กลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุข (Restless legs syndrome)

สารบัญ

บทนำ

“นอนไม่หลับ นอนไม่หลับครับหมอ ผมนอนไม่หลับมาเป็นเดือนครับ พอจะหลับก็รู้สึกว่าไม่สบายที่ขา พลิกตัวไปมาเป็นชั่วโมงก็ไม่หลับ จนต้องลุกขึ้นมาเดิน อาการถึงดีขึ้น พอง่วง ลงไปนอนอีกก็เป็นอีกครับ ทรมานจริงๆครับ หมอช่วยผมด้วย”

ผมพบผู้ป่วยที่มีอาการแบบนี้เป็นจำนวนมาก ผู้ป่วยพบแพทย์มามากก็ไม่ดีขึ้น บางคนถึงขั้นพบจิตแพทย์ ได้ยานอนหลับมาหลายชนิดก็ไม่หาย อาการผิดปกตินี้คืออะไร ทำไมขามันไม่สุขสบาย นอนทีไรเป็นทุกที พอลุกเดินก็หาย ประหลาดมาก ภาวะนี้เรียกว่า “กลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุข (Restless legs syndrome)” น่าสนใจมากครับ อ่านดูจากบทความนี้ครับ

กลุ่มอาการขาไม่อยู่สุขคืออะไร?

กลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุข

กลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุขคือ กลุ่มอาการที่ขา 2 ข้างรู้สึกรำคาญ หรือไม่สบายอย่างมาก จนส่งผลให้นอนไม่หลับ แต่เมื่อลุกขึ้นเดิน อาการต่างๆที่เกิดขึ้นที่ขาก็ดีขึ้น

กลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุขเกิดจากอะไร?

สาเหตุที่แน่นอนของการเกิดกลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุขยังไม่ทราบ แต่จากการศึกษาพบว่า การเกิดอาการผิดปกติ เกิดจากร่างกายขาดสารสื่อประสาทชนิดหนึ่งที่ชื่อว่า โดปามีน (Dopa mine, สารซึ่งสัมพันธ์กับการทำงานหลายอย่างของสมอง เช่น การเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ การนอนหลับ ความจำ อารมณ์) จึงทำให้มีอาการผิดปกติดังกล่าว

ใครมีโอกาส/ปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดกลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุข?

กลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุข พบได้บ่อยถึง 10-20% ของประชากรในสหรัฐอเมริกาและในยุ โรป ส่วนในประเทศไทย (ยังไม่มีการศึกษาสถิติของทั้งประเทศ) พบประมาณ 20% ของผู้ที่มาตรวจสภาพการนอน จากปัญหาโรคที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับการนอน (เช่น นอนไม่หลับ)

กลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุก มักพบในผู้ใหญ่อายุ 45 ปีขึ้นไป พบบ่อยในหญิงตั้งครรภ์ โดย เฉพาะอายุครรภ์ 6-9 เดือน ผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคไตวายเรื้อรัง โรคพาร์กินสัน โรคเส้นประ สาทเสื่อมหรืออักเสบ โรคโลหิตจางจากขาดธาตุเหล็ก ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด (เช่น ยาต้านเศร้า ยาแก้คลื่นไส้อาเจียน ยาแก้แพ้) ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ และยังพบว่ามีการถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ด้วย

กลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุขมีอาการผิดปกติอย่างไร?

อาการต่างๆของกลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุข คือ ผู้ป่วยจะรู้สึกไม่สบายที่ขา 2 ข้าง มักเป็นบริเวณน่อง และเท้า ผู้ป่วยจะบรรยายอาการแตกต่างกัน เช่น รำคาญ ปวด บีบรัด เหมือนมีแมลงมาไต่ที่น่อง ที่เท้า หรือน่อง เท้ากระตุก ทำให้นอนหรือนั่งไม่ได้ ช่วงค่ำของวัน อาการมักเกิดตอนกลางคืน ในขณะที่นั่งหรืออยู่นิ่งๆ แต่อาการจะดีขึ้น เมื่อได้ขยับหรือลุกขึ้นเดิน บางรายมีอาการกระตุก งอเข้าของต้นขาและเหยียดออกสลับกัน อาการที่เกิดขึ้นจะเป็นเกือบทุกวัน และเป็นอยู่นานจนนอนไม่ได้ แต่จะดีขึ้นทันทีเมื่อลุกเดิน

อะไรเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดกลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุข?

ปัจจัยกระตุ้นให้เกิดอาการ และ/หรือเกิดอาการรุนแรง ได้แก่

  • การดื่มแอลกอฮอล์
  • เครื่องดื่ม กาเฟอีนทุกชนิด เช่น ชา กาแฟ โคลา เครื่องดื่มบำรุงกำลัง
  • การไม่สามารถควบคุมโรคประจำตัวที่เป็นสาเหตุได้ และ
  • การสูบบุหรี่ (ในผู้ป่วยบางราย)

เมื่อใดควรพบแพทย์?

เมื่อมีอาการต่างๆดังกล่าวรุนแรง จนส่งผลต่อการนอนหรือการใช้ชีวิตประจำวัน ควรต้องพบแพทย์เสมอ

แพทย์วินิจฉัยกลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุขได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยกลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุข โดยพิจารณาจากอาการดังกล่าวข้างต้นในหัวข้อ อาการ ประวัติโรคประจำตัว ยาที่ใช้ประจำ (เช่น ยาแก้อาเจียน ยาต้านเศร้า ยาแก้แพ้) และการตรวจร่างกาย ก็สามารถให้การวินิจฉัยได้ หรือจากประวัติของคนที่นอนด้วยว่า มีอาการผิดปกติข้างต้นหรือไม่ การบันทึกภาพเหตุการณ์มาให้แพทย์ดูก็จะช่วยได้มาก

ทั้งนี้ การวินิจฉัยกลุ่มอาการนี้ ไม่มีความจำเป็นต้องตรวจเพิ่มเติมใดๆ ยกเว้นจะต้องหาสา เหตุ เช่น ตรวจเลือดซีบีซี/CBC ดูภาวะซีด ดูการทำงานของไต ดูค่าน้ำตาลในเลือด/ตรวจเบา หวาน เป็นต้น

อนึ่ง หลายครั้งที่แพทย์ให้การวินิจฉัยกลุ่มอาการนี้ว่าเป็นอาการชัก กรณีมีอาการกระตุกของต้นขา แต่ข้อที่ต่างกันคือ ถ้าเป็นชักแบบเฉพาะที่ของขา ควรเป็นแต่ละครั้งไม่นาน เป็นได้ทุกเวลา ไม่ควรเป็นเฉพาะตอนนอนเท่านั้น และการชักมักเป็นส่วนปลายของขาหรือเท้า มาก กว่าส่วนต้นของขา ถ้าแพทย์ได้เห็นภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็สามารถแยกโรคได้

รักษากลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุขอย่างไร?

การรักษากลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุข คือ การใช้ยา กรณีมีอาการมากจนรบกวนการนอน ซึ่งคือยาที่เพิ่มฤทธิ์ของโดปามีน เพื่อลดการกระตุกของกล้ามเนื้อ

ถ้าไม่รักษาผู้ป่วยก็จะมีปัญหาด้านการนอน ความดันโลหิตสูง โรคอัมพาต และเกิดความ เครียด ซึมเศร้า ปัญหาด้านอารมณ์ต่อไป

กลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุขมีการพยากรณ์โรคอย่างไร? ก่อผลข้างเคียงอย่างไร?

การพยากรณ์โรคของกลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุข คือ ส่วนใหญ่การรักษาได้ผลดี ควบคุมอา การต่างๆได้ ยกเว้น กรณีมีโรคประจำตัวซึ่งไม่หายขาด ก็ต้องรักษาโรคประจำตัวนั้นๆ ร่วมกับรักษากลุ่มอาการนี้ ซึ่งถ้าควบคุมโรคประจำตัวไม่ได้ ก็มักจะควบคุมกลุ่มอาการนี้ไม่ได้

อย่างไรก็ตาม ในผู้ป่วยบางราย ภายหลังควบคุมโรคได้แล้ว และถึงแม้จะดูแลตนเองได้ดีก็ตาม ก็กลับมามีอาการเกิดเป็นซ้ำได้อีก แต่กลุ่มอาการนี้ ไม่เป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดอาการชัก หรือโรคลมชัก และไม่ทำให้เกิดอัมพาต

ส่วนผลข้างเคียงที่เกิดจากกลุ่มอาการนี้ จะเป็นผลข้างเคียงที่เป็นผลสืบเนื่องจาก การนอนไม่หลับ คือ โรคความดันโลหิตสูง ที่อาจส่งผลให้เกิดโรคอัมพาต และเกิดความเครียด ซึม เศร้า และปัญหาด้านอารมณ์ต่างๆตามมา

ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อเกิดกลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุข?

การปฏิบัติตัว/การดูแลตนเองเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ที่ต้องทำควบคู่กันไปกับการทานยา การรักษาจึงจะมีประสิทธิภาพ ซึ้งการดูแลตนเอง ได้แก่

  • หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มมีกาเฟอีน โดยเฉพาะ ช่วงบ่าย ค่ำ
  • นอนให้ตรงเวลา และรักษาสุขลักษณะในการนอน (อ่านเพิ่มเติมเรื่องนี้ได้ในเว็บ haamor.com)
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอทุกวัน (มีรายงานว่า ช่วยควบคุมอาการได้ดี)
  • ผ่อนคลายกล้ามเนื้อในส่วนที่เกิดอาการ โดยการนวด ประคบน้ำอุ่น เป็นต้น
  • รักษา ควบคุมโรคเรื้อรัง โรคประจำตัวต่างๆให้ได้ดี
รักษาสุขภาพจิต ไม่เครียด

ป้องกันกลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุขอย่างไร?

การป้องกันอาการขาอยู่ไม่สุข ได้แก่ การสร้างสุขลักษณะในการนอน (อ่านเพิ่มเติมเรื่องนี้ได้ในเว็บ haamor.com) และการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดอาการดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ ปัจจัยเสี่ยงที่กระตุ้นให้เกิดอาการ เช่น เลิกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ งดบุหรี่ และออกกำลังกายสม่ำเสมอตามควรกับสุขภาพ