เด็กไม่อยากไปโรงเรียน (School refusal)
- โดย ศาสตราจารย์ แพทย์หญิง อรุณี เจตศรีสุภาพ
- 22 พฤษภาคม 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: เรื่องทั่วไปและอัตราเกิด
- ทำไมเด็กไม่อยากไปโรงเรียน?
- อะไรเป็นสาเหตุให้เด็กไม่อยากไปโรงเรียน?
- เด็กไม่อยากไปโรงเรียนมักแสดงอาการอย่างไร?
- ปัญหาระยะยาวในเด็กที่มีปัญหาไม่อยากไปโรงเรียนมีอะไรบ้าง?
- ดูแลรักษาเด็กไม่อยากไปโรงเรียนอย่างไร?
- ควรไปพบแพทย์เมื่อไร?
- เด็กไม่อยากไปโรงเรียนสามารถแก้ไขได้สำเร็จหรือไม่?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- เด็ก: โรคเด็ก (Childhood: Childhood diseases)
- เด็ก หรือ นิยามคำว่าเด็ก (Child)
- โรคซึมเศร้า (Major Depressive Disorder หรือ MDD)
- โรควิตกกังวล (Anxiety Disorder)
- ยาเสพติด (Narcotic drug)
บทนำ: เรื่องทั่วไปและอัตราเกิด
แม้โรงเรียนจะเป็นที่ที่เด็ก(นิยามคำว่าเด็ก)ส่วนใหญ่ไปแล้วมีความสุข สนุกสนาน แต่ประมาณ 1- 2% ของเด็กจะมีปัญหาไม่อยากไปโรงเรียน พบว่าปัญหาเด็กไม่อยากไปโรงเรียนได้ซ่อนเร้นความผิดปกติไว้ (อาจมีหลายภาวะในเด็กแต่ละคน) คือ 40-50% ของเด็กกลุ่มนี้ มีภาวะความวิตกกังวลร่วมด้วย ประมาณ 50% มีภาวะซึมเศร้า และประมาณ 50% มีพฤติกรรมต่อต้าน
ปัญหาเด็กไม่อยากไปโรงเรียนเป็นปัญหาของครอบครัวด้วย หากพ่อแม่ไม่เข้าใจปัญหานี้ ยอมให้เด็กขาดโรงเรียนอยู่นาน อาจทำให้เกิดผลเสียในระยะยาวต่อเด็ก รวมถึงอนาคตทางการศึกษาของเด็กอาจล้มเหลวได้
ทำไมเด็กไม่อยากไปโรงเรียน?
เด็กที่มีปัญหาไม่อยากไปโรงเรียน เกิดจากความวิตกกังวลว่าจะต้องถูกพรากจากพ่อแม่ (Separation anxiety) หรือเด็กบางคนอาจมีความกลัวอะไรบางอย่างร่วมด้วย เช่น กลัวการขึ้นรถ กลัวที่จะเดินผ่านสุนัขตามทาง หรือเด็กอาจมีปัญหาอื่นๆที่โรงเรียน เช่น อ่านหนังสือไม่ออก เรียนไม่ทันเพื่อน คุณครูดุ
ทั้งนี้ ในเด็กเล็ก มักเกิดจากกลัวถูกพรากจากพ่อแม่ แต่ในเด็กโต มักกลัวการเข้าสังคม(Social phobia)
อะไรเป็นสาเหตุให้เด็กไม่อยากไปโรงเรียน?
สาเหตุที่เด็กไม่อยากไปโรงเรียน ที่พบบ่อย คือ
- พ่อแม่ป่วย ซึ่งเด็กมักจะเกิดอาการไม่อยากไปโรงเรียนหลังจากนั้น
- พ่อแม่แยกทางกัน พ่อแม่มีปัญหากัน หรือพ่อแม่ทะเลาะกันบ่อย
- เมื่อมีการเสียชีวิตของบุคคลในครอบครัวของเพื่อนๆ
- มีการย้ายบ้านในเด็กเล็กๆ
- มีการอิจฉาเมื่อมีน้องคนใหม่ในบ้าน
ปัญหาอื่นๆที่อาจพบได้ ได้แก่ เด็กรู้สึกสูญเสีย (โดยเฉพาะเมื่อเปลี่ยนโรงเรียนใหม่) ไม่มีเพื่อน ถูกเด็กอื่นแกล้ง หรือเข้ากับครูและเพื่อนๆ ชั้นเรียนไม่ได้
ในเด็กอายุน้อยกว่า 8 ปี ไม่อยากไปโรงเรียนเพราะกลัวว่าจะเกิดอันตรายกับพ่อแม่
เด็กอายุ 9-12 ปี จะเครียดมากเมื่อจากพ่อแม่
เด็กอายุ 13-16 ปี อาจมีโรคทางกายจึงไม่อยากไปโรงเรียน
เด็กไม่อยากไปโรงเรียนมักแสดงอาการอย่างไร?
การไม่อยากไปโรงเรียนจะเกิดในเด็กช่วงอายุใดก็ได้ แต่ส่วนใหญ่จะเกิดเมื่ออายุ 5-7 ปี และ 11-14 ปี ซึ่งเป็นช่วงเริ่มเข้าเรียนหรือเปลี่ยนโรงเรียน เด็กจะมีอาการทางร่างกาย เช่น บ่นปวดหัว ปวดท้อง หรือ อาการไม่สบายอื่นๆ ซึ่งเป็นการอยากที่จะบอกว่าอาการดังกล่าวเป็นอาการจากความวิตกกังวล หรือเกิดจากความไม่สบายจริงๆของเด็ก ที่น่าสังเกต คือ เด็กกลุ่มนี้มักมีอาการในตอนเช้าเวลาจะต้องไปโรงเรียน แต่อาการจะหายไปในช่วงวันหยุด ในเด็กโต และกลุ่มวัยรุ่นมักจะไปไม่ทันรถทุกวัน ซึ่งในเด็กโตต้องแยกจากกลุ่มที่เป็นเด็กเกเรอยากหนีโรงเรียน เด็กกลุ่มหลังจะออกจากบ้านไปโรงเรียนและหายไปจากโรงเรียน
อาการของเด็กที่กลัวการถูกพรากจากพ่อแม่ (Separation anxiety disorder) เช่น
1. กังวลมากเกินไปว่า จะสูญเสียพ่อแม่
2. กังวลมากเกินไปว่า พ่อแม่จะได้รับอันตราย
3. ไม่อยากอยู่คนเดียว
4. ไม่ยอมไปนอน หากไม่มีพ่อหรือแม่คนใดคนหนึ่ง หรือผู้ดูแลอยู่ด้วย
5. มีการบ่นถึงความเจ็บป่วยทางกายเสมอเมื่อต้องจากพ่อหรือแม่หรือผู้ดูแล
พฤติกรรมดังกล่าวต้องเกิดในเด็กอายุน้อยกว่า 18 ปี และมีอาการอยู่นาน 4 สัปดาห์ หรือนานกว่านั้น ทำให้เกิดปัญหาในการเรียน และการเข้าสังคมหรือปัญหาเกี่ยวกับการทำกิจกรรมใด จึงจะเรียกว่าผิดปกติ
Separation anxiety เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาของเด็กปกติ เด็กจะเริ่มมี Separation anxiety เมื่ออายุประมาณ 10 เดือน และค่อยๆหายไปเมื่ออายุประมาณ 18 เดือน เด็กอายุ 3 ขวบส่วนใหญ่จะอยู่คนเดียวโดยไม่มีพ่อแม่หรือผู้ดูแลได้ในเวลาสั้นๆ
อาการของเด็กที่กลัวการเข้าสังคม (Social phobia) เช่น
- กลัว กังวลที่จะพบคนแปลกหน้า
- กังวลเมื่อจะต้องไปยังสถานที่ต่างๆ หรือต้องพบผู้คน
- ไม่กล้าแสดงออก กลัวคนมอง กลัวคนติติง เกินเหตุ
- เมื่อมีเหตุการณ์ มักปวดท้อง คลื่นไส้
- วิตกกังวลเกินเหตุ เครียด เมื่อต้องมีกิจกรรมต่างๆ
- มือสัน ใจสั่น เหงื่อออกมาก เมื่อมีกิจกรรมต่างๆ
ปัญหาระยะยาวในเด็กที่มีปัญหาไม่อยากไปโรงเรียนมีอะไรบ้าง?
ปัญหาระยะยาวในเด็กกลุ่มนี้ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเด็กที่มีความวิตกกังวล โดยเมื่อติดตามไปในระยะยาวจนเป็นหนุ่มสาว หรือผู้ใหญ่ อาจมีปัญหา เช่น
- ภาวะซึมเศร้า: เด็กที่มีปัญหาการเข้าสังคมจะมีปัญหาซึมเศร้ามากกว่าผู้ที่ไม่มีปัญหาการเข้าสังคมประมาณ 3 เท่า
- ต้องมีการรักษาทางจิตเวช ผู้ที่มีปัญหาไม่อยากไปโรงเรียนในวัยเด็กเมื่อติดตามไปประมาณ 20-29 ปี หลังจากนั้น พบว่ามีปัญหาทางจิตเวชมากกว่าคนทั่วไป
- การใช้สาร/ยาเสพติด: เด็กที่มีความวิตกกังวล ในระยาวจะมีการใช้สารเสพติด แอลกอฮอล์ กัญชา มากกว่าเด็ก/ผู้ที่ได้รับการรักษาเรื่องความวิตกกังวลจนดีแล้ว
- การเรียนและอาชีพ: ผู้ที่มีปัญหาทางจิตใจเมื่ออายุน้อย/วัยเด็ก มักจะมีปัญหาความเครียดติดตัวไปตลอด มักจะเลือกเรียนในวิชาที่ไม่ยาก และเลือกอาชีพที่ไม่ต้องแข่งขันกับใครมาก ทำให้นักเรียนเกือบครึ่ง (ประมาณ46%) ในสหรัฐอเมริกา ไม่สามารถเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายได้
ดูแลรักษาเด็กไม่อยากไปโรงเรียนอย่างไร?
การดูแลรักษาเด็กที่ไม่อยากไปโรงเรียนที่สำคัญคือ ต้องให้เด็กกลับไปโรงเรียนโดยเร็วที่สุด เพราะการให้เด็กหยุดไปโรงเรียนนานเท่าใด จะยิ่งมีปัญหาในการให้กลับไปโรงเรียนมากยิ่งขึ้น การไปโรงเรียนสม่ำเสมอจะทำให้เด็กค่อยๆลดความกลัวลง และเลิกกลัวการไปโรงเรียนได้ในที่สุด
ก. ด้านโรงเรียน/คุณครู: อาจมีเทคนิคให้เด็กเรียนในสิ่งที่ชอบเสียก่อน โดยให้พ่อแม่ผู้ปกครองรออยู่ด้านนอก และเมื่อครบระยะเวลาหนึ่ง เช่น 10 วัน ก็เพิ่มวิชาหรือสิ่งที่ชอบอย่างที่สองเข้าไป เช่นวิชาแรกเป็นพละ วิชาที่สองเป็นศิลปะ แล้วค่อยๆ เพิ่มวิชาทุกหนึ่งถึงสองสัปดาห์ จนเด็กสามารถเรียนได้เต็มเวลา
การแก้ไขโดยวิธีค่อยๆ ให้เด็กเรียน สิ่งที่ชอบแล้วค่อยๆเพิ่มความหลากหลายของวิชาขึ้น จะได้ผลประมาณ 50-70% ของเด็กที่มีปัญหาไม่อยากไปโรงเรียน ซึ่งเด็กมักจะดีขึ้นชัดเจน และอาการทางร่างกายต่างๆก็จะค่อยๆลดลงและหายไปได้ในที่สุด
คุณครูควรเข้าใจปัญหานี้ เข้าใจอาการของเด็ก ไม่ดุว่าทำให้เด็กอาย ที่สำคัญไม่ส่งเด็กกลับบ้านแม้ว่าเด็กจะมีอาการทางกายต่างๆ แต่ควรพูดคุยปรึกษากับพ่อ-แม่/ผู้ปกครองเด็ก เพื่อช่วยกันดูแลและปรับพฤติกรรมเด็ก
คุณครู ควรสังเกต พูดคุย สอบถาม เพื่อหาสาเหตุว่าเกิดจากทางโรงเรียนหรือไม่ เช่น เด็กถูกรังแก ถูกล้อเรียน หรือเรียนไม่ทันเพื่อน เป็นต้น เพื่อหาทางช่วยเหลือเด็ก
ถ้าเด็กมีปัญหาในการเข้าสังคมที่โรงเรียน คุณครูควรต้องคอยช่วยเหลือ หาวิธีการที่จะทำให้เด็กเข้ากับเพื่อนๆให้ได้
ข. ด้านพ่อแม่/ผู้ปกครอง: ควรเข้าใจว่าการที่เด็กไม่อยากไปโรงเรียน เกิดจากความวิตกกังวลของเด็กโดยที่เด็กไม่ได้แกล้งทำหรือเกเร ทั้งนี้ควรให้แพทย์ตรวจร่างกายว่า เด็กไม่ได้มีปัญหาทางกายก่อน เนื่องจากอาการบางอย่างแสดงออกเช่นเดียวกับปัญหาทางกาย
การนำเด็กกลับสู่โรงเรียนควรทำด้วยความจริงจังแต่ด้วยท่าทีที่นุ่มนวล โดยจะต้องนำเด็กไปโรงเรียนให้ได้แม้เด็กจะขัดขืน หรือต่อต้าน หากเด็กดิ้นหรือแสดงอาการก้าวร้าวให้กอดเด็กไว้และพาไปโรงเรียนเมื่ออาการสงบ ไม่ดุด่าหรือลงโทษ
พ่อ แม่ ผู้ปกครอง ต้องพูดคุยสอบถามเด็กและหาวิธีที่จำทำให้เด็กคลายความกังวลว่า จะไม่ถูกทิ้ง ปลอดภัย และทางบ้านจะไม่เกิดปัญหาอะไรเมื่อเด็กไปโรงเรียน
ต้องพูดคุย ปรึกษาคุณครู ให้ทราบปัญหาของเด็กที่โรงเรียน และแสดงให้เด็กเห็นว่า คุ้นเคยกับคุณครู เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการอยู่โรงเรียนให้กับเด็ก
นอกจากนี้ พ่อ-แม่ ผู้ปกครองควรทบทวนว่า ตนเองมีส่วนในการทำให้เด็กไม่อยากไปโรงเรียนหรือไม่ เพื่อสามารถแก้ปัญหาได้อย่างถูกต้อง
ควรไปพบแพทย์เมื่อไร?
ควรนำเด็กพบแพทย์เมื่อ
1.เมื่อเด็กมีอาการแสดงทางกายต่อเนื่อง เพื่อได้รับการตรวจร่างกายโดยละเอียดว่า เด็กไม่ได้มีโรคทางกายก่อนจะสรุปว่า เป็นอาการจากเด็กไม่อยากไปโรงเรียน
2.ในกรณีที่ไม่สามารถนำเด็กกลับไปโรงเรียนได้ เนื่องจากเด็กมีความวิตกกังวลมีความเครียด มีอาการซึมเศร้ามาก ควรต้องปรึกษาจิตแพทย์เด็ก ซึ่งอาจต้องให้ยาคลายความเครียดหรือยาความวิตกกังวล ในกรณีที่มีอาการมาก จิตแพทย์อาจมีวิธีรักษาด้วยการทำพฤติกรรมบำบัด (Cognitive-behavioral therapy หรือย่อว่า CBT) ร่วมด้วย
เด็กไม่อยากไปโรงเรียนสามารถแก้ไขได้สำเร็จหรือไม่?
การไม่อยากไปโรงเรียน หากปล่อยทิ้งไว้นานโดยยอมให้เด็กหยุดโรงเรียนการแก้ปัญหาจะยากกว่าการรีบให้เด็กได้ไปโรงเรียน การดูแลรักษาเมื่อเป็นความร่วมมือระหว่างคุณครูกับพ่อแม่/ผู้ปกครอง มักได้ได้ผลดีเสมอ ซึ่งเมื่อติดตามไปหลัง 1 ปีพบว่าประมาณ 83% ของเด็กสามารถกลับไปเล่าเรียนได้ตามปกติ
บรรณานุกรม
- Rosenberg DR, Vandana P,Chiriboga JA. Chapter 23-Anxiety Disorders. Kliegman: Nelson Textbook of Pediatrics, 19th ed
- https://www.emedicinehealth.com/school_refusal/article_em.htm#school_refusal_quick_overview [2022,May21]
- http://www.handsonscotland.co.uk/school-refusal/ [2022,May21]
- http://www.childanxiety.net/Social_Phobia.htm [2022,May21]