หูด (Warts)
- โดย แพทย์หญิง สลิล ศิริอุดมภาส
- 20 มิถุนายน 2563
- Tweet
- โรคหูดคืออะไร? มีสาเหตุจากอะไร? มีปัจจัยเสี่ยงไหม?
- โรคหูดติดต่อได้ไหม? ติดต่อได้อย่างไร?
- โรคหูดมีอาการอย่างไร?
- แพทย์วินิจฉัยโรคหูดได้อย่างไร?
- รักษาโรคหูดได้อย่างไร?
- โรคหูดก่อผลข้างเคียงอย่างไร? โรคหูดรุนแรงไหม?
- ดูแลตนเอง และป้องกันโรคโรคหูดได้อย่างไร?
- ควรพบแพทย์เมื่อไร?
- บรรณานุกรม
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ (Infectious disease)
- โรคผิวหนัง (Skin disorder)
- หูดหงอนไก่ หูดอวัยวะเพศ (Condyloma acuminata)
- หูดข้าวสุก (Molluscum contagiosum)
- เอชพีวี โรคติดเชื้อเอชพีวี (HPV infection)
- การติดเชื้อเอชพีวีอวัยวะเพศหญิง (Gential HPV in women)
- มะเร็งผิวหนัง (Skin cancer)
- มะเร็งอวัยวะเพศชาย (Penile cancer)
- มะเร็งอวัยวะเพศหญิง (Vulvar cancer)
โรคหูดคืออะไร? มีสาเหตุจากอะไร? มีปัจจัยเสี่ยงไหม?
หูด หรือเรียกทับศัพท์ภาษาอังกฤษว่า วอร์ท (Warts) คือ โรคติดเชื้อของผิวหนังและ เยื่อบุ (เยื่อเมือก/Mucosa เป็นเซลล์ในกลุ่มเดียวกับผิวหนัง แต่อยู่ภายในร่างกาย เช่น เซลล์เยื่อบุสายเสียง เป็นต้น) ที่เกิดจากเชื้อไวรัสชื่อ เอชพีวี (HPV หรือ Human papilloma virus) ซึ่งเชื้อไวรัสตัวนี้มีมากกว่า 100 ชนิดย่อย โดยแต่ละชนิดย่อยใช้ตัวเลขในการเรียกชื่อ เช่น เอชพีวี 1 (HPV1) เอชพีวี 2 (HPV2) และ เอชพีวี 11 (HPV11) เป็นต้น เชื้อหูดจะทำให้เกิดโรคบริเวณผิวหนังและเยื่อบุต่างๆโดยที่ไม่ลุกลามเข้าสู่กระแสเลือด ดังนั้นจึงไม่ใช่โรคมะเร็ง เชื้อ ไวรัสแต่ละชนิดย่อยก่อให้เกิดโรคที่แตกต่างกันไป ที่รู้จักกันดีคือ ชนิด เอชพีวี 16 และ เอชพีวี 18 ซึ่งทั้งสองชนิดทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูก
สำหรับในโรคหูด เชื้อแต่ละชนิดย่อยก็ทำให้เกิดหูดที่ตำแหน่งต่างๆ และมีหน้าตาหูดแตกต่างกันไป เช่น เอชพีวี 1 ก่อให้เกิดหูดที่ฝ่ามือและฝ่าเท้า และ เอชพีวี 6 ก่อให้เกิดหูดที่บริเวณอวัยวะเพศภายนอก
หูดบริเวณผิวหนังพบได้บ่อยที่สุดในเด็กและคนอายุน้อย อัตราการพบสูงสุดอยู่ที่ช่วงอายุ 12 - 16 ปี ผู้ชายและผู้หญิงมีโอกาสเกิดเท่ากัน คนผิวดำและคนเอเชียเป็นมากกว่าคนผิวขาวประมาณ 2 เท่า
กลุ่มมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อหูดเพิ่มขึ้นนอกจากเชื้อชาติ คือ บุคคลบางอาชีพ เช่น คนที่ต้องแล่เนื้อสัตว์, คนที่ผิวหนังมีความต้านทานต่อโรคต่ำ เช่น เป็นโรคภูมิแพ้ผิวหนัง
ส่วนหูดบริเวณอวัยวะเพศภายนอก (ซึ่งก็เป็นหูดที่ผิวหนัง แต่เป็นผิวหนังบริเวณอวัยวะเพศ) จะพบในวัยเจริญพันธุ์
โรคหูดติดต่อได้ไหม? ติดต่อได้อย่างไร?
หูดเป็นโรคติดต่อที่ติดต่อได้โดย
- หูดบริเวณผิวหนัง: ติดต่อจากการสัมผัสของผิวหนังโดยตรงกับหูด ซึ่งผิวหนังที่มีบาดแผลจะติดเชื้อหูดง่ายกว่าผิวหนังที่ปกติ
- หูดบริเวณอวัยวะเพศ: ติดต่อทางการมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งก็เกิดจากการสัมผัสกันนั่น เอง
ทั้งนี้เมื่อได้รับเชื้อไวรัสหูดแล้ว เชื้อจะเข้าสู่เซลล์ผิวหนังและเซลล์เยื่อบุ มีการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนเชื้อ แล้วก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของผิวหนังและเยื่อบุ จนเห็นเป็นก้อนเนื้อที่เราเรียกว่า ‘หูด’
โรคหูด มีระยะฟักตัวประมาณ 2 - 6 เดือน เนื่องจากเชื้อหูดจะแบ่งตัวเฉพาะที่ผิวหนังและเยื่อบุเท่านั้น ไม่ลุกลามเข้าสู่กระแสเลือด และไม่แพร่เชื้อเข้าสู่อวัยวะอื่นๆ เชื้อหูดจึงไม่ติด ต่อผ่านทางอื่นๆ เช่น ไอ จามรดกัน หรือ อย่างในกรณีที่มีหูดที่ใบหน้า การมีเพศสัมพันธ์ไม่ได้ทำให้ติดเชื้อหูด แล้วกลายเป็นหูดที่อวัยวะเพศหรือที่ใบหน้า แต่ถ้าเกิดเอามือสัมผัสใบหน้า และมือไปสัมผัสอวัยวะอื่นๆ ก็จะทำให้ติดเชื้อหูดจากใบหน้าได้
บางคนเป็นลักษณะพาหะโรค คือ ผิวหนังดูปกติ ไม่มีตุ่มนูน แต่มีเชื้อหูดอยู่ที่ผิวหนัง ทำให้สามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้โดยการสัมผัสผิวหนังส่วนมีเชื้อฯเช่นเดียวกัน
โรคหูดมีอาการอย่างไร?
อาการพบบ่อยของโรคหูด คือ
1. หูดที่ผิวหนัง: อาจจะเรียบหรือนูนเล็กน้อย จนกระทั่งนูนออกมามาก มีผิวขรุขระ แข็งกว่าหนังธรรมดา และเวลาตัดส่วนยอดของหูดแล้ว จะเห็นเส้นเลือดฝอยเล็กๆที่อุดตันภายใน และมีจุดเลือดออกเล็กๆ ในบางครั้งการติดเชื้อหูดอาจไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงที่ผิวหนังใดๆเลยก็ได้
ชนิดของหูดที่ผิวหนัง แบ่งกว้างๆตามลักษณะและตำแหน่ง ได้แก่
- หูดทั่วไป (Common warts): ซึ่งพบได้บ่อยสุด เป็นหูดแบบนูนมีผิวขรุขระ ขนาดมีได้ตั้งแต่ 1 มิลลิเมตร (ม.ม.) จนถึง 1 เซนติเมตร (ซ.ม.) มักพบบริเวณมือและหัวเข่า เกิดจากเชื้อเอชพีวี 2 และ 4 (บ่อยสุด) แต่พบจากเอชพีวีชนิดอื่นได้ เช่น 1, 3, 26, 27, 29, 41, 57, 65, และ 77
- หูดคนตัดเนื้อ (Butcher's warts): พบในคนมีอาชีพแล่เนื้อดิบโดยไม่ได้เกิดจากเนื้อที่แล่ (คือไม่ใช่หูดของ หมู วัว และอื่นๆ) แต่เกิดจากการติดต่อจากคนสู่คน โดยมีเนื้อเป็นทางผ่าน ลักษณะหูดหน้าตาเหมือนหูดทั่วไป แต่ใหญ่กว่า มีผิวขรุขระมาก กว่า มักพบที่มือ ส่วนใหญ่เกิดจากเอชพีวี 7 ที่เหลืออาจพบ เอชพีวี 1, 2, 3, 4, 10, 28
- หูดชนิดแบนราบ (Plane warts หรือ flat warts): ซึ่งจะยกนูนจากผิวหนังเพียงเล็กน้อย ผิวค่อนข้างเรียบ มีขนาดตั้งแต่ 1 - 5 ม.ม. อาจมีจำนวนตั้งแต่ 2 - 3 อันไปจนถึงหลายร้อยอัน และอาจมารวมกันเป็นกลุ่ม มักเกิดบริเวณใบหน้า มือ และหน้าแข้ง เกิดจากเชื้อเอชพีวี 2, 3, 10, 26, 27, 28, 29, 38, 41, 49, 75, 76
- หูดฝ่ามือฝ่าเท้า (Plamar and Plantar warts): เป็นตุ่มนูนกลม ผิวขรุขระ ถูกล้อม รอบด้วยผิวหนังที่หนาตัวขึ้น มักมีอาการเจ็บ แยกยากจากตาปลา (ผิวหนังจะด้าน หนา จากถูกเบียดเสียดสีบ่อยๆ) แต่ถ้าฝานดูจะมีจุดเลือดออกเล็กๆ ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อเอชพีวี 1 มีบ้างที่เกิดจากเอชพีวี 4 มักจะไม่เจ็บ และอาจเกิดรวมกลุ่มกัน ทำให้ดูเป็นหูดขนาดใหญ่
2. หูดอวัยวะเพศ: อาจเรียกว่าหูดหงอนไก่ (Condyloma accuminata) พบที่อวัยวะเพศภายนอกทั้งชายและหญิง ในกลุ่มชายรักร่วมเพศอาจพบหูดบริเวณรอบปาก/รูทวารหนัก หูดมีลักษณะนูน ผิวตะปุ่มตะป่ำคล้ายหงอนไก่ เกิดจากเชื้อเอชพีวี 6, 11, 16, 18, 30 - 32, 42 - 44, และ 51 - 58
3. หูดที่เยื่อบุ: นอกจากเชื้อหูดจะทำให้เกิดโรคที่ผิวหนังแล้ว ยังสามารถก่อให้เกิดโรคที่เยื่อบุได้ เช่น พบได้ที่สายเสียง และที่กล่องเสียง ซึ่งจะเกิดในเด็กที่คลอดทางช่องคลอดจากมารดาที่ติดเชื้อหูดบริเวณอวัยวะเพศ จึงได้รับเชื้อจากการกลืนหรือสำลักขณะคลอดได้ หรืออาจเกิดในผู้ใหญ่จากการร่วมเพศโดยการใช้ปาก นอกจากนี้ยังอาจพบได้ที่เยื่อบุตา ลักษณะหูดจะเป็นตุ่มนูน มีผิวขรุขระ คล้ายหูดทั่วไป
แพทย์วินิจฉัยโรคหูดได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยโรคหูดได้จาก
- อาการของผู้ป่วย
- การตรวจลักษณะก้อนเนื้อ
- และอาจต้องตัดชิ้นเนื้อเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา
รักษาโรคหูดได้อย่างไร?
แนวทางการรักษาโรคหูด แบ่งออกเป็นการรักษาด้วยยา (มักเป็นยาใช้ภายนอก) และด้วยการผ่าตัด รวมถึงการไม่รักษา ซึ่งการรักษาไม่ใช่การฆ่าไวรัส เพราะยังไม่มียาฆ่าไวรัสได้ แต่เป็นเพียงการทำลายเนื้อเยื่อบริเวณที่เห็นเป็นรอยโรค จึงอาจยังมีเชื้อไวรัสหลงเหลืออยู่รอบๆที่ผิวหนังที่เห็นเป็นปกติ ดังนั้นแม้จะเอาหูดและเนื้อเยื่อผิวหนังรอบๆหูดออกไปกว้างพอ ก็ไม่เป็นการรับประกันว่าเชื้อฯจะหมดไป โรคจึงกลับมาเป็นใหม่ได้
ในการจะรักษาด้วยวิธีใดนั้น แพทย์จะประเมินจากหลายๆปัจจัย เช่น ขนาดของหูด, จำ นวนหูดที่เกิด, ลักษณะของหูด, ตำแหน่งที่เกิด, อายุผู้ป่วย, และสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย รวมทั้งดุลพินิจของแพทย์ ซึ่งโดยทั่วไปวิธีรักษาหูดได้แก่
1. การไม่รักษา: ประมาณ 65% ของผู้ป่วยที่ภูมิคุ้มกันปกติ โรคหูดจะยุบหายเองภายในประมาณ 2 ปี ดังนั้นถ้าเป็นหูดขนาดเล็กและมีจำนวนเล็กน้อย อาจเลือกวิธีนี้ได้
2. การรักษาด้วยยา: ซึ่งควรเป็นการรักษาโดยแพทย์เท่านั้น โดยมียาหลายชนิดให้เลือกใช้ แต่ ยังไม่มีวิธีไหนที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ
- ยาแบบทา: มีทั้งยาที่ผู้ป่วยสามารถหาซื้อมาทาเอง (ไม่แนะนำ เพราะควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ) และยาที่แพทย์ต้องเป็นผู้รักษาให้ เนื่องจากยาอาจเป็นอันตรายต่อเนื้อเยื่อใกล้เคียงได้
- ยาแบบฉีดเฉพาะที่: ใช้เมื่อยาแบบทาไม่ได้ผล โดยฉีดยาลงไปที่หูดโดยตรง
- ยากินและยาฉีดเข้าเส้นเลือด: ยายังให้ผลไม่ดีนัก และยังอยู่ในการศึกษา และอาจมีผล ข้างเคียงเกิดขึ้นได้มาก
3 การผ่าตัด: ซึ่งให้การรักษาโดยแพทย์เท่านั้น
- โดยใช้ความเย็น: คือ การใช้ไนโตรเจนเหลวในระดับอุณหภูมิที่พอเหมาะ ป้ายไปบริเวณหูด อาจทำซ้ำทุกๆ 1 - 4 สัปดาห์ ใช้เวลารักษาประมาณ 3 เดือน ผลข้างเคียงคือ ค่อน ข้างเจ็บ อาจเกิดแผลเป็น มีสีผิวเปลี่ยน และแผลจี้ติดเชื้อ วิธีนี้อัตราการหายประมาณ 50 -80%
- การใช้เลเซอร์: ใช้สำหรับหูดที่ใหญ่ หรือเมื่อรักษาด้วยวิธีอื่นไม่ได้ผล ทั้งนี้ แพทย์ พยาบาลที่ให้การรักษาอาจติดเชื้อได้ เนื่องจากเชื้อสามารถออกมากับควันที่เกิดขณะทำเลเซอร์และหายใจเอาเชื้อเข้าไป โดยผลข้างเคียงจากการรักษาวิธีนี้คือ ค่อนข้างเจ็บ อาจเกิดแผลเป็น และแผลผ่าตัดอาจติดเชื้อ อัตราการหายประมาณ 65%
- การจี้ด้วยไฟฟ้า: อาจมีประสิทธิภาพดีกว่าการใช้ความเย็นจี้ แต่เจ็บมากกว่า และอาจเกิดแผลเป็นมากกว่า และเช่นเดียวกับเลเซอร์ ผู้รักษาอาจติดเชื้อได้ด้วยวิธีการเดียวกัน
- การผ่าตัดแบบใช้มีด: ซึ่งเหมือนการผ่าตัดทั่วไป
โรคหูดก่อผลข้างเคียงอย่างไร? โรคหูดรุนแรงไหม?
อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่า เมื่อไม่ได้รักษา 2 ใน 3 จะหายไปเองภายในประมาณ 2 ปี โดยไม่ทิ้งรอยแผลเป็น แต่ในบุคคลที่มีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่องมักไม่หายเอง การรักษาก็ไม่ค่อยได้ผล มีอัตราการเกิดเป็นใหม่สูง และหูดอาจกลายเป็นมะเร็งได้ง่ายกว่าคนทั่วไป
อนึ่ง หูดจากเชื้อเอชพีวีหลายชนิดย่อย ไม่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง แต่บางชนิดย่อยเป็นปัจจัยเสี่ยงเกิดมะเร็งได้ เช่น ชนิด 6, 11, 16, 18, 31, 35 ซึ่งมักเป็นชนิดซึ่งเป็นสา เหตุของหูดบริเวณอวัยวะเพศ ดังนั้น การติดเชื้อหูดบริเวณนี้ จึงเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะ เร็งผิวหนังของอวัยวะเพศภายนอก(มะเร็งอวัยวะเพศชายในผู้ชาย, มะเร็งอวัยวะเพศหญิงในผู้หญิง ), มะเร็งช่องคลอด, และมะเร็งปากมดลูก
ดูแลตนเอง และป้องกันโรคหูดได้อย่างไร?
การดูแลตนเองและการป้องกันโรคหูด ได้แก่
1. หลีกเลี่ยงการสัมผัสหูดของตนเอง (ในกรณีเป็นอยู่) เช่น การแคะแกะเกาหูดที่เป็น อยู่ การกัดเล็บ เพราะจะทำให้ผิวหนังบริเวณอื่นๆติดเชื้อแล้วกลายเป็นหูดได้
2. หลีกเลี่ยงการสัมผัสหูดของผู้อื่น ผู้ที่อยู่ในบ้านเดียวกันควรแยกของใช้ส่วนตัว เช่น ผ้าขนหนู เสื้อผ้า กรรไกรตัดเล็บ มีดโกน พยายามเลี่ยงการทำเล็บที่ร้านไม่สะอาด การตัดผมแบบที่มีการโกนขนหรือหนวดที่ใช้ใบมีดร่วมกัน และห้ามใช้เครื่องมือที่ใช้ตัดหรือเฉือนหูดร่วมกับผู้อื่น
3. ในโรคหูดบริเวณอวัยวะเพศ การใช้ถุงยางอนามัยไม่สามารถป้องกันได้ เพราะผิว หนังบริเวณอวัยวะเพศภายนอกยังคงสัมผัสกันอยู่นั่นเอง เพราะฉะนั้นควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์แบบสำส่อน
4. ถ้าเป็นหูดที่อวัยวะเพศ ควรต้องรักษาหูดทั้งของตนเองและของคู่นอนไปพร้อมๆกัน
5. ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกแบบ 2 สายพันธุ์ และแบบ 4 สายพันธุ์ ซึ่งแบบ 4 สายพันธุ์นี้เองนอกจากจะสามารถป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้แล้ว ยังช่วยป้องกันโรคหูดที่เกิดจากเชื้อเอชพีวี 6 และ11 (หูดบริเวณอวัยวะเพศ) ได้ประมาณ 80 - 90%
ควรพบแพทย์เมื่อไร?
เมื่อมีหูดหรือตุ่มผิดปกติ ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเมื่อ
1. หูดหรือตุ่มเนื้อต่างๆบนผิวหนัง นอกจากกระเนื้อ และไฝ ที่ไม่เคยมีการเปลี่ยนแปลงแล้ว ควรพบแพทย์เสมอเพื่อการวินิจฉัยสาเหตุ เพราะตุ่มเนื้อต่างๆบนผิวหนังเกิดจากหลายโรค ตั้งแต่โรคติดเชื้อ เช่น หูด โรคเนื้องอกของผิวหนัง หรือของเนื้อเยื่อชั้นไขมันใต้ผิวหนัง หรือ อาจเป็นมะเร็งผิวหนัง
2. เมื่อหูดที่เป็นอยู่และเป็นมานานหลายปี ไม่ยุบหายไป
3. *หูดมีการเปลี่ยนแปลง เช่น ใหญ่ขึ้น ผิวขรุขระมากขึ้น ขอบของหูดลุกลามไปยังผิว หนังใกล้เคียง หรือหูดมีเลือดออกเสมอ เพราะเป็นอาการอาจเปลี่ยนเป็นมะเร็งได้
บรรณานุกรม
- Phillip H. Mckee, infectious diseases, in Pathology of the Skin with clinical correlations, 2nd edition, Mosby-Wolfe, 1996.
- Richard C. Reichman, human papillomaviruses , in Harrison’s Principles of Internal Medicine, 15th edition, Braunwald , Fauci, Kasper, Hauser, Longo, Jameson (eds). McGrawHill, 2001.
- http://emedicine.medscape.com/article/1133317-overview#showall [2020,June27]