สิ่งแปลกปลอมในลำคอ (Throat foreign body)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

สิ่งแปลกปลอมในคอ (Throat foreign body) เป็นปัญหาที่พบบ่อยในผู้ใหญ่มากกว่าในเด็ก มักทราบได้ทันทีว่ามีสิ่งแปลกปลอมเกิดขึ้น โดยจะมีอาการเจ็บ หรือกลืนลำบากทันทีหลังจากการกลืนอาหาร จำพวกปลา หรือ กระดูกเป็ด หรือกระดูกไก่ ลงคอ ซึ่งจะทำให้สงสัยว่าจะเกิดปัญหานี้

สิ่งแปลกปลอมในลำคอแบ่ง ได้ 2 ชนิด

1. สิ่งแปลกปลอมที่มาจากพืชและสิ่งมีชีวิต เช่น ก้างปลา กระดูกไก่ หรือเศษชิ้นเนื้อ

2. สิ่งแปลกปลอมที่ไม่มีชีวิต เช่น เหรียญ ฟันปลอม

อะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดสิ่งแปลกปลอมในลำคอ?

สิ่งแปลกปลอมในลำคอ

ปัจจัยที่ทำให้เกิดสิ่งแปลกปลอมในลำคอ คือ

1. การสูญเสียกลไกการป้องกันตามธรรมชาติ เช่น ผู้ที่ใส่ฟันปลอม การเคี้ยวอาหารที่อาจไม่ละเอียดพอ เคี้ยวเร็ว หรือ ไม่มีความรู้สึกว่ามีสิ่งแปลกปลอมปนเปื้อนในอาหาร เช่น กระดูกไก่ หรือก้างปลา บางครั้งอาจพบฟันปลอมชำรุด หัก บิ่น ร่วงลงไปในทางเดินอาหาร

2. การขาดความระมัดระวัง เช่น การรับประทานอาหารอย่างเร่งรีบ พูดคุย ขณะรับประทานอาหาร

อาการอะไรที่อาจสงสัยมีสิ่งแปลกปลอมในลำคอและในหลอดอาหาร?

อาการที่ควรสงสัยมีสิ่งแปลกปลอมในลำคอและในหลอดอาหาร คือ

  • ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บคอ กลืนเจ็บทันทีที่มีสิ่งแปลกปลอมตกค้าง ในลำคอ และมักสามารถบอกตำแหน่งเจ็บคอได้ชัดเจน ส่วนใหญ่เป็น ก้างปลา ตำแหน่งที่พบบ่อยที่สุด คือ ต่อมทอนซิล รองลงมาเป็นโคนลิ้น และคอหอย ซึ่งผู้ป่วยมักมีประวัติกินอาหารเหล่านี้มาก่อน
  • ผู้ป่วยเด็กมักจะมาพบแพทย์ด้วยอาการ อาเจียน น้ำลายยืด กลืนเจ็บ ไม่ยอมกลืนน้ำ และเด็กบางคนจะบอกตำแหน่งที่เจ็บคอได้
  • หากปล่อยไว้นานจะเกิดภาวะแทรกซ้อน/ผลข้างเคียงได้ ได้แก่ หนองในลำคอ การติดเชื้อลุกลามในช่องอก หรือติดเชื้อเข้าสู่กระแสเลือด (ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ) จนกระทั่งอาจเสียชีวิตได้

แพทย์รักษาสิ่งแปลกปลอมในลำคออย่างไร?

แพทย์รักษาสิ่งแปลกปลอมในลำคอโดย

1.สิ่งแปลกปลอมตกค้างในลำคอ:

แพทย์จะทำการคีบด้วยเครื่องมือแพทย์เพื่อเอาสิ่งแปลกปลอมออก หลังจากตรวจดูลำคอ แล้วพบสิ่งแปลกปลอมซึ่งส่วนใหญ่ติดอยู่ที่ ต่อมทอนซิล อาจจะใช้ยาชาเฉพาะที่เพื่อลดความไวของระบบประสาทที่ผนังคอ เพื่อป้องกันการไอขณะทำหัตถการคีบเอาสิ่งแปลกปลอมออก

ในเด็กเล็กๆ ซึ่งมักดิ้นและไม่ให้ความร่วมมือ แพทย์อาจต้องจำเป็นให้ ผู้ปกครองจับเด็กอุ้มนั่งตัก ใช้มือรัดแขน และหน้าผากเด็ก ขณะเดียวกันใช้ขาของผู้ปกครองรัดขาเด็กไว้ ขณะทำการคีบเอาสิ่งแปลกปลอมออก

2. สิ่งแปลกปลอมตกค้างในหลอดอาหาร:

แพทย์อาจจะส่งตรวจภาพถ่ายรังสี (เอกซเรย์) ในปอด และลำคอ เพื่อช่วยระบุตำแหน่ง และบางครั้งสามารถบอกชนิดของสิ่งแปลกปลอมชนิดที่ทึบแสงได้ เช่น เหรียญสตางค์ เป็นต้น

  • หากสิ่งแปลกปลอมเป็นวัตถุมีคม หรือ แบตเตอรี่ ควรต้องระวังเป็นพิเศษ เพราะมีความเสี่ยงสูงที่จะทำให้หลอดอาหารทะลุ ควรรีบพบแพทย์ฉุกเฉิน
  • สิ่งแปลกปลอมในหลอดอาหาร แพทย์สามารถนำออกมาได้ด้วยการส่องกล้องเข้าไปในหลอดอาหาร เพื่อใช้เครื่องมือแพทย์คีบเอาสิ่งแปลกปลอมออก ซึ่งอาจจะต้องดมยาสลบ

มีคำแนะนำสำหรับผู้ป่วยหรือพ่อแม่เด็กอย่างไร?

มีคำแนะนำสำหรับผู้ป่วยหรือพ่อแม่เด็กดังนี้

  • ข้อควรปฏิบัติ:

    1. เมื่อสงสัยว่ามีสิ่งแปลกปลอมในลำคอและหลอดอาหาร ต้องรีบมาโรงพยาบาล แต่อาจรอได้จนถึงรุ่งเช้า ถ้าไม่มีอาการเจ็บมากและ/หรือถ้าไม่มีการติดขัดในการหายใจ ซึ่งถ้ามีการติดขัดในการหายใจต้องรีบมาโรงพยาบาลฉุกเฉิน

    2. ในเด็กบางรายแพทย์อาจจะต้องเอาสิ่งแปลกปลอมออกโดยทำภายใต้การดมยาสลบ ดังนั้นจึงแนะนำให้งดน้ำและอาหารก่อนมาพบแพทย์

  • ข้อห้ามกระทำ:

    ห้ามใช้นิ้วล้วงเข้าในลำคอ เพราะอาจจะทำให้ลำคอหรือเนื้อเยื่ออื่นๆบาดเจ็บมากขึ้น

กรณีเร่งด่วนที่ต้องรีบเอาสิ่งแปลกปลอมออกหรือรีบให้การรักษามีอะไรบ้าง?

กรณีที่ต้องพบแพทย์/มาโรงพยาบาลรีบด่วน/ทันที คือ

  • การกลืนของมีคม หรือ กลืนแบตเตอรี่ ( Disk battery) เพราะแบตเตอรี่จะปล่อยด่างออกมา ซึ่งมีคุณสมบัติทำให้เนื้อเน่าตาย เกิดบาดแผลที่ลำคอ และ/หรือที่หลอดอาหาร และทำให้เกิดลำคอและ/หรือหลอดอาหารทะลุได้

ป้องกันการเกิดสิ่งปลกปลอมในลำคออย่างไร?

ป้องกันการเกิดสิ่งปลกปลอมในลำคอได้โดย

  • การรับประทานอาหาร โดยเฉพาะจำพวกปลาที่มีก้าง หรืออาหารพวกกระดูกไก่ ต้องให้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ โดยเฉพาะในผู้สูงอายุที่สายตา และประสาทสัมผัสไม่ดี
  • เวลารับประทานอาหาร ต้องห้ามพูดคุยหรือหัวเราะ เพราะเศษอาหาร หรือ กระดูก อาจพลัดหลงไปในลำคอได้
  • กินอาหาร เคี้ยวอาหารช้าๆ
  • การใส่ฟันปลอม ต้องให้มีความพอดี ไม่หลวมจนเกินไป เพราะอาจจะหลุดลงลำคอได้ง่าย
  • เวลานอน ควรต้องถอดฟันปลอมออกก่อนเสมอ

บรรณานุกรม

  1. ศิริเกียรติ ประเสริฐศรี : สิ่งแปลกปลอมด้าน หู คอ จมูก ใน กรีฑา ม่วงทอง บรรณาธิการ ตำราโรคหู คอ จมูก โครงการตำรา วพม. นำอักษรการพิมพิ์ 2548 : 292-300.
  2. อุศนา พรหมโยธิน, Foreign body in ENT, หู คอ จมูก เร่งด่วน ใน กรีฑา ม่วงทอง บรรณาธิการ โครงการตำรา วพม. พ.ศ. 2552