โรคหืด (Asthma)
- โดย รองศาสตราจารย์ ด็อกเตอร์ นายแพทย์ วัชรา บุญสวัสดิ์
- 10 กรกฎาคม 2564
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?
- โรคหืดเกิดขึ้นได้อย่างไร? มีปัจจัยเสี่ยงไหม?
- โรคหืดมีอาการอย่างไร?
- แพทย์วินิจฉัยโรคหืดได้อย่างไร?
- โรคหืดมีความรุนแรงกี่ระดับ?
- โรคหืดมีวิธีรักษาอย่างไร?
- โรคหืดรักษาหายไหม?
- มีวิธีตรวจคัดกรองโรคหืดไหม?
- โรคหืดป้องกันได้ไหม?
- เมื่อไรจึงควรพบแพทย์เพื่อตรวจโรคหืด?
- บรรณานุกรม บทความที่เกี่ยวข้อง
- โรคปอด(Pulmonary disease)
- โรคภูมิแพ้ (Allergy)
- การออกกำลังกาย (Exercise concepts for healthy lifestyle)
- โรคภูมิแพ้หูคอจมูก (ENT and Allergy)
- โรคทางเดินหายใจ โรคระบบหายใจ(Respiratory tract disorder)
- Beta blocker
- โรคเครียด: สัญญาณเตือนโรคเครียด (Warning sign of chronic stress)
- หายใจเสียงหวีด (Wheezing)
บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?
โรคหืด(Asthma)คือ โรคปอดที่เกิดจากหลอดลม บวม ตีบแคบ และมีเสมหะ(สารคัดหลั่ง)มากผิดปกติ ส่งผลให้เกิด หายใจลำบาก(หอบเหนื่อย) ไอ และหายใจเสียงหวีดในช่วงหายใจออก
โรคหืด เป็นโรคที่มีผลกระทบต่อผู้ป่วยและระบบสาธารณสุขของประเทศค่อนข้างสูง เป็นโรคเรื้อรัง ผู้ป่วยจะมีอาการหอบเหนื่อยเป็นๆหายๆ สมรรถภาพในการทำงานของปอดลดลง ทำให้เหนื่อยง่ายกว่าคนปกติ บางครั้งจะมีอาการหอบรุนแรงจนต้องเข้ารับการรักษาที่ห้องฉุกเฉินหรือต้องเข้านอนรับการรักษาในโรงพยาบาล ทำให้คุณภาพชีวิตผู้ป่วยลดลง บางครั้งอาจถึงกับต้องหยุดการทำงาน ส่งผลให้สูญเสียรายได้และลดผลผลิตของประเทศ
อนึ่ง มีรายงานผู้ใหญ่ไทยพบเป็นโรคหืดประมาณ 7% ของประชากรทั้งหมด ส่วนในเด็กพบประมาณ 10-15% และโรคนี้มีแนวโน้มเสียชีวิตมากกว่า 2,000 รายต่อปี
โรคหืดเกิดขึ้นได้อย่างไร? มีปัจจัยเสี่ยงไหม?
ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคหืดได้แก่
- กรรมพันธุ์และสิ่งแวดล้อม เช่น ถ้าพ่อแม่เป็นโรคหืด ลูกจะมีโอกาสเป็นโรคหืดเพิ่มขึ้น
- ส่วนสิ่งแวดล้อมที่ทำให้เกิดโรคหืดที่สำคัญได้แก่
- สารก่อภูมิแพ้ เช่น ไรฝุ่น ขนสุนัข ขนแมว เป็นต้น
- มีการศึกษาพบว่า บ้านที่พ่อและ/หรือแม่สูบบุหรี่ ลูกมีโอกาสเป็นโรคหืดมากกว่าบ้านที่พ่อแม่ไม่สูบบุหรี่
โรคหืดมีอาการอย่างไร?
อาการสำคัญของผู้ป่วยโรคหืดคือ
- อาการไอ
- อาการหอบ และ
- หายใจเสียงหวีด
ทั้งนี้ อาการไอมักจะไอแห้งๆหรืออาจมีเสมหะเล็กน้อย สีขาวใส ผู้ป่วยจะมีอาการเป็นๆหายๆ อาการมักเป็นมากในเวลากลางคืน หรือเวลาที่สัมผัสสิ่ง/ตัวกระตุ้น หรือ สารก่อภูมิแพ้ เนื่องจากหลอดลมผู้ป่วยโรคหืดไวต่อตัวกระตุ้นผิดปกติ ดังนั้นเวลาสัมผัสตัวกระตุ้น หลอดลมจะหดตัวทำให้หลอดลมตีบ ทำให้ผู้ป่วยโรคหืดมีอาการ ไอ, หอบ, หายใจลำบาก (หอบเหนื่อย), หายใจเสียงหวีด ซึ่งเราเรียกว่า การจับหืด
ถ้าหลอดลมไม่ตีบมากนัก ผู้ป่วยอาจมีแต่อาการไอเพียงอย่างเดียวและไม่รู้สึกเหนื่อยหอบ หายใจลำบาก หรือมีหายใจเสียงหวีด
อาการหอบหายใจลำบากและมีเสียงหวีดนี้ บางทีก็อาจทุเลาหายไปได้เองหรือดีขึ้นเมื่อกินยาหรือพ่นยาขยายหลอดลม แต่ถ้าหลอดลมตีบมากผู้ป่วยก็จะมีอาการมากจนทำงานปกติไม่ไหว ต้องหยุดงานและต้องมารับการรักษาที่โรงพยาบาลหรือห้องฉุกเฉิน
บางครั้งหลอดลมตีบมาก ผู้ป่วยอาจหายใจไม่ได้เลย ส่งผลให้ขาดอากาศหายใจ ทำให้เสียชีวิตได้ ซึ่งเรามักจะไม่ทราบว่าโรคหืดทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ เพราะส่วนมากผู้ป่วยจะไม่เสีย ชีวิตเพราะได้รับการรักษาก่อน
ตัวกระตุ้น: ตัวกระตุ้นที่จะทำให้ผู้ป่วยโรคหืดเกิดอาการหอบหืด/หอบเหนื่อยมีหลายอย่าง เช่น
- สารก่อภูมิแพ้: เช่น ขนสุนัข ขนแมว ไรฝุ่น และละอองเกสรดอกไม้
- การสัมผัสความร้อน – เย็น เช่น การรับประทานไอศกรีมหรือเข้าห้องแอร์
- การออกกำลังกาย
- การหัวเราะมากๆ
- มีอารมณ์เปลี่ยนแปลง เช่น เครียด
- การเป็นโรคหวัด หรือ โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน (จมูก, ไซนัส, ลำคอ, ท่อลม)
- การรับประทานยาบางตัว เช่น ยากลุ่มแอสไพริน, ยาต้านการอักเสบ/ ยาแก้อักเสบในกลุ่มเอ็นเสด(NSAIDs), และยาลดความดัน ในกลุ่ม บีตา บลอกเกอร์ (Beta-blocker เช่น ยาโปรปาโนโลล (Propanolol) เป็นต้น
แพทย์วินิจฉัยโรคหืดได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยว่าผู้ป่วยเป็นโรคหืดได้โดย
- การซักประวัติที่มีอาการที่เข้าได้กับโรคหืด เช่น มีอาการไอ หอบ หายใจเสียงหวีดเป็นๆหายๆหรือมีอาการไอเรื้อรัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าไอมากในเวลากลางคืน หรือคนที่ไอเรื้อรังหลังจากเป็นไข้หวัด
- การตรวจร่างกาย
- ตรวจฟังการหายใจจากหูฟัง เพื่อดูว่ามีหลอดลมตีบหรือไม่ ถ้ามีหลอดลมตีบแพทย์จะตรวจได้ยินเสียงดังหวีดที่ทรวงอกทั้งสองข้าง แต่ส่วนมากอาจตรวจไม่พบความผิดปกติ เพราะจะได้ยินเสียงหวีดก็ต่อเมื่อหลอดลมตีบมากเท่านั้น
อนึ่ง การจะยืนยันได้แน่นอนว่าเป็นโรคหืดจริง ต้องอาศัยการตรวจสมรรถภาพปอดซึ่งอาจทำได้โดย
1. การตรวจสมรรถภาพปอดโดยการใช้เครื่องตรวจสมรรถภาพปอด (Spirometry) การตรวจสมรรถภาพปอดเป็นการตรวจที่ทำได้ไม่ยากและไม่เจ็บตัว โดยการให้ผู้ป่วยเป่าลมแรงๆเข้าไปในเครื่องตรวจสมรรถภาพปอด เครื่องจะวัดปริมาตรและความเร็วลมที่เป่าออกมา ถ้าหลอดลมตีบ ความเร็วลมที่เป่าออกมาจะลดลง ซึ่งถ้าพบว่ามีการอุดกั้นทางเดินหายใจ (หลอดลมตีบ) แล้วให้ผู้ป่วยพ่นยาขยายหลอดลม หลังจากนั้นตรวจความเร็วลมที่เป่าออกมาซ้ำ ค่าการตรวจความเร็วลมดีขึ้นมากกว่าเดิม 12% ก็สามารถ ให้การวินิจฉัยว่าเป็นโรคหืดได้ ซึ่งการตรวจสมรรถภาพปอดยังสามารถบอกได้ว่าผู้ป่วยมีหลอดลมตีบมากน้อยเพียงใด
คนไข้โรคหืดควรได้รับการตรวจสมรรถภาพปอดทุกคน เพื่อวินิจฉัยว่าเป็นโรคหืดจริงหรือไม่ ถ้าเป็นโรค เป็นรุนแรงระดับไหน นอกจากนี้การตรวจสมรรถภาพปอดยังใช้ในการติดตามดูผลของการรักษาว่าดีขึ้นมากน้อยเพียงไหน หลังการรักษาแล้วสมรรถภาพปอดจะกลับมาเป็นปกติหรือยัง
2. นอกจากนี้ มีวิธีตรวจสมรรถภาพปอดแบบง่ายๆที่ผู้ป่วยสามารถทำเองได้ที่บ้านหรือที่โรงพยาบาลขนาดเล็ก โดยการใช้เครื่องวัดความเร็วสูงสุดของลมหรือพีคโฟลว์มิเตอร์(Peak Flow Meter) ซึ่งมีราคาไม่แพงมากประมาณ 800 บาท ซึ่งจะช่วยผู้ป่วยในการประเมินความรุนแรงของโรคหืดได้
วิธีการใช้พีคโฟลว์มิเตอร์ก็ไม่ยาก เพียงแต่ผู้ป่วยสูดลมให้เต็มปอดแล้วเป่าออก ให้แรงที่สุด ค่าที่วัดได้จะเป็นค่าความเร็วสูงสุดของลมที่เป่าออกได้ (peak expiratory flow rate หรือ PEFR/พีอีเอฟอาร์) หน่วยเป็นลิตร/นาที ถ้าหลอดลมตีบค่าที่เป่าได้จะต่ำ ถ้าหลอดลมไม่ตีบค่าที่เป่าได้จะได้สูง และเมื่อพ่นยาขยายหลอดลมแล้วค่าพีอีเอฟอาร์ดีขึ้นมากกว่า 20% ก็วินิจฉัยว่าเป็นโรคหืดได้
3. การวัดความผันผวนของค่าพีอีเอฟอาร์ (Peak flow variability) โดยใช้เครื่องวัดความเร็วของลมสูงสุดพีคโฟลว์มิเตอร์ดังกล่าว วิธีการตรวจคือ ให้ผู้ป่วยวัดค่าพีอีเอฟอาร์ เช้าและเย็นเป็นเวลา 2 สัปดาห์ แล้วจดบันทึกมามอบให้แพทย์ แล้วแพทย์นำมาคำนวณหาค่าความผันผวน ซึ่งมีวิธีคำนวณได้หลายแบบขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์
ในคนปกติหลอดลมไม่ค่อยจะหดขยายมากนัก ดังนั้นความผันผวนจะน้อยกว่า 20% แต่หลอดลมผู้ป่วยโรคหืดจะหดขยายอยู่เรื่อยๆทำให้ค่าความผันผวนของพีอีเอฟอาร์มากกว่า 20% ดังนั้นถ้าวัดความผันผวนของค่าพีอีเอฟอาร์ได้มากกว่า 20% ก็ถือว่าเป็นโรคหืดได้
4. การวัดความไวของหลอดลมต่อสิ่งกระตุ้น (Bronchial provocation test) บางครั้งผู้ ป่วยไม่มีอาการหอบ การตรวจสมรรถภาพปอดอาจจะอยู่ในเกณฑ์ปกติ ทำให้วินิจฉัย โรคหืดไม่ได้ ในกรณีเช่นนี้แพทย์จะวินิจฉัยโรคหืดได้โดยการวัดความไวของหลอด ลมต่อสิ่งกระตุ้นเพราะผู้ป่วยโรคหืดจะมีหลอดลมที่ไวต่อสิ่งกระตุ้นมากกว่าคนปกติ
วิธีการวัดความไวของหลอดลมทำได้ไม่ยาก โดยให้ผู้ป่วยเป่าลมในการตรวจสมรรถภาพปอด แล้วให้สูดดมสารกระตุ้นเช่น สารเมธาโคลีน (Methacholine) หลัง จากนั้น วัดค่าการเป่าลมซ้ำแล้วค่อยๆเพิ่มความเข้มข้นของสารกระตุ้นไปเรื่อยๆ จนกระ ทั่งค่าเป่าลมลดลง 20% ซึ่งแพทย์จะแปลผลและวินิจฉัยโรคหืดได้จากการนำค่าสมรรถ ภาพปอดที่ลดลงและขนาดของสารกระตุ้นมาเขียนเป็นรูปกราฟ
5. นอกจากนี้ แพทย์อาจตรวจอื่นๆเพิ่มเติมเช่น การตรวจเอ็กเรย์ปอดเพื่อดูว่าไม่มีโรคอื่น ที่ให้อาการคล้ายๆโรคหืด ซึ่งการตรวจเอกเรย์ปอดของผู้ป่วยโรคหืดจะไม่พบความผิดปกติ
โรคหืดมีความรุนแรงกี่ระดับ?
โรคหืดอาจแบ่งตามความรุนแรงของโรคเป็น 4 ระดับโดยอาศัยจากความถี่ห่างของอาการ หอบในช่วงกลางวัน, ความถี่ห่างของอาการหอบในช่วงกลางคืน, การวัดสมรรถภาพปอด, และค่าความผันผวนของพีอีเอฟอาร์ (ตารางที่ 1), ซึ่งการจำแนกความรุนแรงของโรคหืดก็เพื่อแพทย์ให้ยารักษาตามความรุนแรง
ตารางที่ 1. การจำแนกความรุนแรงของโรคหืดโดยอาศัยความถี่ของอาการหอบในช่วงกลางวัน ความถี่ของอาการหอบในช่วงกลางคืน การตรวจสมรรถภาพปอดหรือพีอีเอฟอาร์ และค่าความผันผวนของPEFR 4,5
ความรุนแรงของโรคหืด | อาการหอบกลางวัน | อาการหอบกลางคืน | พีอีเอฟ อาร์ | ความผันผวนของพีอีเอฟอาร์ |
---|---|---|---|---|
1. Intermittent (ระดับเป็นๆหายๆ) | มีอาการนานนานครั้ง ช่วงที่มีอาการจะมีอาการ<1ครั้ง/สัปดาห์ | ( <2ครั้ง/เดือน ) | (>80%) | (<20%) |
2. Mild persistent (ระดับรุนแรงน้อย) | มีอาการ>1 ครั้ง/สัปดาห์ | ( >2/เดือน) | (>80%) | ( 20-30%) |
3. Moderate persistent(ระดับรุนแรงปานกลาง) | มีอาการเกือบทุกวัน | (>1/สัปดาห์) | (60-80%) | (>30%) |
4. Severe persistent(ระดับรุนแรงมาก) | มีอาการตลอดเวลา | บ่อยๆ | (<60%) | (>30%) |
โรคหืดมีวิธีรักษาอย่างไร?
แต่ก่อนเราจะเข้าใจว่าโรคหืดเป็นโรคที่รักษาไม่ได้ เนื่องจากเราไม่เข้าใจสาเหตุที่หลอด ลมคนไข้โรคหืดไวต่อสิ่งกระตุ้นเลยไม่รู้วิธีรักษา และคิดว่าโรคหืดรักษาไม่ได้ จึงรักษาแต่อา การที่เกิดจากหลอดลมหดโดยการให้ยาคลายกล้ามเนื้อหรือยาขยายหลอดลม ปัจจุบันความรู้เกี่ยวกับโรคหืดพัฒนาไปมาก ทำให้เรามีวิธีการรักษาโรคหืดที่ได้ผล จนทำให้คนไข้โรคหืดมีชีวิตเหมือนคนปกติธรรมดาได้โดยไม่ยาก
หลักการรักษาโรคหืดในปัจจุบัน เราทราบว่าสาเหตุของโรคหืดคือมีหลอดลมอักเสบซึ่งการอักเสบชนิดไม่ได้เกิดจากติดเชื้อ ทำให้หลอดลมไวต่อสิ่งกระตุ้น ดังนั้นเวลาสัมผัสสิ่งกระ ตุ้นหลอดลมจะตีบ ทำให้เกิดการหอบ หายใจมีเสียงหวีด เรียกว่าจับหืด เมื่อเรารักษาหลอดลมอักเสบให้ดีขึ้น หลอดลมก็จะไม่ไวต่อสิ่งกระตุ้น พอสัมผัสสิ่งกระตุ้นก็จะไม่หอบ คนไข้โรคหืดก็จะกลับมาเป็นคนปกติได้
ในอดีตเรามักใช้แต่ยาขยายหลอดลมเวลามีอาการจับหืด ทำให้อาการดีขึ้นชั่วคราว ซึ่งเป็นการรักษาอาการเท่านั้นไม่ได้รักษาการอักเสบของหลอดลม ดังนั้นโรคหืดจึงไม่ดีขึ้นและอา การมักจะเป็นมากขึ้นเรื่อยๆตามระยะเวลาที่เป็นหืด แต่ในปัจจุบันเราทราบว่าการอักเสบเป็นสา เหตุของหลอดลมไว ดังนั้นแพทย์จะให้ยาลดการอักเสบของหลอดลมซึ่งได้แก่ ยาพ่นเสตียรอยด์ เมื่อหลอดลมอักเสบลดลงหรือหายไป หลอดลมก็จะไม่ไวต่อสิ่งกระตุ้นและเวลาเจอสิ่งกระตุ้นก็จะไม่หอบ ดังนั้นยาพ่นเสตียรอยด์จึงเป็นยาหลักในการรักษาโรคหืด และเมื่อเราใช้ยาลดการอักเสบเป็นเวลานาน โรคหืดสามารถรักษาให้สงบลงได้และสามารถหยุดยาได้
ปัจจุบันมีแนวทางการรักษาโรคหืดที่ทำให้การรักษาโรคหืดทั่วโลกเป็นไปในแนวทางเดียวกันเรียกว่า GINA Guideline 4 ในประเทศไทยก็มีแนวทางการรักษาตามแบบของ GINA Guideline ที่เรียกว่า แนวปฏิบัติบริการสาธารณสุข: การดูแลผู้ป่วยโรคหืด พ.ศ. 25515
เป้าหมายการรักษาในปัจจุบันคือ ทำให้ผู้ป่วยโรคหืดมีชีวิตเช่นคนปกตินั่นคือสามารถควบ คุมโรคให้สงบได้ ป้องกันการกำเริบของโรค ยกสมรรถภาพปอดให้เป็นปกติ ทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตเช่นคนปกติ หลีกเลี่ยงภาวะแทรกซ้อนจากการใช้ยา และลดการเสียชีวิตจากโรคหืด
แนวทางการรักษาโรคหืด: คือ
1. ผู้ป่วยและญาติต้องมีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับโรคหืดและยารักษาโรค เพื่อให้เกิดความร่วมมือกับแพทย์ในการรักษา สิ่งสำคัญที่ผู้ป่วยต้องเข้าใจก็คือ โรคหืดเป็นโรคที่มีการอักเสบของหลอดลมทำให้หลอดลมไวต่อสิ่งกระตุ้น เมื่อเจอสิ่งกระตุ้นหลอดลมจึงตีบ ดังนั้นการรักษาโรคหืดไม่ใช่การรักษาหลอดลมตีบ แต่เป็นการรักษาหลอดลมอักเสบซึ่งต้องใช้เวลาในการรักษานาน ถึงแม้ว่าอาการอาจจะไม่มีแล้วก็ตาม ซึ่งผู้ป่วยส่วนมากจะไม่เข้าใจ และผู้ป่วยต้องเข้าใจว่ายารักษาโรคหืดจะแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่
- ยารักษาโรคหืดคือ ยาพ่นสเตียรอยด์ซึ่งลดการอักเสบ และ
- ยาขยายหลอดลมซึ่งใช้เพื่อบรรเทาอาการหอบ
2. ผู้ป่วยจะต้องหลีกเลี่ยงสิ่ง/ตัวกระตุ้นที่ทำให้เกิดหอบหืด/หอบเหนื่อย สิ่งสำคัญคือ สารก่อภูมิแพ้ เช่น ฝุ่นบ้าน ไรฝุ่น และขนสัตว์
3. ผู้ป่วยจะต้องรู้จักการประเมินโรค การประเมินโรคอาศัยอาการหอบอย่างเดียวไม่พอ จะต้องมีการประเมินสมรรถภาพปอดด้วย เพราะว่าหลอดลมที่ตีบไม่มากผู้ป่วยอาจจะไม่มีอาการ ผู้ป่วยจะมีอาการต่อเมื่อหลอดลมตีบมาก ดังนั้นถ้ารอดูแต่อาการเราจะประเมินโรคต่ำกว่าที่ควร ให้การ รักษาต่ำกว่าที่ควร ผู้ป่วยอาจจะหาซื้อเครื่องวัดความเร็วสูงสุดของลมที่เป่าออกที่เรียกว่า พีคโฟลว์ มิเตอร์ (Peak Flow Meter) ราคาประมาณ 800 บาทดังกล่าวแล้วก็จะสามารถประเมินโรคได้ดีขึ้น
4. การใช้ยารักษา: ยารักษาโรคหืดแบ่งเป็น 2 ชนิดคือ
- ยาควบคุมโรค (Controllers): เป็นยาที่ใช้เพื่อควบคุมโรคจะต้องใช้สม่ำเสมอแม้ ว่าจะไม่มีอาการ ซึ่งประกอบด้วย ยาพ่นสเตียรอยด์ (inhaled corticosteroids) เป็นยาหลักที่ใช้ในการรักษาโรคหืดเพราะมีฤทธิ์ลดการอักเสบของหลอดลมได้ เมื่อหลอดลมอักเสบดีขึ้น หลอดลมจะไม่ไวต่อสิ่งกระตุ้น อาการหอบก็จะหายไปในที่สุด ยาพ่นสเตีย รอยด์ถือว่าเป็นยารักษาโรคหืดได้ ยาพ่นสเตียรอยด์เป็นยาที่ปลอดภัยเพราะขนาดยาที่ใช้จะต่ำมากไม่เหมือนกับการกินยาสเตียรอยด์ซึ่งจะมีโทษมาก โทษของยาพ่นสเตีย รอยด์ที่อาจจะพบได้เช่น เสียงแหบและมีฝ้าขาวในปากจากเชื้อรา ซึ่งป้องกันได้โดยบ้วนปากทุกครั้งหลังพ่นยาด้วยน้ำประปาสะอาดหรือน้ำเกลือโรงพยาบาล (normal saline) ซึ่งมีขายตามร้านขายยาทั่วไป หรือยาบ้วนปากตามแพทย์/พยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยแนะนำ
- ยาขยายหลอดลมหรือยาบรรเทาอาการ (relievers): ที่สำคัญคือยาพ่นขยายหลอดลมเบต้าอะโกนิส (2 agonist) เช่น เวนโทลิน (Ventolin) บริคคานิล (Bricanyl) หรือเม็บติน (Meptin) ซึ่งใช้บรรเทาอาการเวลาหอบ โดยจะใช้เฉพาะเวลาที่มีอาการหอบเท่านั้น อาการข้างเคียงของยากลุ่มนี้คืออาจจะมีใจสั่นมือสั่นบ้าง
อนึ่ง ยาที่ใช้รักษาโรคหืดมีทั้ง ยากิน ยาฉีด ยาพ่น ซึ่งยาพ่นเป็นยาที่ดี เพราะเป็นยาที่ใช้เฉพาะที่ จึงได้ผลดีและปริมาณยาที่ใช้จะมีขนาดต่ำมาก จึงมีอาการข้างเคียงน้อยกว่ายากิน ดังนั้นในปัจจุบันการรักษาโรคหืดจึงนิยมใช้ยาชนิดสูดพ่นเป็นหลัก
โรคหืดรักษาหายไหม?
โรคหืดสามารถรักษาจนผู้ป่วยมีชีวิตเช่นคนปกติได้ไม่ยาก โดยการให้ยารักษาซึ่งได้แก่ยาพ่นเสตียรอยด์ เมื่อใช้ยาพ่นเสตียรอยด์เป็นเวลานานๆเช่น 1 - 3 ปี จะทำให้การอักเสบของหลอดลมลดลงมาก ทำให้หลอดลมไม่ไวต่อสิ่งกระตุ้น ผู้ป่วยก็จะไม่มีอาการได้ ซึ่งเรียกว่าโรคหืดอยู่ในระยะสงบ ทั้งนี้ในโรคระยะนี้ผู้ป่วยสามารถหยุดยาได้ ซึ่งผู้ป่วยจะไม่มีอาการหอบและผู้ป่วยไม่ต้องใช้ยา ดังนั้นผู้ป่วยจะพูดว่าหายจากโรคหืดแล้ว แต่แพทย์จะไม่เรียกว่าโรคหืดหาย แพทย์จะเรียกว่าโรคหืดอยู่ในภาวะสงบ ซึ่งอาจจะสงบไปนานเท่าไหร่ก็ได้ ขึ้นกับการดูแลตน เองของผู้ป่วยและการพบแพทย์สม่ำเสมอตามนัด
มีวิธีตรวจคัดกรองโรคหืดไหม?
เนื่องจากโรคหืดเป็นโรคที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ เมื่อมีประวัติพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย เป็นโรคหืดก็มีโอกาสเป็นโรคหืดมากกว่าคนอื่น โดยอาการที่จะต้องสงสัยว่าเป็นโรคหืดได้แก่ อาการไอเรื้อรังโดยเฉพาะเวลาที่ไม่ได้เป็นหวัด เด็กที่ไอเวลาวิ่งเหนื่อยๆ ไอเวลากลางคืน ไอแล้วอาเจียน เป็นหวัดแล้วหายช้ากว่าปกติ อาการเหล่านี้ควรต้องสงสัยว่าอาจจะเป็นโรคหืดได้ เมื่อมีอาการเหล่านี้จึงควรพบแพทย์เพื่อจะได้รับการตรวจวินิจฉัยให้แน่นอน
โรคหืดป้องกันได้ไหม?
โรคหืดมีสาเหตุจากพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม ในเด็กที่พ่อแม่เป็นโรคหืดลูกจะมีโอกาสเป็นโรคหืดเพิ่มขึ้นซึ่งปัจจัยนี้อาจจะป้องกันไม่ได้
สิ่งแวดล้อมมีผลต่อการเกิดโรคหืดมาก สิ่งที่สำคัญได้แก่ สารก่อภูมิแพ้ เช่น ไรฝุ่น ขนสัตว์ เกสรดอกไม้ ควันบุหรี่ ฯลฯ ทั้งนี้มีการศึกษาพบว่า เด็กที่อาศัยในบ้านที่มีระดับสารก่อภูมิ แพ้มากจะมีโอกาสเป็นโรคหืดมากกว่าเด็กที่อาศัยในบ้านที่มีระดับสารก่อภูมิแพ้ต่ำ เด็กที่อาศัยในบ้านที่พ่อหรือแม่สูบบุหรี่มีโอกาสเกิดโรคหืดมากกว่าเด็กที่อาศัยในบ้านที่พ่อแม่ไม่สูบบุหรี่ ดังนั้นจากความรู้ที่เรามีเราอาจสามารถลดการเกิดโรคหืดได้โดยพยายามดูแลบ้านให้สะอาดปราศจากฝุ่นละออง ไม่เลี้ยงสัตว์เลี้ยงในบ้าน ไม่มีคนสูบบุหรี่ เป็นต้น
เมื่อไรจึงควรพบแพทย์เพื่อตรวจโรคหืด?
เมื่อมีอาการต้องสงสัยดังกล่าวก็ควรไปพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อการวินิจฉัยโรคหืดที่แน่นอนและเพื่อวางแผนการรักษาที่เหมาะสม เมื่อไปพบแพทย์สิ่งที่แพทย์จะให้การดูแลรักษา คือ
1. ให้การวินิจฉัยว่าเป็นโรคหืดจริงหรือไม่ มีโรคอื่นๆร่วมกับโรคหืดหรือเปล่า เพราะว่าผู้ป่วยโรคหืด 60 - 70% จะมีโรคภูมิแพ้หูคอจมูกร่วมด้วย ซึ่งถ้าไม่รักษาไปด้วยก็จะทำให้การรักษาโรคหืดไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร
2. ประเมินว่าโรคหืดควบคุมได้หรือยัง เป้าหมายของการรักษาโรคหืดคือควบคุมโรคหืดให้ได้ ซึ่งแพทย์จะบอกว่าควบคุมโรคหืดได้เมื่อผู้ป่วย
- มีอาการน้อยหรือไม่มีอาการเลย
- มีอาการกำเริบน้อยครั้ง
- ไม่ต้องหอบมากจนต้องไปห้องฉุกเฉิน
- ใช้ยาขยายหลอดลมน้อยมากหรือไม่ต้องใช้เลย
- สามารถทำกิจกรรมต่างๆรวมทั้งสามารถออกกำลังกายได้เป็นปกติ
- มีสมรรถภาพปอดปกติ
- ไม่มีอาการข้างเคียงจากยา
ดังนั้นจะเห็นว่าผู้ป่วยสามารถประเมินตนเองได้บางส่วน แต่บางส่วนจะต้องให้แพทย์ช่วยประเมินคือ การตรวจสมรรถภาพปอดและการดูอาการข้างเคียงจากการใช้ยา
3. จัดการรักษาโดยการให้ยาที่เหมาะสม การรักษาโรคหืดจะต้องมีการเพิ่มหรือลดยาตลอด เวลาตามความรุนแรงของโรค การรักษาโรคหืดจะพยายามใช้ยาให้น้อยที่สุดที่พอจะควบ คุมโรคได้เพื่อจะลดอาการข้างเคียงจากยา ดังนั้นจึงจำเป็นที่ผู้ป่วยต้องมาพบแพทย์ตามแพทย์นัดเสมอเช่น ทุก 3 - 6 เดือน
4. แพทย์อาจวางแผนการรักษาให้ผู้ป่วยในกรณีที่อาการกำเริบว่าควรจะต้องทำอะไรเช่น อาจ จะมีการเตรียมยาสเตียรอยด์ชนิดเม็ดไว้ที่บ้านเมื่อมีอาการกำเริบ ก็รีบกินก่อนที่จะหอบรุน แรงก็จะลดการที่จะต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลลงได้
บรรณานุกรม
- American Thoracic Society. Lung function testing: selection of reference values and interpretative strategies. Am Rev Respir Dis 1991; 144:1202-1218
- Reddel H, Jenkins C, Woolcock A. Diurnal variability--time to change asthma guidelines? Bmj 1999; 319:45-47
- Toelle BG, Peat JK, Salome CM, et al. Toward a definition of asthma for epidemiology. Am Rev Respir Dis 1992; 146:633-637
- Global initiative for asthma. Global strategy for asthma management and prevention NHLBI/WHO workshop report, 1995
- คณะกรรมการปรับปรุงแนวทางการวินิจฉัยและรักษาโรคหืด พ.ศ. 2551. แนวปฏิบัติบริการสาธารณสุข:การดูแลผู้ป่วยโรคหืด พ.ศ. 2551. กรุงเทพมหานคร: สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช), 2552; 118
- Chetta A, Del Donno M, Maiocchi G, et al. Prolonged bronchodilating effect of formoterol versus procaterol in bronchial asthma. Ann Allergy 1993; 70:171-174
- Johnson M. Pharmacology of long-acting b-agonists. Annals of allergy,asthma, &immunology 1995; 74:177-178
- Drazen JM, Israel E, O'Byrne PM. Treatment of asthma with drugs modifying the leukotriene pathway. New England Journal Of Medicine 1999; 340:197-206
- https://www.thaihealth.or.th/Content/52265-%20%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%97%E0%B8%B1%E0%B8%99%20%E0%B8%9B%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%99%20%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%AB%E0%B8%B7%E0%B8%94.html[2021,July10]