กระดูกสันหลังหัก (Fracture of the Spine)
- โดย นพ.อำนวย จิระสิริกุล
- 18 มีนาคม 2566
- Tweet
สารบัญ
- กระดูกสันหลังหัก หมายความว่าอย่างไร?
- อาการอย่างไรจึงสงสัยว่ามีกระดูกสันหลังหัก?
- แพทย์วินิจฉัยกระดูกสันหลังหัก ได้อย่างไร?
- เมื่อสงสัยว่าอาจมีกระดูกสันหลังหัก ควรดูแลเบื้องต้นอย่างไร?
- เมื่อสงสัยว่าอาจมีกระดูกสันหลังหัก ควรพบแพทย์เมื่อไร?
- กระดูกสันหลังหัก รักษาเองได้ไหม? ไม่พบแพทย์ได้ไหม?
- แพทย์มีวิธีรักษากระดูกสันหลังหัก อย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อได้รับการผ่าตัดกระดูกสันหลังหัก?
- สรุป
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ผู้สูงอายุ (Older person)
- โรคกระดูก (Bone disease)
- โรคกระดูกพรุน โรคกระดูกบาง (Osteoporosis and Osteopenia)
- กระดูกหัก (Bone fracture)
- แผลกดทับ (Bedsores หรือ Decubitus ulcer หรือ Pressure ulcer)
- โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ (Urinary tract infection)
- การดูแลแผลกดทับ (Taking care of bed sore)
- การป้องกันแผลกดทับ (Bedsore prevention)
กระดูกสันหลังหัก หมายความว่าอย่างไร?
กระดูกสันหลังหัก (Fracture of the spine) หมายถึง การหักของกระดูกสันหลังซึ่งเป็นอวัยวะที่ห่อหุ้มไขสันหลังและเส้นประสาทที่ออกมาจากไขสันหลัง, ซึ่งไขสันหลังเป็นส่วนต่อของเนื้อสมอง ทำหน้าที่ควบคุมสั่งงานให้แขนขาและร่างกายทำงาน และรับรู้ความรู้สึกต่างๆรวมทั้งความเจ็บปวดที่ผ่านจากแขนขาและร่างกายกลับมาประมวลที่สมอง, เมื่อกระดูกสันหลังหัก ย่อมทำให้เกิดอัมพาต ร่างกายไม่สามารถเคลื่อนไหวหรือรับรู้ความรู้สึกได้ตามปกติ (รูป 1 และ รูป 2)
รูป 1 กระดูกสันหลังหัก มีชิ้นที่แตกเลื่อนไปกดทับไขสันหลัง
รูป 2 กระดูกสันหลังหัก มีการเคลื่อนจนทำให้มีการฉีกขาดของไขสันหลัง
อาการอย่างไรจึงสงสัยว่ามีกระดูกสันหลังหัก?
กระดูกสันหลัง โดยทั่วไปจะหักเมื่อเกิดอุบัติเหตุ เช่น ตกจากที่สูง รถชนกัน หกล้มก้นกระแทก ซึ่งแรงที่เกิดจากอุบัติเหตุเหล่านี้มักต้องมากพอที่จะทำให้กระดูกของคนหนุ่มสาวที่ยังแข็งแรงอยู่เกิดหักได้
แต่ปัจจุบัน สังคมบ้านเราเป็นสังคมผู้สูงอายุ มีผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีมากกว่า 10% ของประชากรทั้งหมด ทำให้มีกระดูกสันหลังหักในประชากรกลุ่มนี้มากขึ้น เนื่องจากผู้สูงอายุจะมีกระดูกบาง/กระดูกพรุน และการทรงตัวไม่ดี จึงล้มได้ง่าย
*อย่างไรก็ตาม ในคนทุกอายุ เมื่อไรก็ตามที่มีการล้มแล้วปวดหลัง ให้คิดไว้เสมอว่า อาจมีกระดูกสันหลังหัก
แพทย์วินิจฉัยกระดูกสันหลังหักได้อย่างไร?
การวินิจฉัยกระดูกสันหลังหัก แพทย์อาศัยจาก
- การซักประวัติอาการ/ประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ร่วมกับ การตรวจร่างกาย และการถ่ายภาพรังสี (เอกซเรย์) ก็สามารถวินิจฉัยได้ว่า มีกระดูกสันหลังหักหรือไม่
- การสอบถามประวัติทางการแพทย์ และการตรวจร่างกาย ก็เพื่อดูการขยับและการรับความรู้สึกของแขนขา และเพื่อประเมินว่า การหักของกระดูกสันหลังก่อให้เกิดการบาดเจ็บต่อไขสันหลังและ/หรือต่อเส้นประสาทด้วยหรือไม่ ซึ่งการตรวจร่างกายจะรวมถึงการตรวจร่างกายทั่วไป, การตรวจร่างกายทางระบบประสาท, และการตรวจดูการทำงานของหูรูดทวารหนักด้วย
เมื่อสงสัยว่าอาจมีกระดูกสันหลังหัก ควรดูแลเบื้องต้นอย่างไร?
เมื่อสงสัยว่า อาจมีกระดูกสันหลังหัก:
- ต้องห้ามขยับเขยื้อนผู้ป่วย
- ถ้าผู้ป่วยหมดสติ ให้การดูแลเบื้องต้น ประหนึ่งว่ามีกระดูกสันหลังหัก
- ให้เคลื่อนย้ายผู้ป่วยด้วยความระมัดระวังอย่างที่สุด เพื่อไม่ให้หลังเคลื่อน การทำแบบนี้มีจุดมุ่งหมาย ไม่ให้ปวด และไม่ให้กระดูกหลังที่หักเคลื่อนไปกดถูกไขสันหลัง หรือกดถูกเส้นประสาทหลัง ระหว่างการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย
- หาแผ่นกระดานสอดเข้าใต้แผ่นหลัง แล้วยกแผ่นกระดานพร้อมผู้ป่วยใส่รถไปโรงพยาบาล
- แต่ถ้าผู้ป่วยสามารถเดิน-นั่งได้ดี ก็ให้นั่งเอนหรือนอนราบในรถเพื่อไปโรงพยาบาลได้
เมื่อสงสัยว่าอาจมีกระดูกสันหลังหัก ควรพบแพทย์เมื่อไร?
ต้องรีบพาผู้ป่วยมาหาแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
กระดูกสันหลังหัก รักษาเองได้ไหม? ไม่พบแพทย์ได้ไหม?
กระดูกสันหลังหัก มีอันตรายมากถึงขั้นทำให้อัมพาตได้ จึงห้ามดูแลรักษากันเองโดยเด็ดขาด
แพทย์มีวิธีรักษากระดูกสันหลังหักอย่างไร?
ปัจจุบัน แพทย์เฉพาะทางที่ได้รับการฝึกฝนอบรมให้มีความรู้ความสามารถในการให้การรักษาผู้ป่วยที่กระดูกสันหลังหัก คือ แพทย์ออร์โทพีดิกส์ (หมอกระดูก) และแพทย์ศัลยศาสตร์ประสาท (หมอผ่าตัดสมอง/ระบบประสาท)
การรักษากระดูกสันหลังหัก มีทั้งการผ่าตัดดามเหล็ก (รูป 3) และการไม่ผ่าตัดแต่ใช้โครงเหล็กดามหลังอยู่ภายนอก (รูป 4)
รูป 3 กระดูกสันหลังหัก ได้รับการผ่าตัดดามเหล็ก
รูป 4 โครงเหล็กดามหลังจากภายนอก
โดยทั่วไป แพทย์จะพิจารณาว่าต้องผ่าตัดหรือไม่ จากข้อมูลเหล่านี้ เช่น
- มีการกดทับไขสันหลังหรือเส้นประสาทหรือไม่
- มีการเบียดของกระดูกที่แตกเข้าไปในโพรงไขสันหลังหรือไม่
- มีความไม่มั่นคง (เคลื่อนที่ได้ง่าย) ของกระดูกสันหลังอันเกิดจากการหักหรือไม่
- และ/หรือ มีความผิดรูปของสันหลัง/กระดูกสันหลังหรือไม่
ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อได้รับการผ่าตัดกระดูกสันหลังหัก?
หลังการผ่าตัดกระดูกสันหลัง ทั่วไปการดูแลตนเองที่สำคัญ คือ
- ผู้ป่วยต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของศัลยแพทย์ฯผู้ทำการรักษาโดยเคร่งครัด
- ผู้ป่วยมักได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพโดยแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูและนักกายภาพบำบัด โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีอัมพาต ซึ่งการดูแลเน้นในการป้องกันไม่ให้เกิดแผลกดทับ (Pressure sore) และไม่ให้เกิดทางเดินปัสสาวะอักเสบอัน (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com .ในบท ความเรื่อง โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ) เนื่องจากการควบคุมการถ่ายปัสสาวะไม่ได้ ดังนั้น ผู้ป่วยและครอบครัวต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูและนักกายภาพบำบัดอย่างเคร่งครัดรวมด้วยเช่นกัน
สรุป
กระดูกสันหลังหักเป็นการบาดเจ็บที่รุนแรง และมีผู้ป่วยจำนวนมากที่เป็นอัมพาต เพราะกระดูกหลังที่หักเคลื่อนไปกดทับไขสันหลัง การป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุจึงเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด เพราะเมื่อเกิดการบาดเจ็บต่ออวัยวะที่เรียกว่าไขสันหลังแล้ว แม้ได้รับการรักษาให้กระดูกหลังที่หักติดกันแล้ว *ไขสันหลังที่บาดเจ็บก็มักไม่ฟื้นกลับเป็นปกติ ทำให้เป็นอัมพาต ซึ่งไม่เพียงไม่สามารถประกอบอาชีพการงานได้แล้ว ยังเป็นภาระต่อครอบครัวและสังคม สำหรับผู้สูงอายุที่มีกระดูกบาง/กระดูกพรุน กระดูกสันหลังจะหักแม้เพียงล้มเบาๆ ซึ่งในผู้สูงอายุเหล่านี้ แม้กระดูกหลังหักมักจะไม่ทำให้เกิดอัมพาต แต่ก็ทำให้ปวดทุกข์ทรมานมาก ไม่สามารถ นอน นั่ง ลุก ยืน ได้อย่างไม่เจ็บปวด จึงมักต้องนอนอยู่แต่เฉพาะบนเตียง ไม่สามารถไปไหนมาไหนได้ และอาจเสียชีวิตจากโรคแทรกซ้อน/ผลข้างเคียง (เช่น แผลกดทับ, โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ)
ในที่สุดนี้ ผมขออนุญาตแนะนำให้ผู้สูงอายุทุกท่านถือ “ไม้เท้า” เพื่อไม่ให้ล้ม เพื่อไม่ให้สัตว์เลี้ยงที่พเนจรตามท้องถนนเข้ามาใกล้ “เมื่อไม่ล้ม ก็ไม่หัก”