กระดูกสันหลังเสื่อม (Spondylosis)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ปัญหาปวดหลัง เป็นปัญหาที่ทำให้ผู้ป่วยมาพบแพทย์บ่อยๆ โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ส่งผลให้การดำรงชีวิตเป็นไปด้วยความยากลำบาก โดยเฉพาะคนทำงานที่ต้องก้มๆเงยๆ หรือทำงานสำนักงาน ต้องนั่งนานๆ ทั้งนี้สาเหตุหนึ่งที่พบบ่อยของอาการปวดหลังคือ ‘โรคกระดูกสันหลังเสื่อม (Spondylosis)’ ไม่ว่าจะเป็นกระดูกสันหลัง ส่วนคอ ส่วนหลัง/ส่วนอก หรือส่วนเอวก็ตาม(ที่พบก่ออาการบ่อยคือที่ กระดูกฯส่วนหลัง โดยเรียกว่า ปวดหลังจากกระดูกสันหลังเสื่อม หรือ กระดูกเอวเสื่อม/Lumbar spondylosis) นอกจากอาการปวดหลังแล้ว ถ้ากระดูกสันหลังไม่มั่นคงก็อาจส่งผลให้เส้นประ สาทที่กระดูกสันหลังถูกกดทับได้ ก็ยิ่งส่งผลเสียต่อร่างกายในการใช้ประจำวันมากขึ้น

 

โรคกระดูกสันหลังเสื่อมคืออะไร?

กระดูกสันหลังเสื่อม

โรคกระดูกสันหลังเสื่อม คือ โรคที่มักเกิดในผู้มีอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป โดยเกิดจากการเสื่อมสภาพตามธรรมชาติของเนื้อเยื่อ/อวัยวะต่างๆที่รวมถึงกระดูกสันหลังด้วย เนื่องจากการมีอายุมากขึ้น ทั้งนี้กระดูกสันหลังที่ผ่านการใช้งานมานาน จะส่งผลให้ กระดูก หมอนรองกระดูก เส้นเอ็นกระดูก และกล้ามเนื้อหลัง เสื่อมสภาพ, อาจเกิดจากการเล่นกีฬา, อุบัติเหตุ, ภาวะที่มีกระดูกคดงอผิดรูปแต่กำเนิด, หรือ จากกระดูกสันหลังติดเชื้อ เช่น จากวัณโรค

 

โรคกระดูกสันหลังเสื่อมมีสาเหตุจากอะไร?

สาเหตุของโรคกระดูกสันหลังเสื่อมแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ

1. จากการเสื่อมสภาพของกระดูกสันหลังตามธรรมชาติ ซึ่งแบ่งเป็น 2 ช่วงอายุ คือ

  • วัยทำงาน อายุช่วง 20-50 ปี เกิดจากการทำงานมากกว่าปกติ การเล่นกีฬา การใช้หลังอย่างหนัก ก้มๆ เงยๆ น้ำหนักตัวมาก/อ้วน กล้ามเนื้อหลังและท้องไม่แข็งแรง และจากหมอนรองกระดูกเคลื่อน
  • อายุ 50-70 ปี เกิดจากการเสื่อมสภาพตามอายุ ทำงานมานานจากการก้มๆ เงยๆ และหมอนรองกระดูกเสื่อมตามวัย ซึ่งในกลุ่มผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป กระดูกสันหลังมักมีการงอกของกระดูกเพิ่มขึ้น มีการเสื่อมของกล้ามเนื้อและเอ็นต่างๆ ส่งผลให้เกิดความไม่มั่นคงของกระดูกสันหลัง และอาจมีปัจจัยเสริมจากโรคที่พบร่วมด้วย เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน ซึ่งจะทำให้เกิดโรคกระดูกพรุนเพิ่มขึ้น จึงยิ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อกระดูกสันหลังเสื่อม

 

2.จากสาเหตุอื่นๆที่ไม่ได้เกิดจากกระดูกฯเสื่อมสภาพ มีอีก 2 อย่างคือการติดเชื้อ และเนื้องอกหรือโรคมะเร็ง

  • การติดเชื้อ เป็นเรื่องที่พบได้บ่อยในประเทศไทย เชื้อที่เป็นสาเหตุบ่อยคือเชื้อวัณโรค ที่คนไข้มักได้รับเชื้อมาโดยไม่รู้ตัว และไม่มีอาการทางปอดร่วมด้วย อยู่ดีๆก็จะมีอาการปวดหลังและมีอัมพาต
  • เนื้องอกหรือโรคมะเร็ง ก็เป็นอีกสาเหตุที่พบบ่อยคือ โรคมะเร็งกระจายมาจากอวัยวะอื่นๆ เช่น จากโรคมะเร็งเต้านม หรือจากโรคมะเร็งปอด

 

อะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกสันหลังเสื่อม?

ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเสื่อมของกระดูก/โรคกระดูกเสื่อม นอกจากที่ได้กล่าวแล้วในหัวข้อ สาเหตุ ยังได้แก่

  • โรคกระดูกต่างๆ
  • โรค/ภาวะที่ทำให้เกิดโรคกระดูกพรุน โรคกระดูกบาง เช่น ไตวาย ตับวาย การไม่ถูกแดด การไม่ออกกำลังกาย รวมทั้งวัยหมดประจำเดือนในผู้หญิง
  • ผลข้างเคียงจากยาบางชนิดที่ใช้เป็นประจำ เช่น ยาสเตียรอยด์
  • ภาวะทุโภชนา
  • พันธุกรรม เพราะพบโรคได้สูงขึ้นในคนที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคนี้

 

อนึ่ง โรคกระดูกสันหลังเสื่อมส่วนมากมีสาเหตุจากอายุที่มากขึ้นก็จริง แต่ผู้สูงอายุหลายท่านก็ไม่เป็นโรคนี้ ทั้งนี้เพราะมีปัจจัยอื่นๆอีก (ดังกล่าวแล้ว ที่ทำให้เกิดกระดูกเสื่อม) ที่แตก ต่างกันในแต่ละบุคคล เช่น พันธุกรรม การใช้งานหนักของกระดูกสันหลัง การก้มๆ เงยๆ ก็มีผล ยาชนิดต่างๆที่ทาน อาหารที่ทาน น้ำหนักตัว ความแข็งแรงของร่างกาย รวมถึงการออกกำลังกาย

 

อาการโรคกระดูกสันหลังเสื่อมเป็นอย่างไร?

อาการที่พบบ่อยของโรคกระดูกสันหลังเสื่อม คือ

  • ปวดหลัง ปวดคอเป็นๆ หายๆ อาการมักเป็นเรื้อรัง อาการรุนแรงมากขึ้นเมื่อเปลี่ยนท่า ทาง หรือขณะทำกิจกรรมต่างๆ
  • อาการปวดจะเสียวร้าวลงมาที่สะโพก คอ ไหล่ แขนมือ น่อง เท้า หรือนิ้ว ซึ่งเป็นมากขึ้นเวลาเปลี่ยนท่าทางทำกิจกรรมต่างๆ อาการปวดร้าวนี้เกิดจากเส้นประสาทที่ไขสันหลังถูกกดทับจากการที่มีกระดูกเสื่อม
  • อาจมีกระดูกสันหลังผิดรูป เช่น หลังคด โก่ง หรือข้อกระดูกเลื่อน (เห็นได้จากภาพกระดูกสันหลังจากการเอกซเรย์)

 

ทำไมบางคนปวดหลัง ทำไมบางคนปวดขา ปวดแขน?

อาการผิดปกติของโรคกระดูกสันหลังเสื่อม เกิดได้หลายแบบ เพราะขึ้นกับระยะของโรค ความรุนแรง และตำแหน่งที่เกิดโรค

  • ระยะข้อต่อกระดูกสันหลังหลวม เนื่องจากความแข็งแรงของเส้นเอ็นที่ยึดข้อลดลงและหมอนรองกระดูกสันหลังเหี่ยวยุบตัวลง ข้อต่อฯจึงเกิดการหลวม กล้ามเนื้อหลังจึงต้องออกแรงเกร็งมากขึ้น เพื่อไม่ให้กระดูกสันหลังเคลื่อนไหวผิดปกติ เมื่อกล้ามเนื้อเกร็งตัวนานๆ จึงทำให้มีอาการปวดหลัง ดังนั้นอาการปวดหลังจึงเป็นมากขึ้นเมื่อเคลื่อนไหว เมื่อนอนพักจึงดีขึ้น ซึ่งถ้าเป็นโรคมานานแล้ว การเคลื่อนไหวเพียงเล็กน้อยก็อาจทำให้ปวดหลังได้
  • ระยะกระดูกงอก เนื่องจากมีการซ่อมแซมตัวเองของกระดูกสันหลัง ซึ่งเป็นกลไกปกติของร่างกาย โดยการสร้างหินปูนมายึดเกาะข้อต่อให้แข็งแรงขึ้น หินปูนที่สร้างขึ้นมาใหม่นั้น ถ้ามากเกินไป ก็จะไปกดทับเส้นประสาทของกระดูกสันหลัง ส่งผลทำให้มีอาการปวดร้าวตามเส้น ประสาทที่เราเรียกว่า “โรคกระดูกสันหลังเสื่อมกดทับเส้นประสาท” ผู้ป่วยจะมีอาการปวดร้าวไปที่ ขาหรือแขน ขณะมีกิจกรรมต่างๆ และอาการนั้นจะเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ ทำกิจกรรมเป็นระยะสั้นๆ ก็มีอาการ เมื่อหยุดกิจกรรมก็ดีขึ้น ซึ่งระยะเวลาที่ทำกิจกรรมได้โดยไม่ปวดนั้น จะสั้นลงเรื่อยๆ
  • ตำแหน่งที่เกิดกระดูกเสื่อมที่มักเกิดกับกระดูกสันหลังทุกส่วน แต่มากน้อยต่างกัน อา การจึงเป็นมากในตำแหน่งที่มีการเสื่อมมาก เช่น ถ้ากระดูกสันหลังคอเสื่อมมาก ก็จะมีอาการทาง คอ ไหล่ แขน มือ มากกว่า เป็นต้น

 

กระดูกสันหลังเสื่อมกับหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมเกี่ยวข้องกันอย่างไร?

อาการกระดูกสันหลังเสื่อม

  • ถ้าไม่มีการเคลื่อนของกระดูกสันหลังไปกดทับเส้นประสาท อาการก็จะเป็นการปวดหลังเป็นหลัก
  • แต่ถ้าเป็นอาการของหมอนรองกระดูกฯ มักมีการเคลื่อนของหมอนรองกระดูกฯไปกดทับเส้น ประสาท ทำให้มีอาการปวดเสียวหรือปวดร้าวไปตามแขนหรือขาได้

 

ในระยะแรกของโรคกระดูกสันหลังเสื่อม มักจะยังไม่มีปัญหาของหมอนรองกระดูกฯเสื่อมหรือเคลื่อนหลุด ทั้งนี้ปัญหากระดูกสันหลังเสื่อมกับหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมมักเกิดร่วม กันในระยะหลังของโรคกระดูกสันหลังเสื่อม จากเหตุผลเมื่อมีการเสื่อมของกระดูกสันหลังมากขึ้น ก็จะส่งผลให้มีการเสื่อม และ/หรือมีการเคลื่อนหลุดของหมอนรองกระดูกฯร่วมไปด้วย

 

อนึ่ง หมอนรองกระดูกสันหลัง คือ เนื้อเยื่อชนิดหนึ่งที่ทำหน้าที่เหมือนตัวผ่อนแรงที่รอง รับระหว่างกระดูกสันหลังสองชิ้น ซึ่งทุกครั้งที่มีการเคลื่อนไหว ก้ม เงย หมอนรองกระดูกฯจะเป็นตัวรับน้ำหนัก รับแรงกระแทกระหว่างกระดูก เมื่ออายุมากขึ้นหรือใช้งานกระดูกสันหลังอย่างหนัก เช่น เล่นกีฬา ยกของหนัก หมอนรองกระดูกฯก็จะเสื่อมหรือมีการแตกหรือเคลื่อนหลุดออกมา และไปกดทับเส้นประสาทได้

 

โดยปกติหมอนรองกระดูกฯจะค่อยๆเสื่อมสภาพตั้งแต่อายุ 25 ปี แต่ถ้าน้ำหนักตัวมาก/อ้วน ร่างกายต้องรับน้ำหนักตลอด หรือ นั่งทำงานนานๆ ยกของหนัก สูบบุหรี่ ก็จะทำให้มีการเสื่อมของหมอนรองกระดูกฯเร็วขึ้น เมื่อหมอนรองกระดูกฯเสื่อม กระดูกสันหลังเองต้องรับน้ำ หนักมากขึ้น ก็จะส่งผลให้ทั้งกระดูกสันหลังและหมอนรองกระดูกฯเสื่อมไปด้วยกัน

 

(แนะนำอ่านเพิ่มเติมเรื่อง โรคของหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมได้ในเว็บ haamor.com บท ความเรื่อง ปวดหลัง:ปวดหลังจากโรคหมอนรองกระดูกสันหลัง)

 

อาการปวดหลังจากกระดูกสันหลังเสื่อมกับจากโพรงกระดูกสันหลังตีบแคบต่างกันอย่างไร?

โรคโพรงกระดูกสันหลังตีบแคบ หรือ Spinal canal stenosis พบในผู้สูงอายุเช่นกัน เนื่องจากมีกระดูกงอก ทำให้ช่องทางเดินประสาทไขสันหลังแคบลง จึงมีการกดทับเส้นประ สาท ทำให้เมื่อเดินได้ระยะทางสั้นๆก็ปวดขา แต่พอนั่งพัก อาการปวดขาก็จะดีขึ้น (Intermit tent claudication)

 

ทั้งนี้ อาการของโรคโพรงกระดูกสันหลังตีบแคบ จะเป็นการกดทับหรือเบียดเส้นประ สาทเป็นหลัก แต่ถ้าเป็นโรคกระดูกสันหลังเสื่อม จะเป็นอาการปวดบริเวณหลัง ยกเว้นมีการเคลื่อนของกระดูกจนไปกดเบียดเส้นประสาทก็จะมีอาการคล้ายกันได้ (อ่านเพิ่มเติมเรื่อง โรคโพรงกระดูกสันหลังตีบได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง โรคโพรงกระดูกสันหลังเอวตีบแคบ)

 

อาการปวดหลังจากกระดูกสันหลังเสื่อมกับจากโรคกระดูกพรุนต่างกันอย่างไร?

อาการปวดหลังของโรคกระดูกสันหลังเสื่อม มีความใกล้เคียงกับโรคกระดูกพรุนมาก คือ อาการปวดบริเวณที่มีการเสื่อมของกระดูกสันหลัง เช่น ที่คอหรือเอว ส่วนอาการของโรคกระดูกพรุนก็คือ อาการปวดจากการที่กระดูกพรุนหรือกระดูกบาง และต้องรับน้ำหนักมาก หรือมีการหักของกระดูก จึงมีอาการปวดคล้ายกัน แต่อาการปวดจากภาวะกระดูกพรุน อาจมีอาการปวดที่รุน แรงกว่า และเป็นทั่วๆไปทุกตำแหน่งของกระดูกทั่วร่างกาย และบ่อยครั้ง นอนพักก็ปวดได้ (อ่านเพิ่มเติมเรื่องของกระดูกพรุน กระดูกบาง ได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง โรคกระ ดูกพรุน)

 

เมื่อไรควรพบแพทย์?

ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเมื่อ

  • มีอาการปวดหลังเรื้อรัง หรือเป็นๆหายๆ หรือมีอาการจนมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิต ประจำวัน
  • มีอาการจากการกดของเส้นประสาท เช่น ปวดหลังร่วมกับอาการทางปัสสาวะ เช่น กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ หรือรู้สึก แขนขาอ่อนแรง หรือชา เป็นต้น
  • เมื่อปวดหลังและกังวลในอาการ

 

แพทย์วินิจฉัยโรคกระดูกสันหลังเสื่อมได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคกระดูกสันหลังเสื่อมจาก

  • อาการที่ผู้ป่วยเล่าให้ฟังว่า มีอาการปวดลักษณะดังกล่าวข้างต้น และการตรวจร่างกาย โดยส่วนใหญ่แล้วก็สามารถวินิจฉัยได้โดยไม่ต้องเอกซเรย์กระดูกสันหลัง
  • แต่ถ้าอาการนั้นไม่ตอบสนองต่อการรักษา หรือมีความผิดปกติทางระบบประสาทมาก เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง กล้ามเนื้อลีบ ก็พิจารณาตรวจเอกซเรย์ทั่วไปกระดูกสันหลัง ซึ่งจะเห็นว่ากระดูกมีความผิดปกติหรือไม่
  • ในบางกรณี ถ้าแพทย์พิจารณาแล้วว่ามีโอกาสต้องให้การรักษาด้วยการผ่าตัด หรืออาการรุนแรง ก็อาจส่งตรวจกระดูกสันหลังด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (เอมอาร์ไอ) เพราะจะสามารถเห็นรายละเอียดของกระดูกสันหลัง เส้นประสาท ไขสันหลัง และหมอนรองกระดูกสันหลังได้มากกว่า เอกซเรย์ทั่วไป หรือ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์

 

แพทย์รักษาโรคกระดูกสันหลังเสื่อมอย่างไร?

แนวทางการรักษาโรคกระดูกสันหลังเสื่อม คือ การใช้ยา การทำกายภาพบำบัด การผ่า ตัด และอาจใช้การแพทย์สนับสนุน

  • การรักษาด้วยยา โดยการทานยาแก้ปวดทั่วไป เช่น พาราเซตามอล (Paracetamol), ยาแก้ปวดต้านอักเสบชนิดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (ยาเอ็นเสด) รวมทั้งยาคลายกล้ามเนื้อจากเพราะกล้ามเนื้ออาจมีการหดเกร็งมากขึ้นได้
  • การรักษาด้วยกายภาพบำบัด สามารถลดอาการปวดได้ เช่น การนวดผ่อนคลายกล้ามเนื้อ การฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหลัง ฝึกการใช้กล้ามเนื้อหลังอย่างถูกวิธี และการรัก ษาอาการปวดด้วยคลื่นเสียง ด้วยความร้อน เป็นต้น
  • การผ่าตัด โดยข้อบ่งชี้ที่ใช้ในการพิจารณาการทำผ่าตัด มี 5ประเด็นที่ต้องพิจารณา ได้แก่
    • ความรุนแรงของอาการเจ็บปวด
    • คนไข้มีอาการแสดงของเส้นประสาทถูกกดทับให้เห็น เช่น กล้ามเนื้อขาลีบ ชา หรือ กล้าม เนื้ออ่อนแรง หรือมีอาการต่างๆรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ
    • ระบบควบคุมการขับถ่ายสูญเสียไป ถ้าคนไข้เป็นมากๆ เส้นประสาทที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหูรูดกระเพาะปัสสาวะและ/หรือทวารหนักเสียไป ก็ถือว่าต้องทำการผ่าตัด
    • เมื่อคนไข้ผ่านการรักษาวิธีต่างๆ แล้วยังไม่หาย และ
    • ชนิดของโรคที่เป็น เช่น การติดเชื้อบริเวณกระดูกสันหลังไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาต้านจุลชีพ หรือยาต้านวัณโรค ก็จำเป็นต้องให้การผ่าตัดรักษา ทั้งนี้การผ่าตัดจะได้ผลดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับ
      • โรคที่เป็นต้องเป็นโรคที่ผ่าตัดแล้วหาย เช่นกระดูกเคลื่อนหรือกระดูกกดทับเส้นประ สาทชัดเจนจากการตรวจด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และ/หรือ เอมอาร์ไอ, และ
      • ผ่าตัดถูกเวลาคือ ไม่ช้าเกินไป โอกาสหายก็จะมากขึ้น ถ้าช้าเกินไปโอกาสหายก็ลดลง
  • การแพทย์สนับสนุน แต่ต้องเป็นการให้คำปรึกษาจากแพทย์เท่านั้น เช่น การฝังเข็ม

 

การพยากรณ์โรค และผลข้างเคียงของโรคกระดูกสันหลังเสื่อมเป็นอย่างไร?

การพยากรณ์โรคของโรคกระดูกสันหลังเสื่อม โดยทั่วไปการพยากรณ์โรคดี ถึงแม้โรคจะไม่หายแต่ก็สามารถรักษาควบคุมอาการได้ดี แต่ทั้งนี้ขึ้นกับหลายปัจจัย ได้แก่

  • ความรุนแรงของโรค
  • สาเหตุของกระดูกเสื่อม
  • อายุผู้ป่วย
  • และโรคร่วม/โรคประจำตัวของผู้ป่วย

 

ผลข้างเคียง: ส่วนผลข้างเคียงที่พบได้ คือ

  • เส้นประสาทกระดูกสันหลังถูกกดทับ ทำให้มีอาการปวดเส้นประสาท กล้ามเนื้ออ่อนแรง และกล้ามเนื้อลีบ

 

การพยากรณ์โรค และผลข้างเคียงของโรคกระดูกสันหลังเสื่อมเป็นอย่างไร?

การพยากรณ์โรคของโรคกระดูกสันหลังเสื่อม โดยทั่วไปการพยากรณ์โรคดี ถึงแม้โรคจะไม่หายแต่ก็สามารถรักษาควบคุมอาการได้ดี แต่ทั้งนี้ขึ้นกับหลายปัจจัย ได้แก่

  • ความรุนแรงของโรค
  • สาเหตุของกระดูกเสื่อม
  • อายุผู้ป่วย
  • และโรคร่วม/โรคประจำตัวของผู้ป่วย

 

ผลข้างเคียง: ส่วนผลข้างเคียงที่พบได้ คือ

  • เส้นประสาทกระดูกสันหลังถูกกดทับ ทำให้มีอาการปวดเส้นประสาท กล้ามเนื้ออ่อนแรง และกล้ามเนื้อลีบ

 

เมื่อมีโรคกระดูกเสื่อมควรดูแลตนเองอย่างไร? เมื่อไรควรพบแพทย์ก่อนนัด?

การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคกระดูกสันหลังเสื่อม คือ

  • การทำกิจกรรมในท่าทางที่เหมาะ สม ไม่ใช้งานหลังที่หนักหรือต่อเนื่องนานเกินไป, หลีกเลี่ยงการก้มๆเงยๆ การยกของหนัก
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัด
  • ทำกายภาพบำบัดสม่ำเสมอที่บ้านตามแพทย์ พยาบาล นักกายภาพบำบัด แนะนำ
  • และใช้ยาแก้ปวดให้น้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะติดยาแก้ปวด
  • ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนแพทย์นัด เมื่อ
    • มีอาการต่างๆผิดไปจากเดิม
    • อาการต่างๆเลวลง
    • และ/หรือ เมื่อกังวลในอาการ

 

ป้องกันโรคกระดูกสันหลังเสื่อมอย่างไร?

การป้องกันโรคกระดูกสันหลังเสื่อม คือการดูแลที่ดีต่อกระดูกสันหลัง คือ

  • การใช้หลังให้ถูกวิธี โดยหลีกเลี่ยงการก้มๆ เงยๆ
  • ไม่นั่งหรือทำกิจกรรมอยู่ในท่าใดท่าหนึ่งนานๆ
  • ไม่ยกของหนัก (ต้องหาคนช่วย หรือใช้เครื่องผ่อนแรง)
  • ไม่ออกกำลังกายอย่างหนักโดยเฉพาะประเภทที่ต้องใช้หลัง แต่ออกกำลังกายที่เหมาะสมกับสุขภาพสม่ำเสมอทุกวัน
  • ระมัดระวังไม่ให้หลังได้รับการกระทบกระเทือน หรืออุบัติเหตุ
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่ไม่จำเป็น (เพราะยาบางชนิด เช่น ยาสเตียรอยด์ทำให้กระดูกพรุน กระดูกบางได้, ยาแก้ปวดอาจทำให้เกิดภาวะไตเสื่อม ก็ส่งผลให้กระดูกเสื่อมได้ง่าย)

 

นอกจากนั้น ควรดูแลในเรื่องอื่นๆร่วมด้วย ได้แก่

  • การทานอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ที่ครบถ้วน ในปริมาณที่ไม่ทำให้เกิดโรคอ้วน และการได้รับแสงแดดอย่างเพียงพอในช่วงเช้าและสายของวัน ก็เป็นประโยชน์ในการป้องกันกระดูกเสื่อมได้
  • กรณีไม่มีโรคประจำตัวอะไร ก็ไม่มียาอะไรที่จำเป็นในการทานเพื่อป้องกันกระดูกเสื่อม
  • แต่ถ้ามีอาการปวดหลัง และตรวจพบกระดูกพรุนร่วมด้วย ก็ต้องได้ยารักษากระดูกพรุนตามแพทย์แนะนำ เพื่อป้องกันกระดูกเสื่อมหรือกระดูกหัก
  • ทั้งนี้กรณีไม่มีโรคหรือไม่มีปัจจัยเสี่ยงของโรคกระดูกพรุนหรือกระดูกบาง หรือโรคที่มีภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ การกินแคลเซียมเพื่อป้องกันโรคกระดูกเสื่อม/กระดูกพรุนก็ไม่มีความจำเป็น

 

สรุป

อาการปวดหลังสามารถป้องกันได้ ถ้ารู้จักดูแลตนเองครับ