กระดูกสันหลังคด (Scoliosis)
- โดย นพ.อำนวย จิระสิริกุล
- 15 มีนาคม 2556
- Tweet
- บทนำ
- โรคกระดูกสันหลังคดเกิดได้อย่างไร? มีปัจจัยเสี่ยงไหม?
- โรคกระดูกสันหลังคดมีอาการอย่างไร?
- โรคกระดูกสันหลังคดมีกี่ชนิด?
- โรคกระดูกสันหลังคดมีวิธีรักษาอย่างไร?
- โรคกระดูกสันหลังคดรักษาหายไหม?
- โรคกระดูกสันหลังคดอันตรายไหม?
- มีวิธีตรวจคัดกรองโรคกระดูกสันหลังคดไหม?
- โรคกระดูกสันหลังคดป้องกันได้ไหม?
- เมื่อไรจึงควรพบแพทย์เพื่อตรวจโรคกระดูกสันหลังคด?
- เมื่อมีกระดูกสันหลังคด ควรดูแลตนเองอย่างไร?
- สรุป
บทนำ
โรคกระดูกสันหลังคด (Scoliosis) เป็นโรคที่ทำให้กระดูกสันหลังบิดเบี้ยวไปทางด้าน ข้าง ผิดรูปเสียสมดุล ทำให้ไม่สวยงาม หรือไม่น่ามอง ถ้าคดมากอาจทำให้เหนื่อยง่าย หรือมีอาการปวดหลัง
โรคกระดูกสันหลังคดเกิดได้อย่างไร? มีปัจจัยเสี่ยงไหม?
โรคกระดูกสันหลังคด เป็นโรคที่เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ และมีการแยกประเภทหรือชนิดตามสาเหตุของมัน อย่างไรก็ตามกระดูกสันหลังคดที่เป็นกันส่วนใหญ่มักเป็นประเภทที่ยังไม่ทราบสาเหตุหรือยังหาสาเหตุไม่พบ ปัจจัยเสี่ยงของกระดูกสันหลังคดประเภทหลังนี้มักมีโอ กาสเกิดขึ้นได้มากกว่าในคนที่พ่อแม่หรือพี่น้องมีกระดูกสันหลังคด
โรคกระดูกสันหลังคดมีอาการอย่างไร?
โดยทั่วไปโรคกระดูกสันหลังคดไม่มีอาการ แต่มักเริ่มต้นจากการสังเกตเห็นโดยผู้ปก ครองหรือครูพละว่า ไหล่สองข้างของผู้ป่วยสูงไม่เท่ากันบ้าง แผ่นหลังสองข้างนูนไม่เท่ากันบ้าง หน้าอกนูนไม่เท่ากันบ้าง สะโพกสูงต่ำไม่เท่ากันบ้าง เหล่านี้เป็นต้น แต่กระดูกสันหลังคด อาจเล็ดลอดสายตาผู้ใกล้ชิดได้ จนเมื่อพบก็มีความคดมากแล้ว
อย่างไรก็ตาม กระดูกสันหลังคดที่มีอาการปวดหลังที่จริงจัง ควรต้องได้รับการตรวจวินิจ ฉัยอย่างละเอียด เพื่อหาโรคที่ทำให้มีอาการปวดและมีกระดูกสันหลังคด
โรคกระดูกสันหลังคดมีกี่ชนิด?
กระดูกสันหลังคดมีหลายชนิด แยกประเภทตามสาเหตุที่ทำให้เกิดการคดได้ดังต่อไปนี้
- กระดูกสันหลังคดแต่กำเนิด (Congenital scoliosis) เป็นกระดูกสันหลังคดที่เกิดขึ้นจากการที่กระดูกสันหลังถูกสร้างขึ้นผิดปกติตั้งแต่เป็นตัวอ่อนในมดลูกแม่ การจะรู้ว่าเป็นกระ ดูกสันหลังคดแต่กำเนิด อาศัยการถ่ายภาพรังสี (เอกซเรย์ กระดูกสันหลัง) จะพบเห็นว่า มีกระดูกสันหลังบางข้อมีลักษณะผิดปกติแต่กำเนิด ทันทีที่รู้ว่าเป็นกระดูกสันหลังคดแต่กำเนิด แพทย์จะส่งตรวจเพิ่มเติมดูว่า มีโรคหัวใจแต่กำเนิด และโรคทางเดินปัสสาวะแต่กำเนิดซ่อนอยู่หรือไม่ ทั้งนี้เพราะความผิดปกติดังกล่าวอาจเกิดร่วมกันได้
- กระดูกสันหลังคดจากโรคประสาทกล้ามเนื้อ (Neuromuscular scoliosis) เป็นกระดูกสันหลังคดที่พบในเด็กที่มีความผิดปกติของสมอง เป็นเหตุให้กล้ามเนื้อหลังเกร็งไม่เท่ากันทั้งสองด้าน เดินไม่ได้ ต้องนั่งรถเข็น หรือ นั่งไม่ได้ ต้องนอน ซึ่งเด็กจะมีความผิดปกติของร่างกายอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง กล้ามเนื้อลีบ หรือมีปัญหาทางการหายใจ
- กระดูกสันหลังคดที่หาสาเหตุไม่พบ (Idiopathic scoliosis) เป็นกระดูกสันหลังคดที่พบบ่อยที่สุด พบในเด็กวัยเริ่มหนุ่มเริ่มสาวที่ดูเหมือนเด็กปกติทั่วไป การวินิจฉัยอาศัยการตรวจร่างกายและการตรวจกระดูกสันหลังอย่างละเอียด และไม่พบสาเหตุที่พอจะอธิบายการเกิดการคดของกระดูกสันหลังได้
- กระดูกสันหลังคดประเภทอื่นๆนอกเหนือจากที่กล่าวแล้ว ซึ่งมักพบได้น้อย
โรคกระดูกสันหลังคดมีวิธีรักษาอย่างไร?
การรักษากระดูกสันหลังคดมีหลักคร่าวๆดังนี้
- รักษาไม่ให้คดมากขึ้น
- รักษาให้ความคดน้อยลง
- รักษาสาเหตุถ้าหาพบ
- การรักษาไม่ให้คดมากขึ้น ด้วยการใช้เสื้อเกราะดัดหลัง Scoliosis brace (Orthosis) ในระหว่างใส่เสื้อเกราะนี้ ความคดควรจะลดลงเหลือ 50-60%
ข้อกำหนดของการรักษาด้วยวิธีนี้คือ
- ใช้ได้กับความคดที่คดไม่เกิน 40-45 องศา
- ใช้ได้เฉพาะในช่วงวัยที่กระดูกสันหลังยังมีการเจริญเติบโต คือ อายุผู้ป่วยไม่เกิน 16 ปี
- ต้องใส่เสื้อเกราะติดต่อกันไม่น้อยกว่าวันละ 16 ชั่วโมง และ
- หยุดการใส่ เมื่อกระดูกสันหลังหยุดการเจริญเติบโต
- การรักษาให้ความคดน้อยลง มักจะทำไม่ได้ผลด้วยวิธีการที่ไม่ใช่การผ่าตัด อย่างไรก็ตามมีวิธีหนึ่ง เป็นการทำกายภาพบำบัดที่ออกแบบเฉพาะแต่ละผู้ป่วยตามความรุนแรงของโรค ที่เรียกว่า วิธี ชะรอท (Schroth Method)
สำหรับวิธีที่สามารถทำให้ความคดน้อยลงคือ การรักษาด้วยการผ่าตัด ใช้เหล็กดามหลังในการทำให้ความคดลดลง และตรึงเหล็กไว้ในความคดที่ลดลงนั้น พร้อมทั้งทำการเชื่อมกระ ดูกสันหลังในบริเวณนั้น (Spinal Instrumentation and fusion)
- การรักษาสาเหตุที่ทำให้กระดูกสันหลังคด กระดูกสันหลังคดบางชนิดอาจมีสาเหตุจากความผิดปกติในระบบประสาทไขสันหลัง หรือ มีเนื้องอกของกระดูก เมื่อรักษาที่สาเหตุแล้วความคดก็อาจดีขึ้นได้
โรคกระดูกสันหลังคดรักษาหายไหม?
กระดูกสันหลังคด เป็นโรคที่เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะไม่หายเอง การรักษามุ่งที่จะทำให้ความคดไม่เป็นมากขึ้น หรือ กระดูกสันหลังตรงขึ้น
โรคกระดูกสันหลังคดมีอันตรายไหม?
กระดูกสันหลังคดที่พบเป็นส่วนใหญ่เป็นพวกที่ยังไม่ทราบสาเหตุ กระดูกสันหลังคดประ เภทนี้ไม่มีอันตรายหรือผลข้างเคียง เพียงแต่ทำให้ดูไม่สวย ยกเว้นแต่ว่า ถ้าปล่อยให้คดมากๆจนคดถึง 90 องศา ก็อาจมีผลทำให้เหนื่อยง่ายเพราะทรวงอกจะคับแคบลง ทำให้ปอดไม่สา มารถขยายตัวเพื่อรับแลกเปลี่ยนออกซิเจนได้เต็มที่
สำหรับกระดูกสันหลังคดแต่กำเนิดก็อาจมีอันตรายจากการที่มีความผิดปกติแต่กำเนิดของหัวใจและทางเดินปัสสาวะร่วมด้วย
มีวิธีตรวจคัดกรองโรคกระดูกสันหลังคดไหม?
การตรวจคัดกรองว่า เด็กมีกระดูกสันหลังคด ใช้การตรวจที่มีชื่อว่า “อาดัมก้มตัวไปข้าง หน้า (Adam’s Forward Bend Test)” ทำได้ง่ายๆ ด้วยการยืนหรือนั่งอยู่ข้างหลังเด็ก (ผู้ป่วย) ให้เด็กก้มตัวไปข้างหน้าตรงๆ มองไปในแนวราบ ก็จะเห็นว่าหลังสองข้างของเด็ก สูงต่ำหรือไม่ ถ้ามีสูงต่ำไม่เสมอกันสองข้าง ก็ควรมาปรึกษาแพทย์
ในประเทศที่เจริญแล้ว จะมีการตรวจคัดกรองเพื่อหาโรคกระดูกสันหลังคดในเด็กนักเรียนที่มีอายุอยู่ในช่วง 10-14 ปี โดยจะทำการตรวจคัดกรองด้วยวิธีนี้ปีละครั้ง การตรวจคัดกรองลักษณะนี้ เรียกว่า School Screening for Scoliosis
โรคกระดูกสันหลังคดป้องกันได้ไหม?
ไม่สามารถป้องกันกระดูกสันหลังคดได้ แต่การตรวจคัดกรอง และการตรวจดูหลังบ่อยๆในเด็กที่มีพ่อแม่เป็นโรคนี้ จะช่วยให้วินิจฉัยโรคนี้ได้ตั้งแต่ยังเป็นน้อยๆ
เมื่อไรจึงควรพบแพทย์เพื่อตรวจโรคกระดูกสันหลังคด?
เมื่อท่านสังเกตเห็นว่าไหล่สองข้างสูงไม่เท่ากันหรือสูงไม่เสมอกัน สะโพกไม่เท่ากัน แขนห่างจากลำตัวไม่เท่ากัน หลังนูนไม่เท่ากัน หน้าอกสองด้านไม่เท่ากัน หรือตรวจดู “อาดัมก้มตัวไปข้างหน้า”(Adam’s Forward Bend Test) พบว่า หลังสูงต่ำไม่เท่ากัน ก็ควรมาพบแพทย์/ศัลยแพทย์ออร์โทพีดิกส์ทันที
เมื่อมีกระดูกสันหลังคด ควรดูแลตนเองอย่างไร?
การดูแลตนเองเมื่อมีกระดูกสันหลังคด คือ ถ้ายังไม่เคยพบแพทย์ ควรพบแพทย์ออร์โทพีดิกส์ เสมอ
เมื่อพบแล้ว วินิจฉัยแน่นอนแล้วว่ามีกระดูกสันหลังคด การดูแลตนเอง คือ การปฏิบัติตาม ที่แพทย์ออร์โทพีดิกส์แนะนำ เพื่อป้องกันไม่ให้กระดูกคดมากขึ้น และเพื่อรักษาให้กระดูกคดน้อยลง ซึ่งในผู้ป่วยแต่ละคนการดูแลตนเองอาจแตกต่างกัน ทั้งนี้ขึ้นกับ ความรุนแรงของการคด อายุผู้ป่วย และอาการจากกระดูกสันหลังคด
สรุป
กระดูกสันหลังคดที่พบเป็นส่วนใหญ่เป็นประเภทที่ยังไม่รู้สาเหตุ มักเริ่มเกิด ในช่วงเริ่มเป็นหนุ่มสาวอายุประมาณ 10-14 ขวบ การรักษาได้ผลดีถ้าพบตั้งแต่ความคดยังไม่มากนัก แพทย์ที่ให้การดูแลโรคกระดูกสันหลังคดคือแพทย์รักษากระดูกสันหลัง (ออร์โทพีดิกส์) และแพทย์โรคกระดูกเด็ก (ออร์โทพีดิกส์เด๋ก)