กริซีโอฟูลวิน (Griseofulvin)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

ทั่วไป

ยากริซีโอฟูลวิน (Griseofulvin) เป็นยาต้านเชื้อราชนิดรับประทาน มีการนำยามาใช้ทั้งในมนุษย์และสัตว์ สำหรับมนุษย์มักนำมารักษาอาการติดเชื้อราตามผิวหนังและเล็บมือเล็บเท้า ยานี้ถูกสกัดได้จากสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า ‘โมลด์ (Mold, ราชนิดหนึ่งที่เซลล์มีลักษณะเป็นเส้นใย)’ ชนิดที่มีชื่อเจาะจงว่า Penicillium griseofulvum

หากพิจารณาด้านเภสัชจลนศาสตร์ (Pharmacokinetic, การศึกษาความเป็นไปของยาเมื่อยาเข้าสู่ร่างกาย) ของยากริซีโอฟูลวินจะพบว่า การดูดซึมจากทางเดินอาหารมีช่วงกว้างมาก กล่าวคือ 25 - 70% ระดับยาในกระแสเลือดจะเพิ่มสูงสุดโดยใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมง ตับจะคอยเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีของยากริซีโอฟูลวิน ร่างกายต้องใช้เวลา 9 - 21 ชั่วโมงในการกำจัดยาออกจากร่างกาย 50% โดยผ่านไปกับปัสสาวะและอุจจาระ

องค์การอนามัยโลกจัดให้กริซีโอฟูลวินเป็นยาจำเป็นสำหรับระบบสาธารณสุขขั้นมูลฐานคณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุกริซีโอฟูลวินลงในบัญชียาหลักแห่งชาติ โดยจัดให้อยู่ในหมวดยาอันตราย การใช้ยาให้ตรงกับวัตถุประสงค์ของการรักษาจึงต้องเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น

ยากริซีโอฟูลวินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

กริซีโอฟูลวิน

ยากริซีโอฟูลวินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้:

  • รักษาการติดโรคเชื้อรา ที่ ผม ผิวหนัง เล็บมือ เล็บเท้า

ยากริซีโอฟูลวินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยากริซีโอฟูลวินคือ ตัวยาจะยับยั้งการแบ่งเซลล์ของเชื้อราในระยะที่เรียกว่าเมตะเฟส (Metaphase) ยานี้ยังเข้าไปรวมกับเคอราติน (Keratin) ที่ผิวหนังของผู้ป่วย ทำให้ผิวหนังบริเวณที่สัมผัสกับเชื้อรามีความคงทนและต่อต้านการติดเชื้อราได้

ยากริซีโอฟูลวินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

รูปแบบการจัดจำหน่ายของยากริซีโอฟูลวิน:

  • ยาเม็ดขนาด 125 และ 500 มิลลิกรัม/เม็ด

ยากริซีโอฟูลวินมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยากริซีโอฟูลวิน มีขนาดรับประทาน เช่น

ก. การติดเชื้อราที่ผมและผิวหนัง: เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทาน 0.5 - 1 กรัม/วันเป็นเวลา 2 - 8 สัปดาห์ สามารถแบ่งรับประทานหรือจะรับประทานเพียงครั้งเดียวก็ได้ตามคำส่ะงแพทย์

ข. การติดเชื้อราที่เล็บมือ: เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทาน 0.5 - 1 กรัม/วันเป็นเวลา 6 เดือน

ค. การติดเชื้อราที่เล็บเท้า: เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทาน 0.5 - 1 กรัม/วันเป็นเวลา 12 เดือนหรือมากกว่านั้นตามคำสั่งแพทย์

อนึ่ง:

  • ควรรับประทานยานี้พร้อมอาหารทันที
  • เด็ก: ขนาดยานี้ขึ้นกับน้ำหนักตัวของเด็ก และต้องอยู่ในดุลพินิจของแพทย์

*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยากริซีโอฟูลวิน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยากริซีโอฟูลวินอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยากริซีโอฟูลวินสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

ยากริซีโอฟูลวินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยากริซีโอฟูลวินสามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น

  • ระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหาร
  • วิงเวียน
  • สับสน
  • ปวดศีรษะ /ปวดหัว
  • ซึมเศร้า
  • อ่อนเพลีย
  • นอนไม่หลับ
  • ปลายประสาทอักเสบ (โรคเส้นประสาท)
  • ผื่นแพ้แสงแดด
  • ผื่นคัน
  • ลมพิษ
  • อาจพบโปรตีนในปัสสาวะ (พบได้จากการตรวจปัสสาวะ, URLในเว็บ haamor.com คือ ปัสสาวะ-การตรวจปัสสาวะ)

มีข้อควรระวังการใช้ยากริซีโอฟูลวินอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยากริซีโอฟูลวิน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยากริซีโอฟูลวิน
  • ห้ามใช้ยานี้กับหญิงตั้งครรภ์
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคตับ ผู้ป่วยโรคลูปัส-โรคเอสแอลอี
  • ระวังการใช้ยานี้กับหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ระหว่างการใช้ยานี้ควรระวังเรื่องการขับขี่ยวดยานพาหนะหรือการทำงานที่เกี่ยวกับเครื่องจักรเพราะจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย ทั้งนี้เนื่องจากผลข้างเคียงของยา เช่น สับสน วิงเวียน อ่อนเพลียจากนอนไม่หลับ
  • หลีกเลี่ยงการโดนแสงแดดหรือแสงจากหลอดไฟฟ้า
  • ระหว่างการรักษาด้วยกริซีโอฟูลวิน ควรเฝ้าระวังเรื่องการทำงานของไต ของตับ โดยควรมีการตรวจสอบผลเลือดเป็นระยะๆตามคำแนะนำของแพทย์
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบัน ทุกชนิด (รวมยากริซีโอฟูลวินด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้ง ให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยากริซีโอฟูลวินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยากริซีโอฟูลวินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยากริซีโอฟูลวิน ร่วมกับ ยารักษาโรคลมชัก/(ยากันชักยาต้านชัก, URL ในเว็บ haamor.com) เช่นยา Phenobarbital จะทำให้ลดการดูดซึมของยารักษาโรคลมชักจากระบบทางเดินอาหาร หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานเป็นกรณีๆไป
  • การใช้ยากริซีโอฟูลวิน ร่วมกับ ยาเม็ดคุมกำเนิด เช่นยา Estradiol และ Norethindrone/ Norethisterone acetate อาจทำให้ระดับความเข้มข้นของยาคุมกำเนิดในกระแสเลือดลดต่ำลง และอาจส่งผลให้มีเลือดออกหรือเสี่ยงกับการตั้งครรภ์ได้ จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยากริซีโอฟูลวิน ร่วมกับ ยาแก้ปวด ยาลดไข้ เช่นยา Paracetamol จะทำให้เพิ่มความเป็นพิษกับตับ หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยากริซีโอฟูลวิน ร่วมกับ เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ จะทำให้มีอาการใบหน้าแดง หัวใจเต้นเร็ว จึงควรหลีกเลี่ยงและห้ามการใช้ยาร่วมกับแอลกอฮอล์

ควรเก็บรักษายากริซีโอฟูลวินอย่างไร?

ควรเก็บยากริซีโอฟูลวิน เช่น

  • เก็บยาที่อุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซียลเซียส (Celsius)
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ

ยากริซีโอฟูลวินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยากริซีโอฟูลวิน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Aofen (ออเฟน) Medicine Products
Fulvin (ฟูลวิน) Burapha (Griseo (microcrystalline))
Fungivin (ฟังกิวิน) The Forty-Two
Fusovin (ฟูโซวิน) Charoen Bhaesaj Lab
Grifulvin (กริฟูลวิน) General Drugs House
Griseofulvin Acdhon (กริซีโอฟูลวิน แอคฮอน) Acdhon
Griseofulvin Chew Brothers (กริซีโอฟูลวิน ชิว บราเทอร์) Chew Brothers
Griseofulvin Picco (กริซีโอฟูลวิน พิคโค) Picco Pharma
Griseofulvin Pond’s Chemical (กริซีโอฟูลวิน พอนด์ส เคมีคอล) Pond’s Chemical
Griseofulvin T Man (กริซีโอฟูลวิน ที แมน) T.Man Pharma
Griseo-Med (กริซีโอ-เมด) Utopian
Grisflavin (กริสฟลาวิน) Asian Pharm (Griseo (microcrystalline))
Grisin (กริซิน) Chinta
Grisovex (กริโซเวกซ์) The United Drug (1996)
Grivin (กริวิน) Atlantic Lab
K.B. Vinecin (เค.บี. วิเนซิน) K.B. Pharma
Mycovin (มายโควิน) Community Pharm PCL
Mycoxyl (มายโคซิล) Bangkok Lab & Cosmetic
Neofulvin (นีโอฟูลวิน) Chew Brothers
Trivanex (ทริแวเน็กซ์) Pharmasant Lab

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Griseofulvin [2020,Dec12]
  2. http://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=griseofulvin&page=0 [2020,Dec12]
  3. http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fUSA%2fDrug%2finfo%2fgriseofulvin%2f%3ftype%3dfull%26mtype%3dgeneric#Dosage [2020,Dec12]
  4. https://www.drugs.com/drug-interactions/griseofulvin-index.html?filter=3&generic_only= [2020,Dec12]