กลุ่มอาการหลังเป็นโรคโปลิโอ (PPS: Post-polio syndrome)
- โดย ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า
- 26 พฤษภาคม 2562
- Tweet
- บทนำ
- กลุ่มอาการหลังเป็นโรคโปลิโอคืออะไร?
- กลุ่มอาการหลังเป็นโรคโปลิโอเกิดได้อย่างไร?
- ใครมีโอกาส/ปัจจัยเสี่ยงเป็นกลุ่มอาการหลังเป็นโรคโปลิโอ?
- กลุ่มอาการหลังเป็นโรคโปลิโอมีอาการอย่างไร?
- เมื่อใดควรไปพบแพทย์?
- แพทย์วินิจฉัยกลุ่มอาการหลังเป็นโรคโปลิโออย่างไร?
- กลุ่มอาการหลังเป็นโรคโปลิโอรักษาอย่างไร?
- กลุ่มอาการหลังเป็นโรคโปลิโอมีผลข้างเคียงอย่างไร?
- กลุ่มอาการหลังเป็นโรคโปลิโอมีการพยากรณ์โรคอย่างไรควรดูแลตนเองอย่างไร? ควร
- พบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?
- ป้องกันกลุ่มอาการหลังเป็นโรคโปลิโออย่างไร?
- โรคไขสันหลัง (Spinal cord disease)
- โรคสมอง โรคทางสมอง (Brain disease)
- ไขสันหลังอักเสบ (Myelitis)
- โปลิโอ (Poliomyelitis)
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ (Infectious disease)
- เชื้อไวรัส โรคติดเชื้อไวรัส (Viral infection)
- วัคซีนโปลิโอ(Polio vaccine)
บทนำ
ปัจจุบัน ต้องยอมรับว่า เราแทบจะไม่เห็นเด็กๆเจ็บป่วยเป็นโรคโปลิโอ (Polio) แขนขาลีบเหมือนในอดีต เนื่องจากประเทศไทยมีการให้วัคซีนโปลิโอต่อเด็กแรกเกิดทุกคน และครอบคลุมเด็กทุกคน อย่างไรก็ตาม เรายังมีผู้ป่วยที่มีอาการแขนขาอ่อนแรง กล้ามเนื้อลีบ หายใจลำบากได้บ้าง จากที่เคยได้รับเชื้อโปลิโอในอดีต เมื่อ 30-40 ปีก่อน โรค/อาการเหล่านี้เรียกว่า “กลุ่มอาการหลังเป็นโรคโปลิโอ (Post-polio syndrome หรือ ย่อว่า PPS/พีพีเอส)” ทำไมจึงเป็นเช่นนี้ ผู้ป่วยเหล่านี้มีอาการผิดปกติอย่างไร ใครมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้บ้าง ติดตามจากบท ความนี้ได้ครับ
กลุ่มอาการหลังเป็นโรคโปลิโอคืออะไร?
กลุ่มอาการหลังเป็นโรคโปลิโอ คือ กลุ่มอาการผิดปกติทางระบบประสาทที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยซึ่งเคยได้รับเชื้อ/เป็นโรคโปลิโอ เมื่อหลายสิบปีก่อนโดยเฉลี่ย 30-40 ปีมาแล้ว และอาการนั้นคงที่หรือดีขึ้นเป็นระยะเวลานานแล้ว กลับมามีอาการผิดปกติทางระบบประสาทเกิดขึ้นในปัจจุบันอีกครั้ง เช่น ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อต่อ กล้ามเนื้อลีบ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยบางรายเกิดกลุ่มอาการนี้ได้ หลังจากเป็นโปลิโอแล้วประมาณ 15 ปีขึ้นไป
ทั้งนี้ พบกลุ่มอาการหลังเป็นโรคโปลิโอ ได้น้อยมากๆ โดยยังไม่มีรายงานที่สรุปแน่ชัดว่า พบได้มากน้อยแค่ไหน
กลุ่มอาการหลังเป็นโรคโปลิโอเกิดได้อย่างไร?
ปัจจุบัน ยังไม่ทราบกลไกที่แน่ชัดที่ทำให้เกิดกลุ่มอาการหลังเป็นโรคโปลิโอ แต่สันนิษฐานได้หลายประการ เช่น
- เกิดจากการเสื่อมของเซลล์ประสาทที่เคยได้รับเชื้อโปลิโอ โดยเมื่อได้รับเชื้อเข้ามา เชื้อนี้ก็จะทำลายเซลล์ประสาทส่วน Motor neuron (เซลล์ประสาทสั่งการ : ทำหน้าที่เกี่ยวกับคำสั่ง การเคลื่อนไหว)
- และอีกสมมติฐานหนึ่ง คือ เกิดความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย ที่เกิดตามหลังการติดเชื้อโปลิโอ ที่มีการทำลายเซลล์ประสาทปกติ นอกจากการทำลายสิ่งแปลกปลอม จึงทำให้เกิดกลุ่มอาการนี้ขึ้นภายหลังได้รับเชื้อโปลิโอแล้วเป็นเวลานาน
ใครมีโอกาส/ปัจจัยเสี่ยงเป็นกลุ่มอาการหลังเป็นโรคโปลิโอ?
ผู้มีโอกาส/ปัจจัยเสี่ยงเป็นกลุ่มอาการหลังเป็นโรคโปลิโอ ได้แก่
- กรณีได้รับเชื้อโปลิโอ และมีอาการรุนแรง
- ติดเชื้อโปลิโอในผู้ใหญ่ จะมีโอกาสเกิดกลุ่มอาการนี้มากกว่าในเด็ก
- กรณีมีการฟื้นตัวอย่างมาก ภายหลังติดเชื้อโปลิโอ เพราะหมายถึงเซลล์ประสาทต้องได้รับการซ่อมแซมอย่างมาก จึงกระตุ้นให้เกิดการเสื่อม หรือมีภูมิคุ้มกันป้องกันที่ผิดปกติเกิด ขึ้นมาก
- ในผู้ที่เครียด และ/หรือ ทำงานหนัก เพราะมักมีผลต่อการเกิดภูมิคุ้มกันต้านทานผิดปกติ จากการพักผ่อนไม่เพียงพอ
- ผู้หญิงพบมากกว่าผู้ชาย
กลุ่มอาการหลังเป็นโรคโปลิโอมีอาการอย่างไร?
อาการผิดปกติที่เกิดขึ้นเมื่อเกิดกลุ่มอาการหลังเป็นโรคโปลิโอนั้น จะค่อยเป็นค่อยไป และอาจมีช่วงที่คงที่ และทรุดลง ซึ่งอาการต่างๆ ได้แก่
- อาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง
- ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อต่อ
- อาการอ่อนเพลีย หมดแรงง่าย ถึงแม้ทำกิจกรรมเพียงเล็กน้อย
- กล้ามเนื้อฝ่อ ลีบ
- มีปัญหาการหายใจ
- การกลืนลำบาก จากกล้ามเนื้ออ่อนแรง
- มีปัญหาการนอน หยุดหายใจเป็นระยะ จากการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อเพื่อการหายใจ
- ทนอากาศหนาวไม่ได้
เมื่อใดควรไปพบแพทย์?
ถ้าผู้ป่วยพบว่าอาการผิดปกติดังกล่าวข้างต้นในหัวข้ออาการ โดยเฉพาะเมื่อมีประวัติเคยเป็นโรคโปลิโอ อาการเป็นมากขึ้น ไม่ดีขึ้น ก็ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล อย่ารอให้มีอาการรุนแรง
แพทย์วินิจฉัยกลุ่มอาการหลังเป็นโรคโปลิโออย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยกลุ่มอาการหลังเป็นโรคโปลิโอได้จาก
- ประวัติการติดเชื้อโปลิโอในอดีต ซึ่งเป็นข้อมูลที่ได้ยาก เพราะเกิดขึ้นในอดีตนานมาก หลายสิบปี ต้องสอบถามจากครอบครัวร่วมด้วย
- ประวัติหลังจากติดเชื้อครั้งแรกในวัยเด็ก และประวัติหายมานาน จนกระทั้งมีอาการครั้งนี้ ส่วนใหญ่เกิดหลังจากติดเชื้อครั้งแรกประมาณ 15 ปีขึ้นไป
- อาการผิดปกติครั้งนี้ค่อยๆเป็นค่อยไป
- จากการตรวจสืบค้นเพิ่มเติมตามดุลพินิจของแพทย์ เช่น
- การตรวจการทำงานของกล้ามเนื้อและเส้นประสาทด้วยกระแสไฟฟ้า (EMG, การตรวจคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ)
- การตรวจเลือด เช่น ตรวจเลือดซีบีซี/CBC
- การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือเอมอาร์ไอไขสันหลัง เพื่อดูว่ามีรอยโรคหรือไม่
กลุ่มอาการหลังเป็นโรคโปลิโอรักษาอย่างไร?
การรักษากลุ่มอาการหลังเป็นโรคโปลิโอ ได้แก่
- การให้ยาแก้ปวด เมื่อ ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ
- การลดการใช้พลัง/กำลังที่มาก เพราะจะทำให้มีอาการมากขึ้น
- การทำกายภาพบำบัด
- ฝึกการทำกิจกรรมต่างๆในชีวิตประจำวัน ด้วยข้อจำกัดด้านแรงหรือกล้ามเนื้อฝ่อลีบ ตามแพทย์ นักกายภาพบำบัด พยาบาล แนะนำสม่ำเสมอตลอดไป
- ดูแลให้ได้รับอาหารอย่างพอเพียง
- ดูแลเรื่องการนอน การหายใจ การกลืน รวมทั้งการพูด ตามแพทย์ นักกายภาพบำบัด พยาบาลแนะนำ
อนึ่ง การรักษาจำเป็นต้องอยู่โรงพยาบาลหรือไม่ และจะต้องอยู่นานเท่าไร ขึ้นกับ ลักษณะอาการที่ผิดปกติ และความรุนแรง ซึ่งถ้าไม่มีภาวะ หายใจล้มเหลว หรือติดเชื้อรุนแรง ก็มักไม่จำเป็นต้องนอนรักษาในโรงพยาบาล
กลุ่มอาการหลังเป็นโรคโปลิโอมีผลข้างเคียงอย่างไร?
ผลข้างเคียง/ภาวะแทรกซ้อนจากกลุ่มอาการหลังเป็นโปลิโอ พบน้อยมากที่จะรุนแรง แต่อาจมีภาวะแทรกซ้อนได้หลายประการ เช่น
- ล้มง่าย จากกล้ามเนื้ออ่อนแรง นำมาซึ่งปัญหากระดูกหัก ข้อต่อเคลื่อนหลุด
- ขาดสารอาหาร (ทุโภชนา) เนื่องจากปัญหาการกลืนลำบาก
- ภาวะติดเชื้อที่ปอด (ปอดอักเสบ/ปอดบวม) เนื่องจากการสำลักอาหารเข้าหลอดลม/ปอด
- ภาวะหายใจล้มเหลว จากการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อกะบังลม
- กระดูกพรุน จากการเคลื่อนไหวน้อยจากกล้ามเนื้ออ่อนแรง
กลุ่มอาการหลังเป็นโรคโปลิโอมีการพยากรณ์อย่างไร?
การพยากรณ์โรคของกลุ่มอาการหลังเป็นโปลิโอ คือ เป็นกลุ่มอาการที่ไม่สามารถรักษาให้หายได้ การรักษาที่สำคัญคือ การชะลอการเสื่อมของเซลล์ประสาทในไขสันหลัง และฝึกฝนการใช้ชีวิตด้วยข้อจำกัดข้างต้น
ควรดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?
การดูแลตนเองที่บ้านเมื่อเป็นกลุ่มอาการหลังเป็นโรคโปลิโอ ควรประกอบด้วย
- การทำกิจกรรมเท่าที่จำเป็น เพื่อลดปัจจัยกระตุ้นให้อาการรุนแรง
- พยายามทำกิจกรรมบำบัดต่อเนื่อง ที่ฝึกมาจากนักกิจกรรมบำบัด
- หลีกเลี่ยงการอยู่กับอุณหภูมิที่เย็น หนาว ทำตัวให้อบอุ่น
- ระวังการล้ม
- ระวังการกลืนอาหารสำลัก
- ฝึกการหายใจ การกลืนอาหาร ตามแพทย์ นักกายภาพบำบัด พยาบาล แนะนำ
- พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามนัดเสมอ
- พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ
- มีอาการที่รุนแรงขึ้น
- มีอาการผิดปกติใหม่เกิดขึ้น
- มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ท้องผูกหรือท้องเสียเรื้อรัง
- เมื่อกังวลในอาการ
ป้องกันกลุ่มอาการหลังเป็นโรคโปลิโออย่างไร?
การป้องกันกลุ่มอาการหลังเป็นโรคโปลิโอที่ดีที่สุดคือ การให้เด็กได้รับวัคซีนโปลิโอตั้งแต่เกิดอย่างครบถ้วนตามกระทรวงสาธารณสุข (โรงพยาบาล สถานพยาบาล อนามัย อาสา สมัครสาธารณสุข) แนะนำ