เริม (Herpes simplex)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 9 กุมภาพันธ์ 2562
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ
- โรคเริมเกิดได้อย่างไร ? ติดต่อไหม? ติดต่ออย่างไร?
- ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดเริม?
- โรคเริมมีอาการอย่างไร?
- แพทย์วินิจฉัยโรคเริมได้อย่างไร?
- รักษาโรคเริมได้อย่างไร?
- โรคเริมรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงไหม?
- เมื่อเป็นโรคเริมดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
- ป้องกันโรคเริมได้อย่างไร? มีวัคซีนไหม?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- เชื้อไวรัส โรคติดเชื้อไวรัส (Viral infection)
- เชื้อไวรัส
- โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กามโรค (STD: Sexually transmitted disease)
- เริมที่อวัยวะเพศ (Genital herpes)
- โรคผิวหนัง (Skin disorder)
- งูสวัด (Herpes zoster)
- อีสุกอีใส (Chickenpox)
- ถุงยางอนามัยชาย (Male Condom)
- ยาต้านไวรัส (Antiviral drugs)
- อะไซโคลเวียร์ (Aciclovir)
บทนำ
เริม หรือ โรคเริม (Herpes simplex) เป็นโรคทางผิวหนังที่พบบ่อยอีกโรคหนึ่ง พบได้ในทุกอายุ แต่พบได้บ่อยกว่าในวัยหนุ่มสาวและในวัยผู้ใหญ่ โอกาสเกิดโรคใกล้ เคียงกันทั้งในผู้หญิงและในผู้ชาย และจัดเป็นโรคติดต่อ
โรคเริมเกิดได้อย่างไร ? ติดต่อไหม? ติดต่ออย่างไร?
โรคเริมเกิดจากการติดเชื้อไวรัส ชื่อ เฮอร์ปี ซิมเพล็กไวรัส หรือ เรียกย่อว่า เอชเอสวี (Herpes simplex virus, HSV) ซึ่งเป็นไวรัสต่างชนิดกับโรคงูสวัดและโรคอีสุกอี ใส ถึงแม้จะก่อให้เกิดตุ่มน้ำกับผิวหนังได้คล้ายๆกัน
ไวรัส เอชเอสวี มี 2 ชนิด คือ ชนิด 1 (HSV-1) และชนิด 2 (HSV-2) โดย
- เอช เอสวี-1 มักเป็นสาเหตุติดเชื้อในช่องปากและริมฝีปาก เรียกได้อีกชื่อว่า Cold sore เป็นโรคพบบ่อย ประมาณ 40-80%ของประชากรทั่วโลก โดยเฉพาะในคนที่มีสุขอนามัยพื้นฐานไม่ดี
- ส่วนเอชเอสวี-2 มักเป็นสาเหตุติดเชื้อในอวัยวะเพศภายนอกและในช่องคลอด (แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง เริมที่อวัยวะเพศ) เป็นโรคพบบ่อยเช่นกัน แต่พบน้อยกว่าการติดเชื้อ เอชเอสวี 1 มาก โดยพบได้ประมาณ 16%ของประชากรทั่วโลก
แต่เริมทั้งสองชนิด อาจเป็นสาเหตุติดเชื้อกับเนื้อเยื่อส่วนไหนของร่างกายก็ได้เมื่อร่างกายมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ เช่น ตา เยื่อหุ้มสมอง และสมอง
โรคเริม ติดเชื้อ/ติดต่อได้โดยการสัมผัสโดยตรงกับตุ่มแผลที่เป็นโรค จากน้ำ จากตุ่มพอง จากน้ำลาย จากสารคัดหลั่ง จากเมื่อใช้ของใช้ร่วมกัน การจูบ การกิน จากมือติดโรคป้ายตาจึงเกิดโรคที่ตา และเมื่อเกิดกับอวัยวะเพศ จะก่อให้เกิดการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์/โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (บ่อยครั้งคนที่เกิดโรคมีอาการน้อยมาก จึงไม่รู้ว่าเป็นโรค) และติดต่อจากแม่สู่ลูกได้ขณะคลอด ถ้าขณะคลอดมารดาติดเชื้อนี้ที่อวัยวะเพศ
เมื่อติดเชื้อเริมมักไม่มีอาการอะไร แต่เชื้อจะอยู่ในตัวตลอดชีวิต ในปมประสาท รอจนเมื่อร่างกายอ่อนแอลงจึงแสดงอาการ
โรคเริมเป็นแล้วเป็นอีกได้เรื่อยๆ บางครั้งอาจเกิดถึงปีละ 3 ครั้ง แต่จะค่อยๆห่างไปเมื่อสูงอายุขึ้น
โรคเริมในช่องปากหรือที่ริมฝีปากมักเกิดอาการตามหลังช่วงที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ เช่น
- อาการเครียด
- พักผ่อนน้อย
- อ่อนเพลีย
- ถูกแสงแดดจัด
- หลังผ่าตัด หรือ
- ช่วงมีประจำเดือน
ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดเริม?
ผู้มีปัจจัยเสี่ยงเกิดเริม ได้แก่
ก. ปัจจัยเสี่ยงเกิดเริมชนิด HSV-1 หรือ Cold sore (ไม่ใช่เริมที่อวัยวะ หรือเริมชนิดเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์) ได้แก่
- ใช้ ช้อน ซ่อม แก้วน้ำ จาน ชาม ร่วมกัน
- ใช้เครื่องสำอางร่วมกัน เช่น ลิปสติก ลิปบาล์ม ที่เขียนขอบตา
- ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกัน เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว
- การจูบด้วยปาก
- มีรายงานติดเชื้อHSV-1ที่อวัยวะเพศได้กรณีมีเพศสัมพันธ์ทางปากโดยไม่ใช้ถุงยางอนามัยชาย
ข. ปัจจัยเสี่ยงเกิดเริมชนิดHSV2(เริมเกิดที่อวัยวะเพศ) ได้แก่
- มีคูนอนหลายคน
- มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย
- มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ
- ติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดอื่น
โรคเริมมีอาการอย่างไร?
อาการสำคัญของโรคเริม คือ
- การเกิดตุ่มพองเล็กๆเจ็บ ต่อมาเกิดเป็นตุ่มน้ำอย่างรวดเร็วภายใน 1 - 2 วัน ในตุ่มมีน้ำใสๆ ตุ่มมักเกิดเป็นกลุ่มๆ ลักษณะตุ่มคล้ายของโรคงูสวัดและตุ่มโรคอีสุกอีใส แต่เกิดในตำแหน่งและมีการแพร่กระจายของตุ่มผิดกัน อาการเป็นอยู่ประมาณ 1 - 2 สัปดาห์และหายเองได้
- ก่อนหน้าเกิดตุ่มพอง อาจอ่อนเพลียแต่ไม่มีอาการอื่น จึงมักไม่รู้ตัวว่า ติดโรค หรือ
- บางคนอาจมีอาการคล้ายไข้หวัดนำก่อน 1 - 3 วัน เช่น ไข้สูง หรือ ไข้ต่ำ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยเนื้อตัว และ
- เมื่อเกิดในช่องปาก อาจกินอาหารแล้วเจ็บทำให้กินได้น้อย ผอมลง
ทั้งนี้ โรคเริมหายได้เองภายใน 1 - 2 สัปดาห์ แต่เมื่อรักษาด้วยยาต้านไวรัสมักช่วยให้โรคหายเร็วขึ้น อย่างไรก็ตามหลังหายแล้ว มักไม่เกิดเป็นแผลเป็น
แพทย์วินิจฉัยโรคเริมได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยโรคเริมได้จาก
- การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น ประวัติอาการ ประวัติการสัมผัสโรค
- การตรวจร่างกาย
- การตรวจดูจากลักษณะตุ่มน้ำ
- แต่ในบางคนซึ่งอาการตุ่มน้ำไม่ชัดเจน แพทย์ใช้วิธีตรวจเลือดดูภูมิต้านทานโรคนี้
รักษาโรคเริมได้อย่างไร?
แพทย์รักษาโรคเริมได้ด้วย
- การให้กินยาและ/หรือป้ายยาต้านไวรัส เช่นยา Aciclovir/ Acyclovir และ
- การรักษาประคับประคองตามอาการ เช่น ยาแก้ปวด
โรคเริมรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงไหม?
โดยทั่วไป โรคเริมไม่รุนแรง/มีการพยากรณ์โรคที่ดี มักหายได้เองภายใน 1 - 2 สัปดาห์
- แต่เมื่อรักษาความสะอาดไม่ดี ตุ่มพองอาจเป็นหนองจากติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำ
- และเมื่อติดเชื้อในตาจะส่งผลถึงการมองเห็นได้ หรือ
- บางครั้งในคนมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ โรคอาจลุกลามรุนแรงเป็นการติดเชื้อของเยื่อหุ้มสมอง และของสมอง (โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบหรือโรคสมองอักเสบ อาการสำคัญคือ มีไข้สูง ปวดศีรษะมาก แขน/ขาอ่อนแรง อาจชักและโคม่า)
เมื่อเป็นโรคเริมดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
การดูแลตนเองเมื่อเกิดโรคเริมและการพบแพทย์ ได้แก่
- การพักผ่อน
- รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) ป้องกันการติดเชื้อในเนื้อ เยื่อ/อวัยวะอื่นๆและสู่ผู้อื่น
- แยกของใช้ เครื่องใช้ ส่วนตัว รวมทั้งแก้วน้ำและช้อน และเครื่องสำอาง
- ดื่มน้ำสะอาดมากๆอย่างน้อย 6 - 8 แก้วต่อวันเมื่อไม่มีโรคต้องจำกัดน้ำดื่ม เช่น โรคหัวใจล้มเหลว
- รักษาความสะอาดบริเวณตุ่มพอง และเครื่องใช้ต่างๆ รวมทั้งไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกันเพื่อป้องกันการติดเชื้อ
- ตัดเล็บให้สั้น ป้องกันการเกา และตุ่มน้ำติดเชื้อจากการเกา
- เมื่อเกิดโรคบริเวณอวัยวะเพศ ควรสวมใส่เสื้อผ้า กางเกงใน ที่หลวมสบาย และหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ช่วงนั้น
- กินยาบรรเทาปวด/ยาแก้ปวด พาราเซตามอล และยาบรรเทาอาการคัน/ยาแก้คัน โดยปรึกษาเภสัชกรก่อนซื้อยากินเองเสมอเพื่อความปลอดภัยในการใช้ยา
- รีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเมื่อ
- ตุ่มพองลุกลามมาก
- ไข้สูง ไข้ไม่ลงภายใน 1 - 3 วัน (ขึ้นกับความรุนแรงของอาการ)
- เริ่มมีอาการทางตา เช่น เริ่มเจ็บตา เคืองตา น้ำตาไหล
- ตุ่มน้ำเป็นหนอง เพราะต้องรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ ซึ่งควรให้ยาโดยแพทย์
- เมื่อกังวลในอาการ
- รีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลฉุกเฉินเมื่อ
- มีไข้สูง
- ปวดศีรษะรุนแรง
- แขน/ขาอ่อนแรง
- ชัก และ/หรือ
- โคม่า
ป้องกันโรคเริมได้อย่างไร? มีวัคซีนไหม?
ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคเริม แต่กำลังมีการศึกษาคิดค้นอย่างต่อเนื่องเพราะเป็นโรคพบบ่อย
ดังนั้น ปัจจุบันวิธีป้องกันโรคเริมที่ดีที่สุด คือ
- รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
- กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบทั้งห้าหมู่ในทุกๆวัน
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- รักษาอารมณ์/จิตใจไม่ให้เครียด
- ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัว รวมถึงเครื่องสำอาง ร่วมกับผู้อื่น
- ไม่ใช้ ช้อน ซ่อม แก้วน้ำ ร่วมกับคนอื่น
- ให้ฝ่ายชายสวมถุงยางอนามัยชายในการมีเพศสัมพันธ์เสมอ
บรรณานุกรม
- Braunwald, E., Fauci, A., Kasper, L., Hauser, S., Longo, D., and Jameson, J. (2001). Harrison’s principles of internal medicine (15th ed.). New York: McGraw-Hill.
- https://en.wikipedia.org/wiki/Herpes_simplex [2019,Feb9]
- https://www.healthline.com/health/herpes-simplex#riskfactors [2019,Feb9]