กระเนื้อ (Seborrheic keratosis)
- โดย พญ.ชลธิรศน์ ศรีเกษตรสรากุล
- 3 ตุลาคม 2563
- Tweet
- บทนำ
- กระเนื้อเกิดจากอะไร?
- กระเนื้อมีอาการอย่างไร?
- ควรไปพบแพทย์เมื่อไร?
- แพทย์วินิจฉัยกระเนื้อได้อย่างไร?
- แพทย์รักษากระเนื้อได้อย่างไร?
- กระเนื้อก่อผลข้างเคียงอะไรบ้าง?
- กระเนื้อมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อเกิดกระเนื้อ?
- ป้องกันเกิดกระเนื้ออย่างไร?
- บรรณานุกรม
- โรคผิวหนัง (Skin disorder)
- สิว (Acne)
- ฝ้า (Melasma)
- มะเร็งผิวหนัง (Skin cancer)
- กระ (Freckle)
- กระผู้สูงอายุ (Senile lentigo) กระแดด (Solar lentigines)
บทนำ
กระเนื้อ (Seborrheic keratosis) เป็นเนื้องอกชนิดไม่ใช่โรคมะเร็ง เป็นเนื้องอกที่พบบ่อยที่ สุด พบได้ตั้งแต่เริ่มเข้าวัยรุ่นคืออายุประมาณ 15 ปี พบมากขึ้นในผู้สูงอายุ จากรายงานในประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่า ในกลุ่มคนอายุมากกว่า 64 ปี จะพบกระเนื้อได้ 88% ของประชากรกลุ่มที่ทำการสำรวจ โดยเพศไม่มีผลกับอัตราการเกิดกระเนื้อ
กระเนื้อเกิดจากอะไร?
กระเนื้อ เป็นก้อนเนื้องอกของเซลล์ผิวหนัง (Keratinocyte) ที่เกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ แต่อาจเกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์ และ/หรือ ผิวหนังได้รับแสงแดดต่อเนื่อง
กระเนื้อมีอาการอย่างไร?
ลักษณะหรืออาการของกระเนื้อ คือ
- เป็นก้อนเนื้อ สีน้ำตาล น้ำตาลดำ หรือสีดำ
- มีขอบเขตก้อนชัดเจน
- ก้อนเนื้อมีลักษณะ กลม หรือรูปไข่ คล้ายแปะอยู่ที่ผิวหนัง
- ผิวของก้อนพบได้ทั้ง ผิวเรียบมัน หรือผิวขรุขระ และ
- ไม่เจ็บ แต่ออกอาการคันได้
- มักพบกระเนื้อบริเวณนอกร่มผ้า (แต่พบในร่มผ้าก็ได้)
- ขนาดมักไม่เกิน 3 เซนติเมตร
***อนึ่ง ถ้าก้อนขยายขนาดได้รวดเร็ว และ/หรือ มีลักษณะชวนสงสัยว่าเป็นมะเร็งผิวหนัง ต้องรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาล และแพทย์จำเป็นต้องตัดชิ้นเนื้อ เพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา เพื่อการวินิจฉัยแยกโรคจากมะเร็งผิวหนัง
ซึ่งลักษณะที่อาจเกิดจากมะเร็งผิวหนัง นอกจากก้อนเนื้อโตเร็วแล้ว ยังอาจพบลักษณะอื่นๆร่วมด้วย เช่น
- เกิดมีแผลที่ก้อน
- มีเลือดออกที่ก้อน/ที่แผล
- ขอบเขตก้อนไม่เรียบ มีลักษณะการลุกลามเข้าผิวหนังส่วนข้างเคียง
ควรไปพบแพทย์เมื่อไร?
เมื่อสังเกตพบว่ารอยโรค/ก้อนเนื้อโตขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าช่วงที่ผ่านมา มีอาการเจ็บ มีแผล หรือรูปร่างของรอยโรคผิดแปลกจากเดิม (เช่น มีแผล ขอบก้อนเนื้อไม่เรียบ และ/หรือ มีเลือดออกที่ก้อนเนื้อ) แนะนำให้รีบมาพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล เพื่อแพทย์พิจารณาตัดชิ้นเนื้อเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา เพื่อแยกโรคจากเนื้องอกผิวหนังชนิดอื่นๆและ/หรือมะเร็งผิวหนัง
แพทย์วินิจฉัยกระเนื้อได้อย่างไร?
โดยทั่วไป แพทย์สามารถวินิจฉัยกระเนื้อ ได้จาก
- การสอบถามประวัติอาการต่างๆ
- การตรวจดูรอยโรค/ลักษณะก้อนเนื้อ
- การตรวจร่างกาย
- แต่หากแพทย์มีข้อสงสัยที่แยกได้ยากจากเนื้องอกผิวหนังชนิดอื่นๆหรือจากมะเร็งผิวหนัง แพทย์ต้องอาศัยผลการตรวจชิ้นเนื้อทางพยาธิวิทยาประกอบด้วย
แพทย์รักษากระเนื้อได้อย่างไร?
โดยทั่วไป ไม่มีความจำเป็นต้องรักษากำจัดกระเนื้อออก แต่หากเป็นปัญหาด้านความงาม ก็สามารถรักษาได้โดย
- กรณีที่แพทย์ต้องการส่งตรวจชิ้นเนื้อเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา จากกระเนื้อ แพทย์จะทำการตัดก้อนกระเนื้อออกด้วยมีดผ่าตัดหรือมีดโกนผ่าตัด
- หากแพทย์ไม่ต้องการตัดชิ้นเนื้อเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา แพทย์สามารถกำจัดกระเนื้อออกได้โดยการใช้
- เลเซอร์
- การจี้กระเนื้อด้วยความเย็น (Cryotherapy) หรือ
- การขูดกระเนื้อออกด้วยอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เรียกว่า Curettage
ทั้งนี้ โดยทั่วไปสามารถกำจัดกระเนื้อออกได้หมดในการรักษาครั้งเดียว
กระเนื้อก่อผลข้างเคียงอะไรบ้าง?
โดยตัวโรคกระเนื้อไม่ก่อผลข้างเคียง แต่อาจมีผลข้างเคียงจากการรักษา แต่ก็พบได้น้อย เช่น รอยดำหลังผิวหนังอักเสบที่เกิดจากการรักษา หรือเกิดแผลเป็น
กระเนื้อมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
การพยากรณ์โรคของกระเนื้อ คือ
- เป็นโรคที่ไม่รุนแรง
- ไม่ก่ออาการ
- ไม่เปลี่ยนแปลงไปเป็นมะเร็งผิวหนัง แต่
- เป็นภาวะที่ไม่หาย และ
- จำนวนของกระเนื้อมักเพิ่มขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น
ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อเกิดกระเนื้อ?
เมื่อเป็นกระเนื้อ สามารถดูแลตนเองได้ตามปกติทั้งนี้รวมถึงในการอาบน้ำ และการใช้โลชันบำรุงผิว แต่ควรสังเกตการเปลี่ยนแปลงของรอยโรคเป็นประจำ ดังที่ได้กล่าวแล้วใน ‘หัวข้อ การพบแพทย์ฯ’
ป้องกันเกิดกระเนื้ออย่างไร?
เนื่องจากสาเหตุของกระเนื้อ ไม่เป็นที่ทราบชัดเจน แต่อาจเกี่ยวข้องกับแสงแดด การป้อง กันผิวไม่ให้ได้รับแสงแดดจัดหรือได้รับแสงแดดต่อเนื่อง จึงอาจมีผลพลอยได้ในการป้องกันกระเนื้อได้
บรรณานุกรม
1. ปรียา กุลละวณิชย์, ประวิตร พิศาลบุตร . Dermatology 2020.พิมพ์ครั้งที่ 1.บริษัท โฮลิสติก พับลิชิ่ง จำกัด
2. Lowell A.Goldsmith,Stephen I.Katz,BarbaraA.Gilchrest,Amy S.Paller,David J.Leffell,Klaus Wolff.Fitzpatrick Dermatology in general medicine .eight edition.McGraw hill
3. seborrheic keratosis ,http://emedicine.medscape.com/article/1059477-overview#showall [2020,Sept26]