กระดูกหัก (Bone fracture)
- โดย นพ.อำนวย จิระสิริกุล
- 15 มีนาคม 2556
- Tweet
- กระดูกหักหมายความว่าอย่างไร?
- อาการอย่างไรจึงสงสัยว่ามีกระดูกหัก?
- กระดูกหักมีกี่ชนิด?
- แพทย์วินิจฉัยกระดูกหักแต่ละชนิดได้อย่างไร?
- เมื่อสงสัยว่ามีกระดูกหัก ควรดูแลตนเองในเบื้องต้นอย่างไร?
- เมื่อสงสัยกระดูกหัก ควรพบแพทย์เมื่อไร?
- เมื่อสงสัยกระดูกหัก รักษาเองได้ไหม? ไม่พบแพทย์ได้ไหม?
- แพทย์มีวิธีรักษากระดูกหักอย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อต้องเข้าเฝือก?
- ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อผ่าตัดใส่เหล็ก?
- กระดูกหักกี่วันกระดูกจึงจะติด?
- สรุป
กระดูกหักหมายความว่าอย่างไร?
กระดูกหัก (Bone fracture หรือ Fracture หรือ Broken bone) หมายถึงการมี รอยแยก รอยแตก หรือมีความไม่ต่อเนื่องกันของเนื้อกระดูก
อาการอย่างไรจึงสงสัยว่ามีกระดูกหัก?
กระดูกหักต้องมีอาการดังต่อไปนี้อาการใดอาการหนึ่ง หรือหลายๆอาการร่วมกัน
- ปวด ตรงกระดูกที่หัก ถ้าไม่ปวดให้มั่นใจได้เลยว่ากระดูกไม่หัก (ยกเว้นคนไข้ไม่มีความรู้สึกในบริเวณที่หัก เช่นเป็นอัมพาต หรือเส้นประสาทที่เลี้ยงบริเวณนั้นขาด
- บวม ตรงกระดูกที่หัก ถ้าไม่บวมก็มั่นใจได้ว่ากระดูกไม่หัก แต่ถ้าเพียงร้าว ในช่วงแรกอาจบวมได้ไม่มาก
- ส่วนที่กระดูกหักจะผิดรูป ถ้าเห็น แขน ขา ผิดรูปหลังการบาดเจ็บ ให้มั่นใจได้เลยว่ามีกระดูกหัก
- ไม่สามารถขยับหรือใช้งาน แขน ขา คอ หรือหลัง ส่วนที่มีการหักของกระดูกได้
กระดูกหักมีกี่ชนิด?
กระดูกหักมีวิธีการแบ่งชนิดได้หลายแบบ
- แบ่งตามรอยที่มีการหักของกระดูก
- หักตามขวาง (Transverse fracture)
- หักเฉียง (Oblique fracture)
- หักเป็นเกลียว (Spiral fracture)
- หักมากกว่า 2 ชิ้น/ท่อน (Comminuted fracture หรือ Segmental fracture)
- กระดูกที่หักร้าว ไม่เคลื่อนที่ ไม่แยกจากกันทั้งสองท่อน (Non-displaced frac ture)
- กระดูกที่หักและเคลื่อนไปจากที่เดิม (Displaced fracture)
-
แบ่งตามบาดแผล
- กระดูกหักไม่มีแผล หรือแผลไม่ถึงกระดูกที่หัก (Closed fracture)
- แผลลึกถึงกระดูกที่หัก (Compound fracture)
-
กระดูกหักในเด็ก มีวิธีการแบ่งเพิ่มเติมจากการแบ่งข้างต้น ดังนี้
- กระดูกหักแบบยู่หรือย่นด้วยแรงอัด (Buckle หรือ Torus fracture)
- กระดูกหักเฉพาะด้านที่ถูกแรง หักออกจากกันเหมือนการหักกิ่งไม้ที่ยังเขียวและสดอยู่ (Greenstick fracture)
- กระดูกโก่งงอโดยไม่มีรอยหัก (Plastic deformation)
- กระดูกที่หักผ่านส่วนที่เป็นโรงงานสร้างกระดูก/Epiphysis/ส่วนหัวกระดูกที่อยู่ใกล้กับข้อกระดูก (Epiphyseal plate injury)
-
แบ่งตามพยาธิสภาพของเนื้อกระดูกที่หัก
- กระดูกที่หักในเนื้อกระดูกที่ปกติ (Fracture in general)
-
กระดูกที่หักในเนื้อกระดูกที่อ่อนแอ (Pathological fracture) แบ่งเป็น
- หักเพราะกระดูกบาง กระดูกพรุน (Osteoporotic fracture) พบในผู้สูงอายุ
- หักเพราะกระดูกเป็นเนื้องอก
- หักเพราะกระดูกติดเชื้อ
- หักเพราะเป็นโรคของเนื้อกระดูกแบบอื่นๆ
แพทย์วินิจฉัยกระดูกหักแต่ละชนิดได้อย่างไร?
การวินิจฉัยกระดูกหัก อาศัยอาการที่กล่าวมาแล้วในหัวข้ออาการอย่างไรจึงสงสัยกระ ดูกหัก แต่เพื่อให้แน่นอนต้องอาศัยภาพรังสีเสมอ (การเอกซเรย์ภาพกระดูกที่สงสัยมีการหัก) ถ้าไม่มีภาพรังสี แม้มั่นใจว่ามีกระดูกหัก แต่จะไม่รู้ว่ากระดูกหักเป็นชนิดไหน หน้าตาเป็นอย่าง ไร ควรรักษาด้วยวิธีใด
เมื่อสงสัยว่ามีกระดูกหัก ควรดูแลตนเองในเบื้องต้นอย่างไร?
เมื่อสงสัยว่ากระดูกหัก ให้เริ่มต้นด้วย การดามด้วยวัสดุที่แข็งแรง เช่น ไม้ เพื่อให้บริเวณที่หัก อยู่นิ่งๆ ไม่เคลื่อนไหว เพื่อลดอาการปวด และป้องกันไม่ให้กระดูกที่หักเคลื่อนไปทิ่มแทง ทำอันตรายต่อเนื้อเยื่ออื่นๆ เช่น หลอดเลือด เส้นประสาท ที่อยู่ใกล้เคียง และช่วยทำให้เคลื่อน ย้ายผู้บาดเจ็บได้ง่ายและสะดวกขึ้น หลังจากนั้น ให้นำผู้ป่วยไปโรงพยาบาลฉุกเฉิน
เมื่อสงสัยกระดูกหัก ควรพบแพทย์เมื่อไร?
เมื่อเราสงสัยว่าอาจมีกระดูกหัก ควรดามให้กระดูกอยู่นิ่งๆ และไปพบแพทย์/ไปโรงพยา บาลทันที
เมื่อสงสัยกระดูกหัก รักษาเองได้ไหม? ไม่พบแพทย์ได้ไหม?
เป็นการไม่ปลอดภัยที่จะรักษากระดูกที่หักด้วยตนเอง หรือให้ผู้ที่ไม่ได้เรียนรู้วิธีการรัก ษา เช่น พระสงฆ์ หรือ นักจัดกระดูก เป็นผู้ให้การรักษา เพราะกระดูกอาจติดผิดรูปผิดร่าง หรือผิดที่ผิดทาง ทำให้เกิดความพิกลพิการตามมาได้
แพทย์มีวิธีรักษากระดูกหักอย่างไร??
เมื่อได้พบแพทย์แล้ว แพทย์จะให้การดามกระดูกที่หักเป็นเบื้องแรก ตามด้วยการตรวจดูว่ามีหลอดเลือด และ/หรือเส้นประสาทในบริเวณที่หักเป็นปกติหรือไม่ จากนั้นแพทย์จะส่งไปถ่ายภาพรังสี (เอกซเรย์) และให้การรักษาตามลักษณะของกระดูกที่หัก ด้วยวิธีการรักษาที่เป็นมาตรฐาน
การรักษาโดยแพทย์อาจแยกวิธีการรักษาได้ดังนี้
- การจัดกระดูกให้เข้าที่ โดยใช้การดึง และควบคุมไม่ให้เคลื่อนด้วยเฝือก (Closed reduc tion and casting) (รูป 5)
- การจัดกระดูกให้เข้าที่โดยใช้การถ่วงด้วยน้ำหนัก (Skin traction หรือ Skeletal traction) (รูป 6)
- การผ่าเข้าไปจัดกระดูกให้เข้าที่พร้อมกับการดามกระดูกด้วยโลหะ (Open reduction and fixation) (รูป 7)
- ถ้าเป็นกระดูกหักที่มีแผลติดต่อกับภายนอก แพทย์จะทำการผ่าตัดเพื่อทำการล้างกระดูกให้ปราศจากเชื้อโรคและสิ่งสกปรก (Debridement and irrigation)
ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อต้องเข้าเฝือก?
เมื่อท่านได้รับการรักษาด้วยการใส่เฝือก ท่านควรปฏิบัติตน ดังนี้
- พยายามให้ส่วนที่หัก อยู่สูงกว่าหัวใจเสมอ เช่น คล้องแขน วางขาสูง เพื่อช่วยการไหล เวียนโลหิต จะช่วยลดอาการบวมได้
- ขยับนิ้วมือนิ้วเท้าที่อยู่นอกเฝือกอย่างช้าๆ มากขึ้นเรื่อยๆ และบ่อยๆ ช่วยการเคลื่อนไหว จะช่วยลดอาการบวม และปวดได้
- อย่าให้น้ำเข้าไปในเฝือกโดยเด็ดขาด เพราะอาจทำให้ผิวหนังส่วนที่อยู่ในเฝือกเปื่อยเน่าได้
- ถ้าคันส่วนที่อยู่ในเฝือก ให้หาซื้อยาแก้แพ้/แก้คัน เช่น คลอเฟนนิรามีน (Chlorphenira mine maleate) ทานแก้คันได้ อย่าได้เอาอะไรเข้าไปเกาโดยเด็ดขาด เพราะจะทำให้เนื้อเยื่อส่วนที่อยู่ในเฝือก เกิดแผลและกลายเป็นแผลติดเชื้อได้ง่าย
- ต้องกลับมาพบแพทย์ทันที ที่มีอาการ ปวดมาก บวมจนปวด บวมจนชา บวมจนเขียว หรือ จนซีด และ/หรือ เฝือกหัก
ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อผ่าตัดใส่เหล็ก?
สำหรับในกรณีที่ได้รับการผ่าตัดใส่เหล็ก ก็ให้การดูแล และ เฝ้าดูอาการเช่นเดียวกันกับการใส่เฝือก แต่ให้ระวังเรื่องไข้ เพราะการผ่าตัดอาจมีโอกาสติดเชื้อได้ ถ้ามีไข้ต้องรีบพบแพทย์ ไปโรงพยาบาลทันที แม้จะยังไม่ถึงเวลานัดก็ตาม
กระดูกหักกี่วันกระดูกจึงจะติด?
การติดของกระดูกแต่ละแห่งใช้เวลาไม่เท่ากัน แพทย์จะเพียงประมาณให้ได้อย่างคร่าวๆ แต่จะตัดสินว่ากระดูกติดแล้วได้ ก็ต่อเมื่อภาพรังสี (เอกซเรย์) มีกระดูกใหม่มาพอก (Callus) มากเพียงพอ ซึ่งโดยทั่วไป อย่างน้อยประมาณ 4-6 สัปดาห์ขึ้นไป ดังนั้น ในการจะกลับมาใช้งานกระดูก เช่น การเริ่มลงน้ำหนัก การถอดเฝือก เป็นต้น ต้องได้รับคำแนะนำจากแพทย์ผู้ให้การรักษาเสมอ เพื่อป้องกันกระดูกไม่ติด กระดูกติดผิดรูป และ/หรือ กระดูกยาวสั้นไม่เท่ากัน
สรุป
กระดูกหัก ส่วนใหญ่เกิดเพราะอุบัติเหตุ ทำให้มีแรงมากระทำมากพอจนทำให้กระดูกหัก สร้างความเจ็บปวดทุกข์ทรมาน และเป็นเหตุให้พิการได้ ในปัจจุบันนี้การรักษากระดูกหักมีความเจริญก้าวหน้ามาก สามารถรักษาให้หายกลับมาใช้งานได้ในเวลาอันรวดเร็ว ไม่ต้องพิการจากความผิดรูป หรือ กระดูกยาวสั้น ไม่เท่ากันอีกต่อไป