กลิ่นปาก (Bad breath)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

กลิ่นปาก หรือ ปากเหม็น หรือลมหายใจมีกลิ่น หรือลมหายใจเหม็น (Bad breath หรือ Halitosis) คือ ภาวะที่ลมปาก และลมหายใจเกิดมีกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ ซึ่งภาวะมีกลิ่นปากนี้พบได้ในทุกอายุ ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ แต่โอกาสพบในเด็กน้อยกว่าในผู้ใหญ่ เพราะเด็กมีปัญหาจากโรคของช่องปากน้อยกว่าในผู้ใหญ่ ทั้งนี้ในผู้ใหญ่พบภาวะมีกลิ่นปากได้ประมาณ 2.4% ของประชากรผู้ใหญ่ทั้งหมด

กลิ่นปากเกิดได้อย่างไร?

กลิ่นปาก

กลิ่นปากมักเกิดจาก 2 ตำแหน่ง คือ กลิ่นที่เกิดจากช่องปากและลำคอ และกลิ่นที่มีสาเหตุนอกช่องปาก ลำคอ

  • กลิ่นที่เกิดจากช่องปากและลำคอ แบ่งได้ เป็น 2 สาเหตุหลัก คือ จากอาหารและเครื่องดื่มที่เราบริโภค และจากโรคของช่องปากและลำคอ

- จากกลิ่นของอาหารและเครื่องดื่มที่เราบริโภค เช่น กระเทียม เครื่องเทศ และกลิ่นสุรา ซึ่งกลิ่นจากสาเหตุนี้จะมีอยู่เพียงชั่วคราว เมื่อล้างปาก แปรงฟัน พ่นสเปรย์ปาก ใช้ไหมขัดฟัน อมยาอม และ/หรือ เคี้ยวหมากฝรั่ง กลิ่นจะบรรเทา และหายไปได้เอง

- จากโรคของช่องปาก และ/หรือของลำคอ (แต่โดยทั่วไปกลิ่นปากจะมีสาเหตุจากโรคช่องปากสูงที่สุด ประมาณ 85-90% ของสาเหตุทั้งหมด) ทั้งนี้เพราะในช่องปาก และลำคอ มีแบคทีเรียอยู่มากมาย เมื่อมีเศษอาหารตกค้างจากการดูแลช่องปากได้ไม่ดีพอ แบคทีเรียเหล่านี้จะย่อยสลายเศษอาหาร ก่อให้เกิดก๊าซ/แก๊ส /สารประกอบในกลุ่ม ซัลเฟอร์ (Sulfur compounds) ซึ่งเป็นสารให้กลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ จึงเกิดเป็นกลิ่นปาก

  • หรือถ้ามีแผลอักเสบ รวมทั้งมีสารคัดหลั่งจากแผล ซึ่งเซลล์ที่ตายจากการอักเสบ และสารคัดหลั่งจะถูกแบคทีเรียย่อยสลายก่อให้เกิดกลิ่นเช่นกัน เช่นใน โรคเหงือกอักเสบ ฟันผุ และโรคมะเร็งของช่องปากและของลำคอ

อนึ่ง เนื้อเยื่อของช่องปากที่มักก่อให้เกิดกลิ่นปาก คือ ลิ้นและโคนลิ้นจากการหมักหมมของเศษอาหาร เพราะลิ้น และโคนลิ้นมีลักษณะเป็นเนื้อเยื่อที่ขรุขระ จึงมีเศษอาหาร หรือ สารคัดหลั่ง/น้ำเมือกตกค้างอยู่ตามซอกต่างๆได้มาก นอกจากนั้น คือ จากโรคของเหงือก และฟัน รวมทั้งของเยื่อเมือกบุช่องปากทั้งหมด

ส่วนเนื้อเยื่อในช่องคอ ที่ก่อให้เกิดกลิ่นปากได้บ่อยคือ บริเวณต่อมทอนซิล ซึ่งมีลักษณะขรุขระเป็นร่อง และนอกจากรองรับเศษอาหารจากช่องปากแล้ว ต่อมทอนซิลยังรองรับน้ำเมือกจากเซลล์ที่ตายแล้ว ซึ่งมักเกิดจากการอักเสบของไซนัส และของโพรงจมูก ซึ่งมักไหลลงทางด้านหลังของลำคอ ต่อมทอนซิลจึงเป็นแหล่งหมักหมมของสิ่งต่างๆเหล่านี้ได้ง่าย

นอกจากนั้น การใส่ฟันปลอม และการดูแลฟันปลอมได้ไม่สะอาดพอ ก็ยังเป็นสาเหตุของกลิ่นปากได้อีกด้วย เพราะฟันปลอมจะเป็นแหล่งสะสมของทั้งเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา ชนิดที่ก่อให้เกิดกลิ่นได้

  • กลิ่นที่มีสาเหตุเกิดนอกช่องปาก ลำคอ เช่น จากการสูบบุหรี่ จากโรคเรื้อรังต่างๆ และจากกลิ่นของอาหารที่ตกค้างในหลอดอาหารและ/หรือในกระเพาะอาหาร เช่น ใน โรคกรดไหลย้อน (ไหลกลับ) หรือเมื่อกินอาหารแต่ละมื้อในปริมาณมากๆ

- โรคเรื้อรังต่างๆที่เป็นสาเหตุให้มีกลิ่น มักก่อกลิ่นผิดปกติ ทั้งจากกลิ่นตัว กลิ่นลมหายใจ กลิ่นปัสสาวะ และรวมถึงกลิ่นปาก ทั้งนี้เพราะเกิดจากสารให้กลิ่นบางชนิดในร่างกาย ที่ในภาวะปกติ สารเหล่านี้จะถูกขับออกจากร่างกาย ทางเหงื่อ ทางปัสสาวะ และ/หรือทางลมหายใจ แต่เมื่อมีโรคเรื้อรังของอวัยวะที่ทำหน้าที่กำจัดสารเหล่านี้ จึงเกิดมีสารเหล่านี้ คั่งอยู่ในเลือด จึงก่อให้เกิดกลิ่นปาก ร่วมกับกลิ่นจากส่วนอื่นๆของร่างกายดังได้กล่าวแล้ว

โรคเรื้อรังที่อาจก่อให้เกิดกลิ่นผิดปกติเหล่านี้ เช่น โรคเบาหวาน (การคั่งของสารพวก อะซีโตน/Acetone) โรคไตเรื้อรัง (การคั่งของสารพวกยูเรีย/Urea) และโรคตับแข็ง (การคั่งของสารพวก ไตรมีธัยลามีน/ Trimethylamine)

อนึ่ง การมีน้ำลายน้อยผิดปกติ เช่น ภาวะปาก คอ แห้ง ซึ่ง อาจเกิดจากโรคบางชนิด เช่น โรคของต่อมน้ำลาย โรคเบาหวาน หรือ จากผลข้างเคียงของยาบางชนิด เช่น ยาลดความดันโลหิตบางชนิด หรือจากการอ้าปากหายใจ เช่น โรคนอนหลับแล้วหยุดหายใจ หรือ โรคหืด จึงส่งผลให้เกิดเศษอาหารตกค้างในช่องปาก ตามซอกเหงือกและซอกฟันได้ง่ายขึ้น จึงเป็นแหล่งเจริญเติบโตของแบคทีเรียก่อกลิ่นได้

มีอาการอื่นร่วมกับกลิ่นปากอีกไหม?

อาการที่เกิดร่วมกับการมีกลิ่นปาก คือ อาการจากสาเหตุ เช่น ปากแห้ง น้ำลายเป็นเมือก เจ็บในช่องปาก ในลิ้น ในเหงือก หรือ ปวดฟัน เจ็บคอ การรับรสชาติผิดปกติ อาจมีเสมหะมาก ไอเรื้อ หรือมีน้ำมูกไหลจากโพรงจมูกเข้าสู่ด้านหลังลำคอ ทั้งนี้รวมถึงอาการของโรคเรื้อรังต่างๆเอง เช่น อาการของ โรคเบาหวาน หรือ ของโรคไตเรื้อรัง

รักษาภาวะกลิ่นปากได้อย่างไร?

แนวทางการรักษากลิ่นปาก คือ การดูแลความสะอาดของช่องปากและฟัน ร่วมกับการรักษาสาเหตุ เช่น การรักษาโรคฟันผุ หรือ การรักษาโรคเบาหวาน โรคกรดไหลย้อน หรือ โรคนอนหลับแล้วหยุดหายใจ

มีผลข้างเคียงจากภาวะมีกลิ่นปากไหม? กลิ่นปากรุนแรงไหม?

ผลข้างเคียงจากภาวะมีกลิ่นปาก คือ ปัญหาด้านอารมณ์/จิตใจ ที่เกิดจากปัญหาในการเข้าสังคม

ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?

การดูแลตนเองและการพบแพทย์เมื่อมีกลิ่นปาก ได้แก่

  • ล้างปาก บ้วนปาก แปรงฟัน อมลูกอม เคี้ยวหมากฝรั่ง หรือ สเปรย์ช่องปาก โดยเฉพาะหลังกินอาหารมีกลิ่น
  • รักษาความสะอาดช่องปากและฟันเสมอ ด้วยการแปรงฟันวันละอย่างน้อย 2 ครั้ง คือ เมื่อตื่นนอนเช้า และก่อนเข้านอน รวมทั้งการแปรงลิ้น และรู้จักใช้ไหมขัดฟันเสมอ หลังอาหารทุกมื้อ และก่อนการแปรงฟัน
  • รักษาความสะอาดฟันปลอม
  • รักษาควบคุมโรคต่างๆที่เป็นสาเหตุ
  • เลิกบุหรี่ ไม่สูบบุหรี่
  • ควรพบทันตแพทย์ เมื่อ

- ดูแลตนเองแล้วยังมีกลิ่นปาก

- มีแผลเรื้อรังในช่องปาก

- ปัญหาเรื่องเหงือกและฟัน

- กังวลในเรื่องของกลิ่นปาก

- พบทันตแพทย์ตามทันตแพทย์แนะนำ (ถ้าเคยพบทันตแพทย์แล้ว)

ป้องกันกลิ่นปากได้อย่างไร?

การป้องกันกลิ่นปาก มีวิธีการเช่นเดียวกับที่กล่าวแล้วใน หัวข้อการดูแลตนเอง (อ่านเพิ่มเติมในหัวข้อนั้น) ซึ่งที่สำคัญ คือ

  • การรักษาความสะอาดช่องปากและฟัน
  • การเลิกบุหรี่ การไม่สูบบุหรี่
  • กินอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ให้ครบทุกวัน เพื่อความแข็งแรงของเนื้อเยื่อของช่องปากและฟัน
  • ป้องกัน ดูแลรักษาโรคที่อาจเป็นสาเหตุของกลิ่นปาก ดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ กลิ่นปากเกิดได้อย่างไร เช่น โรคเบาหวาน เป็นต้น
  • พบทันตแพทย์สม่ำเสมอทุก 6 เดือน หรือ 1 ปี ขึ้นกับสุขภาพช่องปากและฟันของแต่ละคน หรือตามทันตแพทย์แนะนำ

บรรณานุกรม

  1. http://en.wikipedia.org/wiki/Halitosis[2017,July1]
  2. http://emedicine.medscape.com/article/867570-overview#showall[2017,July1]
  3. Dan Velde, V. et al. (2009). Detection of odorous compounds in breath. J Dent Res. 88, 285-289.
Updated 2017,July1