กระดูกตาย หรือ การตายของกระดูก (Osteonecrosis)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 10 มกราคม 2564
- Tweet
- บทนำ:คือโรคอะไร?พบบ่อยไหม?
- อะไรเป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงเกิดการตายของกระดูก?
- การตายของกระดูกมีอาการอย่างไร?
- เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?
- แพทย์วินิจฉัยภาวะการตายของกระดูกได้อย่างไร?
- รักษาภาวะกระดูกตายอย่างไร?
- การตายของกระดูกมีผลข้างเคียงอย่างไร?
- การตายของกระดูกมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไร?
- เมื่อไหร่ควรพบแพทย์ก่อนนัด?
- ป้องกันการตายของกระดูกได้อย่างไร?
- บรรณานุกรม
- โรคกระดูก (Bone disease)
- โรคข้อ (Joint disease)
- ข้อเสื่อม เข่าเสื่อม (Osteoarthritis)
- กระดูกหัก (Bone fracture)
- อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (Adverse Drug Reaction)
- โรคหลอดเลือด โรคของหลอดเลือด (Vascular disease)
- โรคไขมันในเลือดสูง (Dyslipidemia)
- โรคอ้วน และ น้ำหนักตัวเกิน (Obesity and overweight)
- การสะแกนกระดูก โบนสะแกน โบนสแกน (Bone scan)
บทนำ:คือโรคอะไร?พบบ่อยไหม?
กระดูกตาย หรือ การตายของกระดูก หรือ กระดูกขาดเลือด(Osteonecrosis) คือ ภาวะที่เซลล์กระดูก/เนื้อเยื่อกระดูกขาดเลือดจนส่งผลให้เซลล์กระดูกเจริญเติบโต,ทำงาน,และมีชีวิตอยู่ไม่ได้ จึงเกิดการตายของกระดูกตามมาในที่สุด
กระดูกตาย/การตายของกระดูก/กระดูกขาดเลือด เป็นภาวะ ไม่ใช่โรค(โรค-อาการ-ภาวะ) แต่หลายคนก็เรียกว่าโรค พบเกิดได้กับกระดูกทุกชิ้นของร่างกาย โดยเกิดได้กับกระดูกเพียงชิ้นเดียว หรือ กับกระดูกหลายชิ้นพร้อมกันก็ได้ทั้งนี้ขึ้นกับสาเหตุ แต่ที่พบบ่อย คือ เกิดที่ส่วนหัวของกระดูกขาท่อนบน, รองลงไปคือที่กระดูกข้อเท้า(Talus) และกระดูกข้อมือ (Scaphoid)
กระดูกตาย/ การตายของกระดูก/กระดูกขาดเลือด เป็นภาวะพบน้อย พบทุกเพศ และทุกวัย แต่มักพบสูงในช่วงวัย 30-50 ปี ปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาสถิติเกิดรวมทุกสาเหตุของโรค/ภาวะกระดูกตาย อย่างไรก็ตาม ในสหรัฐอมริกามีรายงานพบภาวะ/โรคนี้ที่เกิดกับส่วนหัวของกระดูกขาท่อนบนในแต่ละปีประมาณ 10,000-20,000 ราย
อนึ่ง:ชื่ออื่นของ กระดูกตาย คือ
- Bone infarction
- Aseptic bone necrosis
- Ischemic necrosis of bone
- Avascular necrosis/ย่อว่า AVN(เอวีเอน)
อะไรเป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงเกิดการตายของกระดูก?
สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงเกิดกระดูกตาย/ การตายของกระดูก/กระดูกขาดเลือดมีหลากหลาย ที่พบบ่อย คือ
- เป็นผลข้างเคียงจาก กระดูกหัก หรือ ข้อกระดูกเคลื่อน
- ติดสุรา เนื่องจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีผลต่อการทำงานของวิตามินดีและต่อแคลเซียมซึ่งจำเป็นต่อการเจริญของกระดูก จึงเป็นสาเหตุให้เกิดกระดูกพรุน และเป็นผลต่อเนื่องถึงกระดูกตายได้
- สูบบุหรี่ที่รวมถึงสูบบุหรี่มือสอง เพราะสารพิษในบุหรี่เป็นสาเหตุของโรคหลอดเลือดแดงแข็ง/หลอดเลือดแดงตีบ กระดูกจึงขาดเลือดได้ง่าย
- ยาบางชนิดที่มีผลต่อการทำงานของแคลเซียม จึงส่งผลให้เกิด กระดูกพรุน และกระดูกตายได้สูง เช่น ยากลุ่มสเตียรอยด์
- ยาบางชนิดที่มีผลต่อเซลล์กระดูกโดยตรง เช่น ยาเคมีบำบัด
- ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด เช่น ยากลุ่มBisphosphonate ที่ผลข้างเคียงจากยา กลุ่มนี้ สามารถทำให้เกิดการตายของกระดูกโดยเฉพาะกระดูกกราม
- โรคบางชนิดที่มีผลทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหรือหลอดเลือดตีบแคบลงหรือหลอดเลือดอุดตัน เช่น โรคไขมันในเลือดสูง, โรคออโตอิมมูน/ โรคภูมิต้านตนเอง, โรคระบบต่อมไร้ท่อ, โรคเลือดบางชนิด เช่น โรคเม็ดเลือดแดงรูปเคียว, และภาวะเกิดฟองอากาศในเลือด(Caisson disease)ที่ฟองอากาศจะอุดตันหลอดเลือดจนเกิดภาวะกระดูกขาดเลือดได้
- ผลข้างเคียงจากการอักเสบบางชนิด เช่นใน โรคตับอ่อนอักเสบ โรคเอชไอวี
- บางครั้งแพทย์หาสาเหตุไม่พบ เช่น ในโรคกระดูกที่เรียกว่า Legg-Calve-Perthes disease( LCPD) หรือ Perthes disease ที่พบเกิดในเด็ก แต่พบน้อยมาก และไม่ใช่โรคถ่ายทอดทางพันธุกรรม มักพบในช่วงอายุ 4-10ปี พบได้ทั้งเด็กชายและเด็กหญิง โดยเป็นการขาดเลือดไปเลี้ยงกระดูกสะโพก/กระดูกส่วนหัวของกระดูกต้นขา ซึ่ง 10%-15%เกิดกับทั้ง2ข้างกระดูกสะโพก
การตายของกระดูกมีอาการอย่างไร?
ไม่มีอาการเฉพาะของ กระดูกตาย/ การตายของกระดูก/กระดูกขาดเลือด แต่เป็นอาการเหมือน โรคกล้ามเนื้อ, โรคข้อ, และ/หรือโรคกระดูก ทั่วไป
อาการที่พบบ่อยคือ
- อาการปวดข้อหรือปวดรอบๆข้อของกระดูกชิ้นที่มีการตาย
- โดยอาการปวดจะเรื้อรังและจะค่อยๆรุนแรงขึ้นช้าๆ
- อาการปวดจะเพิ่มมากขึ้นเมื่อมีการใช้ข้อนั้นๆหรือมีการเพิ่มน้ำหนักลงบนข้อนั้นๆ เช่น ปวดข้อสะโพกมากขึ้นเมื่อยกของหนักกรณีมีกระดูกส่วนหัวของกระดูกต้นขาขาดเลือด เป็นต้น ซึ่งอาการปวดอาจมากจนทำกิจกรรมนั้นๆไม่ได้
*อนึ่งในส่วน การตายของกระดูกกราม อาจมีการอักเสบติดเชื้อของเหงือก(เหงือกอักเสบ)ส่วนที่ปกคลุมกระดูกกรามร่วมด้วย และมักเป็นการอักเสบติดเชื้อเรื้อรังที่ทำให้เกิดหนองจนอาจเห็นกระดูกกรามโผล่ออกมานอกเหงือก
เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?
เมื่อมีอาการดังกล่าวใน’หัวข้อ อาการฯ’ ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล โดยเฉพาะในกลุ่มผู้มีปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวใน ‘หัวข้อ สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงฯ
แพทย์วินิจฉัยภาวะการตายของกระดูกได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยภาวะกระดูกตาย(การตายของกระดูก) ได้จาก
- การซักถามประวัติทางการแพทย์ต่างๆของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น ประวัติอาการ โรคประจำตัว การใช้ยาต่างๆ การสูบบุหรี่ ดื่มสุรา งาน/อาชีพ การกีฬา การดำน้ำ
- การตรวจร่างกาย
- เอกซเรย์ และ/หรือ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (ซีทีสแกน) และ/หรือ เอมอาร์ไอ ข้อหรือกระดูกที่มีอาการ
- การตรวจอื่นๆเพื่อการสืบค้นเพิ่มเติมตามดุลพินิจของแพทย์ เช่น การตรวจภาพกระดูกทั้งตัวทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ที่เรียกว่า การสะแกนกระดูก/ Bone scan/ Bone scintigraphy
รักษาภาวะกระดูกตายอย่างไร?
แนวทางการรักษาภาวะกระดูกตาย/ การตายของกระดูก/ กระดูกขาดเลือด จะขึ้นกับว่า โรคเกิดกับกระดูกชิ้นใด, กระดูกเสียหายมากหรือน้อย, อะไรเป็นสาเหตุ, รวมถึงอายุและสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย, ซึ่งทั่วไปการรักษา ได้แก่
ก. รักษาสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะ/โรคนี้: เช่น
- หยุดยาที่เป็นสาเหตุ
- หยุดสูบบุหรี่
- หยุดดื่มสุรา
- ให้ยาลดไขมันในเลือด
ข. การรักษาเพื่อให้กระดูก/ข้อยังคงทำงานได้ใกล้เคียงปกติ: เช่น
- ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต
- ควบคุมน้ำหนักตัว
- ปรับอาชีพการงาน
- ทำกายภาพบำบัด/กายภาพฟื้นฟู
ค. รักษาข้อ/กระดูกตายซึ่งจะขึ้นกับความเสียหายของกระดูกและเนื้อเยื่อรอบกระดูก: เช่น
- ผ่าตัดเอากระดูกที่ตายออกแล้วเสริมกระดูกใหม่(Bone graft)
- ใส่ข้อกระดูกเทียม
- รักษาแผลที่เหงือกกรณีกระดูกกรามตายซึ่งอาจต้อง ถอนฟัน, ตัดกระดูกส่วนที่ตายออก, ตัดเนื้อเยื่อกรามที่ตายออก, ร่วมกับการใช้ยาปฏิชีวนะ
ง. การรักษาตามอาการ: เช่น
- ใช้ยาแก้ปวดกรณีมีอาการปวด
- ใช้น้ำยาบ้วนปากกรณีกระดูกกรามตาย
- ควบคุมน้ำหนักตัวกรณีเป็นกระดูกตายของขา/สะโพก
การตายของกระดูกมีผลข้างเคียงอย่างไร?
ผลข้างเคียงจากกระดูกตาย/ การตายของกระดูก/กระดูกขาดเลือด คือ ถ้าต้อง รักษาด้วยการผ่าตัดกระดูกบางส่วนออก อาจเป็นสาเหตุให้เกิดข้อจำกัดการใช้งานของกระดูก/ข้อกระดูกนั้นๆไปตลอดชีวิต
การตายของกระดูกมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
การพยากรณ์โรคในโรค/ภาวะกระดูกตาย/ การตายของกระดูก/กระดูกขาดเลือด จะขึ้นกับความรุนแรงของโรค, และตำแหน่งของกระดูกที่ตาย
ทั่วไป เป็นโรค/ภาวะที่ รักษาควบคุมได้ แต่ถ้ากระดูกเสียหายมาก ภายหลังการรักษาหายแล้ว ผู้ป่วยอาจยังมีข้อจำกัดในการใช้ข้อ/ใช้กระดูกนั้นๆตลอดไป
ดูแลตนเองอย่างไร?
การดูแลตนเองเมื่อมีภาวะกระดูกตาย/ การตายของกระดูก/กระดูกขาดเลือด ได้แก่
- ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล นักกายภาพบำบัด แนะนำ
- กินยา/ใช้ยาต่างๆที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วน ไม่หยุดยาเอง
- รักษา ควบคุม โรคต่างๆที่เป็นสาเหตุให้ได้ดี
- งดบุหรี่
- งดสุรา
- กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบถ้วนในทุกวัน, ลด/จำกัดอาหารไขมัน, และควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้มีโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน
- กรณีกระดูกกรามตาย ต้องรักษาความสะอาดของช่องปากและฟันตลอดไปตามทันตแพทย์แนะนำ
- ไม่กินยา/ใช้ยาพร่ำเพื่อ และปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
- พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ
เมื่อไหร่ควรพบแพทย์ก่อนนัด?
เมื่อมีภาวะกระดูกตาย/ การตายของกระดูก/กระดูกขาดเลือด ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัด เมื่อ
- อาการต่างๆเลวลง เช่น ปวดกระดูกมากขึ้น
- มีอาการใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่น กระดูกส่วนที่มีอาการเกิดผิดรูป
- มีผลข้างเคียงอย่างต่อเนื่องจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ปวดท้องมาก ท้องผูก หรือ ท้องเสีย ต่อเนื่อง วิงเวียนศีรษะมาก
- เมื่อกังวลในอาการ
ป้องกันการตายของกระดูกได้อย่างไร?
ป้องกันภาวะกระดูกตาย/ การตายของกระดูก/ กระดูกขาดเลือดได้จาก การป้องกันสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง เช่น
- ไม่สูบบุหรี่, เลิกบุหรี่
- ไม่ดื่มสุรา, เลิกสุรา
- กินอาหารไขมันต่ำ
- ต้องรู้จักปฏิบัติตนตามกฎ/ข้อแนะนำของแต่ละสถาบัน เมื่อมีอาชีพ การงาน กีฬา ที่เสี่ยงต่อการเกิดโรค Caisson disease
- ไม่ใช้ยาพร่ำเพื่อ, และปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาทุกครั้งก่อนซื้อยาใช้เอง
บรรณานุกรม
- https://www.rheumatology.org/I-Am-A/Patient-Caregiver/Diseases-Conditions/Osteonecrosis [2021,Jan9]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Avascular_necrosis [2021,Jan9]
- https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/14205-osteonecrosis-on[2021,Jan9]
- https://emedicine.medscape.com/article/333364-overview#showall[2021,Jan9]