ไขมันในเลือด (Blood lipid)

บทความที่เกี่ยวข้อง
ไขมันในเลือด

ไขมันในเลือด(Blood lipid หรือ Blood fats)ที่สำคัญ และแพทย์มักตรวจเป็นประจำจากการตรวจเลือดเพื่อวินิจฉัยโรคไขมันในเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคเบาหวาน เพราะโรคเหล่านี้มักเกิดร่วมกันเสมอ ไขมันดังกล่าวได้แก่ ไขมัน คอเลสเตอรอล (Cholesterol) และ ไขมันไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride ย่อว่า TG หรือ Triacylglycerol ย่อว่า TAG หรือ Triacylglyceride)

ก. ไขมันคอเลสเตอรอล มีประโยชน์ในการช่วยสร้าง ผนังของเซลล์ ฮอร์โมนบางชนิด วิตามินดี และเป็นส่วนประกอบในน้ำดี

ไขมันคอเลสเตอรอลแบ่งเป็น 2 ชนิดหลัก คือ

  • ไขมันแอลดีแอล (LDL หรือ Low density lipoprotein) ซึ่งเป็นไขมันไม่ดี ช่วยส่งเสริมให้เกิดหลอดเลือดแดงแข็งจากการจับตัวของไขมันที่ผนังหลอดเลือด
  • ส่วนอีกชนิดคือ ไขมันเอชดีแอล (HDL หรือ High density lipoprotein) ซึ่งเป็นไขมันที่ดี จะช่วยกำจัดไขมันแอลดีแอลออกจากผนังหลอดเลือด

ทั้งนี้เมื่อรวมไขมันทั้งชนิด LDL และ ชนิดHDL เข้าด้วยกัน จะเรียกว่า ไขมันคอเลสเตอรอลรวม (Total cholesterol)

อนึ่ง ในกระแสเลือด คอเลสเตอรอล และไตรกลีเซอไรด์ จะจับตัวกับสารโปรตีน เกิดเป็นอนุภาค(Particle)ที่นำพาไขมันไปในเลือดเรียกว่า Lipoprotein (ไลโปโปรตีน หรือ ลิโปโปรตีน)ซึ่ง ไลโปโปรตีนในเลือดมีหลายชนิด เช่น LDL, HDL, IDL, VLDL, ULDL (อีกชื่อคือ Chyromicron), Lipoprotein(a)/หรือ LPA/หรือ Lp(a), Apolipoprotein B (APO-B) ทั้งนี้

  • IDL (Intermediate density lipoprotein): เป็นไลโปโปรตีน/ไขมันในเลือดที่แตกตัวจาก VLDL จัดเป็นไขมันไม่ดี
  • VLDL (Very low density lipoprotein): เป็นไลโปโปรตีนที่สร้างจากตับ เป็นไขมันในเลือดชนิดไม่ดี ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ แต่มีวิธีการตรวจที่ยุ่งยาก จึงไม่คอยนำมาใช้ในการตรวจคัดกรองโรค
  • ULDL(Ultra low density lipoprotein): เป็นไลโปโปรตีน/ไขมันไม่ดีไม่ดีอีกชนิดหนึ่ง
  • LPA เป็นไขมันไม่ดี ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงสูงต่อการเกิด โรคหลอดเลือดแดงแข็ง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง
  • Apolipoprotein B เป็นไขมันไม่ดี ที่มีส่วนในการสร้างไขมันไม่ดี LDL

ข. ไขมันไตรกลีเซอไรด์ เป็นไขมันอีกชนิดที่เป็นสาเหตุให้หลอดเลือดแข็งได้เช่นเดียวกัน และอาจเพิ่มโอกาสให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมองสูงขึ้น

อนึ่ง ค่าปกติของไขมันชนิดต่างๆขึ้นกับเครื่องตรวจและเทคนิคในการตรวจของแต่ละโรงพยาบาล ทั้งนี้ในการรายงานผลตรวจ ทางโรงพยาบาลจะให้ค่าปกติกำกับอยู่ด้วยเสมอในใบรายงานผลตรวจ

ทั้งนี้ปัจจัยที่มีผลต่อระดับไขมันในเลือดที่สำคัญได้แก่

  • อายุ: ผู้สูงอายุมักมีไขมันในเลือดสูงกว่าคนวัยอื่น โดยเฉพาะในหญิงวัยหมดประจำเดือน
  • เพศ: เพศหญิงมักมีไขมันในเลือดโดยเฉพาะชนิดLDLสูง
  • น้ำหนักตัว: ไขมันในเลือดมักจะสูงในผู้ที่เป็นโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน
  • อาหารที่บริโภค: ไขมันในเลือดจะสูงขึ้นเมื่อบริโภคอาหารไขมันสูงต่อเนื่อง
  • พันธุกรรม: ผู้มีคนในครอบครัวโดยเฉพาะครอบครัวสายตรง(พ่อ แม่ พี่ น้อง ท้องเดียวกัน)เป็นโรคไขมันในเลือดสูง มีโอกาสมีไขมันในเลือดสูงกว่าคนทั่วไปที่ไม่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคไขมันในเลือดสูง
  • การออกกำลังกาย: คนที่ขาดการออกกำลังกาย ไขมันในเลือดมักสูง

อนึ่ง สมาคมโรคหัวใจแห่งสหรัฐอเมริกา(American Heart Association) ได้แนะนำให้คนทั่วไปที่อายุตั้งแต่ 20ปีขึ้นไป ควรเริ่มตรวจเลือดเพื่อดูระดับไขมันในเลือด และถ้าได้ค่าปกติ และไม่มีปัจจัยเสี่ยงดังที่ได้กล่าวในตอนต้นของบทความนี้ ร่วมกับมีสุขภาพแข็งแรง ให้ตรวจซ้ำอีกที่ 4-6 ปี และต่อจากนั้น ความถี่ของการตรวจ ให้ขึ้นกับคำแนะนำของแพทย์ ส่วนผู้มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดไขมันในเลือดสูง ควรตรวจไขมันในเลือดตามคำแนะนำของแพทย์

บรรณานุกรม

  1. https://medlineplus.gov/magazine/issues/summer12/articles/summer12pg6-7.html [2017,July29]
  2. https://medlineplus.gov/ency/article/003493.html [2017,July29]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Lipoprotein [2017,July29]
  4. http://www.heart.org/HEARTORG/Conditions/Cholesterol/HowToGetYourCholesterolTested/How-To-Get-Your-Cholesterol-Tested_UCM_305595_Article.jsp#.WTeJcOuGN0w [2017,July29]
Updated 2017, July29