โรคภูมิแพ้ (Allergy)
- โดย รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิง อรพรรณ โพชนุกูล
- 10 กันยายน 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: สถิติเกิด
- โรคภูมิแพ้คืออะไร?
- โรคภูมิแพ้มีสาเหตุเกิดจากอะไร?
- โรคภูมิแพ้มีกี่ชนิด?
- แพทย์วินิจฉัยได้อย่างไรว่าเป็นโรคภูมิแพ้?
- รักษาโรคภูมิแพ้อย่างไร?
- โรคภูมิแพ้รักษาหายไหม? รุนแรงไหม?
- มีผลข้างเคียงแทรกซ้อนจากโรคภูมิแพ้ไหม?
- เมื่อเป็นโรคภูมิแพ้ควรดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
- ป้องกันไม่ให้เป็นโรคภูมิแพ้ได้ไหม?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- โรคภูมิแพ้หูคอจมูก (ENT and Allergy)
- โรคหืด (Asthma)
- โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังในเด็ก (Atopic dermatitis)
- ผึ้ง ต่อ มด กัดต่อย: การปฐมพยาบาล การรักษาและการป้องกัน (Bee, Wasp, Hornet, and Ant stings)
- แพ้อาหาร หรือ ภูมิแพ้อาหาร (Food allergy)
- เยื่อตาอักเสบจากภูมิแพ้ (Allergic conjunctivitis)
- ไซนัสอักเสบ โพรงอากาศข้างจมูกอักเสบ (Sinusitis)
- แอแนฟิแล็กซิส: ปฏิกิริยาภูมิแพ้รุนแรงเฉียบพลัน (Anaphylaxis)
บทนำ: สถิติเกิด
โรคภูมิแพ้ (Allergy) เป็นโรคพบบ่อยทั่วโลก และในประเทศไทยเอง อุบัติการณ์โรคเพิ่มขึ้นหลายเท่าในระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ทั่วไปอุบัติการณ์ของโรคภูมิแพ้เฉลี่ยดังนี้ เช่น
- โรคโพรงจมูกอักเสบจากภูมิแพ้/โรคภูมิแพ้หูคอจมูก, ประมาณ 20 - 40%
- โรคหลอดลมอักเสบจากภูมิแพ้ หรือโรคหืด, ประมาณ 10 - 15%
- โรคผื่นผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้, ประมาณ 15%
- และโรคแพ้สารสิ่งอื่นๆ เช่น แพ้อาหาร ฯลฯ, ประมาณ 5%
ทั้งนี้ อุบัติการณ์โรคภูมิแพ้ในเด็กจะสูงกว่าในผู้ใหญ่, ซึ่งโรคภูมิแพ้นั้น ถ้าไม่ได้รับการรักษาจะทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยแย่กว่าคนทั่วไป เช่น การเกิดอาการคัดจมูกในเวลากลางคืนทำให้นอนอ้าปากหายใจ จึงตื่นมาด้วยอาการปากคอแห้ง, รู้สึกเหมือนนอนหลับไม่สนิท, และอาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนตามมาได้ เช่น ไซนัสอักเสบ, ริดสีดวงจมูก, หูชั้นกลางอักเสบ, และ/หรือนอนกรน
โรคภูมิแพ้คืออะไร?
โรคภูมิแพ้ คือ โรคที่เกิดจากการตอบสนองของร่างกายต่อสาร/ตัวกระตุ้นที่ในภาวะปกติแล้วจะไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย เช่น ไรฝุ่น ละอองเกสรพืช แต่ในโรคภูมิแพ้ ร่างกายจะเกิดการตอบสนองอย่างมากผิดปกติต่อสารเหล่านั้น จึงทำให้เกิดการอักเสบชนิดไม่ติดเชื้อในอวัยวะที่สัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ (Allergen) นั้น เช่น
- ถ้าเป็นโรคภูมิแพ้ทางจมูก/โรคภูมิแพ้หูคอจมูก: เมื่อเราหายใจเข้าไปทางจมูก สารก่อภูมิแพ้จะไปสัมผัสกับเยื่อบุโพรงจมูก แล้วทำให้เกิดการอักเสบในโพรงจมูก(เยื่อจมูกอักเสบ) เกิดอาการ คัดจมูก จาม มีน้ำมูกใสๆ และคันจมูก
- ถ้าเป็นโรคหืด: เมื่อหายใจเอาสารก่อภูมิแพ้เข้าไปถึงหลอดลม ก็จะทำให้เกิดการอักเสบฯ ของหลอดลม(หลอดลมอักเสบ) ซึ่งหลอดลมก็จะตอบสนองด้วยการหดเกร็ง ส่งผล เกิดอาการของหลอดลมตีบขึ้น เช่น หายใจลำบาก หอบเหนื่อย
*ทั้งนี้ อาจใช้เวลาก่อนเกิดอาการเป็นนาที หรือเป็นชั่วโมงก็ได้หลังสัมผัสสารก่อภูมิแพ้
ในคนที่เป็นโรคภูมิแพ้ ยังมักมีแนวโน้มที่จะเกิดการตอบสนองไวกว่าปกติต่อตัวกระตุ้นที่ไม่ใช่สารก่อภูมิแพ้ได้ เช่น ความเย็น ความร้อน ความกดอากาศต่ำ ฝน ความชื้น, ซึ่งภาวะนี้อาจอยู่นานเป็นวันหรือเป็นเดือนก็ได้ จึงสามารถกระตุ้นให้เกิดอาการภูมิแพ้ได้ต่อเนื่องโดยไม่จำเป็นต้องสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้
โรคภูมิแพ้มีสาเหตุเกิดจากอะไร?
โรคภูมิแพ้ มีการศึกษาสนับสนุนว่า น่าเกิดจากพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม: โดยพบว่า
- ถ้าบิดา หรือ มารดาเป็นโรคภูมิแพ้ จะทำให้บุตรมีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้ประมาณ 30 - 50%
- แต่ถ้าทั้งบิดาและมารดาเป็นโรคภูมิแพ้ จะมีผลให้บุตรมีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้มากขึ้นถึงประมาณ 50 - 70%
- ในขณะที่เด็กที่มาจากครอบครัวที่’ไม่มีประวัติโรคภูมิแพ้เลย’มีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้เพียงประมาณ 10%
*เนื่องจากปัจจุบัน ยังไม่สามารถแก้ไขปัจจัยทางพันธุกรรมได้ ดังนั้นการกำจัดและหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ และสารระคายเคืองต่างๆ เช่น ควัน บุหรี่ ไรฝุ่น ในผู้ป่วยและครอบครัวที่เป็นโรคภูมิแพ้ (ซึ่งมีความเสี่ยงสูง) จะสามารถลดอาการของโรค หรือป้องกันไม่ให้เกิดโรคภูมิแพ้ขึ้นได้
โรคภูมิแพ้มีกี่ชนิด?
ชนิดของโรคภูมิแพ้ อาจแบ่งตามระบบของร่างกายออกได้เป็น 5 กลุ่ม คือ
- โรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจ ได้แก่ โรคหืด (Asthma)
- โรคโพรงจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ หรือ โรคแพ้อากาศ (Allergic rhinitis)/ โรคภูมิแพ้หูคอจมูก (ENT allergy)
- โรคภูมิแพ้ทางผิวหนัง (Allergic skin disease)
- โรคภูมิแพ้ทางตา (Eye allergy)
- โรคภูมิแพ้ชนิดรุนแรงที่มีอาการหลายระบบ (แอแนฟิแล็กซิส/ Anaphylaxis)
ก. โรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจ/โรคหืด: อาการของผู้ป่วยขณะที่จับหืด เช่น แน่นหน้าอก หายใจลำบาก/หายใจหอบเหนื่อย หายใจเสียงหวีด, ที่มักเป็นๆหายๆ, หรือในกรณีที่มีอาการมาก อาจมีอาการทุกคืน, อาการอาจบรรเทาได้ด้วยยาขยายหลอดลม, แต่ก็มักควบคุมอาการได้เฉพาะช่วงแรกๆ ต่อมามักต้องใช้ยาบ่อยขึ้นและมากขึ้น
- บางครั้งโรคหืด อาจแสดงอาการเพียงแต่อาการไอกลางคืนหรือไอเรื้อรังโดยไม่มีเสียงหวีดหรืออาการแน่นหน้าอกก็ได้ ทำให้การวินิจฉัยยากขึ้น, บางครั้งก็มีอาการแน่นหน้าอกเฉพาะช่วง ออกกำลังกาย แต่ที่มักถูกมองข้ามเกือบเสมอๆคือไม่ได้นึกถึงโรคภูมิแพ้หูคอจมูกซึ่งสามารถพบร่วมกันได้มากกว่า 70 - 80%, ซึ่งการให้การรักษาอาการของโรคหืดอย่างเดียวโดยไม่รักษาโรคภูมิแพ้หูคอจมูกด้วย จะทำให้ควบคุมอาการไม่ดีเท่าที่ควร
- การวินิจฉัยโรคหืดที่แน่นอน คือ การตรวจวัดสมรรถภาพปอด ซึ่งนอกจากจะช่วยในการวินิจฉัยโรคแล้ว ยังช่วยประเมินความรุนแรงของโรคอีกด้วย แต่อย่างไรก็ตามการตรวจโดยวิธีนี้ทำได้ค่อนข้างยากในผู้ป่วยเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 7 ปี
- กรณีที่ไม่มีเครื่องทดสอบสมรรถภาพปอดชนิด Spirometer อาจใช้เครื่องมือชนิดที่เรียกว่า Peak flow meter ซึ่งมีราคาถูกกว่า และมีประโยชน์ในการประเมินอาการของโรคกรณีที่ไม่สามารถตรวจด้วย Spirometer ได้
ข. โรคโพรงจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ หรือโรคแพ้อากาศ: อาการของโรคภูมิแพ้ทางจมูก/โรคภูมิแพ้หูคอจมูก/ โรคแพ้อากาศ อาจแบ่งได้เป็น 4 ชนิด คือ
- ชนิดแรก: เป็นชนิดที่มีอาการเด่นทางน้ำมูก คือจะมีน้ำมูกใสไหล จาม คันจมูก
- ชนิดที่สอง: มีอาการเด่นทางอาการคัดจมูกเป็นหลัก มักไม่มีน้ำมูก หรืออาการจาม
- ชนิดที่สาม: จะมีอาการของ 2 ชนิดแรกรวมกัน คือ มีทั้งน้ำมูกใส และอาการคัดจมูก
- ส่วนชนิดสุดท้าย:จะมีอาการที่วินิจฉัยยากถ้าผู้ตรวจไม่มีความชำนาญอาจวินิจฉัยผิดได้, กลุ่มนี้อาจมีอาการไอเรื้อรัง หรือกระแอมซึ่งเกิดจากเสมหะไหล หรือซึมลงคอ, อาจรู้สึกมีเสมหะติดคอเวลาเช้าได้, บางคนมีอาการ ปวดหัวเรื้อรัง นอนกรน หรือถอนหายใจบ่อยๆ ปากคอแห้ง, บางคนมีอาการคันหัวตาโดยไม่มีอาการตาแดง อธิบายว่าเกิดจากการที่มีเยื่อจมูกบวมมากทำให้ท่อน้ำตาที่อยู่ติดๆกันอักเสบ ส่งผลเกิดอาการคันที่หัวตาอย่างมาก
การวินิจฉัยโรคแพ้อากาศ: สามารถทำได้จาก
- ซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วยอย่างละเอียด โดยเฉพาะประวัติโรค หรือมีอาการภูมิแพ้ ภายในครอบครัว, การสังเกตตัวกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการ, รวมทั้งสภาพลักษณะการทำงาน, สภาพแวดล้อมภายในบ้าน และที่ทำงาน
- การตรวจร่างกายทั่วไป: ถ้าพบบางอาการ ก็จะมีประโยชน์ในการวินิจฉัยโรค เช่น การมีขอบตาล่างบวมคล้ำ
- การตรวจภายในโพรงจมูก: จะช่วยบอกถึงความรุนแรงของการอักเสบ และอาจบอกถึง โรคในโพรงจมูกที่มีผลต่อการรักษาโรคภูมิแพ้ได้ เช่น พบการซีด หรือมีสีแดงจัดจากการอักเสบ
ค. โรคภูมิแพ้ทางผิวหนัง: ที่พบบ่อยได้แก่ ลมพิษ และผื่นผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้
- ผู้ป่วยที่เป็นลมพิษ: จะเริ่มด้วยอาการคันตามเนื้อตัว หลังจากนั้นจะมีอาการบวมเป็นได้ทั้งตัวและโดยเฉพาะบริเวณที่ถูกเกาหรือกดรัด อาการมักเป็นๆหายๆ
- อาการบวม: อาจเป็นลักษณะตุ่มนูนที่มีขนาดแตกต่างกัน ส่วนใหญ่อาจดูคล้ายตุ่มยุงกัด แต่บางแห่งจะดูคล้ายผื่นแผนที่ โดยตรงกลางผื่นสีจะจางและไม่นูน
- ผื่นลมพิษนี้อาจมีลักษณะแตกต่างไป ในบางครั้งจะรวมกันเป็นปื้นหนา, หรืออาจมีจุดขาวซีดๆตรงกลาง ขณะที่ขอบโดยรอบจะหนานูนแดง
- ผื่นลมพิษจะเห่อขึ้นเร็ว และผื่นนั้นมักจะหายภายใน 4 - 6 ชั่วโมงโดยไม่มีร่องรอยหลงเหลือ แล้วก็จะย้ายไปขึ้นบริเวณอื่นได้อีก
- ทั่วไป: ผื่นฯจะหายภายใน 24 ชั่วโมง, ถ้าเป็นนานเกิน 24 ชั่วโมง ให้นึกว่าอาจจะเป็นโรคอื่น
- ในรายที่เป็นมาก อาจมีอาการ บวมของหนังตา ริมฝีปาก อวัยวะเพศ และทางเดินหายใจ ร่วมด้วย
- ส่วนผู้ป่วยที่เป็นโรคผื่นผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้: มักเริ่มมีอาการตั้งแต่อายุขวบปีแรก, ประมาณ 80 - 90% ของเด็กที่เป็นโรคนี้ มักมีอาการก่อนอายุ 7 ปี, โดยผู้ป่วยจะมีอาการผื่นคันตามลำตัวและใบหน้า เป็นๆหายๆ, ผิวแห้งอักเสบ, และมีอาการกำเริบเป็นระยะๆเมื่อได้รับสารกระตุ้น
- ผู้ป่วยเด็กที่เป็นโรคผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้ จะมีโอกาสเสี่ยงในการเกิดโรคภูมิแพ้ระบบทางเดินหายใจโดยเฉพาะโรคหืดเมื่อเด็กโตขึ้น
- สาเหตุที่สำคัญของโรคภูมิแพ้ทางผิวหนังในเด็ก ได้แก่ แพ้อาหาร โดยอาหารที่พบว่าแพ้ได้บ่อยในเด็กไทย คือ ไข่ นมวัว อาหารทะเล และแป้งสาลี
ง. โรคภูมิแพ้ทางตา: เป็นการอักเสบที่เยื่อตาขาวและใต้หนังตา(เยื่อตาอักเสบจากภูมิแพ้) ผู้ป่วยจะมีอาการ คันตา ตาแดง น้ำตาไหล แสบตา และมีขี้ตา, โดยมักมีอาการช่วงได้รับสารกระตุ้น เช่น ฝุ่น ละอองเกสรหญ้า หรือขนสัตว์, ผู้ป่วยที่มีอาการภูมิแพ้ทางตามักพบร่วมกับอาการโพรงจมูกอักเสบจากภูมิแพ้
จ. โรคภูมิแพ้ชนิดรุนแรง/มีอาการหลายระบบอวัยวะ/แอแนฟิแล็กซิส: เป็นปฏิกิริยาภูมิแพ้ที่อาจเป็นอันตรายถึงตายได้ อาการแพ้จะเกิดขึ้นรุนแรงรวดเร็วและมีอาการจากหลายระบบอวัยวะ อาการต่างๆ (ไม่จำเป็นต้องมีครบทุกอาการ) เช่น
- คัน มักคันมาก และเริ่มที่ ตา และใบหน้าก่อน
- ลมพิษ
- บวมที่หน้า-ปาก
- แน่นในลำคอ จาม น้ำมูกไหล
- หายใจลำบาก
- บางรายอาจมีอาการ
- ปวดท้อง
- อาเจียน
- ท้องเสีย
- *กรณีรุนแรงมาก: จะมี ความดันโลหิตต่ำ, หมดสติ, และอาจถึงตายได้ ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที
- *ผู้ที่เป็นโรคหืดอยู่เดิม เป็นปัจจัยเสี่ยงเกิดแอแนฟิแล็กซิสได้, และภูมิแพ้รุนแรงก็อาจ กระตุ้นให้โรคหืดกำเริบได้
*อนึ่ง: สาเหตุที่สำคัญของโรคภูมิแพ้ชนิดรุนแรง คือ ภาวะแพ้อาหาร, แพ้ยา, แมลงต่อย (ผึ้ง-ต่อ-มด-กัดต่อย: การปฐมพยาบาล การรักษา และการป้องกัน), ซึ่งผู้ป่วยที่มีภาวะแพ้ชนิดนี้
- ควรหลีกเลี่ยงสารที่แพ้ และ
- ในรายที่เคยเกิดอาการแพ้ที่รุนแรง เช่น ภาวะช็อก, ผู้ป่วยควรมียาฉีด Adrenaline/Epinephrine (ยารักษาโรคภูมิแพ้ชนิดรุนแรงที่ช่วยกระตุ้นการเต้นของหัวใจและช่วยเพิ่มความดันโลหิต)พกติดตัวไว้ด้วย เพื่อป้องกันการเสียชีวิตก่อนที่จะพบแพทย์
แพทย์วินิจฉัยได้อย่างไรว่าเป็นโรคภูมิแพ้?
แพทย์วินิจฉัยโรคภูมิแพ้ โดย
- สังเกตจากอาการที่เข้ากันได้กับโรคนี้ดังได้กล่าวแล้วใน’หัวข้อ ชนิดของโรคภูมิแพ้ฯ’, การมีอาการเรื้อรังเป็นๆหายๆ, การมักมีประวัติครอบครัวร่วมด้วย
- อาจทำการตรวจเพิ่มเติม เช่น
- การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง
- ตรวจเลือดเพื่อหาสาเหตุของอาการที่แพ้
- กรณีที่เป็นโรคหืด ก็ทำการทดสอบสมรรถภาพปอด
รักษาโรคภูมิแพ้อย่างไร?
หลักการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคภูมิแพ้มีหลักการทั่วไป คือ
- ควบคุมสิ่งแวดล้อมและสารก่อภูมิแพ้
- ให้การรักษาด้วยยา
ก. การควบคุมสิ่งแวดล้อมและสารก่อภูมิแพ้: ได้มีการสำรวจผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ในประเทศไทยพบว่า มักจะแพ้ไรฝุ่นฝุ่นบ้านเป็นอันดับหนึ่ง, รองลงมาได้แก่ แมลงสาบ ละอองเกสรพืช และขนสัตว์
- ถ้าทำได้ แนะนำให้ทำการทดสอบผิวหนังในผู้เป็นโรคภูมิแพ้ทุกคน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่าแพ้อะไร จะได้หลีกเลี่ยงได้ถูกต้อง, และยังใช้เป็นแนวทางในการพิจารณาทำการรักษาด้วยการฉีดวัคซีนอีกด้วย
- ผู้ป่วยที่เป็นโรคภูมิแพ้ ที่ไม่ได้รับการทดสอบผิวหนัง หรือไม่สามารถทำการทดสอบได้ก็ควรหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ซึ่งที่พบบ่อย คือ
- ไรฝุ่น: เช่น
- จัดห้องนอนให้โล่ง ไม่ควรมีพรม ตุ๊กตา และผ้าม่าน
- ซักผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน และผ้าห่มด้วยน้ำร้อนอุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียสเป็นเวลา 30 นาทีอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง
- คลุมที่นอน หมอน หมอนข้างด้วยผ้าใยสังเคราะห์ชนิดพิเศษซึ่งสามารถกันไม่ให้ตัวไรฝุ่นลอด ผ่านขึ้นมาได้
- แมลงสาบ: เช่น
- ขจัดแหล่งอาหารของแมลงสาบโดยทิ้งขยะและเศษอาหารในถุงหรือถังขยะที่มีฝาปิดมิดชิด
- ใช้ยาฆ่าแมลงสาบและกับดักแมลงสาบ
- สัตว์เลี้ยง: เช่น
- ไม่ควรเลี้ยงสัตว์มีขนเช่น สุนัข แมว นก กระต่าย
- ถ้าเลี่ยงไม่ได้ ควรให้สัตว์เลี้ยงอยู่นอกบ้านและอาบน้ำให้ทุกสัปดาห์
- ใช้เครื่องดูดฝุ่นและเครื่องกรองอากาศ
- เกสร, หญ้ารวมถึงหญ้าแห้ง, ฟางข้าว: เช่น
- ควรตัดหญ้า และ วัชพืชบริเวณบ้านบ่อยๆ เพื่อลดจำนวน
- สังเกตแพ้เกสรดอกอะไร เพื่อหลีกเลี่ยง,ไม่ปลูก
- ไม่ควรนำต้นไม้ ดอกไม้สด หรือแห้ง ไว้ในบ้าน
- ในฤดูที่มีละอองเกสรมาก ควรปิดประตูหน้าต่าง และใช้เครื่องปรับอากาศ หรือเครื่องฟอกอากาศ
- ทำกิจกรรมกลางแจ้งในช่วงเช้า เพราะละอองเกสรจะปลิวมากช่วงตอนเย็น
- ไรฝุ่น: เช่น
- ควรหลีกเลี่ยงสารระคายเคืองต่างๆที่อาจทำให้อาการภูมิแพ้กำเริบ เช่น ควันบุหรี่ ควันท่อไอเสีย กลิ่นฉุน น้ำหอม ควันธูป และฝุ่นละอองจากแหล่งต่างๆ
- การออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- กรณีมีอาการโรคหืดกำเริบจากการออกกำลังกาย การพ่นยาขยายหลอดลมก่อนการออกกำลังกายประมาณ 15 - 30 นาทีจะช่วยป้องกันการหอบระหว่างออกกำลังกายได้
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอก็มีความสำคัญ โดยพบว่าผู้ป่วยโรคภูมิแพ้มักมีอาการแย่ลงเมื่อมีภาวะเครียดและอดนอน ดังนั้นควรดูแลสุขภาพตัวเองไม่ให้เครียดมากและควรนอนพักผ่อนให้เพียงพอ
ข. การให้การรักษาด้วยยา: อาจแบ่งการรักษาโรคภูมิแพ้ออกได้เป็น 3 ระดับเพื่อความเข้าใจง่ายๆ
- ยาบรรเทาอาการต่างๆ: เช่น ยาแก้แพ้/ยาต้านฮิสตามีน (Antihistamine), และยาขยายหลอดลม
- ยาต้านการอักเสบ: เช่น ยาสเตียรอยด์พ่นจมูก หรือสูดทางปาก
- การใช้วัคซีนภูมิแพ้:
- เป็นการรักษาโดยฉีดสารก่อภูมิแพ้เข้าไปในร่างกาย เริ่มจากปริมาณน้อยๆและเพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อยๆจนร่างกายเกิดความชินต่อสารก่อภูมิแพ้นั้น
- ซึ่งผู้ป่วยที่ควรรับการรักษาโดยวิธีฉีดวัคซีนภูมิแพ้ คือ ผู้ป่วยที่รักษาด้วยยาแล้วไม่ดีขึ้น หรือมีผลข้างเคียงจากยา
- โดยก่อนจะเลือกรักษาด้วยการฉีดวัคซีน จำเป็นต้องทราบก่อนว่าแพ้อะไรเพื่อจะได้นำสารที่แพ้มาฉีดเป็นวัคซีน
- ซึ่งการรักษาโดยวิธีนี้ ควรทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง และผู้ป่วยต้องรับการรักษาอย่างต่อเนื่องตามแพทย์แนะนำนานอย่างน้อย 3 - 5 ปี
โรคภูมิแพ้รักษาหายไหม? รุนแรงไหม?
โอกาสรักษาโรคภูมิแพ้ได้หายหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าเป็นโรคภูมิแพ้ชนิดไหน
- กรณีแพ้อาหาร: เมื่อหยุดรับประทานอาหารที่แพ้ไปสักระยะ ภูมิแพ้อาหารชนิดนั้นๆอาจหายขาดได้
- สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคโพรงจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ และโรคหืด โอกาสหายขาดมีน้อย ขึ้นอยู่กับระยะเวลาในการรักษาควบคุมโรค, ความรุนแรงของโรค, และวินัยในการดูแลตนเองที่รวมถึงการปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์/พยาบาล
มีผลข้างเคียงแทรกซ้อนจากโรคภูมิแพ้ไหม?
ผู้ป่วยที่เป็นโพรงจมูกอักเสบจากภูมิแพ้หรือแพ้อากาศ มีภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อย คือ ไซนัสอักเสบ, หูชั้นกลางอักเสบ, นอนกรนซึ่งรบกวนการนอนหลับ บางครั้งหยุดหายใจขณะนอนหลับได้ (โรคนอนหลับแล้วหยุดหายใจ)
เมื่อเป็นโรคภูมิแพ้ควรดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
สิ่งสำคัญในการดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคภูมิแพ้ คือ
- หลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้, การใช้ยาตามแพทย์แนะนำสม่ำเสมอ
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- และออกกำลังกายตามแพทย์แนะนำสม่ำเสมอ
*ผู้ป่วยควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล หรือพบแพทย์ก่อนนัด (กรณีได้พบแพทย์แล้ว): เมื่อ
- อาการเกิดบ่อย และ/หรือกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
- มีอาการมากขึ้น
- ใช้ยาไม่ได้ผล, ซึ่งควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเพื่อหาสาเหตุ ว่ามีอะไรแทรกซ้อนหรือไม่ และเพื่อแพทย์พิจารณาปรับการรักษา
ป้องกันไม่ให้เกิดโรคภูมิแพ้ได้ไหม?
โรคนี้เกิดจากพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม ดังนั้นการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีสารก่อภูมิแพ้น้อยก็ ป้องกันการเกิดโรคในกลุ่มเสี่ยง (ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคภูมิแพ้) ได้, นอกจากนี้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สามารถป้องกันการเกิดการแพ้อาหารได้
บรรณานุกรม
- รศ.นพ. ปารยะ อาศนะเสน. สมาคมโรคภูมิแพ้ โรคหืด และวิทยาภูมิคุ้มกันแห่งประเทศไทย. https://allergy.or.th/2016/resources_expert_detail.php?id=91 [2022,Sept10]