กลุ่มอาการความล้าเรื้อรัง กลุ่มอาการเพลียเรื้อรัง โรคซีเอฟเอส (CFS:Chronic Fatigue Syndrome)
- โดย ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า
- 14 กันยายน 2562
- Tweet
- บทนำ
- โรคซีเอฟเอสคืออะไร? มีอาการอย่างไร?
- โรคซีเอฟเอสมีสาเหตุจากอะไร?
- ใครมีปัจจัยเสี่ยงเป็นโรคซีเอฟเอส?
- แพทย์วินิจฉัยโรคซีเอฟเอสนี้ได้อย่างไร?
- เมื่อไหร่ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์?
- โรคซีเอฟเอสรักษาอย่างไร?
- โรคซีเอฟเอสมีการพยากรณ์โรคอย่างไร? มีผลข้างเคียงอย่างไร?
- ควรดูแลตนเองอย่างไร?
- ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?
- ป้องกันโรคซีเอฟเอสได้อย่างไร?
- สรุป
- เชื้อไวรัส โรคติดเชื้อไวรัส (Viral infection)
- โรคติดเชื้อไวรัสเอ็บสไตบาร์ โรคติดเชื้ออีบีวี (Epstein-Barr virus infection)
- โรคซึมเศร้า (Major Depressive Disorder หรือ MDD)
- ความเครียด ภาวะซึมเศร้า และโรคซึมเศร้า (Stress, Depression and Depressive disorder)
- ยาต้านเศร้า(Antidepressants)
- การออกกำลังกาย: แนวทางการออกกำลังกายเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี (Exercise concepts for healthy lifestyle)
บทนำ
บางคนอาจสงสัยว่าเจ็บป่วยเป็นโรคอะไรหรือไม่ เพราะรู้สึกเหนื่อย อ่อนเพลีย มีไข้ต่ำๆ เจ็บคอ เป็นๆ หายๆ ตลอดปี จะว่าพักผ่อนไม่เพียงพอก็ไม่ใช่ เพราะพยายามหาเวลานอนพักมากขึ้นก็ไม่หาย ตกลงเราเป็นโรคอะไร ลองศึกษารายละเอียด “กลุ่มอาการเพลียเรื้อรัง หรือ กลุ่มอาการความล้าเรื้อรัง หรือเรียกย่อว่า “โรคซีเอฟเอส (Chronic Fatigue Syndrome:CFS )” ว่ามีอาการอย่างไร เกิดจากอะไรและรักษาให้หายขาดได้หรือไม่
โรคซีเอฟเอสคืออะไร? มีอาการอย่างไร?
โรคซีเอฟเอส นั้นไม่ใช่โรคใดโรคหนึ่งหรืออาการใดอาการหนึ่ง แต่เป็นกลุ่มอาการเรื้อรังที่ประกอบด้วยอาการที่พบบ่อย ดังนี้
- อ่อนเพลีย
- ความจำหรือสมาธิไม่ดี
- เจ็บคอ
- ต่อมน้ำเหลืองโตบริเวณคอหรือรักแร้
- ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อไม่ทราบสาเหตุ
- ปวดบริเวณข้อ แต่ไม่มีที่บวม แดง หรือ ร้อน ชัดเจน
- ปวดศีรษะ
- หลับไม่สนิท ตื่นขึ้นมาก็ไม่สดชื่น มีอาการรู้สึกเหนื่อยแบบหมดแรงนานมากกว่า 1 วัน ถึงแม้จะได้พักผ่อนอย่างเพียงพอแล้วก็ตาม
อนึ่ง โรคซีเอฟเอสนี้พบได้ไม่บ่อย ประมาณ 2-12 คนจากกลุ่มวัยทำงาน 1,000 คน โดยพบในผู้หญิงสูงกว่าในผู้ชาย
โรคซีเอฟเอสมีสาเหตุจากอะไร?
สาเหตุแน่ชัดที่ทำให้เกิดโรคซีเอฟเอส ยังไม่ทราบ สันนิษฐานว่าน่าจะเกิดจากหลายปัจ จัยร่วมกัน ได้แก่
- การติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น Ebstein–Barr virus หรือ Human herpes virus 6
- ระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายที่ผิดปกติ แต่ไม่สามารถระบุรายละเอียดได้ว่าส่วนไหนผิดปกติ
- การเสียสมดุลของฮอร์โมนต่างๆ โดยในผู้ป่วยบางราย แพทย์ตรวจพบความผิดปกติของสมองส่วนไฮโปทาลามัส ของต่อมใต้สมอง และ/หรือของต่อมหมวกไต
ใครมีปัจจัยเสี่ยงเป็นโรคซีเอฟเอส?
ผู้มีปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดโรคซีเอฟเอส ได้แก่
- อายุช่วง 40-50 ปี
- ผู้หญิง เพราะพบโรคนี้ได้ในผู้หญิงพบบ่อยกว่าในผู้ชาย
- อ้วน
- ผู้ที่เฉื่อยชา
- ผู้มีความเครียด ซึมเศร้า ผู้ที่เคร่งเครียดกับการใช้ชีวิตมาก แยกตัวออกจากสังคม และ/หรือ ตกงาน
แพทย์วินิจฉัยโรคซีเอฟเอสนี้ได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยโรคซีเอฟเอสโดย จะพิจารณาจากอาการข้างต้นดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ อาการ ซึ่งต้องมีอย่างน้อย 4 อาการ/ข้อ จาก 8 อาการ/ข้อ และไม่มีสาเหตุอื่นๆที่จะเป็นเหตุของอาการต่างๆเหล่านั้น รวมทั้งต้องมีอาการมานานมากกว่า 6 เดือนขึ้นไป
ทั้งนี้ เนื่องจากการวินิจฉัยโรคซีเอฟเอส พิจารณาจากอาการดังกล่าวแล้วเป็นหลัก และกลุ่มอาการนี้ไม่มีการตรวจทางห้องปฏิบัติการ และ/หรือเอกซเรย์ที่จำเพาะ ดังนั้นแพทย์จึงพิจารณาการตรวจต่างๆเพิ่มเติมจากตรวจร่างกาย เป็นกรณีๆไปว่า จำเป็นต้องตรวจอะไรเพิ่ม เติมอีกบ้าง เช่น ตรวจเพื่อหาความผิดปกติในการนอนหลับ (Sleep study) การตรวจเลือด และการตรวจสุขภาพจิต
เมื่อไหร่ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์?
เนื่องจากโรคซีเอฟเอส มีอาการที่ไม่จำเพาะ (อาการที่พบได้ในโรคต่างๆหลากหลายโรค) จึงแนะนำว่า ถ้าท่านมีอาการผิดปกตินั้นๆต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานเป็นเดือน หรืออาการรุนแรงมากขึ้น ควรพบแพทย์เสมอเพื่อการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุ เพื่อการรักษาที่สมควรต่อไป
โรคซีเอฟเอสรักษาอย่างไร?
การรักษาโรคซีเอฟเอสประกอบด้วย
- ดูแลรักษาในเรื่องการนอน เพื่อให้ร่างกายได้พักผ่อนอย่างเพียงพอ และหลีกเลี่ยง ชา กาแฟ น้ำอัดลม
- ยาต้านเศร้า เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่มีภาวะซึมเศร้าร่วมด้วย และยาเหล่านี้จะช่วยลดอา การปวด และปรับการนอนให้ดีขึ้นด้วย
- การออกกำลังกายสม่ำเสมอทุกวัน
- ดูแลรักษาด้านสุขภาพจิต ลดภาวะเครียด เช่น การฝึกจิตบำบัด
- ใช้การแพทย์สนับสนุนร่วมด้วย เช่น การนวด โยคะ ฝังเข็ม เป็นต้น
*อนึ่ง การรักษาที่สำคัญและได้ผลดีคือ การฝึกจิตบำบัดอย่างต่อเนื่องนาน 3-6 เดือน จะส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น
โรคซีเอฟเอสมีการพยากรณ์โรคอย่างไร? มีผลข้างเคียงอย่างไร?
โรคซีเอฟเอส สามารถรักษาให้หายได้ แต่จะใช้เวลานาน และการตอบสนองต่อการรัก ษาขึ้นอยู่กับ
- การปรับตัว ปรับพฤติกรรม และความสม่ำเสมอในการปฏิบัติของแต่ละบุคคล
- การรักษาอย่างน้อยต้องต่อเนื่องเป็นระยะเวลาประมาณ 3-6 เดือน กรณีที่ยังไม่ได้ผล อาจต้องรักษาต่อเนื่องนานถึง 1-2 ปี
และส่วนด้านผลข้างเคียง/ภาวะแทรกซ้อนของโรคนี้ คือ
- ภาวะซึมเศร้า เพราะอาจตกงาน (เพราะหยุดงานบ่อยจากอาการต่างๆ)
- และคุณภาพชีวิตที่ไม่ดี จนอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพอื่นๆทางกายได้ เช่น ความดันโลหิตสูง เป็นต้น
ควรดูแลตนเองอย่างไร?
เมื่อเป็นโรคซีเอฟเอส การดูแลตนเองเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการรักษา เพราะ
- การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต การดำรงชีวิต วิธีคิด จะส่งผลต่อความสำเร็จในการรักษาอย่างยิ่ง
- ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- ไม่เครียด หาวิธีผ่อนคลาย มองโลกในแง่ดี คิดบวก
- พักผ่อน นอนหลับให้เพียงพออย่างมีคุณภาพที่ดี (หลับได้สนิท ไม่หลับๆตื่นๆ)
- ส่วน อาหารและเครื่องดื่มนั้น ควรหลีกเลี่ยง
- เครื่องดื่มมีกาเฟอีน (เช่น ชา กาแฟ โคล่า) เพราะจะทำให้นอนหลับได้ยาก
- และอาหารที่รสจัดมากๆ เพราะอาจส่งผลให้เกิดปัญหาทางด้านระบบทางเดินอาหารได้
- นอกจากนั้น คือ ระวังอย่าให้ท้องผูก
ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?
โดยทั่วไป ผู้ป่วยควรต้องพบแพทย์/มาโรงพยาบาลสม่ำเสมอตามแพทย์นัด แต่ก็ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนแพทย์นัด เมื่อ
- มีอาการที่ผิดปกติไปจากเดิม เช่น
- ไข้ขึ้นสูง
- นอนไม่หลับ
- ปวดข้อและ/หรือกล้ามเนื้อที่รุนแรงขึ้น
- หรือมีต่อมน้ำเหลืองที่โตมากขึ้น
ป้องกันโรคซีเอฟเอสได้อย่างไร?
ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนในการป้องกันโรคซีเอฟเอส แต่พบว่า
- บุคลิกหรือการดำรงชีวิตที่เคร่งเครียด ต่อต้านสังคม หรือมีภาวะซึมเศร้า จะส่งผลต่อการเกิดโรค/กลุ่มอาการดังกล่าว
*ดังนั้น ถ้าเราสามารถหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆที่หลีกเลี่ยงได้ดังกล่าวแล้วใน ‘หัวข้อ ปัจจัยเสี่ยงฯ’ การเกิดอาการต่างๆดังกล่าวก็น่าจะลดน้อยลง
สรุป
โรคซีเอฟเอส ไม่ใช่โรคอันตราย แต่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตได้อย่างมาก ดังนั้น ท่านต้องเรียนรู้และจัดการกับภาวะอ่อนเพลียให้ได้ เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นกลุ่มอาการเพลียเรื้อรัง