กระดูกข้อมือหักในผู้สูงอายุ (Colles’ fracture)
- โดย นพ.อำนวย จิระสิริกุล
- 3 ตุลาคม 2562
- Tweet
สารบัญ
- กระดูกข้อมือหักในผู้สูงอายุ หมายความว่าอย่างไร?
- อาการอย่างไรจึงสงสัยว่ามีกระดูกข้อมือหักในผู้สูงอายุ?
- ใครมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกข้อมือหัก?
- แพทย์วินิจฉัยกระดูกข้อมือหักในผู้สูงอายุได้อย่างไร?
- เมื่อสงสัยว่าผู้สูงอายุอาจมีกระดูกข้อมือหัก ควรดูแลเบื้องต้นอย่างไร?
- เมื่อสงสัยว่าผู้สูงอายุอาจมีกระดูกข้อมือหัก ควรพบแพทย์เมื่อไร?
- กระดูกข้อมือหักในผู้สูงอายุ รักษาเองได้ไหม? ไม่พบแพทย์ได้ไหม?
- แพทย์มีวิธีรักษากระดูกข้อมือหักในผู้สูงอายุอย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อต้องเข้าเฝือก?
- กระดูกข้อมือหักในผู้สูงอายุ กี่วันกระดูกจึงจะติด?
- ป้องกันกระดูกข้อมือหักในผู้สูงอายุได้อย่างไร?
- สรุป
บทความที่เกี่ยวข้อง
- โรคกระดูก (Bone disease)
- โรคข้อ (Joint disease)
- กระดูกหัก (Bone fracture)
- ผู้สูงอายุ (Older person)
- โรคกระดูกพรุน โรคกระดูกบาง (Osteoporosis and Osteopenia)
- วัยหมดประจำเดือน (Menopause)
กระดูกข้อมือหักในผู้สูงอายุ หมายความว่าอย่างไร?
กระดูกข้อมือหักในผู้สูงอายุ (Colles’ fracture) หมายถึงการหักของกระดูกข้อมือตรงบริเวณที่เหนือส่วนที่เป็นข้อมือขึ้นมาประมาณ 1 นิ้ว (รูป 1) เนื่องจากการหกล้มมือยันพื้นในผู้ ป่วยที่มีกระดูกบาง หรือกระดูกพรุนอันเนื่องมาจากการที่มีอายุมาก
อาการอย่างไรจึงสงสัยว่ามีกระดูกข้อมือหักในผู้สูงอายุ?
กระดูกข้อมือหักในผู้สูงอายุ จะปวดบวมหรือผิดรูปขึ้นทันทีในบริเวณข้อมือหลังการหกล้มเอามือยันพื้น
ใครมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกข้อมือหัก?
ผู้มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกข้อมือหัก ได้แก่
- มีโรคกระดูกบาง โรคกระดูกพรุน
- ทำกิจกรรมที่ล้มได้ง่าย เช่น เดินบนพื้นลื่น
- มีภาวะทุโภชนา เพราะมักมีโรคกระดูกบาง กระดูกพรุน
- ผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน เพราะฮอร์โมนเพศที่ทำให้กระดูกแข็ง แรงลดน้อยไปมาก
- กล้ามเนื้อไม่แข็งแรง จึงล้มได้ง่าย เช่น ผู้สูงอายุ หรือ มีภาวะทุโภชนา
แพทย์วินิจฉัยกระดูกข้อมือหักในผู้สูงอายุได้อย่างไร?
การวินิจฉัยกระดูกข้อมือหัก ต้องอาศัยภาพรังสี (เอกซเรย์) ของกระดูกท่อนนั้นเสมอ ถ้าไม่มีภาพรังสี แม้มั่นใจว่ามีกระดูกหัก แต่จะไม่รู้ว่ากระดูกหักเป็นชนิดไหน คดโก่งไปทางไหน หน้า ตา/ลักษณะการหักเป็นอย่างไร และควรรักษาด้วยวิธีใด
เมื่อสงสัยว่าผู้สูงอายุอาจมีกระดูกข้อมือหัก ควรดูแลเบื้องต้นอย่างไร?
เมื่อสงสัยว่ากระดูกข้อมือหักในผู้สูงอายุ ให้เริ่มต้นด้วยการดามบริเวณที่หักให้อยู่นิ่งๆด้วยวัสดุที่แข็งแรงเพื่อ
- ลดอาการปวด
- ไม่ให้ชิ้นส่วนกระดูกที่หักเคลื่อนไปทิ่มทำอันตรายต่อหลอดเลือด และเส้นประสาทที่อยู่ใกล้เคียง
- และทำให้เคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บได้ง่ายและสะดวกขึ้น
อนึ่ง การดามทำได้ง่ายๆ เช่น เอากระดาษหนังสือพิมพ์มาพับให้เป็นแนวยาวให้มีความหนาพอที่ไม่หักงอ อาจลดการบวมด้วยการเอาความเย็นประคบไว้ร่วมด้วยหลังการดาม
เมื่อสงสัยว่าผู้สูงอายุอาจมีกระดูกข้อมือหัก ควรพบแพทย์เมื่อไร?
เมื่อเราสงสัยว่าอาจมีกระดูกหัก ควรดามให้กระดูกอยู่นิ่งๆด้วยวัสดุที่แข็งแรง และรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที
กระดูกข้อมือหักในผู้สูงอายุ รักษาเองได้ไหม? ไม่พบแพทย์ได้ไหม?
เป็นการไม่ปลอดภัยที่จะรักษากระดูกที่หักด้วยตนเอง หรือให้ผู้ที่ไม่ได้เรียนรู้วิธีการรักษา เช่นพระสงฆ์ หรือนักจัดกระดูก เป็นผู้ให้การรักษา เพราะกระดูกอาจติดผิดรูปผิดร่าง หรือผิดที่ผิดทาง ทำให้เกิดความพิกลพิการได้ (รูป 2)
แพทย์มีวิธีรักษากระดูกข้อมือหักในผู้สูงอายุอย่างไร?
เมื่อได้พบแพทย์ แพทย์จะให้การดามกระดูกที่หักเป็นเบื้องแรก ตามด้วยการตรวจดูว่ามีหลอดเลือด และเส้นประสาทในบริเวณที่หักเสียหายหรือไม่ จากนั้นแพทย์จะส่งไปถ่ายภาพรังสี และให้การรักษาตามลักษณะของกระดูกที่หัก ด้วยวิธีการรักษาที่เป็นมาตรฐาน
การรักษาโดยแพทย์อาจแยกวิธีการรักษาได้ดังนี้
1. การจัดกระดูกให้เข้าที่โดยใช้การดึงให้เข้าที่ และควบคุมไม่ให้เคลื่อนด้วยเฝือก (Closed reduction and casting) (รูป 3)
2. กาจจัดกระดูกให้เข้าที่ ตามด้วยการเอาลวดเสียบให้กระดูกที่ถูกจัดให้เข้าที่แล้ว คงรูปอยู่ในสภาพนั้น และปกป้องเพิ่มเติมด้วยการเข้าเฝือก
3. การผ่าเข้าไปจัดกระดูกให้เข้าที่ พร้อมกับการดามกระดูกด้วยโลหะ (Open reduction and fixation)
4. ถ้าเป็นกระดูกหักที่มีแผลติดต่อกับภายนอก แพทย์จะทำการผ่าตัด เพื่อทำการล้างกระดูกให้ปราศจากเชื้อโรคและสิ่งสกปรก (Debridement and irrigation) แล้วจึงตามด้วยการจัดตำแหน่งกระดูก แต่จะด้วยวิธีใด ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์
ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อต้องเข้าเฝือก?
เมื่อท่านได้รับการรักษาด้วยการใส่เฝือก ซึ่งรวมถึงการใส่เฝือกกรณีกระดูกข้อมือหักด้วย ท่านควรปฏิบัติตนดังนี้
1. พยายามให้ส่วนที่หักอยู่สูงกว่าหัวใจ เช่น คล้องแขน (กรณีกระดูกแขนหัก) วางขาสูง(กรณีกระดูกขาหัก)
2. ขยับนิ้วมือนิ้วเท้าที่อยู่นอกเฝือกอย่างช้าๆ มากขึ้นเรื่อยๆ และบ่อยๆ
3. อย่าให้น้ำเข้าไปในเฝือกโดยเด็ดขาด เพราะอาจทำให้ผิวหนังเปื่อยเน่าได้
4. ถ้าคันให้หาซื้อยาแก้แพ้ เช่น ยา คลอเฟนนิรามีน (Chlorpheniramine maleate) ทานแก้คันได้ อย่าได้เอาอะไรเข้าไปเกาโดยเด็ดขาด
5. ต้องกลับมาพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที ที่ส่วน/อวัยวะข้างที่เข้าเฝือกมีอาการปวดจนทนไม่ไหว, บวมจนปวด, บวมจนชา, บวมจนเขียวหรือซีด, หรือเฝือกหัก
กระดูกข้อมือหักในผู้สูงอายุ กี่วันกระดูกจึงจะติด?
การติดของกระดูกแต่ละแห่งใช้เวลาไม่เท่ากัน แพทย์จะเพียงประมาณให้ได้อย่างคร่าวๆ แต่จะตัดสินว่ากระดูกติดแล้วก็ต่อเมื่อภาพรังสีมีกระดูกใหม่ (Callus) มาพอกมากเพียงพอ แต่โดยทั่วไปพอประมาณระยะเวลาที่ต้องใส่เฝือกไว้ประมาณ 2 เดือน หรือ 8 สัปดาห์
ป้องกันกระดูกข้อมือหักในผู้สูงอายุได้อย่างไร?
การป้องกันกระดูกข้อมือหัก คือ การป้องกันปัจจัยเสี่ยง (ดังได้กล่าวในหัวข้อ ปัจจัยเสี่ยง ) ที่ป้องกันได้ ได้แก่
- ป้องกันการเกิดโรคกระดูกบาง โรคกระดูกพรุน (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com ในบท ความเรื่อง โรคกระดูกบาง โรคกระดูกพรุน)
- ป้องกันภาวะทุโภชนา ด้วยการกินอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ให้ครบถ้วนในทุกวัน
- ในผู้สูงอายุ โดยเฉพาะในผู้หญิงวัยใกล้หมดประจำเดือน ควรปรึกษาแพทย์เรื่องการกินแคลเซียมเสริมอาหาร
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอทุกวันตามควรกับสุขภาพ เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ และกระดูก
- ระมัดระวังการล้ม
สรุป
ในผู้สูงอายุ:
- ผู้สูงอายุทุกคนจะมีกระดูกบางลงหรือกระดูกพรุนตามวัย มากน้อยต่างกัน เมื่อล้ม กระดูกก็มักจะหักแม้ไม่ได้ล้มแรง
- มีอยู่สี่แห่งที่กระดูกมักจะบางมากๆ จนล้มทีไร จะหักทุกที คือที่
- กระดูกสะโพก
- กระดูกสันหลัง
- กระดูกข้อมือ
- และกระดูกหัวไหล่
- กระดูกหัก สร้างความเจ็บปวดทุกข์ทรมาน และเป็นเหตุให้พิการได้
- แต่สำหรับกระดูกหักที่ข้อมือในผู้สูงอายุ แม้กระดูกจะติดไม่ตรงนัก ก็มักไม่สร้างปัญหาในการใช้งาน ทำให้การักษาด้วยการผ่าตัดมักไม่จำเป็น จะใช้เฉพาะบางรายเท่านั้น