กรดซาลิไซลิก (Salicylic acid)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 7 กุมภาพันธ์ 2564
- Tweet
- บทนำ: คือยาอะไร?
- กรดซาลิไซลิกมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)รักษาโรคอะไร?
- กรดซาลิไซลิกมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- กรดซาลิไซลิกมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- กรดซาลิไซลิกมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- กรดซาลิไซลิกมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้กรดซาลิไซลิกอย่างไร?
- กรดซาลิไซลิกมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษากรดซาลิไซลิกอย่างไร?
- กรดซาลิไซลิกมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคผิวหนังเกล็ดปลา โรคผิวหนังแห้งแต่กำเนิด (Ichthyosis vulgaris)
- หูด (Warts)
- สิว (Acne)
- ตาปลา (Corns)
- โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis)
- ผื่นผิวหนังอักเสบ (Eczema)
- โรคผิวหนัง (Skin disorder)
บทนำ: คือยาอะไร?
ในอดีตทางแพทย์ ได้นำยากรดซาลิไซลิกมาใช้เป็นยาลดไข้ แต่ปัจจุบันยากรดซาลิไซลิกถูกนำมาผลิตเป็นยาเตรียมประเภทยาทาผิวภายนอก โดยระบุสรรพคุณต่างๆ เช่น รักษา โรคผื่นผิวหนังอักเสบ, สิว, โรคสะเก็ดเงิน, โรคผิวหนังเกล็ดปลา, โรคตาปลา, โรคหูด เป็นต้น จะสังเกตได้ว่ากรดซาลิไซลิกถูกใช้เพื่อวัตถุประสงค์ยับยั้งอาการลุกลามของโรคทางผิวหนัง
ยากรดซาลิไซลิก (Salicylic acid) หรือจะเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า Monohydroxy benzoic acid มีลักษณะเป็นผงผลึกไม่มีสี กรดซาลิไซลิกที่พบในธรรมชาติจะเกิดอยู่ในกระบวนการสังเคราะห์แสงและการเจริญเติบโตของพืช หรือในกระบวนการเผาผลาญของยาแอสไพรินในร่างกายมนุษย์ก็จะได้ผลิตผลเป็นกรดซาลิไซลิกออกมาเช่นกัน
คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุให้กรดซาลิไซลิกอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ และมีวัตถุประสงค์การใช้เพื่อรักษาหูด ตาปลา สะเก็ดเงิน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอาการโรคที่สอด คล้องกับสูตรตำรับต่างๆที่นำมาขึ้นทะเบียน
เราจะพบเห็นการจำหน่ายยาที่มีกรดซาลิไซลิกเป็นองค์ประกอบได้ตามร้านขายยาและมีใช้ตามสถานพยาบาลโดยทั่วไป อย่างไรก็ตามผู้ป่วย/ผู้บริโภคไม่สมควรจะซื้อหายาประเภทนี้ มาใช้โดยมิได้ขอความเห็นจากแพทย์หรือปรึกษาเภสัชกรก่อน ด้วยยังมีข้อจำกัดของการใช้ยา อีกมากมายอาทิเช่น ห้ามใช้กรดซาลิไซลิกทาบริเวณที่มีแผลเปิด ห้ามกลืนยา (เมื่อใช้ป้ายในช่องปาก) ห้ามใช้ทาผิวหนังที่อยู่ในภาวะระคายเคืองหรือติดเชื้อ ประกอบกับมีข้อควรระวัง หลายประการที่ต้องทำความเข้าใจก่อนที่จะใช้ยาประเภทนี้
กรดซาลิไซลิกมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยากรดซาลิไซลิกมีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้:
- ใช้รักษา สิว หูด ตาปลา โรคสะเก็ดเงิน โรคผิวหนังเกล็ดปลา
- รักษาอาการติดเชื้อตามผิวหนัง
กรดซาลิไซลิกมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยากรดซาลิไซลิกคือ ตัวยาจะออกฤทธิ์โดยทำให้ผิวหนังค่อยๆหลุดลอก ประกอบกับมีฤทธิ์ในการต้านเชื้อโรคเช่น แบคทีเรีย เชื้อรา ได้ระดับหนึ่ง หากใช้กรดซาลิไซลิกที่มีความเข้มข้นมากขึ้นจะเกิดฤทธิ์กัดทำลายเนื้อเยื่อของชั้นผิวหนัง จากกลไกเหล่านี้จึงก่อให้เกิดฤทธิ์ตามสรรพคุณ
กรดซาลิไซลิกมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยากรดซาลิไซลิกมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
ก. ยาขี้ผึ้งทาผิวที่ผสมร่วมกับยาอื่น:
- Betamethasone 0.05% + Salicylic acid 3%
- Benzoic acid 6% + Salicylic acid 4% + Zinc oxide 10%
- Betamethasone valerate 0.1 กรัม + Salicylic acid 3 กรัม/ยา 100 กรัม
- Betamethasone dipropionate 0.64 มิลลิกรัม + Salicylic acid 30 มิลลิกรัม/กรัม
- Flumetasone pivalate 0.02 + Salicylic acid 3%
ข. ยาน้ำ/โลชั่นทาผิวที่ผสมร่วมกับยาอื่น:
- Salicylic acid 0.25 กรัม + Liquefied phenol 0.015 มิลลิลิตร/มิลลิลิตร
- Salicylic acid 16.7% + Lactic acid 16.7%
- Salicylic acid 3.5% + Benzoic acid 6.5%
- Fluorouracil 0.5% + Salicylic acid 10% + Dimethyl sulfoxide 8%
ค. เป็นส่วนประกอบของยาหยอดตา:
- Boric acid 2% + Sodium borate 0.5% + Allantoin 0.05% + Chlorbutanol 0.02% + Salicylic acid 0.025% + Zinc sulfate 0.004% + Witch hazel distilled 12.95%
กรดซาลิไซลิกมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
จากสูตรตำรับยากรดซาลิไซลิกที่มีมากมาย ขนาดการใช้ยานี้ที่เหมาะกับอาการโรคแต่ละประเภทจะมีแตกต่างกันออกไป การใช้ยาแต่ละสูตรตำรับได้อย่างเหมาะสมจึงควรเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยากรดซาลิไซลิก ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยากรดซาลิไซลิกอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
กรดซาลิไซลิกมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยากรดซาลิไซลิกสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
- เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนัง หรือก่อให้เกิด การแพ้ มีภาวะผิวแห้ง
- หากใช้ยากรดซาลิไซลิกเป็นเวลานานๆ อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบการทำงานภายในร่างกายได้เช่นกัน จากยาถูกดูดซึมและสะสมในร่างกายได้มากขึ้น เช่น
- คลื่นไส้
- ระคายเคืองกระเพาะอาหาร
- หูอื้อ
มีข้อควรระวังการใช้กรดซาลิไซลิกอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยากรดซาลิไซลิก เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยากรดซาลิไซลิก
- ห้ามใช้ผลิตภัณฑ์ประเภทยากรดซาลิไซลิกที่ใช้ทาผิวมาใช้กับตา
- ห้ามรับประทาน/ห้ามกลืนเมื่อใช้ยาป้ายแผลในช่องปาก
- ห้ามใช้ผลิตภัณฑ์นี้กับบริเวณที่มีแผลเปิดหรือแผลฉีกขาด รวมถึงผิวหนังที่มีลักษณะเป็นเนื้อเยื่ออ่อนบาง (เช่น อวัยวะเพศ) หรือเยื่อเมือก
- หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้เป็นเวลานานๆหรือทาเป็นบริเวณกว้างบนพื้นที่ผิวของร่างกาย
- ระวังการใช้ยานี้กับ เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก) ผู้สูงอายุ สตรีตั้งครรภ์ และ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมกรดซาลิไซลิกด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
กรดซาลิไซลิกมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาประเภทกรดซาลิไซลิก เป็นยาใช้ภายนอก จึงยังไม่พบปฏิกิริยาระหว่างยากับยารับประทานชนิดใดๆ
ควรเก็บรักษากรดซาลิไซลิกอย่างไร?
สามารถเก็บยากรดซาลิไซลิก:
- เก็บยาภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น
- ห้ามเก็บในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/ แสงแดด ความร้อนและความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
กรดซาลิไซลิกมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยากรดซาลิไซลิก มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Benzo Ointment (เบนโซ ออยเมนท์) | Greater Pharma |
Beprolic (เบโพรลิก) | HOE Pharmaceuticals |
Beta-S (เบตา-เอส) | Chew Brothers |
Betosalic (เบโทซาลิก) | T.O. Chemicals |
Collomak (คอลโลแมค) | Asmeco |
Con Con (คอน คอน) | B L Hua |
Diprosalic (ไดโพรซาลิก) | MSD |
Duofilm (ดูโอฟิล์ม) | Stiefel |
Epiklin (อีพิคลิน) | Zyg Pharma |
Locasalen (โลคาซาเลน) | Amdipharm |
Opplin (ออฟลิน) | Thai Nakorn Patana |
Optal Olan’s Eye Lotion (ออฟตัล โอลาน อาย โลชั่น) | Olan-Kemed |
Pyralvex (ไพรัลเวกซ์) | Norgine |
Skin Soln Srichand (สกิน โซล ศรีจันทร์) | Srichand |
Verrumal (เวอร์รูมอล) | Bausch & Lomb |
Visotone (ไวโซโทน) | British Dispensary (L.P.) |
Zema Lotion (ซีมา โลชั่น) | Union Drug |