กลุ่มอาการทอกสิกช็อก (Toxic shock syndrome)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 17 ตุลาคม 2561
- Tweet
- บทนำ
- กลุ่มอาการทอกสิกช็อกมีสาเหตุจากอะไร?
- ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดกลุ่มอาการทอกสิกช็อก?
- กลุ่มอาการทอกสิกช็อกมีอาการอย่างไร?
- เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?
- แพทย์วินิจฉัยกลุ่มอาการทอกสิกช็อกอย่างไร?
- รักษากลุ่มอาการทอกสิกช็อกอย่างไร?
- กลุ่มอาการทอกสิกช็อกมีผลข้างเคียงอย่างไร?
- กลุ่มอาการทอกสิกช็อกมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไร?
- พบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?
- ป้องกันกลุ่มอาการทอกสิกช็อกอย่างไร?
- บรรณานุกรม
- ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ (Sepsis) ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด (Septicemia)
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ (Infectious disease)
- แบคทีเรีย: โรคจากแบคทีเรีย (Bacterial infection)
- ภาวะช็อก อาการช็อก (Shock)
- ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics)
- ตับวาย ตับล้มเหลว (Liver failure)
- ภาวะหัวใจล้มเหลว ภาวะหัวใจวาย (Heart failure)
- ไตวาย ไตล้มเหลว (Renal failure)
- ภาวะหายใจล้มเหลว (Respiratory failure)
บทนำ
กลุ่มอาการทอกสิกช็อก(Toxic shock syndrome ย่อว่า TSS) เป็นกลุ่มอาการจากร่างกายติดเชื้อแบคทีเรียชนิดรุนแรงเฉียบพลัน กลุ่มอาการนี้มีความรุนแรงโรคสูงที่เป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้ในเวลาอันรวดเร็ว ทั้งนี้อาการของกลุ่มอาการนี้ ไม่ได้เกิดจากตัวแบคทีเรียโดยตรง แต่จะเกิดจากสารชีวพิษ(Toxin)ที่แบคทีเรียสร้างขึ้น ซึ่งสารชีวพิษนี้จะแพร่กระจายตามกระแสเลือดและก่ออันตรายกับอวัยวะต่างๆทุกระบบพร้อมกันทั่วร่างกาย โดยเฉพาะกับอวัยวะสำคัญต่อการดำรงชีวิต เช่น ตับ ปอด ไต และหัวใจ
กลุ่มอาการทอกสิกช็อก เป็นกลุ่มอาการพบทั่วโลก ทุกเชื้อชาติ แต่พบได้น้อย มีรายงานจากสหรัฐอเมริกาพบกลุ่มอาการนี้ได้ประมาณ 1.5-5รายต่อประชากร 1 แสนคน พบในทุกอายุ ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ โดยพบในเด็กได้น้อยเพียงประมาณ 5-6% พบในผู้สูงอายุมากกว่า60ปีได้ประมาณ 20% ในอดีต ในยุคแรกๆของการนำผ้าอนามัยแบบสอดมาใช้ จะพบกลุ่มอาการนี้ได้บ่อยในผู้หญิงวัยเจริญพันธ์จากการติดเชื้อจากการใช้ผ้าอนามัยแบบสอด แต่ปัจจุบัน พบกลุ่มอาการนี้ได้ใกล้เคียงกันทั้งในผู้หญิงและในผู้ชาย จากการที่ผู้หญิงปัจจุบันได้เรียนรู้วิธีถูกต้องในการใช้ผ้าอนามัยแบบสอดที่จะช่วยป้องกันเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียที่นำไปสู่กลุ่มอาการนี้
กลุ่มอาการทอกสิกช็อกมีสาเหตุจากอะไร?
สาเหตุของกลุ่มอาการทอกสิกช็อก เกิดจากร่างกายติดเชื้อแบคทีเรียชนิดที่สามารถสร้างสารชีวพิษรุนแรงได้ ที่พบบ่อยได้แก่ เชื้อ
- Staphylococcus aureus (S. aureus)
- Streptococcus pyogenes หรืออีกชื่อคือ Group A Streptococcus ย่อว่า GAS
- Clostridium sordellii
ทั้งนี้
- การติดเชื้อ S. aureus อาจเป็นการติดเชื้อจากการใช้ผ้าอนามัยแบบสอดอย่างผิดวิธี, จากภาวะปอดอักเสบ, จากไซนัสอักเสบ, กระดูกอักเสบ, มีแผลที่ผิวหนัง เช่น แผลไหม้ แผลจากการผ่าตัด
- การติดเชื้อ GAS มักเป็นการติดเชื้อที่เกิดตามหลัง การติดเชื้อจากโรคอีสุกอีใส, การติดเชื้อรุนแรงที่ผิวหนังและที่เนื้อเยื่อเกี่ยวพันใต้ผิวหนัง, หรือเป็นการติดเชื้อในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ
- การติดเชื้อ Clostridium sordellii ซึ่งในภาวะปกติทั่วไป แบคทีเรียชนิดนี้จะเป็นเชื้อประจำถิ่นในช่องคลอดที่ไม่ก่อโรค แต่ในช่วงที่ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ เช่น ระหว่างมีประจำเดือน หรือช่องคลอดมีการฉีกขาด เช่น จากการคลอดบุตร การทำแท้ง หรือมีหัตถการทางการแพทย์ผ่านทางช่องคลอด เช่น ขูดมดลูก จะส่งผลให้เชื้อนี้อาจเข้าสู่กระแสเลือด จนก่อให้เกิดกลุ่มอาการทอกสิกช็อกได้ และที่รวมถึงเป็นการติดเชื้อกรณีใช้ผ้าอนามัยแบบสอดที่ผิดวิธี
ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดกลุ่มอาการทอกสิกช็อก?
ผู้มีปัจจัยเสี่ยงเกิดกลุ่มอาการทอกสิกช็อก คือ
- ใช้ผ้าอนามัยแบบสอดผิดวิธี (อ่านเพิ่มเติมเรื่องนี้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ผ้าอนามัยแบบสอด)
- มีแผลผ่าตัด
- มีการติดเชื้อรุนแรงที่ผิวหนัง และ/หรือที่เนื้อเยื่อเกี่ยวพันใต้ผิวหนัง
- สตรีที่เพิ่ง คลอดบุตร, แท้งบุตร ที่รวมถึงการแท้งตามธรรมชาติ และการทำแท้ง, หรือที่มีหัตถการทางการแพทย์ผ่านช่องคลอด เช่น การขูดมดลูก
กลุ่มอาการทอกสิกช็อกมีอาการอย่างไร?
อาการของกลุ่มอาการทอกสิกช็อก ที่พบบ่อย ได้แก่
- มีไข้สูงเฉียบพลัน ไข้มักสูงกว่า 38.9 องศาเซลเซียส(Celsius)
- หนาวสั่น
- ปวดศีรษะมาก ปวดกล้ามเนื้อทั่วตัว
- ปวดท้อง
- อ่อนเพลียมาก
- ความดันโลหิตต่ำ อาจต่ำมาก
- คลื่นไส้ อาเจียน
- เนื้อตัวแดง จากมีหลอดเลือดขยายทั่วตัว
- ปัสสาวะน้อยจากไตอักเสบเฉียบพลัน ไตจึงทำงานได้น้อยลง
- ตับอักเสบเฉียบพลัน มีเอนไซม์การทำงานของตับในเลือดสูง
- มีผื่นแดง กระจายตามผิวหนังทั่วตัว
- มีจำห้อเลือดทั่วตัวจากเกล็ดเลือดต่ำ จึงเกิดภาวะโลหิตจาง/ภาวะซีดได้
- ผิวหนังบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า หลุดลอก
- สับสน กระสับกระส่าย
- หายใจลำบาก
- หัวใจเต้นเร็ว
- ลำตัว ใบหน้า แขน ขา มือ เท้า บวม
- ช็อก
เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?
เมื่อมีอาการดังกล่าวในหัวข้อ “อาการฯ”โดยเฉพาะเมื่อเกิดในผู้มีปัจจัยเสี่ยงเกิดกลุ่มอาการทอกสิกช็อกดังกล่าวในหัวข้อ “ปัจจัยเสี่ยงฯ” ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
แพทย์วินิจฉัยกลุ่มอาการทอกสิกช็อกอย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยกลุ่มอาการทอกสิกช็อกได้จาก ประวัติอาการ ประวัติที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่างดังกล่าวในหัวข้อ “ปัจจัยเสี่ยงฯ” และการตรวจสืบค้นเพิ่มเติม เช่น การตรวจเลือด CBC การตรวจเพาะเชื้อจากเลือด การตรวจปัสสาวะ การเจาะหลัง และการตรวจเพิ่มเติมอื่นๆตามอาการผู้ป่วยและดุลพินิจของแพทย์เป็นกรณีๆไป เช่น เอกซเรย์ปอดกรณีมีอาการหายใจลำบาก เป็นต้น
รักษากลุ่มอาการทอกสิกช็อกอย่างไร?
แนวทางการรักษากลุ่มอาการทอกสิกช็อกจะเป็นการรักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาล โดย
- ให้ยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือดดำ
- ให้สารน้ำและElectrolyte(เกลือแร่)ทางหลอดเลือดดำเพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ และภาวะร่างกายเสียสมดุลของเกลือแร่
- ให้สารอาหารทางหลอดเลือดดำ กรณีกินอาหารไม่ได้ หรือกินได้น้อย
- ให้ยาเพิ่มความดันโลหิต
- ให้เลือด กรณีเกิดภาวะซีด หรือให้เกล็ดเลือดกรณีเกล็ดเลือดต่ำ
- ดูแลรักษาแผล กรณีผู้ป่วยมีแผล
- ให้ออกซิเจนช่วยการหายใจ
- ให้ยาลดไข้ กรณีไข้สูง
- ให้ยาต่างๆตามอาการ เช่น ยาแก้ปวด
- อาจต้องมีการผ่าตัด เพื่อตัดอวัยวะที่เป็นต้นตอของเชื้อ เช่น ตัดเท้าเมื่อมีแผลรุนแรงที่เท้า ตัดมดลูกกรณีมีการติดเชื้อรุนแรงที่มดลูก เป็นต้น
กลุ่มอาการทอกสิกช็อกมีผลข้างเคียงอย่างไร?
ผลข้างเคียงจากกลุ่มอาการทอกสิกช็อก ได้แก่ กรณีมีแผลที่เป็นสาเหตุของการติดเชื้อที่ทำให้เกิดกลุ่มอาการนี้ ซึ่งถ้าการใช้ยาปฏิชีวนะไม่ได้ผล แผลไม่ดีขึ้น แพทย์อาจจำเป็นต้องผ่าตัดเอาต้นตอของเชื้อแบคทีเรียที่ก่อกลุ่มอาการนี้ออกไป เช่น ตัดนิ้วกรณีมีแผลที่นิ้ว หรือ ตัด แขน หรือขา กรณีมีแผลที่แขน หรือที่ขา
กลุ่มอาการทอกสิกช็อกมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
กลุ่มอาการทอกสิกช็อก เป็นกลุ่มอาการที่มีความรุนแรงโรคสูงมาก ผู้ป่วยมีโอกาสเสียชีวิตได้ประมาณ 30-70% โดยขึ้นกับ ความรุนแรงของอาการ ชนิดของเชื้อแบคทีเรียว่า มีการตอบสนองที่ดีต่อยาปฏิชีวนะหรือไม่ การมีโรคประจำตัว และการมาพบแพทย์ล่าช้าที่ทำให้อวัยวะสำคัญต่างๆทำงานล้มเหลวไปแล้ว เช่น ตับล้มเหลว หัวใจล้มเหลว ไตล้มเหลว ภาวะหายใจล้มเหลว ภาวะช็อก
อนึ่ง กลุ่มอาการนี้เมื่อได้รักษาหายแล้ว สามารถเกิดเป็นซ้ำได้เสมอ ถ้ายังมีปัจจัยเสี่ยงตามที่ได้กล่าวในหัวข้อ “ปัจจัยเสี่ยงฯ”
ดูแลตนเองอย่างไร?
การดูแลตนเองกรณีกลุ่มอาการทอกสิกช็อกเมื่อแพทย์อนุญาตให้ผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาลกลับมาดูแลตนเองต่อที่บ้าน คือ
- ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำอย่างเคร่งครัด
- กินยาที่แพทย์สั่ง ให้ครบถ้วน ไม่หยุดยาเอง
- ดูแลรักษาแผลที่เป็นต้นตอของกลุ่มอาการ ตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำให้ถูกต้อง เคร่งครัด
- รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน(สุขบัญญัติแห่งชาติ)เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง ลดการติดเชื้ออื่นๆแทรกซ้อน
- พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัด
พบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?
ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ
- อาการต่างๆเป็นมากขึ้น เช่น แผลที่เคยแห้งไปแล้ว กลับอักเสบรุนแรง หรือมี หนอง
- มีอาการใหม่เกิดขึ้น เช่น หายใจลำบาก บวมเท้า สับสน ตาเห็นภาพไม่ชัด กล้ามเนื้ออ่อนแรง
- มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ท้องเสียมาก คลื่นไส้ อาเจียนมาก เวียนศีรษะมาก
- กังวลในอาการ
ป้องกันกลุ่มอาการทอกสิกช็อกอย่างไร?
ป้องกันกลุ่มอาการทอกสิกช็อกได้โดย ต้องหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดกลุ่มอาการนี้ดังได้กล่าวในหัวข้อ”ปัจจัยเสี่ยงฯ” เช่น
- หลีกเลี่ยงการใช้ผ้าอนามัยแบบสอด แต่ถ้าจำเป็นต้องใช้ ควรต้องเคร่งครัดในการใช้อย่างถูกวิธี (อ่านเพิ่มเติมเรื่องนี้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ผ้าอนามัยแบบสอด)
- ไม่ทำแท้งอย่างผิดกฏหมาย
- ควรวางแผนที่จะตั้งครรภ์ โดยปรึกษาสูติแพทย์ก่อน เพื่อป้องกัน/ลดโอกาสเกิดการแท้งบุตร
- รีบฝากครรภ์กับสูติแพทย์ ตั้งแต่ทราบว่าตั้งครรภ์ (อ่านเพิ่มเติมเรื่องนี้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง การฝากครรภ์)เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงในการทำหัตถการทางการแพทย์จากการคลอดบุตรฉุกเฉิน
- ป้องกัน หรือควบคุมรักษาโรคที่เป็นสาเหตุให้เกิดแผลรุนแรง เรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน
- เมื่อมีการผ่าตัด ต้องดูแลแผลผ่าตัดอย่างเคร่งครัดตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เพื่อป้องกันไม่ให้แผลผ่าตัดติดเชื้อ และเมื่อสงสัยแผลผ่าตัดติดเชื้อ เช่น แผลไม่แห้ง/แผลมีน้ำเหลืองซึมออกมา ต้องรีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที
บรรณานุกรม
- Bamberger, D.M. and Boys, S.E. Am Fam Physician. 2005;72(12):2474-2481
- http://emedicine.medscape.com/article/169177-overview#showall [2018,Sept29]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Toxic_shock_syndrome [2018,Sept29]
- http://www.nhs.uk/Conditions/Toxic-shock-syndrome/Pages/Introduction.aspx [2018,Sept29]