กรดนิโคตินิก (Nicotinic acid) หรือไนอะซิน(Niacin) หรือ วิตามินบี3 (VitaminB3)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยากรดนิโคตินิก (Nicotinic acid) หรือจะเรียกว่า ไนอะซิน (Niacin) หรือไนอะซินาไมด์(Niacinamide) หรือ นิโคตินาไมด์(Nicotinamide) หรือวิตามินบี 3 (Vitamin B 3) ก็ได้ จัดเป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายมนุษย์ มีลักษณะทางกายภาพเป็นผลึกไม่มีสี สามารถละลายน้ำได้ดี ประโยชน์ของกรดนิโคตินิกโดยทั่วไปสามารถแจกแจงเป็นข้อๆดังนี้

  • ทำให้ร่างกายสามารถเปลี่ยนสารอาหารต่างๆไปเป็นพลังงาน
  • บำรุงผิวพรรณ เส้นผม ลูกตา ให้สมบูรณ์อย่างสม่ำเสมอ
  • ทำให้ระบบประสาท ระบบการย่อยอาหาร/ระบบทางเดินอาหารเป็นไปอย่างปกติ

ทั้งนี้ อาหารที่เรารับประทานอยู่เป็นประจำนั้นจะมีกรดนิโคตินิกอยู่ในปริมาณที่แตกต่างกันออกไปเช่น

  • เครื่องในสัตว์ประเภท หัวใจ-ตับ-ไต 9 - 15 มิลลิกรัม/น้ำหนัก 100 กรัม
  • เนื้อไก่ 6.5 มิลลิกรัม/น้ำหนัก 100 กรัม
  • เนื้อวัว 5 - 6 มิลลิกรัม/น้ำหนัก 100 กรัม
  • ปลาทูน่า 2.5 - 13 มิลลิกรัม/น้ำหนัก 100 กรัม
  • ไข่ 0.1 มิลลิกรัม/น้ำหนัก 100 กรัม
  • มะเขือเทศ 0.7 มิลลิกรัม/น้ำหนัก 100 กรัม
  • บล็อกโคลี่ 0.6 มิลลิกรัม/น้ำหนัก 100 กรัม
  • มันเทศ 0.5 - 0.6 มิลลิกรัม/น้ำหนัก 100 กรัม
  • แครอท 0.3 - 0.6 มิลลิกรัม/น้ำหนัก 100 กรัม
  • ผักใบเขียว 0.3 - 0.4 มิลลิกรัม/น้ำหนัก 100 กรัม
  • หน่อไม้ฝรั่ง 0.4 มิลลิกรัม/น้ำหนัก 100 กรัม
  • เห็ด 3.5 - 4 มิลลิกรัม/น้ำหนัก 100 กรัม
  • ซอสถั่ว 0.4 มิลลิกรัม/น้ำหนัก 100 กรัม

อนึ่ง ร่างกายมนุษย์สามารถสังเคราะห์ กรดนิโคตินิกได้เองโดยอวัยวะตับจะใช้กรดอะมิโนที่มีชื่อว่า ทริปโตแฟน(Tryptophan) มาเป็นสารตั้งต้น และความต้องการกรดนิโคตินิกของร่างกายในแต่ละช่วงอายุ ในแต่ละวันนั้น มีดังต่อไปนี้

  • เด็ก มีความต้องการ 2 – 12 มิลลิกรัม/วัน
  • สตรี ต้องการ 14 มิลลิกรัม/วัน
  • บุรุษ ต้องการ 16 มิลลิกรัม/วัน
  • สำหรับสตรีตั้งครรภ์หรือสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร จะต้องการเฉลี่ย 18 มิลลิกรัม/วัน

*อนึ่ง ปริมาณสูงสุดของความต้องการกรดนี้ต่อวันสำหรับผู้ใหญ่ทุกช่วงอายุไม่เกิน 35 มิลลิกรัม/วัน แต่ยังไม่มีข้อมูลการศึกษาที่แน่ชัดถึงปริมาณสูงสุดต่อวันของความต้องการกรดนี้ในเด็ก

นอกจากนี้ทางคลินิกยังนำเอากรดนิโคตินิกมาใช้ป้องกันอาการโรคที่เรียกว่า Pellagra (โรคที่เกิดจากขาดวิตามินบี 3 อาการเช่น ผิวหนังและลิ้นอักเสบเรื้อรังร่วมกับหัวใจโตผิดปกติ และสับสน) และนำไปเป็นยาลดระดับไขมันคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ในกระแสเลือดซึ่งเป็นต้นเหตุของโรคหัวใจล้มเหลวอีกด้วย

คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุให้กรดนิโคตินิกอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ และอยู่ในหมวดยาอันตรายที่ใช้ควบคุมระดับไขมันในเลือด

การใช้ยานี้ได้อย่างถูกต้องปลอดภัยกับตัวผู้ป่วยควรอยู่ในดุลยพินิจและคำสั่งจากแพทย์เท่านั้น ผู้บริโภค/ผู้ป่วยไม่สมควรไปซื้อหาวิตามินนี้มารับประทานเอง

กรดนิโคตินิกมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

กรดนิโคตินิก

กรดนิโคตินิกมีสรรพคุณดังนี้เช่น

  • ใช้ช่วยลดไขมันในเลือดชนิดไม่ดี LDL - cholesterol, Triglyceride และช่วยเพิ่มระดับไขมันดีเช่น HDL - cholesterol
  • ใช้ร่วมกับยาลดไขมันในเลือดตัวอื่นเช่น Simvastatin หรือ Lovastatin
  • ใช้บำบัดรักษาอาการขาดกรดนิโคตินิกของร่างกายและป้องกันโรค Pellagra (โรคที่เกิดจากขาดวิตามินบี 3 อาการเช่น ผิวหนังและลิ้นอักเสบเรื้อรังร่วมกับหัวใจโตผิดปกติ และสับสน)

กรดนิโคตินิกมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยากรดนิโคตินิกคือตัวยาจะเข้าไปรบกวนกระบวนการเผาผลาญไขมันชนิดต่างๆทำให้ลดการสังเคราะห์ไขมันไม่ดีชนิด VLDL (Very-low-density lipoprotein), LDL (low-density lipoprotein), IDL (intermediate density lipoprotein) และในขณะเดียวกันจะทำให้เพิ่มการสังเคราะห์ไขมันดี HDL (High density lipoprotein) ซึ่งจะช่วยลดปริมาณไขมัน LDL ที่เป็นสาเหตุหนึ่งของโรคหลอดเลือดหัวใจ จากกลไกดังกล่าวทำให้ยาวิตามินชนิดนี้มีฤทธิ์การรักษาตามสรรพคุณ

กรดนิโคตินิกมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยากรดนิโคตินิกมีรูปแบบการจัดจำหน่ายดังนี้

  • ยาเม็ดชนิดรับประทานขนาด 500 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาผสมร่วมกับวิตามินชนิดอื่นๆทั้งในรูปแบบยาเม็ดและยาแคปซูลเช่น ยา Multivitamin

กรดนิโคตินิกมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยากรดนิโคตินิกมีขนาดรับประทานสำหรับภาวะ/โรคไขมันในเลือดสูงดังนี้เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทาน 500 - 2,000 มิลลิกรัมวันละครั้ง โดยขนาดรับประทานเริ่มต้น 500 มิลลิกรัมก่อนนอน เพื่อลดอาการข้างเคียง/ผลข้างเคียงของยา (อ่านเพิ่มเติมในหัวข้อ ผลไม่พึงประสงค์) ช่วง 4 สัปดาห์ต่อมาสามารถเพิ่มขนาดรับประทานต่อครั้งไม่เกิน 500 มิลลิกรัม ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัม/วัน และเพื่อลดอาการข้างเคียงต่อกระเพาะอาหาร-ลำไส้ จึงควรรับประทานยานี้พร้อมอาหาร
  • เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกสนับสนุนขนาดรับประทานของยานี้เพื่อบำบัดรักษาไขมันในเลือดสูงของเด็ก การใช้ยานี้ในเด็กและขนาดยาจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา

อนึ่ง สำหรับบำบัดรักษาอาการขาดกรดนิโคตินิกของร่างกายและป้องกันโรค Pellagra: ขนาดการใช้ยานี้จะขึ้นกับความรุนแรงของอาการและของโรคต่างๆที่เกิดร่วมด้วย ซึ่งจะแตกต่างกันเป็นกรณีไป ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา

*****หมายเหตุ:

  • ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยากรดนิโคตินิก ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยากรดนิโคตินิกอาจส่งผลให้อา การของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยากรดนิโคตินิกสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

กรดนิโคตินิกมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยากรดนิโคตินิกสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้เช่น เกิดอาการท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง อาหารไม่ย่อย มีผื่นคันตามผิวหนัง ปวดศีรษะ วิงเวียน เป็นลม ผิวแห้ง มีไข้ ปัสสาวะบ่อย ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลังช่วงล่าง ขา-เท้าบวม กระหายน้ำ และอ่อนเพลีย

มีข้อควรระวังการใช้กรดนิโคตินิกอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยากรดนิโคตินิกดังนี้เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่ตับทำงานผิดปกติ ผู้ที่อยู่ในภาวะหลอดเลือดแดงแตก/บาดเจ็บ
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ระวังการใช้กับผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โรคหัวใจล้มเหลว ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ที่มีเกลือฟอสเฟต (Phosphate) ในเลือดต่ำ ผู้ที่มีแผลในกระเพาะอาหาร ผู้ที่มีประวัติเป็นโรคตับ
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยากรดนิโคตินิกด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

กรดนิโคตินิกมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยากรดนิโคตินิกมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นดังนี้เช่น

  • การใช้กรดนิโคตินิกในปริมาณสูงร่วมกับยา Simvastatin อาจก่อให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อลายสลาย/กล้ามเนื้อลายบาดเจ็บรุนแรง (Rhabdomyolysis) และเป็นสาเหตุของการทำลายไต/ไตวาย หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • ห้ามรับประทานกรดนิโคตินิกร่วมกับการดื่มสุราด้วยจะก่อให้เกิดอาการคลื่นไส้ วิงเวียน ผื่นคัน อาเจียน และหน้าแดง ตามมา
  • การใช้กรดนิโคตินิกร่วมกับยารักษาโรคเบาหวานอาจทำให้การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของยารักษาเบาหวานด้อยประสิทธิภาพลงไป หากจำเป็นต้องใช้ร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ให้เหมาะสมเป็นกรณีไป ยารักษาเบาหวานดังกล่าวเช่น อินซูลิน, Metformin, Glyburide
  • การใช้กรดนิโคตินิกร่วมกับยา Methotrexate อาจก่อให้เกิดปัญหากับอวัยวะตับโดยมีอาการเตือนดังนี้เช่น มีไข้ หนาวสั่น ปวดข้อ ตัวบวม เลือดออกง่าย ผื่นคันขึ้นตามผิวหนัง เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงดังกล่าวควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน

ควรเก็บรักษากรดนิโคตินิกอย่างไร?

ควรเก็บยากรดนิโคตินิกในช่วงอุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius) ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น ในห้องน้ำหรือในรถยนต์ เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

กรดนิโคตินิกมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยากรดนิโคตินิกที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิตเช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Niaspan (นิสแพน)Abbott
Nicotinic Acid Greater Pharma (นิโคตินิก เอซิด เกร๊ทเตอร์ฟาร์ม่า)Greater Pharma
FBC (เอฟบีซี)Daiichi Sankyo

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Niacin [2018,July21]
  2. https://www.webmd.com/diet/supplement-guide-niacin#1 [2018,July21]
  3. http://en.wikipedia.org/wiki/Pellagra#Signs_and_symptoms [2018,July21]
  4. http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/medicine/essential/list/48#item-8438 [2018,July21]
  5. http://www.drugs.com/drug-interactions/niacin,nicotinic-acid-index.html?filter=3&generic_only= [2018,July21]
  6. https://www.drugs.com/cdi/niacin-capsules-and-tablets.html [2018,July21]