กระเพาะปัสสาวะไวเกิน (Overactive bladder)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 17 ตุลาคม 2563
- Tweet
- บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?
- กระเพาะปัสสาวะไวเกินเกิดได้อย่างไร?
- กระเพาะปัสสาวะไวเกินมีสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงจากอะไร?
- กระเพาะปัสสาวะไวเกินมีอาการอย่างไร?
- อะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดอาการรุนแรง?
- เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?
- แพทย์วินิจฉัยกระเพาะปัสสาวะไวเกินได้อย่างไร?
- รักษากระเพาะปัสสาวะไวเกินอย่างไร?
- กระเพาะปัสสาวะไวเกินมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
- มีผลข้างเคียงจากกระเพาะปัสสาวะไวเกินอย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไร?
- ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?
- ป้องกันกระเพาะปัสสาวะไวเกินได้อย่างไร?
- บรรณานุกรม
- โรคอัมพาต โรคอัมพฤกษ์ โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)
- โรคไขสันหลัง (Spinal cord disease)
- เบาหวาน (Diabetes mellitus)
- โรคพาร์กินสัน (Parkinson’s disease)
- กระเพาะปัสสาวะอักเสบ (Cystitis)
- กายวิภาคและสรีรวิทยาของระบบทางเดินปัสสาวะ (Anatomy and physiology of Urinary tract)
- โบทอกซ์ หรือโบทูไลนัมท็อกซิน (Botox or Botulinum Toxin)
- ขมิบช่องทวารเบา ขมิบช่องคลอด การบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน (Kegel exercise)
บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?
กระเพาะปัสสาวะไวเกิน หรือ กระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน (Overactive bladder ย่อว่า OAB/ โรคโอเอบี)คือ ภาวะ/โรคที่กระเพาะปัสสาวะบีบตัวบ่อยผิดปกติซึ่งส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดอาการปวดปัสสาวะชนิดที่ต้องการเข้าห้องน้ำทันที โดยเมื่อเข้าห้องน้ำแล้ว ปริมาณปัสสาวะอาจมีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งอาการปวดปัสสาวะทันทีนี้จะเกิดบ่อยมากจน กระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
ทั้งนี้ ในภาวะปกติ เราจะถ่ายปัสสาวะ/เข้าห้องน้ำประมาณ 4-10 ครั้งต่อวัน(ทั่วไป ประมาณ 6-7ครั้ง/วัน) ทั้งนี้ขึ้นกับปัจจัยที่ทำให้มีปัสสาวะมาก เช่น ดื่มน้ำมาก, ดื่มเครื่องดื่มที่มีสารคาเฟอีนมาก, ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์, กินยาขับปัสสาวะ, กินยาลดความดัน
ภาวะกระเพาะปัสสาวะไวเกิน/กระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน พบได้บ่อย มักพบในอายุ 18 ปีขึ้นไป พบทั่วโลก ทุกเชื้อชาติ ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย(บางการศึกษาระบุว่า พบในผู้หญิงบ่อยกว่าในผู้ชาย) และพบสูงขึ้นในอายุที่มากขึ้นหรือในผู้สูงอายุ มีสถิติจากสหรัฐอเมริกา พบโรคนี้ได้ประมาณ 7%-27% ในผู้ชาย, และประมาณ 9%-43% ในผู้หญิง
อนึ่ง ชื่ออื่นของภาวะกระเพาะปัสสาวะไวเกิน/กระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน ได้แก่ Overactive bladder syndrome, Irritable bladder, หรือ Detrusor instability
กระเพาะปัสสาวะไวเกินเกิดได้อย่างไร?
กระเพาะปัสสาวะไวเกิน/ กระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน เกิดจาก กล้ามเนื้อผนังกระเพาะปัสสาวะและกล้ามเนื้อในอุ้งเชิงกราน (ท้องน้อย)ซึ่งมีหน้าที่หดตัว/บีบตัวและขยายตัวตามปริมาณน้ำปัสสาวะ และเมื่อกระเพาะปัสสาวะมีน้ำปัสสาวะที่มากพอ ระบบประสาท/สมอง จะส่งสัญญาณมายังกล้ามเนื้อผนังกระเพาะปัสสาวะและกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการหดตัว/การปวดปัสสาวะ ซึ่งเป็นผลให้เกิดการบีบตัวของกล้ามเนื้อผนังกระเพาะปัสสาวะเพื่อบีบตัวไล่ปัสสาวะออกมา
ในภาวะปกติ คนทั่วไป เมื่อเกิดการปวดปัสสาวะ จะยังสามารถกลั้นปัสสาวะได้ แต่กรณีกระเพาะปัสสาวะไวเกิน จะเกิดความผิดปกติในการสั่งการของสมองมายังกล้ามเนื้อผนังกระเพาะปัสสาวะ ทำให้ถึงแม้จะไม่มีปัสสาวะ หรือมีปัสสาวะปริมาณน้อย กล้ามเนื้อฯก็จะบีบตัว กระตุ้นให้เกิดการปวดปัสสาวะทันที จนรู้สึกว่าจำเป็นต้องเข้าห้องน้ำ/ถ่ายปัสสาวะ โดยกลั้นปัสสาวะไม่ได้ ดังนั้นในแต่ละวัน ผู้ป่วย‘โรคนี้จึงต้องเข้าห้องน้ำบ่อยมาก ตั้งแต่ 8 ครั้งขึ้นไป รวมถึงในตอนกลางคืนต้องตื่นเข้าห้องน้ำตั้งแต่ 2 ครั้งขึ้นไป’
กระเพาะปัสสาวะไวเกินมีสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงจากอะไร?
สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงของกระเพาะปัสสาวะไวเกิน/กระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน ที่แน่ชัด แพทย์ยังไม่ทราบ และผู้ป่วยส่วนใหญ่ แพทย์หาสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงไม่ได้ แต่แพทย์เชื่อว่า น่าเกิดจากหลายสาเหตุ/ปัจจัยร่วมกัน ซึ่งสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงที่แพทย์พบ ได้แก่
- อายุที่มากขึ้น ยิ่งอายุสูงกว่า 40 ปี ก็มีโอกาสเกิดโรค/ภาวะนี้สูงขึ้น
- กระเพาะปัสสาวะอักเสบเรื้อรัง
- นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ
- โรคต่อมลูกหมากโต(ในผู้ชาย)
- โรคสมอง เช่น อัมพาต:โรคหลอดเลือดสมอง, โรคอัลไซเมอร์, โรคพาร์กินสัน,
- โรคเบาหวาน
- ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด เช่น ยานอนหลับ ยาขับปัสสาวะ ยาต้านเศร้า ยาลดความดัน
กระเพาะปัสสาวะไวเกินมีอาการอย่างไร?
อาการของกระเพาะปัสสาวะไวเกิน/กระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน จะเป็นกลุ่มอาการ ซึ่งอาการที่สำคัญที่สุด ที่เกิดในผู้ป่วยทุกคน คือ
- ปวดปัสสาวะชนิดที่ต้องเข้าห้องน้ำทันทีบ่อยมาก ตั้งแต่ 8 ครั้ง/วันขึ้นไป
- และร่วมกับต้องตื่นขึ้นมาปัสสาวะ ตั้งแต่ 2 ครั้งขึ้นไปต่อคืน
นอกจากนั้น เป็นกลุ่มอาการอื่นๆที่เกิดร่วมด้วย แต่ไม่จำเป็นต้องเกิดกับทุกคนหรือต้องเกิดครบทุกอาการ เช่น
- กลุ่มอาการจากการกักเก็บปัสสาวะผิดปกติ เช่น กลั้นปัสสาวะไม่อยู่
- อาการผิดปกติในขณะถ่ายปัสสาวะ เช่น ปัสสาวะไหลช้า, ปัสสาวะไหลๆหยุดๆ, ต้องเบ่งปัสสาวะ, ในช่วงสุดท้ายของการปัสสาวะลักษณะจะเป็นปัสสาวะหยด
- อาการหลังปัสสาวะสุดแล้ว ได้แก่ ยังมีปัสสาวะรั่วซึมหลังสุดปัสสาวะ, มีปัสสาวะค้างในกระเพาะปัสสาวะ, หลังปัสสาวะสุดแล้วยังรู้สึกได้ว่ามีปัสสาวะค้างอยู่ในกระเพาะปัสสาวะ
- ในผู้ป่วยบางราย ยังมีการกลั้นอุจจาระไม่อยู่ร่วมด้วย
อะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดอาการรุนแรง?
ปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลให้อาการของกระเพาะปัสสาวะไวเกิน/ กระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน รุนแรงขึ้น ได้แก่
- ดื่มเครื่องดื่มมีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ โคลา เครื่องดึ่มชูกำลัง
- ดื่มน้ำมากเกินปกติ ยกเว้นกรณีที่ร่างกายต้องเสียเหงื่อหรือเสียน้ำมาก เช่น อากาศร้อนจัด ท้องเสีย
- ดื่มน้ำน้อยกว่าปกติซึ่งจะทำให้ปัสสาวะข้น จึงก่อการระคายเคืองผนังกระเพาะปัสสาวะ ส่งผลกระตุ้นให้กล้ามเนื้อปัสสาวะบีบตัวมากขึ้น บ่อยขึ้น ซึ่งในสภาพร่างกายปกติ ควรดื่มน้ำสะอาดวันละ 6-8 แก้ว
- ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ
เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?
ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเมื่อมีอาการดังกล่าวในหัวข้อ “อาการฯ” ที่เมื่อดูแลตนเองแล้วอาการไม่มีดีขึ้น หรือ ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
แพทย์วินิจฉัยกระเพาะปัสสาวะไวเกินได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยภาวะกระเพาะปัสสาวะไวเกิน/กระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน ได้จาก
- การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น ประวัติอาการ ประวัติ โรคประจำตัว ประวัติใช้ยาต่างๆ ประวัติการผ่าตัดในอุ้งเชิงกรานหรือในช่องท้อง
- การตรวจร่างกาย
- ในผู้หญิงอาจมีการตรวจภายใน ทั้งนี้ขึ้นกับอาการของผู้ป่วยและดุลพินิจของแพทย์
- การตรวจปัสสาวะ
- การเพาะเชื้อจากน้ำปัสสาวะ
- การตรวจภาพกระเพาะปัสสาวะและภาพระบบทางเดินปัสสาวะด้วยอัลตราซาวด์
- และอาจมีการตรวจอื่นๆเพื่อการสืบค้นเพิ่มเติม โดยขึ้นกับ อาการผู้ป่วย และดุลพินิจของแพทย์ เป็นกรณีแต่ละผู้ป่วย ผู้ป่วยทุกรายไม่จำเป็นต้องมีการตรวจสืบค้นเหมือนๆกัน เช่น
- การตรวจภาพกระเพาะปัสสาวะ/อุ้งเชิงกราน/ช่องท้องด้วย เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (ซีทีสแกน) และ/หรือเอมอาร์ไอ
- การส่องกล้องตรวจกระเพาะปัสสาวะ
- การตรวจกระเพาะปัสสาวะที่เป็นวิธีเฉพาะ เช่น ตรวจการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะที่เรียกว่า Urodynamic testing
รักษากระเพาะปัสสาวะไวเกินอย่างไร?
แนวทางการรักษาภาวะกระเพาะปัสสาวะไวเกิน/ กระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน คือการรักษาสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง และการรักษาอาการของภาวะปัสสาวะไวเกิน
ก. การรักษาสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง: เช่น
- รักษาโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบกรณีสาเหตุจากกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
- รักษาโรคสมองกรณีสาเหตุมาจากโรคสมอง
- ปรับเปลี่ยนยาลดความดัน กรณีสาเหตุเกิดจากผลข้างเคียงของยาเหล่านั้น
ข. การรักษาอาการของกระเพาะปัสสาวะไวเกิน: แพทย์มักจะให้การดูแลรักษาเป็นขั้นตอน เช่น
- ขั้นตอนแรก: คือ ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต ที่สำคัญที่สุด คือการจดบันทึกต่างๆทุกวันที่เรียกว่า “Bladder diary” ที่เกี่ยวข้องกับภาวะนี้ตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เพื่อผู้ป่วยจะได้เรียนรู้ลักษณะอาการโรคของ เช่น
- อาการของการขับถ่ายทุกครั้ง
- สี กลิ่น ปริมาณ ปัสสาวะทุกครั้ง
- ปัจจัยที่อาจเกี่ยวข้องกับอาการ หรือกระตุ้นให้เกิดอาการ เช่น
- การปรับประเภท อาหาร เครื่องดื่ม ยาต่างๆ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร
- การเตรียมความพร้อมในการขับถ่ายเมื่อต้องออกนอกบ้าน
ซึ่งบันทึกนี้ แพทย์ พยาบาล จะนำมาศึกษาเพื่อแนะนำแนวทางการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้ป่วย ร่วมกับการฝึกการทำงานของกระเพาะปัสสาวะตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เช่น การฝึกเข้าห้องน้ำเป็นเวลา, การฝึกเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานที่เรียกว่าการขมิบก้น/การขมิบช่องคลอด (Kegel exercises)
- ขั้นตอนที่ 2: เมื่อการรักษาขั้นตอนแรกไม่ได้ผล แพทย์จะให้การรักษาเพิ่มเติมร่วมกับการการรักษาขั้นตอนแรก คือ การให้ยาร่วมด้วยเพื่อช่วยบรรเทาอาการปัสสาวะบ่อย ซึ่งกลุ่มยาหลักที่ใช้ เช่น
- ยากลุ่ม Anticholinergic agents (Antimuscarinic drugs) เช่นยา Oxybutynin ที่ช่วยให้กระเพาะปัสสาวะคลายตัว/บีบตัวลดลง
- ยากลุ่ม Beta adrenergic agonist ที่ช่วยให้กระเพาะปัสสาวะขยายตัว กระเพาะปัสสาวะจึงกักเก็บปริมาณปัสสาวะได้มากขึ้น เช่นยา Mirabegron
- ขั้นตอนที่ 3: การรักษาด้วยวิธีทางศัลยกรรม/การผ่าตัดเข้ามาช่วยร่วมกับวิธีรักษาในข้อ ก. และในข้อ ข.(ขั้นตอน1,2)ที่ได้กล่าวแล้ว เมื่อใช้การรักษาข้อ ก.และข้อ ข.แล้วไม่ได้ผล การรักษาด้วยวิธีที่ต้องใช้ทางศัลยกรรมร่วมด้วย มีหลายวิธี ซึ่งจะเลือกใช้วิธีใด ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา เช่น
- การฉีดยา โบทูไลนัมท็อกซิน/โบทอกซ์ (Butulinum toxin) เข้ากล้ามเนื้อผนังกระเพาะปัสสาวะเพื่อให้กล้ามเนื้อผนังกระเพาะปัสสาวะคลายตัว ลดการบีบตัว
- การใช้เครื่องกระตุ้นกระแสไฟฟ้าเพื่อการกระตุ้นการทำงานของเส้นประสาทที่ควบคุมการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะ เช่น วิธีที่เรียกว่า Sacral nerve stimulation หรือ Peroneal nerve stimulation
- การผ่าตัดนำเอาส่วนของลำไส้มาต่อกับกระเพาะปัสสาวะ เพื่อเพิ่มพื้นที่ในการกักเก็บปัสสาวะ ซึ่งเรียกวิธีนี้ว่า Augmentation cystoscopy
- การปรับเปลี่ยนทางเดินปัสสาวะเพื่อไม่ให้มีปัสสาวะไหลจากท่อไตเข้าสู่กระเพาะปัสสาวะ โดยผ่าตัดนำท่อไตมาเปิดหน้าท้องจากการทำถุงปัสสาวะ/กระเพาะปัสสาวะเทียม ที่เรียกว่า Urinary diversion
อนึ่ง ปัจจุบัน มีการนำการฝังเข็มมาใช้ช่วยรักษาภาวะนี้ ร่วมกับการรักษาด้วยวิธีการ ก. และ ข. ซึ่งได้ผลในผู้ป่วยบางราย
กระเพาะปัสสาวะไวเกินมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
ภาวะกระเพาะปัสสาวะไวเกิน/กระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน มีการพยากรณ์โรค โดยเป็นภาวะที่ไม่มีผลให้ถึงตาย แต่จะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตที่เลวลง เช่น การงาน การสังคม จึงอาจก่อให้เกิด ความเครียด วิตกกังวล จนถึงซึมเศร้า
ภาวะกระเพาะปัสสาวะไวเกิน/กระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน เป็นภาวะเรื้อรัง
- ประมาณ 40% ของผู้ป่วย อาการจะรักษาได้หายภายในระยะเวลาประมาณ 1 ปี
- แต่ที่เหลือประมาณ 60% การรักษาต้องใช้เวลาต่อเนื่อง นานหลายๆปี
มีผลข้างเคียงจากกระเพาะปัสสาวะไวเกินอย่างไร?
ผลข้างเคียง/ภาวะแทรกซ้อนจากภาวะกระเพาะปัสสาวะไวเกิน/กระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน มักเป็นปัญหาทางอารมณ์ จากการที่ไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ เช่น หงุดหงิด ความเครียด กลัว วิตกกังวล ซึมเศร้า นอกจากนั้น เช่น
- อ่อนเพลียจากนอนไม่พอ เพราะต้องตื่นบ่อยเพื่อการปัสสาวะ
- อาการต่างๆอาส่งผลให้มีปัญหาทางเพศสัมพันธ์ ถ้าผู้ป่วยยังอยู่ในวัยเจริญพันธ์
ดูแลตนเองอย่างไร?
การดูแลตนเองเมื่อมีภาวะกระเพาะปัสสาวะไวเกิน/กระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน ได้แก่
- ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
- กินยา/ใช้ยาต่างๆที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วน ถูกต้อง ไม่หยุดยาเอง
- ฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานตามแพทย์ พยาบาล แนะนำ (แนะนำอ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง การขมิบก้น /การขมิบช่องคลอด Kegel exercises)
- รักษา ควบคุมโรคต่างๆ ที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะนี้ให้ได้เป็นอย่างดี
- ดื่มน้ำสะอาดในแต่ละวันให้เพียงพอ วันละประมาณ 6-8 แก้ว ไม่ดื่มน้ำมากหรือน้อยเกินไปดังได้กล่าวในหัวข้อ “ปัจจัยเสี่ยงต่ออาการรุนแรงฯ”
- หลีกเลี่ยง เครื่องดื่มมี คาเฟอีน และแอลกอฮอล์
- สังเกตทุกครั้งว่า อะไรเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการรุนแรง เช่น ประเภทอาหาร/เครื่องดื่ม และให้หลีกเลี่ยงสิ่งนั้น
- รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน(สุขบัญญัติแห่งชาติ)เพื่อให้มีสุขภาพกาย และสุขภาพจิตที่แข็งแรง ไม่เครียด ไม่วิตกกังวล หงุดหงิด หรือซึมเศร้า
- ออกกำลังกายทุกวันตามควรกับสุขภาพ ร่วมกับควบคุมอาหารไม่ให้เกิดโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน ด้วยจะส่งผลให้อาการโรคเลวลง รวมทั้งเกิดการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่
- เมื่อเวลาจะออกนอกบ้าน ให้เตรียมตัว เพื่อให้สามารถเข้าห้องน้ำได้สะดวกรวดเร็ว ทั้งนี้รวมถึงในเรื่องการแต่งกายทั้งเมื่ออยู่บ้านและเมื่อออกนอกบ้าน
- พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ
ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?
เมื่อมีภาวะกระเพาะปัสสาวะไวเกิน/กระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ
- อาการต่างๆเลวลง เช่น อาการทางการปัสสาวะเลวลง เป็นต้น
- มีอาการที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่น ปัสสาวะเป็นเลือด ปัสสาวะแสบ ขัด ขุ่น
- มีผลข้างเคียงอย่างต่อเนื่องจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ท้องเสียมาก วิงเวียนศีรษะมาก ปวดหัวมาก
- เมื่อกังวลในอาการ
ป้องกันกระเพาะปัสสาวะไวเกินได้อย่างไร?
การป้องกันภาวะกระเพาะปัสสาวะไวเกิน/ กระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน ให้ได้เต็มร้อยเป็นเรื่องเป็นไปได้ยาก เพราะส่วนใหญ่ของผู้ป่วยยังไม่ทราบสาเหตุ นอกจากนั้นปัจจัยเสี่ยงหลักคือ อายุที่เพิ่มสูงขึ้นซึ่งเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
อย่างไรก็ตาม ยังสามารถลดโอกาสเกิดกระเพาะปัสสาวะไวเกินและลดความรุนแรงของอาการได้ โดยการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ โดย
- รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน(สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง ไม่เป็นโรคเรื้อรังต่างๆที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะกระเพาะปัสสาวะไวเกิน
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอทุกวันตามควรกับสุขภาพ ร่วมกับการควบคุมอาหาร เพื่อป้องกันโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง ที่เป็นปัจจัยให้เกิดโรคสมอง, อัมพาต:โรคหลอดเลือดสมอง
- เมื่อเริ่มมีอาการผิดปกติดังกล่าวในหัวข้อ “อาการฯ”ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล เพื่อให้ได้รับการรักษาแต่เนิ่นๆ ที่จะช่วยให้ได้รับผลการรักษาที่ดี
บรรณานุกรม
- AUA guideline: Am Fam Physician. 2013 Jun 1;87(11):800-803
- https://www.bladderandbowel.org/bladder/bladder-conditions-and-symptoms/frequency/ [2020,Oct10]
- https://www.urologyhealth.org/urologic-conditions/overactive-bladder-(oab) [2020,Oct10]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Overactive_bladder [2020,Oct10]
- https://emedicine.medscape.com/article/459340-overview#showall [2020,Oct10]