อะมอกซิซิลลิน (Amoxicillin)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 26 กันยายน 2554
- Tweet
- บทนำ
- ยาอะมอกซิซิลลินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ยาอะมอกซิซิลลินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาอะมอกซิซิลลินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาอะมอกซิซิลลินมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยาอะมอกซิซิลลินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาอะมอกซิซิลลินอย่างไร?
- ยาอะมอกซิซิลลินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาอะมอกซิซิลลินอย่างไร?
- ยาอะมอกซิซิลลินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics)
- แบคทีเรีย: โรคจากแบคทีเรีย (Bacterial infection)
- เชื้อไวรัส โรคติดเชื้อไวรัส (Viral infection)
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ (Infectious disease)
บทนำ
ยาอะมอกซิซิลลิน (Amoxicillin) จัดอยู่ในยาปฏิชีวนะกลุ่มเพนิซิลลิน (Penicillins) ถือเป็นยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่ใช้แพร่หลาย มักเกิดความเข้าใจผิดมากพอสมควร เพราะหลายครั้งผู้ป่วยที่เป็นไข้หวัด/โรคหวัด จะเรียกหาอะมอกซิซิลลินกินแก้เจ็บคอ แต่ไข้หวัดเกิดจากเชื้อไวรัส อะมอกซิซิลลินฆ่าไวรัสไม่ได้ ฆ่าได้แต่แบคทีเรีย ดังนั้นเป็นไข้หวัดยังไม่ต้องใช้อะมอกซิซิลลิน
ยาอะโมซิซิลลินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาอะมอกซิซิลลินมีสรรพคุณรักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรียได้หลายโรค เช่น การติดเชื้อในช่องปาก คอ ปอด (ปอดอักเสบ/ปอดบวม) หูชั้นกลาง (หูติดเชื้อ/หูน้ำหนวก) หลอดลม (หลอดลมอักเสบ) และ ระบบทางเดินอาหาร (ลำไส้อักเสบ)
ยาอะมอกซิซิลลินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาอะมอกซิซิลลินคือ ยาไปทำลายผนังเซลของเชื้อโรคทำให้เชื้อโรคตาย ทั้งนี้เส้นทางที่นำยาไปฆ่าเชื้อโรคได้คือ เลือดในร่างกายของเรานั่นเอง โดยระดับยาในเลือดที่มีความเข้มข้นถึงจุดที่ฆ่าเชื้อโรคได้ จะยับยั้งการแพร่พันธุ์ของเชื้อโรคในร่างกาย ซึ่งต้องได้รับยาที่ถูกขนาดและต่อเนื่องเป็นระยะเวลาที่เพียงพอการรักษาจึงได้ผลดี
ยาอะมอกซิซิลลินสามารถรับประทานก่อนอาหารหรือหลังอาหารก็ได้ ถือเป็นข้อดีและความสะดวกในการใช้ยาตัวนี้
ยาอะมอกซิซิลลินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
รูปแบบการจัดจำหน่ายของยาอะมอกซิซิลลินคือ
- แคปซูล ขนาด 250 และ 500 มิลลิกรัม
- ชนิดเม็ด ขนาด 500 และ 875 มิลลิกรัม
- ชนิดผงละลายน้ำ 125, 200, 250 และ 400 มิลลิกรัม
- ยาฉีด ขนาด 250, 500 และ 1,000 มิลลิกรัม
- ยาเม็ดที่ผสมกับยาอื่นเช่น ยาในท้องตลาดที่มีชื่อการค้าเช่น ออกเมนติน (Augmentin), อะมอกซิคราฟ (Amoksiklav)
ยาอะมอกซิซิลลินมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ด้วยยาอะมอกซิซิลลินนี้ใช้รักษาโรคต่างๆหลายโรคอาทิเช่น โรคโกโนเรีย (แบบที่ไม่รุนแรงมาก) โรคเหงือกบวม โรคติดเชื้อเอช ไพโลริ หรืออาจออกเสียงว่า เอช ไพโลไร (H. pylori) ของกระเพาะอาหาร และใช้ป้องกันการติดเชื้อจากการรักษาฟันเช่น หลังถอนฟัน ซึ่งในแต่ละกลุ่มของโรค มีวิธีกินยาและขนาดการใช้ยาที่แตกต่างกันไป ทั้งนี้ขึ้นกับชนิดของเชื้อโรคและความรุนแรง ดังนั้นจึงควรให้แพทย์เป็นผู้วินิจฉัยสั่งจ่ายยาที่เหมาะสม ไม่ควรซื้อรับประทานเอง
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมทั้งยาอะมอกซิซิลลิน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดและอาการจากการแพ้ยาเช่น กินยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาอะมอกซิซิลลินอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อนแล้ว
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือไม่ หรือกำลังให้นมบุตรหรือไม่ เพราะมียาหลายตัวสามารถผ่านรกหรือผ่านเข้าสู่น้ำนมและเข้าสู่ทารก ก่อผลข้างเคียงต่อทารกได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาอะมอกซิซิลลินสามารถรับประทานยาเมื่อนึกขึ้นได้ หากการลืมทานยาใกล้กับมื้อถัดไป ให้รับประทานขนาดปกติโดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า
ยาอะมอกซิซิลลินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ผลอันไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง) ของยาอะมอกซิซิลลินคือ อาจทำให้เกิดผื่นคัน ลมพิษ หรือมีอาการหอบหืด หากพบอาการหายใจมีเสียงหวีด (อาการของหอบหืด) หลังใช้ยา ควรต้องหยุดใช้ยาทันทีและรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล
มีข้อควรระวังการใช้ยาอะมอกซิซิลลินอย่างไร?
ระวังการใช้ยาอะมอกซิซิลลินกับผู้ที่แพ้ยา (การแพ้ยา) กลุ่มเพนิซิลลิน ผู้ป่วยหอบหืด ผู้ ป่วยโรคตับโรคไต และหญิงมีครรภ์ หญิงที่ให้นมบุตร ซึ่งผู้ป่วยในกลุ่มเหล่านี้ไม่ควรซื้อยารับประ ทานเอง ควรต้องได้รับคำแนะนำและให้แพทย์เป็นผู้สั่งจ่ายยาเท่านั้น นอกจากนั้นคือห้ามใช้ยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมถึงยาอะมอกซิซิลลินด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ยาอะมอกซิซิลลินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ปฏิกิริยาระหว่างยาอะมอกซิซิลลินกับยาตัวอื่นที่พบบ่อยคือ
- การกินร่วมกับยารักษาโรคเก๊าท์อาจก่อให้เกิดผื่นคันตามร่างกายและอาจลุกลามถึงขั้นรุนแรง ซึ่งยารักษาโรคเก๊าท์เช่น ยาอัลโลพูรินอล (Allopurinol)
- การกินร่วมกับยาเม็ดคุมกำเนิดจะลดประสิทธิภาพของการคุมกำเนิดจึงอาจตั้งครรภ์ได้ ซึ่งยาเม็ดคุมกำเนิดเช่น ยาไดเนสตรอล (Dienestrol) ยาไดอีธิลสติลเบสทรอล (Diethylstilboestrol) และยาสติลเบสทรอล (Stilboestrol)
ควรเก็บรักษายาอะมอกซิซิลลินอย่างไร?
การเก็บรักษายาอะมอกซิซิลลินในทุกรูปแบบบรรจุ ให้เก็บในที่แห้ง ระวังความชื้น เก็บในที่ที่พ้นแสงแดด อุณหภูมิไม่ควรเกิน 25 องศาเซลเซียส (Celsius) ยาผงสำหรับเด็กที่ละลายน้ำแล้วจะต้องเก็บในตู้เย็นเพื่อชะลอความเสื่อมของยา แต่ห้ามเก็บในช่องแช่แข็ง ต้องเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ
ยาอะมอกซิซิลลินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ชื่ออื่นๆทางการค้าของยาอะมอกซิซิลลิน และบริษัทผู้ผลิตในประเทศไทยเช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Amacin (อะมาซิน) | Asian Pharm |
AMK (เอเอ็มเค) | R.X. |
Amoksiklav (อะมอกซิคลาฟ) | Lek |
Amoksiklav GPO | GPO |
Amox Sus - 250 (อะบอก ซุส) | Utopian |
Amoxi T.O (อะมอกซิ) | T.O. Chemicals |
Amoxil (อะมอกซิล) | Glaxo SmithKline |
Amoxin (อะมอกซิน) | Inpac Pharma |
Amoxlin (อะมอกลิน) | Utopian |
Amoxy (อะมอกซี) | Osoth Interlab |
Amoxy MH | M & H Manufacturing |
Amoxycillin TP Drug (อะมอกซีซิลลิน) | T.P. Drug |
Amoxycillin Utopian | Utopian |
Asiamox (อะไซอะมอก) | Asian Pharm |
Augclav (ออกคลาฟ) | Pharmahof |
Augmentin (ออกเมนติน) | Glaxo Smith Kline |
Bomox 500 (โบมอก) | Millimed |
Camox (คามอก) | Utopian |
Cavumox (คาวูมอก) | Siam Bheasach |
Clanoxy (คาโนซี) | Galpha / Pharmaland |
Clavmoxy (คลาฟมอกซี) | Great Eastern |
Clavomid (คลาโวมิด) | Remedica |
Curam (คูแรม) | Sandoz |
GPO Mox | GPO |
Ibiamox (ไอบิอะมอก) | Siam Bheasach |
Manclamine (แมนคลามาย) | T Man Pharma |
Manmox (แมนมอก) | T Man Pharma |
Manmox supra | T Man Pharma |
Moxcin (มอกซิน) | General Drug House |
บรรณานุกรม
1. Antibiotics. http://www.mims.com/Thailand/drug/search/ [2014,Oct11]
2. Christopher Walsh . (2001). Antibiotics http://books.google.co.th/books [2014,Oct11]
3. Antibacterial http://en.wikipedia.org/wiki/Antibacterial [2014,Oct11]
Updated 2014, Oct 11