพลและหน้าที่สำคัญต่อร่างกายคือ
- ทำหน้าที่ลดอาการอักเสบของร่างกาย
- เร่งการเผาผลาญของน้ำตาลและควบคุมให้ระดับน้ำตาลในเลือดมีปริมาณเป็นไปอย่างปกติ
- ช่วยกระตุ้นการพัฒนาการเจริญของอวัยวะของร่างกาย เช่น ปอด สมอง เป็นต้น
(รายละเอียด ‘ข้อบ่งใช้’ ยากลูโคคอร์ติคอยด์ กล่าวใน ‘หัวข้อ สรรพคุณฯ’)
ทั้งนี้ ด้านเภสัชกรรมได้มีการสังเคราะห์ยาเลียนแบบโครงสร้างของกลูโคคอร์ติคอยด์ ดังนี้เช่น
ก. Cortisol (Hydrocortisone): ทำหน้าที่กระตุ้นการเพิ่มน้ำตาลกลูโคส (Glucose) ในเลือด ยับยั้งการอักเสบของร่างกาย รวมถึงการควบคุมระบบการเผาผลาญสารอาหารจำพวกไขมัน โปรตีน และคาร์โบไฮเดรต
ข. Cortisone: ทำหน้าที่เมื่อร่างกายอยู่ภายใต้สภาวะความตึงเครียด ทำให้ความดันโลหิตสูง,กระตุ้นให้เกิดภาวะเตรียมพร้อมระหว่างการต่อสู้ป้องกันตัว, นอกจากนี้ยังทำให้ลดอาการปวด-บวมจากการ อักเสบของเอ็น ข้อต่อ เข่า ศอก ไหล่ และช่วยป้องกันการปฏิเสธอวัยวะที่มีการปลูกถ่ายให้ผู้ป่วยในการปลูกถ่ายอวัยวะ
ค. Prednisolone: เป็นยากลูโคคอร์ติคอยด์ชนิดสังเคราะห์ที่นำมารักษาอาการอักเสบของร่างกาย, ช่วยกดภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย, มีการนำยานี้ไปใช้กับผู้ป่วยไตวาย (Renal failure), ผู้ป่วยโรคหืด, ผู้ป่วยโรคข้อรูมาตอยด์, โรคลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลเรื้อรัง (Ulcerative colitis), โรคโครห์น (Crohn’s disease) และอื่นๆ
ง. Prednisone: เป็นสารสังเคราะห์และนำมาใช้รักษาอาการของโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคหืด รวมไปถึงโรคข้อรูมาตอยด์ อาการแพ้ต่างๆ ไมเกรน ลมพิษ พยาธิสภาพของไต ภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรง และอื่นๆ
จ. Dexamethasone: ใช้รักษาอาการโรคข้อรูมาตอยด์ การแพ้ทางผิวหนัง โรคหืด โรคถุงลมโป่งพอง อาการสมองบวม และเป็นยาที่องค์การอนามัยโลกรับรองโดยระบุให้เป็นยาจำเป็นขั้นพื้นฐานของระดับชุมชน
ฉ. Methylprednisolone: ใช้ต้านการอักเสบต่างๆเช่น กระดูกอักเสบ หลอดลมอักเสบ ฯลฯ
ช. Triamcinolone: ใช้รักษาอาการแพ้ทางผิวหนัง และแผลร้อนใน (Aphthous ulcers)
ซ. Betamethasone: ใช้ต่อต้านการอักเสบของร่างกายรวมถึงกดภูมิคุ้มกันต้านทานโรคเพื่อลดภาวะหรือการแพ้ต่างๆ เป็นยาสเตียรอยด์อีกหนึ่งตัวที่องค์การอนามัยโลกระบุให้เป็นยาจำเป็นขั้นพื้นฐานของระดับชุมชน
ฌ. Beclomethasone: ถูกนำมาผลิตเป็นยาพ่นเพื่อรักษาอาการโรคหืด รักษาอาการแพ้ในระบบทางเดินหายใจ รวมถึงใช้รักษาอาการของแผลร้อนใน, โดยสำหรับรูปแบบที่เป็นยาครีม ยาขี้ผึ้ง ใช้ทาเพื่อรักษาอาการอักเสบทางผิวหนังเช่น ผื่นผิวหนังอักเสบ(Eczema) และเป็นยาอีกหนึ่งตัวที่องค์การอนามัยโลกรับรอง
ญ. Fludrocortisone: ใช้รักษาอาการ Cerebral salt wasting syndrome (ภาวะโซเดียมในเลือดต่ำ อาจจากเนื้องอกสมอง หรืออุบัติเหตุที่สมอง, โรคแอดดิสัน (Addison’s disease :โรคขาดฮอร์โมนต่อมหมวกไต), Conn’s syndrome (เนื้องอกชนิดหนึ่งที่เซลล์เนื้องอกสามารถสร้างฮอร์โมนเพศชายได้), รวมถึงภาวะ Postural orthostatic tachycardia syndrome (ภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดปกติเมื่อเปลี่ยนท่าทางจากนั่ง/นอนเป็นลุกยืน) และยังจัดเป็นยาอีกชนิดที่องค์การอนามัยโลกรับรอง
อนึ่ง หากจะเปรียบเทียบประสิทธิภาพในการรักษาที่รวมถึงความเหมาะสมต่ออาการโรคของยากลุ่มนี้ จำเป็นต้องให้แพทย์ผู้รักษาเป็นผู้วินิจฉัยคัดกรองการใช้กับผู้ป่วย จึงจะเหมาะสมและปลอดภัยที่สุด
กลูโคคอร์ติคอยด์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยากลูโคคอร์ติคอยด์มีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้ เช่น
- รักษาโรคภูมิต้านทานตนเอง/ โรคออโตอิมมูน (Autoimmune disease)
- รักษาและบำบัดอาการ โรคข้อรูมาตอยด์, โรคกระดูกอักเสบ
- รักษาโรคลำไส้อักเสบ เช่น ลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลเรื้อรัง
- รักษาโรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis)
- รักษาโรคผิวหนังอักเสบ เช่น ผื่นคัน ลมพิษ
- รักษาอาการ โรคหืด โรคหลอดลมอักเสบ โรคถุงลมโป่งพอง
- ช่วยป้องกันการปฏิเสธการปลูกถ่ายอวัยวะของผู้ป่วย
กลูโคคอร์ติคอยด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
อาจแบ่งกลไกการออกฤทธิ์ของยากลูโคคอร์ติคอยด์ตามการบริหารยา/การใช้ยา ดังนี้เช่น
ก.ยาใช้เฉพาะที่: ออกฤทธิ์โดยยับยั้งการรวมตัวของเม็ดเลือดขาวในบริเวณที่มีการอักเสบของเนื้อเยื่อ จึงป้องกันการทำลายเนื้อเยื่อในบริเวณที่อักเสบดังกล่าว
ข.ยาสำหรับสูดพ่น: ออกฤทธิ์โดยบรรเทาและลดการอักเสบของหลอดลม ทำให้หลอดลมเปิดกว้างเพื่อให้อากาศเข้าออกได้สะดวก อีกทั้งลดปริมาณการสร้างเมือก/สารคัดหลั่งที่คอยอุดกั้นตามหลอดลมอีกด้วย
ค.ยารับประทาน: หลังดูดซึมเข้าร่างกายจะออกฤทธิ์ที่ตัวรับ(Receptors) ของร่างกายป้องกันมิให้เม็ดเลือดขาวเข้าไปทำลายบริเวณเนื้อเยื่อที่มีการอักเสบอีกทั้งกดการตอบสนองของภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย จึงทำให้อาการโรคทุเลาขึ้น
ง:ยาฉีด: กลไกการออกฤทธิ์คล้ายกับชนิดรับประทาน แต่ออกฤทธิ์ได้เร็วกว่า
กลูโคคอร์ติคอยด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยากลูโคคอร์ติคอยด์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- ยาเม็ด, ยาแคปซูล, และยาน้ำ, สำหรับรับประทาน
- ยาครีม, และยาขี้ผึ้ง, สำหรับทาผิวหนัง
- ยาหยอดตา
- ยาหยอดหู
- ยาฉีด
กลูโคคอร์ติคอยด์มีขนาดรับประทานอย่างไร?
ด้วยยาในกลุ่มกลูโคคอร์ติคอยด์มีหลากหลายรายการ ขนาดรับประทาน/การใช้ยาจึงขึ้นกับการพิจารณาของแพทย์ โดยต้องอาศัยข้อมูลประจำตัวของตัวผู้ป่วย/ประวัติทางการแพทย์ ชนิดของโรคและอาการ ร่วมกับเลือกใช้ยาให้ตรงตามอาการและมีความปลอดภัยมากที่สุด
ดังนั้น การจะเลือกใช้ยาในกลุ่มนี้ทั้ง ชนิดยา, ขนาดยา,และระยะเวลาที่ใช้ยา, จึงควรเป็นคำ แนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกร
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยากลูโคคอร์ติคอยด์ ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก /หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยากลูโคคอร์ติคอยด์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทาน/ใช้ยากลูโคคอร์ติคอยด์ สามารถรับประทาน/ใช้ยาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยา/ใช้ยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
กลูโคคอร์ติคอยด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยากลุ่มกลูโคคอร์ติคอยด์สามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้าง เคียง) เช่น
- การใช้ยานี้ไปนานๆอาจเกิดการติดเชื้อต่างๆได้ง่ายต่อร่างกายผู้ป่วยได้
- มีภาวะน้ำตาลในเลือดสูง
- ลดการดูดซึมของแคลเซียมเป็นผลให้เกิดภาวะกระดูกพรุนตามมา
- หากมีบาดแผลตามร่างกายจะทำให้แผลหายช้า
- เกิดภาวะไขมันคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอร์ไรด์เพิ่มสูงขึ้น
- เกิดภาวะใบหน้าบวมกลม
- น้ำหนักตัวเพิ่ม
- ความดันโลหิตสูง
- มีสิวขึ้นทั้งใบหน้าและทั่วตัว
- ประจำเดือนผิดปกติ
- อ่อนเพลีย
- อารณ์แปรปรวน
- อาจสับสน
- อาจรู้สึกซึมเศร้า
มีข้อควรระวังการใช้กลูโคคอร์ติคอยด์อย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยากลูโคคอร์ติคอยด์ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้กับหญิงตั้งครรภ์ด้วยอาจก่อให้เกิดความพิการของทารก
- ห้ามใช้รักษาภาวะร่างกายเกิด โรคติดเชื้อไวรัส เช่น เริม, โรคเชื้อรา, ติดเชื้อแบคทีเรีย, ด้วยจะทำให้อาการโรครุนแรงมากขึ้น
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่มีแผลในช่องทางเดินอาหารด้วยจะทำให้เกิดภาวะเลือดออกในทาง เดินอาหาร
- การใช้ยานี้ชนิดรับประทานกับผู้ป่วยโรคเบาหวาน สามารถทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูงได้ จึงควรเลี่ยงการใช้ร่วมกัน
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยโรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคไต, โรคนิ่วในไต
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยโรคไทรอยด์ทั้งชนิดไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ (ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน) และสูง (ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ/ ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน)
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอมจี (Myasthenia gravis)
- การใช้ยากลุ่มนี้อาจทำให้อารมณ์เปลี่ยนแปลงได้เช่น เกิดภาวะซึมเศร้า เป็นต้น
- การหยุดใช้ยากลุ่มนี้ต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ และไม่ควรปรับขนาดยานี้ด้วยตนเอง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยากลุ่มกลูโคคอร์ติคอยด์ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และ สมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
กลูโคคอร์ติคอยด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยากลูโคคอร์ติคอยด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยากลุ่มกลูโคคอร์ติคอยด์ ร่วมกับ ยาต้านการแข็งตัวของเลือดจะทำให้ฤทธิ์ของการต้านการแข็งตัวของเลือดลดลง และก็ทำให้เกิดอาการเลือดออกในกระเพาะอาหารและลำไส้ (เลือดออกในทางเดินอาหาร)ได้ง่ายขึ้น หากไม่จำเป็นควรเลี่ยงการใช้ยาทั้ง 2 กลุ่มพร้อมกัน
- การใช้ยากลุ่มกลูโคคอร์ติคอยด์ ร่วมกับ ยาเบาหวานสามารถทำให้น้ำตาลในเลือดสูงขึ้นได้ หากจำเป็นต้องใช้ร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานเป็นรายบุคคลไป
- การใช้ยากลุ่มกลูโคคอร์ติคอยด์ ร่วมกับ ยา Amphotericin B สามารถทำให้เกิดภาวะเกลือโพแทสเซียมในเลือดต่ำ จึงต้องเฝ้าระวังสมดุลของเกลือแร่ต่างๆในร่างกายเมื่อมีการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยา Prednisone ร่วมกับยา Bupropion อาจทำให้เกิดภาวะลมชักได้ง่าย หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรเลี่ยงการใช้ยาร่วมกันหรือใช้ตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น
ควรเก็บรักษากลูโคคอร์ติคอยด์อย่างไร?
ควรเก็บยากลูโคคอร์ติคอยด์:
- เก็บยาที่อุณหภูมิต่ำกว่า 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
- ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
กลูโคคอร์ติคอยด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยากลูโคคอร์ติคอยด์ มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Prednersone (เพรดเนอร์โซน) | General Drugs House |
Prednisolone A.N.H. (เพรดนิโซโลน เอ.เอ็น.เฮช) | A N H Products |
Prednisolone Asian Pharm (เพรดนิโซโลน เอเชียน ฟาร์ม) | Asian Pharm |
Prednisolone Atlantic (เพรดนิโซโลน แอทแลนติก) | Atlantic Lab |
Prednisolone GPO (เพรดนิโซโลน จีพีโอ) | GPO |
Predsomed (เพรดโซเมด) | Medicpharma |
Prednisolone Greater Pharma (เพรดนิโซโลน เกรตเตอร์ ฟาร์มา) | Greater Pharma |
Beta (เบต้า) | Chew Brothers |
Betacort (เบต้าคอร์ท) | Utopian |
Bethasone (เบทาโซน) | Greater Pharma |
Betnovate (เบทโนเวท) | GlaxoSmithKline |
Archidex Eye/Ear (อาร์ชิเด็กซ์ อาย/เอีย) | T P Drug |
B. Dexol (บี. เดกซอล) | Medicine Products |
Cadexcin-N (คาเดกซิน-เอ็น) | Thai Nakorn Patana |
CD-Oph (ซีดี-ออฟ) | Seng Thai |
Decadron With Neomycin (เดกคาดรอน วิท นีโอมายซิน) | MSD |
Dexa (เดกซา) | Utopian |
Dexa ANB (เดกซา เอเอ็นบี) | ANB |
Dexacin (เดกซาซิน) | ANB |
Dexaltin (เดกซอลติน) | ANB |
Dexamethasone Charoen Bhaesaj (เดกซาเมทาโซน เจริญเภสัช) | Charoen Bhaesaj Lab |
Dexamethasone General Drugs House (เดกซาเมทาโซน เจเนอรัล ดักซ์ เฮาส์) | General Drugs House |
Dexamethasone GPO (เดกซาเมทาโซน จีพีโอ) | GPO |
Dexamethasone K.B. (เดกซาเมทาโซน เค.บี.) | K.B. Pharma |
Dexamethasone Medicine Products (เดกซาเมทาโซน เมดิซิน โพรดักซ์) | Medicine Products |
Dexamethasone Medicpharma (เดกซาเมทาโซน เมดิกฟาร์มา) | Medicpharma |
Dexamethasone Pharmasant (เดกซาเมทาโซน ฟาร์มาสัน) | Pharmasant Lab |
Dexamethasone T Man (เดกซาเมทาโซน ที แมน) | T. Man Pharma |
Dexamethasone T.P. (เดกซาเมทาโซน ที.พี.) | T P Drug |
Dexano (เดกซาโน) | Milano |
Dexa-O (เดกซา-โอ) | Chinta |
Dexa-P (เดกซา-พี) | P P Lab |
Dexapro (เดกซาโปร) | Medicine Products |
บรรณานุกรม
- https://www.drugs.com/drug-class/glucocorticoids.html [2021,July3]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Glucocorticoid [2021,July3]
- https://www.healthline.com/health/glucocorticoids [2021,July3]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Cortisol [2021,July3]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Cortisone [2021,July3]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Prednisolone [2021,July3]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Prednisone [2021,July3]
- https://www.healthline.com/health/glucocorticoids#Overview1 [2021,July3]
- https://www.merckvetmanual.com/pharmacology/anti-inflammatory-agents/corticosteroids[2021,July3]
- https://hopes.stanford.edu/glucocorticoids/ [2021,July3]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/budeprion-with-prednisone-440-3239-1936-0.html[2021,July3]
- https://www.medicinenet.com/prednisolone_solutionsyrup-oral/article.htm [2021,July3]