กรดแพนโทเทนิก(Pantothenic acid) หรือ วิตามินบี 5(Vitamin B 5)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยากรดแพนโทเทนิก(Pantothenic acid) หรือ วิตามินบี 5(Vitamin B 5) มีอนุพันธ์ย่อย 3 ตัว คือ

1. Panthenol หรือ Pantothenol ที่เป็นสารตั้งต้นของกรดแพนโทเทนิก สารนี้เมื่ออยู่ในร่างกายของคน จะเกิดปฏิกิริยากับออกซิเจนที่เรียกว่า Oxidise อย่างรวดเร็วเพื่อเปลี่ยนไปเป็นกรดแพนโทเทนิก ตัวอนุพันธ์ Panthenol ใช้ผสมในครีมบำรุงผิวเพื่อปรับปรุงรักษาสภาพของผิวหนัง หรือใช้เป็นยาประเภทขี้ผึ้งทาผิวหนัง ตัวอย่างที่มีจำหน่ายในตลาดยา เช่น ยา บีแพนเธน (Bepanthen)

2. Pantethine เป็นสารที่เปลี่ยนมาจากกรดแพนโทเทนิกอีกทีหนึ่ง และเกี่ยวข้องกับการทำงานของสาร Coenzyme A ซึ่งจำเป็นในกระบวนการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย อนุพันธ์ Pantethine ถูกใช้เป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสำหรับการลดคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ในกระแสเลือด โดยระบุขนาดรับประทาน 500-1,200 มิลลิกรัม/วัน

3. Phosphopantetheine เป็นโครงสร้างสำคัญของสารโปรตีนในร่างกายที่มีชื่อว่า Acyl carrier protein, Peptidyl carrier proteins, และ Aryl carrier proteins สาร Phosphopantetheine ถูกเปลี่ยนมาจาก Coenzyme A และมีความสำคัญต่อกระบวนการชีวเคมี(Biochemistry)ต่างๆในร่างกาย และยังไม่ปรากฏข้อมูลนำมาเป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ยาหรืออาหารเสริมแต่อย่างใด

ยากรดแพนโทเทนิก เป็นวิตามินชนิดละลายน้ำ จัดเป็นสารอาหารชนิดหนึ่งที่จำเป็นต่อร่างกาย ร่างกายมนุษย์ใช้กรดแพนโทเทนิกในกระบวนการสังเคราะห์สารต่างๆที่รวมถึงการใช้พลังงานจาก โปรตีน คาร์โบไฮเดรต และไขมัน อาหารที่มีกรดแพนโททินิกเป็นส่วนประกอบมีหลายประเภท เช่น ไข่ เนื้อสัตว์ โยเกิร์ต ผักต่างๆ(เช่น บล็อกโคลี่) อะโวคาโด และธัญพืชต่างๆ

หากร่างกายขาดกรดแพนโทเทนิก จะก่อผลเสียต่อระบบการสร้างพลังงานของร่างกาย ส่งผลให้ร่างกายเกิดภาวะอ่อนแรง ขาดความกระตือรือร้น นอกจากนี้ กรดแพนโทเทนิกยังช่วยสังเคราะห์สารสื่อประสาทบางชนิด อาทิ อะเซทิลโคลีน (Acetylcholine) ซึ่งหากกระบวนการนี้บกพร่องไป จะทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน มีอาการชา เกิดตะคริวที่กล้ามเนื้อ การขาดกรดแพนโทเทนิก ยังเป็นเหตุให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้อีกด้วย

ในทางตรงกันข้าม หากร่างกายได้รับกรดแพนโทเทนิกเกินขนาด อาจไม่พบอาการพิษจากวิตามินชนิดนี้มากมายเท่าใดนัก จากผลรายงานทางคลินิกของผู้ที่บริโภคกรดแพนโทเทนิกขนาด 10 กรัม/วัน อาจพบอาการแน่นท้อง และปวดท้อง แย่ไปกว่านั้น ก็จะเป็นเพียงท้องเสีย

นักวิทยาศาสตร์ยังได้ทำการค้นคว้าวิจัยคุณสมบัติของกรดแพนโทเทนิกในด้านอื่นๆอีก แล้วพบว่าการใช้อนุพันธ์ของกรดแพนโทเทนิก อย่างเช่น แพนทีนอล (Panthenol) ในรูปแบบยาทาชนิดขี้ผึ้ง ทารักษาแผลจากโรคเบาหวานที่เกิดบริเวณขาผู้ป่วย หรือแผลติดเชื้อในระดับลึกของชั้นผิวหนัง พบว่า การฟื้นคืนสภาพของแผลเหล่านั้นอยู่ในเกณฑ์น่าพอใจ และก่อผลดีต่อผู้ป่วย หรือการใช้อนุพันธ์ของกรดแพนโทเทนิก คือ Pantethine กับผู้ป่วยที่มีไขมันในเลือดสูง จะทำให้ไขมันชนิดไม่ดี/แอลดีแอล (LDL) และไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) ลดลงได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ทำให้ลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะขาดเลือดของหัวใจและของสมอง

สำหรับประเทศไทย จะพบเห็นผลิตภัณฑ์กรดแพนโทเทนิกในรูปแบบของยาวิตามินรวมเสียเป็นส่วนมาก จะไม่ค่อยพบเห็นการใช้เป็นลักษณะของยาเดี่ยว หรือผลิตภัณฑ์นมเลี้ยงทารกก็เป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่มีกรดแพนโทเทนิกเป็นส่วนประกอบ และมีมากมายหลายชื่อการค้า อุตสาหกรรมผลิตเครื่องสำอางก็ได้นำกรดแพนโทเทนิกมาผสมในผลิตภัณฑ์บำรุงผม และระบุว่าช่วยบำรุงเส้นผมให้แข็งแรง

กรดแพนโทเทนิกที่นำมาใช้ทางคลินิกคือ การนำมาใช้เป็นยา แต่ผู้บริโภคไม่ควรไปซื้อหามาใช้เอง ดัวยมีองค์ประกอบอื่นอีกมากมายที่ต้องใช้เป็นปัจจัยพิจารณาในการใช้ยานี้ อย่างเช่น อายุ เพศ สภาพร่างกาย โรคประจำตัวต่างๆ และยังต้องคำนึงถึงส่วนประกอบที่เป็นวิตามินชนิดอื่นๆอีกที่ผสมรวมอยู่ในตัวผลิตภัณฑ์ยานั้นๆ ดังนั้นก่อนการเลือกใช้กรดแพนโทเทนิกในลักษณะเป็นยาหรือเป็นอาหารเสริม จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนว่าตนเองเหมาะสมที่จะใช้ผลิตภัณฑ์นี้หรือไม่

กรดแพนโทเทนิกมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

กรดแพนโทเทนิก

ยากรดแพนโทเทนิก มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เพื่อบำบัดภาวะร่างกายขาดกรดแพนโทเทนิก

กรดแพนโทเทนิกมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กรดแพนโทเทนิกมีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาที่ถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารเข้าสู่กระแสเลือด จะถูกใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตสารประกอบที่เรียกว่า Coenzyme A ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นในกระบวนการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย เช่น การสลายไขมัน และสลายคาร์โบไฮเดรต เพื่อให้ได้พลังงานออกมา รวมถึงเป็นองค์ประกอบสำคัญของปฏิกิริยาการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของสารโปรตีนในร่างกาย นอกจากนี้ยังมีความเกี่ยวข้องกับกระบวนชีวเคมี(Biochemistry)อื่นๆอีกมากมายที่ไม่สามารถกล่าวได้หมด จากกลไกการออกฤทธิ์ข้างต้น จึงเป็นที่มาของสรรพคุณ

กรดแพนโทเทนิกมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

กรดแพนโทเทนิกมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • วิตามินรวม แบบเม็ดและแคปซูล ชนิดรับประทาน
  • ยาสเปรย์พ่นจมูก
  • เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์อาหารประเภทนมสำหรับเลี้ยงทารก
  • เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดร่างกายอย่างสบู่เหลว

กรดแพนโทเทนิกมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ขนาดรับประทานของยากรดแพนโทเทนิก ควรต้องรับประทานยานี้ตามคำสั่งแพทย์ผู้รักษา ด้วยสูตรตำรับยาวิตามินรวมที่มีกรดแพนโทเทนิกเป็นองค์ประกอบ มีหลายสูตรตำรับ ที่สัดส่วนของวิตามินต่างๆมีความแตกต่างไม่เท่ากัน จึงเหมาะสมกับผู้ป่วยได้หลากหลายกลุ่ม แพทย์ผู้รักษาเท่านั้น จึงจะเลือกใช้ขนาดยา/วิตามินเหล่านี้ได้อย่างเหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย

สำหรับผู้ใหญ่ที่มีภาวะขาดกรดแพนโทเทนิก ในทางคลินิกโดยทั่วไป แนะนำให้รับประทานขนาด 4 – 7 มิลลิกรัม/วัน ในระยะเวลาตามคำแนะนำของแพทย์ผู้รักษา

ส่วนในเด็ก ขนาดการรักษาผู้ป่วยเด็กด้วยยานี้ ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีไป โดยมีอายุและ น้ำหนักตัวของเด็กเป็นตัวร่วมในการพิจารณาการใช้ยานี้ด้วย

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยากรดแพนโทเทนิก ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินย/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาหรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยากรดแพนโทเทนิก อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยา ระหว่างยากับยาอื่นๆและ/หรือกับอาหารเสริม ที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยากรดแพนโทเทนิก สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า

อย่างไรก็ตาม เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยากรดแพนโทเทนิกตรงเวลา

กรดแพนโทเทนิกมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

สำหรับผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ที่จำเพาะเจาะจงของกรดแพนโทเทนิก พบได้น้อย อาจเป็นเหตุผลจากกรดชนิดนี้ละลายน้ำได้ดี จึงไม่มีการสะสมในชั้นไขมันของร่างกาย และถือเป็นสารอาหารที่ร่างกายจำเป็นต้องนำไปใช้ในกระบวนการชีวเคมีต่างๆ กรณีร่างกายได้รับกรดแพนโทเทนิกมากเกินไป อาจได้รับผลกระทบ คือ มีอาการปวดท้อง หรือท้องเสีย

มีข้อควรระวังการใช้กรดแพนโทเทนิกอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้กรดแพนโทเทนิก เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยา/แพ้วิตามินนี้
  • ไม่ควรซื้อผลิตภัณฑ์ยาที่มีกรดแพนโทเทนิกเป็นส่วนประกอบมารับประทานเอง โดยมิได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์/เภสัชกร
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาที่หมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมกรดแพนโทเทนิกด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.comบทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

กรดแพนโทเทนิกมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยากรดแพนโทเทนิก จัดเป็นสารอาหารประเภทวิตามินที่จำเป็นต่อร่างกาย มนุษย์ต้องนำมาใช้ในกระบวนการชีวเคมี ในทางคลินิกจึงยังไม่มีรายงานที่พบปฏิกิริยาระหว่างยากับยารับประทานชนิดใดๆ

ควรเก็บรักษากรดแพนโทเทนิกอย่างไร?

ควรเก็บยา/ผลิตภัณฑ์ยาที่มีส่วนประกอบของกรดแพนโทเทนิกในอุณหภูมิห้องที่เย็น ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

กรดแพนโทเทนิกมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยากรดแพนโทเทนิกที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Bioton (ไบโอตอน)Mega Lifesciences
Blackmores Exec B's (แบล็คมอร์ เอ็กเซค บี)Blackmores
Centrum (เซ็นทรัม)Pfizer Consumer Healthcare
Cernevit (เซอร์เนวิท)Baxter Healthcare
Daptaral (แดพทารอล)Wyeth

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Pantothenic_acid [2016,Aug6]
  2. http://lpi.oregonstate.edu/mic/vitamins/pantothenic-acid [2016,Aug6]
  3. http://www.whfoods.com/genpage.php?tname=nutrient&dbid=87#nutrientdescr [2016,Aug6]
  4. http://www.mims.com/thailand/drug/info/pantothenic%20acid/?type=brief&mtype=generic [2016,Aug6]