หัดกุหลาบ (Roseola infantum / Exanthem subitum / Sixth disease)
- โดย ศาสตราจารย์ แพทย์หญิง อรุณี เจตศรีสุภาพ
- 3 พฤศจิกายน 2561
- Tweet
- บทนำ
- อะไรเป็นสาเหตุของโรคหัดกุหลาบ?
- โรคหัดกุหลาบพบเกิดในเด็กอายุเท่าไร? ติดต่อได้อย่างไร?
- โรคหัดกุหลาบมีอาการอย่างไร?
- แพทย์วินิจฉัยโรคหัดกุหลาบอย่างไร?
- แพทย์จะทำอย่างไรเมื่อเด็กเป็นหัดกุหลาบ? และดูแลเด็กอย่างไร?
- โรคหัดกุหลาบมีภาวะแทรกซ้อนอย่างไร?
- รักษาโรคหัดกุหลาบอย่างไร?
- โรคหัดกุหลาบรุนแรงไหม?
- ป้องกันโรคหัดกุหลาบอย่างไร?
- เมื่อไรควรนำเด็กป่วยพบแพทย์
- บรรณานุกรม
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ (Infectious disease)
- เชื้อไวรัส โรคติดเชื้อไวรัส (Viral infection)
- ไข้ชัก (Febrile seizure)
- ไข้เลือดออก (Dengue hemorrhagic fever)
- สมองอักเสบ (Encephalitis)
- โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Meningitis)
- ปอดบวม ปอดอักเสบ (Pneumonia)
- ไข้อีดำอีแดง (Scarlet fever)
บทนำ
หัดกุหลาบ หรือ Roseola infantum หรือ Exanthem subitum หรือ Sixth disease เป็นโรคที่พบได้บ่อยในเด็ก เนื่องจากอาการของโรคนี้ทำให้เกิดไข้สูงมาก ซึ่งต้องแยกจากโรคที่มีปัญหาไข้สูงมากอื่นๆ และต้องระวังเรื่องการชัก ซึ่งเป็นผลตามมาที่สำคัญของโรคนี้
อะไรเป็นสาเหตุของโรคหัดกุหลาบ?
โรคหัดกุหลาบ เกิดจากเชื้อไวรัสชื่อ Human herpesvirus 6 (HHV-6) และ Human herpesvirus 7 (HHV-7) ซึ่งจัดอยู่ในตระกูล Roseolovirus genus พวกเดียวกับไวรัสที่ทำให้เกิดโรคเริม (Herpesvirus) การมีชื่อ HHV-6 และ HHV-7 เนื่องจากพบตามหลังไวรัส Herpes simplex 1 และ 2, ไวรัส Cytomegalovirus, ไวรัส Ebstein-Barr Virus, และ ไวรัส Varicella-Zoster virus (ทำให้เกิด โรคอีสุกอีใส และโรคงูสวัด)
โรคหัดกุหลาบพบเกิดในเด็กอายุเท่าไร? ติดต่อได้อย่างไร?
โรคหัดกุหลาบ พบส่วนใหญ่ในเด็กอายุ 6-12 เดือน โดย 95% ของผู้ป่วยมักเป็นเด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี ส่วนใหญ่เกิดจากไวรัส HHV-6 ส่วนอาการที่พบในเด็กที่อายุมากกว่านี้คือ ในอายุ 2-3 ปี มักเกิดจากติดเชื้อไวรัส HHV-7
โรคหัดกุหลาบติดต่อได้โดยการสัมผัสไวรัสที่มีอยู่ในน้ำมูก น้ำลายของเด็กป่วย ดังนั้นโรคจึงเป็นการติดต่อทางการ ไอ จาม และจากการสัมผัสเด็กป่วย
โรคหัดกุหลาบมีอาการอย่างไร?
เมื่อได้รับเชื้อไวรัสโรคหัดกุหลาบ จะมีระยะฟักตัว ประมาณ 5-15 วัน ซึ่งโรคนี้มักพบในเด็กเล็ก โดยอาการสำคัญ คือ มีไข้สูงเฉียบพลัน (สูงเฉลี่ย 39.7 องศาเซลเซียส/Celsius หรือ 103-104 องศาฟาเรนไฮต์/Farenheit) หลังจากนั้น 3 วัน ไข้จะลดลงอย่างรวดเร็ว หรืออาจจะค่อยๆลง และจะมีผื่นบางๆสีชมพู หรือสีดอกกุหลาบขึ้นมาช่วงไข้ลงภายใน 48 ชั่วโมง
ผื่นจะมีขนาดเล็ก ขนาดประมาณ 2-3 มิลลิเมตร (มม.) เกิดทั่วๆไปตามลำตัว ไม่ค่อยมีอาการคัน เมื่อเอามือกด ผื่นจะจางซีดลง ผื่นอาจอยู่นาน 1-3 วัน หรืออาจขึ้นผื่นมาเพียงไม่กี่ชั่วโมงแล้วหายไป ผื่นอาจกระจายไปที่ใบหน้า คอ แขน และขา ผื่นจะมีลักษณะไม่จำเพาะ และอาจขึ้นในตำแหน่งต่างๆกัน และมีลักษณะของผื่นต่างกันในผู้ป่วยแต่ละรายได้
บางครั้งอาจพบว่า เด็กมี คอแดง ตาแดง หรือมีการอักเสบที่แก้วหูร่วมด้วย และมีต่อมน้ำเหลืองด้านหลังศีรษะ (Suboccipital node) โต คลำได้
ในเด็กแถบเอเชีย อาจพบมีแผลบริเวณด้านหลังของเพดานอ่อนติดกับลิ้นและลิ้นไก่ด้วย
เด็กบางคนพบมีน้ำมูก มีท้องเสีย บางคนมีอาการทางสมองร่วมด้วย เช่น อาการชัก ทั้งนี้โรคมักหายได้ (การดำเนินโรค) ในระยะประมาณ 6 วัน แต่ประมาณ 15% ของเด็ก อาจมีไข้นาน 6 วัน หรือมากกว่า
แพทย์วินิจฉัยโรคหัดกุหลาบอย่างไร?
ส่วนใหญ่แพทย์วินิจฉัยโรคหัดกุหลาบจากอาการของเด็ก โดยเด็กกลุ่มนี้แม้จะมีไข้สูง แต่อาการทั่วไปจะดี ซึ่งต้องแยกโรคจากโรคที่มีไข้สูง หรือโรคออกผื่นอื่นๆ เช่น โรคหัดเยอร มัน โรคหัด และจากการติดเชื้ออื่นๆ เช่น โรคไข้เลือดออก โรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ หรือแยกจากโรคไข้อีดำอีแดง (Scarlet fever โรคที่เกิดจากพิษของแบคทีเรียชนิด Streptococcus pyogenes ซึ่งผู้ป่วยจะมีไข้สูงและมีผื่นขึ้นเช่นกัน) และอาจต้องแยกจากการแพ้ยาด้วย
อาการสำคัญที่ทำให้คิดถึงโรคหัดกุหลาบ คือ ผื่นออกในช่วงที่ไข้ลง ซึ่งพ่อแม่บางคนจะตกใจ บางคนช่วงที่ลูกมีไข้ไม่ได้พาลูกไปพบแพทย์ แต่พอมีผื่นออกจึงรีบไปพบแพทย์ ส่วนแพทย์เมื่อเห็นเด็กที่มีไข้สูงมากและขึ้นผื่น เมื่อไข้ลงก็จะสบายใจแล้ว เพราะนั่นหมายถึงเด็กกำลังจะหาย
แม้ว่าหัดกุหลาบเป็นโรคที่เกิดจากไวรัส แต่การเพาะเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุ จะยุ่งยาก ใช้เวลานาน และค่าใช้จ่ายสูง ซึ่งกว่าจะทราบผลโรคก็หายแล้ว จึงมักมีการเพาะเชื้อไวรัสแต่เฉพาะในงานวิจัยเท่านั้น
แพทย์จะทำอย่างไรเมื่อเด็กเป็นหัดกุหลาบ? และดูแลเด็กอย่างไร?
เนื่องจากช่วงแรกที่เด็กไปพบแพทย์ด้วยเรื่องไข้สูง อาจวินิจฉัยยาก แพทย์จะซักประวัติโดยละเอียดและตรวจร่างกายอย่างละเอียด เพื่อตรวจสอบว่า เด็กเป็นไข้จากสาเหตุอื่นหรือไม่ เพราะในเด็กเล็ก การวินิจฉัยโรคบางอย่างจะยากเนื่องจากเด็กบอกอาการเองไม่ได้ และอาการในการติดเชื้อบางอย่าง ก็ยากที่จะแยกโรคจากกัน เช่น ทางเดินปัสสาวะอักเสบ ซึ่งบ่อยครั้งที่มีเฉพาะอาการไข้ แพทย์อาจต้องตรวจปัสสาวะด้วยหากสงสัย หรือแพทย์อาจต้องแยกโรคจากไข้เลือดออก เช่น เด็กมีไข้สูงมาเป็นวันที่สาม อาจต้องเจาะเลือดเพื่อตรวจว่า ผู้ป่วยมีความเข้ม ข้นของเลือดสูงขึ้น หรือมีเกล็ดเลือดต่ำหรือไม่ ซึ่งอาการดังกล่าวมักพบในผู้ป่วยไข้เลือดออกที่มีไข้มา 3-4 วัน แม้ไข้เลือดออกพบไม่บ่อยในเด็กเล็ก แต่ก็พบได้
แต่หากเด็กอาการสบายดี อาการอื่นๆไม่ชัดเจน เด็กยังเล่นได้ กินได้ มีแต่ไข้สูง แพทย์อาจไม่ต้องตรวจทางห้องปฏิบัติการ แพทย์จะอธิบายผู้ปกครอง ถึงเรื่องโรคและลักษณะตามธรรมชาติของโรค แนะนำในเรื่องการสังเกตอาการ และการเช็ดตัว การให้ยาลดไข้ และการระ วังไข้สูง เพราะเด็กอาจชักได้
แต่หากเด็กมีอาการไม่ดี เช่น ไม่ค่อยยอมกิน หรือกินน้อยลง หรือซึมลง หรือไม่ปัสสาวะนานเกิน 4-6 ชั่วโมง ไม่ควรดูอาการอยู่ที่บ้าน ควรรีบพาเด็กไปโรงพยาบาล
โรคหัดกุหลาบมีภาวะแทรกซ้อนอย่างไร?
การชักจากไข้สูง (Febrile seizures/โรคไข้ชัก) เป็นภาวะแทรกซ้อน/ผลข้างเคียงของโรคนี้ พบได้ถึงหนึ่งในสามของผู้ป่วย โดยโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส HHV-6 มีการชักร่วมด้วยสูง (ประมาณ 15% ของผู้ป่วย) ซึ่งพบได้บ่อยในเด็กอายุ 12-15 เดือน นอกจากนี้ยังพบอาการแทรกซ้อนอื่นๆ คือ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ สมองอักเสบ ปอดบวม และตับอักเสบ
รักษาโรคหัดกุหลาบอย่างไร?
แนวทางการรักษาโรคหัดกุหลาบ คือ การรักษาตามอาการ ให้เช็ดตัว ให้ยาลดไข้ ดื่มน้ำมากๆ ไม่ต้องให้ยาต้านไวรัส ถ้ามีไข้ชัก ต้องรักษาอาการชักให้สงบ และอาจต้องมีการเจาะหลัง (ในกรณีไม่มีข้อห้าม) เพื่อหาสาเหตุของการชักว่าไม่ใช่จากโรคอื่น เช่น เยื่อหุ้มสมองอัก เสบ ยาลดไข้ที่ใช้คือ พาราเซตามอล ขนาด 10-15 มิลลิกรัม (มก.) ต่อน้ำหนักตัวเด็ก 1 กิโล กรัม (กก.) ทุก 4 ชั่วโมง เวลามีไข้
โรคหัดกุหลาบรุนแรงไหม?
โรคหัดกุหลาบ เป็นโรคที่หายได้เอง และในกลุ่มที่มีอาการชัก โอกาสชักซ้ำ (ประมาณ 20%) ก็ไม่สูงกว่าการชักจากไข้ (โรคไข้ชัก) ด้วยสาเหตุอื่นๆ
ป้องกันโรคหัดกุหลาบอย่างไร?
ยังไม่มีการป้องกันโรคหัดกุหลาบเพราะยังไม่มีวัคซีน ดังนั้นหากมีเด็กเป็นโรคนี้ และอยู่ในสถานเลี้ยงเด็ก หรือเลี้ยงเด็กหลายๆคนในที่เดียวกัน ควรแยกเด็กป่วยออกไป
เมื่อไรควรนำเด็กป่วยพบแพทย์
เมื่อเด็กมีไข้สูงมาก ต้องรีบพาไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุ เนื่องจากการมีไข้สูงเกิดได้จากหลายสาเหตุ และหลายสาเหตุมีการรักษาแล้วได้ผลดี ไม่มีโรคแทรกซ้อน ถ้าได้รับการรักษาแต่เนิ่นๆ
บรรณานุกรม
- Caserta MT. Chapter 248: Roseolar (Human Herpes Viruses 6 and 7). In: Kliegman RM, Stanton BF, Schor NF, St. Geme JW, Behrman RE. Nelson Textbook of Pediatrics, 19th ed., Philadelphia, PA.Elsevier Saunders, 2011. p. 117-8.
- Jee, S. et al. (1998).Risk of recurrent seizure after a primary human herpesvirus 6-induced febrile seizure. Pediatr Infect Dis.17, 43-48. [PubMed].
- Roseola. Ferri: Ferri’s Clinical Advisor 2012, 1st ed.
- Scarlet fever http://en.wikipedia.org/wiki/Scarlet_fever [2018,Oct13]